Sunday, April 28, 2019

“เขาระกำ” ศูนย์เรียนรู้การท่องเที่ยวเชิงเกษตรภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง



ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๒ 

            พื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลจำนวน ๑,๑๘๕ ไร่ งดงามด้วยทิวทัศน์เนินเขาน้อยใหญ่ที่เขียวชอุ่มด้วยแมกไม้บึงน้ำกว้าง ทั้งยังประดับประดาด้วยไม้ดอกไม้ประดับสะพรั่งบานละลานตา หากไม่มีใครบอกคงไม่มีทางรู้ว่า เป็นอาณาบริเวณของเรือนจำชั่วคราวเขาระกำ เนื่องจากได้รับการพัฒนาให้เป็นศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เรือนจำชั่วคราวเขาระกำ


“ที่ศูนย์เรียนรู้ฯ แห่งนี้ ดำเนินงานตามโครงการกำลังใจในพระดำริของพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิตติยาภา พระองค์ท่านได้ทรงนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ มาใช้ เพื่อให้ผู้ต้องขังในเรือนจำที่นี่ได้เรียนรู้หลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แล้วนำมาปรับใช้ในชีวิตของตัวเอง จนกว่าจะพ้นโทษไปจากเรือนจำ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ ๙ เมษายน ๒๕๕๓ พระองค์ท่านยังเสด็จมาเป็นองค์ประธานเปิดโครงการกำลังใจรุ่นที่ ๑ ภายในปีเดียวกันด้วย ...เดือนมีนาคม ปี ๒๕๖๐ ทรงมีดำริให้ตรงนี้เป็นศูนย์ท่องเที่ยวเชิงเกษตรเขาระกำจังหวัดตราด ให้เป็นซิกเนเจอร์ของเขาระกำ เป็นสถานที่ท่องเที่ยว...นายเอนก ทองลอย ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดตราดเปิดเผยถึงประวัติความเป็นมา


ภายในศูนย์เรียนรู้ ฯ ได้นำ “ศาสตร์พระราชา” มาปรับใช้อย่างเหมาะสม เช่นการสร้างฝายชะลอน้ำ ๑๙ ชั้น ความยาว ๑,๓๐๐ เมตร เนื่องจากภายในศูนย์เรียนรู้ ฯ เป็นที่สูง เมื่อฝนตกน้ำไหลเร็วและแรง การสร้างฝายชะลอน้ำช่วยให้สามารถกระจายน้ำลงไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ในเขาระกำ สำหรับใช้ในการเกษตร โดยไม่ต้องใช้มอเตอร์ปั๊มน้ำจากอ่างเก็บน้ำขึ้นมา อันจะเป็นการสิ้นเปลืองพลังงาน รวมทั้งมีการสร้างแก้มลิงสำหรับกักเก็บน้ำโดยนำยางรถยนต์ที่ใช้แล้วจากในจังหวัดตราดมาใช้ เป็นการนำวัสดุเหลือใช้มารีไซเคิลอย่างมีประสิทธิภาพ


ในบริเวณพื้นที่อันกว้างขวางมีการจัดสรรที่ดินอย่างเป็นสัดส่วน  แบ่งเป็นที่ตั้งของที่ทำการเรือนจำ อาคารทรงงานภาคสนาม อาคารนิทรรศการที่จัดแสดงพระราชกรณียกิจและพระกรณียกิจของพระบรมวงศานุวงศ์ในจังหวัดตราดและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนั้นจัดเป็นพื้นที่สำหรับการฝึกอาชีพต่าง ๆ  แปลงปลูกป่า แปลงปลูกผักปลอดสารพิษ แปลงเลี้ยงปศุสัตว์ บ่อเลี้ยงปลา การเลี้ยงผึ้งชันโรง 


รวมทั้งฝึกวิชาชีพอีกหลากหลายให้กับผู้ต้องขัง โดยวิทยากรจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่ร่วมสนองพระดำริ เช่น สอนทำขนมวากาชิ โดยวิทยากรโครงการกำลังใจในพระดำริฯ การส่งเสริมการปลูกหม่อนผลและหม่อนใบ นำผลผลิตมาแปรรูปไปจำหน่าย และนำเงินปันผลมาให้กับผู้ต้องขังโดยวิทยากรจากกรมหม่อนไหม การสอนทำบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุน  งานปั้นปูน ปั้นดิน งานแฮนด์เมด



  บนเนินถัดลงมาจากอาคารทรงงานและสะพานกำลังใจจัดสร้างเป็นร้านคอฟฟี่ช็อป Inspire By Princess ตั้งอยู่บนจุดที่สามารถชมทิวทัศน์ได้รอบเกือบจำหน่ายกาแฟ จำหน่ายอาหารหลายชนิด เช่น สเต็ก ก๋วยเตี๋ยวหมูเลียง เครื่องดื่มต่าง ๆ  เปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังที่ใกล้พ้นโทษเข้ามาฝึกอาชีพ เป็นผู้จัดการร้านค้า เป็นพนักงานบริการ เพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาเป็นอาชีพเมื่อพ้นโทษออกไป  ในร้านยังเป็นศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากฝีมือผู้ต้องขังด้วย 

 “เกณฑ์การคัดเลือกผู้ต้องขังเข้ามาร่วมโครงการกำลังใจฯ ต้องเป็นผู้ต้องขังชั้นดีขึ้นไป จำโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๔ ของกำหนดโทษ เหลือโทษจำต่อไปไม่เกิน ๕ ปี  เข้าข่ายพักการลงโทษ ที่เหลือโทษจำต่อไปไม่เกิน ๕ ปี จากเรือนจำภาคตะวันออก จันทบุรี ระยอง จันท์ ตราด สระแก้ว ปราจีนฯ คัดจำแนกมาไว้ตรงนี้   อบรมเรื่องการใช้ชีวิตของตัวเอง การดำเนินชีวิตแบบมีสติโดยใช้ศาสตร์พระราชามาสอน  ๕ เดือนปล่อยเลย...

อยากขอฝากพี่น้องประชาชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำท้องถิ่นท้องที่ เวลาพวกเขาออกไป ให้เขามีที่ยืนในสังคม ช่วยกันประคับประคองให้เขาอยู่ได้ อย่าไปซ้ำเติมว่าเขาเป็นคนขี้คุกขี้ตาราง เราต้องพยายามให้กำลังใจเขา การให้โอกาสคนเป็นสิ่งที่ดีที่สุด... แล้วก็ฝากผู้ประกอบการทั้งหลาย ลองให้โอกาสผู้ก้าวข้าม ลองให้โอกาสเขากลับตัวกลับใจมาใช้ชีวิตอยู่ข้างนอก ช่วยกันประคับประคองให้กำลังใจเขา เหมือนกับที่พระองค์ภาฯ ทรงให้กำลังใจพสกนิกรของท่าน” ผู้บัญชาการเรือนจำกล่าวทิ้งท้าย


ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เรือนจำชั่วคราวเขาระกำ หมู่ ๕ ถนนสุขุมวิท ตำบลเขาสมิง อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด  เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐-๑๕.๐๐ นาฬิกา โทรศัพท์ ๐๘ ๗๑๓๕ ๘๗๘๗  
การเดินทาง จากตัวเมืองตราด ใช้ถนนถนนเทศบาล เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข ๓ (ถนนสุขุมวิท) ประมาณ ๘ กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนทางไปวัดสวนใน ตรงไปอีกประมาณ ๒ กิโลเมตร ศูนย์เรียนรู้ฯ ตั้งอยู่ทางซ้ายมือ