Tuesday, December 30, 2014

ชมสีสันดอกไม้บาน ในงานมหัศจรรย์พรรณไม้นานาชาติขอนแก่น ๒๕๕๗


            ภาคภูมิ น้อยวัฒน์ ...เรื่องและภาพ
            
            เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญให้เหินฟ้าไปยังจังหวัดขอนแก่น เพื่อร่วมเป็นกรรมการตัดสินภาพถ่ายของ “โครงการประกวดภาพถ่ายในสวนสวย ในงานมหัศจรรย์พรรณไม้นานาชาติขอนแก่นประจำปี ๒๕๕๗” ที่จัดโดยศูนย์เยาวชนและครอบครัว เทศบาลนครขอนแก่น
            
             เดินทางไปถึงก่อนใคร เพราะกรรมการอีก ๒ ท่านยังไม่มา (ท่านหนึ่งความจริงต้องมาไฟลท์เดียวกับผมนี่แหละ แต่บังเอิญตกเครื่องบิน เลยต้องมาไฟลท์เย็นแทน ส่วนอีกท่านขับรถมาจากอุบลฯ เห็นว่าถึงค่ำ ๆ ) ผมก็เลยมีเวลาที่จะไปเดินเตร็ดเตร่ดูบรรยากาศในงาน ถือว่าเป็นการสำรวจสถานที่เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการตัดสินให้คะแนนไปในตัว
             


               งานนี้จัดขึ้นที่สวนสาธารณะบึงทุ่งสร้างครับ โดยเทศบาลนครขอนแก่นเขาร่วมกับทางจังหวัดขอนแก่น จัดงานมหัศจรรย์พรรณไม้นานาชาติขอนแก่น ประจำปี๒๕๕๗  เห็นว่าปีนี้เป็นปีที่ ๒ แล้ว โดยเนรมิตพื้นที่ ๗๓ไร่ ให้ตระการตาด้วยมวลหมู่ดอกไม้หลากสีสันสะพรั่งบาน รวมเวลาสองสัปดาห์กว่า ๆ ตั้งแต่วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๗ ถึงวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๕๘

              แค่เข้าสู่บริเวณลานจอดรถก็พอจะทำให้รู้ว่ามีผู้คนให้ความสนใจมากขนาดไหน เพราะเนืองแน่นไปด้วยรถรานานาชนิด  ผ่านซุ้มประตูทางเข้าซึ่งมีช่องแบ่งประเภทผู้มาชมจากในท้องถิ่น จากต่างถิ่น และจากกรุงเทพฯ  เข้าไป ก็จะพบกับโซนประตูมิติมหัศจรรย์  



สองฟากฝั่งทางเดินประดับประดาด้วยไม้ดอกไม้ใบหลายหลากสีเป็นทิวแถวยาว ให้ความรู้สึกเหมือนก้าวเข้าสู่มิติแห่งสีสัน  กึ่งกลางทางเดินมีโต๊ะลงทะเบียนพร้อมเจ้าหน้าที่นั่งยิ้มอยู่ แค่เข้าไปลงชื่อเท่านั้น ก็จะได้รับแผ่นแม็กเนตหรือแม่เหล็กติดตู้เย็นเป็นภาพทิวทัศน์ของงานไปเป็นที่ระลึกแล้ว ๑ แผ่น

โดดเด่นเป็นสง่าอยู่เบื้องหน้ากึ่งกลางทางเดินคือหอแคนคำ หอคอยเหล็กสูง ๓ ชั้นตระหง่านอยู่ในลานใหญ่ที่สะพรั่งบานละลานตาด้วยไม้ดอกไม้ประดับสารพัดสี ตรงนี้เรียกชื่อว่าโซนอะเมซิ่งชิงช้าสวรรค์ เห็นทีแรกผมก็งง ๆ อยู่เหมือนกันครับว่าชิงช้าสวรรค์ยังไง เพราะเห็นมีแต่หอคอยกับดอกไม้ ปริศนามากระจ่างก็ตอนที่เดินขึ้นไปบนหอแคนคำ แล้วมองลงมา นั่นแหละถึงได้เห็นว่า ลานกว้างอันเต็มไปด้วยหมู่มวลบุปผานานาพรรณนั้น เมื่อมองจากด้านบนจะเห็นเป็นภาพชิงช้าสวรรค์ที่มีรูปดาวอยู่กึ่งกลาง (อะเมซิ่งจริง ๆ ด้วยแฮะ) 



เดินเวียนอ้อมบึงน้ำใหญ่ไปทางขวาจัดเป็นโซนผจญภัยปราสาทเทพนิยาย บนลานกว้างดารดาษไปด้วยดอกไม้จัดวางสลับสีสันตัดกันอย่างสวยงาม โดยริมทุ่งดอกไม้เป็นที่ตั้งของปราสาทฝรั่งแบบในนิทาน ทำจากแผ่นไม้อัดทาสี เรียงรายอยู่เป็นฉากหลัง ให้นักท่องเที่ยวถ่ายภาพ ริมน้ำใกล้ ๆ กัน ยังตกแต่งดอกไม้เป็นรูปปลาหมึกยักษ์ขนาดใหญ่ เรียกว่าโซนหมึกยักษ์ใต้ทะเลลึก  ซึ่งดึงดูดความสนใจจากบรรดาเด็ก ๆ ที่มาเที่ยวงานได้มากเป็นพิเศษ



เดินต่อไปอีกหน่อยเป็นโซนสวนกระชับพื้นที่ เรียงรายไปด้วย “สวนแนวตั้ง” ไม้ดอกไม้ประดับวัสดุพื้นบ้านถูกนำมาจัดวางตามแนวคิดจากสถาบันการศึกษาในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นที่ต่างสร้างสรรค์สวนของตนเองด้วยสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองอย่างน่าสนใจ


กรงนกขนาดใหญ่ถูกจัดให้เป็นพื้นที่ของโซนอาณาจักรคนรักกล้วยไม้ ตกแต่งภายในโดยจำลองบรรยากาศของป่าดงดิบมาไว้ สองข้างทางเดินที่ลัดเลาะลดเลี้ยวเป็นวงกลมกับสะพานสูงซึ่งทอดผ่านเข้าไปในความเขียวขจี สะพรั่งบานด้วยดอกกล้วยไม้น้อยใหญ่ หลากรูปทรง หลายสีสัน ชูช่อกันไสว ขนาดไม่ค่อยรู้จักว่าดอกอะไรเป็นดอกอะไร ยังต้องใช้เวลาแวะยืนชื่นชมความงามอยู่นาน





ข้ามธารน้ำผ่านโซนสะพานStory love ที่ประดับอย่างอลังการด้วยซุ้มรูปหัวใจเรียงรายซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ท่ามกลางดอกไม้สีชมพูเรียงรายสองฝั่งอย่างหวานแหวว เข้าไป ตรงนี้ถือว่าเป็นไฮไลต์ เรียกชื่อว่า โซนวินเทจสไตล์อังกฤษ ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้เหยียบย่างเข้าไป ด้วยสวนสวยรูปวงกลม มีระเบียงสูงให้ขึ้นไปยืนชมความละลานตาด้วยสีสันสดใสของดอกไม้เมืองหนาว ซึ่งเรียงรายกันอยู่ 

เบื้องล่าง ทั้งดอกลิลลี่ ดอกทิวลิป สารพัดสี โดยในบริเวณมีการพ่นละออกน้ำเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับบรรดาไม้ดอกเหล่านี้อยู่เป็นระยะ บรรยากาศเหมือนกับอยู่ในม่านหมอกยังไงยังงั้น ทำเอาแทบทุกคนที่ผ่านเข้ามาในโซนนี้หลงใหลใช้เวลาอยู่ในบริเวณนี้เนิ่นนานเป็นพิเศษ


กลับออกมาทางโซนทุ่งดอกกระดาษ ดอกไม้จริง ๆ ที่มองดูเหมือนทำจากกระดาษ ผ่านโซนถุวิเศษโปรยสุข กับโซนปาร์ตี้บอลลูน  ซึ่งจัดเป็นสวนหย่อมตกแต่งด้วยดอกไม้เรียงรายกันอยู่  และโซน ย.ยักษ์จอมซ่าส์ อันน่าสนใจด้วยประติมากรรมรูปยักษ์ขนาดใหญ่ ให้เด็ก ๆ ได้เล่นปีนป่ายกันเป็นที่สนุกสนาน  โดยมีโซนไดโนเสาร์ตะลุยสวน ที่มีรูปหล่อไฟเบอร์ไดโนเสาร์หลากหลายพันธุ์ เป็นรายการปิดท้าย  ก็เป็นอันว่าผมได้เดินเที่ยวชมเป็นวงกลมครบถ้วน เมื่อยขากำลังดี 


ถือได้ว่าเป็นอีกงานหนึ่งที่มีความสวยงามน่าประทับใจ โดยเฉพาะใครผ่านทางมาแถวนี้ เหมาะที่จะแวะเวียนเข้าไปเที่ยวชม ยิ่งในยามที่ลมหนาวพัดโชยมาอย่างในช่วงปีใหม่ ได้บรรยากาศดีอย่าบอกใครเชียวละครับ


 วันรุ่งขึ้นผมไปทำหน้าที่กรรมการตัดสินภาพ ยังได้เห็นภาพที่ถ่ายจากในงานนี้ ในมุมมองสวย ๆ มากมาย ใครมาไม่ทันปีหน้าค่อยมาก็ยังได้  เห็นว่าเขาจะจัดให้มีทุกปี 

แต่ไม่รู้ปีหน้าเขาจะเชิญผมมาเป็นกรรมการอีกหรือเปล่านะ เอาเป็นว่า ถ้าเชิญ ก็จะได้พบผมไปเดินท่อม ๆ อยู่ในงานแน่นอนครับ  

Monday, July 21, 2014

Muse Mobile มิวเซียมติดล้อ ชุดที่ ๓ ที่จังหวัดมหาสารคาม


ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...รายงาน
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท.ปีที่ ๕๕ ฉบับที่ ๑  ประจำเดือนสิงหาคม ๒๕๕๗

สถาบันพิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) จัดโครงการ Muse Mobileมิวเซียมติดล้อ” เพื่อเป็นต้นแบบของการสร้างพื้นที่ของการเรียนรู้ใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย อันจะนำไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้  เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศในทุก ๆ ด้านต่อไป

“มิวเซียมติดล้อ” คือรูปแบบพิพิธภัณฑ์แนวใหม่ที่จัดทำนิทรรศการไว้ในตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ด้วยเทคนิคการนำเสนออันทันสมัยและน่าสนใจ แล้วนำไปจัดแสดงตามสถานที่ต่าง ๆ ในลักษณะ พิพิธภัณฑ์เคลื่อนที่ เพื่อสร้างพื้นที่ใหม่ ๆ ของการเรียนรู้สู่ทุกภูมิภาคของประเทศ  โดยเน้นการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เข้าเยี่ยมชม ที่ผ่านมาทางสพร.ได้จัดทำนิทรรศการในรูปแบบ “มิวเซียมติดล้อ” ไปแล้วรวม ๓ ชุด ชุดแรกคือนิทรรศการ “เรียงความประเทศไทย ฉบับย่อ” เดินทางไปจัดแสดงมาแล้วใน  ๑๓ จังหวัด ชุดที่สองคือ นิทรรศการ “ฮู้จักเพื่อนไทย เข้าใจตัวตนคนอีสาน” จัดแสดงแล้วใน ๖ จังหวัด


ล่าสุดชุดที่สาม คือนิทรรศการ ”อัจฉริยภาพตัวตนคนอีสาน”  ประเดิมแสดงที่จังหวัดมหาสารคามเป็นแห่งแรก โดยร่วมกับเทศบาลเมืองมหาสารคาม จัดขึ้นที่บริเวณลานจอดรถหน้าห้างสรรพสินค้าเสริมไทยคอมเพล็กซ์ จังหวัดมหาสารคาม เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากเด็ก เยาวชน และประชาชนในท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก  โดยในคอนเทนเนอร์ใหญ่ ๔  หลังที่เรียงกันเป็นรูปตัวยู บอกเล่าถึงประวัติความเป็นมาของภาคอีสาน ด้วยการแบ่งเนื้อหาเป็นหลังละหัวข้อ


หัวข้อที่ ๑ จั๊งซี่ละอีสาน เล่าเรื่องทางภูมิศาสตร์ของอีสาน ผ่านคำถามต่าง ๆ  เช่น ทำไมอีสานถึงเป็นที่ราบสูง ทำไมอีสานถึงแห้งแล้ง ทำไมอีสานไกลทะเลแต่มีเกลือ ฯลฯ  พร้อมทั้งนำเสนอทรัพยากรในดินของอีสานอย่าง ฟอสซิลดึกดำบรรพ์ ปิโตรเลียม เกลือและทองแดง แต่ที่สำคัญที่สุดคือทรัพยากรมนุษย์ หรือ “คนอีสาน” ซึ่งประสบความสำเร็จสุดยอดในหลากหลายอาชีพ



หัวข้อที่ ๒ หม่องนี้ดีคัก  เล่าถึงภูมิปัญญาของชาวอีสานที่แม้แผ่นดินแห้งแล้ง แต่คนอีสานก็ไม่เคยขาดแคลนอาหารการกิน ด้วยความสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศ โดยใช้พืชมหัศจรรย์อย่างไผ่ที่ใช้เป็นอาหาร ใช้สร้างบ้านเรือน และทำเครื่องไม้เครื่องมือทำมาหากินต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี  นอกจากนี้ยังมีแบบจำลองของเกวียนหลากหลายรูปแบบ อันเป็นพาหนะพื้นเมืองที่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของชาวอีสานให้ผู้เข้าชมได้สัมผัส



หัวข้อที่ ๓ ฮีตสิบสองคองสิบสี่  เล่าถึง “ฮีต” หรือ จารีต หมายถึงสิ่งที่ปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนานจนเป็นประเพณีอันดีงาม  ซึ่งมีทั้งหมด ๑๒  ฮีตในรอบหนึ่งปี และ “คองสิบสี่”  หมายถึงทำนองคลองธรรม ๑๔ ประการ อันเป็นกรอบปฏิบัติของผู้ปกครอง ผู้ใต้ปกครอง พระสงฆ์ และชาวบ้าน เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขของบ้านเมือง โดยในหัวข้อนี้มีจุดเด่นอยู่ที่ภาพยนต์อนิเมชั่น  “ศึกล่าฝน” ที่เล่าขานตำนานความเป็นมาเรื่องประเพณีบั้งไฟของชาวอีสานด้วยระบบ ๔ มิติ อย่างตื่นตาตื่นใจ


หัวข้อที่ ๔ ออนซอนอีสาน   เล่าถึงมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาวอีสานที่สืบเนื่องกันมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์  ก่อนจะเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ในสมัยทวารวดี สมัยขอมโบราณ  ปรากฏร่องรอยสถาปัตยกรรมอันยิ่งใหญ่งดงามอย่างเช่น แหล่งวัฒนธรรมบ้านเชียง ภูพระบาท ปราสาทหิน และแหล่งโบราณคดีอีกมากมายที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วแผ่นดินอีสาน  ซึ่งอดีตอันรุ่งเรืองได้หล่อหลอมความเป็นอีสานจนมีเอกลักษณ์อย่างที่เห็นในปัจจุบัน


ในบริเวณโดยรอบยังได้มีการจัดกิจกรรม “โฮงวัฒนธรรม” นำเสนอการกินอยู่และวิถัชีวิตแบบอีสาน ให้ผู้เข้าชมได้ร่วมมีประสบการณ์ด้วยตัวเองเช่น การทำข้าวเม่าพื้นเมือง การทอเสื่อ และการปั้นหม้อ พร้อมอาหารพื้นบ้านหายากให้ลองชิม และจำหน่ายผลิตภัณฑ์หัตถกรรมพื้นเมือง รวมทั้งยังมีกิจกรรม “ประกวดดนตรีสร้างสรรค์” ให้กลุ่มวัยรุ่นได้สัมผัสและเข้าถึงแนวดนตรีพื้นบ้านอีกด้วย 


ทั้งหมดนี้เป็นการตอกย้ำให้นิทรรศการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายคือกลุ่มเด็ก เยาวชน และบุคคลทั่วไป  ซึ่งหากนับจากเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ อันเป็นจุดเริ่มต้นโครงการ ถึงวันนี้ก็เป็นเวลา ๕ ปีเต็ม ที่โครงการมิวเซียมติดล้อได้เข้าถึงเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ คือสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้นอกห้องเรียน ให้กับเยาวชนและประชาชนใน  ๒๐ จังหวัดทั่วประเทศ มีจำนวนผู้เข้าชมมากกว่า ๒๕๐,๐๐๐คน  และมีหน่วยงานให้ความร่วมมือมากกว่า ๖๐ หน่วยงาน และโครงการยังคงดำเนินการให้มีชุดใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคต
            

        สนใจติดต่อนิทรรศการมิวเซียมติดล้อไปจัดแสดง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ เลขที่ ๔ ถนนสนามไชย แขวงบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๒๕ ๒๗๗๗  โทรสาร ๐ ๒๒๒๕ ๒๗๗๕ ชมภาพถ่ายและวิดิทัศน์มิวเซียมติดล้อ ชุดที่ ๓  ที่มหาสารคามเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/osotho และ  www.museumsiam.org



Monday, May 26, 2014

“เยาวชนตากล้อง ท่องเที่ยวไทย” รับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี




“กล้องเล็ก ถ่ายภาพโต” รายงาน ชชนน ธานีรัตน์...ภาพ

      เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๐ มกราคม ที่ผ่านมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารศิลป์สิริ ณ โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติ ๔๘ พรรษา ตำบลต้นธง อำเภอเมืองฯ  จังหวัดลำพูน เพื่อใช้เป็นอาคารฝึกอาชีพสำหรับนักเรียนของโรงเรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายแล้วไม่มีโอกาสศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยให้มีอาชีพ ได้แก่ อาชีพทำเครื่องปั้นเซรามิค การเพ้นต์ลายผ้า การทอผ้าพื้นเมือง และการผลิตน้ำดื่ม  

โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติ ๔๘ พรรษา เป็นโรงเรียนประจำหญิงล้วน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธย ย่อ "สธ" ประดิษฐานเหนือชื่อโรงเรียน  จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ โดยมูลนิธิร่วมน้ำใจต้านภัยเอดส์ ซึ่งมีนางสายสม วงศาสุลักษณ์ เป็นประธานมูลนิธิฯ บนเนื้อที่ทั้งสิ้น ๒๔ ไร่  ติดกับถนนสายลำพูน-ป่าซาง อำเภอเมืองฯ จังหวัดลำพูน ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นโรงเรียนสามัญประเภท ๓ คือโรงเรียนประเภทสงเคราะห์  จัดการศึกษาตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ ๖แบบอยู่ประจำให้เปล่าแก่เยาวชนสตรีซึ่งเป็นบุตรของผู้เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์  รวมถึงเด็กหญิงยากไร้และด้อยโอกาสจากถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศ ปัจจุบันมีนักเรียนทั้งหมด ๓๑๙ คน

ทางโรงเรียนจัดการศึกษาโดยมุ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ พัฒนาให้ผู้เรียนมีคุณธรรมนำวิชาการ ภูมิใจในความเป็นไทย เห็นคุณค่าของวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข ใช้หลักสูตรการเรียนการสอนของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีการเพิ่มเติมในส่วนของทักษะวิชาชีพให้แก่นักเรียนตามความถนัด ซึ่งมีให้เลือกตามความสนใจทั้งด้านเกษตรกรรม ศิลปหัตถกรรม  รวมไปถึงด้านการท่องเที่ยวที่ทางโรงเรียนได้รับคัดเลือกจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ทางด้านการท่องเที่ยว       มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเมืองลำพูน และการท่องเที่ยว เพื่อใช้ในกิจกรรมมัคคุเทศก์รุ่นเยาว์ “เจ้าบ้านน้อย”  


  เมื่อปลายปี ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา โครงการเยาวชนตากล้อง ท่องเที่ยวไทย โดยนายภาคภูมิ น้อยวัฒน์ บรรณาธิการฝ่ายภาพอนุสาร อ.ส.ท.  ได้เข้ามาจัดกิจกรรมอบรมการถ่ายภาพท่องเที่ยว“ต้นกล้า ตากล้อง ท่องเที่ยวไทยรุ่นที่ ๗” ให้กับนักเรียนของโรงเรียน ด้วยการสนับสนุนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยภูมิภาคภาคเหนือ  ต่อด้วยการจัดอบรมเพิ่มเติมการถ่ายภาพและเก็บข้อมูล “ต้นกล้า ตากล้อง ท่องเที่ยวไทย รุ่นที่ ๗.๑ ” เพื่อจัดทำศูนย์การเรียนรู้ เกี่ยวกับชุมชนชาวเมืองยอง พร้อมกับจัดทำสารคดี “สืบสานคุณค่าบรรพชน คนเมืองยอง”  ตีพิมพ์ในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนมกราคม ๒๕๕๗ เผยแพร่กิจกรรมของนักเรียน ในฐานะโรงเรียนต้นแบบด้านชุมชนท้องถิ่นส่งเสริมการท่องเที่ยว

ทางโรงเรียนจึงได้ให้เกียรติเชิญโครงการ “ต้นกล้า ตากล้อง ท่องเที่ยวไทย” เข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการแสดงผลงานของนักเรียนในโครงการฯ ทั้งสองรุ่น พร้อมทั้งจัดแสดงผลงานสารคดี “สืบสานคุณค่าบรรพชน คนเมืองยอง” อันมีเรื่องราวกิจกรรมของเยาวชนซึ่งเป็นนักเรียนของโรงเรียนเพื่อรับเสด็จ ในบริเวณห้องโถงชั้นล่างของอาคารดรุณนิรมิต


 หลังจากทรงทำพิธีเปิดอาคารเรียบร้อยแล้ว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรผลงานของนักเรียน ในบริเวณนิทรรศการโครงการ “ต้นกล้า ตากล้อง ท่องเที่ยวไทย” อย่างสนพระทัย  โดยในการนี้นายภาคภูมิ น้อยวัฒน์ บรรณาธิการฝ่ายภาพ อนุสาร อ.ส.ท.ได้เฝ้ารับเสด็จ พร้อมทั้งทูลเกล้าฯ ถวายอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนมกราคม ๒๕๕๗ พร้อมสมุดภาพกิจกรรม “เยาวชนตากล้อง ท่องเที่ยวไทย”  ด้วย
     



Friday, May 23, 2014

กรมศิลปากรเผยโฉมเรือโบราณพันปี “พนมสุรินทร์”

เรือโบราณพันปี สมัยทวารวดี "พนมสุรินทร์" 

ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...รายงาน
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ปีที่ ๕๔ ฉบับที่ ๑๐ ประจำเดือนมิถุนายน ๒๕๕๗

เมื่อเดือนกันยายน ปี พ.ศ.๒๕๕๖ ที่ผ่านมา ในที่ดินของนายสุรินทร์และนางพนม ศรีงามดี  ในเขตหมู่ที่ ๖ ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมืองฯ จังหวัดสมุทรสาคร  ระหว่างการขุดดินเพื่อปรับพื้นที่เตรียมการสำหรับทำบ่อเลี้ยงกุ้ง ได้พบเรือไม้ขนาดใหญ่ความยาวกว่า ๒๐ เมตร จมอยู่ในดินเลนด้วยลักษณะพลิกตะแคง หัวเรือหันไปทางทิศใต้ สร้างความแปลกใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นที่ลุ่ม อยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลถึง ๗.๕ กิโลเมตร จึงได้แจ้งให้กรมศิลปากรเข้าทำการสำรวจขุดค้น

 ร่องรอยการยึดชิ้นส่วนต่าง ๆ เรือด้วยเชือก

ผลการขุดค้นทางโบราณคดีเบื้องต้นพบไม้ทับกระดูกงูกลางลำเรือ มีความยาว ๑๗.๖๕ เมตร ด้านล่างบากเป็นร่องสลับกัน สำหรับวางทับกงเรือ ชิ้นส่วนไม้บนตัวเรือใช้เชือกสีดำผูกร้อยยึดแผ่นไม้ให้ติดกันแทนการใช้ลิ่มหรือน็อต บางแผ่นเจาะรูตรงกลางแผ่นเพื่อร้อยเชือกเพิ่มความแข็งแรง พบเสากระโดงเรือ ๒ เสา เสาแรกพบอยู่ทางทิศตะวันตกของเรือมีความยาว ๑๗.๓๗ เมตร ตรงหัวเสาเจาะช่องสี่เหลี่ยม ด้านในมีรอกกลมทำด้วยไม้ติดอยู่ ส่วนโคนเสาบากเป็นแท่งสี่เหลี่ยม สันนิษฐานว่าเป็นเดือยใช้สำหรับติดตั้งบนฐานเสาเรือ  เสากระโดงเรืออีกเสาพบอยู่นอกตัวเรือทางทิศตะวันออก โคนเสาด้านหนึ่งบากเป็นสี่เหลี่ยม อีกด้านหนึ่งเป็นครึ่งวงกลม ทั้งยังพบเชือกหวายขนาดยาวพันอยู่ที่โคนเสาด้วย
ภาชนะดินเผา "แอมฟอรา"

จากการศึกษาเปรียบเทียบพบว่าเทคนิคการต่อเรือลำนี้เป็นแบบเดียวกับที่ใช้ในเรืออาหรับโบราณ. ในประเทศไทยเคยพบลักษณะนี้มาก่อนแล้วลำหนึ่งที่แหล่งเรือโบราณควนธานี อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง  ภายในเรือยังพบสิ่งของเครื่องใช้สอยต่างๆ ที่สำคัญที่สุดคือภาชนะดินเผาลักษณะคล้ายไหก้นแหลมเรียกว่า “แอมฟอร่า” อย่างที่ชาวโรมันใช้สำหรับบรรจุสินค้าของเหลว เช่น ไวน์ หรือน้ำมัน  นอกจากนั้นยังพบเครื่องถ้วยจีน และภาชนะดินเผาสมัยทวารวดีอีกเป็นจำนวนมาก 
 
บางส่วนของโบราณวัตถุที่พบในเรือ

โบราณวัตถุที่พบทำให้สามารถประมาณความเก่าแก่ของเรือได้ว่ามีอายุกว่าพันปี เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญของการเดินทางค้าขายทางทะเลข้ามทวีปจากดินแดนตะวันออกกลางผ่านอินเดียมายังภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ในต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๑ ซึ่งหลักฐานทางธรณีวิทยาพบว่าบริเวณที่พบเรือในสมัยเมื่อพันปีก่อนเป็นแม่น้ำท่าจีนโบราณที่ยังเชื่อมเป็นทางน้ำเดียวกันกับแม่น้ำเจ้าพระยา โดยการที่เรือหันหัวเรือไปทางใต้ แสดงให้เห็นว่าได้เกิดอุบัติเหตุอับปางลงในขากลับออกจากการค้าขายในเมืองท่าสมัยทวารวดี แล้วถูกทับถมจากดินตะกอนเนิ่นนานนับพันปีก่อนจะถูกค้นพบในปัจจุบัน

เพื่อเป็นเกียรติแก่นายสุรินทร์และนางพนม ศรีงามดี ซึ่งเป็นผู้ค้นพบเรือโบราณลำนี้ ทั้งยังเป็นเจ้าของที่ดิน ซึ่งในเวลาต่อมาได้บริจาคที่ดินบริเวณแหล่งขุดค้น มอบให้เป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อสาธารณประโยชน์ต่อไป จึงได้นำชื่อของทั้งสองมาตั้งเป็นชื่อเรียกเรือโบราณลำดังกล่าวว่า “เรือพนมสุรินทร์”

 บรรยากาศการเสวนาประชาคม 

กรมศิลปากรตระหนักถึงความสำคัญ ต้องการให้ประชาชนในชุมชนท้องถิ่น หน่วยงานราชการ ในพื้นที่เข้ามาร่วมกันศึกษา อนุรักษ์ และพัฒนาแหล่งเรือโบราณ อันถือได้ว่าเป็นโบราณสถานระดับชาติ จึงได้มีการจัดเสวนาประชาคมเรื่อง “เรือโบราณพนมสุรินทร์” ครั้งที่ ๑ ขึ้นที่วัดวิสุทธิวราวาส(วัดกลางคลอง) ซึ่งอยู่ใกล้กับแหล่งที่ขุดพบเรือโบราณลำดังกล่าว เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ที่ผ่านมา เพื่อเผยแพร่ความสำคัญของแหล่งโบราณคดีเรือโบราณ แนวทางการอนุรักษ์ การบริหารจัดการและระดมความคิดเห็น สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน ประชาชน และหน่วยราชการท้องถิ่นทุกภาคส่วน โดยนักวิชาการและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมการเสวนาแสดงความคิดเห็นได้แก่ ศาสตราจารย์(พิเศษ) ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นายอเนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร นายทศพร  นุชอนงค์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี นางสาวนารีรัตน์  ปรีชาพีชคุปต์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๑ ราชบุรี นายเอิบเปรม วัชรางกูร หัวหน้ากลุ่มโบราณคดีใต้น้ำ พร้อมผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง

ประชาชนเข้าชมไม้ทับกระดูกงูเรือในบ่อจัดแสดง

ประชาชนในพื้นที่ตำบลพันท้ายนรสิงห์จำนวนมากที่ทราบข่าว ต่างพากันเดินทางมาเข้าชมเรือโบราณในบริเวณแหล่งขุดค้น ซึ่งทางกรมศิลปากรได้ปล่อยน้ำซึ่งปกติท่วมมิดเรือออกบางส่วนเป็นการชั่วคราว เพื่อให้เห็นรูปร่างของเรือที่จมอยู่ในโคลนกลางบ่อได้ชัดเจนขึ้น โดยมีสปริงเกอร์พ่นน้ำหล่อเลี้ยงชิ้นส่วนต่าง ๆ ให้ชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้เสื่อมสภาพ

อธิบดีกรมศิลปากรเยี่ยมชมแหล่งขุดค้นเรือโบราณ

นายอเนก  สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากรเปิดเผยว่าด้วยความที่เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ของชาติ กรมศิลปากรจึงมีความจำเป็นต้องรักษาหลักฐานเอาไว้ในแหล่งที่ขุดพบ อันจะเป็นการรักษาโบราณวัตถุจำพวกไม้ ชิ้นส่วนเรือต่างๆ,เชือก  ซากสิ่งมีชีวิตต่างๆ ทั้งพืชและสัตว์ และสิ่งของที่ค้นพบในเรือที่เป็นข้อมูลสำคัญไปในตัว โดยมีแนวคิดจะจัดสร้างเป็นอาคารถาวรครอบแหล่งขุดค้นไว้ จัดแสดงนิทรรศการให้เห็นขั้นตอนในการดำเนินการต่างๆ  การขุดศึกษาทางโบราณคดี การสืบค้นทางประวัติศาสตร์ และการอนุรักษ์ 

ส่วนแผนระยะยาวในการพัฒนาแหล่งขุดค้นเรือโบราณแห่งนี้ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ระดับชาติเกี่ยวกับการค้าทางทะเลในสมัยโบราณนั้น อธิบดีกรมศิลปากรได้มอบหมายให้ทางสำนักศิลปากรที่ ๑ ราชบุรี และสำนักโบราณคดีใต้น้ำจัดทำแผนแม่บทอยู่ ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลาในการดำเนินการตามขั้นตอนเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า ๑๐ ปีขึ้นไป ในลักษณะของการพัฒนาเมืองวัฒนธรรมท่องเที่ยว เชื่อมโยงเข้ากับแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมในบริเวณใกล้เคียง เช่น ศาลพันท้ายนรสิงห์  ความคืบหน้าทางอนุสาร อ.ส.ท.จะได้ติดตามมานำเสนอให้ทราบต่อไปเป็นระยะ


หมายเหตุ ชมภาพถ่าย วิดิทัศน์ ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับเรือโบราณพนมสุรินทร์และโบราณวัตถุต่าง ๆ ที่ขุดพบเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/osotho
อนุสาวรีย์พันท้ายนรสิงห์
 ศาลพันท้ายนรสิงห์

Tuesday, May 20, 2014

อนุสาร อ.ส.ท.ร่วมรับประกาศนียบัตร ในงาน ๑๐๓ ปีแห่งการสถาปนากรมศิลปากร


“เกียรติมุข” รายงาน
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ปีที่ ๕๔ ฉบับที่ ๑๐ ประจำเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๗ 

นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากรเป็นประธานในพิธีเปิดงานและการจัดกิจกรรมเนื่องในวันสถาปนากรมศิลปากร ประจำปี ๒๕๕๗ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๗ มีนาคมที่ผ่านมา  บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พร้อมมอบประกาศนียบัตรและของที่ระลึกให้กับสื่อมวลชนในสาขาต่าง ๆ ที่ได้ช่วยเผยแพร่ข้อมูลในด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชาติ โดยมีนายภาคภูมิ น้อยวัฒน์ บรรณาธิการฝ่ายภาพอนุสาร อ.ส.ท. เป็นตัวแทนของอนุสาร อ.ส.ท.เข้ารับมอบประกาศนียบัตรจากอธิบดีกรมศิลปากร ในฐานะสื่อสิ่งพิมพ์ที่ได้นำเสนอเรื่องราวภารกิจการดำเนินงานของกรมศิลปากรในด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชาติอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด



บริเวณลานโดยรอบพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ยังเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าเที่ยวชมงาน ระหว่างวันที่ ๒๗ ๒๙ มีนาคม ซึ่งภายในงานมีการออกร้านโดยหน่วยงานในสังกัดกรมศิลปากรจากทั่วประเทศ แบ่งเป็นนิทรรศการจัดแสดงผลงาน  ร้านหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าจากหลากหลายท้องที่ รวมทั้งผลิตภัณฑ์และสินค้าที่ระลึกทางวัฒนธรรมในท้องถิ่นต่าง ๆ  จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ  เช่น เครื่องเงิน เครื่องปั้นสังคโลก ผ้าทอพื้นเมือง และอาหารพื้นเมือง ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่ชื่นชอบด้านศิลปวัฒนธรรมแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชมตลอดเวลาตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้าย






กรมศิลปากรสถาปนาขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๔ โดยทรงรวมงานช่างประณีตศิลป์จากกรมโยธา กระทรวงโยธาธิการเข้ากับกรมพิพิธภัณฑ์จากกระทรวงธรรมการ ตั้งขึ้นเป็นกรมศิลปากร และต่อมาได้โปรดให้โอนกรมช่างมหาดเล็กจากกระทรวงวังเข้ามารวมอยู่ด้วย  ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้โปรดให้รวมกรมศิลปากรเข้ากับหอสมุดสำหรับพระนคร แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นราชบัณฑิตยสภา กระทั่งปีพ.ศ. ๒๔๗๖ จึงได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งกรมศิลปากรขึ้นมาอีกครั้งโดยรวมงานนาฏศิลป์และดุริยางคศิลป์ในราชสำนัก สังกัดกรมต่าง ๆ  ได้แก่ กรมโขน กรมหุ่น กรมรำโคม กรมปี่พาทย์ และกรมแตรสังข์ ที่เรียกโดยรวมว่ากรมมหรสพ สังกัดกรมมหาดเล็ก กระทรวงวัง มาเป็นกองในสังกัดกรมศิลปากรด้วย 



ปัจจุบันกรมศิลปากรจึงเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่หลักในการทำนุบำรุงรักษา อนุรักษ์ ฟื้นฟู ส่งเสริม และสร้างสรรค์ ศิลปวัฒนธรรมของชาติในทุกสาขาให้ยั่งยืนอย่างสง่างาม โดยล่าสุดทางกรมศิลปากรได้มีการปรับรูปแบบภารกิจเพื่อรองรับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่รัฐบาลได้กำหนดขึ้นในปีพ.ศ. ๒๕๕๖โดยนำผลงานที่เกิดจากภารกิจทำนุบำรุงอนุรักษ์ฟื้นฟูมรดกทางวัฒนธรรมมาต่อยอดเพื่อให้เกิดประโยชน์ในแง่เศรษฐกิจแก่ชุมชนใกล้เคียง มีการเรียนรู้ สร้างภูมิปัญญาในการอนุรักษ์และสร้างสรรค์มรดกทางวัฒนธรรมให้มีคุณค่ากับชุมชนตลอดไป



โครงการนำร่องที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวของกรมศิลปากรในปีพ.ศ. ๒๕๕๗เบื้องต้นกำหนดไว้  ๕ โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาเมืองวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยวสุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร โครงการพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โครงการพัฒนาเกาะเกร็ดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีชีวิตและอัตลักษณ์ลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง และโครงการพัฒนาโรงแรมในสถานีรถไฟหัวลำโพง ซึ่งโครงการต่าง ๆ เหล่านี้อนุสาร อ.ส.ท. จะได้ติดตามความคืบหน้านำมาเสนอในโอกาสต่อไป