Sunday, December 22, 2019

อ.ส.ท. ยุคฉายหนังกลางแปลง




วิทยา ภูลสนอง...เรื่อง  อ.ส.ท. ภาพ

ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ "เรื่องราวเรื่องเล่า จากเล่มเก่าอ.ส.ท." 
อนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนสิงหาคม ๒๕๖๒

            หน่วยงาน อ.ส.ท. ก่อกำเนิดขึ้นช่วงที่ภัยคอมมิวนิสต์เริ่มก่อหวอดมีฐานที่มั่นอยู่ภาคอีสาน ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และเป็นผู้ก่อตั้ง อ.ส.ท. เล็งเห็นความจำเป็นของการเปิดแนวรุกภาคอีสานด้วยการท่องเที่ยว เพราะเชื่อว่าเมื่อคนเดินทางไปท่องเที่ยวมากขึ้น ผู้คนในท้องถิ่นแถบนั้นก็จะมีงานทำ มีรายได้มากขึ้น จะไม่หันไปหาอุดมการณ์แบบลัทธิคอมมิวนิสต์  ด้วยนโยบายดังกล่าว ทำให้การเดินทางไปอีสานแทบทุกครั้ง พนักงาน อ.ส.ท. ยุคแรก ๆ ซึ่งมีพลโทเฉลิมชัย จารุวัสตร์ เป็นผู้อำนวยการ จึงต้องนำอุปกรณ์ฉายหนัง เครื่องทำไฟ เครื่องบันทึกเสียง ฟิล์มภาพยนตร์ ๑๖ มิลลิเมตรที่ อ.ส.ท. จัดทำไว้ อย่างเช่น วัดพระแก้ว พระบรมมหาราชวัง ตลาดน้ำ และสถานที่น่าเที่ยวในจังหวัดต่าง ๆ ติดไปด้วยทุกครั้ง เพื่อนำไปฉายให้กับชาวบ้านในท้องถิ่นที่ทีมงานเดินทางไปเขียนเรื่องได้ชม  


          หากย้อนกลับไปเปิดดูอนุสาร อ.ส.ท. ยุคแรก ๆ จะพบว่ามีการบันทึกเรื่องราวการฉายหนังกลางแปลงสอดแทรกอยู่หลายครั้ง เช่น เมื่อครั้งเดินทางไปทำสารคดีชีวิตชาว “ภูไท” หรือ “ผู้ไทย” ใน ๓ จังหวัด คือ กาฬสินธุ์ สกลนคร และนครพนม ในเดือนเมษายน ๒๕o๕ เพื่อนำเรื่องราวของชาวผู้ไทยมาเผยแพร่ในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนมิถุนายน ๒๕oคุณคณิตา เลขะกุล (ซึ่งต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เป็นคุณหญิง) เล่าถึงการเดินทางครั้งนั้นไว้ในสารคดี “บนเส้นทางสู่......แผ่นดินภูไท” ว่าคณะเดินทางทั้งหมดมี ๑๑ คน  มีพันเอกสมชาย หิรัญกิจ (ภายหลังเป็นผู้ว่าการ ททท. คนแรก) เป็นหัวหน้าคณะ ช่างภาพคือคุณปราโมทย์ ทัศนาสุวรรณ และคุณสุธรรม ชมชื่น คุณคณิตา เลขะกุล เป็นผู้หญิงคนเดียวในคณะ  การเดินทางใช้รถแลนด์โรเวอร์สำหรับนั่งหนึ่งคัน และมีรถจี๊ปสำหรับใส่อุปกรณ์ต่าง ๆ อีกหนึ่งคัน หมู่บ้านเป้าหมายคือหมุ่บ้านที่มีชาวผู้ไทยอยู่กันอย่างหนาแน่นใน ๓ จังหวัดดังกล่าว คุณคณิตา เลขะกุล บันทีกการเดินทางครั้งนี้ไว้ว่า



 “๑๘ เมษายน ๒๕o๕ ประมาณ ๑๔ นาฬิกา ได้ออกเดินทางจากบ้านนายอำเภอกุฉินารายณ์ รถแล่นไปตามทางเกวียนเข้าสู่หมู่บ้านภูไท หมู่บ้านแรกที่เราจะพักเพื่อศึกษาและสำรวจคือหมู่บ้านกุดสินคุ้มใหม่และคุ้มเก่า.....เมื่อเข้าสู่ที่พักแล้ว พวกเราได้ช่วยกันทำงานทันที ยกสัมภาระเครื่องครัว เครื่องใช้ลงจากรถ ส่วนหนึ่งช่วยกันติดตั้งเครื่องฉายหนัง ลำโพงกระจายเสียง ติดตั้งเครื่องทำไฟ ฯลฯ แล้วประกาศให้พี่น้องบ้านคุ้มเก่าคุ้มใหม่มาชมภาพยนตร์ในคืนวันนั้น กว่าจะเสร็จก็กินเวลานาน อีกส่วนหนึ่งแยกไปเตรียมอาหารเย็น  คืนวันนั้นมีพี่น้องชาวภูไทคุ้มใหม่และคุ้มเก่ามาชมภาพยนตร์ที่เราฉายให้ดูอย่างคับคั่งนับจำนวนพัน ๆ คน มีทั้งเด็ก ผู้เฒ่า ผู้แก่ เห็นแล้วชื่นใจหายเหนื่อย มิเสียแรงบุกป่าฝ่าดงเข้ามา กว่าจะฉายภาพยนตร์เสร็จก็ย่างเข้าหนึ่งนาฬิกาของวันใหม่  ปฏิกิริยาของชาวบ้านเมื่อได้ชมภาพยนตร์นั้น คุณคณิตา เลขะกุล เล่าไว้ในบทความเรื่องเดียวกันว่า”การชมภาพยนตร์ของเขาก็น่าสนุก ถ้าชอบใจตอนไหนก็จะฮากันลั่น มีการเชียร์เสียงดังและตบมือ ฯลฯ” 


          คุณปราโมทย์ ทัศนาสุวรรณ ช่างภาพและนักเขียนที่ร่วมเดินทางไปในครั้งนี้ด้วย พร้อมทั้งช่วยทำหน้าที่ทุกอย่าง ตั้งแต่การติดตั้งจอหนัง เครื่องฉายหนัง เครื่องขยายเสียง จนถึงลงไปพากย์หนังด้วยตัวเอง ได้เล่าถึงจุดมุ่งหมายในการไปฉายหนังตามหมู่บ้านต่าง ๆ ไว้ในสารคดีเรื่อง “บนแผ่นดินถิ่นภูไท” ว่า “คืนนั้นบังเอิญฝนตกลงมาในตอนหัวค่ำ แต่พอฝนหายเราก็เริ่มฉายภาพยนตร์ทันที ชาวบ้านมาชมกันไม่น้อยเลย  ในการเดินทางของเราชาวคณะ อ.ส.ท. ในครั้งนี้นั้น นอกจากจะเสาะแสวงหาเรื่องราวอันน่าสนใจของชาวภูไทมาเผยแพร่แล้ว เรายังทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้เขาได้ทราบถึงการที่รัฐบาลกำลังวางแผนพัฒนาภาคอีสานเป็นการใหญ่ เป็นการบอกให้เขาทราบว่าเขาไม่ได้ถูกทอดทิ้งดังที่มีคำกล่าวให้ร้ายเลย เขาเป็นส่วนหนึ่งของชาติเป็นเจ้าของแผ่นดินไทยด้วยคนหนึ่ง  เราได้ประชาสัมพันธ์ให้ชาวภูไททราบว่าขณะนี้แผนพัฒนาภาคอีสานกำลังเริ่มขึ้นในยุคของรัฐบาลชุดนี้อย่างจริงจัง โดยเริ่มทำผังเมืองใหม่ที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อทำเป็นเมืองศูนย์กลางของภาคอีสาน ถนนหนทางก็กำลังลงมือก่อสร้างอย่างจริงจัง เร่งด่วน.อีกไม่นานในอนาคตอันใกล้นี้ ความเจริญก็จะแผ่มาถึงทุกหมู่บ้านไม่ว่าจะอยู่ห่างไกลเพียงไรก็ตาม”


หลังจากการเดินทางไปยังหมู่บ้านชาวผู้ไทยในจังหวัดกาฬสินธุ์ สกลนคร และนครพนม ในเดือนเมษายน ๒๕๐๕ แล้วอีกไม่กี่เดือนต่อมา พนักงานอนุสาร อ.ส.ท. ก็ได้รับคำสั่งให้เดินทางไปจังหวัดสุรินทร์เพื่อจัดทำอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับแนะนำจังหวัดสุรินทร์เพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในเดือนตุลาคม ๒๕๐๕ ซึ่งการเดินทางครั้งนั้นแม้จะเป็นการเดินทางด้วยรถไฟ คณะทำงานก็ยังได้รับมอบหมายให้นำอุปกรณ์ฉายภาพยนตร์ขึ้นรถไฟไปด้วย เพื่อนำไปฉายให้ชาวสุรินทร์ได้ชม  ในสารคดี “อนุทินการเดินทางสู่สุรินทร์” โดยคุณคณิตา เลขะกุล เล่าถึงการเดินทางไปเก็บข้อมูลพร้อมทั้งนำภาพยนตร์ไปฉายในครั้งนี้ว่า

“๕ กันยายน ๒๕๐๕ เวลา ๑๙.๓๐ ได้เริ่มฉายภาพยนตร์เรื่องนิ้วเพชร Thailand เยี่ยมถิ่นภูไท ถ้ำแก่งละว้า เวียงพิงค์ และช้างไทย ให้ทหารและครอบครัวในค่าย ผส.๓ พัน ๓ ชม ปรากฏว่าได้รับการต้อนรับอย่างเอิกเกริกที่สุด เพราะทหารที่ชมภาพยนตร์คืนนี้ส่วนมากเป็นทหารที่เพิ่งเกณฑ์ใหม่ยังไม่ถึงเดือน จึงยังไม่ได้รับการฝึกให้เก็บความรู้สึก เมื่อรู้สึกอย่างไรก็แสดงออกมาอย่างนั้น สรุปแล้วการฉายภาพยนตร์คืนนี้ได้รับผลดี เสียดายอย่างเดียวว่าเราเตรียมภาพยนตร์ไปฉายน้อยไปหน่อย.... 

๘ กันยายน ๒๕๐๕ ค่ำวันนี้ได้ฉายภาพยนตร์ให้พี่น้องชาวสุรินทร์ชมที่ศาลากลางจังหวัด ฝนตกตลอดเวลา ลมแรงจนจอล้มไปทีหนึ่ง แต่ก็ฉายจนจบทุกเรื่อง ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด ฯลฯ และครอบครัวได้มาชมอยู่ด้วย......

๙ กันยายน ๒๕๐๕ โปรแกรมวันนี้อยู่ที่ท่าตูม ราว ๆ สามโมงเช้าขนเครื่องมือทำมาหากินหลายชิ้น ชิ้นหนึ่งหนักหลายกิโล และต้องการความทะนุถนอมยิ่งกว่าผู้หญิง นี่เป็นการขนครั้งที่ ๒๓  น้ำลด.....ทางแห้งกว่าเมื่อวาน  แต่บ่อหลุม....คลื่น....บนถนนยังไม่ดีกว่า พอรถแล่น เจ้าก็เริ่มเข้าทรงทั่วถึงกันทุกคน สงสารเครื่องฉายหนัง เครื่องขยายเสียง เครื่องบันทึกเสียง ส่วนตัวเองนั้น.... ช่างมันเถอะ  ถึงท่าตูม....เตรียมการฉายหนังเสร็จก็เปิดเพลงโหมโรง  “สวัสดีบางกอก” เป็นเพลงแรกที่อัดเทปไป เสียงของอ้อย อัจฉรา กังวานออกไปจากลำโพง “อย่าไปเลยบางกอกจะบอกให้... “พวกเราหันมามองหน้ากัน เป็นอย่างนี้ทุกทีที่เปิด เพราะต่างรู้สึกชอบกล ๆ อยู่ในหัวใจ.....คนที่นั่นคั้นแต่ตัวหัวกะทิ หัวใจสิแสนบ้าใบหน้าใส....แต่ค่อยโล่งใจขึ้นมาได้เมื่อหม่อมถนัดศรีร้องแก้ด้วยเพลง อย่าเกลียดบางกอก.....หากเจ้าพบพี่ก่อนถูกหลอนใจ คงไม่ไปไกลบางกอกหรอกแม่คุณ.....


ชาวท่าตูมมาดูหนังของเรามากพอดู น้ำฝนที่ตกหนักลงมาเมื่อวันก่อนทำให้บริเวณนั้นเจิ่งนองอยู่ พื้นแห้ง ๆ ค่อนข้างจะจำกัดจำเขี่ย นักดูทรหด บางกลุ่มถกกางเกงขาก๊วยลงไปยืนแช่น้ำครึ่งน่อง ตั้งอกตั้งใจดูอย่างไม่อาทร  ชาวพื้นเมืองเก้าสิบห้าเปอร์เซ็นต์ไม่มีโอกาสได้เดินทางออกจากภูมิลำเนาไปไหน ภาพยนตร์ที่แสดงภูมิประเทศ ความเจริญของวัตถุ ความสวยงามของศิลปะ อย่างที่เราขนเอาไปฉายนั้นจึงได้รับความสนใจไม่ยิ่งหย่อนกว่าหนังคาวบอย นับว่าไม่น่าเสียดายงบประมาณจำกัดจำเขี่ยที่มอบให้คณะเราขนอุปกรณ์การฉายหนังกลางแปลง ทุลักทุเล ตระเวนไปอย่างนั้น”

ถึงวันนี้ไม่มีคอมมิวนิสต์ให้ต้องหวาดผวาอีกแล้ว อีกทั้งการคมนาคมก็สะดวกสบาย ชาวบ้านในถิ่นห่างไกล มีโอกาสได้ชมภาพยนตร์ผ่านจอโทรทัศน์กันอย่างแพร่หลาย นี่คือภารกิจหนึ่งของอนุสาร อ.ส.ท. ในอดีต ที่หลายคนอาจนึกไม่ถึง