Friday, October 28, 2016

ท่องอดีตกาล บ้านเชียง-ภูพระบาท

ภาคภูมิ น้อยวัฒน์เรื่องและภาพ

ตีพิมพ์ครั้งแรกใน อนุสาร อ.ส.ท.ปีที่ ๔๘  ฉบับที่ ๑๐ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

            หลายวันก่อนได้หยุดพักผ่อนอยู่กับบ้าน มีเวลาว่าง ผมก็เลยไปรื้อเอาวีดีโอซีดีที่ซื้อเก็บเอาไว้นานแล้วออกมาดู

            เพิ่งมาสังเกตเห็นว่าผมซื้อมาแต่สารคดีเกี่ยวกับมัมมี่เต็มไปหมด ถึงหน้าปกจะแตกต่างกันไปเพราะมาจากหลายค่ายหลายบริษัท ทว่าก็เรื่องมัมมี่ทั้งนั้น  ตอนแรกก็หนักใจสงสัยว่าต้องดูมัมมี่ทั้งวันจนหน้าแทบจะเป็นมัมมี่ไปเลยละกระมัง 

 แต่เอาเข้าจริงก็นั่งดูนอนดูจนลืมเวลาครับ เพราะว่าสนุกตื่นเต้นไปกับเรื่องราววิธีค้นคว้าหาความจริงของนักโบราณคดีจากร่องรอยของซากศพและข้าวของเครื่องใช้ที่ทำให้เรียนรู้ถึงชีวิตความเป็นอยู่ประจำวันของผู้คนในสมัยนั้นได้ ทั้งที่ห่างไกลจากช่วงเวลาปัจจุบันหลายพันปี
 
ที่ผมชอบที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องมัมมี่สวมหน้ากากของชาวชินโคโร ในประเทศชิลี ซึ่งไม่ได้มีอาณาจักรยิ่งใหญ่อะไร เพราะเป็นชนเผ่าประมงชายฝั่ง แต่กลับรู้จักวิธีทำมัมมี่ในแบบของตัวเอง ตรวจสอบแล้วมีอายุอยู่ในช่วง ๗,๐๐๐-,๐๐๐ปี เรียกว่าเก่าแก่กว่ามัมมีของอียิปต์หลายเท่า

            ดูแล้วผมก็อดไม่ได้ที่จะคิดถึงแหล่งมรดกโลกบ้านเชียงของไทยเรา ที่จังหวัดอุดรธานีครับ
 
เปล่าครับไม่ใช่ว่ามีใครไปขุดเจอมัมมี่ขึ้นที่บ้านเชียงหรอก แต่นึกถึงก็เพราะว่าบ้านเชียงของเราเองก็มีอายุเก่าแก่ย้อนหลังไปถึง ๕,๖๐๐ ปี  แถมยังมีเรื่องราวที่สืบสาวได้จากหลุมฝังศพเหมือนกันอีกด้วย  เพราะพบหม้อดินเผานับร้อยใบที่พบในหลุมศพ ซึ่งมีหลากขนาด หลายรูปแบบ กับเอกลักษณ์อันโดดเด่นไม่ซ้ำใครด้วยลวดลายเขียนสีอันพิสดารตระการตา

            ถึงไม่มี มัมมี่แต่ก็มี มัมหม้อละว่างั้นเถอะ


             จะว่าไปแล้วเรื่องราวความเป็นมาของชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่สืบสาวจากหม้อดินในหลุมศพโบราณ จนกระทั่งได้ข้อมูลสำคัญที่ทำให้บ้านเชียงได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ก็สนุกสนานน่าตื่นเต้นไม่แพ้การไขปริศนาความเป็นมาของมัมมี่อยู่เหมือนกัน 
 
ครับ และนั่นก็คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผมมาปร๋ออยู่ที่อุดรธานีอีกครั้ง  


เยือนถิ่นหม้อดินเผาเขย่าโลก

แม้ว่าที่บ้านเชียงเดี๋ยวนี้จะไม่ได้มีการขุดค้นทางโบราณคดีให้เห็นกันแบบสด ๆ แล้ว แต่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียงก็ได้เก็บรวบรวมเรื่องราวการขุดค้นตั้งแต่ต้นทั้งหมดเอาไว้  โดยเฉพาะได้ข่าวมาว่าเมื่อไม่นานมานี้ได้มีการปรับปรุงครั้งใหญ่ เพื่อให้ทันสมัยและมีความน่าสนใจ สมศักดิ์ศรีดีกรีมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่ได้รับมา

            ดูท่าจะแจ๋วจริงอย่างว่าครับ แค่เลี้ยวรถเข้าที่ลานจอด ก็รู้สึกได้ว่าอะไรต่อมิอะไรแปลกตาไปจากที่เคยเห็นเยอะ ผมลองเตร่ไปเดินเล่นดูรอบ ๆ  ด้านนอกจัดภูมิทัศน์ใหม่ สร้างอาคารศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอย่างดี เรียงรายด้วยร้านขายของที่ระลึกเป็นระเบียบ ปลูกสนามหญ้าใหม่ทำเป็นสวนสาธารณะ พรั่งพร้อมด้วยเครื่องไม้เครื่องมือออกกำลังกายเสร็จสรรพ อนุสาวรีย์โดดเด่นเป็นสง่าอยู่ริมบึงใหญ่ ข้ามสะพานไปเป็นศาลาสัญลักษณ์เฉลิมพระเกียรติครองราชสมบัติครบ ๖๐ ปี บรรยากาศดีลมพัดโกรกเย็นสบาย เหมาะกับการกินลมชมวิวในยามเย็น


             ซื้อบัตรผ่านประตูเหยียบย่างเข้าสู่ในรั้วพิพิธภัณฑ์ก็ไม่แพ้กันครับ สัญลักษณ์มรดกโลกเด่นสง่าอยู่กึ่งกลางสนามหญ้าข้างหน้าที่ตัดแต่งเขียวขจี มองไปทางไหนก็เอี่ยมอ่องไปหมด เข้าไปข้างในอาคารสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่เป็นพิพิธภัณฑ์ ก็ปรับปรุงใหม่ ชั้นล่างมุมหนึ่งจัดเป็นร้านขายเครื่องดื่ม ถัดเข้าไปอีกหน่อยเป็นร้านขายหนังสือและของที่ระลึก  แลดูทันสมัยขึ้นจมเชียวละ

            เดินคนเดียวก็เปลี่ยวใจ ผมก็เลยพยายามทำตัวให้กลมกลืนไปกับนักท่องเที่ยวที่มากันเป็นกลุ่มใหญ่ เดินตามเขาต้อย ๆ เลี้ยวเข้าห้องไปชมวีดีโอแนะนำความเป็นมากันเสียก่อนตามธรรมเนียม เสร็จสรรพเดินออกมาก็เจอเจ้าหน้าที่ยิ้มแฉ่งชี้ทางให้เดินขึ้นบันไดไปชมชั้น ๒


 พ้นบันไดก็เจอเข้ากับห้องนิทรรศการชั่วคราวครับ จัดแสดงนิทรรศการเคลื่อนที่หัวข้อ บ้านเชียง การค้นพบยุคสำริดที่สาบสูญ ซึ่งเคยไปตระเวนเผยแพร่ที่สหรัฐอเมริกามาแล้วในช่วงระหว่างปี พ.. ๒๕๒๕ ถึง ๒๕๒๙ นำเสนอประวัติความเป็นมา ข้อมูลการสำรวจขุดค้น และศึกษาวิจัยเกี่ยวกับบ้านเชียง อันเป็นความร่วมมือระหว่างกรมศิลปากรกับมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย 
 
 ว่ากันตั้งแต่การค้นพบชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเขียนลวดลายสีแดงของบ้านเชียงในพ.. ๒๕๐๙  ตอนนั้นนายสตีเฟน ยัง บุตรชายของเอกอัครราชฑูตสหรัฐอเมริกา นักศึกษาวิชาสังคมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด เข้ามาศึกษาเรื่องราวของหมู่บ้าน เดิน ๆ อยู่สะดุดรากไม้ตะครุบกบป้าบลงไป ประสบพบเข้ากับเศษเครื่องปั้นดินเผาลวดลายสีแดงที่ว่า เกิดสนใจขึ้นมา ก็เลยเก็บเอาไปให้ผู้เชี่ยวชาญทางโบราณคดีดู

ในนิทรรศการเขาสเก็ตช์เป็นภาพวาดลายเส้นตอนสะดุดรากไม้ไว้ให้ชมเสียด้วยนะ ผมยืนดูอยู่เห็นใครไปใครมาก็หยุดหัวเราะกันคิกคักตรงภาพนี้ทุกที (บางคนไม่หัวเราะเฉย ๆ ครับ ยังตั้งข้อสงสัยขึ้นมาอีกว่าบางทีหนุ่มสตีเฟนแกอาจจะเดินไปกับเพื่อนนักศึกษาสาว แล้วสะดุดหกล้ม เลยแกล้งทำเป็นเก็บเศษหม้อบ้านเชียงไปวิจัยแก้เขิน แหม …ช่างคิดเสียเหลือเกิน)


            แต่ไม่ว่ายังไงนั่นก็เป็นก้าวแรกที่นำไปสู่การขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านเชียงครั้งแรกของกรมศิลปากรในปีพ.. ๒๕๑๐  ละครับ ซึ่งก็ได้หลักฐานทางโบราณคดีมากมาย โดยเฉพาะหม้อดินเผาเขียนลวดลายสีแดง ที่สร้างความตื่นตะลึงไปทั่วโลก เพราะชิ้นส่วนส่งไปตรวจหาอายุ ด้วยวิธีเทอร์โมลูมีเนสเซนส์ ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกาแล้วผลออกมาว่ามีอายุถึง ๗,๐๐๐ ปี   (เพิ่งมารู้หลังจากนั้นอีกหลายปีครับว่า ผลตรวจผิดพลาด พวกหม้อดินเผาเขียนลายสีแดงน่ะ เป็นของในยุคสุดท้าย อายุแค่ ๒,๒๐๐,๘๐๐ปี เท่านั้น)

           การขุดค้นครั้งที่ ๒ ของกรมศิลปากรจึงตามมาในปีพ.. ๒๕๑๕ ซึ่งในครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถยังได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรหลุมขุดค้นที่บริเวณวัดโพธิ์ศรีในและที่บ้านมนตรีพิทักษ์ด้วย ซึ่งหลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีในต่อมาก็ได้คงสภาพไว้เป็นพิพิธภัณฑ์หลุมขุดค้นกลางแจ้ง  ส่วนบ้านมนตรีพิทักษ์ ในเวลาต่อมา  นายพจน์ เจ้าของบ้าน ก็ได้มอบบ้านพร้อมที่ดินให้กับกรมศิลปากรเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานในการเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรหลุมขุดค้นมนตรีพิทักษ์

            ส่วนการขุดค้นครั้งใหญ่ที่สุดคือในปีพ..๒๕๑๗ -๒๕๑๘ ทางกรมศิลปากรได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา จัดทำโครงการวิจัยโบราณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำรวจแหล่งโบราณคดีต่าง ๆ ทั่วทั้งภาค พร้อมทั้งขุดค้นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญหลายแห่งทั้งที่บ้านเชียง บ้านต้อง บ้านผักตบ อุดรธานี และที่แหล่งโบราณคดีตอนกลางจังหวัดขอนแก่น 

           ได้ข้อมูลมากมายครับ เพราะใช้วิธีศึกษาแบบสหวิทยาการ วิเคราะห์หลักฐานที่ได้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ โดยผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา ทั้งนักพฤกษศาสตร์ นักสัตวศาสตร์ นักปฐพีวิทยา นักโบราณคดี  ฯลฯ  เป็นที่มาของความรู้ความเข้าใจในสังคมและวัฒนธรรมของชาวบ้านเชียงในยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่มีอยู่ทั้งหมด รวมทั้งนิทรรศการที่ผมกำลังชมอยู่นี่ด้วย

 สังเกตดูนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ดูจะไปสนใจมุงกันอยู่แต่ โครงกระดูกนิมรอด ที่จัดแสดงไว้ ตรงมุมกลางห้อง อันเป็นหลักฐานของรูปแบบการฝังศพบุคคลสำคัญที่ได้รับการยกย่องในสังคมแต่ผมกลับชอบที่จะเดินดูบรรดาหม้อดินเผาที่จัดแสดงอยู่มากมายหลายตู้มากกว่า เพราะว่าตรงนี้เขาเลือกชิ้นที่เป็นมาสเตอร์พีซเอามาใส่ตู้ไว้ให้ชม คัดเอาเฉพาะรูปแบบที่เป็นจุดเด่นของยุคเลยละครับ แต่ละชิ้นสวยแปลกตาทั้งนั้น
   
ในยุคแรก ก็จะมีภาชนะดินเผาใช้ฝังศพเด็ก อายุประมาณ ๔,๕๐๐๓๕๐๐ ปี  เป็นหม้อใบใหญ่มีลวดลาย ใช้ใส่ศพทารกอายุไม่กี่อาทิตย์  ส่วนยุคกลางคือช่วงถัดมา อายุประมาณ ๓,๐๐๐-,๓๐๐ ปี  จะมีหม้อดินเผาขนาดใหญ่ผิวบางละเอียดงดงาม ยุคนี้มีธรรมเนียมทุบภาชนะให้แตกก่อนใส่ลงไปในหลุมศพ ก็เลยมีการแสดงวิธีต่อภาชนะที่แตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยขึ้นมาใหม่เป็นของแถมเอาไว้ให้ดูในตู้ด้วย ซึ่งผมเห็นแล้วก็ต้องยอมคารวะในฝีมือคนปะติดปะต่อขึ้นมาทันที  เพราะแตกชนิดเรียกว่าไม่มีชิ้นดีเลยก็ว่าได้ คงต้องใจเย็น ใช้เวลาเป็นปี ๆ ในการประกอบขึ้นมาใหม่  ในขณะที่ยุคสุดท้าย อายุประมาณ ๒,๓๐๐,๘๐๐ปี  จะเน้นการประดับประดาเขียนสีลวดลายบนภาชนะดินเผาอย่างวิจิตรบรรจงละลานตาด้วยรูปแบบลวดลายอิสระที่ไม่ซ้ำกัน ก็ได้แต่ทึ่งในฝีไม้ลายมือของคนโบราณครับ ช่างคิดช่างสร้างสรรค์เสียจริง

นอกจากนี้ยังมีตู้จัดแสดงเครื่องปั้นดินเผาแบ่งตามยุคสมัยให้เห็นกันชัด ๆ ว่ายุคไหนปั้นแบบไหนอีกส่วนหนึ่งด้วย โดยเครื่องปั้นดินเผายุคแรก,๖๐๐ ปี-,๐๐๐ ปี จะมีหม้อสีดำขัดมันลายขูด  หม้อลายเชือกทาบ และ หม้อมีเชิงสีดำ ที่แบ่งเป็น ๒ ส่วน ส่วนบนขัดมันมีลวดลายกดประทับ ลายสลับฟันปลาส่วนล่างเป็นลายเชือกทาบ ในความรู้สึกผม หม้อสมัยนี้ทั้งพื้นผิวและรูปแบบให้ความรู้สึกดิบ ๆ ได้ใจในความเก๋า

เครื่องปั้นดินเผายุคกลาง,๐๐๐ -,๓๐๐ ปี ภาชนะที่ใช้ในการฝังศพยุคนี้งดงามทางด้านประติมากรรมเหนือกว่าสมัยอื่นด้วยผิวที่บางสม่ำเสมอ (เสียดายที่ถูกทุบแตกทุกใบ ยังดีนะที่นักโบราณคดีประกอบขึ้นมาใหม่ได้) ที่เด่นก็เป็นหม้อก้นกลม อายุ ๒,๔๐๐ ปี ที่ประกอบขึ้นมาจากเศษภาชนะดินเผาในหลุมศพเด็ก  หม้อลายขูดขีด และเขียนสีลายเรขาคณิต  อายุ ๓,๐๐๐ ปี มีลายเชือกทาบตามแนวตั้ง แล้วยังมีลวดลายขูดขีดบาง ๆ  และภาชนะก้นแหลม อายุ ๒,๘๐๐๒๒,๔๐๐ ปี มีทั้งแบบเขียนสีแดง ลายขูด และสีขาวเรียบแบบไม่มีลวดลาย  ดูรวม ๆ แล้วถูกใจผมที่ทรวดทรงแปลกตา หรูหรามีดีไซน์


เครื่องปั้นดินเผายุคหลัง,๓๐๐-,๘๐๐ ปี เป็นเครื่องปั้นดินเผาเขียนลวดลายสีแดงเป็นลายก้านขดงดงามอ่อนช้อยไม่ซ้ำกัน  สมัยหลังนี้จะไม่ทุบให้แตก แต่จะวางภาชนะที่ทั้งหนาทั้งหนักไว้บนศพแทน ชิ้นเด็ด ๆ ที่แสดงไว้ก็ได้แก่ หม้อเขียนสีแดงบนพื้นสีนวล อายุ ๒,๓๐๐-,๑๐๐ ปี วางอยู่คู่กับหม้อเขียนลายสีแดงบนพื้นแดงที่เกิดขึ้นหลังลายแดงบนพื้นนวล อายุ ๒,๐๐๐,๘๐๐ ปี  หม้อผิวขัดมัน,๓๐๐ -,๑๐๐ ปี ประดับลวดลายตกแต่งง่าย ๆ  ใบนี้มีผิวมันเงา ที่เขาว่าเกิดจากการถูด้วยหินกลมมนขณะกำลังผึ่งให้แห้ง และหม้อเขียนลายแดงผิวขัดมัน,๒๐๐,๘๐๐ ปี เป็นแบบสุดท้ายของหม้อสมัยนี้ ปากผายเขียนลายเข้มผิวขัดมันวาวเงาแว๊บ ยุคสุดท้ายนี่เล่นเอาตาลายไปเหมือนกันครับ เพราะทั้งขัดมันทั้งลวดลายจี๊ดใจเหลือเกิน

 จากห้องนิทรรศการชั่วคราวมีทางเดินที่เชื่อมไปยังอีกอาคาร  เข้าสู่ห้องจัดแสดงภาพถ่าย ซึ่งภาพชุดสำคัญที่ไม่ควรพลาดชมคือภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการขุดค้นทางโบราณคดีในบริเวณวัดโพธิ์ศรีใน และบริเวณบ้านนายพจน์ มนตรีพิทักษ์  เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.. ๒๕๑๕  นอกจากนี้ยังมีภาพถ่าย พร้อมประวัติของบุคลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านเชียงอีกหลายต่อหลายท่าน ให้ผู้มาเยือนได้รู้จักหน้าค่าตาและประวัติความเป็นมา


ถัดเข้าไปในห้องโถงใหญ่อีกห้องถือว่าเป็นทีเด็ดครับ เพราะเป็นหัวข้อการปฏิบัติงานทางโบราณคดี จำลองห้องปฏิบัติงานของนักโบราณคดีแบบเดียวกับในสมัยที่ทำการขุดค้นเอาไว้เหมือนจริงทุกอย่าง ทั้งโต๊ะเก้าอี้ ตาชั่ง กระดานดำ เครื่องไม้เครื่องมือ ชิ้นส่วนโบราณวัตถุที่อยู่ในระหว่างรอการอนุรักษ์ห่อไว้ในถุงผ้าขาวเป็นแถว ภาชนะที่ประกอบเรียบร้อยก็จัดวางเรียงกันเป็นระเบียบบนชั้นวาง รวมทั้งลำดับเหตุการณ์การขุดค้นแหล่งโบราณคดีที่บ้านเชียงในปีต่าง ๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ตรงกลางห้องยังมีหลุมขุดค้นทางโบราณคดีจำลองอยู่ข้างล่าง ล้อมด้วยระเบียงทางเดินสี่ด้านเดินชมจากด้านบนได้รอบ มองลงไปเห็นหุ่นนักโบราณคดีขนาดเท่าคนจริงในท่วงท่าปฎิบัติงานขุดค้น คนหนึ่งกำลังแซะดินออกจากโครงกระดูก อีกคนหนึ่งกำลังถ่ายภาพอย่างขะมักเขม้น ฝั่งตรงข้ามกันยังมีหุ่นนักโบราณคดีอีกคนกำลังยืนจดบันทึกข้อมูลอยู่ท่ามกลางกลุ่มหม้อดินเผาบ้านเชียงที่แตกหักกระจัดกระจาย  ผมลองลงบันไดไปดูใกล้ ๆ  ทุกอย่างจำลองไว้เนี้ยบมากครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกภาชนะดินเผา โครงกระดูกคน แม้กระทั่งโครงกระดูกสุนัข ก็ทำเสียเหมือนของจริงเปี๊ยบจนดูไม่ออก


 ผ่านเข้าไปอีกห้องที่มีป้ายเขียนเอาไว้ว่าเป็นหัวข้อวัฒนธรรมบ้านเชียงยุคก่อนประวัติศาสตร์  ห้องนี้จะถือว่าเป็นการสรุปภาพรวมของวัฒนธรรมบ้านเชียงก็ว่าได้ เพราะสองฟากทางเดินที่ลดเลี้ยวจัดเป็นหุ่นจำลองวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชนก่อนประวัติศาสตร์รวมไปถึงสภาพแวดล้อมในยุคสมัยนั้นตามหลักฐานที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดี 

เรียกว่าเอาข้อมูลที่มีทั้งหมดมาประมวลผลสร้างสรรค์ให้เห็นเป็นตัวตนแบบสามมิติจับต้องได้กันเลยละครับ (เอาเข้าจริงก็ห้ามจับนั่นแหละ เดี๋ยวพัง) อย่างน้อยก็ดูเป็นรูปธรรมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือน  แม้แต่ชีวิตความเป็นอยู่ อาหารการกิน รายละเอียดปลีกย่อยล้วนแต่สอดแทรกอยู่ในหุ่นจำลองทั้งสิ้น ทำให้ดูสนุกน่าสนใจมากขึ้น เหมือนย้อนยุคกลับไปอยู่ในบ้านเชียงสมัยเมื่อหลายพันปีก่อน ได้เห็นได้สัมผัสกันจริง ๆ


 อย่างที่พบหลักฐานว่ามีการล่าสัตว์ เขาก็ทำบรรยากาศรอบข้างเป็นป่า พร้อมกวางจำลองยืนจังก้าตระหง่าน ถัดไปอีกด้านติด ๆ กันหุ่นจำลองนายพรานสมัยบ้านเชียงกำลังเอาหอกยาวแทงกวางที่ล้มนอนอยู่บนพื้น  หรือในส่วนของการเลี้ยงสัตว์ก็เห็นทำเป็นควายจำลองนอนหมอบอยู่ในคอกอย่างดี มีฉากหลังเป็นบ้านเรือนชุมชนในสมัยนั้น

ที่ขาดไม่ได้ก็คือการปั้นภาชนะดินเผาเขียนลวดลายสีแดง  อันนี้เขาทำเป็นหุ่นคนสมัยบ้านเชียงกำลังนั่งประดิดประดอยปั้นหม้อใบใหญ่อยู่บนลานหน้าบ้าน ท่ามกลางหม้อดินที่ปั้นเสร็จแล้วมากมาย รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ทั้งหลายแหล่ที่ใช้ในการปั้น เช่นเดียวกันกับการทำเครื่องมือเครื่องประดับจากโลหะ เราก็จะเห็นหุ่นจำลองชายชาวบ้านเชียงบ้างกำลังหลอมโลหะ บ้างเทโลหะลงในแม่พิมพ์ บ้างก็กำลังใช้ค้อนตอกตีให้เป็นรูปเป็นร่าง เครื่องไม้เครื่องมืออะไรก็วางไว้ให้เห็นกันอยู่ มีให้ชมทุกขั้นตอนการผลิต



             มาถึงตรงนี้ก็เห็นภาพของบ้านเชียงชัดเจนครับ ในฐานะชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในบริเวณหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เริ่มต้นขึ้นอย่างน้อยกว่า ๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว แถมยังมีวัฒนธรรมของชุมชนที่ปรับตัวเข้ากับสภาพภูมิประเทศแบบที่ราบลุ่มได้เป็นอย่างดี สามารถดึงเอาผลประโยชน์ออกมาจากสภาพแวดล้อมที่ประกอบด้วยป่าผสมที่ลุ่ม  

            มิหนำซ้ำยังรู้จักดัดแปลงสภาพแวดล้อมธรรมชาติบางส่วนให้กลายเป็นสภาพแวดล้อมระบบใหม่ที่เหมาะสำหรับการสำหรับการปลูกข้าว จนกลายเป็นเศรษฐกิจหลัก การดัดแปลงธรรมชาติก็ประสบผลสำเร็จมากจนสังคมวัฒนธรรมมั่นคง สามารถพัฒนาต่อ มาอีกเป็นระยะเวลานานนับพันปี โดยมีพัฒนาการทางเทคโนโลยีในการทำภาชนะดินเผาและด้านโลหกรรมเกิดขึ้นด้วย

            และนั่นก็คือเหตุผลที่บ้านเชียงได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมจากยูเนสโก


            ลงบันไดมาผมก็พบว่าเป็นห้องสุดท้ายพอดี ห้องนี้จัดแสดงโบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้นที่วัดโพธิ์ศรีในเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๔๖ ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ก็เป็นภาชนะดินเผานั่นแหละครับนับร้อยใบ จัดแบ่งเป็นหมวดหมู่ตามยุคสมัยเรียงรายไว้ในตู้ ไล่เรียงไปตั้งแต่ภาชนะดินเผายุคต้น ภาชนะดินเผายุคกลาง และภาชนะดินเผายุคปลาย  แถมพกด้วยเครื่องมือและเครื่องประดับที่ทำจากสำริดและเหล็กอีกนิดหน่อย

 หลายคนอาจจะคิดว่ามีแต่หม้อดินเผาให้ดู ไม่เห็นจะน่าสนุกตรงไหน แต่ความจริงแล้วถ้าเรารู้ว่าอะไรเป็นอะไรมันก็ทำให้สนุกขึ้นมาได้ ยิ่งได้ข้อมูลจากนิทรรศการในห้องที่ผ่าน ๆ มาแล้วด้วย ดูเพลินไปเลยละครับ ตัวหม้อเองก็มีความน่าสนใจอยู่แล้ว 

ไหนจะทรวดทรงของหม้อที่แปลกตา บ้างก็ก้นกลม บ้างก็ก้นแหลม บ้างก็มีขา ไหนจะขนาดที่หลากหลาย มีตั้งแต่เล็กจิ๋วไปจนใหญ่เบ้อเริ่มเบ้อร่า  ไหนจะลวดลาย มีทั้งแปะนูน ทั้งขูดขีด ทั้งเชือกทาบ ทั้งเขียนลาย ฯลฯ  ผมน่ะเดินวนไปเวียนมาดูตู้โน้นทีตู้นี้ทีอย่างไม่รู้จักเบื่อหน่ายได้เป็นชั่วโมง  ๆ 

“เก็บข้อมูลไปทำรายงานหรือจ๊ะ สงสัยตรงไหนถามได้นะ” คุณพี่เจ้าหน้าที่หญิงที่นั่งเฝ้าห้องอยู่เห็นผมสนอกสนใจมากเป็นพิเศษกว่าใครเลยเข้ามาทักทาย ผมได้แต่ยิ้มตอบไป (ไม่บอกหรอกครับว่ามาจากอ.ส.ท. เพราะชอบเล่นบทปลอมตัวมาแบบร้อยตำรวจเอกในหนังไทย)  

คุณพี่ก็ดีใจหายเดินนำหน้าพาไปชมพร้อมอธิบาย “ ภาชนะสีดำนี่จะมีแต่ยุคแรกเท่านั้น อย่างเป็ดดินเผาสีดำนี่ก็เหมือนกัน สันนิษฐานว่าใช้ใส่น้ำ  แต่รูปร่างมันอาจจะดูคล้ายคอมฟอร์ต ๑๐๐ สมัยใหม่ไปหน่อยนะ”  นั่นแน่ะ ลูกเล่นไม่เบาเหมือนกัน



พักเดียวก็รอบห้อง ได้ข้อมูลใหม่ ๆ ที่น่าสนใจเพิ่มเติมมากมาย ด้วยความประทับใจในการบริการ ผมก็เลยสอบถามชื่อเสียงเรียงนามได้ความว่าชื่อพี่สิริพรรณ สุทธิบุญ  ครับ มารู้ทีหลังว่านามสกุลเดิมของคุณพี่เธอก็คือมนตรีพิทักษ์ ที่แท้เป็นลูกของคุณพจน์ มนตรีพิทักษ์ เจ้าของบ้านที่เป็นหนึ่งในหลุมขุดค้นนั่นเอง

“ตอนในหลวงกับพระราชินีเสด็จฯ ทอดพระเนตรหลุมขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านเชีย น่ะ พี่เรียนอยู่ป. ๔ ท่านเสด็จมาประทับที่บ้าน บ้านนั้นต่อมาพ่อพี่ก็ยกให้กรมศิลปากร  ไปดูมารึยังล่ะ ที่เขาเรียกเรือนไทยพวนน่ะ บ้านพี่เอง เดี๋ยวออกไปอย่าลืมแวะไปดูนะ ตอนนี้ปรับปรุงใหม่แล้ว”

ร่ำลาคุณพี่ใจดีกลับออกมาเกือบจะได้เวลาปิดทำการแล้ว ไม่น่าเชื่อครับ เที่ยวดูตั้งแต่เช้า เพลิดเพลินจนลืมกินข้าวกลางวัน พอนึกได้ก็หิวแสบไส้มือไม้สั่นขึ้นมาทันที ต้องรีบเข้าร้านอาหารหน้าพิธภัณฑ์ไปหาอะไรรองท้อง  อิ่มหมีพีมันค่อยสบายขับรถคันเก่งเวียนไปดู หลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีใน พิพิธภัณฑ์ที่หลุมขุดค้นซึ่งเป็นหลักฐานการฝังศพและโบราณวัตถุที่พบ ตั้งแต่ปีพ.. ๒๕๑๕ 


จำได้ว่าตอนผมมาเมื่อหลายปีก่อนมีปัญหาน้ำท่วมขังภายในหลุม  แต่ตอนนี้เขาปรับปรุงใหม่แล้ว ยกของเก่าออกไป เอาแบบจำลองลงไปแทนที่ แต่ไม่บอกก็คงไม่รู้ เพราะเหมือนของจริงทุกประการ รอบหลุมขุดค้นยังมีนิทรรศการพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการขุดค้นทางโบราณคดีที่วัดโพธิ์ศรีใน เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๑๕  รวมทั้งประวัติการขุดค้นตั้งแต่พ.. ๒๕๑๕ จนกระทั่งถึงปัจจุบัน


 ส่งท้ายไม่ลืมที่จะไปแวะดูเรือนไทยพวน หรือบ้านมนตรีพิทักษ์ที่ได้มอบบ้านและที่ดินให้กรมศิลปากรเมื่อพ.. ๒๕๔๖๕๐ กรมศิลปากรจึงได้ปรับปรุงเรือนไทยพวนเพื่อเป็นอนุสรณสถานในการเสด็จพระราชดำเนิน มาทอดพระเนตรหลุมขุดค้นมนตรีพิทักษ์ เห็นเขาว่าจะจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวไทยพวนในอดีต แต่ตอนที่ผมมานี่ยังไม่เห็น มีแต่เจ้าหน้าที่มากวาดลานบ้านอยู่  ทว่าแค่ได้มาดูมาเห็นสถาปัตยกรรมบ้านเรือนแบบไทยพวนที่สวยงามก็คุ้มค่าที่แวะเวียนมาแล้วละครับ

คืนนี้ผมกลับไปนอนหลับสบายเพราะยืน ๆ เดิน ๆ มาทั้งวัน เมื่อยขาเหลือหลาย แถมยังฝันเห็นหม้อดินเผาบ้านเชียงหลากแบบหลายสไตล์ลอยวนเวียนไปมา (ท่าจะบ้านเชียงขึ้นสมองแฮะ)


เยี่ยมศาสนสถานเพิงผา ว่าที่มรดกโลก

มาถึงอุดรธานีทั้งที จะเที่ยวดูแค่บ้านเชียงที่เดียวก็คงจะไม่ครบถ้วนกระบวนความ  เพราะยังมีอีกแห่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นก็คืออุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
 
ที่นี่ไม่ได้เป็นแค่แหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ธรรมดานะครับ เพราะว่ามีร่องรอยหลักฐานว่าเป็นรอยต่อกันกับยุคประวัติศาสตร์เสียด้วย  ที่สุดยอดไปกว่านั้นคือเป็นแหล่งโบราณคดีที่ตั้งอยู่ท่ามกลางภูมิทัศน์ธรรมชาติอันงดงามแปลกตาของป่าเขือน้ำ บนเทือกเขาภูพานอันเป็นหนึ่งในต้นน้ำสำคัญที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขง เรียกว่ารวมสามคุณสมบัติในหนึ่งเดียว 

ครึ่งค่อนวันแล้วครับ ที่ผมมาเตร็ดเตร่อยู่บนเส้นทางที่ลัดเลาะผ่านไปในผืนป่าโปร่ง และลานหินที่เรียงรายด้วยหินซึ่งถูกกัดกร่อนจากกาลเวลาเป็นรูปร่างประหลาดเป็นเป็นเสาเป็นเพิงหินใหญ่  บรรยากาศชวนให้จินตนาการไปถึงเรื่องราวตำนานรักอันแสนเศร้าที่เล่าขานกันมา อุสา-บารส


นางอุสาเป็นหญิงสาวที่เกิดขึ้นจากดอกบัว พระฤาษีจันทาได้เก็บมาเลี้ยง ต่อมาท้าวกงพานเจ้าเมืองพาน ซึ่งเป็นศิษย์ของพระฤาษีได้ขอนางไปเป็นราชธิดา เมื่อเจริญวัยขึ้นนางมีรูปโฉมที่งดงามและกลิ่นกายที่หอมกรุ่น เป็นที่ปรารถนาของเจ้าชายหลายเมืองได้มาสู่ขอ แต่ท้าวกงพานก็ทรงรักหวงแหนพระราชธิดาบุญธรรม ไม่ยอมยกให้ใคร ถึงกับสร้างหอสูงไว้บนภูเขาเป็นตำหนักให้นางอุสา ขณะพำนักศึกษาวิชาอยู่กับพระฤาษี

วันหนึ่งนางอุสาได้ไปเล่นน้ำในลำธารใกล้ ๆ และได้เก็บดอกไม้มาร้อยเป็นมาลัยรูปหงส์ ก่อนจะเสี่ยงทายหาคู่ด้วยการลอยมาลัยไปกับสายน้ำ มาลัยลอยไปถึงเมืองปะโคเวียงงัว ท้าวบารสซึ่งเป็นเจ้าชายทรงเก็บมาลัยได้จึงทรงม้าเสด็จออกตามหาเจ้าของมาลัยพร้อมด้วยข้าราชบริพาร

เข้าเขตเมืองพาน เมื่อถึงหินใหญ่ก้อนหนึ่งม้าก็ไม่ยอมเดินต่อ ท้าวบารสจึงทรงผูกม้าไว้ก่อนจะพาบริวารเดินเที่ยวป่าในบริเวณนั้น จนพบกับนางอุสาซึ่งกำลังอาบน้ำอยู่ และได้รู้ว่าเป็นเจ้าของมาลัยที่เสี่ยงทาย จึงเกิดผูกสมัครรักใคร่กันขึ้น แอบอยู่กินกันบนตำหนักหอนางอุสานั่นเอง


ต่อมาท้าวกงพานทรงทราบเรื่องก็พิโรธหนัก จะจับท้าวบารสประหาร แต่เหล่าเสนามาตย์ทัดทานเอาไว้เนื่องจากกลัวว่าจะมีปัญหากับเจ้าเมืองปะโค  ท้าวกงพานจึงออกอุบายท้าทายให้ท้าวบารสสร้างวัดแข่งกันให้เสร็จภายในวันเดียว โดยนับเวลาตั้งแต่เช้าจนกระทั่งถึงดาวประกายพรึกขึ้น ใครสร้างไม่เสร็จจะต้องเป็นฝ่ายถูกประหาร

ท้าวกงพานได้เกณฑ์ไพร่พลมากมายมาช่วยกันสร้างวัดในขณะที่ท้าวบารสมีเพียงข้าราชบริพารที่ติดตามมา จึงสร้างได้ช้ากว่า พี่เลี้ยงของนางอุสาจึงออกอุบายให้นำเอาโคมไฟไปแขวนบนยอดไม้ใหญ่กลางดึกทำทีเป็นดาวประกายพรึกขึ้นแล้ว ฝ่ายไพร่พลของท้าวกงพานเห็นดังนั้นก็หยุดสร้างในขณะที่ฝ่ายท้าวบารสเร่งมือจนแล้วเสร็จทันเวลา เป็นอันว่าท้าวกงพานต้องเป็นผู้ถูกประหารเสียเอง


หลังจากนั้นนางอุสาได้ติดตามท้าวบารสกลับเมืองปะโค ทว่าที่เมืองนั้นท้าวบารสมีชายาอยู่แล้วหลายองค์ จึงอิจฉาริษยานางอุสา สมคบกับโหราจารย์ให้ทำนายว่าท้าวบารสมีเคราะห์ร้าย ต้องออกบำเพ็ญเพียรในป่าองค์เดียวเป็นเวลา ๑ ปี จึงจะพ้นเคราะห์ เมื่อท้าวบารสเสด็จออกนอกเมืองเหล่าชายาก็หาทางกลั่นแกล้งนางอุสาต่าง ๆ นา ๆ จนในที่สุดนางทนไม่ไหวต้องหนีกลับไปอยู่กับพระฤาษี ก่อนจะล้มป่วยและสิ้นใจลงด้วยความตรอมใจบนหออันเคยเป็นรังรักในที่สุด

ผ่านไป ๑ ปี ท้าวบารสกลับมาถึงเมือง ทราบข่าวก็รีบติดตามมา แต่ช้าเกินไป เมื่อพบว่านางอันเป็นที่รักจากไปอย่างไม่มีวันกลับแล้ว ท้าวบารสก็ตรอมใจสิ้นพระชนม์ตามไปด้วย (เศร้า)

อดคิดเล่น ๆ ไม่ได้ว่านี่ถ้ามีใครเอาไปสร้างเป็นละคร ชื่อประมาณว่า รักรันทดบนภูพระบาท เขียนบท ทำโปรดักชันให้ดี ๆ แบบเดียวกับละครซีรีส์เกาหลี นักท่องเที่ยวที่มาคงจะมีจินตนาการและอารมณ์ร่วมซาบซึ้งไปกับสถานที่ได้ไม่ยาก เหมือนกับที่เกาหลีเขาใช้ละครในการโปรโมทสถานที่ท่องเที่ยวของเขาสำเร็จจนโด่งดังไปทั่วโลก ทั้งที่เป็นแค่เรื่องแต่งขึ้นมาใหม่ล้วน ๆ  เรื่องราวในตำนานอุสา-บารสของเราขลังกว่าเป็นไหน ๆ  เพราะเป็นตำนานเก่าเล่าขานสืบกันมา มิหนำซ้ำกลายเป็นส่วนหนึ่งของภูพระบาทไปแล้วอย่างแยกไม่ออก

 ก็บนเส้นทางที่ผมเดินผ่านมา เพิงหินทุกแห่งมีชื่อเกี่ยวพันกับเหตุการณ์ตามตำนานทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นคอกม้าน้อย คอกม้าท้าวบารส สถานที่ผูกม้าของท้าวบารส  ถ้ำฤาษี ที่อยู่ของพระฤาษีจันทา  บ่อน้ำนางอุสา สถานที่พบรักของนางอุสากับท้าวบารส  หอนางอุสา สถานที่ครองรักของทั้งสอง วัดพ่อตา กับวัดลูกเขย ที่ท้าวกงพานท้าวบารสสร้างแข่งกัน มีแม้กระทั่ง  หีบศพพ่อตา   หีบศพนางอุสา  และหีบศพท้าวบารส ครบครันทุกตัวละคร 


แต่ในทางโบราณคดีแล้วเพิงหินเหล่านี้มีความสำคัญในฐานะที่เป็นหลักฐานของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ครับ เพราะมีร่องรอยภาพเขียนสีแดงเป็นรูปฝ่ามือ รูปคน และรูปสัตว์ รวมทั้งลวดลายเรขาคณิตตามเพิงผาและถ้ำต่าง ๆ  (ที่เห็นชัดเจนเป็นชิ้นเป็นอันก็คือถ้ำวัวและถ้ำคน ครับ) ซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับการประกอบพิธีกรรมบางอย่าง แต่ในขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นถึงการเก็บของป่า ล่าสัตว์ อันเป็นวิถีการดำรงชีวิตของคนในยุคหลายพันปีก่อนด้วย


ที่แจ๋วไปกว่านั้นก็คือใต้เพิงเหล่านี้ได้ถูกใช้เป็นศาสนสถานต่อเนื่องกันมาจนถึงสมัยประวัติศาสตร์อีกต่างหาก หลักฐานก็คือใบเสมาหินขนาดใหญ่ที่ปักล้อมรอบเพิงหินทรายหลายแห่ง วัดพ่อตา วัดลูกเขย เป็นตัวอย่างการดัดแปลงเพิงหินเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งมีทั้งพุทธและฮินดู เห็นได้จากถ้ำพระซึ่งจำหลักพระพุทธรูปในซุ้มเรือนแก้ว รวมทั้งเทวรูปไว้ในเพิงหินใกล้ ๆ กัน นอกจากนี้ยังมีการสร้างเจดีย์ขนาดเล็กบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เรียกได้ว่าภูพระบาทนี้เป็นกลุ่มโบราณสถานที่เก่าแก่ที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ และมีความสืบเนื่องกันมายาวนานที่สุดแห่งหนึ่ง

ด้วยความโดดเด่นในข้อนี้เองอุทยานภูพระบาทจึงเป็นอุทยานประวัติศาสตร์แห่งล่าสุดของไทยที่ได้รับการเสนอชื่อเพื่อให้ยูเนสโกพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ซึ่งมีวี่แววเสียด้วยว่าจะได้ ก็คงต้องรอลุ้นกันต่อไปละครับ มรดกโลกทางธรรมชาติก็มีแล้ว มรดกโลกทางวัฒนธรรมก็มีแล้ว ภูพระบาทนี่ถ้าได้ก็จะเป็นมรดกโลกแบบผสมที่ประเทศไทยเรายังไม่เคยมี

            ถึงตอนนั้นผมก็คงจะมีโอกาสได้กลับมาที่นี่ใหม่อีกครั้ง

แต่ตอนนี้ชักเมื่อยเต็มที ขอกลับไปนอนพักผ่อนดูวีดีโอมัมมี่ก่อนก็แล้วกันครับ เชื่อไหมนี่ที่ซื้อเอาไว้ยังดูไม่หมดเลย


ขอขอบคุณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท และเจ้าหน้าที่
ผู้เกี่ยวข้องทุกท่านที่ได้ช่วยอำนวยความสะดวกให้สารคดีเรื่องนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

เอกสารอ้างอิง

ศิลปากร,กรม. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท. มปพ.
ศิลปากร.กรม.มรดกโลกบ้านเชียง. กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์,๒๕๕๐.


คู่มือนักเดินทาง

รถยนต์ส่วนตัว
จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑ ไปเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๒ ที่จังหวัดสระบุรี ผ่านจังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่นถึงจังหวัดอุดรธานี รวมระยะทางประมาณ ๕๖๔ กิโลเมตร
รถโดยสารประจำทาง

              มีบริการรถโดยสารปรับอากาศ ๒๔ที่นั่ง สายกรุงเทพฯ-อุดรธานี ออกจากสถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ หมอชิต ๒ ทุกวัน อัตราค่าโดยสาร ๖๔๐ บาท ใช้เวลาเดินทาง ๙ ชั่วโมง จองตั๋วได้ที่โทรศัพท์ ๐ ๒๙๓๖ ๐๖๕๗

รถไฟ
            การรถไฟแห่งประเทศไทยมีบริการรถไฟกรุงเทพฯ อุดรธานีทุกวัน อัตราค่าโดยสาร รถด่วน ชั้น ๒ ปรับอากาศ  ๔๗๙ บาท ชั้น ๓ พัดลม  ๒๔๕ บาท รถเร็วชั้น ๒ ปรับอากาศ  ๓๒๙ บาท ชั้น ๓ พัดลม ๒๐๕ บาท จองตั๋วได้ที่โทรศัพท์ ๐ ๒๒๒๐ ๔๔๔๔

            พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียงอยู่ห่างจากตัวเมืองอุดรธานี ๕๕ กิโลเมตร ใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๒ (อุดรธานี-สกลนคร) เลยสี่แยกเข้าอำเภอบ้านดุงไปเล็กน้อย เลี้ยวขวาทางหลวงหมายเลข ๒๒๐๓ เข้าไปอีกประมาณ ๘ กิโลเมตรก็จะถึงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง โทรศัพท์ ๐ ๔๒๒๐ ๘๓๔๐

            อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อยู่ห่างจากตัวเมืองอุดรธานี ๖๗ กิโลเมตร ใช้ทางหลวงหมายเลข ๒ (อุดรธานี-หนองคายระยะทางประมาณ ๑๓ กิโลเมตร มาเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๐๒๑ ไปทางอำเภอบ้านผือ ระยะทางประมาณ ๔๒ กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๓๔๘ อีก ๑๒ กิโลเมตร ก็ถึงที่ทำการอุทยานฯ โทรศัพท์ ๐ ๔๒๒๕ ๑๓๕๐-๒ หรือขึ้นรถโดยสารรับจ้างสายอุดรธานี-บ้านผือ-น้ำโสม หรือสายอุดรธานี-นายูง ที่หน้าตลาดรังษิณา  อัตราค่าโดยสาร ๒๐ บาท ลงที่บ้านติ้ว แล้วต่อมอเตอร์ไซค์รับจ้างขึ้นไปยังอุทยานฯ  อัตราค่าโดยสารประมาณ ๓๐ บาท ควรนัดหมายมอเตอร์ไซค์ให้มารับกลับด้วย เพราะบนอุทยานฯ ไม่มีมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

หมายเหตุ อัตราค่าโดยสารอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ควรตรวจสอบก่อนเดินทางอีกครั้ง
           




Wednesday, October 26, 2016

เบิ่งเที่ยวเชิงเกษตรเมืองเลยสิ เที่ยวได้ทั้งปี

 ดินแดนในโอบล้อมขุนเขาอันอุดมสมบูรณ์

รำไพพรรณ แก้วสุริยะ ...เรื่อง ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...ภาพ 
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๕๙

                   เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อนสูงวัยของดิฉันโทรศัพท์คุยว่า เธอเพิ่งกลับจากเที่ยวเมืองเลยในช่วงวันหยุดติดต่อกันหลายวัน ได้ชื่นมื่นกับธรรมชาติที่เห็นเมฆสีขาวลอยเคลียยอดภูทั้งภูหอ ภูกระดึงและภูหลวงระหว่างการเดินทางบนถนน ได้ทำบุญและสนทนาธรรมกับอริยสงฆ์ที่วัดป่าสายหลวงปู่มั่น หลวงปู่เทสก์ เข้าไปชมวัดวาอารามที่มีศิลปะสถาปัตยกรรมล้านช้าง และที่เธอพบใหม่ทั้งน่าชมน่ากินก็คือได้เที่ยวในสวนเกษตรที่พืช ผัก ผลไม้ ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม...ทำให้เธอต้องเพิ่มวันพักเที่ยวอยู่ที่เลยอีก ๑ วัน  และกำชับว่าหากไปแล้ว ต้องไปสวนนั้น แวะสวนนี้ และไม่ควรพลาดไร่นี้ด้วย...
           
                 ความจากเธอเล่าว่า เลยมีแหล่งท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นและไม่ควรพลาดที่นั่น ที่นี่ด้วยสิ นับเป็นแรงจูงใจให้คิดย้อนอดีตว่า ฉันเองเป็นผู้คิดรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงเกษตรนี้เสนอ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)ในโครงการ Amazing  Thailand 1998-1999 คือAmazing  Agriculture Heritage  ด้วย เพื่อติดตามผลงานว่า เกษตรกรเลยเขาเป็นอย่างไร  จึงได้โอกาสนัดเพื่อนแก๊งรถตู้(เพื่อนสนิทสมัยเรียน) ไปเบิ่งเมืองเลยแดน เมืองแห่งทะเลภูเขา สุดหนาวในสยาม ดอกไม้งามสามฤดู ถิ่นที่อยู่อริยสงฆ์ มั่นคงความสะอาด ในช่วงเข้าพรรษากันค่ะ
            
               ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวเมืองเลยที่ว่า “เป็นเมืองที่มีอากาศดีตลอดปี มีทิวทัศน์สวยงาม  การเดินทางสะดวก มีที่พักให้เลือกหลายระดับ อาหารดีสะดวกซื้อ  มีรูปแบบการท่องเที่ยวที่หลากหลาย เที่ยวกันได้อย่างเพลินๆ  ค่าใช้จ่ายในระดับกลาง มีความคุ้มค่าต่อการเดินทาง” นี่สิ ทำให้บรรดาเพื่อนแก๊งรถตู้ตัดสินใจทันทีให้ดิฉันทำรายการเบิ่งเมืองเลย ๓ คืน ๔ วันช่วงวันหยุดเทศกาลเข้าพรรษา เพื่อได้ทำบุญและชมสวนเกษตรในรายการเดียวกัน โดยเดินทางไป-กลับเครื่องบิน เช่ารถตู้เดินทาง เพราะวัยนี้เที่ยวกันอย่าง Slow Travel, Slow Life ตามคำขวัญที่ชาวเลยเขาชวนเที่ยวว่า “สบาย ๆ สไตล์เลย” นี่แหละ

 ทิวทัศน์เมืองเลยจากบนเครื่องบิน
วันเดินทางระหว่างที่คอยขึ้นเครื่อง ด้วยสำนึกในหน้าที่มัคคุเทศก์ดิฉันได้บอกเพื่อนสูงวัยต่างอาชีพให้เข้าใจว่า ข้อควรปฏิบัติการเที่ยวชมสวนเกษตรนั้นมีดังนี้

ข้อแรกคือ ไม่อยากให้ใส่น้ำหอมค่ะ เนื่องจากในสวนเกษตรอินทรีย์นั้น เขาไม่ใช้ยาฆ่าแมลง หากมีแมลงจำพวกผึ้ง แตน ต่อ มันได้กลิ่นแล้วจะเข้ามาต่อย เพราะกลิ่นน้ำหอมนั้นแมลงนึกว่าเป็นศัตรูของมัน

ข้อที่สอง เวลาถ่ายรูปอย่าเผลอเข้าไปเหยียบกลางแปลงปลูก หรือโน้มกิ่งเพื่อให้รูปสวย จะทำให้เกิดผลกระทบทั้งต้นไม้และดอกไม้ ก้านหัก ต้นหักเสียหาย

ข้อที่สาม ไม่อยากให้เพื่อนแตะ จับ ดอกไม้และผลไม้บนต้น เกรงว่าอาจมีเชื้อโรค เชื้อรา แม้อุณหภูมิจากมือเราสร้างผลกระทบทางลบต่อพืชพรรณ ทำให้เกิดโรคในพืชและสัตว์เลี้ยงที่สวนเกษตรแห่งนั้นได้

“ค่ะ ครับ” ทุกคนรับทราบ กระนั้นก็ตามยังมีเสียงแซวว่า “นี่หนีกติกาจากบ้านมาเจอในรายการเที่ยวอีกหรือ” ก็ต้องบอกว่า เพียงย่อ ๆ นะ หากเป็นต่างประเทศเขาห้ามคนเมาเข้าไปเที่ยวด้วย เพราะเกรงว่าคนขาดสติจะทำให้สวนเขาเสียหาย... “นี่เธอ ช่วงนี้เข้าพรรษา ไม่มีใครเมาหรอกจ้ะ”มีเสียงไม่ลดละต่อบทสนทนา...ใช่ค่ะ..เที่ยวในวัยเกษียณยอมรับว่า สนุก ม่วนซื่น จริง ๆ


เช้าวันแรกคณะเราเดินทางถึงเมืองเลยเจ็ดนาฬิกาสามสิบนาที จึงตรงไปหาอาหารเช้าเมนูไข่กระทะ ขนมปังตำรับฝรั่งเศสแปลง พร้อมชา กาแฟตามอัธยาศัย เป็นอาหารเช้าตำรับเมืองเลยที่เพื่อนบางคนขอสั่งขนมปังกินถึง ๓  ชิ้นอย่างเกรงน้ำหนักเพิ่มทีเดียว กระนั้นก็ตาม เพื่อนอนามัยในกลุ่มบ่นว่า เมนูอาหารเช้าไม่มีผลไม้เลย โชเฟอร์ได้ยินก็บอกว่า “สักครู่เมื่อออกนอกเมือง ผมจะแวะที่ร้านขายผลไม้ข้างถนน มีทั้งสับปะรดไร่ม่วง กับแก้วมังกร ตอนนี้กำลังออกชุกครับ”

โชเฟอร์รถตู้ทำหน้าที่เป็นเจ้าบ้านที่ดี บอกกับคณะเราว่า “สับปะรดไร่ม่วง เป็นพันธุ์เดียวกับสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียที่คนกรุงเทพฯรู้จักว่า สับปะรดศรีราชา น่ะครับ เอาพันธุ์มาปลูกที่จังหวัดเลย ปรากฏว่าได้คุณภาพดี รสหวาน กรอบ ที่พิเศษคือกินแล้วไม่กัดลิ้นด้วย แก้วมังกร ก็เหมือนกัน มีรสหวานอมเปรี้ยว กรอบ กว่าที่อื่น ” 

คุณรู้ได้อย่างไร มีเสียงตั้งคำถามจากสมาชิกทัวร์ และได้ยินเสียงตอบว่า “อาผมปลูกทั้งสับปะรดและแก้วมังกร ตามระบบสวนเกษตรแบบผสมผสานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมครับ” เสียงชื่นชมในรถขอบคุณดิฉันที่จองรถตู้โชเฟอร์ดี ดิฉันตอบ "อย่าเพิ่งชมไว้วันกลับก่อน เพราะเพิ่งแรกพบค่ะ”

คืนแรกเราค้างแรมในเมือง เพื่อย่นระยะการเดินทางและไม่ต้องย้อนไปมา ตามเส้นทางอำเภอเมืองเลย-  อำเภอวังสะพุง-อำเภอหนองหิน-อำเภอภูหลวง- อำเภอวังสะพุง-อำเภอเมืองเลย อันเป็นเส้นทางวงรอบ ทั้งนี้ไม่ลืมแจ้งกับโรงแรมว่าเราขอเข้าพักเย็นเมื่อกลับจากดูสวนเกษตรด้านสายใต้เสียก่อน

เมื่อออกรถจากเมืองเลยผ่านตลาดวังสะพุง ตรงไปเลี้ยวเข้าศูนย์บริการท่องเที่ยวภูป่าเปาะ ซึ่งอยู่ก่อนถึงอำเภอหนองหิน ๑ กม.ตามที่นัดหมายกับนายบุญลือ  พรมหาลา ผู้ใหญ่บ้านผาหวาย ตามโทรศัพท์หมาย-เลข  ๐๘๙๗๖๔๖๘๒๙  ที่ศูนย์ฯมีที่จอดรถและมีการจัดระเบียบบริการนักท่องเที่ยวนั่งรถอีแต๊กตามคิวค่าบริการนำเที่ยวคนละ ๓๐ บาท เราเปลี่ยนรถเรียบร้อย จากนั้นโชเฟอร์รถอีแต๊กพาวกวนตามถนนดินลูกรังอัดแน่นขึ้นเขาไปชมทิวทัศน์พาโนรามาภูหอ อันเป็นจุดชมวิวภูหอที่กว้างไกล รายการพาเที่ยวชมภูหอนี้ กลุ่มนักท่องเที่ยวที่รักษ์สิ่งแวดล้อม ขอชื่นชมการจัดระเบียบเพื่อรักษาความสะอาดที่นี่ คือ ภายในรถอีแต๊กทุกคันมีเข่งหรือถุงใส่ขยะ แนะนำให้นักเดินทางทิ้งขยะในถุงด้วย ขอให้เข้มงวดเช่นนี้ตลอดไปด้วยค่ะ จะได้ไม่ต้องรณรงค์เก็บขยะกันทุกปี

 แปลงนาสาธิตของศูนย์ฯ อาจารย์เฉลิมชัย


หลังจากชื่นชมภูหอกันตามเวลากำหนดแล้ว เราเดินทางต่อไปแวะถ่ายรูปกันที่ภูผาล้อม สวนหิน ข้างทาง ก่อนที่เดินทางไปศูนย์การเรียนรู้การเกษตรชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงอาจารย์เฉลิมชัย ที่บ้านโคกใหญ่ ตำบลตาดข่า  ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กัน

ทันทีที่ลงจากรถ เราได้รับการต้อนรับจากเครื่องดื่มสมุนไพรหอม เย็นสีสวย เพราะทราบว่าทุกคนคงหิวกัน ตามด้วยรายการอาหารกลางวันตำรับพื้นบ้านเมืองเลยตามที่โทรศัพท์จองไว้ล่วงหน้าที่หมายเลข ๐๘๘ ๕๗๑ ๖๖๖๙  พร้อมทั้งกำชับว่าไม่เผ็ดตามความชอบของผู้สูงวัย ปรากฏว่า ทุกคนติดใจรสน้ำพริก กินกับผักต้มสารพัดที่เก็บในสวน โดยเฉพาะมะระขี้นกลูกเล็ก ๆ ขนาดนิ้วหัวแม่มือ แต่แปลกที่มีวิธีลวกอย่างไรไม่มีรสขมได้ ไข่เจียว แกงเลียงผักหวานป่า อร่อยจนลืมเวลาเดินชมสวน 

 อาจารย์เฉลิมชัย อินทรชัยศรี

ครั้นเมื่อสดชื่น สบายท้องกับอาหารพื้นบ้านกันแล้ว อาจารย์เฉลิมชัย อินทรชัยศรี หนึ่งในปราชญ์เกษตรกรให้การต้อนรับนำชมตามสถานีต่าง ๆ อันเป็นซีกส่วนของศูนย์ฯตามเวลาเพียง ๒ ชั่วโมง สรุปได้ว่า  

ปราชญ์เกษตรกรท่านนี้ เป็นกลุ่มนักคิดรุ่นใหม่ที่เรียกกันว่า Gen X หรือ Extraordinary Generation ท่านเป็นคนที่กล้าคิด กล้าทำ มีจิตใจเปิดกว้าง พร้อมรับฟังข้อติติงเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาตนเอง สามารถทำการเกษตรเพื่อปลดหนี้กว่า ๔ ล้านบาทได้ภายใน ๔ ปี จากผืนดินที่มีแต่ความแห้งแล้งสวนป่าดินลูกรังเป็นดินดี  ปัจจุบันปลูกพืชพันธุ์ไม้ชนิดต่างๆ ได้มากมาย รวมถึงการเลี้ยงปลาในนาข้าว บ่อกบ ไก่พื้นเมือง ไก่งวง เป็ดเทศ 

มีต้นแบบโรงสมุนไพร โรงผลิตก้อนเห็ด โรงสีข้าว และโรงผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ผลงานทำให้เป็นผู้ได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่น ปี ๒๕๕๑  สาขาไร่นาสวนผสม มีส่วนบริการสินค้าผลผลิตจากไร่ที่พิเศษคือไผ่หวานสายพันธุ์ภูกระดึง  มีอาหารพื้นบ้านตำรับเกษตรอินทรีย์และเครื่องดื่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพ ได้รับความสนใจมีผู้สนใจเข้ามาศึกษาดูงานทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี


ตามคำแนะนำของเพื่อนบอกว่า จากไร่อาจารย์เฉลิมชัย ให้เลยต่อไปที่บ้านม้าไทยและสวนเกษตรอินทรีย์ ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กัน เป็นเครือข่ายทางการท่องเที่ยวเชิงเกษตรด้วย แต่บ่ายวันนั้น เจ้าของสวนไม่อยู่ให้การต้อนรับคณะเรา  ดิฉันพลาดตรงที่ได้ติดต่อแล้ว แต่วันเดินทางไม่ได้โทรศัพท์ยืนยันกับอาจารย์เกษมที่หมายเลข  ๐๘๐ ๑๙๙ ๐๘๗๔  อีกครั้ง นี่แหละเป็นเรื่องที่ผู้จัดรายการนำเที่ยวพึงปฏิบัติ เพราะท่านเจ้าของสวนก็มีเวลานัดหมายกับบุคคลภายนอกเช่นกัน การสื่อสารอย่างใกล้ชิดเพื่อแจ้งกำหนดเวลา แม้การเดินทางถึงช้าก็ควรกระทำ

 บ้านบนต้นไม้และบรรยากาศภายในบ้านม้าไทย

 บ่ายวันนั้น เราจึงเพียงแวะถ่ายรูปและได้รับคำบอกเล่าว่า สวนเกษตร ของอาจารย์เกษม  สมชาย ผู้เป็นคนหนุ่ม Gen X ที่ได้หันหลังทวนกระแสวัตถุนิยม กลับมาใช้ชีวิตทำการเกษตรอินทรีย์ตามแนวพระราชดำริการจัดการแหล่งน้ำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและเกษตรอินทรีย์ ผสมกับการทำฟาร์มม้าไทย ในพื้นที่ ๘ ไร่ ปลูกไม้ผล รสชาติดี ส่งขายตลาดในประเทศและต่างประเทศ  ทำนาข้าวพันธุ์ลืมผัว  บ่อปลา  ปลูกกล้วยน้ำว้า  พืชผักสวนครัวทุกชนิดโดยเฉพาะตะไคร้ขายส่งเข้าห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศ จนได้รับรางวัลเกียรติภูมิ ปราชญ์แผ่นดิน และรางวัลลูกโลกสีเขียว 

 อาจารย์เกษม สมชาย โอบอุ้มม้าน้อยอย่างทะนุถนอม

 ภายในฟาร์มม้าไทยและสวนเกษตรฯ แห่งนี้ มีกิจกรรมและความหลากหลาย และมุมทิวทัศน์สวยงาม ที่น่าสนใจให้ชม ทั้งแปลงปลูกไม้ผล พืชผักสวนครัว ที่ใช้ระบบอินทรีย์ ผสานกับภูมิปัญญาพื้นบ้าน  เทคโนโลยีการเกษตรแผนใหม่ ปรับปรุงบำรุงพื้นที่ด้วยหลักการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเช่น ใช้ม้ากินหญ้าแทนเครื่องตัดหญ้า ใช้ระบบกลศาสตร์ตะบันน้ำส่งน้ำกระจายไปทั่วพื้นที่  ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ ทำปุ๋ยจากมูลไส้เดือน ส่วนม้าที่เลี้ยงไว้ยังเปิดบริการพานักท่องเที่ยวขี่ม้าชมสวนตามเวลาและราคาที่ตกลงกัน มีบริการห้องสุขา นอกจากนั้น ยังมีมุมวางพืชผัก ผลไม้ และผลิตภัณฑ์ในสวนจำหน่ายเป็นของใช้ของฝากกลับบ้านด้วย
            
 แปลงสตรอเบอรรี่ในกรถาง สวนครูอ๋อง
              
           เกือบเย็นวันแรกทัวร์เมืองเลยช่วงวันหยุดเทศกาลเข้าพรรษานั้น เราออกเดินทางต่อไปที่สวนครูอ๋อง ไผ่รวกหวานภูกระดึง คราวนี้ผู้จัดรายการทัวร์เพื่อเพื่อนจึงไม่พลาดการสื่อสาร ระหว่างการเดินทางได้โทรศัพท์ถึงเจ้าของสวนที่หมายเลข ๐๘๙ ๒๗๔ ๖๐๐๙แจ้งว่าคณะเราจะไปถึงช้าประมาณ ๑.๓๐ ชม.  เมื่อไปถึงสวนจึงได้รับการต้อนรับจากคุณครูสุรูป แสนขันธ์ นามที่ชาวบ้านชอบเรียกชื่อเล่น ครูอ๋องพร้อมคณะ ที่สวนเกษตรแห่งนี้  นอกจากมีเครื่องดื่มน้ำมะนาวผสมน้ำผึ้งเย็น ๆ จำหน่ายแล้ว ยังมีขนมผิงตำรับจากสุโขทัยที่ละลายในปากให้ทดลองชิมอีกด้วย ขนมผิงนี้ คุณบุญชิต วงศ์ศิริ บอกว่าไปเรียนมาจากสุโขทัย ซึ่งพวกเราชมกันว่า รสชาติเหมือนต้นแบบทีเดียว

 ไผ่รวกหวานภูกระดึง

ครั้นเมื่อเราถามถึงพืชเด่นในสวนที่ส่งขายทั่วประเทศคือไผ่รวกหวาน  ภูกระดึงนั้นได้สายพันธุ์มาจากไหน เจ้าของสวนเล่าว่า ได้ใช้ภูมิปัญญาเดินป่าสังเกตว่า ทำไมหน่ออ่อนไผ่กอนี้มีรอยสัตว์แทะจึงหักมาชิมดูพบว่ามีรสหวาน จากนั้นช่วยกันขุดไผ่ทั้งกอมาปลูกในสวน และใช้หลักความรู้ทางวิทยาศาสตร์เกษตรในการคัดเลือกสายพันธุ์นานถึง ๕ ปีก็สามารถเพาะและขยายพันธุ์ได้ต้นไผ่รวกหวานพันธุ์แท้ และเธอยืนยันขอใช้ Brand Identity หรืออัตลักษณ์ของสวนว่า ไผ่รวกหวาน ภูกระดึง เพื่ออนุรักษ์สายพันธุ์ไผ่ชนิดนี้ไว้คู่บ้านเกิด 

 สวนมะนาวในบ่อซีเมนต์
ภายในสวนเกษตรแห่งนี้  มีการจัดทำการเกษตรแบบผสมผสานที่ปลอดสารพิษได้รับมาตรฐาน GAP ได้จัดแบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วนเช่น  มีสวนสาธิตทั้งสวนไผ่ สวนมะนาวในบ่อซีเมนต์ที่ทำให้ออกผลนอกฤดู มีมุมปลูกสตรอเบอรี่ในกระถาง ด้านหน้าสวนจัดมุมไม้ประดับไว้ให้ถ่ายภาพ มีซุ้มจำหน่ายผลผลิตในสวน ด้านหลังมีที่พักแบบฟาร์มสเตย์

 ที่พักแบบฟาร์มสเตย์ของสวนครูอ๋อง

เย็นวันนั้น ครูอ๋องเจ้าของสวนได้ตัดหน่อไม้รวกหวาน ปอกล้างน้ำเสิร์ฟพร้อมกับน้ำพริกปลาย่างให้ทดลองชิม บอกว่า กินดิบ ๆ ได้ เราชิมกันคนละคำสองคำ ตามการต้อนรับ เพราะเพื่อนในคณะกระซิบบอกว่า ไม่ควรกินดิบมาก เพราะในหน่อไม้มีสารไซยาไนด์อยู่บ้าง หากคนแพ้อาจปวดหัวและหายใจติดขัด โดยเฉพาะผู้เป็นภูมิแพ้ต้องระวัง เธออธิบายต่อว่า หากทำให้สุก ทั้งผัดหรือ ต้มกับใบย่านางแล้วจะทำให้ สารพิษสลายลงได้ เมื่อได้เรียนรู้เรื่องหน่อไม้หวานกันแล้ว พวกเราก็ถูกผู้คุมเวลาเตือนว่า เราควรลาเจ้าของสวน เพราะจะต้องกลับสู่ตัวเมือง เพื่อเข้าที่พักกันเพราะยังมีเวลาตระเวนชมสวนอีกหลายแห่ง  

 บรรยากาศร่มรื่นในศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง

บนเส้นทางจากสวนไผ่หวานภูกระดึงกลับสู่เมืองเลยนั้น ยังมีสวนของพ่อหรือสวนอาจารย์ธงชัย นิกรสุข ที่บ้านผาน้อย อำเภอวังสะพุง นับเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่เอาหลักการการเกษตรอินทรีย์จากญี่ปุ่นมาผสมผสานกับการเกษตรทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จนสามารถพลิกผืนดินเป็นดินดี น้ำดีและได้รับโล่พระราชทานหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง อยู่เย็น เป็นสุขจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และได้รับแต่งตั้งเป็นปราชญ์ของแผ่นดิน สาขาเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดเลย  รางวัลคนดีศรีแผ่นดิน และรางวัลอื่น ๆ อีกมากมาย 

ปัจจุบันท่านได้พัฒนาสวนของพ่อ เป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ทฤษฎีใหม่ ตามแนวพระราชดำริ  และได้รับรางวัลศูนย์เรียนรู้ดีเด่นของจังหวัดเลย เมื่อปี ๒๕๕๔ สำหรับคณะที่มีเวลาแล้ว น่าเข้าไปเยี่ยมชม เพื่อนำความรู้และประสบการณ์จริงมาใช้กับตัวเราหรือบอกต่อก็ได้



รายการทัวร์เมืองเลยช่วงวัสสานวันที่สองนั้น เราย้ายที่พักไปค้างแรมกันที่อำเภอภูเรือ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรในย่านนั้น ดังนั้น หลังอาหารเย็น ผู้จัดรายการทัวร์จึงแจ้งสมาชิกเพื่อทราบเรื่องที่พัก และรายการทัวร์โดยกำหนดสถานที่ไปชมไกลเสียก่อน ครึ่งวันที่สองไปชมตลาดชายแดนและข้ามสะพานไปต่างประเทศกันที่ท่าลี่ กับไร่อาจารย์อธิศพัฒน์

 แปลงสาธิตในบริเวณบ้านอาจารย์อธิศพัฒน์

คณะท่องเที่ยวแก๊งรถตู้เที่ยวสบาย ๆ สไตล์เลย ดูเฉย ๆ กับตลาดนัดชายแดนท่าลี่ บ่นว่าอากาศอบอ้าวและไม่มีของที่น่าสนใจอยากซื้อกัน เพียงเดินผ่านแล้วถ่ายรูปเป็นที่ระลึกพอได้อารมณ์ก็กลับไปนั่งรับอากาศเย็น ๆ ในรถกัน  ระหว่างทางจากตลาดนัดชายแดนเราแวะตลาดท่าลี่หาซื้อกาแฟดื่มตามอัธยาศัย สักครู่เมื่อสารคาเฟอินกระตุ้นประสาท ทำให้ลูกทัวร์ผู้สูงวัยสดชื่นขึ้น ก็พอดีรถเลี้ยวเข้าสู่ไร่อาจารย์อธิศพัฒน์ ในเขตบ้านท่ายาง ตำบลท่าลี่ ซึ่งอยู่ห่างจากตลาดเพียง ๘ กม. ที่นี่เราได้โทรศัพท์ยืนยันที่หมายเลข ๐๘๙ ๘๐๐ ๘๑๗๐ อีกครั้ง แม้ได้รับคำบอกว่าอาจารย์อธิศพัฒน์  วรรณสุทธิ์  เจ้าของสวนไปเป็นวิทยากรต่างจังหวัด แต่ก็มีเจ้าหน้าที่คอยให้การต้อนรับคณะเราอยู่


นามไร่อาจารย์อธิศพัฒน์ที่ชาวเลยรู้จักดีนั้น ท่านเป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์การทำการเกษตรที่ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติหลายสาขาอาทิ รางวัลชนะเลิศเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด หรือ Smart Farmer  ปราชญ์ของแผ่นดิน สาขาการพัฒนาเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ โดยยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  และเป็นผู้ทรง-คุณวุฒิด้านบริหารศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน (Integrated  Best Management :IBM) เป็นต้น


 ถั่วฝักยาวกำลังออกผลงอกงาม


ภูมิหลังของเกษตรกรผู้เป็นปราชญ์ของแผ่นดินผู้นี้ ท่านได้หันหลังให้อาชีพนักสาธารณสุขจากเมืองหลวงมาพลิกฟื้นผืนดินลูกรังให้เป็นสวนเกษตรแบบผสมผสานโดยน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาปรับปรุงบำรุงดินจนเป็นไร่เกษตรอินทรีย์ที่ให้ผลผลิตทั้งผักสด ผลไม้ มีรสชาติอร่อย ได้รับมาตรฐานอาหารปลอดภัยสากล การจัดการภายในไร่เกษตรอินทรีย์ที่นำเอาความรู้ทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นผสมกับเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์เช่น ระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมการรดน้ำ  การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ การใช้ก๊าซชีวภาพ   การใช้ทรัพยากรการเกษตรอย่างคุ้มค่า การจัดการอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการพัฒนาสูตรอาหารสำหรับพืช ได้แก่ จุลินทรีย์หน่อกล้วย สูตรเลี้ยงไก่อารมณ์ดีให้ออกไข่มีคุณภาพ และอื่นๆ อีกมากมาย


 ไก่เลี้ยงภายในไร่อธิศพัฒน์


 ความโดดเด่นและมีเอกลักษณ์ในการทำการเกษตรนี้ ทำให้ไร่อธิศพัฒน์ได้รับความสนใจเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเกษตรกรสมัยใหม่ให้เข้ามาศึกษาดูงาน ได้มีโอกาสเรียนรู้แนวคิดในการแทนคุณแผ่นดิน และการประยุกต์องค์ความรู้ทางการเกษตรมาสู่ภาคปฏิบัติ โดยเน้นการทำการเกษตรอินทรีย์ที่มีความสุข ทำให้มีผู้เข้ามาศึกษาดูงานเที่ยวชมผลงานอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี รวมทั้งการเข้ามาพักอาศัยในไร่เพื่อเรียนรู้ในการปฏิบัติจริงร่วมกับอาจารย์ด้วยทั้งชาวไทย และเกษตรกรมิตรประเทศริมฝั่งโขงทั้งใกล้และไกล  


 เมื่อมาดูงานที่ไร่นี้ ดิฉันคิดถึงอาจารย์วิวัฒน์ ศัลยกำธร ปราชญ์ของแผ่นดินภาคกลางผู้ทำงานหนัก เพื่อสรรค์สร้างการเกษตรของประเทศให้เป็นเกษตรปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หากนับอายุท่านเป็นรุ่นพี่ของอาจารย์อธิศ พัฒน์

 แปลงนาในไร่อธิศพัฒน์

สวนเกษตรแบบผสมผสานบนพื้นที่ลอนลาดแห่งนี้ หากเป็นสวนเกษตรในภาคใต้เรียกกันว่าสวนสมรม เราทราบว่า พื้นที่รอบนอกปลูกเป็นสวนป่าคงเหลือไม้ยืนต้นในพื้นที่ป่าเบญจพรรณ ที่ปลูกเสริมได้แก่ ไผ่นานาชนิด  ผักหวานป่า เพื่อให้สวนป่าเป็นไม้กันลม นอกจากนั้น ในสวนป่ายังมีเห็ดเผาะ เห็ดป่า ให้เก็บกินได้  ชั้นในปลูกผลไม้ น้อยหน่า ฝรั่ง สับปะรด  เงาะโรงเรียน อโวกาโด กล้วยน้ำว้า ผักสวนครัว ผักกินใบต่าง ๆ  รวมถึงทำนาปลูกข้าวในที่ดอน ๕ สายพันธุ์ด้วย

 เครื่องหมายปลอดสารพิษจากธรรมชาติ


คณะเราได้รับการนำชมให้ดูแปลงผักและทราบว่า ระบบการดน้ำในสวนนี้ได้ใช้น้ำใต้ดินหรือน้ำบาดาล ซึ่งตรวจดูคุณภาพไม่มีสารปนเปื้อนอยู่ในน้ำ ดังนั้น พืชผัก ผลไม้จึงปลอดสารพิษ กินได้สด ๆ อย่างสนิทใจ เมื่อผ่านแปลงไร่ข้าวโพดหวาน เจ้าหน้าที่ได้หักข้าวโพดแบ่งเป็นชิ้นเล็ก ๆ ให้พวกเราทดลองกินสด ๆ บรรดาลูกทัวร์ได้ชิมแล้วร้องกรี๊ดกร๊าดราววัยใสว่า “เพิ่งรู้ว่าข้าวโพดหวานกินดิบได้”  ดิฉันเสริมว่า “นี่แหละประสบการณ์ใหม่ในชีวิตล่ะ”


ก่อนออกจากไร่ทุกคนซื้อสารพัดพืชผัก ของกินทั้งสดแห้งเป็นของฝากกลับบ้าน ที่กินบนรถทั้งข้าวโพดต้ม ฟักทองนึ่งทั้งเนื้อเหนียวและหวาน  สับปะรดปอกหวานฉ่ำ กล้วยน้ำว้าสุก  โดยตกลงกันว่า มื้อกลางวันยกยอดรวมเป็นมื้อเย็นกันทีเดียว


 ไร่ที เค ภูเรือ ไฮโดรฟาร์ม  


บนเส้นทางจากไร่อธิศพัฒน์ในเขตอำเภอท่าลี่ รถมุ่งหน้าเข้าสู่อำเภอภูเรือ เพื่อเข้าสู่ที่พักด้วยระยะทางประมาณ ๒๘ กม. กระนั้นก็ตาม เมื่อผ่านไร่ที.เค.ภูเรือ ไฮโดรฟาร์ม เพื่อนในรถสนใจขอแวะ เพื่อดูว่าเขาปลูกผักอย่างไร เพราะอยากเอาแบบไปปลูกบนชั้นดาดฟ้าบ้าน ซึ่งเป็นห้องแถว เธอบอกว่าใช้ประโยชน์ตากผ้าเพียงอย่างเดียวอยากปลูกผักไว้กินบ้าง ได้ข่าวปลูกผักโดยไม่ใช้ดินมานานแล้ว


เมื่อลงจากรถกันแล้ว เจ้าหน้าที่ออกมาต้อนรับ พวกเราต้องขอโทษที่ไม่ได้แจ้งล่วงหน้า ซึ่งตามระเบียบแล้ว หากนักท่องเที่ยวจะไปเที่ยวสวนเกษตรใด  ควรติดต่อแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย ๑ อาทิตย์ บางแห่งต้อง ๑๐ วันหรือ ๒ อาทิตย์ก็มี เพราะฝ่ายเจ้าของสวนจะได้จัดเจ้าหน้าที่คอยต้อนรับและนำชมสวน

 ผักนานาชนิดงามอยู่ในโรงปลูก

ไร่ที.เค.ภูเรือ ไฮโดรฟาร์ม มีระบบจัดการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปลูกผักสลัดนานาชนิดโดยใช้ระบบไฮโดรโปรนิกส์ด้วยระบบน้ำจากใต้ดินหรือน้ำบาดาล ด้วยเหตุผลที่ว่า เป็นน้ำสะอาดไม่มีสารพิษปนเปื้อนเหมือนแหล่งน้ำธรรมชาติทั้งลำธาร ลำคลอง  มีการจัดสวนแบบขั้นบันได เพื่อให้ดูแลรักษาพืชได้ง่ายและดูเป็นระเบียบสวยงามด้วย เจ้าหน้าที่อธิบายว่า ต้องคอยตรวจแปลงผักทุกวันและทั้งวัน เพื่อสังเกตว่ามีแมลงมาไข่ไว้ตามใต้ใบหรือไม่ หากพบเราต้องตัดใบทิ้งเลย เป็นการกำจัดแมลงด้วยแรงมือมนุษย์ ผักในสวนได้รับมาตรฐานปลอดสารพิษด้วย  

ที่มุมสาธิตวิธีปลูกผักแบบไร้ดิน เพื่อนดิฉันได้เรียนรู้และเธอรับปากว่าจำได้ เข้าใจ  และคุยว่า คอยดูสิ อีกสามเดือนจากนี้ไปจะมีผักสลัดแจกกันกินได้ มีเสียงสวนขึ้นทันทีว่า “ฉันคงไม่ต้องร้องเพลงรอนะ...”

 ไร่องุ่นภูเรือวโนทยาน

ก่อนเข้าที่พักยามบ่ายคล้อยก็ถึงเวลาพักดื่มน้ำชา กาแฟและอาหารว่างรองท้องสักนิด จึงแวะไปที่ร้านชาโต้ เดอ เลย นามนี้นักท่องเที่ยวรู้จักกันว่า เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่สมบูรณ์ครบวงจรระดับนานาชาติแห่งแรกของจังหวัดเลย มีชื่อเป็นทางการว่า“สวนองุ่นภูเรือวโนทยานจังหวัดเลย”จัดตั้งในปี ๒๕๓๘ เมื่อ ๒ ทศวรรษที่ผ่านมา 

ดิฉันเปรยกับเจ้าหน้าที่บริการว่า “ทำไมดูร้านเงียบเหงาไป เกิดอะไรขึ้นกับสวนนี้....”

สักครู่ ผู้จัดการฝ่ายเบเกอรี่ออกมาต้อนรับคณะลูกค้าเก่าและบอกพวกเราว่า ช่วงนี้ที่กำลังปรับปรุงไร่ตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญการผลิตไวน์จากฝรั่งเศส เขาแนะนำให้แยกการปลูกองุ่นรับประทานผลสด กับองุ่นสำหรับทำไวน์ไว้คนละด้าน เพราะอาจมีการผสมข้ามพันธุ์ทำให้องุ่นสำหรับทำไวน์เสียรส อย่างไรก็ตาม ฝ่ายจัดสวนคงยังมีแปลงองุ่นรับประทานผลสดบริการลูกค้า ซึ่งขณะนี้ ยังไม่ออกผล และได้อธิบายให้เราทราบว่า ขณะนี้สวนเรามีระบบจัดการอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

 ชาโต้ เดอ เลย ในบรรยากาศสงบเงียบ

นอกจากแปลงองุ่นบนพื้นที่ลอนลาดแล้ว ยังแบ่งพื้นที่ปลูกแมคคาเดเมียแปลงใหญ่ ๑,๒๐๐ไร่ มะม่วงพันธุ์มหาชนก ๕๐ ไร่ สามารถเก็บผลผลิตส่งจำหน่ายทั่วประเทศ ในส่วนเบเกอรรี่ได้ทำผลิตภัณฑ์ถนอมอาหารเช่น น้ำผลไม้ แยมผลไม้ และผลไม้อบแห้ง  เพื่อจำหน่ายเป็นสินค้าที่ระลึกคู่กับไวน์ด้วย

ตามหน้าที่ของผู้จัดรายการเที่ยววันหยุดยาวช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ก่อนคณะแยกย้ายกันเข้าห้องพัก ดิฉันรายงานรายการเดินทางเพื่อทราบว่า พรุ่งนี้ เรามีรายการเดินทางไปทำบุญที่วัดพระธาตุศรีสองรัก อำเภอด่านซ้าย จากนั้นแวะไปกินอาหารกลางวันที่ห้องอาหารกลางวันที่สวนภูนาคำ พร้อมทั้งไม่ลืมเน้นย้ำว่า การทำบุญที่วัดพระธาตุศรีสองรักนั้น ต้องไม่มีสีแดงทั้งเครื่องบูชาและเครื่องไทยธรรมต่าง ๆ รวมถึงเสื้อผ้าที่สวมใส่กันด้วยด้วย เรื่องนี้ เราปฏิบัติตามความเชื่อของชาวบ้านที่เขาเชื่อว่า สีแดงเป็นสีเลือดไม่เป็นมงคลกับสถานที่

หลังอาหารเช้าอย่างสบาย ๆ  เราได้ออกรถไปอำเภอด่านซ้ายซึ่งมีระยะทาง ๓๕ กม.ไปแวะซื้อดอกไม้ธูปเทียนและเครื่องสังฆทาน โดยเลือกเฉพาะของใช้จำเป็นสำหรับสงฆ์บรรจุถุงพลาสติกผูกโบว์พองาม นำไปถวายพระที่วัดพระธาตุศรีสองรัก อันเป็นวัดสำคัญของจังหวัดเลย ภายในวัดมีพระธาตุ สร้างตามพุทธศิลป์สกุลช่างล้านช้าง ชาวเลยนับถือว่าเป็นพระธาตุแห่งสัจจะและไมตรีของสองกษัตริย์คือ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ  แห่งราชอาณาจักรสยาม และพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช แห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์)  ราชอาณาจักรล้านช้าง (สปป.ลาว ในปัจจุบัน) พระธาตุศรีสองรักนี้กษัตริย์ทั้งสองพระองค์ทรงโปรดฯสร้างขึ้นเพื่อเป็นสักขีพยานว่า จะไม่มีการสู้รบให้เลือดตกต้องแผ่นดินกันอีกต่อไป อันเป็นเหตุผลในความเชื่อความศรัทธาของชาวบ้านห้ามใช้สีแดงในวัด

คณะเราตั้งใจทำบุญถวายสังฆทานในวันเข้าพรรษาและไม่คอยถวายภัตตาหารเพล จึงใช้เวลาไม่นานนัก เมื่อเสร็จงานบุญตามประเพณีแล้ว เราจึงออกรถเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข ๒๐๑๓ ผ่านรพ.สมเด็จพระยุพราชทางซ้าย ตรงไปประมาณ ๑ กม.จะมีป้ายบอกทางเข้าสวนอยู่ด้านซ้ายไปอีก ๘๐๐ เมตรถึงลานจอดรถสวนภูนาคำ

 สวนภูนาคำที่รายรอบบูติครีสอร์ต
สวนแห่งนี้ เป็นสวนเกษตรแบบผสมผสานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่รายล้อมรอบบูติครีสอร์ท ชื่อเดียวกัน เป็นการทำธุรกิจบนพื้นที่มรดกของครอบครัวคุณอดุลย์ วงศ์มาศา นักธุรกิจรุ่นGen X  ได้น้อมรับหลักเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาบริหารโดยสร้างมูลค่าเพิ่มเสริมคุณค่าให้แก่กันและกันใน ๒ ธุรกิจคือ ธุรกิจการเกษตรได้สร้างพื้นที่สีเขียวและผลผลิตเพื่อใช้บริการในห้องอาหาร กับธุรกิจที่พัก ที่มีทิวทัศน์สีเขียวทุ่งหญ้า ทุ่งนา อันกว้างไกลแล้ว  นักท่องเที่ยวยังได้สัมผัสกับวิถีเกษตรไทย มีโรงนาเลี้ยงควาย แปลงปลูกผัก สวนสมุนไพร แปลงเก็บพลังจากแสงอาทิตย์เพื่อใช้พลังงานไฟฟ้าและความร้อนภายในพื้นที่ สำหรับสวนป่ารอบ ๆ ใช้เป็นไม้กันลมตามธรรมชาติ  การจัดการอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นผลให้ภูนาคำรีสอร์ทได้รับรางวัลมาตรฐานทั้งระดับประเทศและนานาชาติ


 บรรยากาศแบบเกษตรกรรมของภูนาคำ

เที่ยงเศษวันนี้ คณะเรานั่งกินอาหารที่ประกอบด้วยผักและผลไม้อินทรีย์ ท่ามกลางบรรยากาศในม่านฝนไล่ช้างพร่างพรูเพียงชั่วครู่ประเดี๋ยวเดียวฟ้าก็สว่าง สายฝนช่วยเสริมบรรยากาศให้ผืนนาและผืนป่ารอบห้องอาหารเขียวสดตา ดิฉันแอบสังเกตเห็นว่า เพื่อนในคณะทุกคนเพลินสนุก เจริญอาหาร เสียงคุยสดใส สมกับช่วงเวลาที่ได้มาพักผ่อนกัน บางคนเห็นบรรยากาศถามว่า หากจะเปิดห้องพักงีบเอาแรงแล้วเย็น ๆ ค่อยกลับได้ไหม และแล้วเธอก็ต้องเปลี่ยนความคิด เพราะเพื่อนลงมติว่า ค่าห้องนั้นต้องจ่ายเอง ไม่ใช้เงินกองกลางนะ

ระหว่างที่พักผ่อนอยู่ที่ภูนาคำรีสอร์ท เพื่อนพรรคได้ตกลงกันว่า ใครประสงค์ทำสิ่งใดที่ใจปรารถนาก็ทำเช่น นั่งส่งไลน์คุยกับเพื่อน เดินย่อยอาหารชมสวนสมุนไพร หรือขอชมห้องพัก เพื่อการเดินทางในครั้งต่อไป จนถึงเวลานัด ๑๕.๓๐ น.ค่อยกลับที่พัก
 

 แก้วมังกร บ้านร่องจิก


ก่อนออกรถเดินทางกลับดิฉันถามเพื่อน ๆ ว่า ใครจะสั่งซื้อแก้วมังกร รสดีจากสวนบ้านร่องจิกกันบ้าง เพื่อโทรศัพท์สั่งลุงอ้อย หรือคุณพรมนัส  พรมภูติ ที่หมายเลข ๐๘๑๙๖๕๖๒๔๔ ให้เก็บแก้วมังกร สด ๆ แล้วนำรถเข้าไปแวะรับ พร้อมกำชับว่าทุกคนต้องคำนวณน้ำหนักสัมภาระตอนขึ้นเครื่องบินด้วย

นอกจากสับปะรดไร่ม่วงแล้ว แก้วมังกร ก็เป็นผลไม้รสดีถึงขนาดกลุ่มเกษตกรจะขอจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI)อีกชนิดหนึ่งด้วย ดิฉันได้ความรู้จากเกษตรจังหวัดว่าผืนแผ่นดินจังหวัดเลยนี้  เคยเป็นดินที่พัฒนามาจากพื้นที่ภูเขาไฟนับร้อย ๆ ล้านปี จึงมีคุณสมบัติที่มีธาตุอาหารสูงเป็นต้นทุนเดิมแล้ว ยังมีทุนเสริมอันได้แก่   มีลักษณะทางภูมินิเวศที่หลากหลายโดยรวมมีความสูงโดยเฉลี่ย  ๓๐๐-๖๐๐ เมตรจากระดับทะเลปานกลาง ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยตลอดปี ๑,๐๗๘  มิลลิเมตร   มีอุณหภูมิเฉลี่ย ๒๖ องศาเซลเซียส หากพิจารณาพื้นที่ธรรมชาติตามระบบนิเวศแล้ว มีส่วนเอื้ออำนวยให้ พืชพรรณ ผัก ผลไม้ มีคุณสมบัติพิเศษคือ มีรสอร่อยครับ... 
            
           มิน่าล่ะ... จากความรู้เดิมที่เคยร่วมทำงานโครงการหลวงอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งสามารถทำการเกษตรในเขตอบอุ่น หรือที่เราเรียกกันว่า ปลูกไม้เมืองหนาวกันได้  ที่จังหวัดเลยนี่ก็เช่นกัน กลุ่มเกษตรจังหวัดเลย เขาตั้งความหวัง จังหวัดเลยจะเป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัย เป็นครัวของประเทศและของโลกอีกแห่งหนึ่ง
            
 ตลาดนัดไม้กระถางภูเรือ
             
              หลังอาหารเช้าวันสุดท้ายของรายการทัวร์วันหยุดเทศกาลเข้าพรรษานั้น เป็นรายการชมตลาดนัดไม้ถุงไม้กระถาง ซึ่งมองดูเป็นสวนไม้ดอกไม้ประดับข้างถนนเขตอำเภอภูเรือ ที่มีจุดหมายตาเป็นเทอโมมิเตอร์ยักษ์อยู่กลางสวน แท้จริงแล้วเป็นแปลงเล็ก ๆ ของชาวสวน เมื่อรวมกลุ่มและปลูกติดต่อกันมองดูเป็นพื้นที่กว้างไกลสุดสายตา  มีภูเขาลูกโดดสีเขียวเป็นฉากหลัง สีสันของไม้ดอกไม้ประดับที่วางเรียงและสลับสี นับว่าเป็นจุดชมวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงปลายเดือนมกราคม อันเป็นช่วงที่มีการเพาะและขยายพันธุ์ไม้ถุงไม้กระถางที่ชื่อ พอยซิเทีย(Poinsettia) แต่ชาวไทยเรียกว่า ต้นคริสต์มาส นับเป็นไม้ประดับประดุจเป็นไม้กระถางสัญลักษณ์ของจังหวัดเลยทีเดียว
            
              กระนั้นก็ตาม แม้เป็นช่วงหน้าฝน ไม้ดอกไม้ประดับที่กลุ่มเกษตรกรปลูกไว้ขายก็อวดสีสันสดตา เหมือนหน้าหนาวเช่นกัน  และที่นี่ กลุ่มทัวร์ผู้สูงเพลินชม เพลินถ่ายรูปกันอย่างสนุกสนาน  บางคนลืมวัย วางท่าถ่ายรูปราวกับเป็นวัยใสกันเชียว

            รายการทัวร์ ทำบุญและชมสวนเกษตรในวัสสานฤดู นับเป็นอีกรายการหนึ่งที่อยากแนะนำให้ท่านผู้สนใจไปเที่ยวจังหวัดเลย เพื่อเปิดมุมมองใหม่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรในวิถีของของชาวเลยกัน ตลอดปี ไม่เพียงเฉพาะหน้าหนาวเท่านั้น..... 

 แผนที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรเมืองเลย  พิเศษ เสนาวงศ์...จัดทำแผนที่


 ทิวทัศน์ท้องนาจังหวัดเลย


             จังหวัดเลยเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยน้ำใจและมิตรไมตรี อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ความสวยงามของทิวทัศน์ ความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของวิถีชีวิต ศิลปะ วัฒนธรรม ที่เป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินและชาติพันธุ์ที่สืบทอดอารยธรรมล้านช้าง ร่วมกับบ้านพี่เมืองน้องอย่าง สปป.ลาว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจุดเด่นของภูมิอากาศที่ถือกันว่าหนาวที่สุดในสยาม 

     ปัจจุบันจังหวัดเลยเป็นหนึ่งในเมืองต้องห้าม...พลาด มีทั้งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเลย สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเลย และสำนักงานพื้นที่พิเศษเลย ที่ช่วยกันพัฒนา ส่งเสริม และขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ทำให้มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากการท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่เป็นจุดสนใจหลัก 

          จังหวัดเลยยังมีศักยภาพในการท่องเที่ยวในแหล่งเกษตรอีกด้วย มีแหล่งเรียนรู้ทางการเกษตรตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ของปราชญ์แผ่นดินถึงสามท่าน แหล่งเกษตรที่ทิวทัศน์สวยงาม สะท้อนวิถีชีวิตเกษตรกรรม งานเทศกาลการเกษตร และผลผลิตการเกษตรที่มีคุณภาพ ซึ่งสามารถเสริมรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการท่องเที่ยวได้ และยังจะสามารถขยายฤดูกาลท่องเที่ยวจากเฉพาะหน้าหนาว เชิญชวนนักท่องเที่ยวมาเยือนความชุ่มฉ่ำเขียวขจีของแหล่งเกษตรกรรมในช่วงหน้าฝนและความสวยงามของพรรณไม้ในช่วงปลายฝนต้นหนาว
                                                            
นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย

สิงหาคม ๒๕๕๙
 นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย
การท่องเที่ยวเชิงเกษตร เป็นการท่องเที่ยวในแหล่งเกษตรกรรม และเป็นรูปแบบหนึ่งของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ นอกจากจะมีความสวยงามสวยงาม สัมผัสธรรมชาติ ยังเป็นการท่องเที่ยวที่มีโอกาสได้เรียนรู้วิถีทางเกษตรกรรม ที่สำคัญการทำเกษตรจะมีการหมุนเวียนการเพาะปลูกต่อเนื่องตลอดปี ทำให้การท่องเที่ยวในแหล่งเกษตรกรรมมีศักยภาพในการพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวได้ตลอดปีด้วย 

สำหรับพื้นที่พิเศษเลย นักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้วิถีชีวิต ความเชื่อ ภูมิปัญญา และเทคโนโลยีการทำเกษตร ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจากการเกษตรที่มีสุขภาวะและอาหารที่มีประโยชน์ ผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์ เกษตรไร้สารพิษ 

อพท.๕ได้มีส่วนร่วมกับภาคีการพัฒนาการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องศึกษาเพื่อพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชิงเกษตรนิเวศ สำรวจแหล่งที่มีศักยภาพในการนำมาพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม ส่งเสริมความร่วมมือและสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายทั้งการท่องเที่ยวและการเกษตรกรรม สื่อสารและสร้างการเรียนรู้ที่มีคุณค่า รวมถึงการขับเคลื่อนให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงเกษตรตามแนวทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อให้ Loei Green Zone เป็นการท่องเที่ยวทางเลือกที่มีคุณภาพ เน้นย้ำการรับรู้ภาพลักษณ์ของการเป็นเมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

นายธรรมนูญ ภาครูป รักษาการผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษเลย (อพท.๕)
กรกฎาคม ๒๕๕๙ 


 นายธรรมนูญ ภาครูป รักษาการผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษเลย (อพท. ๕)