Thursday, May 18, 2017

"จากกระโจมไฟสู่การเดินเรือกรมเจ้าท่า" ๑๕๐ ปีศรีสุริยวงศ์


ภาคภูมิ น้อยวัฒน์ ...เรื่องและภาพ
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนมิถุนายน ๒๕๖๐

             เช้าตรู่ในวันฝนพรำ

            คณะทัศนศึกษา “จากกระโจมไฟสู่การเดินเรือกรมเจ้าท่า”  อันประกอบด้วยอาจารย์พลาดิศัย สิทธิธัญญกิจ อาจารย์สมปอง ดวงไสว และคณะสื่อมวลชนจากหลากหลายสาขา พากันขึ้นรถบัสขนาดใหญ่ออกจากมหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา มุ่งหน้าสู่สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค ๖ สมุทรปราการ ก่อนลงเรือตรวจการณ์ของกรมเจ้าท่า ออกเดินทางมุ่งหน้าสู่บริเวณสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยา

เพื่อตามหา “ประภาคารแห่งแรกของประเทศไทย”

          แนวคิดในการสร้างประภาคารดังกล่าวเกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังปรากฏบันทึกในประชุมพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ ความว่า “ในปีขาน โปรดให้พระยาเทพประชุนไปทำไลซเฮ้า คือเรือนตะเกียงที่หลังสันดร สำหรับเรือลูกค้าเปนที่หมายทางเข้าออก

 สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) 

                    สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ท่านศึกษาเรื่องการเดินเรือตามบรรพบุรุษที่ดูแลการค้าระหว่างประเทศและการเดินเรือมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาสืบเนื่องกันมา ท่านเองยังได้รับราชการดูแลกรมท่าและมาตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๒   เมื่อเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในรัชกาลที่ ๕ จึงได้สร้างประภาคารตามพระราชดำริในรัชกาลที่ ๔ ขึ้น เนื่องจากเห็นว่าในสมัยนั้นปากแม่น้ำเจ้าพระยามีเรือสินค้าเข้าออกเป็นจำนวนมาก อันเป็นผลจากการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ โดยใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวในการก่อสร้าง แล้วยกให้เป็นสมบัติของแผ่นดิน เรียกชื่อว่า Regent Lighthouse ดังมีรายละเอียดบันทึกไว้ว่า

“...ราคาเรือนตะเกียงที่พระสยามธุระพาห์กงสุลซื้อเข้ามานั้นเป็นราคา ๑๘๐ ชั่ง พร้อมทั้งเครื่องเรือนตะเกียงแลโคมด้วย เงินที่มาลงทุนทำการตั้งเรือนตะเกียงขึ้นนั้น อีกเงินค่าไม้และของใช้เบ็ดเสร็จ ๑๘ ชั่ง ๖ ตำลึง ๑๐ สลึง เงินค่าจ้างเรือจ้างคนบรรทุกศิลาไปถมราก ๑๐ ชั่ง เงินจ้างเรือโป๊ะเมื่อแก้เรือนโคมชุด ๑๕ ชั่ง เงินค่าจ้างช่างไม้ ๑ ชั่ง ๑๘ ตำลึง ๑๑ สลึง รวมเป็นเงิน ๒๒๕ ชั่ง ๕ ตำลึง ๕ สลึง เป็นเสร็จการ และเงินที่ลงทุนค่าเรือนตะเกียงทั้งหมดนี้ สมเด็จเจ้าพระยาฯ ท่านได้ออกเงินสร้างเป็นของ ๆ ท่าน สำหรับที่จะให้เรือราชการและเรือลูกค้าไปมาเป็นที่สังเกตในเวลากลางคืน และจะได้เป็นเกียรติยศแก่ปากน้ำเจ้าพระยาด้วย”


  ประภาคาร Regent Lighthouse สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๑๗

ในส่วนของลักษณะและที่ตั้งของตัวประภาคาร ปรากฏข้อมูลอยู่ที่ประกาศกรมท่า ในราชกิจจานุเบกษา ดังต่อไปนี้
"เรือนตะเกียงนั้นตั้งอยู่ข้างตะวันออกริมรั้วช้าง แลติจูต ๑๓ ดีกรี ๒๙ มินิศ ๒๖ เสกัน เหนือ นับข้างทิศตะวันออก ลอนยิศจุน ๑๐๐ ดีกรี ๓๕ มินิศ ๒๐ เสกัน ข้างไฟสันดอนอยู่ใกล้ทิศตะวันตกริมตลิ่งจะเลี้ยวมาทางตะวันออก เรือนตะเกียงนี้มีแสงสว่างรอบตัว สูงพ้นน้ำ ๔๔ ฟิต เรือไปมาจะเห็นแสงสว่างได้ทาง ๑๐ ไมล์ การที่ทำเรือนตะเกียงและการที่จัดเจ้าพนักงานพิทักษ์รักษาและจุดตะเกียงนั้น สมเด็จเจ้าพระยาฯ ได้มอบธุระให้ข้าพเจ้าเป็นผู้จัดการมาแต่แรกลงมือทำ เรือนตะเกียงนี้ได้ลงมือทำแต่เมื่อปีมะเมียโทศก จุลศักราช ๑๒๓๒ แล้วเสร็จในปีมะแม ตรีศก จุลศักราช ๑๒๓๓ การที่ช้าอยู่ ไม่ได้จุดตะเกียงนั้น เพราะเรือนตะเกียงซุด ต้องรื้อทำใหม่ถึง ๒ ครั้ง เพราะเป็นที่เลนอ่อน การที่ได้ทำครั้งหลัง ต้องทิ้งศิลาถมลงเป็นรากแล้ว จึงได้ตั้งเรือนตะเกียงได้ สังเกตดูมา ๑๐ เดือนแล้วก็เห็นว่าจะอยู่ได้ จึงได้ออกประกาศให้ทราบทั่วกัน ผู้ซึ่งจะเป็นพนักงานจุดตะเกียงนั้น มิสเตอร์ฝอดชาวเยอรมันได้รับธุระในการจุดตะเกียงและการที่จะรักษาเรือนตะเกียง...”


 นาวาโทกิตติพงษ์ พูลทองคำ เจ้าหน้าที่นำร่องชำนาญการ กรมเจ้าท่า ชี้ให้ดูตำแหน่งที่ตั้งประภาคาร

                 เมื่อเรือของคณะทัศนศึกษาไปถึงจุดหมายก็พบว่าปัจจุบันประภาคารดังกล่าวได้พังทลายไปจนไม่หลงเหลือร่องรอยใดให้เห็นแล้ว อย่างไรก็ตาม นาวาโทกิตติพงษ์ พูลทองคำ เจ้าหน้าที่นำร่องของกรมเจ้าท่าซึ่งมาเป็นวิทยากรให้กับคณะได้นำเรือไปยังทุ่นสีแดงหมายเลข ๑๔ แล้วชี้ให้ดูแนวจากทุ่นสีแดง ๑๔ ตั้งฉากกับแนวทุ่นไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ๒.๕ กิโลเมตร ว่าเป็นที่ตั้งของประภาคารในตำแหน่งเดิม คือที่ละติจูต ๑๓ องศา ๒๙ ลิปดา ๒๖ ฟิลิปดาเหนือ นับข้างทิศตะวันออกที่ลองติจูด ๑๐๐ องศา ๓๕ ลิปดา ๒๐ ฟิลิปดา

               เหตุที่ประภาคารแห่งแรกของไทยถูกทอดทิ้งจนพังทลายไปก็เนื่องมาจากในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ได้หันมาใช้เรือทุ่นไฟแทนที่ประภาคาร แต่ต่อมาพบว่าค่าใช้จ่ายสูงมาก จึงเลิกการใช้เรือทุ่นไฟในปี พ.ศ. ๒๔๗๙  กลับมาสร้างประภาคารแห่งใหม่ขึ้นห่างจากที่เดิม

 คณะทัศนศึกษาขึ้นเยี่ยมชมสถานีนำร่องและมอบของที่ระลึกให้กับวิทยากร

จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๒  กรมเจ้าท่าจึงได้สร้างสถานีนำร่องขึ้นที่สันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นอาคารคอนกรีต มีความสูง ๓๘ เมตร ส่งสัญญาณไฟแวบสีขาว ทุก ๆ ๑๐ วินาที โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เป็น สามารถมองเห็นได้ไกลถึง ๒๐ ไมล์ บนสถานีมีห้องพักอาศัยสำหรับพนักงานนำร่องที่มาเตรียมพร้อมปฏิบัติงาน คณะทัศนศึกษาได้แวะเยี่ยมชมสถานีนำร่อง ซึ่งของประเทศไทยของเราถือว่าเป็นสถานีนำร่องแห่งเดียวในโลกที่ตั้งอยู่กลางทะเลอีกด้วย

 เลนส์ตะเกียงของประภาคาร
 เรือนตะเกียงที่เก็บรักษาอยู่ภายในคลังของพิพิธภัณฑ์

 ล่องเรือกลับมายังฝั่ง เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ทหารเรือจังหวัดสมุทรปราการ สถานที่เก็บรักษาเรือนตะเกียงเลนส์นูนทำจากกระจก ที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์สั่งเข้ามาจากกรุงลอนดอน  พร้อมเครื่องตะเกียงที่จุดด้วยน้ำมัน  ซึ่งเมื่อจบการเดินทางในครั้งนี้ ทุกคนที่ร่วมในคณะเดินทางต่างก็เห็นว่าสมควรอย่างยิ่งที่จะได้มีการรื้อฟื้นประภาคารแห่งแรกของไทยเพื่อเป็นอนุสรณ์ให้กับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)  ซึ่งท่านมิได้พียงสร้างประภาคารหรือกระโจมไฟแห่งแรกขึ้นที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาเท่านั้น ยังได้วางรากฐานให้กับกรมเจ้าท่าในอดีต การจัดการทางเดินเรือนำร่องเข้าสู่พระนคร รวมไปถึงข้อกำหนดที่เป็นประโยชน์ต่อกิจการเดินเรือ การต่อเรือ อีกมากมายอันส่งผลต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน 

    กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ตามรอย ๑๕๐ ปีศรีสุริยวงศ์” ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาได้ประกาศให้ปี พ.ศ. ๒๕๕๗- ๒๕๖๑เป็นปีแห่งการเชิดชูเกียรติ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เพื่อเตรียมยื่นเสนอองค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก ประกาศให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ในวาระครบรอบ ๑๕๐ ปีการปฏิบัติราชการในตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน โดยจัดกิจกรรมเผยแพร่ผลงานของสมเด็จเจ้าพระยาฯตามวาระของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือนมาอย่างต่อเนื่อง


ผู้สนใจรายละเอียดของการเดินทางทัศนศึกษา “จากกระโจมไฟสู่การเดินเรือกรมเจ้าท่า”ในครั้งนี้  สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่แฟนเพจ www.facebook.com/osotho และwww.facebook.com/thaitimetraveller  ส่วนกิจกรรมทัศนศึกษาที่น่าสนใจในโครงการ “ตามรอย ๑๕๐ ปีศรีสุริยวงศ์” ที่จะมีขึ้นอีก ทางอนุสาร อ.ส.ท. จะได้ติดตามความเคลื่อนไหวมานำเสนอต่อไป