Friday, September 6, 2013

โครงการอบรมนักเขียนและช่างภาพสารคดีท่องเที่ยว อ.ส.ท. ประจำปี ๒๕๕๖

ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...รายงาน เพชร แก้วเขียว เสาวนีย์ สมบูรณ์...ภาพ
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน อนุสาร อ.ส.ท. ปีที่ ๕๔ ฉบับที่ ๒ เดือนกันยายน ๒๕๕๖


สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีอีกครั้งสำหรับโครงการอบรมนักเขียนและช่างภาพสารคดีของอนุสาร อ.ส.ท.  ประจำปี ๒๕๕๖    

อนุสาร อ.ส.ท. จัดให้มีโครงการอบรมนักเขียนและช่างภาพสารคดีสำหรับบุคลภายนอกที่สนใจ ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี ๒๔๕๓ ในวาระครบรอบ ๕๐ ปี อนุสาร อ.ส.ท. เพื่อสร้างนักเขียนและช่างภาพสารคดีท่องเที่ยวมาตรฐาน  ส่งเสริมการสร้างสรรค์สารคดีท่องเที่ยวให้มีเนื้อหาน่าสนใจและมีข้อมูลที่ถูกต้อง พร้อมทั้งภาพประกอบสารคดีที่สวยงามดึงดูดใจ สำหรับเผยแพร่ในสื่อสิงพิมพ์และทางอินเตอร์เนต อย่างเว็บไซต์หรือบล็อกต่าง ๆ อันจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น โดยจัดอบรมภาคทฤษฎีในกรุงเทพฯ ๑ วัน ฝึกภาคปฏิบัติในต่างจังหวัดเป็นเวลา ๓ วัน ๒ คืน เพื่อเก็บข้อมูลเขียนสารคดีและภาพถ่ายประกอบนำเสนอ เมื่อผ่านการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตรรับรองจากอ.ส.ท.

        รุ่นแรกในปี ๒๕๕๓  นั้น แยกในส่วนนักเขียนและช่างภาพออกจากกัน จัดอบรมในต่างเวลาและต่างสถานที่ โดยกลุ่มผู้เข้าอบรมนักเขียนสารคดีเดินทางไปฝึกเก็บข้อมูลภาคสนามกันที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า และลำน้ำเข็ก จังหวัดพิษณุโลก ในขณะที่กลุ่มผู้เข้าอบรมช่างภาพ เดินทางไปฝึกถ่ายภาพภาคสนามกันที่อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว จังหวัดอุตรดิตถ์
        
        รุ่นที่ ๒ ในปี ๒๕๕๔ ทางอ.ส.ท.มีการปรับปรุงรูปแบบในการอบรมใหม่ จัดอบรมนักเขียนและช่างภาพร่วมกัน เพื่อให้ผู้ร่วมโครงการฯ ได้มีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานร่วมกันเหมือนในสถานการณ์จริง โดยในครั้งนี้ได้จัดให้ออกฝึกปฏิบัติงานภาคสนามที่จังหวัดสุโขทัย ซึ่งปรากฏว่าการฝึกร่วมกันอย่างเข้มข้นใกล้ชิดระหว่างผู้เข้าอบรมนักเขียนและช่างภาพได้ผลดี จนกระทั่งเกิดการรวมตัวกันก่อตั้งขึ้นเป็นเครือข่ายชุมชนบนเฟซบุ๊กในนามของกลุ่ม SEAL อ.ส.ท. ซึ่งเป็นตัวย่ออันมีที่มาจากคำในภาษาอังกฤษ S= Sukhothai E =Experience  A= Activity L=Learning  จัดกิจกรรมท่องเที่ยวถ่ายภาพพบปะสังสรรค์กันเองอย่างต่อเนื่อง


        
          หลังจากในปี ๒๕๕๕ อ.ส.ท.จำเป็นต้องเว้นการจัดอบรมไปหนึ่งครั้ง เนื่องจากถูกตัดงบประมาณ เพื่อนำไปใช้สมทบช่วยเหลือผู้ประสบมหาอุทกภัยปลายปี ๒๕๕๔  การอบรมครั้งนี้จึงถือเป็นรุ่นที่ ๓ โดยจัดอบรมภาคทฤษฎี ขึ้นในวันอาทิตย์ที่ ๗ กรกฏาคมที่ผ่านมา ณ  โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก หลังจากพิธีเปิดโดยบรรณาธิการบริหาร คุณปัญจมา มัณฑะจิตร ในช่วงเช้าเป็นการบรรยายรวม ปูพื้นฐานสารคดีท่องเที่ยวโดยคุณธีรภาพ โลหิตกุล นักเขียนเจ้าของรางวัลศรีบูรพา อดีตกองบรรณาธิการ อนุสาร อ.ส.ท.  จากนั้นในช่วงบ่ายจึงแบ่งเป็น ๒ ห้อง คือห้องนักเขียน ฟังบรรยายเรื่องการเก็บข้อมูลภาคสนามโดยคุณนิพัทธ์พร เพ็งแก้ว นักเขียนสารคดีมืออาชีพ ในขณะที่ห้องช่างภาพฟังบรรยายเทคนิคการถ่ายภาพท่องเที่ยว นำโดยบรรณาธิการ อ.ส.ท. คุณอภินันท์ บัวหภักดี  พร้อมช่างภาพมือฉมังของ อ.ส.ท.อย่าง คุณนพดล กันบัว คุณเกรียงไกร ไวยกิจ และคุณอดุลย์ ตัณฑโกศัย


            ส่วนการฝึกปฏิบัติภาคสนามที่จังหวัดเพชรบุรี เดินทางระหว่างวันที่ ๑๒-๑๔ กรกฎาคม ในวันแรกช่วงเช้าเริ่มต้นด้วยการเยี่ยมชมเก็บข้อมูลและถ่ายภาพในบริเวณพระราชนิเวศมฤคทายวัน  พระราชวังไม้สักทองทั้งหลังตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติของพรรณไม้ร่มรื่นและหาดทรายขาวนวลของอำเภอชะอำ ตามด้วยการฝึกการจัดแบบถ่ายภาพที่ถ้ำเขาหลวงในช่วงบ่าย ก่อนจะเปลี่ยนบรรยากาศมาเดินเก็บข้อมูลและถ่ายภาพกันบนเส้นทางเดินท่องเที่ยวชมวัดในเมืองเพชรบุรี ไล่เรียงจากผลงานปูนปั้นอันวิจิตรที่วัดมหาธาตุ  พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดพลับพลาชัย ปูนปั้นในโบสถ์สองห้องของวัดไผ่ล้อม ไปสิ้นสุดที่วัดใหญ่สุวรรณารามอันเป็นวัดเก่าแก่มีมีสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยางดงาม ทั้งอุโบสถ ศาลการเปรียญและหอไตรกลางน้ำ


วันที่สองครึ่งวันเช้าคณะผู้เข้าอบรมเดินทางไปขึ้นเคเบิลคาร์สู่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรีหรือ “เขาวัง” ฝึกปฏิบัติเก็บข้อมูลท่ามกลางความงดงามของสถาปัตยกรรมที่กระจายตัวเรียงรายอยู่ตามเส้นทางที่ลดเลี้ยวไปตามความสูงชันลดหลั่นของยอดเขาใต้ร่มเขาของต้นลั่นทมที่แผ่กิ่งก้านสาขาร่มครึ้ม ก่อนที่ในช่วงบ่ายจะเดินทางไปที่หมู่บ้านไทยพวนมาบปลาเค้า อำเภอท่ายาง ฝึกปฏิบัติการจัดถ่ายภาพชุดไทยพวนภายในบ้านที่จัดเตรียมไว้ รวมทั้งนอกสถานที่ท่ามกลางท้องทุ่งและทิวตาลในแสงสีทองของยามเย็น  โดยมื้อค่ำในวันนี้ผู้เข้าอบรมยังมีโอกาสร่วมมื้อเย็นพาแลงพื้นบ้านพร้อมชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมแบบไทยพวน ทั้งอิ่มท้องทั้งอิ่มตาอิ่มใจ
            




          วันสุดท้ายฝึกปฏิบัติเก็บข้อมูล ถ่ายภาพ กรรมวิธีการทำหลากหลายขนมหวานอันเลื่องชื่อของเมืองเพชรบุรีที่บ้านสงวนโพธิ์พระ ก่อนจะปิดท้ายรายการด้วยศิลปหัตถกรรมท้องถิ่นการปั้นปูนเมืองเพชรบุรีอันมีเอกลักษณ์อันโดดเด่นเฉพาะตัวที่บ้านอาจารย์ทองร่วง เอมโอษฐ์ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ ปี ๒๕๕๔ ชมขั้นตอนการทำปูนปั้นอย่างละเอียดที่ถ่ายทอดให้กับเยาวชนรุ่นหลังที่แวะเวียนเข้ามาทัศนศึกษาและทดลองการปั้นปูนด้วยตัวเอง

            หลังจากกลับจากภาคสนาม ๑ สัปดาห์เป็นช่วงเวลาสำหรับการสร้างสรรค์ผลงานสารคดีร่วมกันระหว่างผู้เข้าอบรมที่เป็นนักเขียนและช่างภาพที่ต่างบอกกันเป็นเสียงเดียวกันว่าเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว และหลังจากส่งงานให้วิทยากรตรวจแล้วในวันที่  ๒๘ กรกฎาคมก็ถึงเวลาประชุมร่วมกันอีกครั้งเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ผลงาน  ณ ห้องเพชรชมพู โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ ซึ่งผู้เข้าอบรมทุกคนต่างก็สร้างผลงานกันได้ดีเป็นที่พอใจของคณะวิทยากร ซึ่งเพื่อเป็นกำลังใจอนุสาร อ.ส.ท.ได้จัดประกวดผลงานกันในกลุ่มผู้เข้าอบรมด้วย


ผลปรากฏว่ารางวัลสารคดีท่องเที่ยวยอดเยี่ยม(เรื่องและภาพ) ได้แก่คุณปณต คูณสมบัติ นักเขียน และผศ.อัปสรสุดา ศิริพงศ์ ช่างภาพ จากสารคดีเรื่อง “ต้นตาลนำทางสู่ดินแดนแสนหวาน เพชรบุรี” โดยมีรางวัลงานเขียนยอดเยี่ยมได้แก่คุณพิชญา คงอุทัยกุล จากเรื่อง “ไปกะเลอ ไปเจอเพื่อนเหม่อเมืองเพชร”  และรางวัลภาพถ่ายยอดเยี่ยมได้แก่ คุณฐานะนันท์ สังข์นวล จากเรื่อง “รองเท้าเล่าเรื่อง” โดยผลงานรางวัลสารคดีท่องเที่ยวยอดเยี่ยมได้นำมาตีพิมพ์ลงในอนุสารอ.ส.ท. ฉบับเดือนกันยายนนี้ ด้วย  


  ชมภาพถ่าย วิดีโอคลิป บรรยากาศของการอบรมในโครงการฯ เพิ่มเติมได้ที่www.facebook.com/osotho