Monday, August 17, 2015

ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา แหล่งรวมความงดงามและความรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

 ทิวทัศน์เหนือขุนเขาบริเวณศูนย์ภูฟ้าพัฒนา

"จูมออน" รายงาน

ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๘

            เหนือยอดเขาสูงชันรายล้อมด้วยทิวเทือกดอยสลับซับซ้อนของอำเภอบ่อเกลือ  จังหวัดน่าน ยังมีสถานที่แห่งหนึ่งที่ผู้มาเยือนไม่ควรผ่านเลยไป

 ด้วยในพื้นที่ ๒,๓๗๖ ไร่ ของบ้านบ่อหลวง เป็นที่ตั้งของศูนย์ภูฟ้าพัฒนา 

เมื่อ ๒๐ปีก่อนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯเยี่ยมราษฎรและทอดพระเนตรบ่อเกลือสินเธาว์ ทรงเห็นสภาพความเป็นอยู่ของราษฎรที่ด้อยโอกาสทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม  จึงโปรดฯ ให้จัดตั้งศูนย์ภูฟ้าพัฒนาขึ้น เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๒  เพื่อใช้เป็นต้นแบบการพัฒนาและการถ่ายทอดความรู้ด้านการพัฒนาไปสู่ราษฎรในท้องที่อำเภอบ่อเกลือ และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ

 พระตำหนักภูฟ้า

ภายในบริเวณนอกจากมีทิวทัศน์อันงดงามด้วยมุมมองของทะเลภูเขาที่รายล้อม ไร่ชาอู่หลงที่ลดหลั่นเป็นแนวยาวสุดลูกหูลูกตา สวนหย่อมที่จัดเอาไว้อย่างงดงามด้วยสีสันของพรรณไม้เรียงรายตามลาดไหล่เขา บนยอดสูงสุดยังมีหมู่อาคารที่เป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีต่างๆ ให้แก่เด็ก เยาวชน เกษตร และประชาชนผู้สนใจทั่วไปที่มาเยี่ยมชม  

 ร้านค้าและสิ่งอำนวยความสะดวก

ไม่ว่าจะเป็นห้องนิทรรศการหมุนเวียน ห้องสมุดสำหรับค้นคว้าหาข้อมูล อาคารแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและชาอู่หลงพร้อมทั้งให้ทดลองชิม การปลูกพืชไร้ดินแบบไฮโดรโปนิกส์ เส้นทางศึกษาธรรมชาติให้เดินเที่ยว ศูนย์วัฒนธรรมภูฟ้า สวนธรรมภูฟ้า เป็นต้น ในส่วนร้านค้าสวัสดิการยังจัดจำหน่ายสินค้าของทางโครงการจากฝีมือชาวบ้าน อีกทั้งยังมีบริการห้องประชุม ห้องสัมมนา และที่พักให้เลือกหลายรูปแบบ

ไร่ชาอู่หลง
ห้องแปรรูปผลิตภัณฑ์

 ข้าวกล้อง หนึ่งในหลากหลายผลิตภัณฑ์

 งานหัตถกรรมฝีมือชาวบ้าน

              โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระตำหนักภูฟ้า ที่ประทับสำหรับสมเด็จพระเทพฯ เสด็จมาทรงงาน สถาปัตยกรรมงดงามเรียบง่ายเด่นบนไหล่เขา แวดล้อมด้วยสวนพรรณไม้หลากสีสัน ประดับประดาด้วยประติมากรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองน่าน อย่างการทำเกลือสินเธาว์ วิถีชีวิตพื้นบ้าน และแมงกว่าง ไว้ตามมุมเล็กมุมน้อย แวดล้อมด้วยทิวทัศน์ขุนเขาตระการตา ซึ่งในพื้นที่ของศูนย์ภูฟ้าพัฒนา ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยังได้เข้ามาดำเนินการปลูกป่าใช้สอย เพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่เข้าไปใช้ประโยชน์ได้

 ด้วงกว่างประดับสวนหย่อมในพระตำหนัก

 ประติมากรรมการทำเกลือสินเธาว์

 ประติมากรรมแสดงวิถีพื้นบ้านในสวนของตำหนัก
 สีสันไม้ดอกประดับสวน

           ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ซึ่งทรงมีพระประสงค์ให้ “คนอยู่ร่วมกับป่า ” ไม่ส่งผลต่อภาวะสมดุลตามธรรมชาติ ด้วยเป้าหมายสู่การพัฒนาแบบยั่งยืน ให้ราษฎรสามารถพึ่งพาตนเองได้ อันจะนำไปสู่ผลการพัฒนาประเทศโดยภาพรวม

            เพียงแวะเข้าไป ก็ได้อะไรต่อมิอะไรกลับออกมามากมาย ทั้งความประทับใจ ความรู้ รวมไปถึงของฝากติดไม้ติดมือ
 ขุนเขาและสายหมอกของอำเภอบ่อเกลือ

โครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี



ผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะเดินรณรงค์บันทึกภาพร่วมกันเป็นที่ระลึก

“จูมออน” ...รายงาน     
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๘              

          นายอุกริช  พึ่งโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม “เดินรณรงค์ปลูกต้นไม้สวยงาม” อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการปลูกป่า กฟผ. เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นการสนับสนุนวาระของจังหวัด“สร้างเมืองน่านน่าอยู่ คู่ป่าต้นน้ำ” เพื่อปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนเห็นความสำคัญของป่าไม้

 ผู้ว่าฯ กล่าวเปิดงาน

          ขบวนนำโดยนายสหรัฐ  บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการกิจการสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นายชัยรัตน์ ธาราสันติสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน พ.อ.รุศมนตรี จิณเสน รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน หัวหน้าส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ นักเรียน นิสิตนักศึกษา ประชาชนชาวน่าน และชมรมนักปั่นจักรยาน จำนวนกว่า ๘๐๐ คน  เริ่มต้นเดินจากข่วงเมืองน่านไปตามถนนในเขตเทศบาลเมือง มาสิ้นสุดที่ลานเอนกประสงค์เชิงสะพานพัฒนาภาคเหนือ อันเป็นสถานที่ประกอบพิธีเปิดงาน

 สาวงามในชุดพื้นเมืองน่านร่วมมาในขบวน

           กฟผ. ได้ดำเนินโครงการปลูกป่าร่วมกับหน่วยงานต่างๆ มาตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ จนถึงปัจจุบัน รวมพื้นที่ปลูกป่าทั่วประเทศกว่า ๔ แสนไร่ เฉพาะในจังหวัดน่านคิดเป็นพื้นที่กว่า ๙ หมื่นไร่   และในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมมายุครบ ๖๐ พรรษาในปีนี้  กฟผ. จึงได้จัดทำโครงการปลูกป่า กฟผ. เฉลิมพระเกียรติ ๖๐พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขึ้นระหว่างปี ๒๕๕๗-๒๕๕๘  โดยมีเป้าหมายปลูกป่าในพื้นที่จังหวัดน่านรวม ๑๙,๙๐๐ไร่  

 บรรณาธิการฝ่ายภาพ อนุสาร อ.ส.ท. แนะแนวทางสร้างผลงานให้กับเยาวชน

เหล่า Youth Bloggers รุ่นที่ ๑ 


 น.ส. นิตยา ใจปิง รับรางวัลจากผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน

            ในการนี้ทาง กฟผ.ยังได้ร่วมกับอนุสาร อ.ส.ท.จัดกิจกรรม Youth Bloggers โดยมีนายภาคภูมิ น้อยวัฒน์ บรรณาธิการฝ่ายภาพ อนุสาร อ.ส.ท. มาเป็นวิทยากร สอนการถ่ายภาพและเขียนสารคดีให้กับเยาวชนจากหลายโรงเรียนในพื้นที่อำเภอบ่อเกลือ เพื่อทำเป็นบล็อก ถ่ายทอดความงดงามของป่าไม้และแหล่งเที่ยวในเมืองน่านผ่านทางอินเทอร์เนต  โดยการประกวดผลงานภายใน นางสาวนิตยา ใจปิง ได้รับรางวัลภาพถ่ายดีเด่น เด็กหญิงปิยพร สารีคำ ได้รับรางวัลสร้างสรรค์ดีเด่น และเด็กหญิงศุภิสรา ภูฟ้าศิริกุล ได้รับรางวัลนำเสนอดีเด่น ได้รับเกียรติขึ้นรับมอบรางวัลกล้องถ่ายภาพพร้อมประกาศนียบัตรจากผู้ว่าราชการจังหวัดน่านบนเวทีด้วย


 ผลงานภาพถ่ายที่ได้รับรางวัลภาพถ่ายดีเด่น