Tuesday, December 24, 2013

อร่อยลิ้นกับรสชาติถิ่นกระทิงดุ...ที่เชียงราย


 สปาเกตตี้ผัดกับคอนบีฟเนื้อวัวต้มเกลือเคี่ยวใส่เครื่องเทศ

ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...ชวนชิมและชวนชม
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนธันวาคม ๒๕๕๖

“คาซ่า เด ตาป้าส์” เป็นภาษาสเปน แปลว่า “บ้านของอาหารแบบตาป้าส์” คุณชูฤกษ์ เกิดไพโรจน์ เจ้าของร้าน อธิบายความหมายของชื่อที่ฟังแปลกหู ก่อนเล่าถึงคำ“ตาป้าส์” ว่าเป็นคำเฉพาะใช้เรียกอาหารจานเล็กจานน้อยในแบบออเดิร์ฟ ที่ปิดคลุมมา โดยมีตำนานเล่าขานเกี่ยวกับความเป็นมาของ “ตาป้าส์” หลายเรื่อง

เรื่องหนึ่งเล่าไปถึงสมัยพระเจ้าอัลฟองโซที่ ๑๐ กษัตริย์สเปนซึ่งทรงพระประชวรเรื้อรัง ทำให้ทรงเบื่อพระกระยาหาร เสวยได้ทีละนิดหน่อย พ่อครัวต้นเครื่องจึงปรุงพระกระยาหารหลากหลาย อย่างละเล็กน้อยใส่จานเล็ก ๆ ถวายโดยใช้ผ้าปิดคลุม เป็นที่พอพระราชหฤทัย หลังจากนั้นพระองค์จึงมักจะรับสั่งกับมหาดเล็กว่าให้ไปนำอาหารที่มีผ้าปิด (ตาป้าส์) มาถวาย กลายเป็นชื่อเรียกอาหารประเภทนี้

อีกเรื่องหนึ่งเล่าว่าชาวสเปนชอบดื่มเชอรรี่ไวน์ ซึ่งมีกลิ่นหอมมาก จนแมลงชอบมาตอมและตกลงไปตาย เวลาเสิร์ฟจึงมักใช้จานเล็ก ๆ ปิดปากแก้วไวน์มา แล้วในจานก็ใส่บรรดาแฮม ไส้กรอก อาหารผัด มาเป็นกับแกล้มด้วย  จานที่ปิดปากแก้วไวน์เป็นที่มาของคำว่าเรียกตาป้าส์  
 
แต่ไม่ว่ามีที่มาอย่างไร ตาป้าส์ก็ถือเป็นวิถีวัฒนธรรมการกินของชาวสเปน ที่ในยามเย็นหลังเลิกงานจะนิยมพบปะสังสรรค์กันในร้านรวงริมทางก่อนกลับบ้าน ซึ่งทุกร้านจะมีอาหารตาป้าส์มาให้รองท้องระหว่างดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหลาย  ก่อนถึงอาหารหลักมื้อหนักในช่วงดึกประมาณ ๓-๔ ทุ่ม

คาซา เด ตาป้าส์  (Caza de tapaz) ให้บริการกับผู้ชื่นชอบรสชาติอาหารสเปนมาได้ปีกว่าแล้ว โดยประเดิมเปิดร้านเมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ปี ๒๕๕๕ โดยมีคุณจิตราพรรณ เกิดไพโรจน์ ภรรยาของคุณชูฤกษ์ เป็นเชฟมือหนึ่ง ซึ่งคุณจิตราพรรณมีประสบการณ์เปิดร้านอาหารไทยในอเมริกามากว่า ๔๐ ปี  ทั้งสองคิดเปิดร้านนี้ขึ้นเพราะหุ้นส่วนซึ่งเป็นเพื่อน ๆ กันเห็นว่าในเชียงรายไม่มีร้านอาหารประเภทนี้ นอกจากในโรงแรม จึงอยากให้ชาวเชียงรายและผู้ที่มาเยือนได้รู้จักและเอร็ดอร่อยกับรสชาติของอาหารสเปนและอาหารฝรั่งอื่น ๆ ที่ได้เรียนรู้มา

 ตัวอาคารของร้านล้อมรอบด้วยกระจกใสให้ความรู้สึกโปร่งสบาย

แน่นอนว่าเมนูหลักของร้านต้องเป็นอาหารสเปน อันดับแรกที่ทำความคุ้นเคยได้ง่ายสำหรับคนไทยคงต้องเป็นปาเอลญ่า ข้าวผัดสเปนที่ใช้ข้าวป่า (Wild rice) จากอินเดียนแดงในแคนาดา ผัดกับซีฟู้ดกุ้ง หอย และไก่ หมู จนเหลืองอร่ามน่าอร่อย ด้วยสีสันของส่วนผสม “หญ้าฝรั่น” อันหอมกรุ่น เข้มข้นครบรสเปรี้ยวหวานมันเค็ม

อีกเมนูที่ไม่ควรพลาด คือไส้กรอกและแฮมสเปนที่ได้ชื่อว่าดีที่สุดในโลก โคคัท ประกอบด้วยไส้กรอก ๓ ชนิด และแฮมสเปน ไส้กรอกชนิดแรกเรียกว่า”โลโม” เป็นไส้กรอกทำจากเนื้อหมูดำสายพันธุ์ปาตร้า เนกร้า จากเขตอิแบริโก้อันเลื่องชื่อของสเปน หมูจะกินลูกโอ๊กซึ่งมีสารเคมีบางอย่างทำให้เนื้อหมูมีกลิ่นหอมพิเศษ  ชนิดที่สองเรียกว่า “ซอริสโซ” เป็นไส้กรอกทำจากเนื้อและมันหมูใส่พริกสเปนคือพริกเคย์เอน กับพริกปาปริก้าป่นเป็นสีสันออกส้มแดง และชนิดที่สามเรียกว่า”นอจิญา”เป็นไส้กรอกเนื้อหมูผสมเลือดหมูและข้าวยัดไล้ปล่อยให้แห้งสีออกดำ ๆ  ส่วนแฮมสเปนทำจากขาหมูหมักกับเกลือและเครื่องเทศ ตากจนแห้งสนิท ทั้งหมดนี้หั่นเป็นชิ้นบาง ๆ วางเรียงรายกันมาในจานโรยด้วยชีส แนมด้วยแอปเปิ้ลเขียวฝานเป็นชิ้น ๆ บนขอบจาน

 ปาเอลญ่า ข้าวผัดสเปน  จานเด่นสำหรับผู้เริ่มต้นทำความรู้จักอาหารสเปน 

 โคคัท รวมมิตรไส้กรอกกับแฮมอันเลื่องชื่อจากเขตอิแบริโก้ของสเปน

ไม่เพียงอาหารสเปนเท่านั้น ในร้านยังมีเมนูอาหารฝรั่งอื่น ๆ ให้เลือกอีกหลายชนิดหลายชาติ  ที่เด่น ๆ ก็อย่างเช่น  ป๋วยโญ่ พีบิล ไก่ย่างเม็กซิกัน ใช้อกไก่หมักเครื่องเทศอาชิโยเต้ ย่างสุก แต่งหน้าด้วยหอมแดงหั่นเป็นแว่นบางๆ กินโดยราดน้ำจิ้ม แล้วห่อด้วย ”ตอติญา”แผ่นแป้งข้าวโพด หรือถ้าชอบอาหารอิตาลี ออสโซบุโก้ เนื้อต้นขาวัวหั่นคิดกระดูกเป็นชิ้น ๆ ตุ๋นกับไวน์แดงเสริฟพร้อมกับผักก็น่าสนใจ  แต่ถ้าชอบสไตล์อเมริกัน สเต็กเนื้อวัวที่ใช้เนื้ออย่างดี มีทั้งทั้งเนื้อวัวจากนิวซีแลนด์ เนื้อวัวไทยโคขุน ย่างอย่างดีก็เป็นอีกทางเลือก หรือหากที่ว่ามายังไม่ถูกใจ ยังมีให้เลือกอีกหลายสิบรายการในเมนูเล่มใหญ่

ป๋วยโญ่ บีบิล อกไก่หมักเครื่องเทศอาชิโยเต้  กินกับแผ่นแป้งข้าวโพดตอติญา 

 หอยแมลงภู่กาบดำนิวซีแลนด์ผัดซอสไวน์ขาว

 สำหรับนักชิมที่ชอบให้มีกลิ่นอายพื้นเมือง เมนูเด่นที่ดัดแปลงผสมผสานกับวัตถุดิบในท้องถิ่นเชียงราย ได้แก่ สปาเกตตี้เชียงราย ผัดสปาเกตตี้กับไส้อั่วดัดแปลงเป็นซอสให้รสชาติคุ้นลิ้นแบบพื้นเมือง สลัดผักเนื้อเป็ดย่างรมควัน กรุบกรอบผักสดจากจากแหล่งผักปลอดสารพิษในเชียงราย

ในส่วนของเครื่องดื่ม ทางร้านก็มีหลากหลายสัญชาติให้เลือกไม่แพ้กัน  ที่แนะนำคือแซงเกรีย เครื่องดื่มสเปนที่ใช้ไวน์แดงผสมกับบรั่นดีและน้ำผลไม้ เหมาะสำหรับการสังสรรค์  ยังมีค็อกเทลที่ขายดี ไดพิรินญา ทำจากเหล้าองุ่นของบราซิล  โมจิโต เดคาซา ของคิวบา และ บลูมาการิต้า ของเม็กซิโกนอกจากนั้นยังพรั่งพร้อมด้วยเบียร์นำเข้าชั้นเยี่ยมจากหลายประเทศเช่น เบียร์ไวเฮนสเตฟานเนอร์ จากเยอรมนี เบียร์โฮการ์เดนจากเบลเยียม เบียร์ฟุลเลอร์ส ลอนดอน จากอังกฤษ  รวมทั้งไวน์ชั้นดีอีกหลากหลายชนิดในตู้แช่  สำหรับผู้ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ก็มีน้ำเลมอนเนด จากอเมริกา กาแฟจากอิตาลี หรือน้ำอัดลมก็มีพร้อมบริการ

 บรรยากาศภายในร้าน ทันสมัยด้วยการตกแต่งและแสงไฟสีฟ้า

ไวน์ชั้นดีชื่อดังหลากหลายยี่ห้อเรียงรายรออยู่ในตู้แช่ 



คาซา เด ตาป้าส์ ตั้งอยู่เลขที่ ๑๔๕/๒ หมู่ ๑๓ ตำบลสันทราย อำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงราย โทรศัพท์ ๐๘ ๕๖๑๖ ๓๗๓๗  บริเวณสี่แยกแม่กรณ์ หลังเชียงรายโบวลิ่ง ใกล้กับร้านฮอม ศูนย์รวมของฝากเมืองเชียงราย  (๕๗๐๐๐ เชียงราย GPS) 


Friday, October 25, 2013

กล้าเที่ยวกลางฝน ท่องถนนสู่ “ศรีเทพ ศูนย์กลางความเจริญแห่งลุ่มน้ำป่าสัก”



ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...รายงาน
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท.  

แม้ผืนฟ้าในยามเช้าจะมืดครึ้ม โปรยปรายด้วยละอองฝนไม่ขาดสายจากอิทธิพลของพายุไต้ฝุ่นวินเซนเต  แต่กระนั้นก็ไม่อาจหยุดยั้งคณะเดินทางในโครงการสื่อมวลชนสัญจร “ศรีเทพ ศูนย์กลางความเจริญแห่งลุ่มน้ำป่าสัก” ที่จัดขึ้นโดยกรมศิลปากร ในระหว่างวันที่ ๒๕-๒๗ กรกฏาคม ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา รถบัสพาหนะคันใหญ่ฝ่าสายฝนและการจราจรอันสุดแสนจลาจล ออกจากหน้ากรมศิลปากร ถนนหน้าพระลาน กรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่จังหวัดเพชรบูรณ์ อย่างช้า ๆ แต่มุ่งมั่นและมีจุดหมาย นั่นคือการเดินทางเพื่อเรียนรู้

          อาจเพราะด้วยแรงอธิษฐานของวิทยากรประจำรถ ที่บรรยายไปพลาง สวดอ้อนวอนไปพลางตลอดทาง ทำให้เทพยดาฟ้าดินเห็นใจ ฝนจึงพลันขาดเม็ดลงแทบจะทันใดเมื่อเดินทางถึงอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ  คณะสื่อมวลชนเข้าฟังบรรยายสรุปจากคุณพงศ์ธันว์ สำเภาเงิน หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ก่อนเยี่ยมชมศูนย์บริการข้อมูลของอุทยานฯ ซึ่งภายในจัดแสดงนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับนครโบราณแห่งนี้ไว้อย่างสวยงาม น่าสนใจ เพราะเรียงลำดับไปตามยุคสมัย เข้าใจได้ง่าย  


จากนั้นจึงพากันนั่งรถรางไฟฟ้า ลอดแนวอุโมงค์ต้นไม้เขียวชอุ่ม ออกไปตระเวนชมโบราณสถานภายในอาณาบริเวณเมืองใน ได้แก่ ธรรมจักรศิลากับโบราณสถานเขาคลังใน พุทธสถานอันงดงามด้วยปูนปั้นรูปคนแคระแบก ซึ่งเป็นหลักฐานความเจริญสมัยทวารวดี ปรางค์สองพี่น้องและปรางค์ศรีเทพ อันเป็นร่องรอยสถาปัตยกรรมร่วมสมัยเขมรโบราณ ปิดท้ายรายการด้วยการออกไปเยี่ยมชมโบราณสถานนอกเขตเมือง ทางด้านทิศเหนือของเมือง ได้แก่ ปรางค์ฤาษี  ศาสนสถานแบบเขมรโบราณอันงดงามอีกแห่ง ซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางความร่มรื่นของแมกไม้ ในบริเวณวัดป่าสระแก้ว และอีกแห่งคือโบราณสถานเขาคลังนอก ฐานเจดีย์สมัยทวารวดีขนาดมหึมาที่โดยรอบประดับด้วยซุ้มปราสาทในรูปแบบศิลปะอินเดียแปลกตา

 โบราณสถานเขาคลังนอก

 ลายปูนปั้นเขาคลังใน อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ


ร่องรอยทั้งหมดทำให้เห็นถึงพัฒนาการของนครโบราณศรีเทพ ว่าเคยเป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ หรือประมาณ ๒,๐๐๐ ปีก่อน ดังปรากฏโครงกระดูก ๕ โครงในหลุมขุดค้นกลางศูนย์บริการข้อมูลฯ เป็นหลักฐานในยุคแรก ก่อนจะพัฒนาขึ้นเป็นชุมชนเมืองด้วยการรับอิทธิพลอารยธรรมเขมรโบราณจากอาณาจักรเจนละ ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ ดังปรากฏหลักฐานเป็นเทวรูปในยุคสมัยนี้อยู่หลายองค์  ส่วนในระยะที่ ๓ จะรับเอาความเจริญของวัฒนธรรมทวารวดีจากภาคกลางในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖ และเมื่อวัฒนธรรมทวารวดีเสื่อมลง เมืองศรีเทพก็หันไปรับเอาอิทธิพลอารยธรรมขอมโบราณสืบต่อมาในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ กระทั่งถึงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ จึงถูกทิ้งร้างไปโดยไม่ทราบสาเหตุ หลงเหลือเพียงร่องรอยความรุ่งเรืองทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา

 วัดมหาธาตุ เพชรบูรณ์

 คณะทัศนศึกษาของเราพักแรมที่จังหวัดเพชรบูรณ์ในคืนแรก เพื่อตระเวนชมโบราณสถานภายในตัวเมืองในวันรุ่งขึ้น โดยเริ่มจากวัดมหาธาตุ พระอารามหลวง ในอำเภอเมืองฯ อันเป็นที่ตั้งของเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แบบสุโขทัย สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. ๑๙๒๖ ซึ่งที่นี่ นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้เดินทางมาต้อนรับคณะสื่อมวลชนด้วย  ต่อจากนั้นจึงเดินทางต่อไปสักการะองค์พระพุทธมหาธรรมราชา พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองที่อัญเชิญในพิธีอุ้มพระดำน้ำของจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประจำทุกปีที่วัดไตรภูมิ อารามสมัยกรุงศรีอยุธยาใจกลางเมือง อายุประมาณ ๔๓๔ ปี รวมทั้งชมแนวป้อมกำแพงเมืองโบราณสมัยอยุธยา และศาลหลักเมืองเพชรบูรณ์

ช่วงบ่าย หลังจากแวะชมภาพจิตรกรรมเก่าแก่ฝีมือช่างงดงาม เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับทศชาติ บนผนังอุโบสถที่วัดศรีมงคล(วัดนาทราย) ในอำเภอหล่มเก่าเป็นรายการสุดท้ายของวันแล้ว คณะก็เดินทางบนถนนอันคดเคี้ยว ข้ามขุนเขาอันสลับซับซ้อน และสวยงามด้วยทิวทัศน์ทะเลหมอก เพื่อมาเข้าพักแรมที่จังหวัดพิจิตร

วัดโพธิ์ประทับช้าง

โบราณสถานในจังหวัดพิจิตรเองมีอยู่หลายแห่ง แม้ในวันรุ่งขึ้นสายฝนจะยังโปรยปราย ทว่าคณะสื่อมวลชนของเราก็ไม่ย่อท้อ คงมุ่งหน้าไปยังวัดโพธิ์ประทับช้าง ซึ่งมีประวัติว่าเป็นสถานที่ประสูติสมเด็จพระเจ้าเสือ ซึ่งประจักษ์พยานคือพระวิหารสูงใหญ่ สถาปัตยกรรมแบบอยุธยาตอนปลาย ล้อมรอบด้วยปรางค์ราย และแนวกำแพง๒ ชั้น  ก่อนจะมุ่งหน้าไป ชมอุโบสถเก่าที่เคยประดิษฐานหลวงพ่อเพชรที่วัดนครชุม แล้วเดินเท้าสบาย ๆ  ใต้ร่มเงาแมกไม้เขียวขจี เข้าไปภายในอุทยานเมืองเก่าพิจิตรที่อยู่ติด ๆ กัน   ชมวัดมหาธาตุ เมืองพิจิตรเก่า ซึ่งกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๘

คณะทัศนศึกษา อำลาเมืองชาละวันด้วยการสักการะหลวงพ่อเพชร พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองพิจิตร เดินทางฝ่าสายฝนกลับสู่กรุงเทพมหานคร พร้อมกับความประทับใจจากการได้พบได้เห็นเรื่องราวจากอดีตกาล ผ่านร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดี ซึ่งทั่วเมืองไทยยังมีอยู่อีกมากมายที่รอคอยให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปเรียนรู้ เพื่อความภาคภูมิใจในความเป็นมาของชาติ


สนใจสอบถามข้อมูลแหล่งโบราณคดีและโบราณสถานสำคัญในลุ่มน้ำป่าสักได้ที่ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร โทรศัพท์ ๐ ๒๒๒๔ ๒๐๕๐ และ ๐ ๒๒๒๔ ๔๗๐๒  ชมภาพถ่ายและวีดิทัศน์การเดินทางได้ที่ www.facebook.com/osotho


เปิดตัวอุทยานธรณีแห่งแรกของประเทศไทย “ผาชัน-สามพันโบก”

 ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...รายงาน



อุทยานธรณี หมายถึงพื้นที่ซึ่งประกอบไปด้วยแหล่งอันมีความโดดเด่นอย่างสำคัญทางด้านธรณีวิทยา รวมถึงแหล่งที่มีคุณค่าทางด้านโบราณคดี นิเวศวิทยา และวัฒนธรรม ที่อยู่ในพื้นที่นั้น ๆ  ทั้งที่อยู่บนบกและในทะเล  ซึ่งองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโกได้กำหนดขึ้น  

ปัจจุบันมีอุทยานธรณีของโลกกระจายอยู่ ๙๐ แห่งใน ๒๗ ประเทศทั่วโลก โดยอยู่ในพื้นที่ของสาธารณรัฐประชาชนจีนถึง ๒๗ แห่ง ในขณะที่ในกลุ่มประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน เพิ่งจะมีแหล่งที่ได้รับการรับรองจากยูเนสโกให้เป็นอุทยานธรณีอยู่แค่เพียง ๓ แห่งด้วยกัน คือเกาะลังกาวี สหพันธรัฐมาเลเซีย อ่าวฮาลอง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และเกาะบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย

ในส่วนของประเทศไทย แนวความคิดในการจัดตั้งอุทยานธรณีเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ โดยกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกับหน่วยงานในท้องถิ่นทั่วประเทศ สำรวจ ศึกษาวิจัย และประเมินคุณค่าแหล่งธรณีวิทยาที่มีความโดดเด่นในแต่ละท้องถิ่น โดยใช้เกณฑ์พิจารณาจากองค์ประกอบด้านต่าง ๆ ตามที่ยูเนสโกกำหนด เสนอต่อคณะกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ และศิลปกรรม เพื่อคัดเลือกเป็นพื้นที่จัดตั้งอุทยานธรณี  เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้ว จึงนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อมีมติกำหนดให้เป็นอุทยานธรณีระดับจังหวัดหรือระดับประเทศ


ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรนอกสถานที่ จังหวัดสุรินทร์ ได้มีมติเห็นชอบในหลักการ ให้จัดตั้งอุทยานธรณีผาชัน-สามพันโบก จังหวัดอุบลราชธานี เป็นอุทยานธรณีแห่งแรกของประเทศไทย

อุทยานธรณีผาชัน-สามพันโบกครอบคลุมพื้นที่ใน ๓ อำเภอได้แก่ อำเภอศรีเมืองใหม่ อำเภอโพธิ์ไทร และอำเภอโขงเจียม ของจังหวัดอุบลราชธานี อันตลอดแนวเลียบลำน้ำโขง ปรากฏแหล่งภูมิทัศน์ทางธรรมชาติที่ก่อเกิดจากการสะสมตัวของตะกอนแม่น้ำประมาณ ๑๐๐ ถึง ๑๓๐ ล้านปี ผ่านการกัดกร่อนของสายน้ำและลมฟ้าอากาศ  ในอาณาบริเวณยังมีแหล่งอนุรักษ์สำคัญอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ วนอุทยานน้ำตกผาหลวง ผาชัน สามพันโบก สามหมื่นรู ถ้ำปาฏิหาริย์ ถ้ำมืด อุทยานแห่งชาติผาแต้ม 

การประกาศเป็นอุทยานธรณีนี้เป็นเพียงในนาม ไม่มีผลในด้านการบริหารพื้นที่ โดยเฉพาะบางส่วนซึ่งคาบเกี่ยวอยู่ในความรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติผาแต้มและอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพรรณพืช  เนื่องจากกรณีพื้นที่ใดอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของส่วนราชการใด ส่วนราชการนั้นยังคงเป็นผู้ดูแลจัดการเช่นเดิม ส่วนในพื้นที่ซึ่งไม่มีผู้ดูแล คณะทำงานจัดตั้งอุทยานธรณีจังหวัดจะเป็นผู้ดูแล

นอกจากอุทยานธรณีผาชัน-สามพันโบก จังหวัดอุบลราชธานี  ยังมีพื้นที่เตรียมจัดตั้งเป็นอุทยานธรณีในอีก ๓ จังหวัดนำร่อง ได้แก่ อุทยานธรณีจังหวัดขอนแก่น  อุทยานธรณีจังหวัดเลย และ อุทยานธรณีละงู-ทุ่งหว้า-มะนัง จังหวัดสตูล ซึ่งจากการสำรวจของกรมทรัพยากรธรณี พบว่าทั่วประเทศไทยมีแหล่งธรณีวิทยาที่มีความโดดเด่นอยู่ทั้งหมดมากกว่า ๘๐๐ แห่ง อยู่ในระหว่างการสำรวจและประเมินแหล่งอนุรักษ์ในพื้นที่ เตรียมขอขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานธรณีและนำเสนอให้ยูเนสโกพิจารณารับรองในลำดับต่อ ๆ ไปประมาณ ๒๒ แห่ง


ในการเปิดตัว ผาชัน-สามพันโบก อุทยานธรณีแห่งแรกของประเทศไทย กรมทรัพยากรธรณี ได้จัดกิจกรรม “สื่อมวลชนสัญจร แหล่งอนุรักษ์ทางธรรมชาติทางธรณีวิทยาและแหล่งซากดึกดำบรรพ์” ในเส้นทางอุบลราชธานี –ผาชัน-สามพันโบก-ขอนแก่น ขึ้นเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

การเดินทางครั้งนี้ได้นำสื่อมวลชนล่องเรือลำน้ำโขง ทัศนศึกษาเกาะแก่งบริเวณสามพันโบก ฟังการเสวนาเรื่อง “การจัดตั้งอุทยานธรณีของประเทศไทย หนึ่งในโอกาสเตรียมพร้อมรับ AEC”  ชมเสาเฉลียงบ้านผาชัน  จังหวัดอุบลราชธานี ก่อนเดินทางไปเยี่ยมชมซากดึกดำบรรพ์ที่พิพิธภัณฑ์สิรินธร  พิพิธภัณฑ์ทางธรณีวิทยาที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  และศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ หลุมขุดค้นซากดึกดำบรรพ์กระดูกไดโนเสาร์แห่งแรกของประเทศไทย ที่อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น  เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องอุทยานธรณีวิทยาสู่ประชาชน ผ่านทางสื่อมวลชนจากหลากหลายสาขา


การจัดตั้งอุทยานธรณีถือเป็นมิติใหม่ของการอนุรักษ์ธรรมชาติในส่วนของแหล่งธรณีวิทยา  ในอีกมุมหนึ่งยังเป็นการส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยว อันจะช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้คนและชุมชนในท้องถิ่นที่อุทยานธรณีตั้งอยู่ได้เป็นอย่างดี เพียงแต่จะต้องมีการทำความเข้าใจกับชุมชนและนักท่องเที่ยวผู้มาเยือนให้เห็นถึงคุณค่า เพื่อที่จะได้ช่วยกันดูแลรักษาความงดงามอันน่าตื่นตาตามธรรมชาติให้ยั่งยืนสืบต่อไป

หมายเหตุ สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานธรณีเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กรมทรัพยากรธรณี โทรศัพท์ ๐ ๒๖๒๑ ๙๕๐๐  โทรสาร ๐ ๒๖๒๑ ๙๖๐๒ 

Friday, September 6, 2013

โครงการอบรมนักเขียนและช่างภาพสารคดีท่องเที่ยว อ.ส.ท. ประจำปี ๒๕๕๖

ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...รายงาน เพชร แก้วเขียว เสาวนีย์ สมบูรณ์...ภาพ
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน อนุสาร อ.ส.ท. ปีที่ ๕๔ ฉบับที่ ๒ เดือนกันยายน ๒๕๕๖


สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีอีกครั้งสำหรับโครงการอบรมนักเขียนและช่างภาพสารคดีของอนุสาร อ.ส.ท.  ประจำปี ๒๕๕๖    

อนุสาร อ.ส.ท. จัดให้มีโครงการอบรมนักเขียนและช่างภาพสารคดีสำหรับบุคลภายนอกที่สนใจ ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี ๒๔๕๓ ในวาระครบรอบ ๕๐ ปี อนุสาร อ.ส.ท. เพื่อสร้างนักเขียนและช่างภาพสารคดีท่องเที่ยวมาตรฐาน  ส่งเสริมการสร้างสรรค์สารคดีท่องเที่ยวให้มีเนื้อหาน่าสนใจและมีข้อมูลที่ถูกต้อง พร้อมทั้งภาพประกอบสารคดีที่สวยงามดึงดูดใจ สำหรับเผยแพร่ในสื่อสิงพิมพ์และทางอินเตอร์เนต อย่างเว็บไซต์หรือบล็อกต่าง ๆ อันจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น โดยจัดอบรมภาคทฤษฎีในกรุงเทพฯ ๑ วัน ฝึกภาคปฏิบัติในต่างจังหวัดเป็นเวลา ๓ วัน ๒ คืน เพื่อเก็บข้อมูลเขียนสารคดีและภาพถ่ายประกอบนำเสนอ เมื่อผ่านการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตรรับรองจากอ.ส.ท.

        รุ่นแรกในปี ๒๕๕๓  นั้น แยกในส่วนนักเขียนและช่างภาพออกจากกัน จัดอบรมในต่างเวลาและต่างสถานที่ โดยกลุ่มผู้เข้าอบรมนักเขียนสารคดีเดินทางไปฝึกเก็บข้อมูลภาคสนามกันที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า และลำน้ำเข็ก จังหวัดพิษณุโลก ในขณะที่กลุ่มผู้เข้าอบรมช่างภาพ เดินทางไปฝึกถ่ายภาพภาคสนามกันที่อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว จังหวัดอุตรดิตถ์
        
        รุ่นที่ ๒ ในปี ๒๕๕๔ ทางอ.ส.ท.มีการปรับปรุงรูปแบบในการอบรมใหม่ จัดอบรมนักเขียนและช่างภาพร่วมกัน เพื่อให้ผู้ร่วมโครงการฯ ได้มีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานร่วมกันเหมือนในสถานการณ์จริง โดยในครั้งนี้ได้จัดให้ออกฝึกปฏิบัติงานภาคสนามที่จังหวัดสุโขทัย ซึ่งปรากฏว่าการฝึกร่วมกันอย่างเข้มข้นใกล้ชิดระหว่างผู้เข้าอบรมนักเขียนและช่างภาพได้ผลดี จนกระทั่งเกิดการรวมตัวกันก่อตั้งขึ้นเป็นเครือข่ายชุมชนบนเฟซบุ๊กในนามของกลุ่ม SEAL อ.ส.ท. ซึ่งเป็นตัวย่ออันมีที่มาจากคำในภาษาอังกฤษ S= Sukhothai E =Experience  A= Activity L=Learning  จัดกิจกรรมท่องเที่ยวถ่ายภาพพบปะสังสรรค์กันเองอย่างต่อเนื่อง


        
          หลังจากในปี ๒๕๕๕ อ.ส.ท.จำเป็นต้องเว้นการจัดอบรมไปหนึ่งครั้ง เนื่องจากถูกตัดงบประมาณ เพื่อนำไปใช้สมทบช่วยเหลือผู้ประสบมหาอุทกภัยปลายปี ๒๕๕๔  การอบรมครั้งนี้จึงถือเป็นรุ่นที่ ๓ โดยจัดอบรมภาคทฤษฎี ขึ้นในวันอาทิตย์ที่ ๗ กรกฏาคมที่ผ่านมา ณ  โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก หลังจากพิธีเปิดโดยบรรณาธิการบริหาร คุณปัญจมา มัณฑะจิตร ในช่วงเช้าเป็นการบรรยายรวม ปูพื้นฐานสารคดีท่องเที่ยวโดยคุณธีรภาพ โลหิตกุล นักเขียนเจ้าของรางวัลศรีบูรพา อดีตกองบรรณาธิการ อนุสาร อ.ส.ท.  จากนั้นในช่วงบ่ายจึงแบ่งเป็น ๒ ห้อง คือห้องนักเขียน ฟังบรรยายเรื่องการเก็บข้อมูลภาคสนามโดยคุณนิพัทธ์พร เพ็งแก้ว นักเขียนสารคดีมืออาชีพ ในขณะที่ห้องช่างภาพฟังบรรยายเทคนิคการถ่ายภาพท่องเที่ยว นำโดยบรรณาธิการ อ.ส.ท. คุณอภินันท์ บัวหภักดี  พร้อมช่างภาพมือฉมังของ อ.ส.ท.อย่าง คุณนพดล กันบัว คุณเกรียงไกร ไวยกิจ และคุณอดุลย์ ตัณฑโกศัย


            ส่วนการฝึกปฏิบัติภาคสนามที่จังหวัดเพชรบุรี เดินทางระหว่างวันที่ ๑๒-๑๔ กรกฎาคม ในวันแรกช่วงเช้าเริ่มต้นด้วยการเยี่ยมชมเก็บข้อมูลและถ่ายภาพในบริเวณพระราชนิเวศมฤคทายวัน  พระราชวังไม้สักทองทั้งหลังตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติของพรรณไม้ร่มรื่นและหาดทรายขาวนวลของอำเภอชะอำ ตามด้วยการฝึกการจัดแบบถ่ายภาพที่ถ้ำเขาหลวงในช่วงบ่าย ก่อนจะเปลี่ยนบรรยากาศมาเดินเก็บข้อมูลและถ่ายภาพกันบนเส้นทางเดินท่องเที่ยวชมวัดในเมืองเพชรบุรี ไล่เรียงจากผลงานปูนปั้นอันวิจิตรที่วัดมหาธาตุ  พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดพลับพลาชัย ปูนปั้นในโบสถ์สองห้องของวัดไผ่ล้อม ไปสิ้นสุดที่วัดใหญ่สุวรรณารามอันเป็นวัดเก่าแก่มีมีสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยางดงาม ทั้งอุโบสถ ศาลการเปรียญและหอไตรกลางน้ำ


วันที่สองครึ่งวันเช้าคณะผู้เข้าอบรมเดินทางไปขึ้นเคเบิลคาร์สู่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรีหรือ “เขาวัง” ฝึกปฏิบัติเก็บข้อมูลท่ามกลางความงดงามของสถาปัตยกรรมที่กระจายตัวเรียงรายอยู่ตามเส้นทางที่ลดเลี้ยวไปตามความสูงชันลดหลั่นของยอดเขาใต้ร่มเขาของต้นลั่นทมที่แผ่กิ่งก้านสาขาร่มครึ้ม ก่อนที่ในช่วงบ่ายจะเดินทางไปที่หมู่บ้านไทยพวนมาบปลาเค้า อำเภอท่ายาง ฝึกปฏิบัติการจัดถ่ายภาพชุดไทยพวนภายในบ้านที่จัดเตรียมไว้ รวมทั้งนอกสถานที่ท่ามกลางท้องทุ่งและทิวตาลในแสงสีทองของยามเย็น  โดยมื้อค่ำในวันนี้ผู้เข้าอบรมยังมีโอกาสร่วมมื้อเย็นพาแลงพื้นบ้านพร้อมชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมแบบไทยพวน ทั้งอิ่มท้องทั้งอิ่มตาอิ่มใจ
            




          วันสุดท้ายฝึกปฏิบัติเก็บข้อมูล ถ่ายภาพ กรรมวิธีการทำหลากหลายขนมหวานอันเลื่องชื่อของเมืองเพชรบุรีที่บ้านสงวนโพธิ์พระ ก่อนจะปิดท้ายรายการด้วยศิลปหัตถกรรมท้องถิ่นการปั้นปูนเมืองเพชรบุรีอันมีเอกลักษณ์อันโดดเด่นเฉพาะตัวที่บ้านอาจารย์ทองร่วง เอมโอษฐ์ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ ปี ๒๕๕๔ ชมขั้นตอนการทำปูนปั้นอย่างละเอียดที่ถ่ายทอดให้กับเยาวชนรุ่นหลังที่แวะเวียนเข้ามาทัศนศึกษาและทดลองการปั้นปูนด้วยตัวเอง

            หลังจากกลับจากภาคสนาม ๑ สัปดาห์เป็นช่วงเวลาสำหรับการสร้างสรรค์ผลงานสารคดีร่วมกันระหว่างผู้เข้าอบรมที่เป็นนักเขียนและช่างภาพที่ต่างบอกกันเป็นเสียงเดียวกันว่าเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว และหลังจากส่งงานให้วิทยากรตรวจแล้วในวันที่  ๒๘ กรกฎาคมก็ถึงเวลาประชุมร่วมกันอีกครั้งเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ผลงาน  ณ ห้องเพชรชมพู โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ ซึ่งผู้เข้าอบรมทุกคนต่างก็สร้างผลงานกันได้ดีเป็นที่พอใจของคณะวิทยากร ซึ่งเพื่อเป็นกำลังใจอนุสาร อ.ส.ท.ได้จัดประกวดผลงานกันในกลุ่มผู้เข้าอบรมด้วย


ผลปรากฏว่ารางวัลสารคดีท่องเที่ยวยอดเยี่ยม(เรื่องและภาพ) ได้แก่คุณปณต คูณสมบัติ นักเขียน และผศ.อัปสรสุดา ศิริพงศ์ ช่างภาพ จากสารคดีเรื่อง “ต้นตาลนำทางสู่ดินแดนแสนหวาน เพชรบุรี” โดยมีรางวัลงานเขียนยอดเยี่ยมได้แก่คุณพิชญา คงอุทัยกุล จากเรื่อง “ไปกะเลอ ไปเจอเพื่อนเหม่อเมืองเพชร”  และรางวัลภาพถ่ายยอดเยี่ยมได้แก่ คุณฐานะนันท์ สังข์นวล จากเรื่อง “รองเท้าเล่าเรื่อง” โดยผลงานรางวัลสารคดีท่องเที่ยวยอดเยี่ยมได้นำมาตีพิมพ์ลงในอนุสารอ.ส.ท. ฉบับเดือนกันยายนนี้ ด้วย  


  ชมภาพถ่าย วิดีโอคลิป บรรยากาศของการอบรมในโครงการฯ เพิ่มเติมได้ที่www.facebook.com/osotho