Thursday, December 15, 2016

Lanna Fam Trip โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวตลาดเชิงรุกกลุ่มล้านนา


ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...รายงาน
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน อนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนมกราคม ๒๕๖๐

เขตพัฒนาการการท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา ประกอบด้วยจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดลำปาง จังหวัดลำพูน และจังหวัดพะเยา จัดงาน “โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวตลาดเชิงรุกกลุ่มล้านนา”  ขึ้นระหว่างวันที่ ๑๕-๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ นำคณะผู้ประกอบการธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและสื่อมวลชนร่วมเดินทางทัศนศึกษาบนเส้นทางเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พะเยา และเชียงราย

เริ่มด้วยการนำคณะเข้าร่วมกิจกรรมสัมมนา ณ ศูนย์ประชุมนานานาชาติคุ้มคำ คุ้มขันโตก ในประเด็นภาพรวมยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวในเขตอารยธรรมล้านนา ความโดดเด่นและศักยภาพของกลุ่มจังหวัดในอารยธรรมล้านนา และแผนพัฒนาเพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยนายประจวบ กันทิยะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เป็นประธานในพิธีเปิด ก่อนจะเริ่มการเสวนาอย่างเป็นทางการ



            นายสุทน วิชัยรัตน์  ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ในฐานะศูนย์กลางของ ๕ จังหวัด ได้กล่าวถึงเขตอารยธรรมล้านนา ว่ามีจุดเด่นด้านทรัพยากรทางท่องเที่ยวอันหลากหลาย ทำให้ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ คือมีทั้งประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ภูมิปัญญาพื้นบ้าน และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ที่มีทั้งภูมิประเทศแวดล้อมด้วยทิวเทือกเขาน้อยใหญ่ แหล่งต้นน้ำลำธาร น้ำตก อากาศเย็นสบาย

แนวโน้มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวถือว่าเติบโตดีมากเมื่อเทียบกับภาคอื่น โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงสุดอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ รองลงมาคือเชียงราย ลำพูน ลำปาง และพะเยา ตามลำดับ ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยสูงสุดอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูนและพะเยา


            เมื่อกล่าวถึงแนวทางของแต่ละจังหวัด นางสาวปานปรียา พลเยี่ยม  ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า “เชียงรายมุ่งส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ คือโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยจะเน้นเรื่องของสมเด็จย่าเป็นหลัก อีกทั้งเร่งสร้างแบรนด์ของเชียงรายคือ “ฮักเจียงฮาย” รวมทั้งมาสค็อต “น้องกอดอุ่น” ให้ติดตลาด
 
ด้านศิลปวัฒนธรรมก็ชูวัดวาอาราม และพิพิธภัณฑ์น่าสนใจต่าง ๆ ที่เชียงรายมีอยู่มากมาย อย่างเช่น วัดร่องขุ่น ไร่เชิงตะวัน และพิพิธภัณฑ์บ้านดำ เป็นต้น นอกจากนี้ในปี ๒๕๖๐  ยังจะนำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวเลียบชายแดนผาบ่อง ผาตั้ง นิวซีแลนด์เมืองไทย ภูชี้ฟ้า ภูชี้ดาว ภูชี้เดือน และเส้นทางเที่ยวชุมชน บนวิถีชา-กาแฟ บนดอยแม่สะลองอีกด้วย”

            นายธณัท ปภพธนานนท์  ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดลำพูน   “ลำพูนเป็นจังหวัดที่มีประวัติความเป็นมาเก่าแก่ยาวนานที่สุดคือ ๑,๓๐๐- ๑,๔๐๐ปี คืออาณาจักรหริภุญไชยเป็นดินแดนปฐมอารยธรรม จึงอุดมด้วยวัฒนธรรมประเพณีอันงดงามน่าสนใจ ในขณะที่อุทยานแห่งชาติดอยขุนตานและอุทยานแห่งชาติแม่ปิง ก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์ ซึ่งแนวทางการส่งเสริมต่อไป คือให้ลำพูนเป็นเมืองจุดหมายปลายทางเชิงประสบการณ์วัฒนธรรมด้วย ได้แก่ ไหว้พระธาตุหริภุญไชย ชิมลำไย สักการะกู่ช้าง กู่ม้า งามตาผ้าไหม สะพานทาชมพู  ไหว้สาครูบา ดินแดนธรรม”

นายสวัสดิ์ มูลภาที ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดลำปาง “เมืองลำปางเป็นเมืองน้องรองจากเมืองลำพูนคือมีอายุ ๑,๒๓๘ ปี เป็น ที่ผ่านมาได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในสิบสองเมืองต้องห้ามพลาดของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ทางผ่านขึ้นไปจังหวัดเชียงรายเรามีบ้านหลุก หมู่บ้านแกะสลักไม้ เหมืองถ่านหินแม่เมาะ ถ้ำประตูผา ทางอำเภอแจ้ห่มก็มีวัดเฉลิมพระเกียรติ น้ำตกแจ้ซ้อน แหล่งน้ำพุร้อน ไข่ออนเซ็น

 แนวทางในการพัฒนา เน้นให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอินดี้ เน้นสร้างสรรค์สถานที่ถ่ายภาพเซลฟี่ ในขณะเดียวกันแหล่งท่องเที่ยวทางด้านศิลปวัฒนธรรมก็ไม่ได้ทอดทิ้ง จะส่งเสริมชุมชนท่องเที่ยวต่าง ๆ ในลำปางให้สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง  บ้านปงถ้ำ พุทธอุทยาน ๒๙ ปาง สร้างใน ๓๐ วัน  พระแกะสลักบนหน้าผา ดอยหนอก ทิวทัศน์ ๔ จังหวัด” 
  
นายวีระวุฒิ ต๊ะปินตา  ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดพะเยา “พะเยาจะเน้นการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มเนื่องจากยังมีรายได้น้อยอยู่ พะเยาเองมีอารยธรรมซึ่งมีความสัมพันธ์กับเชียงราย ยังหลงเหลือร่องรอยในโบราณสถานเวียงลอ ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านของเชียงราย ขุดพบโครงกระดูก เครื่องบั้นดินเผาเก่าแก่ ปัจจุบันเพิ่มกิจกรรมล่องเรือในลำน้ำอิงผ่านบริเวณเวียงลอ
 
อีกแห่งที่กำลังพัฒนาคืออุทยานพุทธศิลป์ห้วยผักเกี๋ยง บนเพิงผาหินทรายแกะสลักเป็นพระพุทธรูปเรียงรายหลากหลายปาง ยังมีทิวเทือกเขาผายาวหรือพะเยา เส้นทางบ่อสิบสองศึกษาธรรมชาติ มีผาหัวเรือเหมือนภูชี้ฟ้าเป็นจุดชมทิวทัศน์มองเห็นกว๊านพะเยาจากมุมสูง

อนาคตจะเป็นการให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับ ๔ ประสบการณ์ได้แก่ เส้นทางท่องเที่ยวชายแดน เส้นทางภูซาง-เชียงคำ-หลวงพระบาง เส้นทางเที่ยวเชิงเกษตร แม่ใจ ภูกามยาว ชุมชนม้ง ชิมกาแฟสด เส้นทางท่องเที่ยวเชิงผจญภัย ล่องแก่ง ตามรอยไดโนเสาร์  และเส้นทางปั่นจักรยาน เยี่ยมชมชุมชนประมงพื้นบ้าน หล่ายกว๊านรอบกว๊านพะเยา”

“แต่ละจังหวัดมีของดีเด่น เชียงใหม่นั้นทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการคมนาคม โดยเฉพาะสายการบินที่เชื่อมโยง ๑๓ เมืองหลักทั่วไทย  ๑๙ เมืองในต่างประเทศ จีน ๙ เส้นทาง ทั้งยังเป็นศูนย์รวมเส้นทางที่จะเชื่อมโยงไปได้ทั่วทุกจังหวัดในกลุ่มอารยธรรมล้านนาด้วย” นายสุทน วิชัยรัตน์ กล่าวสรุปก่อนจะมีการเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวจากแต่ละจังหวัดได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวคิดและสินค้าจากภูมิปัญญาท้องถิ่นกัน ซึ่งบริเวณหน้าสถานที่จัดเสวนายังได้จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์พื้นบ้านจากแต่ละจังหวัด ในรูปแบบของตลาดนัดอย่างครึกครื้น


ปิดท้ายรายการในวันแรกด้วยงานเลี้ยงแบบขันโตกดินเนอร์ พร้อมด้วยการแสดงนาฏศิลป์พื้นเมืองจากแต่ละจังหวัดในเขตอารยธรรมล้านนา ให้ผู้ร่วมโครงการ อันได้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและสื่อมวลชนในหลากหลายสาขาได้ชม อิ่มอร่อยกับอาหารพื้นบ้าน ตื่นตากับการการแสดงพื้นถิ่น ประทับใจกันไปโดยถ้วนหน้า


รุ่งขึ้นจึงเป็นกิจกรรมทัศนศึกษาบนเส้นทางท่องเที่ยวเขตอารยธรรมล้านนา โดยเน้นการนำผู้ร่วมโครงการ ฯ เยี่ยมชมศิลปกรรมอันล้ำค่าสืบเนื่องจากอดีตกาลสู่ปัจจุบัน เชื่อมโยงกันด้วยจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่อย่างน่าสนใจ โดยเริ่มจากเชียงใหม่ในฐานะประตูต้อนรับสู่ล้านนา


คณะทัศนศึกษาประเดิมด้วยการไปสักการะองค์พระธาตุดอยสุเทพ ปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมือง เพื่อความเป็นศิริมงคล ก่อนจะเดินทางสู่เวียงกุมกาม อดีตนครหลวงแห่งแรกของอาณาจักรล้านนา นั่งรถตระเวนชมยังร่องรอยโบราณสถานที่ขุดพบแล้วมากมายกว่าสิบแห่ง และเชื่อว่ายังมีฝังตัวใต้พิภพรอการค้นพบอยู่อีกนับไม่ถ้วน


เดินทางต่อไปยังลำพูน เมืองวัฒนธรรมที่มีประวัติความเป็นมาเก่าแก่ที่สุดในถิ่นล้านนา ย้อนหลังไปได้ถึงพันกว่าปี ในสมัยของอาณาจักรหริภุญไชย ชาวคณะเข้าสักการะองค์พระธาตุหริภุญไชยสีทองอร่ามงามตา ก่อนแวะสักการะพระราชานุสาวรีย์พระนางจามเทวี ปฐมกษัตรีย์ผู้ก่อตั้งอาณาจักรแห่งแรก 


แล้วจึงเข้าเยี่ยมชมการผลิตผ้าไหมยกดอกลำพูน หัตถศิลป์อันประณีตบรรจง ด้วยลักษณะเฉพาะตัว แต่ละผืนไม่เหมือนใคร เนื่องจากใช้การทอด้วยมือทีละผืน ณ พิพิธภัณฑ์ลำพูนผ้าไหมไทย


เลยต่อไปถึงลำปาง เมืองที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามเวลา ยังคงความงดงามทางสถาปัตยกรรมเก่าแก่เยี่ยมเยือนภายในบริเวณวัดพระธาตุลำปางหลวง ชมเงาสะท้อนพระธาตุในหอไตร อันสะท้อนถึงภูมิปัญญาช่างโบราณ เป็นการปิดท้ายรายการทัศนศึกษาในวันแรก


เช้าวันที่สองเริ่มด้วยการเดินทางไปชมวิหารมณฑปจัตุรมุข ที่วัดปงสนุก  ซึ่งทุกชิ้นส่วนของสถาปัตยกรรมที่ประกอบขึ้นมาซ่อนเร้นเรื่องราวที่สัมพันธ์กับความเชื่อทางพุทธศาสนาเอาไว้ในเชิงสัญลักษณ์อย่างมากมาย จนได้รับยกย่องเป็นมรดกทางวัฒนธรรมจากองค์การ UNESCO  ในบริเวณวัดยังมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่เก็บรวมรวมศิลปกรรมท้องถิ่นที่น่าสนใจอีกไม่น้อย


วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดารามคือจุดหมายถัดมา ประติมากรรมกามเทพฝรั่ง แกะสลักจากไม้ ประดับประดาบนเพดานในวิหารแบบพม่าหน้าเจดีย์ ฝีมือช่างจากพม่า สะกดให้ชาวคณะวนเวียนชมกันอยู่อย่างไม่รู้เบื่อหน่าย 


จนสาย ๆ จึงค่อยเคลื่อนขบวนไปยังโรงงานผลิตเซรามิคธนบดี แหล่งผลิตเครื่องถ้วยชามเซรามิคแห่งแรกของจังหวัดลำปาง ที่ปัจจุบันอนุรักษ์เตาเผาดั้งเดิมที่เรียกว่าเตามังกรเอาไว้ พร้อมจัดสร้างนิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของถ้วยชามกาไก่ จากอดีตแบบทำมือทุกขั้นตอนการผลิต สู่ปัจจุบันซึ่งเป็นโรงงานอันทันสมัย ไว้อย่างน่าตื่นตา


            ช่วงบ่ายคณะจึงเดินทางถึงพะเยา เมืองแห่งความสงบงามเรียบง่าย ใกล้ชิดธรรมชาติ แวะสักการะพระพุทธรูปใหญ่แห่งล้านนา พระเจ้าตนหลวง วัดศรีโคมคำ ชมจิตรกรรมฝีมือศิลปินแห่งชาติ อังคาร กัลยาณพงศ์ ในวิหารริมน้ำ ก่อนจะขึ้นเขาไปชมพุทธศิลป์ศิลาทราย 


            พระพุทธรูปแกะสลักนูนต่ำน้อยใหญ่ ปางต่าง ๆ มากมาย เรียงรายบนแนวผากลางผืนไพรในวัดห้วยผาเกี๋ยง อันเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ที่กำลังมาแรง 


            ส่งท้ายรายการของวันด้วยการพากันล่องเรือสู่วัดติโลกอาราม วิหารโบราณกลางผืนน้ำกว๊านพะเยา สถานที่เวียนเทียนในวันสำคัญทางศาสนา ซึ่งบรรยากาศในยามเย็นดวงอาทิตย์ลับฟ้าแสงสีสวยจับตา สุดแสนประทับใจ



            อรุณรุ่งวันสุดท้ายเริ่มขึ้นที่เชียงราย เมืองต้นกำเนิดล้านนา แหล่งอารยธรรมดั้งเดิมที่ผสมผสานศิลปกรรมเก่าใหม่เอาไว้อย่างลงตัว หลักจากสักการะพระแก้วมรกต ที่วัดพระแก้วเชียงรายใจกลางเมืองแล้วคณะทัศนศึกษาก็มุ่งสู่วัดร่องเสือเต้น อารามสีครามเข้มอันงดงามอลังการ ประดับประดาด้วยประติมากรรมลอยตัว นูนสูงและนูนต่ำ ในรูปแบบที่เห็นปุ๊บก็รู้ว่ารังสรรค์ขึ้นโดยศิษย์ของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์


จบเส้นทางการทัศนศึกษากันที่วัดห้วยปลากั้ง ซึ่งตั้งอยู่ภายในบริเวณอันกว้างขวาง เหนือเนินเขาละลานตระการตาด้วยสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานกันระหว่างอิทธพลศิลปกรรมจีนกับศิลปกรรมแบบล้านนา อย่างเจดีย์ ๙ ชั้น “พบโชคธรรมเจดีย์” วิหารสีขาวสะอาดตา และประติมากรรมองค์เจ้าแม่กวนอิมสีขาวสูงเสียดฟ้า ซึ่งภายในองค์มีลิฟต์สามารถขึ้นไปชมทิวทัศน์จากด้านบนได้




โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวตลาดเชิงรุกกลุ่มล้านนา (Lanna Fam Trip) นี้จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยวในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา โดยเป็นการประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยวที่มีจุดเด่นน่าสนใจ อันจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว เพิ่มมูลค่าด้านการบริการ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ ฯ ได้ที่ คุณภาวิณีย์ เอี่ยมอำพร (กวาง) ๐๘ ๕๒๔๗ ๗๓๐๙


Wednesday, November 23, 2016

ราชัน...ผู้ยาตรา ทั่วหล้าแผ่นดินสยาม


ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่อง คลังภาพถ่ายเก่า อนุสาร อ.ส.ท. ...ภาพ
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน อนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๙

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นนักเดินทางผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก

ไม่ใช่เพราะตัวเลขระยะทางรวมอันแสนยาวไกลในการเสด็จพระราชดำเนินไปยังสถานที่ต่าง ๆ ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์  หากแต่เพราะการเสด็จพระราชดำเนินของพระองค์เป็นไปโดยพระมหากรุณาธิคุณเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรชาวไทยเป็นสำคัญ
 
แม้จุดหมายปลายทางไม่ปรากฏอยู่บนแผนที่  ไม่มีเส้นทางคมนาคมใด ๆ ตัดผ่าน เพียงแต่ที่นั่นมีประชาชนของพระองค์อาศัยอยู่  และประสบกับความทุกข์ยากในการทำมาหากิน  เมื่อความทราบถึงพระเนตรพระกรรณ พระองค์ก็จะเสด็จไปโดยมิทรงหวาดหวั่นต่อความทุรกันดารยากลำบากใด ๆ เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับราษฎรของพระองค์


๑.
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชาวเขาในหมู่บ้านต่าง ๆ ทางภาคเหนือ บนดอยปุย ใกล้กับพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ ในปีพ.ศ. ๒๕๐๘ ทอดพระเนตรเห็นชีวิตความเป็นอยู่อันแร้นแค้นของชาวเขาและสภาพป่าที่ถูกทำลายเพื่อปลูกฝิ่น พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริให้ตั้งสถานีวิจัยเกษตรหลวงอ่างขางขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ทำการวิจัยพืชเมืองหนาว เพื่อพระราชทานให้ชาวเขาปลูกแทนฝิ่น เป็นโครงการส่วนพระองค์ ชื่อว่า“โครงการหลวงพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา” โดยมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้เมื่อครั้งเสด็จเยี่ยมคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ว่า

“...ถ้าสามารถช่วยชาวเขาปลูกพืชที่เป็นประโยชน์บ้าง เขาจะเลิกปลูกยาเสพติดคือฝิ่น ทำให้นโยบายการระงับปราบปรามการปลูกฝิ่นและการค้าฝิ่นได้ผลดี อันนี้ก็เป็นผลอย่างหนึ่ง ผลอีกอย่างหนึ่งซึ่งสำคัญมากก็คือ ชาวเขาตามที่รู้เป็นผู้ทำการเพาะปลูกโดยวิธีที่ไม่ถูกต้อง  ถ้าพวกเราทุกคนไปช่วยเขาก็เท่ากับช่วยบ้านเมืองให้มีความดี ความอยู่ดีกินดี และปลอดภัยได้อีกทั่วประเทศ เพราะถ้าสามารถทำโครงการนี้ได้สำเร็จ ให้เขาอยู่เป็นหลักแหล่ง สามารถที่จะมีความอยู่ดีกินดีพอสมควร และสนับสนุนนโยบายรักษาป่าไม้ รักษาดินให้เป็นประโยชน์ต่อไป ประโยชน์อันนี้จะยั่งยืนมาก...”


  โครงการส่วนพระองค์ดังกล่าว ได้เติบโตขึ้นเป็นโครงการหลวงในปี พ.ศ.๒๕๒๑โดยความร่วมมือจากจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดตั้งเป็นศูนย์พัฒนาโครงการหลวง พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนชาวเขาลดการปลูกฝิ่นและฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร ศูนย์แต่ละแห่งครอบคลุมพื้นที่ ๔-๙ หมู่บ้าน ซึ่งเมื่อกาลเวลาผ่านไป ไม่เพียงแต่ราษฎรในชุมชนแต่ละแห่งจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดแล้ว ผืนป่าต้นน้ำลำธารรายรอบพื้นที่โครงการหลวงที่ได้รับการฟื้นฟูสภาพให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ยังงดงามด้วยทิวทัศน์กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญที่ช่วยให้เกิดการกระจายรายได้ลงไปยังชุมชนในท้องถิ่นอีกด้วย


“ที่เขายากจนต้องมาทำมาหากินในพื้นที่แห้งแล้งเช่นนี้ ไม่ใช่ว่าเขาอยากจะมา แต่เพราะเขาไม่มีที่อื่นจะไป ที่ฉันช่วยเขา ไม่ใช่ว่าจะช่วยตลอดไป แต่ช่วยเพื่อให้เขาได้มีโอกาสช่วยตัวเองได้ต่อไป” คือพระราชดำรัสหลังจากพระองค์เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในถิ่นทุรกันดารในภาคอีสาน

พระองค์ทรงเข้าพระทัยดีว่าที่ชาวนา ชาวไร่ เกษตรกรในชนบทโดยเฉพาะบนแผ่นดินอีสานยากจนทนทุกข์เนื่องจากทำเกษตรกรรมไม่ได้ผลผลิต อันเนื่องมาจากขาดแคลนน้ำ จึงทรงทุ่มเทในการศึกษาหาหนทางแก้ปัญหา พัฒนาและจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อให้ราษฎรได้อยู่ดีกินดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

ที่บ้านกุดสิม ตำบลคุ้มเก่า  อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์  ดินแดนอันสุดแสนแห้งแล้ง ถึงขนาดต้องใช้น้ำค้างในการปลูกข้าว โดยใช้ไม้แทงลงในดิน แล้วจึงนำต้นกล้าข้าวปักดำลงในหลุม ตอนกลางวันต้นข้าวโดนแดดแรง จนยอดข้าวเหี่ยวเฉา ต้องรอจนถึงกลางคืน ได้รับน้ำค้าง ต้นข้าวถึงจะผงกยอดชูขึ้นได้ 



ในปีพ.ศ.๒๕๓๕  พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมราษฎรที่หมู่บ้าน  เสด็จไปยังกองข้าวที่ชาวบ้านเก็บเกี่ยวมา ทรงหยิบต้นข้าวจากกอง ๑ ต้น  ทอดพระเนตรสักครู่จึงรับสั่งว่า 

“ต้นข้าวเหล่านี้มีเมล็ดลีบ ในแต่ละรวงมีเมล็ดข้าวน้อย ผลผลิตข้าวที่ได้ไม่เพียงพอสำหรับการบริโภคในครัวเรือน ให้ชลประทานหาน้ำมา เพียงเพิ่มความชุ่มชื้นให้พื้นที่นา ก็จะช่วยเพิ่มผลผลิตข้าวเพียงพอสำหรับการบริโภคในครอบครัวได้”

จากนั้นพระองค์พระราชทานแนวพระราชดำริให้ก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ด้วยการเจาะอุโมงค์ลอดใต้เขาภูบักดี ขนาดกว้าง ๓ เมตร สูง ๓ เมตร ยาว ๗๔๐เมตร แล้วสอดท่อเหล็กลอดเข้าไปในอุโมงค์ ส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร ที่เอ่อท้นเหลือใช้อยู่ฟากหนึ่งของภูเขา มาเติมเต็มอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบน เขตอำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์  ในอีกฟากฝั่งของภูเขา เพื่อแบ่งปันน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูก เป็นการเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพการใช้น้ำจากแหล่งน้ำที่กรมชลประทานพัฒนาไว้แล้ว  ยังประโยชน์ครอบคลุมพื้นที่มากถึงประมาณ ๑๒,๐๐๐ ไร่ และทำให้ผลผลิตทางการปลูกข้าวของชาวนาเพิ่มมากขึ้นถึงสามเท่า 

อุโมงค์แห่งนี้ปัจจุบันได้รับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ตามรอยพระราชดำริ ให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทางด้านการบริหารจัดการน้ำ



"หากปล่อยทิ้งไว้ จะกลายเป็นทะเลทรายในที่สุด"

พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสอย่างทรงเป็นห่วง เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปยังห้วยทราย  ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี   เมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๖ แล้วทอดพระเนตรเห็นว่า จากที่เคยเป็นป่าไม้เขียวชอุ่ม อุดมสมบูรณ์  เป็นที่อาศัยของสัตว์ป่า โดยเฉพาะ “เนื้อทราย” ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากจนเป็นที่มาของชื่อ "ห้วยทราย"  ได้ถูกราษฎรเข้าบุกรุกทำลายป่า ปราบพื้นที่เพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรม ไม่หลงเหลือป่าไม้และสัตว์ป่า เกิดความแห้งแล้ง ฝนไม่ตกตามฤดูกาล และสภาพพื้นดินเสื่อมโทรม ทำการเกษตรกรรมไม่ได้ผล

จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้พื้นที่บริเวณห้วยทราย เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาตามแนวพระราชดำริห้วยทราย พัฒนาด้านป่าไม้อเนกประสงค์ พัฒนาเกษตรกรรมควบคู่ไปกับการปลูกป่า เพื่อฟื้นฟูสภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการเกษตรและปลูกป่า จัดสรรที่ทำกินให้ราษฎรที่ได้เข้ามาบุกรุกทำกินอยู่แต่เดิมให้ได้เข้าอยู่อาศัยและให้ความรู้กับราษฎร ให้ทำการเกษตรอย่างถูกวิธี รวมทั้งให้มีส่วนร่วมในการปลูกป่า ดูแลรักษาป่า ตลอดจนให้ได้รับประโยชน์จากผลผลิตของป่า เพื่อที่ราษฎรจะได้ไม่บุกรุกทำลายป่าอีกต่อไป

"...เป็นการสาธิตการพัฒนาเบ็ดเสร็จ หมายถึงว่า ทุกสิ่งทุกอย่างทุกด้านของชีวิตประชาชนที่จะหาเลี้ยงชีพในท้องที่จะทำอย่างไร และได้เห็นวิทยาการแผนใหม่ จะสามารถที่จะหาดูวิธีการจะทำมาหากินให้มีประสิทธิภาพ...ด้านหนึ่งก็เป็นจุดประสงค์ของศูนย์ศึกษาฯ ก็เป็นสถานที่สำหรับค้นคว้าวิจัยในท้องที่ เพราะว่าแต่ละท้องที่สภาพฝนฟ้าอากาศ และประชาชนในท้องที่ต่างๆ กัน ก็มีลักษณะแตกต่างกันมากเหมือนกัน..."

ในวันนี้ผลการศึกษาที่สำเร็จถูกจัดแสดงไว้ในลักษณะ  "พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต"  เป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ที่ผู้สนใจสามารถเข้าไปศึกษาหาความรู้และนำความรู้และวิธีการกลับไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่ของตนเองได้เป็นอย่างดี


อ่าวคุ้งกระเบน ตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี  ป่าชายเลนบริเวณนี้สภาพธรรมชาติเคยเสื่อมโทรมอย่างหนักจากการบุกรุกเข้ามาทำมาหากินของราษฏร

  เมื่อพระองค์เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดพระบรมราชานุเสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่จังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๒๔  ราษฎรจังหวัดจันทบุรีร่วมทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลตามอัธยาศัย จึงทรงมีพระราชดำริแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ให้พิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมจัดทำโครงการพัฒนาอาชีพการประมงและการเกษตรในเขตที่ดินชายฝั่งทะเล จังหวัดจันทบุรี โดยใช้เงินที่ได้รับถวายเป็นต้นทุนดำเนินการ

   "ให้พิจารณาจัดหาพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรมหรือพื้นที่สาธารณประโยชน์เพื่อจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนา เช่นเดียวกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ให้เป็นศูนย์ศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาในเขตที่ดินชายทะเล"

ปีพ.ศ.๒๕๒๕ จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน ขึ้นเป็นหน่วยงานที่ดำเนินการศึกษาสาธิต และการพัฒนาในเขตที่ดินชายทะเล

ปัจจุบันศูนย์แห่งนี้เป็นเหมือนโรงเรียนต้นแบบการอนุรักษ์ป่าชายเลนของไทย มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติเป็นสะพานไม้ทอดยาวเป็นระยะทาง ๑,๖๐๐ เมตรเข้าสู่บริเวณป่าชายเลนอันร่มรื่นเขียวขจี ให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษาเรียนรู้ด้วยความเพลิดเพลิน  



  พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรภาคใต้อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแตปีพ.ศ. ๒๕๐๒  ที่จังหวัดนราธิวาส ราษฎรในหลายพื้นที่ของถวายฎีการ้องเรียนเรื่องที่ดินทำกิน ปัญหาคือดินเปรี้ยวจัด ชาวบ้านทำการเกษตรไม่ได้ผล

เมื่อทรงทราบถึงปัญหาและความทุกข์ยากของราษฎร ว่าเนื่องมาจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดนราธิวาส เป็นพื้นที่พรุที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือพรุบาเจาะและพรุโต๊ะแดง สภาพดินเป็นดินเปรี้ยวจัดไม่สามารถปลูกพืชได้ พระองค์จึงมีพระราชดำริให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง ศึกษาและค้นคว้าวิจัยหารูปแบบในการพัฒนาพื้นที่พรุให้ชาวบ้านสามารถใช้เป็นพื้นที่ทำกินได้
 
“ให้มีการทดลองทำดินให้เปรี้ยวจัด โดยการระบายน้ำให้แห้ง และศึกษาวิธีการแก้ดินเปรี้ยว เพื่อนำผลไปแก้ปัญหาดินเปรี้ยวให้แก่ราษฏรที่มีปัญหาในเรื่องนี้ ในเขตจังหวัดนราธิวาส โดยให้ทำโครงการศึกษา ทำลองในกำหนด ๒ ปี และพืชที่ทดลองควรเป็นข้าว...” 

เป็นพระราชดำรัสถึงวิธีการที่ทรงเรียกว่า “แกล้งดิน” ซึ่งแสดงถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์  โดยการทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกันไป เพื่อให้ดินปล่อยแร่ธาตุที่เป็นกรดออกมา กลายเป็นดินที่มีกรดจัด เปรี้ยวจัดจากนั้นจึงค่อยใช้น้ำชะล้างดินควบคู่ไปกับปูนอย่างที่ทรงเรียกว่า “ระบบซักผ้า” เมื่อใช้น้ำจืดชะล้างกรดในดินไปเรื่อย ๆ ความเป็นกรดก็จะค่อย ๆ จางลง จนสามารถใช้เพาะปลูกทำการเกษตรได้

 ทุกวันนี้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปนั่งรถรางเที่ยวชมศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง ที่เป็นเสมือนโรงเรียนหรือศูนย์ฝึกอาชีพให้กับเกษตรกรภาคใต้  ในพื้นที่เต็มไปด้วยไร่นา สวนผักผลไม้ที่ปลูกไว้เพื่อสาธิตเป็นตัวอย่างแก่ชาวบ้าน รวมทั้งยังมีการสาธิตการเลี้ยงสัตว์พื้นบ้านอย่าง เป็ด ไก่ แพะ และวัว รวมถึงการสาธิตวิธีการสกัดและแปรรูปน้ำมันปาล์ม เพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานทางเลือก 


กล่าวได้ว่าไม่มีแผ่นดินไทยแม้แต่เพียงตารางนิ้วเดียวที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชไม่เคยทรงย่างพระบาทไปถึง การเสด็จพระราชดำเนินของพระองค์ก่อให้เกิดโครงการในพระราชดำริเพื่อความกินดีอยู่ดีของประชาชนมากกว่าสี่พันโครงการ

ภาพที่พสกนิกรชาวไทยคุ้นเคยต่อสายตาเป็นอย่างดีตลอดช่วงเวลาอันยาวนานถึง ๗๐ ปีในรัชสมัย ก็คือภาพของพระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินไปยังพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้  ประทับยืน  ประทับนั่ง และบางครั้งทรงคุกพระชานุอยู่ในใจกลางแวดล้อมราษฎรของพระองค์

“ที่ของข้าพเจ้าในโลกนี้ คือการได้อยู่ท่ามกลางประชาชนของข้าพเจ้า นั่นคือคนไทยทั้งปวง” พระองค์เคยตรัสไว้ และเป็นความจริงเช่นนั้นตลอดมา

          กระทั่งในวันนี้ แม้เสด็จสู่สวรรคาลัย แต่พระองค์ก็ยังคงประทับอยู่ท่ามกลางพสกนิกรของพระองค์เสมอ

ในหัวใจของคนไทยทุกคน ตลอดชั่วกาลนาน...