Monday, December 27, 2021

เชียงใหม่ ประสบการณ์ใหม่ในตัวตนเดิม เวียงแก้ว พระราชวังหลวงแห่งล้านนาและพื้นที่ทางวัฒนธรรมโดยรอบ


เจดีย์เจดีย์วัดอินทขิลและวัดสะดือเมืองสะท้อนเงาอดีตในแอ่งน้ำ

สายกลาง จินดาสุ เรื่อง ภาคภูมิ น้อยวัฒน์ ภาพ

ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ธันวาคม ๒๕๖๔ 

            ท้องถนนที่เคยเงียบเหงาเริ่มกลับมาคลาคล่ำด้วยรถราและนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ  วิถีชีวิตของผู้คนเริ่มกลับมาดำเนินตามปกติ  สองสามวันก่อนเพิ่งได้ยินคนในสำนักงานคุยกันว่าจะไปหาหมูจุ่มอร่อย ๆ กินตอนเย็นจากที่ไม่ได้ยินมานานร่วมปี (พร้อมเสียงแซวว่าระวังจะเป็นคลัสเตอร์หมูจุ่ม) การกลับมาของวิถีและบรรยากาศที่คุ้นเคยเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าสถานการณ์เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิfในเมืองแห่งนี้และในโลกคงกำลังดีขึ้นเป็นลำดับ

            นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ เมืองที่มีชื่อนามอันเป็นมงคล สถาปนาขึ้นจากการรวมแคว้นโยนแห่งลุ่มแม่น้ำกก-อิง ในแอ่งที่ราบเชียงราย-เชียงแสน และแคว้นหริภุญไชยแห่งลุ่มแม่น้ำปิงในแอ่งที่ราบเชียงใหม่-ลำพูน ในปี พ.ศ. ๑๘๓๙   

เชียงใหม่ก่อเกิดขึ้นภายใต้การตกผลึกทางความคิดของพญามังราย ปฐมกษัตริย์ผู้ก่อตั้งราชวงศ์มังราย โดยสร้างเมืองให้อยู่บนเส้นทางการค้าที่สามารถติดต่อกับอาณาจักรอื่นได้ทุกทิศทาง เทคโนโลยีและองค์ความรู้การวางผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส มีระบบการจัดการน้ำที่ยอดเยี่ยม ทำให้โดดเด่นต่างจากเมืองในภูมิภาคยุคเดียวกัน และเป็นที่รวมของสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาดังกล่าว สมกับความหมายของเมืองว่า “เมืองใหม่”

เชียงใหม่ก่อนเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดกับเชียงใหม่ในวันนี้ยังคงเป็นเชียงใหม่ในตัวตนเดิมที่เต็มไปด้วยความเรียบง่ายแต่ลึกซึ้ง งดงามแต่เป็นกันเอง ต่างแต่สิ่งที่เพิ่มเติมคือ มุมมองและประสบการณ์ใหม่จากการค้นพบข้อมูลใหม่ทางโบราณคดีในห้วงปีที่ผ่านมา

อนุสาวรีย์สามกษัตริย์

            พื้นที่วงรอบเล็กๆ บริเวณอนุสาวรีย์สามกษัตริย์กลางเมืองเชียงใหม่และโดยรอบ อาจเป็นพื้นที่ที่หลายคนคุ้นเคย หรือเคยไปเยือนมาแล้วหลายครา แต่ครั้งนี้พิเศษยิ่งขึ้น เพราะการค้นพบทางโบราณคดีและมุมมองใหม่ จะพาทุกคนไปพบกับ “ประสบการณ์ใหม่” ของเชียงใหม่ ในตัวตนเดิม

            ไม่ว่าท่านจะเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวหรือใช้บริการรถแดง รถรับจ้างซิกเนเจอร์ของเชียงใหม่ อยากเชิญชวนทุกท่านลองผ่านเข้ามาในเขตเมืองเก่าเชียงใหม่ด้วยประตูช้างเผือก ประตูด้านทิศเหนือของเมืองเชียงใหม่สักครั้ง ประตูแห่งนี้มีประวัติศาสตร์ที่น่าจะเหมาะแก่การเริ่มต้นอะไรดี ๆ ในช่วงที่สถานการณ์โควิดเริ่มบรรเทา

ประตูช้างเผือกในปัจจุบัน (สายกลาง จินดาสุ ...ภาพ)


ตามความเชื่อและเอกสารประวัติศาสตร์ ประตูช้างเผือก ถือเป็นประตูมงคลของเมือง ปีพ.ศ. ๑๘๓๙ เมื่อครั้งพญามังราย ปฐมกษัตริย์แห่งล้านนาสร้างเมืองเชียงใหม่ พระองค์สร้างกำแพงเมืองเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีประตูทางเข้า ๕ ประตู ป้อมมุมเมือง ๔ ป้อม เมื่อสร้างเสร็จ พญามังรายได้ทำพิธีเข้าเมือง ด้วยการเดินประทักษิณโดยรอบและเข้าสู่เมืองผ่านประตูช้างเผือกด้านทิศเหนือนี้เพื่อเป็นนิมิตมงคล

ความเชื่อในมงคลของประตูช้างเผือกยังมีสืบเนื่องในสมัยหลังที่พญากาวิลละฟื้นเมืองเชียงใหม่ปี พ.ศ. ๒๓๓๙  หลังจากเมืองได้ร้างไปเป็นเวลาหลายปี  โดยเลือกเข้าเมืองที่ประตูแห่งนี้เช่นกัน ความเชื่อนี้น่าจะสืบมาถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในหมู่ข้าราชการนักปกครองที่มารับตำแหน่ง มักจะมาสักการะอนุสาวรีย์ช้างเผือกและเข้าเมืองที่ประตูนี้เสมอ ประตูช้างเผือกจึงถือเป็นประตูมงคลของเมืองซึ่งให้พลังชีวิต พ้องกับความหมายของเมือง คือเมืองใหม่ ชีวิตใหม่ ที่สุขและสมบูรณ์  

ใครคิดจะเที่ยวในตัวเมืองเชียงใหม่ ลองผ่านประตูนี้เข้าไปสักครั้ง จะประหนึ่งได้รับพรมงคลชั้นแรกก่อนเข้าไปเที่ยวโบราณสถาน วัดวาอาราม เป็นการเริ่มต้นใหม่หลังโควิดที่มีพลังยิ่ง

เจดีย์ประธานวัดเชียงมั่นตกแต่งปูนปั้นรูปช้างล้อมรอบฐาน (สายกลาง จินดาสุ...ภาพ) 

            ไหนๆก็เข้าเมืองอิงคอนเซ็ปพญามังรายแล้ว ก็ขอตามรอยมังรายเจ้าต่อด้วยการพาทุกท่านไปยังวัดเชียงมั่น ตามประวัติ วัดนี้ถือเป็นวัดแห่งแรกที่ถูกสร้างขึ้นในเมืองเชียงใหม่ สร้างขึ้นบริเวณที่เป็นที่พักชั่วคราวครั้งพญามังรายบัญชาการสร้างเมือง ในวัดมีพระเจดีย์ช้างล้อม อิทธิพลศิลปกรรมแบบสุโขทัยที่ผสมผสานอยู่ในเจดีย์ทรงปราสาทแบบล้านนาที่มีอายุในช่วง พ.ศ.๒๐๐๐-๒๑๐๐

 



พระเสตังคมณี (กรมศิลปากร ...ภาพ) 


พระศีลา (กรมศิลปากร...ภาพ)

    และที่พลาดไม่ได้ อย่าลืมเข้าไปสักการะพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองเชียงใหม่อีกสององค์ คือพระแก้วขาวหรือพระเสตังคมณี พระพุทธรูปที่มีประวัติว่าพญามังรายอัญเชิญมาจากเมืองหริภุญไชย เมื่อครั้งสถาปนาเมืองเชียงใหม่ เพื่อเป็นพระพุทธรูปประจำพระองค์ และพระศีลา พระพุทธรูปหนึ่งเดียวในล้านนาที่มีรูปแบบศิลปะอินเดีย สกุลช่างปาละ แกะสลักด้วยหินชนวนดำ ปางโปรดช้างนาฬาคีรี ลักษณะประทับยืนเยื้องสะโพกตามแบบศิลปะอินเดีย

            ตามประวัติ เดิมพระศีลาประดิษฐานที่เมืองลำปาง ต่อมาพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ผู้ครองเชียงใหม่ช่วง พ.ศ.๑๙๘๕-๒๐๓๐  ได้อาราธนามาประดิษฐานไว้ที่วัดป่าแดง ศูนย์กลางสงฆ์สายลังกาวงศ์ที่สำคัญของเมืองเชียงใหม่ในช่วงเวลานั้น และถูกนำไปประดิษฐานในหอพระแก้วคู่กับพระแก้วขาว  ในปี พ.ศ. ๒๐๑๘ สืบมา จนกระทั่งย้ายมาประดิษฐานในวิหารวัดเชียงมั่นภายหลัง

ภาพถ่ายเก่าของหอคำ ที่ประทับเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ในเวียงแก้ว (กองโบราณคดี กรมศิลปากร...ภาพ) 

ตามรอยพญามังรายเข้าเมือง สร้างวัด ประดิษฐานพระ ถึงเวลาต้องตามพญามังราย “เข้าวัง” กันบ้างแล้ว พระราชวังแห่งนี้คือความปีติและตื่นเต้นของคนเชียงใหม่และนักประวัติศาสตร์โบราณคดี เนื่องจากเป็นวังหลวงหนึ่งเดียวของล้านนาที่เพิ่งถูกค้นพบกลางเมืองเชียงใหม่  ตั้งอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากวัดเชียงมั่น ระยะทางพอเดินไปได้สบาย ๆ ได้เหงื่อนิด ๆ

ในคราที่พญามังรายสถาปนาเมือง พระองค์ได้สร้างพระราชวังขึ้นแห่งหนึ่งภายในเมือง พระราชวังหลวงแห่งนี้มีชื่อเรียกปรากฏในเอกสารแผนที่สมัยหลังว่า “เวียงแก้ว”

            สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพเคยอธิบายไว้ว่า "เวียงแก้ว" ตรงกับคำว่า "วังหลวง" ในภาษาไทยภาคกลาง หมายถึงวังอันเป็นที่สถิตของเจ้าผู้ครองเมือง  จากข้อมูลหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับล้านนามีข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับชื่อเรียก "เวียงแก้ว" ว่าน่าจะสัมพันธ์กับสิ่งก่อสร้างหนึ่งในพื้นที่ คือ "หอคำ" ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างสำคัญที่มีสถานะเป็นได้ทั้งท้องพระโรงออกว่าราชการและที่อยู่อาศัย

หลักฐานทางประวัติศาสตร์มิได้กล่าวชี้ชัดว่า พระราชวังตั้งอยู่จุดใดในคราวพญามังรายสร้างเมือง แต่เอกสารกล่าวถึงที่ตั้งเชิงความสัมพันธ์ของพื้นที่ว่าพระราชวังตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัดเชียงมั่น  โดยตั้งตรงที่กวางเผือกสองแม่ลูกสามารถต่อสู้ขับไล่ฝูงสุนัขของพญามังราย คราวที่พญามังรายออกสำรวจชัยภูมิสร้างเมือง นิมิตหมายดังกล่าวถือเป็นชัยมงคลในการตั้งพระราชวัง

แผนที่โบราณนครเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๔๓๖

หลักฐานเอกสารที่พอปะติดปะต่อฉายภาพการมีอยู่จริงของวังหลวงแห่งล้านนานี้คือแผนที่โบราณนครเชียงใหม่ ที่จัดทำขึ้นราวปีพ.ศ. ๒๔๓๖  โดยกระทรวงมหาดไทย ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕  ที่ปรากฏพื้นที่ผืนใหญ่ภายในกำแพงเมืองเชียงใหม่ด้านทิศเหนือ พื้นที่ผืนดังกล่าวมีลักษณะการแบ่งเขตคล้ายการแบ่งพื้นที่พระราชวังชั้นนอก - ชั้นใน (ผังคล้ายอักษร T ตะแคงด้านซ้าย) โดยมีข้อความเขียนตรงกลางว่า "เวียงแก้ว"

เวียงแก้วแห่งนี้มิได้ตั้งโดดเดี่ยว แต่รายล้อมด้วยโบราณสถานสำคัญ คือวัดสะดือเมือง หอพระแก้วร้าง (ปัจจุบันคือที่ตั้งของหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่)   เวียงแก้วที่ปรากฏในแผนที่นี้ตั้งอยู่ห่างจากประตูเมืองด้านทิศเหนือ ๓๐๐ เมตรโดยประมาณ และห่างจากวัดเชียงมั่น มาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ราว ๒๖๐ เมตร

          ชาวเชียงใหม่ ชาวไทย รวมไปถึงชาวโลกคงไม่มีโอกาสได้เห็นพระราชวังหลวงแห่งนี้เป็นแน่แท้หากไม่มีโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่เดิมให้เป็นพื้นที่สาธารณะของเมือง

จากการนำแผนที่โบราณนครเชียงใหม่ ทับซ้อนกับภาพถ่ายทางอากาศในปัจจุบัน พบว่าเวียงแก้วแห่งนี้บริเวณวังหลังส่วนใต้ทับซ้อนกับพื้นที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ที่กำลังจะมีโครงการปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะทั้งหมด นำไปสู่ดำเนินงานทางโบราณคดีโดยสำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่ ในปีพ.ศ. ๒๕๕๘ – ๒๕๖๔ เพื่อค้นหา “เวียงแก้ว ที่น่าจะเป็นวังหลวงของล้านนา

พื้นที่การขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณทัณฑสถานหญิง

             ในที่สุดพระราชวังหลวงแห่งล้านนาที่หลับใหลอยู่ใต้ผืนแผ่นดินเมืองเชียงใหม่เป็นเวลานานนับร้อยปีก็ได้เผยโฉมออกมาให้เห็น แนวกำแพงพระราชวังที่ด้านใต้และด้านเหนือ วางตัวในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ (วางตัวเฉียงจากแนวแกนทิศตะวันออก - ตะวันตก ไปทางทิศเหนือ ๙ องศา) แนวอิฐกำแพงพระราชวังวางตัวอยู่ที่ระดับความลึก ๐.๖๐ -๑.๐๐ เมตรจากผิวดิน ทอดยาวกว่า ๑๕๐ เมตร ตัวกำแพงกว้าง  ๑.๘๐-๒.๒๐ เมตร ปัจจุบันแนวกำแพงคงเหลือเป็นชั้นอิฐก่อสูง ๓-๔ ชั้นอิฐ

กำแพงพระราชวังนี้เดิมน่าจะมีความสูงอย่างน้อย ๒.๔๐ เมตร เนื่องจากที่กำแพงด้านทิศเหนือ พบแนวกำแพงเดิมที่ถูกพังให้ล้มลง เป็นที่น่าสังเกตว่าขนาดกำแพงเวียงแก้วส่วนด้านใต้และส่วนเหนือที่แบ่งพื้นที่วังเป็นสองส่วน มีขนาดอิฐที่ใหญ่มากและขนาดต่างจากอิฐโบราณสถานในเมืองเชียงใหม่และพื้นที่อื่น ๆ ของล้านนา อิฐขนาดดังกล่าวนี้นอกจากใช้ในการก่อสร้างกำแพงเวียงแก้วส่วนเหนือและใต้แล้ว ยังถูกใช้เป็นองค์ประกอบก่อสร้างประตูเมืองเชียงใหม่ พบทั้งที่ประตูช้างเผือก (ประตูด้านทิศเหนือ) และประตูสวนปรุง (ประตูด้านทิศใต้ ประตูที่สอง) แต่พบในปริมาณไม่มากนัก

แนวกำแพงวังก่อด้วยอิฐที่ขุดพบ

จากการนำอิฐกำแพงพระราชวังส่วนนี้ตรวจสอบค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ ผลปรากฏว่าได้ค่าอายุอิฐที่ พ.ศ.๒๑๘๙ –๒๒๓๗ ซึ่งเป็นช่วงสมัยที่พม่าครองเมืองเชียงใหม่ จึงกล่าวได้ว่ากำแพงเวียงแก้วด้านใต้น่าจะสร้างขึ้นช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๓ หรือราวเกือบสี่ร้อยปีมาแล้ว

            นอกจากกำแพงเวียงแก้วส่วนวังหลัง (วังด้านตะวันตก) บริเวณมุมด้านตะวันออกเฉียงเหนือของพื้นที่ พบจุดบรรจบกันของกำแพงวังด้านเหนือและส่วนท้ายของกำแพงวังด้านทิศตะวันออก (วังส่วนหน้า) กำแพงนี้บรรจบกันเป็นมุมฉาก จากการขุดทางโบราณคดีพบข้อมูลสำคัญ คืออิฐของกำแพงที่บรรจบกันทั้ง สองจุดมีขนาดไม่เท่ากันและวางตัวอยู่ต่างระดับกัน โดยอิฐกำแพงด้านทิศเหนือมีระดับที่ตื้นกว่าและมีขนาดใหญ่กว่า แต่อิฐส่วนท้ายของกำแพงวังด้านทิศตะวันออก (วังส่วนหน้า) มีขนาดเล็กกว่าและวางตัวอยู่ในระดับความลึกมากกว่า

 จึงกล่าวได้ว่า พระราชวังเวียงแก้วที่ปรากฏในแผนที่โบราณ ๓ ส่วน สร้างขึ้นไม่พร้อมกัน โดยส่วนตะวันออกน่าจะสร้างขึ้นก่อน และส่วนตะวันตก (วังส่วนหลัง) น่าจะสร้างขึ้นภายหลัง และเมื่อดูจากแผนผังขอบเขตเวียงแก้ว จะเห็นได้ชัดว่าวังส่วนหลังด้านเหนือและด้านใต้มีสัณฐานขอบเขตที่เป็นการสร้างขึ้นไปบรรจบวังส่วนตะวันออก (วังส่วนหน้า)

ร่องน้ำที่ขนานไปกับแนวกำแพงเวียงแก้ว

            นอกจากแนวกำแพงพระราชวังแล้ว ยังพบหลักฐานที่น่าสนใจในพื้นที่อีก คือ ระบบน้ำ (ท่อและร่องน้ำ) ที่พื้นที่ด้านด้านตะวันตกเฉียงเหนือของพระราชวัง ท่อน้ำนี้วางตัวอยู่ใต้แนวกำแพงเวียงแก้วด้านเหนือ (กำแพงที่แบ่งพื้นที่เวียงแก้วส่วนเหนือและใต้) ท่อนี้น่าจะมีมาก่อนการสร้างกำแพงเวียงแก้วด้านเหนือ ต่อเนื่องจากท่อน้ำไปทางใต้ พบร่องน้ำที่วางตัวเฉียงสัมพันธ์กับแนวกำแพงและอาคารยุคเวียงแก้ว ร่องน้ำนี้น่าจะเกิดก่อนการสร้างกำแพงเวียงแก้วส่วนหลังที่เป็นกำแพงอิฐ โดยมีความกว้าง ๒ เมตร ลาดเอียงจากด้านเหนือลงสู่ด้านใต้ ยาวประมาณ ๔๕ เมตร

โบราณวัตถุที่พบในร่องน้ำ คือสิ่งช่วยกำหนดอายุช่วงเวลาการใช้งานร่องน้ำ โดยพบว่าโบราณวัตถุที่มีอายุสมัยหลังสุด(ใหม่ที่สุด) ที่พบในร่องน้ำ คือ เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง (พ.ศ.๑๙๑๑-๒๑๘๗) เมื่อไม่พบเครื่องถ้วยหรือโบราณวัตถุที่มีอายุสมัยหลังกว่านี้ในร่องน้ำ จึงแปลความได้ว่าร่องนี้ถูกถมปิดไปโดยมีเวลาปี ๒๑๘๗ เป็นเพดานบนสุด ซึ่งน่าสังเกตว่าลำดับเวลาของการถมกลบร่องน้ำนี้ ใกล้เคียงกับค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ของกำแพงเวียงแก้วที่สร้างในปีพ.ศ. ๒๑๘๙-๒๒๓๗   

โบราณวัตถุที่ขุดพบในเวียงแก้ว


            ย้อนไปดูเอกสารประวัติศาสตร์เนื้อความตอนนึ่งระบุว่าปี พ.ศ. ๒๐๖๕  พระเมืองแก้วโปรดให้ขุดสระมงคลโบกขรณีนี้ไว้เป็นที่ประพาสส่วนพระองค์ ต่อมาในสมัยพระเมกุฏเรียกสระนี้ว่า “สระดอกคำ” ซึ่งจากแผนที่โบราณนครเชียงใหม่ปีพงศ. ๒๔๓๖  ปรากฏหนองน้ำขนาดใหญ่ในเวียงแก้วส่วนหลัง ที่เป็นวังทิศเหนือ ระบุชื่อ “หนองคำแพะ” ซึ่งอาจเป็นสระเดียวกันกับสระมงคลโบกขรณีหรือสระดอกคำ ท่อและร่องน้ำนี้จึงอาจเป็นระบบระบายน้ำจากวังด้านทิศเหนือที่มีต้นทางแหล่งน้ำ คือสระมงคลโบกขรณีหรือสระดอกคำ มายังวังด้านใต้ ส่วนแนวกำแพงที่เวียงแก้วส่วนเหนือและใต้ที่พบจากการขุดทางโบราณคดี น่าจะเป็นการเปลี่ยนสภาพกำแพงที่มีมาแต่ก่อนที่อาจเป็นวัสดุที่ไม่มั่นคงแข็งแรง ให้เป็นกำแพงอิฐในราวปีพ.ศ. ๒๑๘๗-๒๒๓๗  ในช่วงที่พม่าครองล้านนาแล้ว

จึงพอจะกล่าวถึงพัฒนาการของพระราชวังหลวงแห่งนี้ได้ว่า ในระยะแรกคงสร้างขึ้นมาเพียงพระราชวังส่วนหน้าด้านทิศตะวันออก ต่อมามีการขยายวังส่วนหลัง คือวังด้านเหนือและด้านใต้ ซึ่งควรเกิดก่อนปี 2065 ตามการเชื่อมโยงกับสระน้ำภายในพระราชวังและอายุสมัยของร่องน้ำ จนกระทั่งวังส่วนหลังนี้มีการปรับปรุงสร้างแนวกำแพงอิฐอย่างมั่นคงในราวปีพ.ศ. ๒๑๘๗-๒๒๓๗  ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พม่าปกครองเมืองเชียงใหม่

บ่อน้ำในวังที่มีจารึกบนอิฐขอบบ่อ

ตัวอักษรที่จารึกบนอิฐ


            นอกจากท่อและร่องน้ำของวังแล้ว ยังพบบ่อแห่งหนึ่งในพื้นที่วังที่มีลักษณะพิเศษ คืออิฐที่ใช้กรุขอบบ่อมีมีจารึกปรากฏอยู่บนอิฐ บ่อนี้เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้าง - ยาว ๑ เมตร ลึก ๑.๕ เมตร พบว่าอิฐที่ด้านตะวันตกของขอบบ่อก้อนหนึ่งปรากฏจารึกเป็นอักษรไทฝักขาม รูปพยัญชนะสองตัว ปัจจุบันมีแนวคิดทางวิชาการเกี่ยวกับจารึกนี้สองแนวทาง คือ ๑.จารึกเป็นคำว่า “วง” หรือ “วัง” โดยกำหนดอายุตัวอักษรช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๐ และ ๒.จารึกเป็นคำว่า ๒อ โดยอิฐนี้ถูกวางกลับหัว ซึ่งจารึกดังกล่าวนี้อาจบอกที่มาอิฐที่เป็นการส่งส่วย(อิฐ) มาจากเมืองลำปาง  

ศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก ทางทิศตะวันออก นอกกำแพงเรือนจำ (สายกลาง จินดาสุ...ภาพ)

    พาชมวังมาเกือบทั่ว มานึกได้ว่าลืมศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็กโบราณสถานหลังหนึ่งที่สำคัญที่สุดในพื้นที่ไปได้เสียนี่

                ศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็กคือศาลที่ชาวราชทัณฑ์เชียงใหม่นับถือให้เป็นศาลเจ้าพ่อเจตคุปต์    ที่เรือนจำทุกแห่งต้องมี ศาลแห่งนี้ตั้งอยู่นอกกำแพงเรือนจำ แต่ยังอยู่ในพื้นที่โครงการสร้างสวนสาธารณะ โดยอยู่บริเวณขอบพื้นที่ด้านทิศตะวันออก ติดกับแนวรั้วคอนกรีตที่แบ่งระหว่างที่ดินเรือนจำและที่เอกชน ศาลเจ้าพ่อเจตคุปต์แห่งนี้น่าจะเข้มขลังกว่าที่ใด ๆ เพราะตั้งอยู่บนฐานโบราณสถานเดิม

ถ้าเรานั่งไทม์แมชชีนแล้วกระโดดลงตรงศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก เลือกเวลาช่วงเย็น ๆ แดดรำไร  ภาพที่ได้เห็นคงเป็นหญิงสาวชาววัง แต่งกายด้วยชุดล้านนา ถือพานดอกไม้เครื่องหอมมาสักการะบูชาสถานที่แห่งนี้     

             หญิงสาวผู้นี้เป็นใคร และเราหล่นจากไทม์แมชชีนไปอยู่ที่ไหน และห้วงเวลาใด

             เอกสารตำนานเมืองเชียงใหม่ มีความตอนหนึ่งระบุถึงหอพระประจำวัง ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัง หอพระนี้สร้างขึ้นในสมัยพระเมกุฏ กษัตริย์ล้านนาองค์สุดท้ายที่ครองเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ. ๒๐๙๔-๒๑๐๑  ก่อนที่เชียงใหม่จะถูกพม่าปกครอง

เอกสารระบุว่า พระอัครมเหสีของพระเมกุฏ นำดอกไม้เครื่องหอมมาบูชาหอพระประจำวังนี้ทุกเย็น จนหอพระนี้ได้ชื่อว่า “หอพระนางไหว้” จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่มีในปัจจุบันพบว่าหอพระแห่งนี้อาจมีมาแล้วตั้งแต่สมัยพญามังราย พร้อมกับการสร้างพระราชวัง เดิมอาจเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วขาว เสตังคมณี ที่เป็นพระพุทธรูปประจำพระองค์พญามังราย ต่อมาภายหลังเมื่อมีการสร้างหอพระแก้วขึ้นใหม่ในสมัยพญาติโลกราช บริเวณทิศตะวันออกเฉียงใต้นอกเขตพระราชวัง หอพระประจำวังแห่งนี้จึงอาจถูกใช้เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตที่อัญเชิญมาจากวัดพระแก้วดอนเต้า เมืองลำปาง ก่อนที่จะถูกอัญเชิญไปประดิษฐานที่ซุ้มจระนำทิศตะวันออกของเจดีย์หลวง เมื่อเจดีย์หลวงบูรณะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๐๒๔   

ภายในบริเวณศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็กที่สร้างขึ้นในสมัยปัจจุบัน (สายกลาง จินดาสุ...ภาพ)

            ได้มายืนอยู่หน้าหอพระของวังหลวง จินตภาพแห่งอดีตของชาววังและหอพระแห่งนี้ผุดเป็นภาพซ้อนอยู่เบื้องหน้า นี่คงเป็นความมหัศจรรย์ของโบราณสถาน ที่สามารถถ่ายทอดเหตุการณ์และบรรยากาศที่ผ่านมานับร้อย ๆ ปีแก่ผู้มาเยือน เกิดเป็นความรู้สึกอิ่มเอิบและเคารพอยู่ในห้วงอารมณ์เดียวกัน

            นอกจากอายุสมัยของหอพระแห่งนี้ที่มีหลักฐานเอกสารการมีอยู่ในช่วงปีพ.ศ.๒๐๙๔-๒๑๐๑   มาแล้วเป็นอย่างน้อย รูปแบบทางศิลปกรรมที่ปรากฏเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ

         ถ้าพิจารณารูปแบบหอพระประจำวังนี้ พบว่าเป็นมณฑปภายในวิหาร คล้ายกับกู่พระแก่นจันทร์ที่วัดเจ็ดยอด หรือมณฑปภายในวิหารวัดพระธาตุลำปางหลวง มณฑปลักษณะนี้มีพัฒนาการจากมณฑปท้ายวิหาร (นอกวิหาร) จนกระทั่งเข้ามาตั้งอยู่ภายในวิหาร (ห้องท้ายของวิหาร) และกลางวิหารในที่สุด รูปแบบการทำมณฑปในวิหารนี้ เกิดขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ - ๒๒ (พ.ศ.๒๐๐๐-๒๒๐๐) ซึ่งนับได้ว่าสอดคล้องกับช่วงเวลาในเอกสารประวัติศาสตร์ที่ระบุถึงการมีอยู่ของหอพระประจำวังแห่งนี้

กลุ่มอาคารทัณฑสถาน (สายกลาง จินดาสุ...ภาพ)

            ในพื้นที่นี้ นอกจากจะได้เที่ยวชมพระราชวังหลวงของล้านนาแล้ว ยังมีโบราณสถานอีกกลุ่มหนึ่งที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่งต่อประวัติศาสตร์พัฒนาการของเมืองเชียงใหม่และประเทศไทย คือ อาคารทัณฑสถาน ที่ถูกสร้างขึ้นในราวสมัยปลายรัชกาลที่ ๕  เพื่อเป็นเรือนจำมณฑล จากการสืบค้นทางประวัติศาสตร์พบว่า เรือนจำแห่งนี้มิได้มีความหมายเพียงห้องขังและซี่ลูกกรง แต่อาคารกลุ่มนี้มีความสำคัญในฐานะพัฒนาการกระบวนการศาลและราชทัณฑ์ของประเทศไทย รวมถึงคุณค่าด้านสถาปัตยกรรมที่บอกเล่าเทคโนโลยีการสร้างอาคารในช่วงร้อยกว่าปีก่อนและความสัมพันธ์กับชาวตะวันตกที่เข้ามาในเมืองเชียงใหม่ในช่วงดังกล่าว

อาคารมีลักษณะเป็นอาคารแบบโคโลเนียลร่วมสมัยที่คลี่คลายมาจากสถาปัตยกรรมของล้านนาดั้งเดิม เป็นอาคารสองชั้น ก่ออิฐถือปูน โครงสร้างแบบผนังรับน้ำหนักที่นิยมในช่วงสมัยรัชกาลที่     ๕-๖ ผนังมีความหนากว่าครึ่งเมตร ฉาบผิวภายนอกด้วยปูนตำ เรียกว่า “สะทายปูน” ชั้นล่างเป็นพื้นปูน     ชั้นบนเป็นพื้นไม้ (ต่อมาบางหลังเปลี่ยนเป็นพื้นซีเมนต์)

ถ้าเป็นภาพยนตร์ ภาพคงตัดไปที่ชายชาวต่างชาติคนหนึ่ง ยืนอยู่ในเรือนจำที่มีสภาพอนาถาสุดจะบรรยาย เขาบันทึกทุกองค์ประกอบทุกบรรยากาศในเรือนจำแห่งนี้ แล้วเขียนรายงานถึงยังเจ้านายอันเป็นที่รักว่า “เรือนจำแห่งนี้เทียบไม่ได้แม้กระทั่งกับคอกหมูของชาวยุโรป”

เรือนจำเชียงใหม่ในอดีต (กรมศิลปากร ..ภาพ)

เรือนจำที่ชายคนนี้กล่าวถึงคือ เรือนจำเมืองเชียงใหม่ (ก่อนการสร้างเรือนจำมณฑล) และชายคนดังกล่าวคือ ปิแอร์ โอต ที่ปรึกษาด้านกฏหมาย ที่รัชกาลที่ ๕ มอบหมายให้ตรวจและจัดทำข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนากิจการศาลและงานราชทัณฑ์ให้มีความทัดเทียมอารยประเทศ

งานศาลและราชทัณฑ์สำคัญถึงเพียงไหน ถึงต้องตั้งที่ปรึกษาชาวต่างชาติมาดู  บางคนบอก ก็แค่เรื่องคุกเรื่องตะราง แต่อย่าเพิ่งด่วนตัดสินความ เดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟัง

ในช่วงเวลาดังกล่าว ล้านนาตกเป็นเมืองประเทศราชของสยาม อังกฤษย้ายฐานการทำอุตสาหกรรมป่าไม้มาสู่พื้นที่ภาคเหนือ ด้วยป่าไม้ในพม่าเริ่มเสื่อมโทรม ป่าในล้านนาระยะแรกถือเป็นทรัพย์สินของเจ้าผู้ครองนคร ต่อมาเมื่อเกิดเหตุกระทบกระทั่งระหว่างเจ้าผู้ครองนครและคนในบังคับของอังกฤษจากเรื่องการทำไม้ นำไปสู่การที่อังกฤษเรียกร้องให้มีการจัดตั้งศาลต่างประเทศเพื่อตัดสินข้อพิพาท ด้วยสนธิสัญญาเบาว์ริงที่มีต่อสยามมิได้ครอบคลุมถึงล้านนา

จนกระทั่งรัชกาลที่ ๕ ประพาสอินเดียในปีพ.ศ. ๒๔๑๔  รัฐบาลอังกฤษที่อินเดียได้เรียกร้องให้สยามทำสัญญาเพื่อบังคับใช้ในหัวเมืองประเทศราช คือ เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน ให้สยามตั้งศาลต่างประเทศเพื่อพิจารณาคดีที่คนล้านนามีข้อพิพาทกับคนอังกฤษหรือคนในบังคับของอังกฤษโดยไม่ใช้ระบบการศาลและราชทัณฑ์ของล้านนาและสยาม จึงเป็นเหตุผลให้ไทยเร่งพัฒนากิจการศาลและงานราชทัณฑ์ จนกระทั่งมีการไปดูงานเรือนจำที่สิงคโปร์ ราวปีพ.ศ. ๒๔๒๕ แล้วกลับมาสร้างเรือนจำอย่างมาตรฐานสากลที่กรุงเทพฯ ชื่อคุกมหันตโทษ (สวนรมณีนาถในปัจจุบัน) ในปีพ.ศ. ๒๔๓๓  รวมถึงออกพระราชบัญญัติลักษณะเรือนจำในปี พ.ศ.๒๔๔๔  ตามมา

ตัดฉากไปที่ปีพ.ศ. ๒๔๖๗  ผู้ตรวจราชการมณฑลพายัพ กรมหลวงนครราชสีมา ได้เขียนในรายงานการตรวจราชการ อธิบายเรือนจำเชียงใหม่(แห่งใหม่)ไว้ว่า สวย ทันสมัย ใหญ่โต จนเหมาะเป็นโรงเรียนหรือสถานที่ราชการอื่นมากกว่า จึงเป็นสิ่งเน้นย้ำว่าเรือนจำแห่งนี้เป็นสถานที่ที่เราใช้โชว์ความเป็นอารยะต่อชาติตะวันตก เนื่องด้วยใช้เป็นที่คุมขังนักโทษต่างชาติหรือคนในบังคับของชาติตะวันตก ที่เจ้าอาณานิคมเหล่านั้นต้องมาตรวจเยี่ยมดูคนของตนเองอยู่เสมอ  ลึกลงไปในคุณค่าและความหมาย เรือนจำแห่งนี้จึงเป็นประจักษ์พยานในพัฒนาการของชาติบ้านเมือง ที่พยายามเอาชนะการดูหมิ่นและเอารัดเอาเปรียบของชาติมหาอำนาจ ด้วยการพัฒนากระบวนการศาลและงานราชทัณฑ์ที่ก้าวหน้าทันสมัย

      ปัจจุบันอาคารเรือนจำที่คงเหลือในพื้นที่ประกอบด้วย อาคารเรือนบัญชาการ (ด้านทิศใต้) เรือนแว่นแก้ว (ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้) เรือนเพ็ญ (ด้านทิศเหนือ) รวมถึงป้อมด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้และแนวกำแพงบางส่วนที่ต่อเนื่องจากป้อม รวมถึงประตูทางเข้าด้านทิศใต้ ซึ่งอาคารเหล่านี้ถูกสร้างโดยวางตัวในแนวแกนทิศตะวันออก-ตะวันตก


พระประธานวัดอินทขิลสะดือเมือง สมัยยังไม่ได้สร้างวิหารใหม่

วิหารวัดอินทขิลที่สร้างขึ้นใหม่ในภายหลัง


ดื่มด่ำกับพื้นที่พระราชวังหลวงแห่งล้านนาและเรือนจำมณฑลพายัพแล้ว พื้นที่วงรอบเล็ก ๆ นี้ ยังมีประวัติศาสตร์อีกหลายสิ่งที่บอกเล่าพัฒนาการเมืองเชียงใหม่ผ่านงานศิลปกรรมทางศาสนา

ก้าวเท้าออกจากเวียงแก้ว มุ่งหน้าสู่หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ภายในพื้นที่หอศิลป์ด้านทิศใต้และนอกแนวรั้ว มีเจดีย์วัดอินทขิลและวัดสะดือเมือง  ที่สวยงามและสำคัญยิ่ง ทั้งสองวัดนี้เดิมมีเขตพื้นที่เป็นวัดเดียวกัน ต่อมาเมื่อมีการสร้างศาลาว่าการมณฑล (อาคารหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ในปัจจุบัน) จึงแยกสองวัดนี้ออกจากกัน

ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่ 

เจดีย์เจดีย์วัดอินทขิลและวัดสะดือเมืองอาจเป็นเจดีย์เพียงสององค์ที่หลงเหลือในเมืองเชียงใหม่ที่ปรากฏอิทธิพลรูปแบบทางศิลปกรรมสืบเนื่องจากอาณาจักรหริภุญไชยที่พญามังรายยึดครองได้ก่อนหน้าการสถาปนาเมืองเชียงใหม่ รูปแบบที่ว่าคือการเป็นเจดีย์ทรงปราสาทในรูปทรงสี่เหลี่ยมและแปดเหลี่ยม ที่ปรากฏมาก่อนแล้วในเมืองหริภุญไชย ที่วัดจามเทวี  (อำเภอเมืองฯ จังหวัดลำพูน)

กรอบหน้าบันอันงดงามของเจดีย์วัดอินทขิล (สายกลาง จินดาสุ ...ภาพ) 

        เริ่มต้นที่เจดีย์อินทขิล พัฒนาการแห่งศิลปกรรมของเมืองเชียงใหม่ปรากฏอยู่บนกรอบหน้าบันด้านทิศเหนือของเจดีย์องค์นี้  ลวดลายที่ปรากฏที่กรอบหน้าบันนี้เป็นลวดลายประดับที่เก่าแก่ที่สุดในเมืองเชียงใหม่ที่มีอายุในช่วง พ.ศ.๑๙๐๐-๒๐๐๐  ขอบกรอบซุ้มทำเป็นเส้นขนานไปตามความโค้งของกรอบ ขนาบด้วยแถวลายเม็ดกลม เหนือกรอบซุ้มมีแถวกระหนกในทรงของใบระกา ซึ่งเป็นรูปแบบซุ้มจระนำที่เก่าแก่ของล้านนาที่สืบทอดมาจากเจดีย์กู่กุด หริภุญไชยและเจดีย์วัดป่าสัก เชียงแสน ถัดไปด้านทิศใต้   

เจดีย์ทรงปราสาทของวัดอินทขิล (สายกลาง จินดาสุ...ภาพ) 

    นอกรั้วเป็นที่ตั้งของเจดีย์สะดือเมือง ถ้าจะพิจารณาเจดีย์องค์นี้ให้ได้อรรถรส จะต้องแทรกตัวเข้าไประหว่างรถเข็นขายขนมถ้วยและมันเผาริมฟุตบาธ เข้าไปยืนบริเวณที่ว่างด้านทิศตะวันตกของเจดีย์ แล้วจะพบความลับแห่งเมืองเชียงใหม่ที่ซ่อนอยู่

          เบื้องหน้านั้นคือ เจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนาขนาดย่อม ที่ซุกซ่อนสิ่งพิเศษคือ ส่วนกลางของเจดีย์มีช่องที่เกิดจากการลักลอบขุดหาโบราณวัตถุในอดีต ทำให้เห็นสิ่งที่อยู่ลึกเข้าไปด้านในของเจดีย์ คือ พระพุทธรูปประทับยืน ในแวดวงประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีเป็นที่เข้าใจทั่วกันว่า การมีพระพุทธรูปเป็นองค์ประกอบเจดีย์ แสดงให้เห็นว่าเจดีย์องนั้นเป็นทรงปราสาท เพราะมีส่วนเรือนธาตุที่สูงพอสำหรับการทำซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูป และในเชิงความหมายเรือนธาตุของเจดีย์เปรียบเสมือนห้องที่พระพุทธเจ้าทรงประทับ 

เจดีย์สะดือเมือง (สายกลาง จินดาสุ ...ภาพ)

ซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปในองค์เจดีย์ (สายกลาง จินดาสุ...ภาพ) 


            การพบร่องรอยหลักฐานของเจดีย์ทรงปราสาท ที่เป็นเจดีย์องค์ดั้งเดิมของเจดีย์วัดสะดือเมือง ถือเป็นอีกหนึ่งหลักฐานสำคัญของเมืองเชียงใหม่ที่แสดงให้เห็นรูปแบบเจดีย์ระยะแรกของเมืองที่นิยมทรงปราสาท ที่รับอิทธิพลจากหริภุญไชย ปัจจุบันเจดีย์ทรงปราสาทระยะแรกที่มีในพื้นที่เชียงใหม่ ปรากฏให้เห็นเพียง เจดีย์เหลี่ยมหรือที่ปรากฏชื่อในเอกสารประวัติศาสตร์ว่า “กู่คำ” ซึ่งตั้งอยู่ที่เวียงกุมกาม เมืองโบราณที่พญามังรายสร้างขึ้นก่อนการสถาปนาเมืองเชียงใหม่ ๑๐ ปี ปัจจุบันเมืองนี้ตั้งอยู่ด้านทิศใต้ของเมืองเชียงใหม่ บริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง

หอพระแก้วร้าง เมืองเชียงใหม่ (กองโบราณคดี กรมศิลปากร...ภาพ) 

            ในหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ยังมีโบราณสถานที่มีความสำคัญที่สุดของเมืองเชียงใหม่อีกหลังที่สูญหายไปจากการรับรู้ของผู้คนเป็นเวลาร่วมร้อยปี  

หอพระแก้วร้าง คืออาคารสำคัญที่ปรากฏในแผนที่โบราณนครเชียงใหม่ที่จัดทำขึ้นราว พ.ศ.๒๔๓๖ ซึ่งปัจจุบันไม่ปรากฏสภาพบนผิวดิน  จากการเทียบตำแหน่งในแผนที่ พบว่าหอพระแก้วร้างเมืองเชียงใหม่ ตั้งอยู่ในจุดที่เป็นอาคารหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบัน  เมื่อพิจารณาดูคำที่ใช้เรียก เห็นได้ถึงสถานะของสถานที่ว่า ที่แห่งนี้คงเคยประดิษฐานพระแก้วมาก่อน และในห้วงเวลาการทำแผนที่เมืองเชียงใหม่ในปีพ.ศ. ๒๔๓๖ หอพระแก้วแห่งนี้ได้ถูกทิ้งร้างไป 

ช่วงต้นปี๒๕๖๔  หลังจากที่ข้อมูลการขุดพบ “เวียงแก้ว พระราชวังหลวงแห่งล้านนา” แพร่หลายออกไป ได้มีการเสวนาทางวิชาการหลาย ๆ ประเด็นที่เกี่ยวเนื่องในพื้นที่ ประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาพูดถึง คือหอพระแก้วร้างแห่งนี้

ตามตำนานกล่าวว่า พระนางจามเทวีแห่งเมืองหริภุญไชย อัญเชิญพระแก้วขาวมาจากเมืองละโว้  พระแก้วขาวประดิษฐานที่เมืองหริภุญไชยตั้งแต่ปี พ.ศ.๑๒๐๔  จนกระทั่งพญามังรายยึดครองหริภุญไชยได้ ปีพ.ศ. ๑๘๒๔ จึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่เชียงใหม่และให้เป็นพระพุทธรูปประจำพระองค์  โดยได้สร้างหอพระภายในเวียงแก้วเป็นที่ประดิษฐานดังที่ได้เล่าไว้แล้วข้างต้น

หอศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่  (สายกลาง จินดาสุ...ภาพ)

จากข้อมูลแผนที่โบราณพบว่าหอพระแก้วร้าง มีตำแหน่งทับซ้อนกับอาคารหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ หอพระแก้วแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราช มหาราชผู้ยิ่งใหญ่ของล้านนาที่มีรัชสมัยร่วมกับพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยา โดยให้หมื่นด้ามพร้าคต นายช่างผู้มีชื่อเสียง ถ่ายแบบมาจากโลหะปราสาท คาดว่าหอพระแห่งนี้คงร้างไปหลังจากที่มีการย้ายพระแก้วขาวและพระศีลาไปประดิษฐานที่วัดเชียงมั่น

วิหารวัดพันเตา หอคำเดิมของเจ้ามโหตรประเทศ 

    จากหอพระแก้วร้าง เรายังอยู่กับการท่องเที่ยวตามแผนที่โบราณนครเชียงใหม่ปี พ.ศ.๒๔๓๖ ให้ทุกคนได้ตื่นเต้นต่อเนื่อง

จากอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เมื่อเรามุ่งลงมาด้านใต้ตามถนนพระปกเกล้าราวสองร้อยเมตร เราจะพบกับสี่แยกไฟแดง เยื้องอีกฟากของถนนเป็นวัดสำคัญที่เก็บรักษาอาคาร “หอคำ” ที่คงเหลือเพียงหลังเดียวของเมืองเชียงใหม่  สิ่งที่พิเศษคือ หอคำหลังนี้ถูกรักษาไว้ในสถานะของ วิหารวัดพันเตา

พระวิหารหลังนี้ เดิมเป็นหอคำที่ประทับเดิมของเจ้ามโหตรประเทศเจ้าหลวงองค์ที่ ๕ ของเมืองเชียงใหม่ ตามประวัติกล่าวไว้ว่า เจ้าหลวงอินทวิชยนนท์ เจ้าหลวงองค์ที่ ๗ ได้รื้อหอคำของเจ้ามโหตรประเทศ ไปปลูกถวายเป็นวิหารวัดพันเตาในปี พ.ศ. ๒๔๑๘ ตามธรรมเนียมความเชื่อของชาวล้านนาที่มักนำเรือนของบรรพบุรุษที่เสียชีวิตไปแล้ว ปลูกถวายให้พระศาสนาใช้งานเพื่อเป็นกุศลแก่ผู้ตาย ทั้งนี้มีสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับหอคำของเจ้ามโหตรประเทศ คือ ตามธรรมเนียมการขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนคร เจ้าหลวงแต่ละองค์มักสร้างหอคำของตนเอง เว้นแต่เจ้ามโหตรประเทศที่ไม่พบประวัติการสร้างหอคำ จึงมีการสันนิษฐานว่า หอคำของเจ้ามโหตรประเทศที่ยกมาสร้างเป็นวิหารวัดพันเตานี้ น่าจะเป็นหอคำเดิมของพระเจ้ากาวิลละ เจ้าหลวงองค์แรกผู้สถาปนาราชวงศ์ทิพย์จักรหรือราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 

ถนนคนเดินในยามค่ำหน้าวิหารวัดพันเตา

     ย้อนกลับมาที่สี่แยก เดินลัดเลาะฟุตบาทไปทางตะวันตก ตามถนนราชดำเนิน ๑๐๐ เมตรโดยประมาณจะพบกับวัดไชยพระเกียรติ  วัดแห่งนี้หากดูจากสภาพปัจจุบัน ไม่ปรากฏอาคารโบราณสถานเก่าหลงเหลืออยู่ แต่เมื่อดูแผนที่โบราณนครเชียงใหม่ประกอบ จะพบปริศนาที่วัดนี้ซุกซ่อนไว้ในชื่อและตำแหน่งที่ตั้งในแผนที่โบราณฯ  วัดนี้มีขอบเขตค่อนข้างเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่สิ่งที่พิเศษสุดที่วัดนี้มีต่อเมืองเชียงใหม่ คือวัดตั้งอยู่ในตำแหน่งกึ่งกลางเมือง

ถ้าเรากางแผนที่เมืองเชียงใหม่ออกมาและลองลากมุมเมืองเชียงใหม่ไปบรรจบกันในแนวทแยง เราจะพบว่าจุดตัดของเส้นทแยง คือบริเวณกลางเมืองอันเป็นที่ตั้งของวัดไชยพระเกียรติในปัจจุบัน และยิ่งไปกว่านั้น ในแผนที่โบราณนครเชียงใหม่ ระบุชื่อวัดไชยพระเกียรติว่า “วัดใจ” วัดนี้จึงน่าจะเป็นวัดที่ถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมการสร้างเมืองเชียงใหม่ และอาจเป็นวัดที่เป็นมงคลของเมืองและเป็นใจเมือง ตามนามเดิมของวัด


วัดพระสิงห์ (สายกลาง จินดาสุ...ภาพ) 


จากวัดใจ เรามุ่งตรงตามถนนราชดำเนินไปทางตะวันตก สุดอยู่ที่วัดพระสิงห์ ข้อมูลทางภูมิศาสตร์แสดงให้เห็นนัยยะสำคัญอันหนึ่งเกี่ยวกับวัดแห่งนี้ คือวัดตั้งอยู่บนที่ดอนสูงที่สุดของเมือง โดยที่ดอนนี้มีลักษณะวางตัวยาวทอดจากด้านเหนือลงใต้ พื้นที่บริเวณวัดพระสิงห์จึงน่าจะเป็นพื้นที่สำคัญมาตั้งแต่ก่อนการสร้างเมืองเชียงใหม่ จากข้อมูลทางโบราณคดี พบว่าที่ดอนมักจะเป็นที่ตั้งชุมชนมาต่อเนื่องยาวนาน โดยมักปรากฏหลักฐานการเป็นพื้นที่อยู่อาศัยหรือพื้นที่ปลงศพในสมัยก่อนประวัติศาสตร์มาก่อน อาทิ แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี

เอกสารทางประวัติศาสตร์ระบุว่าก่อนการสร้างวัดพระสิงห์ ในรัชกาลของพญาผายู กษัตริย์องค์ที่ ๕ แห่งราชวงศ์มังราย พื้นที่บริเวณนี้เป็นตลาดของเมืองเชียงใหม่ ภาษาล้านนาเรียกตลาดว่า ลี จึงเป็นที่มาของชื่อวัดในระยะแรกว่า  วัดลีเชียง”  หรือวัดที่อยู่บริเวณตลาด จนกระทั่งได้มีการประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ที่วัดลีเชียงในสมัยพระเจ้าแสนเมืองมา นามเรียกขานวัดจึงได้เปลี่ยนไปเป็น “วัดลีเชียงพระ” และ “วัดพระสิงห์”  ในที่สุด

อุโบสถสองสงฆ์ สถาปัตยกรรมที่ซ่อนความเชื่อเอาไว้ (สายกลาง จินดาสุ...ภาพ)


            ที่วัดพระสิงห์ นอกจากวิหารลายคำวัดพระสิงห์ที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์และมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่น่าสนใจแล้ว ยังมีอุโบสถสองสงฆ์ ที่เป็นอาคารทางศาสนาที่แปลกประหลาดที่สุดหลังหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ทั้งชื่อเรียกและลักษณะการวางตัวของอาคาร รวมถึงมีองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจที่มีความใกล้เคียงกับหอคำหลวงของเมืองเชียงใหม่ ที่ปรากฏในภาพถ่ายเก่า

            ความพิเศษของอุโบสถสองสงฆ์ คือ การหันหน้าของอุโบสถที่หันไปทางทิศเหนือ - ใต้ มิได้หันไปตามทิศตะวันออก - ตะวันตก พ้องกับอาคารอื่นภายในวัดและตามแบบแผนของวัดในล้านนา ต่อประเด็นนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี อาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ เคยให้ทรรศนะว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับแนวคิดเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ป้องกันเมืองและประตูผีของเมือง 

ประตูเมืองโดยทั่วไป เมื่อสร้างขึ้นมักจะมีการประกอบพิธีกรรมเพื่อให้ประตูเมืองมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองเพื่อป้องกันภูติผี และความชั่วร้ายต่าง ๆ ไม่ให้เข้ามาในเมือง ทั้งนี้ตามความเชื่อที่สืบทอดมาของชาวเชียงใหม่เชื่อว่าประตูสวนปรุงที่อยู่ด้านทิศใต้ของเมือง ประตูที่ ๒ เป็นประตูผี (กำแพงเมืองเชียงใหม่มีประตูเมือง ๕ ประตู โดยที่ด้านทิศเหนือ ตะวันออก ตะวันตกมีด้านละ ๑ ประตู แต่ด้านทิศใต้มี ๒ ประตู) ดังนั้นประตูนี้จึงเป็นประตูที่ไม่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์รักษาป้องกัน เพื่อให้วิญญาณสามารถผ่านยังประตูนี้ได้ จึงจำเป็นต้องมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในรูปแบบอื่นในการรักษาดูแล 

ที่เมืองพระนคร (นครธม) ประเทศกัมพูชา กำแพงด้านทิศตะวันออกมีประตูเมือง ๒ ประตูเหมือนกำแพงเมืองเชียงใหม่ด้านทิศใต้ ประตูหนึ่งเป็นประตูกลางชื่อ “ประตูชัย” อีกประตูหนึ่ง เยื้องขึ้นไปทางเหนือ เรียกว่า “ประตูผี” ประตูนี้ ตั้งอยู่ตรงแนวกับเทวาลัยประจำพระราชวัง คือ ปราสาทพิมานอากาศ   ที่กรุงเทพฯ อุโบสถของพระแก้วมรกตหันตรงไปยังประตูผีเช่นกัน

ดังนั้นอุโบสถสองสงฆ์ของวัดพระสิงห์ ที่ตรงแนวกับประตูสวนปรุงซึ่งเป็นประตูผีเมืองเชียงใหม่ อาจทำหน้าที่นี้ เช่นเดียวกับเทวาลัยพิมายอากาศของเมืองพระนคร และอุโบสถพระแก้วมรกตของวัดพระแก้วของกรุงเทพฯ

            ชื่ออุโบสถสองสงฆ์นั้น มาจากลักษณะของอุโบสถที่มีทางขึ้นสองทางที่ทิศเหนือและทิศใต้ เชื่อกันว่าอาจเป็นการแบ่งส่วนทางขึ้น การใช้งานของภิกษุและภิกษุณี ทั้งนี้ก็มีอีกหนึ่งแนวคิดที่เชื่อว่า อาจมาจากการแบ่งส่วนใช้งานของสงฆ์คนละนิกายในเมืองเชียงใหม่เวลานั้น   

            รูปแบบและศิลปกรรมของอุโบสถสองสงฆ์ นับว่าสำคัญยิ่งต่อการศึกษารูปแบบหอคำหลวงเวียงแก้วที่เหลือให้เห็นเพียงในภาพถ่าย เนื่องด้วยทั้งสองแห่งมีอายุในช่วงสมัยพญากาวิลละเช่นเดียวกัน และมีรูปแบบโดยรวมคล้ายคลึงกัน คือ มีส่วนฐานก่ออิฐถือปูน หลังคาเป็นเครื่องไม้ ผนังเจาะช่องประดับซี่ลูกกรง ที่ซุ้มประตูทางเข้าปรากฏกรอบซุ้มประตูที่พอเห็นเค้าความเชื่อมโยงกับอาคารหอคำหลวง คือ เป็นซุ้มแบบซุ้มซ้อน หรือที่ทางประวัติศาสตร์ศิลปะเรียกในอีกชื่อว่า “ซุ้มลด”  บนสุดของกรอบซุ้มเป็นนาคกระหวัดหางเกี่ยวกันเป็นยอดแหลม ซึ่งพัฒนาการซุ้มรูปแบบดังกล่าว เด่นชัดขึ้นครั้งแรกในล้านนาราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ที่ซุ้มประตูโขงวัดพระธาตุลำปางหลวง เมื่อประมวลข้อมูลทางศิลปะเข้ากับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์จึงพบว่า หอคำหลวงเวียงแก้วและอุโบสถสองสงฆ์วัดพระสิงห์ น่าจะสร้างขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันโดยช่างกลุ่มเดียวกัน (หรืออาจจะคนเดียวกัน) โดยเป็นสกุลช่างลำปาง ที่ถือเป็นสกุลช่างราชสำนัก

           การเที่ยวโบราณสถาน วัดวาอาราม สิ่งสำคัญคือการผนวกสุนทรียศาสตร์ความงาม   เข้ากับประวัติศาสตร์ความเป็นมาและศรัทธาความเชื่อ  องค์ประกอบเหล่านี้เมื่อหลอมรวมเข้าด้วยกัน

                การท่องเที่ยวจึงมีทั้งคำว่า “สีสัน” และ “ลึกซึ้ง”

            วัดวาอาราม โบราณสถานที่ทรงคุณค่าบริเวณวงรอบเล็กๆ กลางเมืองเชียงใหม่ที่ได้นำเสนอในครั้งนี้ แม้บางแห่งหลายท่านอาจเคยไปเยือนมาแล้วหลายครั้งหลายหน แต่ภายใต้ข้อมูลใหม่มุมมองใหม่ที่มี เมืองเชียงใหม่ที่ทุกท่านไปสัมผัสครั้งนี้จะเป็นเชียงใหม่ในประสบการณ์ใหม่แก่ผู้มาเยือนอย่างแน่นอน

 

จิตรกรรมฝาผนังบันทึกวิถีชีวิตการแต่งกายของคนเชียงใหม่สมัยก่อน (สายกลาง จินดาสุ...ภาพ)