Tuesday, May 20, 2014

อนุสาร อ.ส.ท.ร่วมรับประกาศนียบัตร ในงาน ๑๐๓ ปีแห่งการสถาปนากรมศิลปากร


“เกียรติมุข” รายงาน
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ปีที่ ๕๔ ฉบับที่ ๑๐ ประจำเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๗ 

นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากรเป็นประธานในพิธีเปิดงานและการจัดกิจกรรมเนื่องในวันสถาปนากรมศิลปากร ประจำปี ๒๕๕๗ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๗ มีนาคมที่ผ่านมา  บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พร้อมมอบประกาศนียบัตรและของที่ระลึกให้กับสื่อมวลชนในสาขาต่าง ๆ ที่ได้ช่วยเผยแพร่ข้อมูลในด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชาติ โดยมีนายภาคภูมิ น้อยวัฒน์ บรรณาธิการฝ่ายภาพอนุสาร อ.ส.ท. เป็นตัวแทนของอนุสาร อ.ส.ท.เข้ารับมอบประกาศนียบัตรจากอธิบดีกรมศิลปากร ในฐานะสื่อสิ่งพิมพ์ที่ได้นำเสนอเรื่องราวภารกิจการดำเนินงานของกรมศิลปากรในด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชาติอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด



บริเวณลานโดยรอบพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ยังเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าเที่ยวชมงาน ระหว่างวันที่ ๒๗ ๒๙ มีนาคม ซึ่งภายในงานมีการออกร้านโดยหน่วยงานในสังกัดกรมศิลปากรจากทั่วประเทศ แบ่งเป็นนิทรรศการจัดแสดงผลงาน  ร้านหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าจากหลากหลายท้องที่ รวมทั้งผลิตภัณฑ์และสินค้าที่ระลึกทางวัฒนธรรมในท้องถิ่นต่าง ๆ  จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ  เช่น เครื่องเงิน เครื่องปั้นสังคโลก ผ้าทอพื้นเมือง และอาหารพื้นเมือง ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่ชื่นชอบด้านศิลปวัฒนธรรมแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชมตลอดเวลาตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้าย






กรมศิลปากรสถาปนาขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๔ โดยทรงรวมงานช่างประณีตศิลป์จากกรมโยธา กระทรวงโยธาธิการเข้ากับกรมพิพิธภัณฑ์จากกระทรวงธรรมการ ตั้งขึ้นเป็นกรมศิลปากร และต่อมาได้โปรดให้โอนกรมช่างมหาดเล็กจากกระทรวงวังเข้ามารวมอยู่ด้วย  ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้โปรดให้รวมกรมศิลปากรเข้ากับหอสมุดสำหรับพระนคร แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นราชบัณฑิตยสภา กระทั่งปีพ.ศ. ๒๔๗๖ จึงได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งกรมศิลปากรขึ้นมาอีกครั้งโดยรวมงานนาฏศิลป์และดุริยางคศิลป์ในราชสำนัก สังกัดกรมต่าง ๆ  ได้แก่ กรมโขน กรมหุ่น กรมรำโคม กรมปี่พาทย์ และกรมแตรสังข์ ที่เรียกโดยรวมว่ากรมมหรสพ สังกัดกรมมหาดเล็ก กระทรวงวัง มาเป็นกองในสังกัดกรมศิลปากรด้วย 



ปัจจุบันกรมศิลปากรจึงเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่หลักในการทำนุบำรุงรักษา อนุรักษ์ ฟื้นฟู ส่งเสริม และสร้างสรรค์ ศิลปวัฒนธรรมของชาติในทุกสาขาให้ยั่งยืนอย่างสง่างาม โดยล่าสุดทางกรมศิลปากรได้มีการปรับรูปแบบภารกิจเพื่อรองรับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่รัฐบาลได้กำหนดขึ้นในปีพ.ศ. ๒๕๕๖โดยนำผลงานที่เกิดจากภารกิจทำนุบำรุงอนุรักษ์ฟื้นฟูมรดกทางวัฒนธรรมมาต่อยอดเพื่อให้เกิดประโยชน์ในแง่เศรษฐกิจแก่ชุมชนใกล้เคียง มีการเรียนรู้ สร้างภูมิปัญญาในการอนุรักษ์และสร้างสรรค์มรดกทางวัฒนธรรมให้มีคุณค่ากับชุมชนตลอดไป



โครงการนำร่องที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวของกรมศิลปากรในปีพ.ศ. ๒๕๕๗เบื้องต้นกำหนดไว้  ๕ โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาเมืองวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยวสุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร โครงการพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โครงการพัฒนาเกาะเกร็ดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีชีวิตและอัตลักษณ์ลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง และโครงการพัฒนาโรงแรมในสถานีรถไฟหัวลำโพง ซึ่งโครงการต่าง ๆ เหล่านี้อนุสาร อ.ส.ท. จะได้ติดตามความคืบหน้านำมาเสนอในโอกาสต่อไป


No comments:

Post a Comment