Thursday, December 15, 2016

Lanna Fam Trip โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวตลาดเชิงรุกกลุ่มล้านนา


ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...รายงาน
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน อนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนมกราคม ๒๕๖๐

เขตพัฒนาการการท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา ประกอบด้วยจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดลำปาง จังหวัดลำพูน และจังหวัดพะเยา จัดงาน “โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวตลาดเชิงรุกกลุ่มล้านนา”  ขึ้นระหว่างวันที่ ๑๕-๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ นำคณะผู้ประกอบการธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและสื่อมวลชนร่วมเดินทางทัศนศึกษาบนเส้นทางเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พะเยา และเชียงราย

เริ่มด้วยการนำคณะเข้าร่วมกิจกรรมสัมมนา ณ ศูนย์ประชุมนานานาชาติคุ้มคำ คุ้มขันโตก ในประเด็นภาพรวมยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวในเขตอารยธรรมล้านนา ความโดดเด่นและศักยภาพของกลุ่มจังหวัดในอารยธรรมล้านนา และแผนพัฒนาเพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยนายประจวบ กันทิยะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เป็นประธานในพิธีเปิด ก่อนจะเริ่มการเสวนาอย่างเป็นทางการ



            นายสุทน วิชัยรัตน์  ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ในฐานะศูนย์กลางของ ๕ จังหวัด ได้กล่าวถึงเขตอารยธรรมล้านนา ว่ามีจุดเด่นด้านทรัพยากรทางท่องเที่ยวอันหลากหลาย ทำให้ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ คือมีทั้งประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ภูมิปัญญาพื้นบ้าน และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ที่มีทั้งภูมิประเทศแวดล้อมด้วยทิวเทือกเขาน้อยใหญ่ แหล่งต้นน้ำลำธาร น้ำตก อากาศเย็นสบาย

แนวโน้มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวถือว่าเติบโตดีมากเมื่อเทียบกับภาคอื่น โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงสุดอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ รองลงมาคือเชียงราย ลำพูน ลำปาง และพะเยา ตามลำดับ ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยสูงสุดอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูนและพะเยา


            เมื่อกล่าวถึงแนวทางของแต่ละจังหวัด นางสาวปานปรียา พลเยี่ยม  ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า “เชียงรายมุ่งส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ คือโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยจะเน้นเรื่องของสมเด็จย่าเป็นหลัก อีกทั้งเร่งสร้างแบรนด์ของเชียงรายคือ “ฮักเจียงฮาย” รวมทั้งมาสค็อต “น้องกอดอุ่น” ให้ติดตลาด
 
ด้านศิลปวัฒนธรรมก็ชูวัดวาอาราม และพิพิธภัณฑ์น่าสนใจต่าง ๆ ที่เชียงรายมีอยู่มากมาย อย่างเช่น วัดร่องขุ่น ไร่เชิงตะวัน และพิพิธภัณฑ์บ้านดำ เป็นต้น นอกจากนี้ในปี ๒๕๖๐  ยังจะนำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวเลียบชายแดนผาบ่อง ผาตั้ง นิวซีแลนด์เมืองไทย ภูชี้ฟ้า ภูชี้ดาว ภูชี้เดือน และเส้นทางเที่ยวชุมชน บนวิถีชา-กาแฟ บนดอยแม่สะลองอีกด้วย”

            นายธณัท ปภพธนานนท์  ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดลำพูน   “ลำพูนเป็นจังหวัดที่มีประวัติความเป็นมาเก่าแก่ยาวนานที่สุดคือ ๑,๓๐๐- ๑,๔๐๐ปี คืออาณาจักรหริภุญไชยเป็นดินแดนปฐมอารยธรรม จึงอุดมด้วยวัฒนธรรมประเพณีอันงดงามน่าสนใจ ในขณะที่อุทยานแห่งชาติดอยขุนตานและอุทยานแห่งชาติแม่ปิง ก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์ ซึ่งแนวทางการส่งเสริมต่อไป คือให้ลำพูนเป็นเมืองจุดหมายปลายทางเชิงประสบการณ์วัฒนธรรมด้วย ได้แก่ ไหว้พระธาตุหริภุญไชย ชิมลำไย สักการะกู่ช้าง กู่ม้า งามตาผ้าไหม สะพานทาชมพู  ไหว้สาครูบา ดินแดนธรรม”

นายสวัสดิ์ มูลภาที ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดลำปาง “เมืองลำปางเป็นเมืองน้องรองจากเมืองลำพูนคือมีอายุ ๑,๒๓๘ ปี เป็น ที่ผ่านมาได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในสิบสองเมืองต้องห้ามพลาดของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ทางผ่านขึ้นไปจังหวัดเชียงรายเรามีบ้านหลุก หมู่บ้านแกะสลักไม้ เหมืองถ่านหินแม่เมาะ ถ้ำประตูผา ทางอำเภอแจ้ห่มก็มีวัดเฉลิมพระเกียรติ น้ำตกแจ้ซ้อน แหล่งน้ำพุร้อน ไข่ออนเซ็น

 แนวทางในการพัฒนา เน้นให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอินดี้ เน้นสร้างสรรค์สถานที่ถ่ายภาพเซลฟี่ ในขณะเดียวกันแหล่งท่องเที่ยวทางด้านศิลปวัฒนธรรมก็ไม่ได้ทอดทิ้ง จะส่งเสริมชุมชนท่องเที่ยวต่าง ๆ ในลำปางให้สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง  บ้านปงถ้ำ พุทธอุทยาน ๒๙ ปาง สร้างใน ๓๐ วัน  พระแกะสลักบนหน้าผา ดอยหนอก ทิวทัศน์ ๔ จังหวัด” 
  
นายวีระวุฒิ ต๊ะปินตา  ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดพะเยา “พะเยาจะเน้นการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มเนื่องจากยังมีรายได้น้อยอยู่ พะเยาเองมีอารยธรรมซึ่งมีความสัมพันธ์กับเชียงราย ยังหลงเหลือร่องรอยในโบราณสถานเวียงลอ ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านของเชียงราย ขุดพบโครงกระดูก เครื่องบั้นดินเผาเก่าแก่ ปัจจุบันเพิ่มกิจกรรมล่องเรือในลำน้ำอิงผ่านบริเวณเวียงลอ
 
อีกแห่งที่กำลังพัฒนาคืออุทยานพุทธศิลป์ห้วยผักเกี๋ยง บนเพิงผาหินทรายแกะสลักเป็นพระพุทธรูปเรียงรายหลากหลายปาง ยังมีทิวเทือกเขาผายาวหรือพะเยา เส้นทางบ่อสิบสองศึกษาธรรมชาติ มีผาหัวเรือเหมือนภูชี้ฟ้าเป็นจุดชมทิวทัศน์มองเห็นกว๊านพะเยาจากมุมสูง

อนาคตจะเป็นการให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับ ๔ ประสบการณ์ได้แก่ เส้นทางท่องเที่ยวชายแดน เส้นทางภูซาง-เชียงคำ-หลวงพระบาง เส้นทางเที่ยวเชิงเกษตร แม่ใจ ภูกามยาว ชุมชนม้ง ชิมกาแฟสด เส้นทางท่องเที่ยวเชิงผจญภัย ล่องแก่ง ตามรอยไดโนเสาร์  และเส้นทางปั่นจักรยาน เยี่ยมชมชุมชนประมงพื้นบ้าน หล่ายกว๊านรอบกว๊านพะเยา”

“แต่ละจังหวัดมีของดีเด่น เชียงใหม่นั้นทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการคมนาคม โดยเฉพาะสายการบินที่เชื่อมโยง ๑๓ เมืองหลักทั่วไทย  ๑๙ เมืองในต่างประเทศ จีน ๙ เส้นทาง ทั้งยังเป็นศูนย์รวมเส้นทางที่จะเชื่อมโยงไปได้ทั่วทุกจังหวัดในกลุ่มอารยธรรมล้านนาด้วย” นายสุทน วิชัยรัตน์ กล่าวสรุปก่อนจะมีการเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวจากแต่ละจังหวัดได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวคิดและสินค้าจากภูมิปัญญาท้องถิ่นกัน ซึ่งบริเวณหน้าสถานที่จัดเสวนายังได้จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์พื้นบ้านจากแต่ละจังหวัด ในรูปแบบของตลาดนัดอย่างครึกครื้น


ปิดท้ายรายการในวันแรกด้วยงานเลี้ยงแบบขันโตกดินเนอร์ พร้อมด้วยการแสดงนาฏศิลป์พื้นเมืองจากแต่ละจังหวัดในเขตอารยธรรมล้านนา ให้ผู้ร่วมโครงการ อันได้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและสื่อมวลชนในหลากหลายสาขาได้ชม อิ่มอร่อยกับอาหารพื้นบ้าน ตื่นตากับการการแสดงพื้นถิ่น ประทับใจกันไปโดยถ้วนหน้า


รุ่งขึ้นจึงเป็นกิจกรรมทัศนศึกษาบนเส้นทางท่องเที่ยวเขตอารยธรรมล้านนา โดยเน้นการนำผู้ร่วมโครงการ ฯ เยี่ยมชมศิลปกรรมอันล้ำค่าสืบเนื่องจากอดีตกาลสู่ปัจจุบัน เชื่อมโยงกันด้วยจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่อย่างน่าสนใจ โดยเริ่มจากเชียงใหม่ในฐานะประตูต้อนรับสู่ล้านนา


คณะทัศนศึกษาประเดิมด้วยการไปสักการะองค์พระธาตุดอยสุเทพ ปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมือง เพื่อความเป็นศิริมงคล ก่อนจะเดินทางสู่เวียงกุมกาม อดีตนครหลวงแห่งแรกของอาณาจักรล้านนา นั่งรถตระเวนชมยังร่องรอยโบราณสถานที่ขุดพบแล้วมากมายกว่าสิบแห่ง และเชื่อว่ายังมีฝังตัวใต้พิภพรอการค้นพบอยู่อีกนับไม่ถ้วน


เดินทางต่อไปยังลำพูน เมืองวัฒนธรรมที่มีประวัติความเป็นมาเก่าแก่ที่สุดในถิ่นล้านนา ย้อนหลังไปได้ถึงพันกว่าปี ในสมัยของอาณาจักรหริภุญไชย ชาวคณะเข้าสักการะองค์พระธาตุหริภุญไชยสีทองอร่ามงามตา ก่อนแวะสักการะพระราชานุสาวรีย์พระนางจามเทวี ปฐมกษัตรีย์ผู้ก่อตั้งอาณาจักรแห่งแรก 


แล้วจึงเข้าเยี่ยมชมการผลิตผ้าไหมยกดอกลำพูน หัตถศิลป์อันประณีตบรรจง ด้วยลักษณะเฉพาะตัว แต่ละผืนไม่เหมือนใคร เนื่องจากใช้การทอด้วยมือทีละผืน ณ พิพิธภัณฑ์ลำพูนผ้าไหมไทย


เลยต่อไปถึงลำปาง เมืองที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามเวลา ยังคงความงดงามทางสถาปัตยกรรมเก่าแก่เยี่ยมเยือนภายในบริเวณวัดพระธาตุลำปางหลวง ชมเงาสะท้อนพระธาตุในหอไตร อันสะท้อนถึงภูมิปัญญาช่างโบราณ เป็นการปิดท้ายรายการทัศนศึกษาในวันแรก


เช้าวันที่สองเริ่มด้วยการเดินทางไปชมวิหารมณฑปจัตุรมุข ที่วัดปงสนุก  ซึ่งทุกชิ้นส่วนของสถาปัตยกรรมที่ประกอบขึ้นมาซ่อนเร้นเรื่องราวที่สัมพันธ์กับความเชื่อทางพุทธศาสนาเอาไว้ในเชิงสัญลักษณ์อย่างมากมาย จนได้รับยกย่องเป็นมรดกทางวัฒนธรรมจากองค์การ UNESCO  ในบริเวณวัดยังมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่เก็บรวมรวมศิลปกรรมท้องถิ่นที่น่าสนใจอีกไม่น้อย


วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดารามคือจุดหมายถัดมา ประติมากรรมกามเทพฝรั่ง แกะสลักจากไม้ ประดับประดาบนเพดานในวิหารแบบพม่าหน้าเจดีย์ ฝีมือช่างจากพม่า สะกดให้ชาวคณะวนเวียนชมกันอยู่อย่างไม่รู้เบื่อหน่าย 


จนสาย ๆ จึงค่อยเคลื่อนขบวนไปยังโรงงานผลิตเซรามิคธนบดี แหล่งผลิตเครื่องถ้วยชามเซรามิคแห่งแรกของจังหวัดลำปาง ที่ปัจจุบันอนุรักษ์เตาเผาดั้งเดิมที่เรียกว่าเตามังกรเอาไว้ พร้อมจัดสร้างนิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของถ้วยชามกาไก่ จากอดีตแบบทำมือทุกขั้นตอนการผลิต สู่ปัจจุบันซึ่งเป็นโรงงานอันทันสมัย ไว้อย่างน่าตื่นตา


            ช่วงบ่ายคณะจึงเดินทางถึงพะเยา เมืองแห่งความสงบงามเรียบง่าย ใกล้ชิดธรรมชาติ แวะสักการะพระพุทธรูปใหญ่แห่งล้านนา พระเจ้าตนหลวง วัดศรีโคมคำ ชมจิตรกรรมฝีมือศิลปินแห่งชาติ อังคาร กัลยาณพงศ์ ในวิหารริมน้ำ ก่อนจะขึ้นเขาไปชมพุทธศิลป์ศิลาทราย 


            พระพุทธรูปแกะสลักนูนต่ำน้อยใหญ่ ปางต่าง ๆ มากมาย เรียงรายบนแนวผากลางผืนไพรในวัดห้วยผาเกี๋ยง อันเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ที่กำลังมาแรง 


            ส่งท้ายรายการของวันด้วยการพากันล่องเรือสู่วัดติโลกอาราม วิหารโบราณกลางผืนน้ำกว๊านพะเยา สถานที่เวียนเทียนในวันสำคัญทางศาสนา ซึ่งบรรยากาศในยามเย็นดวงอาทิตย์ลับฟ้าแสงสีสวยจับตา สุดแสนประทับใจ



            อรุณรุ่งวันสุดท้ายเริ่มขึ้นที่เชียงราย เมืองต้นกำเนิดล้านนา แหล่งอารยธรรมดั้งเดิมที่ผสมผสานศิลปกรรมเก่าใหม่เอาไว้อย่างลงตัว หลักจากสักการะพระแก้วมรกต ที่วัดพระแก้วเชียงรายใจกลางเมืองแล้วคณะทัศนศึกษาก็มุ่งสู่วัดร่องเสือเต้น อารามสีครามเข้มอันงดงามอลังการ ประดับประดาด้วยประติมากรรมลอยตัว นูนสูงและนูนต่ำ ในรูปแบบที่เห็นปุ๊บก็รู้ว่ารังสรรค์ขึ้นโดยศิษย์ของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์


จบเส้นทางการทัศนศึกษากันที่วัดห้วยปลากั้ง ซึ่งตั้งอยู่ภายในบริเวณอันกว้างขวาง เหนือเนินเขาละลานตระการตาด้วยสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานกันระหว่างอิทธพลศิลปกรรมจีนกับศิลปกรรมแบบล้านนา อย่างเจดีย์ ๙ ชั้น “พบโชคธรรมเจดีย์” วิหารสีขาวสะอาดตา และประติมากรรมองค์เจ้าแม่กวนอิมสีขาวสูงเสียดฟ้า ซึ่งภายในองค์มีลิฟต์สามารถขึ้นไปชมทิวทัศน์จากด้านบนได้




โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวตลาดเชิงรุกกลุ่มล้านนา (Lanna Fam Trip) นี้จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยวในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา โดยเป็นการประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยวที่มีจุดเด่นน่าสนใจ อันจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว เพิ่มมูลค่าด้านการบริการ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ ฯ ได้ที่ คุณภาวิณีย์ เอี่ยมอำพร (กวาง) ๐๘ ๕๒๔๗ ๗๓๐๙