Wednesday, March 24, 2021

โครงการจัดตั้งศูนย์วิจัยโบราณคดีบ้านเชียง

 



ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...รายงาน

กรมศิลปากรดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์วิจัยโบราณคดีบ้านเชียง (Ban Chiang Archaeological Research Center) ขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ โดยได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารระยะแรกมาตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๖๒ เพื่อใช้เป็นสถานที่รวบรวม จัดเก็บโบราณวัตถุในวัฒนธรรมบ้านเชียงและโบราณวัตถุยุคก่อนประวัติศาสตร์ร่วมสมัยวัฒนธรรมบ้านเชียงในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยจะมีการบริหารจัดการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อให้บริการทางการศึกษาสำหรับนักวิจัยหรือนักวิชาการด้านโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งจะช่วยบ่มเพาะและพัฒนานักวิชาการให้มีความรู้และสามารถนำองค์ความรู้ไปส่งเสริมการพัฒนาประเทศ   



แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี เป็นแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ที่แสดงให้เห็นถึงหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของชุมชนเกษตรกรรม และภูมิปัญญา         -ด้านโลหกรรมของมนุษย์เมื่อราว ๔,๓๐๐ ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีแหล่งโบราณคดีในวัฒนธรรมบ้านเชียงกระจายอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยอีกกว่าร้อยแหล่ง

ความโดดเด่นและความสำคัญของแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ทำให้ แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในปีพ.ศ. ๒๕๓๕ ด้วยคุณสมบัติตามเกณฑ์ข้อที่ ๓ คือ “เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือสาบสูญไปแล้ว”




          จากการดำเนินงานทางโบราณคดีที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๐ –  พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้พบหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมากและมีการศึกษาวิจัยหลักฐานที่พบจากนักวิชาการหลากหลายสาขาวิชา ทำให้องค์ความรู้เกี่ยวกับยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะวัฒนธรรมบ้านเชียง เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย



ใน พ.ศ. ๒๕๖๐ที่ผ่านมา กรมศิลปากรยังได้รับคืนโบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๓ – พ.ศ. ๒๕๑๗ และโครงกระดูกมนุษย์ที่ได้จากการขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง โดยกรมศิลปากรร่วมกับมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๗ – พ.ศ. ๒๕๑๘ ตลอดจนโบราณวัตถุที่สถาบันวิจัยของต่างประเทศส่งกลับคืนมาอีกหลายรายการ เพื่อนำมาเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง




ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วยนายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม และกรมศิลปากร ได้เข้าเยี่ยมชมโครงการจัดตั้งศูนย์วิจัยโบราณคดีบ้านเชียง และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างในระยะที่ ๒ คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ใน พ.ศ. ๒๕๖๖ ที่จะถึงนี้






 


Monday, March 22, 2021

เปิดศูนย์ข้อมูลอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทโฉมใหม่

    

    กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ปรับปรุงศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เตรียมความพร้อมสู่การยกระดับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับมาตรฐานสากล ในฐานะแหล่งมรดกโลกในอนาคต




    เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ที่ผ่านมานายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเปิด โดยมีนายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร นายวันชัย จันทร์พร รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรมและกรมศิลปากร ร่วมในพิธี 



    ภายในอาคารจัดแสดงนิทรรศการพัฒนาการด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเชื่อและศาสนาของผู้คนในพื้นที่ภูพระบาทและบริเวณใกล้เคียง รวมทั้งห้องให้บริการสืบค้นข้อมูลสารสนเทศอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทอีกด้วย สำหรับห้องจัดแสดงแบ่งออกเป็น ๖ หัวข้อ ประกอบด้วย 
    

    ๑. ธรรมชาติบนภูพระบาท ให้ข้อมูลเกี่ยวกับธรรมชาติ พืชพันธุ์ และสัตว์ป่าที่พบในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท โดยเฉพาะการค้นพบพืชพันธุ์ใหม่ของโลกบนภูพระบาทแห่งเดียวเท่านั้นคือ “ต้นครามอุดร” และ “ต้นมุกอุดร” 



    ๒. ธรณีวิทยาแห่งเทือกเขาภูพาน ให้ข้อมูลเกี่ยวกับธรณีสัณฐานของเทือกเขา ภูพานซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่จะทำให้เข้าใจลักษณะภูมิลักษณ์อันน่าอัศจรรย์ของโขดหิน เพิงหินที่ปรากฏบน ภูพระบาท 



    ๓. ภูพระบาทภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการนับถือพุทธศาสนา ซึ่งปรากฏ หลักฐานทางโบราณคดีบนเขาภูพระบาท เช่น การสกัดเพิงหินธรรมชาติเป็นพุทธศาสนสถาน โดยภายใน ปรากฏการสกัดเพิงหินให้เป็นพระพุทธรูปพุทธลักษณะผสมผสานระหว่างศิลปะทวารวดีและศิลปะเขมรโบราณ 




    ๔. ห้อง MIXED REALITY ROOM แสดงข้อมูลทางด้านโบราณคดีของภูพระบาท ผ่านสื่อผสมผสาน ด้วยเทคโนโลยี VR (Virtual reality) หรือเทคโนโลยีความจริงเสมือน AR (Augmented reality) หรือเทคโนโลยีความจริงเสริม และ MR (Mixed reality) หรือเทคโนโลยีความจริงผสม ที่นำเสนอข้อมูลได้น่าตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างยิ่ง 




    ๕. ห้องพระเกจิอาจารย์สำคัญของภาคอีสาน ให้ข้อมูลประวัติหลักธรรมคำสอน ของพระเกจิรูปสำคัญของภาคอีสาน ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน 




    ๖. ห้องชาติพันธุ์ไทพวน ให้ข้อมูลด้านชาติพันธุ์ไทพวน ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หลัก ของอำเภอบ้านผือ อันเป็นที่ตั้งของภูพระบาท ทั้งนี้ ชาวไทพวนเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ซึ่งมีการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานของผู้คนจากฝากฝั่งของลาวยังสยาม และอยู่อาศัยทำมาหากินจนกระทั่งปัจจุบัน 



    อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ตั้งอยู่บนภูเขาส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพานที่ชื่อว่าภูพระบาท ในเขตพื้นที่เมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เป็น จากการสำรวจทางโบราณคดีปรากฏร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ 



    พบภาพเขียนสีอยู่มากกว่า ๕๔ แห่งกำหนดอายุได้ราว ๒,๕๐๐ – ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว พบการดัดแปลงเพิงหินธรรมชาติเป็นศาสนสถานของผู้คนในวัฒนธรรมทวารวดี วัฒนธรรมเขมร วัฒนธรรมล้านช้างและรัตนโกสินทร์ตามลำดับ ร่อยรอยเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางสังคมของมนุษย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี 




    กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเขตโบราณสถานไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๙๘ เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๒๔ จากนั้นจึงได้พัฒนาแหล่งจนกลายเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทและได้มีพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๓๕ 

    ปัจจุบันอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท มีโบราณสถานในพื้นที่รับผิดชอบซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วทั้งสิ้น ๗๘ แห่ง โบราณสถานที่สำคัญ เช่น หอนางอุสา วัดพ่อตา ถ้ำพระ และกำลังอยู่ในระหว่างการนำเสนอเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมต่อองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือUNESCO



Monday, March 1, 2021

อลังการจิตรกรรมเล่าเรื่อง ณ วัดโบสถ์เมืองบางขลัง

 

ภาพจิตรกรรมเล่าเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖   
และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรวัดโบสถ์เมืองบางขลัง 

ภาคภูมิ น้อยวัฒน์..ชวนแวะและชวนชม

ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนมกราคม ๒๕๖๔

      เมืองบางขลังคือเมืองโบราณที่ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างเมืองศรีสัชนาลัยกับเมืองสุโขทัย   

     ในทางประวัติศาสตร์ เมืองบางขลังถือว่ามีความสำคัญ โดยจารึกวัดศรีชุมบันทึกว่าพ่อขุนผาเมืองจากเมืองราดร่วมกับพ่อขุนบางกลางหาวจากเมืองบางยาง ใช้เมืองบางขลังเป็นที่ชุมนุมพลเข้าตีเมืองสุโขทัยคืนจากขอมสบาดโขลญลำพง ก่อนสถาปนาพ่อขุนบางกลางหาวขึ้นเป็นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ต้นราชวงศ์พระร่วง ครองกรุงสุโขทัย  

วัดใหญ่ชัยมงคล โบราณสถานสำคัญของเมืองบางขลัง

     ในทางพุทธศาสนา เมืองบางขลังก็มีความสำคัญไม่น้อยเช่นกัน เนื่องจากปรากฏเรื่องราวในตำนานวัดพระธาตุดอยสุเทพว่าพระมหาสุมนเถรเจ้าแห่งกรุงสุโขทัย เกิดนิมิตว่าพระบรมธาตุซึ่งพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชอัญเชิญมาบรรจุไว้ ณ พระเจดีย์เมืองบางขลังนั้น บัดนี้พระเจดีย์หักพังเสียแล้ว พระบรมธาตุได้ตกลงสถิตอยู่บริเวณใต้กอดอกเข็มกอหนึ่ง พระสุมนเถรเจ้าจึงเดินทางไปค้นหา จนได้พบพระบรมธาตุที่ข้างใต้กอเข็มนั้น  

    ต่อมาพระเจ้ากือนากษัตริย์องค์ที่ ๖ ราชวงศ์มังราย ขึ้นครองราชย์นครเชียงใหม่ในพ.ศ.๑๙๑๐ ได้นิมนต์พระสุมนเถรเจ้าให้ไปประกาศพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์ที่เมืองเชียงใหม่ พระสุมนเถรเจ้าจึงเดินทางไปพร้อมกับพระธาตุนั้น พระบรมธาตุได้แสดงปาฏิหาริย์แยกออกเป็นสององค์ จึงอัญเชิญองค์หนึ่งประดิษฐานไว้ในเจดีย์วัดพระธาตุดอยสุเทพ  อีกองค์ประดิษฐานในเจดีย์วัดบุปผาราม หรือวัดสวนดอก

มณฑปขนาดใหญ่ก่อด้วยศิลาแลง ในบริเวณวัดโบสถ์เมืองบางขลัง

            หลังกรุงสุโขทัยเสื่อมอำนาจ เมืองบางขลังได้กลายเป็นเมืองร้างไปเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด หลงเหลือเพียงร่องรอยโบราณสถานวัดร้างหลายแห่งกระจายอยู่ เช่น วัดใหญ่ชัยมงคล วัดเจดีย์เจ็ดแถว วัดริมทาง และวัดเขาเดื่อ  โดยเฉพาะที่วัดโบสถ์ ปรากฏซากมณฑปศิลาแลงเป็นโบราณสถานขนาดใหญ่

             วัดโบสถ์เดิมเป็นวัดร้าง ปรากฏชื่อในหนังสือพระราชนิพนธ์เที่ยวเมืองพระร่วง ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖  ที่กล่าวถึงไว้ว่า “เดินทางไปได้ประมาณ ๑๑๐ เส้น ข้ามเขตแดนเมืองสวรรคโลก เวลาเที่ยงถึงวัดร้าง เรียกตามคําชาวบ้านว่า วัดโบสถ์”  

ภายหลังชาวบ้านจากบ้านคลองแห้งจํานวน ๑๘ ครอบครัว ได้ย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณวัดโบสถ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๗  จากนั้นเมื่อมีผู้คนอพยพเข้ามามากขึ้นจนกลายเป็นชุมชนใหญ่จึงสร้างวัดขึ้นในบริเวณมณฑป เพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ราวปี พ.ศ. ๒๕๑๔  


หลวงพ่อขาวเนรมิต หรือ พระศรีสุรีย์มงคลพลญาณ

ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๕๓๐ ชาวบ้านคือนายยม ไอยเรศ ฝันว่ามีพระพุทธรูปโบราณถูกฝังอยู่ในที่ดินของนายหน่วย หมื่นหาญ ที่อยู่ติดกับวัดโบสถ์ เมื่อมีผู้ลองขุดก็พบพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยสีขาว ศิลปกรรมสุโขทัย อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘  จึงนำมาประดิษฐานไว้ที่วัดโบสถ์ ในอุโบสถหลังเก่าที่สร้างขึ้นบนฐานอุโบสถโบราณ ให้ชื่อว่าหลวงพ่อขาวเนรมิต หรือ “พระศรีสุรีย์มงคลพลญาณ”  อันเป็นชื่อตามนิมิตของพระมหาบุญมี ภูริมงคลาจาโร เจ้าอาวาสวัดโบสถ์ในขณะนั้น

หลังจากนั้น กรมศิลปากรรวมทั้งนักวิชาการผู้สนใจจากหลากหลายสถาบันเข้ามาทำการขุดแต่งศึกษาโบราณสถานวัดโบสถ์ รวมทั้งจัดเสวนาทางวิชาการหลายต่อหลายครั้ง  จนได้ข้อมูลค่อนข้างชัดเจน สามารถสร้างเป็นอาคารศูนย์ข้อมูลพร้อมนิทรรศการขนาดเล็ก นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับโบราณคดีและประวัติศาสตร์ของเมืองบางขลังโดยสังเขป ทั้งยังได้ปรับภูมิทัศน์โดยรอบ ทำให้โบราณสถานวัดโบสถ์กลายเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวของเมืองบางขลัง  สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงสนพระทัย เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโบราณสถานของวัดโบสถ์เมืองบางขลังเมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๐


อุโบสถหลังใหม่ที่ผสมผสานศิลปกรรมหลากหลายยุคสมัย


 ปี พ.ศ. ๒๕๕๓ พระครูพิพัฒน์สุตากร เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันได้สร้างอุโบสถหลังใหม่เพื่อประดิษฐาน  พระศรีสุรีย์มงคลพลญาณ ด้วยงบประมาณจากกองกฐินผ้าป่าของวัดในแต่ละปี ในรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ ผสมผสานส่วนหลังคาหน้าจั่วแหลมแบบไทย  ส่วนชายคายาวแบบล้านช้าง รองรับด้วยเสาแปดเหลี่ยมโคนใหญ่ปลายเล็กแบบกรีก-โรมัน เชิงชายหลังคา ตัวมกร หลังคากระบื้องกาบกล้วยแบบจีน  ลวดลายปูนปั้นประดับแบบขอม   พระพุทธรูปยืนปางประทานอภัยด้านหลังอุโบสถและกลีบบัวหัวเสาศิลปะอินเดีย ค่อยสร้าง ค่อยทำอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา ๘ ปีจนเป็นรูปเป็นร่างชัดเจน

 ช่างรุ่ง นันต๊ะ จิตรกรผู้รังสรรค์จิตรกรรมวัดโบสถ์บางขลัง

สิ่งที่น่าสนใจนอกเหนือจากรูปแบบสถาปัตยกรรมภายนอก คือภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถ ที่วาดขึ้นอย่างวิจิตรตระการตาด้วยรูปแบบจิตรกรรมไทยประเพณีประยุกต์ที่มีทัศนมิติเหมือนจริง จากฝีมือนายช่างรุ่ง นันต๊ะ  สล่าชาวเมืองน่านผู้ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากคณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ แต่ย้ายถิ่นฐานมาเป็นชาวสุโขทัยเพราะได้ภรรยาเป็นคนอำเภอศรีสำโรง รับมอบหมายงานจากท่านเจ้าอาวาส ให้วาดจิตรกรรมเป็นเรื่องราวเหตุการณ์สำคัญของเมืองบางขลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับทางพุทธศาสนาตั้งแต่เมื่อประมาณ ๒ ปีก่อน

พระอรหันตสาวกสังคายนาพระไตรปิฏก พระเจ้าอโศกทรงสร้างอนุสรณ์สถาน

ชั้นบนสุดของผนังโบสถ์สองฟากฝั่งเรียงรายด้วยเทพชุมนุมในเครื่องแต่งกายแบบขอม ต่ำลงมาเป็น ภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องไล่เรียงเรื่องราวจากซ้ายไปขวา (เมื่อหันหน้าเข้าหาองค์พระประธาน) โดยเริ่มต้นจากภาพเหตุการณ์เมื่อครั้งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานใต้ต้นสาละคู่ ณ เมืองกุสินารา  ตามด้วยภาพการสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรกหลังจากพุทธปรินิพพานได้ ๓ เดือน โดยพระอรหันต์สาวก ๕๐๐ รูป อันมีพระมหากัสสปะเป็นประธาน  ณ ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างเขาภารบรรพต นอกเมืองราชคฤห์ นครหลวงแห่งแคว้นมคธ มีพระเจ้าอชาตศัตรูผู้ครองนครขณะนั้นทรงเป็นองค์อุปถัมภ์  

ด้านล่างเป็นเรื่องของพระเจ้าอโศกมหาราช เอกอัครพุทธศาสนูปถัมภก จารึกพระบรมราชโองการไว้บนเสาศิลาเรียกว่า เสาอโศก โปรด ฯ ให้สร้างอนุสรณ์สถานในสถานที่ประสูติ ตรัสรู้  ปฐมเทศนา และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เรียกว่าสังเวชนียสถาน รวมทั้งส่งสมณทูตเพื่อไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในเอเชียกลางและเอเชียใต้ 

จากถ้ำอชันตา สู่การเผยแผ่พระพุทธศาสนาออกไปอย่างกว้างไกล

              ถัดมาคือภาพของถ้ำอชันตา ประเทศอินเดีย สร้างโดยพระภิกษุในปีพ.ศ. ๓๕๐ เจาะและแกะสลักภูเขาหินเป็นอุโบสถ วิหาร และกุฏิ จนกลายเป็นวัดถ้ำในพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่งดงามและเก่าแก่ที่สุดในโลก และในปี พ.ศ. ๕๐๐ จึงเกิดคติการสร้างพระพุทธรูปเพื่อสักการบูชา จากแต่เดิมที่นิยมสร้างเป็นสัญลักษณ์ธรรมจักรหรือพระพุทธบาทแทนองค์พระพุทธเจ้า สุดผนังด้านซ้ายเป็นภาพของพระปฐมเจดีย์และเจดีย์พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช สื่อถึงการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศไทย

 พระสุมนเถระเจ้านิมิตพระพระบรมสารีริกธาตุ


               ส่วนอีกฟากบนผนังฝั่งตรงกันข้ามด้านซ้ายสุด เริ่มด้วยภาพของพระนางจามเทวีที่เสด็จจากเมืองละโว้ขึ้นมาครองราชย์เป็นกษัตริย์เมืองลำพูน เป็นการเริ่มต้นประวัติศาสตร์ภาคเหนือ  ต่อด้วยเรื่องพระสุมนเถระเจ้านิมิตพบพระบรมธาตุที่กอดอกเข็มเมืองบางขลัง ถัดไปเป็นเรื่องการอัญเชิญพระบรมธาตุไปประดิษฐานในเจดีย์บนยอดดอยสุเทพและที่เจดีย์วัดสวนดอกจังหวัดเชียงใหม่ 

ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุบนยอดดอยสุเทพ

     ท้ายสุดคือเรื่องราวการเสด็จพระราชดำเนินโดยช้างพระที่นั่งของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ มายังวัดโบสถ์เมืองบางขลัง ขณะยังรกร้างอยู่กลางป่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๐ และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโบราณสถานวัดโบสถ์ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งถือเป็นเรื่องแปลกตรงที่เวลาห่างกัน ๑๐๐ ปีพอดิบพอดี

ภาพจิตรกรรมเล่าเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖   
และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรวัดโบสถ์เมืองบางขลัง 

          ปัจจุบันภาพจิตรกรรมยังไม่เสร็จเรียบร้อย คงอยู่ในระหว่างดำเนินการวาดอยู่ ซึ่งแต่เดิมกำหนดการตัดลูกนิมิตอุโบสถตั้งไว้ที่เดือนมกราคม ๒๕๖๔ นี้ แต่ด้วยเหตุที่เป็นการสร้างตามเงินกองทุนจากกฐินและผ้าป่าในแต่ละปีซึ่งไม่แน่นอน ส่งผลทำให้ต้องล่าช้า จึงเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ที่มาเยี่ยมชมจิตรกรรมในช่วงเวลานี้สามารถมีส่วนร่วมในบุญกุศล เพื่อให้อุโบสถและจิตรกรรมได้เสร็จสมบูรณ์ เป็นสมบัติศิลป์อันงดงามของแผ่นดินเมืองบางขลังสืบไป

โลกสวรรค์ โลกมนุษย์ และนรก ที่ยังวาดไม่เสร็จ


 คู่มือนักเดินทาง

เมืองบางขลังตั้งอยู่ระหว่างเมืองศรีสัชนาลัยกับเมืองสุโขทัย อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของอำเภอสวรรคโลก จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข ๓๒  ถึงนครสวรรค์ เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข ๑  ถึงกำแพงเพชร เลี้ยวขวาเข้ากำแพงเพชร มุ่งสู่สุโขทัยตามทางหลวงหมายเลข ๑๐๑ ผ่านจังหวัดสุโขทัยสุโขทัย มุ่งสู่สวรรคโลกตามทางหลวงหมายเลข ๑๑๙๕ ผ่านทางแยกเข้าอำเภอศรีสำโรงไปประมาณ ๑๐กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงชนบท ๔๐๑๓ ท่าทอง – ขอนซุง ผ่านวัดขอนซุง ข้ามลำน้ำมอก เลี้ยวขวา แล้วเลี้ยวซ้ายตรงไปตามป้ายชี้ทาง จนถึงวัดโบสถ์ทางขวามือ