Thursday, December 24, 2015

ปะการังยั่งยืนคืนชีวิต

ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...รายงาน
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนมกราคม ๒๕๕๙ 

ฝ่ายส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จัดทัศนศึกษา “ปะการังยั่งยืน คืนชีวิต” ระหว่างวันที่ ๒๖-๒๗ พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อนำกลุ่มผู้นำความคิดทั้งภาครัฐและเอกชน ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการดำน้ำใต้ทะเล ได้แก่ คณะวิทยาศาสตร์ทางทะเล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  สมาคมนักดำน้ำแห่งประเทศไทย  รวมทั้งสื่อมวลชน ได้แก่ อนุสาร อ.ส.ท. กลุ่มกรีนพีช  บริษัท แคนนอน ประเทศไทย จำกัด  และเว็บไซต์ MThai  ไปชมความสำเร็จของโครงการจัดสร้างปะการังเทียมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ณ จังหวัดจันทบุรี

โครงการดังกล่าวเริ่มขึ้นเพื่อสนองพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ที่ทรงมีพระราชดำริต้องการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลที่เสื่อมโทรมด้วยการวางแนวปะการังเทียม เพื่อให้ปลาและสัตว์น้ำนานาชนิดใช้เป็นพื้นที่เข้ามาอาศัย ใช้ขยายพันธุ์และฟักตัว เป็นการอนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเล 

 ปะการังเทียมทำจากซีเมนต์เป็นรูปลูกบาศก์โปร่ง

สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์โดยมูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จึงได้สนับสนุนงบประมาณให้กับกรมประมงในการจัดสร้างปะการังเทียมด้วยแท่งคอนกรีตทรงลูกบาศก์โปร่ง โดยกองแรกนำไปวาง ณ บริเวณชายฝั่งทะเลหมู่ที่ ๗  ตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี อันเป็นพื้นที่ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๕

หลังจากประสบผลดีในการฟื้นฟูระบบนิเวศจากปะการังเทียมกองแรก ทำให้สัตว์น้ำเพิ่มจำนวนมากขึ้น  ในปีต่อมามูลนิธิฯ จึงได้ร่วมกับกรมประมงขยายการจัดสร้างและวางปะการังเทียมไปยังท้องทะเลในจังหวัดอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง

ในปี ๒๕๕๖ ได้วางปะการังเทียม ๑ กอง ในทะเลบ้านทุ่งมหา ตำบลปากคลอง อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ปี ๒๕๕๗ วางปะการังเทียมรวม ๔ กอง ได้แก่ ในทะเลบริเวณชุมชนรอบพระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ๒ กอง  ในทะเลบริเวณบ้านทุ่งรัก ตำบลแม่นางขาว อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ๑ กอง และในทะเลบริเวณปากคลอง ตำบลเกาะกลาง อำเภอลันตา จังหวัดกระบี่  ๑ กอง  ล่าสุดในปี ๒๕๕๘ ที่ผ่านมานี้ได้วางปะการังเทียมในทะเลบริเวณบ้านนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลาอีก ๑ กอง

 คณะทัศนศึกษาเริ่มต้นในจันทบุรีด้วยกิจกรรมเบา ๆ แวะเยี่ยมชมสถาปัตยกรรมเก่าแก่อันงดงามที่เรียงรายอยู่สองฟากฝั่งถนนของชุมชนริมน้ำจันทบูร บริเวณบ้านหลวงราชไมตรีซึ่งได้รับการปรับปรุงสภาพอย่างสวยงาม โดยรักษาบรรยากาศดั้งเดิมเอาไว้ได้อย่างครบถ้วน ทั้งยังเป็นวิสาหกิจของชุมชน  
 บ้านเรือนเก่าย่านริมน้ำจันทบูร
 คณะเข้าเยี่ยมชมภายในบ้านหลวงราชไมตรี 
ถ่ายภาพหมู่ที่ระลึกหน้าบ้านหลวงราชไมตรี


ก่อนจะข้ามสะพานไปยังอาสนวิหารพระแม่มารปฏิสนธินิรมล โบสถ์ฝรั่งที่งดงามด้วยการตกแต่งประดับประดาในแบบสถาปัตยกรรมแบบโกธิค ชื่นชมกับประติมากรรมพระแม่มารีที่ประดับด้วยพลอยเมืองจันท์อันเลื่องชื่อ และกระจกสีที่ประดับประดาอยู่บนบานหน้าต่าง ปิดท้ายวันแรกด้วยกิจกรรม Party on the beach  ณ โรงแรมแซนด์ดูนส์ เจ้าหลาว บีช รีสอร์ต

 สถาปัตยกรรมโกธิคของอาสนวิหาร

คณะปะการังยั่งยืนคืนชีวิตถ่ายภาพหมู่ภายในวิหาร

            วันที่สองจึงเป็นการเดินทางสู่ผืนน้ำสีเขียวครามของจังหวัดจันทบุรี  โดยคณะทัศนศึกษาเข้ารับฟังการบรรยายสรุปและชมวิดีทัศน์ใต้ท้องทะเลเกี่ยวกับการวางปะการังเทียม จากนักวิชาการประมงชำนาญการของกรมประมง ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน ก่อนออกเดินทางโดยเรือลำใหญ่ สู่พื้นที่วางปะการังเทียมใต้ท้องทะเลจันทบุรี

 ซั้งเชือกถูกห่อหุ้มด้วยพืชน้ำ

ณ ผืนทรายใต้น้ำลึกอันเป็นสถานที่วางปะการังเทียมแห่งแรกของโครงการฯ  หลังจากเวลาผ่านไปสามปี ปะการังเทียมรูปลูกบาศก์โปร่งที่กองอยูเป็นกลุ่ม แวดล้อมด้วยซั้งเชือกที่ผูกไว้กับทุ่นลอยเรียงราย บัดนี้ห่มคลุมด้วยสีเขียวของพืชน้ำ ประดุจดังผืนป่าใต้สมุทร  เต็มไปด้วยฝูงปลาและสัตว์น้ำนานาชนิดน้อยใหญ่ที่ว่ายเวียนวนหากินอยู่อย่างมีชีวิตชีวา น่าตื่นตาตื่นใจ

สรรพชีวิตน้อยใหญ่ในบริเวณปะการังเทียม

ภาพของปะการังเทียมที่ในวันนี้ได้กลายเป็นบ้านอันแสนอุดมสมบูรณ์เป็นที่อาศัยและขยายพันธุ์ของปลาและสัตว์น้ำมากมายนับพันนับหมื่นอย่างที่ได้เห็น เป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดี ถึงความสำเร็จของโครงการฯ ว่ามีส่วนช่วยในการฟื้นฟูระบบนิเวศของทะเลได้มาก อันจะส่งผลอย่างยั่งยืนต่อท้องทะเล

โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการทำประมงพื้นบ้าน ที่นับจากนี้ต่อไปชาวประมงพื้นบ้านสามารถทำมาหากินในบริเวณใกล้ชายฝั่ง ไม่จำเป็นต้องเสี่ยงภัยออกไปหาปลาในทะเลน้ำลึกอีกต่อไป

 
 ปะการังเทียมกลายสภาพเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำใต้ทะเล

Tuesday, December 1, 2015

ระเริงชลแดนบาดาลอันดามันเหนือ เหตุเกิดเมื่อมือใหม่หัดดำ (น้ำ)


เรื่อง... ภาคภูมิ น้อยวัฒน์  ภาพ...อภินันท์ บัวหภักดี   วินิจ รังผึ้ง

ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนเมษายน ๒๕๔๓ 

ดึกแล้ว.....

เรือสคูบ้าเน็ต อันเป็นเรือสำหรับการท่องเที่ยวดำน้ำที่เพียงพร้อมไปด้วยเครื่องอำนวยความสะดวกครบครัน แล่นละลิ่วฝ่าความมืดออกจากท่าเรือรัษฎาของจังหวัดภูเก็ต มุ่งหน้าขึ้นไปสู่ทะเลอันดามันตอนเหนือในเขตจังหวัดพังงา อันเป็นที่ตั้งของหมู่เกาะสิมิลันและหมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะที่ถือว่าเป็นสวรรค์แห่งการดำน้ำอันดับหนึ่งของประเทศไทย

เหนือฟูกหนานุ่มนิ่มซึ่งปูลาดด้วยผ้าปูที่นอนขาวสะอาด ภายในห้องนอนขนาดกระทัดรัดบนเรือที่เย็นฉ่ำด้วยเครื่องปรับอากาศสุดแสนสบาย ปราศจากเสียงรบกวนใด ๆ นอกจากเสียงเครื่องยนต์เรืองครางกระหึ่มเป็นแบ็กกราวนต์อยู่เบา ๆ ราวกับเสียงดนตรีจากวงซิมโฟนีออเคสตราที่แว่วมาบรรเลงขับกล่อม สอดประสานกับการโยนตัวขึ้นลงไปมาเป็นจังหวะตามการเคลื่อนที่ของเรือ ซึ่งกำลังแล่นตัดระลอกคลื่นไปยังจุดหมายปลายทาง 

ด้วยเวลาและสภาพแวดล้อมเช่นนี้ผมน่าจะหลับใหลนิทราอย่างอุตุสุขารมณ์ไปแล้ว แต่ผมกลับยังคงนอนลืมตาตื่นอยู่ แม้จะพยายามข่มตาหลับด้วยการขยับตัวนอนตะแคงซ้าย ตะแคงขวา ตีลังกา คลุมโปง ฯลฯ อย่างไรก็ไม่หลับ

ก็จะให้หลับตาลงไปได้อย่างไรเล่าครับ ในเมื่อความรู้สึกหลากหลายวาไรตี้ผุดโผล่ขึ้นมาพาเหรดกันอยู่ในจิตใจของผมจน สับสนวุ่นวายไม่ต่างไปจากทหารก็อดอาร์มี่ ในยามฐานที่มั่นถูกทหารพม่าตีแตก ไหนจะดีใจที่คราวนี้ผมจะได้มีโอกาสไปดำน้ำแถบหมู่เกาะสิมิลันและหมู่เกาะสุรินทร์ ที่เขาเล่าลือกันว่าเป็นจุดดำน้ำชมปะการังและชีวิตใต้ทะเลที่สวยงามติด อันดับใน ๑๐ ของโลกเป็นครั้งแรก ไหนจะตื่นเต้นที่จะต้องลงดำน้ำอีกครังหลังจากไม่ได้ดำมาเป็นเวลานานหลาย เดือนจนไม่แน่ใจว่าจะลืมอะไรต่อมิอะไรเกี่ยวการดำน้ำที่ได้ไปร่ำเรียนมาหมดหรือยัง กลัวก็กลัว ไม่รู้ว่าดำไปแล้วจะเป็นอย่างไร

มือใหม่นี่ครับ อะไรก็ดูระทึกใจไปเสียหมด

อันที่จริงแต่ไหนแต่ไรผมไม่เคยคิดเคยฝันเลยแม้แต่น้อยนิดว่าจะมาดำ น้ำลึกอย่างที่เขาเรียกกันว่า SCUBA แม้ว่าใจจะแอบชื่นชอบความงดงามของโลกใต้ทะเลที่เคยเห็นจากภาพถ่ายและภาพยนต์ สารคดีหลาย ๆ เรื่องอยู่ไม่น้อย แต่ก็รู้สึกว่าไกลเกิดฝัน

สาเหตุใหญ่ ๆ ประการสำคัญนี้ก็คือผมว่ายน้ำไม่ค่อยเป็น (ถ้าแค่ยกมือไหว้เฉย ๆ ละก็พอได้) ลำพังให้ว่ายน้ำในสระแคบ ๆ ตัวเปล่า ๆ ก็ยังแทบตาย จะให้แบกถึงเหล็กกับอุปกรณ์อะไรต่อมิอะไรลงไปตะเกียกตะกายอยู่ในทะเลที่ทั้ง กว้างทั้งลึกกว่าสระตั้งหลายร้อยเท่าคงจะไม่ไหว ก็เลยคิดว่าในชีวิตนี้คงจะไม่วาสนา ขอแค่ดูภาพสวย ๆ ที่ช่างภาพใต้นำทั้งหลายเขาถ่ายมาก็เป็นบุญตาพอแล้ว

แต่จะเป็นเพราะว่า ชาติก่อนเคยดำน้ำไปใส่บาตรหรืออย่างไรก็ไม่อยากจะเดา วันหนึ่งในฤดูหนาว อยู่ดี ๆ ในกองบรรณาธิการอนุสาร อ.ส.ท. ก็มีแนวคิดให้ทุกคนที่ยังดำน้ำไม่เป็นไปเรียนดำน้ำกันโดยถ้วนหน้า ผมและเพื่อนพ้องอีกหลายคนในกองบรรณาธิการก็เลยมีโอกาสได้พากันมาเป็นนักดำ น้ำทั้งมือใหม่และหน้าใหม่เข้าสู่วงการในคราวนั้นเอง (เอ๊ะ ฟังดูยังกับดารายังไงชอบกล)

สถานที่เรียนก็ไม่ใช่อื่นไกล คือโรงเรียนสอนดำน้ำของ บริษัทโปรเฟสชั่นนอล ไดเวอร์ นั่นเอง พอได้เรียนก็ชักจะมันครับ แถมได้รู้ว่าการดำน้ำนั้นไม่ยากอย่างที่ผมเคยคิดหวาดหวั่นขวัญผวาเอาไว้ ใคร ๆ ก็ดำได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย เด็ก ผู้ใหญ่ กำนัน ผู้ว่าฯ ตลอดจน ส.ส. หรือ ส.ว. ก็มีสิทธิเท่าเทียมกันหมดถ้ามาเรียนดำน้ำอย่างถูกวิธี

ตอนแรกด้วยความที่ผมและเพื่อน ๆ ยังเป็นมือใหม่ ก็เลยยังไม่รู้อะไรเกี่ยวกับการดำน้ำสักอย่าง จึงต้องเริ่มต้นด้วยการเข้าห้องเรียนภาคทฤษฎีกันเสียก่อน ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของการทำความเข้าใจเรื่องความกดดันใน บรรยากาศระหว่างใต้น้ำกับบนผิวน้ำว่าต่างกันอย่างไร การลอยตัวทำอย่างไร รู้จักกับอุปกรณ์ในการดำน้ำต่าง ๆ และสัญญาณมือสำหรับใช้สื่อสารกันเพราะเวลาอยู่ใต้ทะเลเราพูดกันไม่ได้ ตลอดจนทำความรู้จักและเข้าใจสภาพแวดล้อมเกี่ยวกับการดำน้ำที่เราจะต้องเผชิญ เมื่อลงดำน้ำในทะเลจริง ๆ รวมทั้งกฎกติกามารยาท และข้อปฏิบัติในการดำน้ำ

การที่เขาให้เรียนภาคทฤษฎีนี่ก็เพื่อจะให้มือใหม่รู้และเข้าใจในสิ่งที่ ควรรู้ จะได้ไม่ปล่อยไก่เมื่อไปดำในทะเลจริง ๆ ซึ่งจะเป็นอันตราย อย่างน้อยนักดำมือใหม่ก็ต้องรู้ว่าการกลั้นหายใจจากความลึกมาก ๆ ขึ้นมาบนผิวน้ำจะทำให้ปอดฉีได้จากการที่อากาศขยายตัวเมื่อเปลี่ยนระดับ บรรยากาศ อีกอย่างหนึ่งก็เพื่อให้เรียกใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง ไมใช่ครูฝึกบอกให้เอาเรกูเลเตอร์ใส่ปากกลับไปคว้าเอามิเตอร์วัดความลึกเข้า ให้ เมื่อมีความรู้ความเข้าใจ อันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ก็จะค่อยลดน้อยถอยลงไปตามลำดับ

อย่างไรก็ดี เรียนแค่ทฤษฎียังไม่เพียงพอต่อการไปลงดำน้ำในทะเลที่มักมีการเปลี่ยนแปลงไป มาตามสภาพลมฟ้าอากาศหรอกครับ ในช่วงแรกนี้เขาจึงยังไม่ให้ไปลงทะเล แต่จะให้ลงไปฝึกในสระว่ายน้ำของโรงเรียนซึ่งน้ำนิ่งกันก่อนเพื่อสร้างความ คุ้นเคย โดยเริ่มจากฝึกเตรียมอุปกรณ์สำหรับการดำน้ำ นั่นก็คือการประกอบชุดเครื่องช่วยหายใจใต้น้ำที่เราเคยเห็นเป็นสายยาว ๆ ระโยงระยางนั่นแหละ ทีนี้เหล่ามือใหม่อย่างเราก็จะได้พบกับของจริงหลังจากเรียนในห้องเรียนกัน แล้วว่า ท่อหายใจหลัก (Primary regulator) มีไว้ใส่ปากแล้วใช้หายใจ ท่อหายใจสำรอง (Octopus) มีไว้ให้นักดำน้ำคนอื่นที่อากาศหมด มาใช้เวลาฉุกเฉิน มาตรวัดอากาศ (Pressure gauge) และมาตรวัดความลึก (Depth gauge) มีไว้ใช้วัดอากาศในถังอากาศ (Tank) และวัดความลึกของน้ำ ตลอดจนเสื้อชูชีพ (Buoyancy control device) ที่ไว้ใช้ควบคุมการลอยตัว

อุปกรณ์เหล่านี้ หน้าตาเป็นอย่างไร ประกอบเข้าด้วยกันอย่างไร ใช้อย่างไร ก็จะได้ลองกันจริง ๆ คราวนี้ ก่อนที่ครูฝึกจะให้ลองใส่หน้ากาก (Mask) ตีนกบ (Fins) และเข็มขัดตะกั่ว (Wight Belt) พร้อมอุปกรณ์ทั้งชุดแบบเต็มยศ พากันกระย่องกระแย่งมาริมสระฝึกท่ากระโดดลงน้ำอย่างถูกต้อง โดดตูมลงไปในสระได้

ยังครับ โดดลงไปแล้วไม่ใช่ว่าจบแค่นี้ ต้องลงไปหัดทักษะใต้น้ำอีกหลายอย่าง ตั้งแต่การสลับเท้าเตะตีนกบ การเคลียร์หน้ากากเมื่อเกิดเป็นฝ้า หัดถอดหน้ากากใส่หน้ากากใต้น้ำ ถอดและหาเรกูเลเตอร์ใต้น้ำ เผื่อว่าเวลาไปดำในทะเล เกิดหน้ากากหรือเรกูเล-เตอร์หลุดจะได้ไม่ตกใจ การควบคุมการลอยตัวให้สามารถบังคับให้ลอยหรือจมได้ จะได้ไม่ไปชนปะการังหรืออะไรต่อมิอะไรใต้น้ำจนกระจุยกระจาย การแบ่งอากาศกับคู่หูหรือบัดดี และการทำซีซ่าขึ้นมาจากความลึกมาก ๆ ในกรณีเมื่อดำเพลิน ๆ แล้วอากาศเกิดหมด ฯลฯ 

โอ๊ยสารพัดละครับ จาระไนไม่หวาดไหว ทุกอย่างล้วนเป็นทักษะที่จำเป็นต้องใช้เมื่อไปดำจริงทั้งสิ้น (อยากรู้รายละเอียดว่าเรียนอะไรบ้างคงต้องลองไปเรียนดูเอง) ซึ่งครูฝึกจะให้มือใหม่ทั้งหลายลองปฏิบัติทักษะต่าง ๆ จนกว่าจะคล่องแคล่วเป็นที่พอใจของครู เมื่อจบการฝึกในสระน้ำนี้แล้วถึงจะพาไปสอบในทะเลจริงต่อไป ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เวลาเรียนกันประมาณ ๑ สัปดาห์ก็พากันไปสอบได้แล้ว
                
           แต่คณะดำน้ำมือใหม่ของ อ.ส.ท. เรานั้น ใช้เวลามากกว่าใคร เพราะเรียนดำน้ำกันถึง ๓ ฤดู เนื่องจากพอฝึกเรียนในสระจนได้ที่ก็มีภารกิจการทำงานเข้ามาแทรกจนไม่มีเวลา ไปสอบในทะเลจริง ๆ สักที วิชาความรู้จึงค่อย ๆ คืนกลับไปอยู่ที่ครูโดยอัตโนมัติ ต้องกลับไปให้ครูช่วยทบทวนความรู้ในสระกันใหม่อยู่ละครับ (แม้ว่าจะอยู่ห่างกันไปหน่อยก็เถอะ) ในที่สุดผมและเพื่อน ๆ ชาว อ.ส.ท. มือใหม่ก็สอบผ่านได้รับบัตรดำน้ำขั้นต้นหรือที่เรียกกันว่า ระดับ Open water มากันจนได้

         แล้วผมก็พบว่าเรื่องที่น่าหนักใจสำหรับมือใหม่ไม่ใช่เรื่องการเรียน หรือการสอบหรอก แต่เป็นเรื่องของอุปกรณ์ดำน้ำที่จะต้องซื้อมากกว่า เพราะสถานภาพทางทุน-ทรัพย์ของมือใหม่ส่วนใหญ่จะค่อนข้างไปทางอัตคัต (เช่นตัวผมเองเป็นต้น) และเมื่อลองดูราคาของอุปกรณ์ดำน้ำแต่ละชิ้นแล้วก็ต้องร้อง "ไอ๊หยา" ทุกทีไป เพราะแต่ละอย่างราคาหลักพันขึ้นไปแทบทั้งนั้น
                      
              แต่เมื่อรักจะดำ (น้ำ) ก็ต้องทำใจครับ ซึ่งทางเลือกของมือใหม่ก็คือ ยังไม่ต้องซื้ออุปกรณ์แพง ๆ  ใหญ่ ๆ หรือหนัก ๆ อย่างเครื่องช่วยหายใจ เสื้อชูชีพ ถังอากาศ และเข็มขัดตะกั่ว เพราะว่าอุปกรณ์เหล่านี้เราสามารถหาเช่าจากร้านดำน้ำที่ให้บริการได้ วิธีนี้จะช่วยให้ประหยัดเงินค่าซื้ออุปกรณ์ไปหลาย แถมไม่ต้องแบกขนและไม่ต้องห่วงกังวลเรื่องการดูแลรักษาอุปกรณ์อีกด้วย โดยเฉพาะถ้าคิดว่าปีหนึ่ง ๆ จะดำแค่ทีสองทียิ่งเหมาะมาก เลือกซื้อเฉพาะอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องมีไว้เป็นของตัวเอง ได้แก่ หน้ากาก ท่อหายใจสำหรับดำผิวน้ำ (Snorkel) รองเท้าบู๊ตสำหรับใส่ตีนกบ และตีนกบ เท่านี้ก็พอ หรือถ้ามีสตางค์มากหน่อยแถม Wait suit อีกสักชุดคงพอไหว ผมเองก็ใช้วิธีนี้เหมือนกัน



                 ก็มือใหม่นี่ครับไม่ต้องมีอุปกรณ์อะไรมากมายหรอก


มือใหม่ท่องอันดามันเหนือ
               
               กริ๊ง ง ง ง....
               
              เสียงออด เรียกให้เตรียมตัวลงดำน้ำปลุกผมให้ตื่นขึ้นหลังจากที่นอนคิดอะไรต่อมิอะไร เพลินจนเผลอหลับไปตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ เมื่อตาลีตาเหลือกออกจากห้องมาก็พบว่าเรือสคูบ้าเน็ตกำลังลอยลำอยู่เหนือผืน น้ำสีฟ้าอันเวิ้งว้างกว้างใหญ่และใสราวกับกระจกในเขตของอุทยานแห่งชาติหมู่ เกาะสิมิลันเรียบร้อยแล้ว

              "ไดฟ์ แรกนี้เราจะลงดำกันที่สิมิลันเกาะห้า" คุณสมบูรณ์ โมณวัฒน์ หรือคุณน้อย หัวหน้าคณะเดินทางท่องเที่ยวดำน้ำในเส้นทางอันดามันเหนือครั้งนี้ แจ้งให้สมาชิกนักดำน้ำทั้งหลายที่เป็นลูกทัวร์ รวมทั้งทีมงาน อ.ส.ท. คือ ผม คุณอภินันท์ บัวหภักดี และคุณวินิจ รังผึ้ง ซึ่งนับรวมกันแล้วได้ถึง ๓๐ กว่าคนที่นั่งชุมนุมกันอยู่บนชั้น ๒ ให้ทราบถึงจุดที่จะดำน้ำจุดแรกในวันนี้ พลางขีดเขียนแผนที่ของจุดดำน้ำแบบคร่าว ๆ ลงบนกระดานไวต์บอร์ดให้ดูถึงเส้นทางที่จะดำลงไป
              
               "ที่เรียนไปยังจำได้อยู่หรือเปล่า" คุณน้อยหันมาถามผม ซึ่งผมเองก็ยังไม่แน่ใจเพราะหลังจากดำเมื่อครั้งที่ไปสอบ Open water ที่แสมสาร ๔ ไดฟ์ ก็มีโอกาสได้ไปดำน้ำที่เกาะกระ จังหวัดนครศรีธรรมราชเพิ่มเติมอีกเพียง ๔ ไดฟ์เท่านั้น และนั่นก็เป็นเวลานานหลายเดือนมาแล้วด้วย

                แบบนี้จะเรียกว่ามือใหม่แต่เก่าเก็บก็คงจะได้กระมัง

               เมื่อยังไม่แน่ใจ การดำรอบแรกนี้ผมจึงถูกจัดให้อยู่กับกลุ่มมือใหม่ที่ไปเรียนดำน้ำที่ร้านโปรฯ ไดฟ์แล้วมาเที่ยวด้วยสอบด้วยในการเดินทางครั้งนี้ไปเลยในตัว ซึ่งมีอยู่ ๓ คน คือ คุณวรวิมล ถนอมชื่น หรือคุณกบ แอร์โฮสเตสสาวจากสายการบินลุฟท์ฮันซ่า และคุณศิริมา จันทโรกร หรือคุณหลา ที่ควงคู่มากับคุณนาวิน โลหิตโยธิน หรือคุณนาวิน ตู๋ แฟนหนุ่ม ซึ่งภายหลังแอบมากระซิบบอกผมว่าจริง ๆ แล้วไม่ได้อยากจะดำเท่าไร เมื่อแฟนอยากจะดำก็ต้องตามมาด้วย คล้อย ๆ กับว่าตามหัวใจไปสุดทะเลลึกอะไรทำนองนั้น 

                ทั้ง ๓ คนนี้เพิ่งจบหลักสูตรมาจากสระหมาด ๆ ยังไม่เคยลงดำในทะเลที่ไหน ในกลุ่มมือใหม่นี้ผมจึงดูมีภาษีที่สุด เพราะอย่างน้อยก็มีประสบการณ์ในการดำน้ำมาแล้วตั้ง ๘ ไดฟ์

                แม้ว่าจะยังมือใหม่ แต่ก็ไม่ถึงกับไร้ประสบการณ์ ว่างั้นเถอะ
          
                "ไปด้วยกันก็ดี จะได้เป็นผู้ช่วยครูฝึก" คุณมหิศร จันทรวารีเลขา หรือครูศร ซึ่งเป็นครูที่จะคอยดูแลและสอบบรรดานักดำน้ำมือใหม่ให้กำลังใจ ก่อนจะจัดให้ผมเป็นคู่บัดดีกับคุณกบ ที่มาคนเดียว ก็เป็นอันว่ามือใหม่คราวนี้มีบัดดีครบคู่พอดี

                แม้ว่าจะไม่ได้มีประสบการณ์ในการดำน้ำมากมาย แต่เมื่อโดดลงไปสู่ห้วงน้ำสีครามของสิมิลันและค่อย ๆ ดำดิ่งลงไปผมก็รับรู้ได้ถึงความแตกต่างจากแหล่งดำน้ำทางฝั่งอ่าวไทยที่เคยไป ได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นด้านความใสของน้ำ หรือด้านความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต เพราะว่าทะเลอันดามันนั้นเป็นทะเลเปิดที่เป็นส่วนหนึ่งของมหาสมุทรอินเดีย จึงมีความเค็มสูงและน้ำค่อนข้างใส เนื่องจากไม่ค่อยมีตะกอนมาก 

                เบื้องล่างของผืนน้ำนั้นสวยงามดังสรวงสวรรค์ดังที่เขาเล่าลือกันจริง ๆ อุดมไปด้วยปะการังหลากสี ตลอดจนฝูงปลาและสัตว์น้ำอื่น ๆ อีกมากมายหลายชนิดจนดูละลานตาไปหมด ว่ากันว่าปะการังในฝั่งอันดามันนี้มีถึง ๒๔๐ ชนิด ส่วนปลานั้นมีกว่า ๘๐๐ ชนิด นอกจากนี้ยังมีสัตว์ชนิดอื่นอีกมากมาย
                       
                          ดูกันไม่หวาดไม่ไหวละครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมือใหม่อย่างผมที่มองเห็นตัวอะไรก็ดูคล้าย ๆ กัน           ไปเสียหมด
                        
                        หลังจากครูศรทำการสอบนักเรียนดำน้ำทั้ง ๓ คน เรียบร้อยแล้วก็พากลุ่มมือใหม่ไปดำท่องเที่ยว               ชื่นชมความงามอย่างจุใจ ไดฟ์แรกนี้จึงพากันกลับขึ้นมาด้วยความประทับใจในความตระการตาของทิวทัศน์           ใต้ทะเลลึก น้ำที่สงบนิ่งและค่อนข้างใสช่วยสร้างเสริมความมั่นใจให้แก่มือใหม่ได้เป็น อย่างดี ซึ่งสำหรับมือ              ใหม่นั้นความมั่นใจให้แก่มือใหม่ได้เป็นอย่างดี 

                         สำหรับมือใหม่นั้นความมั่นใจที่ได้จากการดำครั้งแรก ๆ  เป็นเรื่องสำคัญ หากดำครั้งแรกแล้วเจอ              กับเหตุการณ์ที่ระทึกขวัญอาจทำให้เสียความมั่นใจ พาลเลิกดำเอาง่าย ๆ ทีเดียว มือใหม่จึงควรดำน้ำกับ                 กลุ่มที่มีประสบการณ์ใกล้เคยงกันโดยมีครูฝึกผู้ชำนาญ การคอยดูแล ทั้งนี้เพราะมือใหม่ย่อมเข้าใจในมือ                ใหม่และไม่ทอดทิ้งกัน (เพราะต่างคนต่างก็กลัวเหมือนกัน)


               
                           หลายคน บอกว่าการดำน้ำกับกลุ่มมือเก่าที่มีประสบการณ์สูงน่าจะสร้างความอบอุ่นใจได้                       มากกว่า ซึ่งผมเห็นว่าไม่แน่เสมอไป เพราะจากประสบการณ์ในการดำอีก ๒ ไดฟ์ถัดมาคือที่ East of Eden               บริเวณเกาะหก ที่ว่ากันว่ามีทิวทัศน์ใต้ทะเลที่สวยงามตระการตาด้วยกองหินใต้น้ำขนาดมหึมา ที่ประดับ                    ประดาด้วยปะการังนานาชนิดหลากสีสันที่ขึ้นอยู่เป็นชั้น ๆ แถมยังมีปลาสวย ๆ อาศัยอยู่ให้ดูให้ชมมากมาย              และไดฟ์สุดท้ายของวันแรกนี้ที่กองหินแฟนตาซี อันเป็นกองหินที่จมอยู่ใต้น้ำทางด้านทิศตะวันตกของเกาะ                 แปด ที่เล่าลือว่างดงามด้วยกัลปังหาและปะการังอ่อน ตลอดจนปลานานาชนิด 

                       ทั้ง ๒ ไดฟ์นี้ผมกลับไม่ค่อยเห็นอะไร เนื่องจากคุณน้อยจัดให้ผมดำลงไปพร้อมกับกลุ่มช่างภาพใต้น้ำ             ซึ่งเป็นมือเก่า ประสบการณ์ดำน้ำมากมายคนละหลายร้อยไดฟ์ มือใหม่อย่างผมแค่ว่ายตามเขาให้ทันก็หอบ             ซี่โครงบานไปแล้ว เลยไม่ได้ดูอะไรเป็นชิ้นเป็นอันกันละครับ

                       การว่ายตามคนอื่นไม่ทันสำหรับมือเก่าอาจไม่เป็นไร แต่สำหรับมือใหม่นั้นทำให้เกิดความวิตกกังวล               จนกลายเป็นตื่นตระหนกตกใจอย่าง ที่เรียกกันว่า Panic ได้ เพราะพอตามไม่ทันก็ตกใจ ตกใจก็ยิ่งรีบ ยิ่งรีบก็              ยิ่งหายใจถี่ ยิ่งหายใจถี่อากาศก็ยิ่งหมด อากาศยิ่งหมดก็ยิ่งตกใจ เป็นวงจรที่ยิ่งนานยิ่งยุ่งไปกันใหญ่อย่างนี้

                      โดยเฉพาะที่กองหินแฟนตาซีที่ต้องเผชิญกระแสน้ำแรงถึงขนาดว่ายเท่าไหร่ก็ไม่ไป ผมนั้น                                ตะเกียกตะกายว่ายจนหมดแรง แต่พวกมือโปรฯ เขาดำสบาย ๆ หายไปในน้ำลึกกันหมด มือใหม่อย่างผมก็                อกสั่นขวัญหาย เพราะโดนน้ำพัดไปไหนต่อไหน ยังดีที่ปลิวไปเกาะคุณอภินันท์เอาไว้ได้ แต่คุณอภินันท์ก็พา                ผมไปไม่ไหวเพราะตีนกบสั้น เดือดร้อนคุณน้อยต้องมาลากจูงพาผมฝ่ากระแสน้ำกลับขึ้นไปส่งขึ้นบนเรือ                    จนได้ 
         
                       ซึ่งตรงนี้เองทำให้ผมตัดสินใจว่า ดำครั้งต่อไปจะต้องขอกลับไปอยู่กับกลุ่มมือใหม่เหมือนเดิมแหง ๆ


ดำน้ำด้วยนิยาม (ของมือ) ใหม่ที่ริเชลิว
                  
                 "การมาท่องเที่ยวดำน้ำนั้นเป็นกิจกรรมเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ หากดำแล้วเคร่งเครียด ไม่รู้สึกผ่อนคลาย ก็อย่าเพิ่งลงดำจะดีกว่า"

                  นั่นเป็นข้อสรุปที่คู่บัดดีมือใหม่คือผมกับคุณกบซึ่งก็มีประสบการณ์จากการ ถูกกระแสน้ำพัดพาที่กองหินแฟนตาซีต่างเห็นพ้องต้องกันในรุ่งเช้าของอีกวัน เมื่อเรือสคูบ้าเน็ตเดินทางถึงกองหินริเชลิว กองหินกลางน้ำทางตะวันออกของหมู่เกาะสุรินทร์ ไดฟ์แรกของวันนี้เราสองคนจึงพร้อมใจกันไม่ลงดำน้ำเมื่อเห็นว่ามีกระแสน้ำแรง

                  เรือท่องเที่ยวดำน้ำหลายลำจอดลอยลำอยู่รอบบริเวณแสดงให้เห็นว่ากองหินแห่งนี้ เป็นจุดที่ได้รับความนิยมจากนักดำน้ำมากจุดหนึ่ง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะกองหินริเชลิวเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยสรรพชีวิตแห่ง ท้องทะเลและเป็นจุดที่มีโอกาสพบสัตว์ใหญ่หายากอย่างฉลามวาฬได้ง่าย ด้วยความที่เป็นกองหินใหญ่ตั้งขวางกระแสน้ำระหว่างชายฝั่งและหมู่เกาะสุรินทร์ กระแสน้ำที่ปะทะเข้ากับกองหินจึงแตกเป็นหลายสาย พัดพาตะกอนจากพื้นให้ฟุ้งกระจายขึ้นมา จึงเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยแพลงก์ตอนซึ่งเป็นอาหารของสัตว์นานาชนิด จึงไม่น่าแปลกใจที่บริเวณกองหินแห่งนี้เป็นสถานที่ชุมนุมของสิ่งมีชีวิต ตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่


                  เรือวนไปส่งบรรดานักดำน้ำที่จุดได้ไม่เท่าไหร่ เราก็รู้ว่าตัดสินใจถูกต้องไม่ลงดำในไดฟ์แรก เพราะกระแสนน้ำแรงมากขนาดมือเก่า ๆ หลายคนยังไม่ไหว ลงไปไม่ทันไรก็ต้องกลับขึ้นมาแถมยังบอกว่าไม่ค่อยเห็นอะไร ส่วนกลุ่มมือไหม่คุณนาวินที่ลงไปกับคุณหลาสำลักน้ำเพราะว่าหอบหายใจว่ายสู้ กระแสน้ำแล้วไม่รู้ทำอีท่าไหนมีน้ำเล็ดลอดเข้าไปในเรกูเลเตอร์ได้ ถึงกับต้องให้ครูศรลากจูงกลับขึ้นเรือทีเดียว

                   เมื่อน้ำสงบนิ่งใน ตอนสาย ผมซึ่งรวบรวมความมั่นใจกลับมาได้บ้างแล้วจึงตัดสินใจลงดำอีกครั้ง แต่คุณกบดูเหมือนยังจะรวบรวมความมั่นใจได้ไม่ครบ เกิดเปลี่ยนใจไม่ลงดำน้ำทั้งที่แต่งตัวเรียบร้อยแล้ว เพราะได้ยินครูศรพูดเล่น ๆ ว่าน้ำยังมีกระแส ส่วนคุณนาวินนั้นบอกว่าน้ำจะมีกระแสหรือไม่ โดยเธอให้เหตุผลว่าจ่ายค่าทัวร์ไปแล้วต้องดำให้คุ้ม

                    แล้วก็คุ้มจริง ๆ ครับสำหรับการลงดำที่ริเชลิวนี้ เพราะอะไรต่อมิอะไรให้พบเห็นล้วนแต่สวยงามและน่าตื่นเต้นทั้งนั้นไม่ว่าจะ เป็นฝูงปลาขนาดใหญ่หลายฝูงที่ว่ายเวียนผ่านไปผ่านมาคล้ายม่านปลาผืนยักษ์ หมึกกระดองที่สะบัดชายครีบพลิ้วไหวผ่านหน้าเราไปในระยะใกล้ชิด ตามพื้นก็มีทั้งปลาสิงโต ปลานกแก้วให้เห็นอยู่เป็นระยะ ๆ หรือแม้แต่ปลาจิ้มฟันจระเข้รูปร่างเหมือนกิ่งไม้ที่ลอยตัวอยู่ใต้หินใหญ่ ตื่นเต้นที่สุดก็คือปลาหมึก Ocotpus ตัวหนึ่งถูกฝูงปลาสากล้อมกรอบเอาไว้ ซึ่งเราก็หยุดรอช่วยลุ้นอย่างระทึกใจจนกระทั่งเจ้าปลาหมึกหลบหนีเข้าใต้ซอก หินไปได้โดยสวัสดิภาพ
                   
                      เมื่อผมกลับขึ้นไปเล่าให้ฟัง คุณกบกับคุณนาวินก็ชักเสียดาย ไดฟ์สุดท้ายที่ริเชลิวในเย็นวันนั้น กลุ่มมือใหม่จึงลงดำกันอย่างพร้อมหน้าด้วยลีลาของกลุ่มมือใหม่ ซึ่งใครเห็นก็จำได้  เพราะจะมีครูศรลอยตัวช้า ๆ ด้วยท่วงท่าสบาย ๆ นำหน้าไป ตามด้วยกลุ่มมือใหม่ซึ่งลอยตัวอยู่สูงกว่า เกาะติดกันมาเป็นพรวน 




ระเริงชลอันดามัน

                  ความสวยงามและความหลากหลายที่ริเชลิวในไดฟ์สุดท้ายผ่านไปด้วยดี ได้พบได้เห็นอะไรมากมายแม้แต่สัตว์ที่ไม่ค่อยจะเห็นได้ง่าย ๆ อย่างกุ้งตัวตลกและกั้งตั๊กแตน ตลอดจนปลาสวยงามอีกเยอะแยะ ดูเหมือนจะประทับมือใหม่โดยถ้วนหน้า แถมยังเรียกความมั่นใจของบรรดามือใหม่ให้เพิ่มขึ้นมาอีกอักโข เพราะนับแต่นั้นมาบรรดามือใหม่ก็ไม่ใครออกอาการถอดใจอีกเลย 

                 ในการดำที่เกาะตาชัย ซึ่งมีกองหินใต้น้ำขนาดใหญ่อยู่ทางตอนใต้ของเกาะ อันเป็นจุดที่นำดำน้ำมักจะมีโอกาสได้พบเห็นสิ่งมีชีวิตระดับบิ๊ก ๆ อย่างปลากระเบนราหูและฉลามวาฬ นอกจากนั้นยังมีปะการังอ่อน กัลปังหา และฝูงปลานานาชนิดให้ดูให้ชมกันอีกด้วย เหล่ามือใหม่ดำชมกันได้อย่างเริงร่า ตบท้ายด้วยการพากันโพสต์ท่าให้คุณหนึ่งและคุณพิสิษฐ์ถ่ายภาพใต้น้ำและวิดีโอกันเป็นการใหญ่ โดยเฉพาะคุณหลานั้นสู้กล้องกว่าใคร เจอที่ไหนเป็นต้องรี่เข้าไปโพสต์ท่า จนคุณนาวินต้องมาลากตัวไปทางอื่นอยู่หลายต่อหลายหน

                    จากเกาะตาชัย เรือสคูบ้าเน็ตมุ่งหน้าย้อนกลับลงหางใต้สู่หมู่เกาะสิมิลัน ซึ่งในตอนแรกจุดหมายของการดำในช่วงบ่ายนี้อยู่ที่คริสต์มาสพอยนต์ อันเป็นแนวหินทางด้านทิศตะวันตกของเกาะเก้า แต่แล้วก็ต้องเปลี่ยนใจเนื่องจากพบว่ากระแสน้ำไหลค่อนข้างแรง จึงแวะลงดำกันที่หินเต่าหน้าเกาะแปดแทน ก่อนจะแล่นไปจอดพักให้ลูกทัวร์ทั้งหลายขึ้นไปยังจุดชมทิวทัศน์หินเรือใบที่เกาะสี่ 

                     แต่ความสนใจของผมในขณะนี้อยู่ที่การจะได้ลงดำน้ำกลางคืน หรือที่เรียกว่าไนต์ไดฟ์ (Night dive) ในคืนนี้มากกว่าเพราะว่ายังไม่เคยลองดำมาก่อน โดยคืนนี้เรือจะจอดให้เราดำกันที่หน้าเกาะเก้า

                    ทีแรกผมก็ระทึกใจกับการได้ลงไนต์ไดฟ์เป็นครั้งแรกอยู่ไม่น้อย ในใจก็กลัวไปสารพัดเช่นว่าลงไปเกิดไฟฉายดับแล้วจะหาทางกลับขึ้นมาไม่ได้ กลัวกระแสน้ำจะพัดพาไปแล้วไม่มีใครเห็นอะไรต่อมิอะไรเยอะแยะ 

                      แต่เมื่อดำลงไปจริง ๆ กลับพบว่า ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด น้ำหรือก็นิ่งใสเพราะอยู่ในอ่าว แถมยังไม่ลึกเท่าไหร่ ผมลองดับไฟฉายดูก็ยังมองเห็น เพราะมีแสงไฟสปอตไลต์จากบนเรือ แต่ก็ไม่มีอะไรให้ดูมากเท่าที่คิดไว้ ที่เห็นอยู่มากมายก็คือปลานกแก้วที่นอนกางมุ้งอยู่ในซอกปะการังแข็งกับกุ้ง มังกรตัวใหญ่ที่ผมเพิ่งเคยเห็นตัวที่มันยังเป็น ๆ วิ่งไปวิ่งมาได้ก็คราวนี้ (ทุกทีเห็นแต่ที่เขาสตัฟฟ์เอาไว้) กับปลาปักเป้าตัวหนึ่งซึ่งพองลมจนตัวกลมเหมือนลูกโป่งเมื่อเราเข้าไปใกล้


ก่อนอำลาอันดามัน

                  ดำแบบสบายมาหลายไดฟ์จนผมและบรรดาพลพรรคมือใหม่ชักจะได้ใจ มาเจอดีเข้าจนได้ในวันสุดท้ายนี้เองละครับ เมื่อมาลงดำไดฟ์แรกของเช้านี้ที่คริสต์มาสพอยนต์ ซึ่งเมื่อวานเราพลาดไป

                   เช้านี้กระแสน้ำก็ยังแรงจัดพัดพวกเราปลิวกระจายโดยถ้วนหน้าเมื่อทิ้งตัวลงมาสัมผัสผิวน้ำ คุณหลานั้นลอยหายไปไหนก็ไม่รู้ ในขณะที่คุณกบกับคุณนาวิน รวมทั้งผมเป็น ๓ คนนั้น ทิ้งตัวดำดิ่งลงไปถึงพื้นได้ แต่ก็อยู่ห่างไกลกันพอสมควร ไปไหนก็ไม่ได้เพราะกระแสน้ำด้านล่างแรงเกินกำลังมือใหม่จะต้านไหว ต้องเกาะติดแน่นอยู่กับพื้นเบื้องล่าง พากันชี้โบ๊ชี้เบ๊ให้ไปหลบหลังหินก้อนใหญ่ซึ่งอยู่ในบริเวณนั้น

                  แม้พวกเราจะไปหลบอยู่หลังหินใหญ่ได้ แต่กระแสน้ำก็ยังไม่ลดความรุนแรงลง เรา ๓ คนจึงยังต้องเกาะหินนิ่งอยู่อย่างนั้น นานจนมีปลายหลายตัวว่ายผ่านมาดูด้วยความสงสัยว่าไอ้เจ้า ๓ ตัวที่เกาะอยู่นี่มันมาทำอะไรกัน พวกเราพยายามมองหาครูศรไปรอบ ๆ แต่ก็ไม่เห็น ยังดีที่อากาศยังมีอยู่อีกมากมายไม่น่าตกใจเท่าไรนัก

                   เกาะหินกันอยู่สักพัก เห็นท่าไม่ดี ครูศรหรือก็ไม่มาสักที คุณนาวินจึงกวักมือให้ดำไปพร้อมกัน ลัดเลาะไปตามแนวก้อนหินใหญ่ซึ่งน้ำไม่ค่อยแรง วนไปวนมากว่า ๓๐ นาที กระแสน้ำจึงได้ค่อยบรรเทาเบาบางลง และครูศรก็พาคุณหลาซึ่งถูกน้ำพัดพาหายไปกลับมาสมทบกันได้ จึงค่อยรู้สึกผ่อนคลายดำท่องเที่ยวกันต่อไป

                  “วู้ วู้” เสียงคุณนาวินซึ่งอากาศหมดไวก่อนใคร ๆ และกำลังจะลอยตัวกลับขึ้นไปสู่ผิวน้ำด้านบน ร้องขึ้น เมื่อผมเงยหน้าขึ้นก็เห็นเงาของสิ่งมีชีวิตขนาดมหิมาวูบผ่านไป

                   มันคือกระเบนราหู หรือแมนตาเรย์ สัตว์น้ำขนาดใหญ่ที่ไม่ใช่จะมีโอกาสได้พบได้เห็นกันง่าย ๆ นักดำน้ำบางคนดำมาเป็นร้อยไดฟ์ยังไม่เคยได้พบเจอ
        
         มือใหม่มักจะโชคดีอยู่เสมอละครับ

                     พวกเราลงดำไดฟ์สุดท้ายที่เกาะห้า ชมสวนปลาไหลทะเล (Garden Eel) ที่อยู่ลึกลงไปถึง ๙๐ ฟุต ซึ่งพวกเราดำลงไปแล้วต้องหยุดหมอบอยู่นิ่ง ๆ ไม่เคลื่อนไหว สักพักมันจะออกมาจากรู ชูคอกันอยู่สลอน และที่นี่เองที่เราได้พบเจอกับกระแสน้ำเย็น (Thermocline) ของจริง ซึ่งล่องลอยมาเป็นวุ้นเลื่อมพรายสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับพลพรรคมือใหม่ เป็นรายการส่งท้ายก่อนอำลาจากอันดามัน

                      แล้วเรือสคูบ้าเน็ตก็ออกเดินทางมุ่งหน้ากลับสู่เกาะภูเก็ตพร้อมด้วยความประทับใจ ในความอลังการแห่งธรรมชาติของท้องทะเลอันดามันที่เต็มเปี่ยมอยู่ในหัวใจของ นักดำน้ำมือใหม่ ซึ่งในวันนี้เมื่อได้ประจักษ์ถึงคุณค่าก็เริ่มรู้สึกรักและอยากปกป้องท้อง ทะเลสีครามอันแสนงดงามของประเทศไทยให้คงอยู่คู่ฟ้าตลอดไปชั่วกาลนาน ,แต่…ก็ยังไม่รู้จะทำอย่างไร
            
                          เอาแค่ดำให้ดี มีมารยาท ระมัดระวังไม่ไปเตะโดนปะการังใต้น้ำจนกระจุยกระจาย ก็น่าจะพอแล้วสำหรับในช่วงนี้
             
                      ก็มือใหม่นี่ครับ จะเอาอะไรกันนักกันหนา…เฮ้อ



ขอขอบคุณ
บริษัทสคูบ้าเน็ต จำกัด
บริษัทโปรเฟสชั่นนอล ไดเวอร์ จำกัด
คุณสมบูรณ์ โสมณวัฒน์
คุณมหิศร จันทรวารีเลขา
คุณพิสิษฐ์ พงศาปรมัตถ์ 

         
          คู่มือนักเดินทาง  
             จักรพันธ์ เมษประสาท…เรียงเรียง
            หมู่เกาะสิมิลันเป็นหมู่เกาะกลางทะเลลึกที่มีลักษณะประดุจดังโอเอซิลกลางทะเลทราย ดังจะเห็นได้จากสภาพความลึกของน้ำทะเลโดยรอบที่จะมีความลึกประมาณ ๕๐-๖๐ เมตร ทั้งสภาพใต้ท้องทะเลของหมู่เกาะยังมากมายไปด้วยกองหินใต้ทะเลน้อยใหญ่ กองหินใต้ทะเลเหล่านี้เองที่เป้นแหล่งยึดเกาะของกลุ่มปะการังใต้น้ำหลายชนิด ก่อให้เกิดระบบนิเวศขนาดใหญ่ที่มีความหลากหลายซับซ้อน
               หมู่เกาะสิมิลัน ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา อยู่ห่างจากท่าเทียบเรือที่ใกล้ที่สุดเป็นเส้นตรงไปทางทิศตะวันออกคือท่า เรือทับละมุ อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา เป็นระยะทางประมาณ ๗๖ กิโลเมตร ซึ่งนับว่าเป็นการเดินทางสู่หมู่เกาสิมิลันที่สั้นที่สุดเป็นเกาะ ๙ เกาะในทะเลอันดามันที่เรียงตัวตามแนวเหนือใต้ นับตั้งแต่เกาะหนึ่งที่อยู่ทางทิศใต้สุดเรียงขึ้นไปทางทิศเหนือเป็นเกาะสอง เกาะสาม เกาะสี่ ตามลำดับ จนสุดปลายเกาะที่เกาะเก้า
               เกาะหนึ่ง (เกาะหูยง) เป็นเกาะขนาดใหญ่ที่มีแนวหาดทรายขาวสะอาดยาวเหยียด ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจแล้วแนวหาดทรายด้านนี้ยังเป็นที่ ขึ้นมาวางไข่ของเต่าทะเลด้วย
               เกาะสอง (เกาะปายัง) และเกาะสาม (เกาะปาหยัน) เป็นเกาะเล็ก ๆ ที่ยังมีมีข้อมูลในการสำรวจ
               เกาะสี่ (เกาะเมียง) เกาะสี่เป็นเกาะขนาดใหญ่ที่มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์กว่าเกาะอื่น ๆ จึงถูกเลือกให้เป็นที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน มีโค้งอ่าวที่สวยงามและหาดทรายขาวสะอาดบริสุทธิ์ ๒ แห่งด้วยกัน คือ ด้านทิศเหนือหรือด้านที่ทำการอุทยานฯ แห่งหนึ่ง และด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ หรือด้านหาดเล็กอีกหนึ่งแห่ง อ่าวทั้ง ๒ แห่งนี้นอกจากจะมีชายหาดที่สวยงามแล้ว ยังใช้เป็นที่จอดเรือหลบลมได้ดี ในฤดูท่องเที่ยวโดยเฉพาะในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์จะมีเรือท่องเที่ยวมาจอด เรียงรายเป็นจำนวนมาก
               เกาะห้า เป็นเกาะหินลูกเล็ก ๆ ที่ไม่มีสิ่งปลูกสร้างใด ๆ ทว่าเป็นที่จอดเรือหลบลมที่ดีสำหรับเรือที่นำพานักท่องเที่ยวมาพักค้างบน เกาะสี่ในตอนกลางคืนจึงมีเรือมาจอดหลบลมที่เกาะนี้เป็นจำนวนมาก ทางด้านทิศตะวันออกของเกาะห้ามีจุดดำน้ำที่น่าสนใจมากจุดหนึ่งชื่อว่า "สวนปลาไหล" (GARDEN EEL) ตั้งชื่อตามลักษณะของผืนดินใต้น้ำที่มีปลาไหลตัวเล็ก ๆ สีขาวอาศัยอยู่บนพื้นทรายชูคอกันอยู่สลอนเต็มไปหมด นอกจากนั้นหินใต้นำในบริเวณเกาะห้าก้อนหนึ่งยังเป็นหินใต้น้ำที่มีสิ่งมี ชีวิตสวยงามจำพวกปะการังอ่อน กัลปังหาต้นใหญ่ ๆ ตลอดจนมีฝูงปลาเล็กอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
                เกาะหก (เกาะปายู) เป็นเกาะใหญ่อีกเกาะหนึ่งที่มีชายหาดสวยงาม ทว่าบริเวณหาดมีหินใต้น้ำเป็นจำวนมากไม่เหมาะกับการเล่นน้ำหรือจอดเรือ แต่ทางด้านทิสตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะหกมีแหล่งดำน้ำลึกที่สวยงามมากจุด หนึ่งลักษณะเป็นชายลาดเทลงสู่ทะเลลึก มีสิ่งมีชีวิตที่สวยงามมากมายหลายชนิด ตั้งแต่ระดับตื้น ๆ แค่ ๒๐-๓๐ ฟุต ไปจนถึงระดับลึกเป็นร้อยฟุต ถัดจากบริเวณนี้ไปทางด้านทิศใต้เป็นแหล่งชมปะการังน้ำตื้นที่น่าสนใจอีก แหล่งหนึ่ง ถัดต่อมาทางด้านหัวเกาะด้านทิศใต้ก็เป็นจุดดำน้ำลึกที่สวยงามมาก นักดำน้ำเรียกจุดดำน้ำนี้ว่าหัวเกาะหก
               เกาะเจ็ด (หินหัวช้าง หรือหินกะโหลก) เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะแห่งนี้ จุดเด่นของเกาะแปดก็คืออ่าวหินเรือใบ เป็นอ่าวขนาดปานกลาง ที่ตรงปลายขวาสุด (หันหน้าออกทะเล) บริเวณอ่าวเป็นหินสูงใหญ่ มีโขดหินรูปลักษณ์ต่าง ๆ วางตัวเรียงราย และตรงส่วนเด่นเป็นสง่าที่สุดของภูเขานี้เป็นที่ตั้งของหินเรือใบ ก้อนหินใหญ่รูปร่างเหมือนใบเรือ ที่ตั้งเด่นเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของหมู่เกาะแห่งนี้ ตรงเชิงเขาของอ่าวแห่งนี้เป็นหาดทรายขนาดใหญ่ เม็ดทรายสีขาวบริสุทธิ์สวยงามไม่แพ้หาดทรายของเกาะอื่น ๆ ด้านทิศตะวันตกตรงข้ามกับอ่าวหินเรือใบเป็นหาดทรายสีขาวสะอาดที่งดงามไม่แพ้ กัน ส่วนภูมิทัศน์ใต้ทะเลของเกาะแปดนั้นก็เป็นที่เลื่องลือในความสวยงามโดยเฉพาะ ที่ FANTASY REEF นับเป็นจุดดำน้ำลึกที่มีชื่อเสียงที่สุดของเกาะแห่งนี้
                เกาะเก้า (เกาะบางู) เป็นเกาะเล็ก ๆ ที่มีโขดหินรูปลักษณ์ต่าง ๆ สวยงามหลากหลายและโดยเฉพาะที่จุดดำน้ำคริสต์มาสพอยนต์นับเป็นจุดดำน้ำที่มี ความสวยงามไม่แพ้จุดดำน้ำอื่น ๆ เช่นเดียวกัน
                เกาะตาชัย เป็นเกาะโดดเดี่ยว อยู่ระหว่างหมู่เกาะสิมิลันและหมู่เกาะสุรินทร์ประกอบไปด้วยหาดทรายยาว เหยียดขาวสะอาดและป่าไม้ร่มครึ้ม แต่เนื่องจากเป็นเกาะที่ไม่มีน้ำจืด จึงปราศจากผู้คนอาศัย ในส่วนการดำน้ำลึก เกาะตาชัยเป็นอีกจุดหนึ่งที่เป็นสุดยอดของแหล่งดำน้ำไทยที่มีความสวยงามไม่ ยิ่งหย่อนกว่าแหล่งดำน้ำอื่น ๆ ปัจจุบันถูกผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน

กิจกรรมที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวคือ กิจกรรมดำน้ำ
                    จุดดำน้ำหลักในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันสามารถแบ่งออก เป็น ๒ พื้นที่ คือ พื้นที่ที่เป็นจุดศึกษาธรรมชาติที่จะต้องใช้อุปกรณ์ดำน้ำแบบใช้ถังอากาศ (SCUBA) และจุดศึกษาธรรมชาติที่อยู่ในบริเวณน้ำตื้นที่สามารถดำน้ำแบบใช้ท่อหายใจ (SNORKELING)

จุดดำน้ำลึก (จากทิศเหนือลงใต้)
๑. กองหินด้านนอกเกาะตาชัย ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของเกาะตาชัย มีลักษณะเป็นยอดหินจมน้ำ มีอยู่ ๒ ยอดใหญ่ ๆ ด้วยกันแวดล้อมด้วยฝูงปลาสากที่มีจำนวนนับร้อย ๆ ตัวในบริเวณนี้ยังเป็นจุดที่มีรายงานการพบปลากระเบนราหูและปลาฉลามวาฬมากที่ สุดด้วย
๒. เกาะบอน เป็นเกาะเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ทางเหนือของหมู่เกาะสิมิลัน สำหรับจุดดำน้ำจะอยู่ในบริเวณกองหินใต้ทางด้านปลายแหลมทิศตะวันตก ในบริเวณนี้มักพบฉลามครีบขาวและปลาฉลามกบอาศัยอยู่เป็นประจำ
๓. กองหินคริสต์มาสพอยนต์ อยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะบางู เป็นจุดดำน้ำที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง เป็นจุดที่มีรายงานว่าพบปลาไหลริบบินสีฟ้า ปลาบู่สีเพลิง กั้งตั๊กแตน รวมทั้งปลาขนาดใหญ่ เช่น ฉลามสีเทาและฉลามครีบขาว รวมทั้งปลากระเบนราหูก็เคยมีผู้พบเห็นเสมอ ๆ
๔. กองหินแฟนตาซี นับได้ว่าเป็นจุดเด่นสำคัญของหมู่เกาะสิมิลันก็ว่าได้ ลักษณะเป็นกองหิน ๓ กอง เราจะพบสัตว์แทบทุกชนิดในน่านน้ำ ไม่ว่าจะเป็นปลาไหลริบบินสีฟ้า ปลาบู่สีเพลิง กุ้งชนิดต่าง ๆ กองหินแฟนตาซีจึงเป็นจุดดำน้ำที่นักดำน้ำลึกไม่ควรพลาด
๕. อ่าวกวางเอน ตั้งอยู่ทางฝั่งระวันออกของเกาะแปด เป็นแนวปะการังชายฝั่งที่ขึ้นอยู่ตามแนวลาดชันของความลึก เป็นจุดที่เหมาะสำหรับการศึกษาปะการังแข็งชนิดต่าง ๆ และพบเต่าทะเลชนิดต่าง ๆ มากมายขึ้นปกคลุมอยู่
๖. แหลมประภาคาร เป็นจุดที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับอ่าวกวางเอน แต่อยู่ถัดลงมาทางด้านปลายแหลมที่ความลึกประมาณ ๑๐๐ ฟุต มีกองหินอยู่ ๒ ก้อน ซึ่งเต็มไปด้วยปะการังอ่อนและกัลปังหาชนิดต่าง ๆ มากมายขึ้นปกคลุมอยู่
๗. หินหัวกะโหลก เป็นอีกจุดหนึ่งที่เราจะพบสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ มากมาย ทั้งสัตว์ขนาดเล็กจำพวกกุ้งและปูชนิดต่าง ๆ รวมทั้งสัตว์ใหญ่ ๆ เช่นกระเบนราหูก็มักจะวนเวียนเข้ามา
๘. หินสามก้อน เป็นจุดดำน้ำที่สวยงามที่สุดอีกแห่งหนึ่ง แนวปะการังในบริเวณนี้จะอยู่ในความลึกตั้งแต่ ๔๐-๑๒๐ ฟุต ในบริเวณนี้เรามักพบฉลามครีบขาวอยู่เสมอ ๆ
๙. หินดอกไม้ เป้นจุดดำน้ำที่เราพบแนวปะการังที่สวยงามมากที่สุดแห่งหนึ่งของสิมิลัน โดยเฉพาะก้อนหินในบริเวณปลายทุ่นจอดเรือนั้นจะเต็มไปด้วยสีสันของปะการังและ กัลปังหาชนิดต่าง ๆ ที่ไม่อาจจะพบได้ในท้องทะเลอื่น
๑๐. หัวเกาะเมียง เป็นจุดดำน้ำลึกที่ค่อนข้างลึกมาก ไม่ค่อยเหมาะสำหรับมือใหม่เป็นจุดดำน้ำที่เรามักพบปลาโรนิน ปลาโรนัน ปลากระเบนขนาดใหญ่
๑๑. สวนปลาไหล ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเกาะห้า มีลักษณะเป็นลานทรายกว้างที่มีปลาไหลชนิดหนึ่งที่เราเรียกว่า Garden eel อาศัยอยู่ในพื้นทรายนับร้อยตัว ปลาไหลชนิดนี้ค่อนข้างตื่นตกใจง่าย เราจึงควรเฝ้าชมอยู่ห่าง ๆ
๑๒. สันฉลาม เป็นจุดดำน้ำลึกที่เป็นหินโผล่น้ำทางด้านใต้ของสิมิลัน อยู่ใกล้ ๆ กับเกาะปายัง เป็นจุดที่มักพบฉลามกบและกระเบนราหูอยู่เสมอ
๑๓. กำแพงเมืองจีน เป็นแนวหินที่มีรูปทรงคล้าย ๆ กับกำแพงเมืองจีนที่ต่อยาวออกมาจากแนวของสันฉลาม เป็นจุดดำน้ำที่กินอาณาบริเวณกว้างมาก ในบริเวณนี้เราจะพบดงกัลปังหารูปพัดเป็นระยะ ๆ ไปตลอดแนวหิน

จุดดำน้ำตื้น
สำหรับจุดดำน้ำตื้นนั้น สามารถดำน้ำเพื่อศึกษาธรรมชาติได้รอบ ๆ เกาะทั้ง ๙ เกาะในเขตอุทยานฯ มีจุดที่น่าสนใจดังนี้
๑. อ่าวเกือก หรือหินเรือใบ เป็นจุดที่เหมาะสำหรับการศึกษาธรรมชาติในตอนกลางคืนส่วนใหญ่สภาพใต้น้ำจะ เป็นปะการังแข็ง เป็นจุดที่เคยมีรายงานว่าพบฝูงปลาขี้ตังเป็ดฝูงใหญ่
๒. อ่าวกวางเอน เป็นจุดชมแนวปะการังแข็งที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของสิมิลัน ปะการังแข็งที่น่าสนใจคือปะการังแปรงล้างขวดซึ่งพบได้ในเขตหมู่เกาะสิมิลัน เท่านั้น นอกจากนี้มักพบเต่าทะเลชนิดต่าง ๆ
๓. หินดอกไม้ เป็นจุดเดียวของสิมิลัน ที่เราอาจจะชมแนวปะการังน้ำลึกโดยการดำน้ำตื้นได้ในเวลาที่น้ำลด
๔. หลังเกาะเมียง เป็นจุดดำน้ำที่อยู่ใกล้ที่ทำการอุทยานฯ มากที่สุด นักท่องเที่ยวสามารถเดินไปจนทะลุถึงบริเวณหาดเล็กที่ตั้งอยู่ไม่ไกลนัก ในบริเวณนี้เป็นอ่าวปิดที่เหมาะสำหรับการศึกษาชีวิตสัตว์

สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจเรียนดำน้ำลึก (SCUBA) สามารถติดต่อสถาบันสอนดำน้ำได้ดังนี้
๑. บริษัทโปรเฟสชั่นนอล ไดฟ์เวอร์ ๑๑๒/๙๕ อาคารมนคลับ ชั้น ๒ ซอยชินเขต ๑ งามวงศ์วาน ทุ่งสองห้อง ดอนเมือง กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ (๐๒) ๙๔๕-๐๐๑๐-๑
เว็บไซต์ : www.prodive.th.com
๒. บริษัทสปอร์ต ไทม์ ๓๙ สุขุมวิท ๔๐ กรุงเทพฯ ๑๐๑๑๐ โทรศัพท์ (๐๒) ๗๑๒-๑๕๓๕-๘
๓. บริษัทจิตถวิลแทรเวล จำกัด ๓๔ หมู่ ๗ แขวงประเวศ กรุงเทพฯ ๑๐๒๕๐ โทรศัพท์ (๐๒) ๗๓๖-๐๓๓๑
๔. บริษัทได๊ฟมาสเตอร์ ๑๑๐/๖๓ ชั้น ๓ ลาดพร้าว ซอย ๘ ถนนลาดพร้าว กรุงเทพฯ ๑๐๙๐๐ โทรศัพท์ (๐๒) ๙๓๘-๔๒๑๖-๗, ๕๑๒-๗๕๕๓, ๒๖๑-๖๗๓๗
๕. บริษัทมนุษย์กบไทย ซอยสายน้ำผึ้ง สุขุมวิท ๒๒ กรุงเทพฯ โทรศัพท์ (๐๒) ๒๕๙-๗๕๕๓, ๒๖๑-๖๗๓๗
๖. บริษัท AQUASPORT โทรศัพท์ (๐๒) ๖๖๒-๑๔๑๗-๘
๗. บริษัท OCEAN DISCOVERY โทรศัพท์ (๐๒) ๘๘๕-๘๘๙๗
๘. บริษัท SAFETY STOP สุขุมวิท ๒๔ กรุงเทพฯ โทรศัพท์ (๐๒) ๒๖๑-๐๐๕๐
๙. บริษัท AQUA ZONE โทรศัพท์ (๐๒) ๖๖๑-๖๑๘๘
๑๐. บริษัท DIVE SUPPLY โทรศัพท์ (๐๒) ๖๖๑-๖๐๘๘
๑๑. บริษัท PLANET SCUBA โทรศัพท์ (๐๒) ๗๒๑-๘๔๐๗
๑๒. บริษัท BAN'S DIVING CENTER โทรศัพท์ (๐๒) ๒๕๓-๘๐๔๓
๑๓. บริษัท MARINE DIVE โทรศัพท์ (๐๒) ๙๓๔-๙๕๐๕
๑๔. บริษัท SCUBA TIME โทรศัพท์ (๐๒) ๖๗๓-๖๑๙๙, ๖๗๓-๖๐๐๐ ต่อ ๓๑๙๗
๑๕. บริษัท PACIFIC SIAM DIVE CENTER โทรศัพท์ (๐๑) ๖๔๒-๐๗๗๔
๑๖. บริษัท FISH'S EYE โทรศัพท์ (๐๑) ๔๘๐-๕๐๗๗