Tuesday, December 18, 2018

เก็บเล็กประสมน้อย ตามรอยทวารวดี

 พระพุทธไสยาสน์หินทราย สมัยทวารวดี ที่เมืองเสมา นครราชสีมา


ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ

            เมฆฝนสีดำมืดแผ่เงาทะมึนเหนือผืนฟ้า พร้อมส่งเสียงคำรามดังลั่นครั่นครื้นมาแต่ไกล ขณะพาหนะคันไม่เล็กไม่ใหญ่ที่บรรทุกผมและเพื่อนร่วมทางกำลังควบปุเลง ๆ ไปตามทางหลวงหมายเลข ๑๒  เลียบเทือกเขาภูเวียงที่ทอดตัวยาวอยู่ทางขวามือไปเรื่อย 

            ภาพทิวเขายาวเหยียดถูกครอบคลุมด้วยมวลเมฆมืดหม่น ทำให้ผมอดไม่ได้ที่จะต้องถอนหายใจออกมาเฮือกใหญ่ เพราะจุดหมายของผมในวันนี้ อยู่ที่หน้าผาสูงบนยอดภูเวียงโน่น  ชะเง้อมองไปก็เห็นว่าอยู่ทั้งสูงทั้งไกลลิบลับเลยทีเดียว หนทางขึ้นน่าจะวิบากไม่ใช่เล่น  ต้องตะเกียกตะกายเดินเท้าขึ้นเขาไปตามทางดินรกชัฏ ไม่มีบันไดให้เดินขึ้นสบาย ๆ เสียด้วย ถ้าฝนเทโครมลงมาละก็ ไม่อยากจะคิดสงสารตัวเอง เลยจริง ๆ ครับ 
  
 แน่นอนละ ถ้าไม่มีอะไรสำคัญ ผมก็คงไม่คิดจะบุกบั่นขึ้นไปให้เป็นการทรมานสังขารอันเริ่มจะสะอวบสะอ้วน (ไม่ค่อยจะสะโอดสะอง) เล่น ๆ เป็นแน่  แต่บังเอิญรู้มาว่าข้างบนนั้นมีพระพุทธไสยาสน์ศิลปะสมัยทวารวดี  จำหลักไว้บนหน้าผา ขนาดความยาวขององค์พระถึง ๓ เมตร งานนี้ก็เลยต้องขอกัดฟันลุยกันหน่อย

            โธ่ ไม่ใช่ว่ามีโอกาสกันบ่อย ๆ นี่ครับ ที่ผมจะมีโอกาสได้มาเที่ยวชมศิลปกรรมทวารวดีแบบเฉพาะกิจอย่างนี้  ส่วนใหญ่แล้วมักจะมีบุญได้ดูได้ชมเป็นแค่ของแถมเสียมากกว่า ด้วยความที่ขอบเขตของวัฒนธรรมทวารวดีนั้นกว้างใหญ่ไพศาล ว่ากันตั้งแต่ภาคกลาง ภาคอีสาน ไปจนภาคเหนือ แม้กระทั่งภาคใต้ก็ยังมี กระจัดกระจายอยู่มากมายหลายจังหวัด ชนิดที่ดูชมกันไม่หวาดไม่ไหว จนแล้วจนรอดผมก็เลยไม่เคยได้เที่ยวชมทวารวดีกันอย่างเป็นกิจลักษณะสักที ทั้งที่จะว่าไปแล้วศิลปกรรมทวารวดีนั้นน่ะ จัดอยู่ในอันดับต้น ๆ ของศิลปกรรมที่ผมชื่นชอบมาตั้งแต่สมัยยังเด็กโน่นเลยเชียวละครับ

นับแต่จำความได้ สมัยเรียนชั้นประถมผมก็ชอบอ่านหนังสือจำพวกแหล่งอารยธรรมโบราณเสียแล้ว แต่ไม่ใช่ว่าจะอ่านรู้เรื่องลึกซึ้งพิสดารอะไรหรอก  ชอบดูภาพของเมืองโบราณที่มีรูปปั้นหน้าตาพิลึกกึกกือ   อาคารรูปร่างแปลกประหลาด  เป็นต้นว่านครเทโฮทิฮัวกันในเม็กซิโก เมืองติกาลของชาวมายาในกัวเตมาลา หรือปิรามิดของชาวอียิปต์โบราณ  อะไรต่อมิอะไรประมาณนี้นั่นแหละเป็นหลัก เพราะดูแล้วได้บรรยากาศขรึมขลังคร่ำคร่าชอบกลดี  ยังเคยนึกอยากให้เมืองไทยเรามีเมืองโบราณอายุเป็นพันปีแบบนี้กับเขาบ้าง จะได้ไปเที่ยวดูของจริงได้  ก็ที่เห็น ๆ ในหนังสือน่ะ แต่ละแห่งล้วนแต่ไกลลิบโลกทั้งนั้น

 จนมาวันหนึ่งผมถึงเจอของดีเข้าให้ครับ เมื่อแอบไปซน รื้อค้นหนังสือในตู้ของคุณพ่อออกมาดู  ส่วนใหญ่ก็เป็นหนังสือประเภทประวัติศาสตร์ โบราณคดี นี่แหละ แล้วก็พบว่าในหนังสือหลายเล่มมีภาพของฐานเจดีย์มหึมา ที่สายตาของเด็กอย่างผมในตอนนั้นเห็นไปว่าหน้าตาคล้าย ๆ  ปิรามิด รวมทั้งยังมีรูปปั้นหน้าตาแปลกประหลาดเต็มไปหมด คล้ายกับรูปปั้นของบรรดาอารยธรรมโบราณในทวีปอเมริกาใต้ที่ผมเคยผ่านตาจากในหนังสือ เห็นปุ๊บก็ถูกใจปั๊บเชียวละครับ  รีบดูคำบรรยายภาพ ก็ปรากฏว่าเป็นของที่อยู่ในประเทศไทยล้วน ๆ  อ่านรายละเอียดต่อไปก็ได้ความว่าภาพที่เห็นน่ะเป็นโบราณสถาน โบราณวัตถุสมัยทวารวดี  อายุอานามก็นับได้พันปีกับเขาเหมือนกัน

เป็นอันว่าตกหลุมรักแบบแรกพบเลยครับทีนี้  คำว่า ทวารวดีเข้าไปปักป้ายจองอยู่กลางหัวใจของผมนับแต่นั้นเป็นต้นมา แต่แรก ๆ ก็ชอบไปตามประสาเด็ก เจอเรื่องทวารวดีในหนังสือเล่มไหนก็อาศัยดูแต่ภาพ เอาบรรยากาศโบราณพอครึ้มอกครึ้มใจ ส่วนเนื้อหาจะเป็นอย่างไรไม่ค่อยจะกระดิกหรอก เพราะหนังสือเกี่ยวกับทวารวดีโดยมากใช้ภาษาวิชาการซับซ้อนเหลือหลาย อ่านเมื่อใดก็เป็นได้หลับเมื่อนั้น (อานุภาพร้ายแรงมาก )
จนเมื่อได้มาเลือกเรียนวิชาเอกประวัติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยแล้วนั่นแหละครับ  ผมถึงได้เริ่มมารู้จักทวารวดีอย่างจริงจังขึ้นมาอีกหน่อย แล้วก็ต้องทึ่งเมื่อมารู้ว่ายุคสมัยซึ่งเรียกขานกันว่า ทวารวดีที่ผมคลั่งใคล้นักหนา น่ะไม่ใช่ธรรมดา แต่ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญชนิด หัวเลี้ยวหัวต่อ  เป็นจุดเริ่มต้นของยุคประวัติศาสตร์ไทยเลยทีเดียว    

๑.  

 ชื่อ ทวารวดี ในภาษาสันสกฤตที่มาจากคำว่า ทวารกะอันหมายถึงปากประตู  ก็ดูเหมือนจะบอกใบ้อยู่เป็นนัย ๆ อยู่แล้วว่าวัฒนธรรมทวารวดี เกิดจากการที่เป็นเมืองท่าประตูการค้าขาย หรือจะให้ทันสมัยอย่างที่เขานิยมกันในตอนนี้ ก็ต้องเรียกว่าเป็น Gateway City   ( ฟังแล้วโก้ดีไม่เบาเหมือนกัน)

                 จากชุมชนเกษตรกรรมแบบพื้นเมืองแต่เดิมที่นับถือผีสางนางไม้  พอมาเริ่มค้าขายกับชาวอินเดีย ก็ค่อย ๆ รับเอาอารยธรรม ความเชื่อทางศาสนา รวมทั้งการเมืองการปกครองเข้ามา กลายเป็นชุมชนเมืองที่มีกษัตริย์ มีแบบแผนการสร้างเมืองโดยมีคูน้ำคันดินล้อมรอบ 

                แต่ที่ถือเป็นก้าวสำคัญ ก็คือรับเอาตัวอักษรจากอินเดียมาใช้ในการบันทึกเรื่องราว ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นยุคประวัติศาสตร์ของไทย 

ความ “เจ๋ง” ของทวารวดี อยู่ตรงที่ถึงแม้จะรับเอาอารยธรรมอินเดียเข้ามา ก็ไม่ใช่หลับหูหลับตารับมาแบบลุ่น ๆ ครับ  ทว่านำมาผสมผสานเข้ากับลักษณะดั้งเดิมของท้องถิ่น จนกลายเป็นวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อย่างตัวอักษร ก็ได้มีการดัดแปลจากอักษรปัลลวะของอินเดียมาเป็นตัวอักษรแบบท้องถิ่นที่เรียกว่าอักษรมอญโบราณ

แต่ที่เห็นกันได้ชัดเจนที่สุดก็คือด้านศิลปกรรม ที่สร้างสรรค์กระทั่งมีลักษณะเฉพาะจนสามารถเรียกว่า ศิลปกรรมแบบทวารวดี ได้อย่างเต็มปากเต็มคำด้วยความภูมิใจ ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าผู้คนพื้นเมืองบนผืนแผ่นดินไทยของเราเอง ก็ได้สั่งสมความรู้ ความชำนาญ ทางด้านศิลปะแบบท้องถิ่นมาตั้งแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้ว  เห็นได้จากศิลปะก่อนประวัติศาสตร์ อย่างพวกวัฒนธรรมบ้านเชียง บ้านเก่า พอได้แนวทางจากอารยธรรมอินเดีย ก็ผสมกลมกลืนกันออกมาเป็นศิลปกรรมแบบใหม่ที่สวยงามลงตัวได้ทันที

                ไม่แปลกใจเลยครับ ที่ผมเห็นศิลปกรรมทวารวดีแล้วจะประทับใจตั้งแต่วินาทีแรกที่เห็น

                ดูแต่ภาพถ่ายในหนังสือมาหลายปี พอมาได้เรียนเรื่องราวเกี่ยวกับทวารวดีเข้า ผมก็ชักจะเริ่มอยากเที่ยวชมศิลปกรรมทวารวดี  ที่เป็น “ ของจริง” ขึ้นมาติดหมัด

                แต่ถึงแม้ว่าวัฒนธรรมทวารวดีจะมีพื้นที่การแพร่กระจายกว้างขวางทั่วประเทศไทย มีโบราณสถาน โบราณวัตถุ อยู่มากมายนับร้อยนับพันจนถึงนับไม่ไหว  ทว่าอยู่ดีๆ จะสุ่มสี่สุ่มห้าไปเที่ยวเลยก็คงจะไม่ได้ เพราะว่าเวลาที่ผ่านไปนับพันปี ก็เป็นธรรมดาละครับ ที่บรรดาโบราณสถาน โบราณวัตถุ จะต้องมีการเสื่อมสภาพ พังทลาย แตกหักเสียหายจากหลายสาเหตุปัจจัย ทั้งจากธรรมชาติ และจากผู้คนที่ไปทำลาย   ขืนทะเล่อทะล่าไปเที่ยวแค่เพราะเห็นมีรายชื่อเป็นเมืองโบราณทวารวดี พอไปถึงที่เข้าจริง อาจจะมีแค่เนินดินเตี้ย ๆ กับอิฐเก่า ๆ ไม่กี่ก้อนให้ดูก็ได้ ใครจะไปรู้  

               ก่อนจะไปเที่ยวชมศิลปกรรมทวารวดีอย่างจริงๆ จัง ๆ ผมก็เลยต้องมีการศึกษาหาข้อมูลเสียก่อนครับ เพื่อเป็นการ “ร่อน” ให้เหลือแต่แหล่งวัฒนธรรมทวารวดีที่ถือว่าเป็น “ทีเด็ด” จริง ๆ จะได้ไม่ผิดหวัง

 ศิลาจำหลักเหตุการณ์ในพุทธประประวัติ ตอนปฐมเทศนา ในพิิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์

๒.  
              หลังจากหาข้อมูลจากตำรับตำราอยู่พักใหญ่ ผมก็พอจะแยกแยะเมืองโบราณทวารวดีออกได้เป็นกลุ่มใหญ่ ๆ   โดยเลือกเอาเฉพาะเมืองโบราณที่มีจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจเท่านั้น ส่วนเมืองที่มีรายชื่อเป็นเมืองสมัยทวารวดีแต่ไม่มีศิลปกรรมอะไรให้เที่ยวชมไม่นับ  ดังนั้นขอบอกไว้ก่อนว่านักเรียนนักศึกษาทั้งหลายอย่าได้ทะเล้นเอาการจัดกลุ่มของผมตรงนี้ไปอ้างอิงทำรายงานหรือตอบข้อสอบเชียว เพราะเป็นการจัดกลุ่มเฉพาะกิจที่เน้นเรื่องท่องเที่ยวอย่างเดียวเป็นหลัก  วิชาการไม่เกี่ยว (เดี๋ยวสอบตกขึ้นมาจะหาว่าหล่อไม่เตือน)

              กลุ่มแรกเป็นกลุ่มเมืองทวารวดีในลุ่มแม่น้ำท่าจีน-แม่กลอง ครับ ดูในแผนที่จะเห็นว่าอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในกลุ่มนี้เมืองที่เข้าท่ามีของน่าดูเยอะก็ได้แก่ เมืองนครชัยศรีที่นครปฐม  เมืองคูบัวที่ราชบุรี และเมืองอู่ทองที่สุพรรณบุรี แต่ละเมืองก็มี”ของดี”แตกต่างกันออกไป

เริ่มจากเมืองนครชัยศรี เมืองโบราณที่สมัยหนึ่งบรรดานักโบราณคดีเขาว่าเคยเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมทวารวดี ดังนั้นก็เลยมีทีเด็ดอยู่ เพียบครับ ไม่ต้องดูอื่นไกล แม้แต่องค์พระปฐมเจดีย์ที่เห็นโดดเด่นเป็นสง่าอยู่กลางเมืองนั้น เดิมก็เป็นเจดีย์สมัยทวารวดีขนาดใหญ่มหึมา ถูกทิ้งร้างอยู่กลางป่ารกชัฏนับร้อยปี  มาได้รับการฟื้นฟูบูรณะจนเป็นอย่างที่เห็นในทุกวันนี้เมื่อสมัยรัชกาลที่ ๔ นี่เอง 


อาณาบริเวณรอบ ๆ เมืองนครปฐม ก็ยังมีโบราณสถานหลายแห่ง ผมเคยอ่านพบว่าเมื่อไม่กี่สิบปีมานี่ยังมีการขุดพบทั้งชิ้นส่วนธรรมจักรศิลา ทั้งชิ้นส่วนพระพุทธรูปทำด้วยหินทรายเป็นกองภูเขาเลากา ที่พอทางกรมศิลปากรนำเอามาประกอบกันเข้า ก็ปรากฏว่าเป็นพระพุทธรูปปางปฐมเทศนาขนาดใหญ่  ประกอบได้หลายองค์เสียด้วย ที่เห็นอยู่ที่หน้าบันไดทางขึ้นพระปฐมเจดีย์นั่นก็องค์หนึ่งละ  ส่งไปจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ที่พระนครศรีอยุธยาก็อีกองค์หนึ่ง  ยังมีพระพุทธรูปปางประทับนั่งห้อยพระบาทในวิหารน้อยวัดหน้าพระเมรุ พระนครศรีอยุธยา ที่ถือว่าเป็นศิลปกรรมทวารวดีชิ้นเยี่ยม ก็มาจากที่นครปฐมนี่เหมือนกัน

 ลวดลายปูนปั้นรูปสิงห์ประดับฐานเจดีย์ที่จังหวัดนครปฐม

ความโดดเด่นของทวารวดีที่นครปฐมอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์  ในอาคารจัดแสดงเล็ก ๆ ในบริเวณวัดพระปฐมเจดีย์ มีศิลปวัตถุระดับที่เข้าขั้น “ มาสเตอร์พีซ” มากมาย เฉพาะธรรมจักรศิลานี่ก็ปาเข้าไปหลายสิบชิ้น จนรู้สึกว่าน่าจะมีมากที่สุดในประเทศไทยแล้ว  ไหนจะลวดลายปูนปั้นประดับฐานเจดีย์จุลประโทน ที่เป็นเรื่องราวในชาดก จัดแสดงเอาไว้อีกเป็นแถว ล้วนแล้วแต่น่าสนใจ ยิ่งเดี๋ยวนี้เขาจัดรูปแบบเป็นนิทรรศการถาวร ติดสปอตไลท์อย่างดี ชนิดที่บอกได้คำเดียวว่า “แจ๋ว” ครับ ต่างกับสมัยที่ผมไปครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อนลิบลับ จำได้ว่าในตอนนั้นพิพิธภัณฑ์ดูมืด ๆ ทึม ๆ ชอบกล จนน่ากลัวผีจะหลอก

                ประติมากรรมชิ้นที่ผมประทับใจที่สุดก็คือหัวเสาธรรมจักรจำหลักลายนูนต่ำเป็นภาพพุทธประวัติตอนแสดงปฐมเทศนา  ซึ่งภาพบุคคลแต่งกายแบบฤาษี ๕ ตนทางขวามือของภาพน่าจะหมายถึงปัญจวัคคีย์ แต่ละคนกำลังหน้าตาบู้บี้ไม่ค่อยเสบยกันเท่าไหร่ (ยังไม่บรรลุ) แต่หลังจากฟังปฐมเทศนา โกนผมบรรพชาเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนาแล้ว ก็กลับมีใบหน้าที่ยิ้มละไม อย่างที่เห็นอยู่ทางด้านซ้าย  เรียกว่าไม่ต้องการคำอธิบายจริงๆ ครับสำหรับภาพนี้ เห็นว่าถูกขอยืมไปจัดแสดงในนิทรรศการที่ต่างประเทศหลายต่อหลายครั้งเสียด้วย  (ขนาดฝรั่งยังติดใจเลย คิดดูก็แล้วกัน)

 พระพุทธรูปปางปฐมเทศนา ในถ้ำเขางู จังหวัดราชบุรี

ใกล้กันกับนครปฐม ก็คือเมืองราชบุรี ที่ดูเหมือนจะมีจุดเด่นในความเป็นทวารวดีที่ต่างจากนครปฐมออกไป หากไม่นับโบราณสถานวัดโขลง ในเมืองคูบัว ที่เหลือแค่ฐานเจดีย์ขนาดใหญ่ กับไม่นับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี ที่มีประติมากรรมพระโพธิสัตว์วัชรปาณีสมัยทวารวดีเป็น ชิ้นเอกแล้ว ความน่าสนใจของราชบุรีก็น่าจะต้องอยู่ที่ ศิลปกรรมสมัยทวารวดีที่อยู่ตามถ้ำในเทือกเขางู

  ชมศิลปกรรมที่นครปฐมนั้นเดินสบาย ๆ ครับ แต่ที่ราชบุรีนี่ต้องมีการออกกำลังกาย ปีนป่ายขึ้นเขากันอุตลุต  ถ้ำฤาษีนั้นเบาหน่อย เพราะขึ้นบันไดไม่กี่ขั้นก็ได้ไปนมัสการและชมความงามอย่างอัศจรรย์ของภาพแกะสลักหินพระพุทธรูปยืนข้างในถ้ำ  รวมทั้งพระพุทธรูปปางปฐมเทศนาขนาดใหญ่  ที่หากใครลองสังเกตด้านล่างแถว ๆ ข้อพระบาท  จะเห็นมีอักษรปัลลวะจารึกว่า “พระศรีสมาธิคุปตะ” คงจะเป็นชื่อองค์พระ หรือไม่ก็ชื่อผู้ที่สร้างจารึกไว้ 

สมัยที่ผมไปถ้ำฤาษีครั้งแรก จำได้ว่าองค์พระดูกระดำกระด่างเพราะการปิดทองจากผู้คนที่มาสักการะ แต่ก็ดูเหมือนจะเก่า ๆ ขลัง ๆ ดี ทว่าล่าสุดผมไปอีกทีปรากฏว่ามีการทาสีทองที่องค์พระ (หรือปิดทองก็ไม่รู้ล่ะ)  จนเหลืองอร่าม ดูใหม่ ๆ อย่างไรชอบกล  บางคนอาจจะชอบก็ได้ แต่ผมชอบเก่า ๆ แบบเดิมมากกว่า

  จากถ้ำฤาษีลึกเข้าไปในเทือกเขาหินอันซับซ้อน ยังมีอีกหลายถ้ำที่มีของดีน่าชมอยู่ แต่เพิ่มความลำบากในการไปเที่ยวชมขึ้นมาอีกหน่อย  เนื่องจากแต่ละถ้ำอยู่บนเขาสูง ต้องขึ้นบันไดไปหลายสิบขั้น เล่นเอาหอบซี่โครงบานไปเหมือนกัน แต่ก็คุ้มค่ากับสิ่งที่จะได้พบเห็น 

             บนผนังถ้ำฝาโถ จำหลักศิลาพระพุทธรูปปางไสยาสน์  เช่นเดียวกันกับถ้ำจามซึ่งนอกจากภาพจำหลักพระนอนแล้วยังมีลายปูนปั้นแบบทวารวดีเป็นพระพุทธรูปแสดงมหาปาฏิหาริย์ ที่หาดูได้ยาก  ถ้ำจีนนั้นมีพระพุทธรูปจำหลักปางมารวิชัยไว้บนผนังถ้ำ ๒ องค์ เดิมน่าจะเป็นศิลปะแบบทวารวดี แต่ตอนหลังคงจะมีการซ่อมดัดแปลง เพราะมีร่องรอยให้สังเกตได้อยู่

             ต้องค่อยดูค่อยพิจารณาครับ บางภาพดูเผิน ๆ นึกว่าก้อนหินธรรมดา ดูศิลปกรรมในถ้ำแบบนี้ผมว่าสนุกกว่าเล่นเกมส์จับผิดภาพตามห้างสรรพสินค้าเสียอีก


ในเมืองโบราณกลุ่มแรกนี้  เมืองอู่ทอง ที่สุพรรณบุรี ดูเหมือนครบครันพร้อมพรั่งที่สุดเพราะมีตั้งแต่รอยพระพุทธบาททวารวดีแกะสลักบนแผ่นหินทราย ที่อยู่บนยอดเขาดีสลัก ตัวเมืองโบราณอู่ทองเองก็มีฐานเจดีย์ทวารวดีขนาดมหึมากระจายอยู่หลายแห่ง  ไหนยังจะคอกช้างดินซึ่งตอนแรกนักโบราณคดีสันนิษฐานกันว่าเป็นคอกช้างโบราณ แต่มาสรุปทีหลังว่าเป็นอ่างเก็บน้ำในสมัยทวารวดี   เฮ้อ จาระไนรายละเอียดกันจริงๆ คงไม่ไหวครับ เพราะมีเยอะ

แค่โบราณวัตถุภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง  แห่งเดียวก็ดูกันจนตาลายแล้ว   ที่ผมชอบที่สุดเป็นประติมากรรมเล็ก ๆ จัดแสดงเรียงรายอยู่ในตู้บนชั้น ๒ ของพิพิธภัณฑ์ เป็นรูปตุ๊กตาดินเผารูปคนจูงลิงครับ  พบในเมืองโบราณทวารวดีหลายแห่ง แต่ที่เมืองอู่ทองนี่มีเยอะที่สุดรูปร่างหน้าตาแปลกประหลาด น่ารักดี  เห็นเขาว่าตอนที่ขุดพบตุ๊กตาส่วนใหญ่จะคอหัก ที่เห็นสภาพสมบูรณ์อยู่ในตู้นี่ก็เพราะว่าเขาเอามาต่อกันขึ้นมาใหม่ นักโบราณคดีเขาสันนิษฐานว่าเป็นตุ๊กตาเสียกบาล สำหรับป้องกันเด็กจากวิญญานร้าย วิธีใช้ก็ง่าย ๆ ครับ คือหักคอตุ๊กตาทิ้ง เพื่อหลอกให้บรรดาภูติผีเข้าใจว่าเด็กได้ตายไปแล้ว 

รู้อย่างนี้แล้วผมยิ่งถูกใจเป็นพิเศษ เพราะเป็นของโบราณที่สะท้อนให้เห็นความเชื่อในชีวิตประจำวันของคนทวารวดี ดูมีชีวิตชีวากว่าชิ้นอื่น หาดูไม่ใช่ง่าย ๆ 

 สระน้ำสมัยทวารวดี ที่เมืองศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี

            ๓.  
เมืองโบราณทวารวดีที่ถูกจัดไว้กลุ่มที่สอง (ของผม) ก็คือเมืองทวารวดีในลุ่มแม่น้ำลพบุรี ป่าสัก และบางปะกง ที่หากดูในแผนที่ก็จะอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา กลุ่มนี้ผมแบ่งเอาไว้เป็น ๒ ประเภทครับ คือประเภท ก. กับ ข. (ยังกับฟุตบอลถ้วยแน่ะ) 

ประเภท ก.เป็นเมืองท่าใหญ่ใกล้ทะเล มีเส้นทางการค้าติดต่อกับต่างประเทศได้รับอิทธิพลอินเดียโดยตรง ก็มีเมืองศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี เมืองพระรถ จังหวัดชลบุรี และเมืองละโว้ ที่ลพบุรี

ส่วนประเภท ข. เป็นเมืองชั้นใน รับช่วงวัฒนธรรมทวารวดีที่แผ่ขยายขึ้นไปตามแม่น้ำลำคลองที่เป็นสาขา ก็มีเมืองอินท์บุรี ที่สิงห์บุรี เมืองซับจำปา ที่ลพบุรีเมืองดงละคร เมืองอู่ตะเภา ที่ชัยนาท เมืองบน เมืองดอนคา เมืองดงแม่นางเมือง และเมืองจันเสน ที่จังหวัดนครสวรรค์ และเมืองศรีเทพ ที่จังหวัดเพชรบูรณ์
 รอยพระพุทธบาทคู่ที่สระมรกต จังหวัดปราจีนบุรี

ในประเภท ก.  เมืองศรีมโหสถ กับเมืองพระรถนั้น ผมยังอยู่ในระหว่างรอดูท่าที  ไม่แน่ใจว่าไปแล้วจะมีอะไรให้ดูหรือไม่ เพราะไม่ค่อยเห็นถ่ายภาพศิลปกรรมทวารวดีจาก ๒ เมืองนี้เท่าไหร่  นอกจากภาพรอยพระพุทธบาทคู่ที่สระมรกต ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งร่องรอยของเมืองศรีมโหสถ  ผมก็เลยรี ๆ รอ ๆ เอาไว้ ให้มีธุระผ่านไปแถวนั้นก่อนค่อยแวะไปดูน่าจะดีกว่า 

ส่วนเมืองละโว้ หรือลพบุรีนี่ไปมาหลายทีแล้ว ร่องรอยของทวารวดีก็มีฐานเจดีย์ใหญ่ที่วัดนครโกษา กับชิ้นส่วนปูนปั้นรูปเศียรเทวดา ยักษ์ และสิงห์  จากเจดีย์สมัยทวารวดีขนาดใหญ่ ที่เคยอยู่แถวที่ทำการไปรษณีย์เมืองลพบุรีในปัจจุบัน แต่ถูกไถทำลายไปนานแล้วตอนสร้างถนน คงเหลือแต่ชิ้นส่วนปูนปั้นเก็บรักษาเอาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์

ไปดูครั้งใด ผมก็อดรู้สึกเสียดายไม่ได้ทุกที ขนาดปูนปั้นประดับ ยังสวยงามอลังการเพียงนี้ องค์เจดีย์ถ้าไม่ถูกไถทำลายไป คงจะเป็นโบราณสถานทวารวดีที่ ยิ่งใหญ่ เป็นที่เชิดหน้าชูตาของเมืองลพบุรีอีกแห่งหนึ่งเลยทีเดียว เฮ้อ พูดไปก็ทำอะไรไม่ได้ ได้แต่ทำใจครับ

ส่วนเมืองทวารวดีชั้นใน หรือประเภท ข. ส่วนใหญ่ผมจะยังไม่เคยไปครับ เหตุผลหลักก็คือ แต่ละแห่ง ระยะทางไกลจากกรุงเทพฯ ทั้งนั้น  ก็เลยต้องรอให้แน่ใจว่ามีอะไรให้ดูจริง ๆ แล้วค่อยว่ากันอีกที

แต่ก็มีเหมือนกัน ที่ผมนึกว่าไม่มีอะไรที่น่าสนใจให้ไปเที่ยวชม แต่กลับมี นั่นก็คือเมืองจันเสน ในจังหวัดนครสวรรค์  เพราะจากแต่เดิมที่เป็นเพียงหลุมขุดค้นเมืองโบราณธรรมดาไม่มีอะไรน่าดึงดูดนักท่องเที่ยวสักนิด แต่วัดและชุมชนได้ร่วมมือร่วมใจกันคิดจัดสร้าง พระมหาธาตุเจดีย์ศรีจันเสน ตามรูปแบบสถูปเจดีย์จำลองสมัยทวารวดีที่ขุดพบ ให้เป็นจุดสนใจขึ้นมาได้ ใกล้กับแหล่งขุดค้นนั่นเอง

            ความคิดสร้างสรรค์ที่ผมต้องขอปรบมือให้ ดัง ๆ อีกอย่าง ก็คือการออกแบบให้พื้นที่ในฐานจัตุรมุขใหญ่ใต้องค์พระธาตุ เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเป็นนิทรรศการถาวร แสดงโบราณวัตถุ  เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับชุมชนจันเสน ที่ “เด็ด”ไปกว่านั้นคือทางโรงเรียนได้จัดอบรมให้เด็ก ๆ ซึ่งก็เป็นลูกหลานคนในชุมชนจันเสนเองนั่นแหละ มาทำหน้าที่ต้อนรับอาคันตุกะผู้มาเยือน โดยเป็นมัคคุเทศก์นำชม อย่างเป็นเรื่องเป็นราว เรียกว่าชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นอย่างใกล้ชิดจริง ๆ ครับ สำหรับที่เมืองจันเสนนี่ 

 โบราณสถานเขาคลังนอก เมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์

 ส่วนที่เมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์นั้น เป็นเมืองโบราณทวารวดีที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาเมืองประเภท ข.  ก็เลยถือว่าพลาดไม่ได้ครับ ผมต้องไปแน่นอน (ไปมาหลายครั้งแล้วด้วย)  โดยเฉพาะอย่างยิ่งโบราณสถานเขาคลังใน ฐานเจดีย์ทวารวดีขนาดใหญ่ที่ยังมีลวดลายปูนปั้นประดับตกแต่งอยู่ ผมเองก็เพิ่งเคยเห็นเป็นแห่งแรกก็ที่นี่แหละครับ ส่วนใหญ่มักจะเห็นปูนปั้นไปทาง ฐานเจดีย์ไปทาง 

 รูปปูนปั้นอมนุษย์แบก เขาคลังใน เมืองศรีเทพ

ปูนปั้นประดับเขาคลังในมีทั้งส่วนที่เป็นลวดลายพรรณพฤกษา และส่วนที่เป็นรูปอมนุษย์แบก  หน้าตาเป็นยักษ์ บ้าง เป็นสิงห์บ้าง  ที่เป็นคนแคระก็ยังมี  แต่ที่ผมเห็นแล้วรู้สึกว่าเป็นไอเดียของท้องถิ่นแท้ ๆ  ก็คือตัวที่มีหัวเป็นควายครับ  ทั้งหมดอยู่ในอิริยาบถกำลังแบกฐานเจดีย์อยู่  ดูแล้วน่าตื่นตาตื่นใจ  เห็นครั้งแรกผมนึกไปถึงพวกภาพแกะสลักตามเมืองโบราณในอเมริกาใต้  ซึ่งถ้าจะลองเปรียบเทียบกันในเรื่องดีไซน์แล้ว ผมว่าของศรีเทพเราสู้เขาได้สบายมาก 

  นอกจากมีเจดีย์ทวารวดีกับลายปูนปั้นที่เป็นทีเด็ดแล้ว  ในแง่ของเส้นทางวัฒนธรรม เมืองศรีเทพนี่แหละครับ คือเมืองศูนย์กลางการส่งผ่านวัฒนธรรมทวารวดีจากเมืองโบราณทวารวดีในภาคกลาง ก็คือกลุ่มแรกและกลุ่มที่ ๒ ไปยังเมืองโบราณทวารวดีในภาคอีสาน อันเป็นกลุ่มที่ผมจัดให้เป็นกลุ่มเมืองโบราณทวารวดีที่น่าไปเที่ยวชมกลุ่มที่ ๓ 

 เสมาหินทรายสมัยทวารวดี ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น

 ๔.  
             เส้นทางสายที่ผมกำลังบุกบั่นอยู่นี่แหละครับ คือกลุ่มเมืองทวารวดีในลุ่มแม่น้ำมูล-ชี หรือกลุ่ม ๓ ที่ผมว่า

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ที่อุดรธานี คือแหล่งโบราณคดีที่ผมมาเยือนเมื่อหลายปีก่อนและได้สัมผัสศิลปกรรมทวารวดีในภาคอีสานอย่างใกล้ชิดเป็นครั้งแรก  ทำให้ผมรู้สึกว่ามีลักษณะเฉพาะบางอย่างที่แตกต่างจากทวารวดีในภาคกลาง  

ที่เห็นได้ชัดก็คือทวารวดีในภาคอีสานชอบที่จะใช้สถานที่ตามธรรมชาติเช่นเพิงผาเป็นที่ประกอบพิธีกรรม แล้วก็ชอบสร้างใบเสมาหินสลักรูปภาพชาดกในพุทธศาสนา ซึ่งเรื่องนี้นักโบราณคดีเขาบอกว่าเป็นความนิยมที่สืบต่อมาจากในยุคก่อนประวัติศาสตร์  เพราะคนอีสานสมัยก่อนประวัติศาสตร์ใช้ถ้ำเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรม รวมทั้งใช้เสมาหินปักกำหนดเขตสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มานานแล้ว พอรับเอาพุทธศาสนาเข้ามาก็ปรับให้เข้ากับความเชื่อและความเคยชินแบบเก่า

           เราก็เลยมักจะได้เห็นวัดในเพิงหิน พระพุทธรูปในเพิงผา  เสมาหินสูงใหญ่แกะสลักเรื่องราวในชาดกมากมาย บนทางสายเมืองโบราณทวารวดีอีสานเส้นนี้

เส้นทางสายนี้ ถ้าเที่ยวแบบไม่จำกัดหัวข้อ ค่อย ๆ แวะชมแวะเที่ยวตามรายทางมาเรื่อย ๆ  ก็มีอะไรให้ดูให้ชมมากมายครับ  แต่สำหรับผมที่เน้นไปที่ศิลปกรรมทวารวดีโดยเฉพาะ ทำให้ดูเหมือนระยะห่างระหว่างแหล่งท่องเที่ยวแต่ละแห่งจะค่อนข้างไกลเอาเรื่อง 

           แต่เห็นความยิ่งใหญ่ของศิลปกรรมทวารวดีแดนอีสานแล้วก็หายเหนื่อยครับ   

สายฝนเริ่มกระหน่ำลงมาอย่างหนัก เมื่อพาหนะของเราเลี้ยวขวาลงจากทางหลวงหมายเลข ๑๒ เข้าสู่ถนนดินบริเวณใกล้ ๆ กับบ้านโนนสะอาด ที่ผมได้ข้อมูลมาว่าเป็นทางที่จะเข้าไปยังจุดเริ่มเดินเท้าขึ้นไปไหว้พระนอนบนยอดเขาภูเวียงได้ใกล้ที่สุด

รถเริ่มปัดไปมาเมื่อถนนดินที่ถูกฝนเริ่มกลายสภาพเป็นโคลน บางครั้งล้อก็ลื่นไถลไปจนผมรู้สึกคล้ายกับเล่นสเก็ตอยู่ยังไงยังงั้น  บุกตะลุยแฉลบซ้ายแฉลบขวาต่อไปได้พักใหญ่ รถก็แล่นต่อไม่ไหว เพราะยิ่งลุยเข้าไปดินยิ่งเหลวเละ ขืนทู่ซี้เรื่อยไปมีหวังขากลับต้องได้แบกรถเดินออกมาแน่

          รอจนฝนหยุด ผมกับเพื่อนร่วมทางจึงตัดสินใจที่จะลงเดินย่ำต๊อกกันต่อไป หนทางก็เหลือหลายครับ ดินเหนียวหนับติดรองเท้าเป็นก้อน ยิ่งมากก้าวก้อนก็ยิ่งใหญ่ขึ้น นี่ยังไม่ทันจะถึงทางเดินขึ้นภูด้วยซ้ำไปยังวิบากขนาดนี้ 

          ความหวังที่จะได้ชมพระนอนบนยอดภูเวียงเริ่มริบหรี่  ยังดีที่ครั้งนี้ผมเก็บเล็กประสมน้อย แหล่งท่องเที่ยวทวารวดีบนรายทางมาได้หลายแห่ง  ก็ถือว่ายังคุ้มค่า
 
  ที่นครราชสีมา พระนอนเมืองเสมา องค์พระนอนขนาดยักษ์ แกะสลักจากหินขนาดยาว ๑๓.๓๐ เมตร  บอกได้คำเดียวครับว่า“มหึมา” จริง ๆ  สัมผัสถึงอานุภาพแห่งแรงศรัทธาของช่างชาวทวารวดีในสมัยนั้นได้เลยว่ามีเปี่ยมล้นขนาดไหน แกะหินทรายแผ่นใหญ่ที่นำมาซ้อนกัน ๔ แผ่นจนออกมาเป็นพระพุทธรูปได้ เสียดายอยู่ก็ตรงที่ตัวอาคารที่สร้างครอบองค์พระเอาไว้ ดูสมัยใหม่ยังไงชอบกล  ไม่ค่อยได้บรรยากาศขรึมขลังแบบโบราณสถาน

 เสมา "พิมพาพิลาป" จากเมืองฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์

 ที่ขอนแก่น ผมก็ได้แวะพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น ที่มาเมื่อไหร่ก็ต้องแวะให้ได้ทุกที เพราะมีศิลปกรรมสมัยทวารวดีชิ้นเด็ด ๆ อยู่หลายชิ้น จำได้ว่าครั้งแรกที่มา ผมติดใจใบเสมาขนาดยักษ์ จำหลักเรื่องราวพุทธประวัติตอนพิมพาพิลาป จากเมืองฟ้าแดดสงยาง ในห้องโถงชั้นล่าง ถึงขนาดซื้อเสมาจำลองที่เป็นของที่ระลึกกลับไปไว้ดูที่บ้าน (มาอีกที คราวนี้ไม่มีขายเสียแล้ว)  ว่ากันว่าคุณค่าของใบเสมาชิ้นนี้นอกจากอยู่ที่ฝีมืออันอ่อนช้อยงดงามในการจำหลักแล้ว ในภาพยังแสดงให้เห็นลักษณะของอาคารสมัยทวารวดีที่หาดูไม่ได้ที่ไหน เพราะส่วนใหญ่จะพังทลายเหลือแค่ฐาน

อีกชิ้นที่ผมชอบไม่แพ้กันก็คือทวารบาลปูนปั้นสมัยทวารวดีที่แสดงอยู่บนชั้น ๒ เพราะหาดูยากครับ เพิ่งจะเห็นทวารบาลทวารวดีที่เต็มตัวเป็นชิ้นเป็นอัน ก็ที่นี่ สงสัยจะเป็นชิ้นเดียวที่มีเสียด้วย เพราะไม่เคยเห็นที่อื่น

พูดถึงสถาปัตยกรรมทวารวดี ผมก็ไม่ลืมที่จะแวะเวียนไปที่มหาสารคาม เพื่อเยือนพุทธมณฑลอีสาน นมัสการพระธาตุนาดูน  ที่เขาว่าองค์พระธาตุจำลองแบบมาจากสถูปทวารวดีที่ขุดพบ ใครหาดูเจดีย์ทวารวดีที่ไหนไม่ได้ มาชมองค์พระธาตุนาดูนก็น่าจะใกล้เคียงมากที่สุด  ตอนนี้บริเวณหลังองค์พระธาตุ เขากำลังก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์นครจำปาศรี  รวบรวมเรื่องราวสมัยโบราณของเมืองโบราณจำปาศรี เสียดายที่ยังไม่เปิดให้เข้าชม เพราะยังตกแต่งไม่เสร็จเรียบร้อยดี ก็ลงบัญชีเอาไว้ก่อนครับ เปิดเมื่อไหร่ผมคงจะได้มาชมแน่

 พระพุทธไสยาสน์ภูค่าว จังหวัดกาฬสินธุ์

ที่กาฬสินธุ์  นอกจากเมืองฟ้าแดดสงยางถิ่นใบเสมาทวารวดีที่มีเสมาหินสลักเรื่องราวชาดกอยู่เป็นร้อยที่ผมเคยไปมาหลายครั้งแล้ว  ก็ยังมีพระพุทธไสยาสน์ อีก ๒ องค์ครับ ที่ผมหมายมั่นปั้นมือว่าจะไปชมให้ได้  องค์แรกก็คือพระพุทธไสยาสน์ภูค่าว ที่อยู่ริมหน้าผา ในอาณาบริเวณวัดพุทธนิมิต ที่เขาว่าเป็นพระนอนที่ไม่เหมือนที่ไหน พอไปดูเข้าก็แปลกจริง ๆ นั่นแหละครับ เพราะองค์พระนอนตะแคงไปทางซ้าย ไม่เหมือนพระนอนส่วนใหญ่ที่ตะแคงทางขวา

นักโบราณคดีเขาบอกว่าที่เป็นอย่างนี้บางทีอาจจะเป็นเพราะช่างต้องการให้องค์พระนอนหันพระเศียรไปทางทิศเหนือให้สอดคล้องกับตำราที่ว่าว่าตอนเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานพระพุทธองค์หันพระเศียรไปทางทิศเหนือ แต่บางคนก็บอกว่าช่างทำตั้งใจทำเป็นรูปของพระอัครสาวกโมคคัลลาน์  ก็เลยต้องตะแคงซ้ายจะได้ไม่เหมือนพระพุทธเจ้า แถมยังตั้งข้อสังเกตให้ดูที่พระเศียรว่าไม่มีพระเกตุมาลา แสดงว่าไม่ใช่พระพุทธเจ้าอีกด้วย  ผมก็เลยไม่รู้จะเชื่อใครดี แต่ที่แน่ ๆ มากาฬสินธุ์ทั้งที ถ้าไม่มาไหว้พระนอนองค์นี้ก็ต้องเสียดายละครับ

 พระพุทธไสยาสน์ภูปอ 

พระพุทธไสยาสน์ภูปอเป็นอีกศิลปกรรมทวารวดีชิ้นสำคัญของกาฬสินธุ์ที่พลาดไม่ได้อีกเหมือนกัน เส้นทางไปก็ไม่ยากเหมือนที่คิดเอาไว้ เพราะเพียงเลี้ยวเข้าไปในวัดพระอินทร์ประทานพร ก็เห็นองค์พระนอนที่สร้างไว้ใต้เพิงผาเตี้ย ๆ แล้ว เข้าไปชมใกล้ ๆ ก็ชื่นใจในฝีมือช่างโบราณ เพราะสลักได้เรียบง่ายทว่าอลังการด้วยรายละเอียดเห็นเป็นองค์พระประทับนอนอยู่บนผืนผ้า งามจับตาจริง ๆ  เสียดายที่ทางวัดมาสร้างศาลาครอบไว้ เลยไม่ค่อยได้บรรยากาศเท่าที่ควร  ใกล้ ๆ กันยังมีบันไดสำหรับขึ้นไปสักการะพระนอนอีกองค์บนยอดเขา  ป้ายเขาว่ามี๔๒๖ ขั้นเชียวครับ  แต่ผมก็อุตส่าห์ถ่อสังขารขึ้นไปถึงจนได้  ปรากฏว่าดูแล้วองค์พระนอนด้านบนไม่ใช่พระนอนสมัยทวารวดี คงจะมาสร้างขึ้นทีหลัง ประมาณสมัยล้านช้างเห็นจะได้

และก็คงเพราะความประทับใจในความงามของพระนอนทวารวดีที่กาฬสินธุ์นี่แหละ ผมถึงตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าขากลับในวันสุดท้ายจะแวะชมพระนอนบนยอดภูเวียง ที่เขาว่าเป็นพระนอนองค์สำคัญที่งดงามอีกองค์หนึ่งของสมัยทวารวดี จนต้องมาเดินลุยโคลนจนเละเทะขนาดนี้

            เดินดุ่ยกันไปจนถึงสำนักสงฆ์ที่อยู่เชิงเขา เห็นพระภิกษุชรารูปหนึ่งเดินออกมาจากภายในเพิงเล็ก ๆ ซึ่งเป็นกุฏิ

“ พระนอนต้องเดินขึ้นเขาไปอีกราว ๒ กิโลฯ” ท่านหัวเราะน้อย ๆ กับท่าทางทะเล่อทะล่าของนักท่องเที่ยวชาวกรุง ที่พากันมะล่อกมะแล่กเข้าไปนมัสการถามทางท่าน “ โฮ้ย ไปกันเอง เดี๋ยวหลงทาง มันไม่มีถนน ต้องให้คนพาไป ทางก็ชัน ยิ่งฝนตกอย่างนี้ ดินลื่นมาก ขึ้นไม่ได้หรอก”

พอเห็นเราหน้าเหี่ยวแห้งกันลงไปด้วยความผิดหวัง ท่านก็ยิ้มแล้วบอกว่า   เอาไว้ช่วงหน้าหนาว หน้าแล้ง ดินแห้ง ๆ ค่อยมาใหม่สิ แล้วจะให้เด็กพาขึ้นไป  

 ว่าแล้วหลวงพ่อก็ชวนให้ดูภาพถ่ายขององค์พระนอนบนภูเวียงที่ท่านเก็บเอาไว้ในกุฏิ เป็นการปลอบใจ ผมกับเพื่อนพิศดูในภาพ องค์พระอยู่ในลักษณะนอนตะแคงข้างขวา แกะสลักอย่างเรียบง่ายบนแผ่นหินใหญ่ ที่แม้จะมีผู้รู้เท่าไม่ถึงการเอาสีมาทาบนองค์พระ ทว่ายังคงความงดงามด้วยศิลปกรรมแบบทวารวดีแท้ ๆ

ถึงจะไม่ได้เห็นกับตา แต่ได้เห็นภาพถ่ายก็ยังดี ถือว่ายังพอจะมีบุญอยู่บ้างละครับ

  ไม่ได้คราวนี้ก็ต้องมีคราวหน้า  ผมก็คงจะต้องหาโอกาสมาไหว้พระนอนภูเวียงให้ได้ในวันใดวันหนึ่ง  ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จก็อยู่ที่นั่น (แต่ไม่รู้ว่าที่ไหน น่ะสิ เฮ้อ) 

ก็อย่างที่บอกไว้แต่ต้นนั่นแหละครับ วัฒนธรรมทวารวดีครอบคลุมพื้นที่กว้างใหญ่  ลำพังผมเที่ยวชมกลุ่มที่ ๑และ ๒ ใน ภาคกลางกับ กลุ่มที่ ๓ ในภาคอีสานยังได้ไม่ครบ ไม่ต้องพูดถึงกลุ่มที่ ๔ ที่เป็นเมืองโบราณทวารวดีภาคเหนือ ลุ่มแม่น้ำปิง ยม น่าน อันได้แก่เมืองลำพูน ศรีสัชนาลัย พิษณุโลก ที่แม้ผมจะเคยไปหลายครั้งหลายหน แต่ก็ยังไม่มีโอกาสเที่ยวชมศิลปกรรมสมัยทวารวดีอย่างจริงจังสักที

 ล่าสุดนี่ทางภาคใต้ก็ดูเหมือนกำลังจะมีเมืองโบราณทวารวดีขึ้นมาอีกแล้ว เมื่อนักวิชาการกลุ่มหนึ่งเริ่มสงสัยว่า ทวารวดีกับศรีวิชัย อาจจะเป็นกลุ่มวัฒนธรรมเดียวกันโดยมีชื่อเต็มว่า “ทวารวดีศรีวิชัย” ซึ่งก็ไม่รู้ว่าท้ายสุดจะสรุปว่าอย่างไรเหมือนกัน แต่ถ้าสรุปว่าใช่ ผมก็จะมีเมืองโบราณทวารวดีภาคใต้ เอาไว้ให้ไปเที่ยวเป็นกลุ่มที่ ๕ ละครับ   ระหว่างนี้ก็เที่ยวเฉพาะใน ๔ กลุ่มที่ว่ามาข้างต้นไปก่อน

ถ้าเปรียบเทียบทวารวดีเป็นเกมต่อภาพ อย่างที่เรียกจิ๊กซอว์แล้ว ก็คงจะเป็นภาพขนาดใหญ่ที่เพิ่งจะต่อได้ยังไม่ถึงครึ่งนั่นแหละครับ  บอกได้แค่เพียงว่าเป็นภาพของอดีตในช่วงเวลาที่สำคัญ เป็นจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมไทยของเราในตอนนี้ 

ความสนุกของการเที่ยวในหัวข้อ “ทวารวดี”  จึงอยู่ตรงที่การได้พบได้เห็น ได้จินตนาการ  ผ่านร่องรอยที่หลงเหลือจากกาลเวลา เก็บเล็กประสมน้อย เอามาต่อกันเป็นภาพใหญ่ ที่ไม่มีใครรู้ว่าภาพจริงเป็นอย่างไร และจะเสร็จสมบูรณ์เมื่อไหร่

             ครับ ค่อย ๆ เที่ยว ค่อย ๆ เก็บไป  ความสุขบางทีก็ไม่ได้อยู่ที่จุดหมายหรอกครับ แต่อยู่ในระหว่างทางที่ยังไม่ถึงนี่แหละ 
         


ขอขอบคุณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ ,พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์

เอกสารอ้างอิง

. ณ ปากน้ำ.ศิลปะโบราณในสยาม.กรุงเทพฯ :เมืองโบราณ,๒๕๓๗.
ธิดา สาระยา.ทวารวดี ต้นประวัติศาสตร์ไทย.กรุงเทพฯ:เมืองโบราณ,๒๕๔๕.
ธิดา สาระยา.(ศรี)ทวารวดี ประวัติศาสตร์ยุคต้นของสยามประเทศ.กรุงเทพฯ:เมืองโบราณ,๒๕๓๒.
ผาสุก อินทราวุธ.ทวารวดี การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี.กรุงเทพฯ:อักษรสมัย,๒๕๔๒.
สุจิตต์ วงศ์เทศ.ศรีวิชัยในสยาม.กรุงเทพฯ:มติชน,๒๕๔๓.
สุภัทรดิศ ดิศกุล,หม่อมเจ้า.ศิลปะในประเทศไทย.กรุงเทพฯ :อมรินทร์การพิมพ์,๒๕­๒๘.
สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์,หม่อมราชวงศ์.ศรีทวารวดีถึงศรีรัตนโกสินทร์.กรุงเทพฯ:เมืองโบราณ,๒๕๓๗.
อมรา ศรีสุชาติ.ศิลปะถ้ำสมัยประวัติศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ.กรุงเทพ ฯ:กรมศิลปากร,๒๕๓๕.