Friday, March 27, 2015

สนุกใกล้ได้ความรู้ “สัญจรเครือข่ายแหล่งเรียนรู้ปทุมธานี”

ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ

ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. 
                
             แหล่งท่องเที่ยวดี ๆ ประเภทที่ให้ความรู้ความเข้าใจอย่างพิพิธภัณฑ์หรือศูนย์การเรียนรู้ต่าง ๆ   ในเขตปริมณฑลรอบกรุงเทพมหานครนั้นมีอยู่มากมาย โดยเฉพาะที่จังหวัดปทุมธานี ถือได้ว่าเป็นศูนย์รวมแหล่งเรียนรู้ไว้มากแห่งหนึ่ง แต่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักจะมองข้ามกันไป สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งก็คือ ไม่เคยรู้ว่ามีแหล่งท่องเที่ยวดี ๆ อย่างนี้อยู่    


        กรมศิลปากรจึงร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัดปทุมธานี จัด “โครงการสัญจรเครือข่ายแหล่งเรียนรู้ปทุมธานี”   เมื่อวันพุธที่ ๑๕ กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งนอกเหนือจากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างความร่วมมือในการจัดการแหล่งเรียนรู้ในบริเวณใกล้เคียงแล้ว ยังเป็นการแนะนำแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ ให้เป็นที่รู้จักด้วย โดยในงานนายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นประธานในพิธีเปิด  ณ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โดยมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสื่อมวลชนเข้าร่วมจำนวนมาก รวม ๓ คันรถโดยสาร




หลังพิธีเปิดเป็นการนำชมหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งกรมศิลปากรจัดตั้งขึ้นให้เป็นหอจดหมายเหตุแห่งชาติที่สมบูรณ์ที่สุด เนื่องในมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ในปี พ.ศ.๒๕๓๙ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการศึกษา ค้นคว้า วิจัย 

ภายในอาคารสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์แบ่งเป็น ๔ ส่วน รวมพื้นที่ ๒๐,๐๐๐ ตารางเมตร ส่วนที่ ๑ เป็นที่เก็บเอกสารจดหมายเหตุ  ส่วนที่ ๒ เป็นอาคารให้บริการค้นคว้า  ส่วนที่น่าสนใจที่สุดคือส่วนที่ ๓-๔ เพราะเป็นอาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจและโครงการในพระราชดำริ ด้วยการนำเสนอภาพถ่ายอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ การจัดวางตกแต่งอย่างน่าสนใจ  ประกอบสื่อผสมแสงสีเสียงที่สร้างความตื่นตาตื่นใจและประทับใจให้กับผู้มาเยี่ยมชม







จากนั้นขึ้นรถเดินทางไปยังหออัครศิลปินที่อยู่ถัดไปด้านหลัง ภายในอาคารทรงไทยประยุกต์ จัดแสดงผลงานอันแสดงถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในด้านต่าง ๆ รวม ๙ ประเภท  ได้แก่ หัตถกรรม กีฬา วรรณศิลป์ จิตรกรรม การถ่ายภาพ ภูมิสถาปัตยกรรม ประติมากรรม ดนตรี และการพระราชนิพนธ์เพลง 

นอกจากนี้ยังมีห้องแสดงผลงานภาพถ่ายฝีพระหัตถ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และห้องแสดงประวัติและผลงานศิลปกรรมอันล้ำค่า  จัดแสดงผลงานจากภูมิปัญญาของศิลปินแห่งชาติทั้ง ๔  สาขา คือ สาขาวรรณศิลป์ ศิลปการแสดง ทัศนศิลป์ และสถาปัตยกรรม ในรูปแบบนิทรรศการภาพและเทคโนโลยีที่ทันสมัย 





 หลังจากอาหารกลางวันที่อาคารหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ คณะสัญจรออกเดินทางไปยังองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ในอาคารทรงลูกบาศก์แปลกตาล้ำยุคเป็นสถานที่จัดแสดงเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ มีทั้งที่เป็นนิทรรศการแบบถาวรและนิทรรศการหมุนเวียน ให้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ธรรมชาติวิทยา ดาราศาสตร์ และอวกาศ พร้อมกิจกรรมการทดลองแบบมีส่วนร่วมที่กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้อย่างสนุกสนาน  



เช่นเดียวกันกับศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา รังสิต ที่อยู่ใกล้ ๆ กัน  เปิดให้บริการเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์จุดเด่นอยู่ที่ "ท้องฟ้าจำลองรังสิต"  ซึ่งถือว่าทันสมัยที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในโดมเอียงซึ่งเป็นห้องฉายดาวจุผู้เข้าชมได้มากถึง ๑๖๐ ที่นั่ง  มีหัวใจสำคัญคือเครื่องฉายดาว ๒ ระบบ ที่สามารถฉายภาพยนต์สามมิติแบบ IMAX ได้ นำพาผู้มาเยือนท่องเที่ยวไปทั่วจักรวาล ด้วยความรู้สึกสมจริงเสมือนล่องลอยในอวกาศ ท่ามกลางหมู่ดาวระยิบระยับ   



 ส่งท้ายด้วยการแวะเวียนไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์บัวเฉลิมพระเกียรติ ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี ๒๕๔๓ ตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในพื้นที่ ๑๘ ไร่ เป็นศูนย์กลางดำเนินการสำรวจ เก็บรวบรวม ปลูก รักษา ศึกษาการใช้ประโยชน์ อนุรักษ์พันธุ์บัวทั้งพันธุ์ไทย พันธุ์เทศและพันธุ์ลูกผสม เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ ค้นคว้า วิจัย ถ่ายทอดความรู้อย่างครบวงจร ทั้งการพัฒนาสายพันธุ์ ขยายพันธุ์บัว ซื้อ ขาย และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับบัว  อีกทั้งเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ความหลากหลายมากกว่า ๑๕๐ สายพันธุ์ มากกว่า ๕๐๐ กระถาง มีทั้งบัวหลวง บัวสาย บัวฝรั่ง บัววิคตอเรีย และบัวพันธุ์ไทยหายาก




ปิดฉากการสัญจรด้วยสายฝนโปรยปรายและความประทับใจของคณะผู้ร่วมเดินทาง ซึ่งทุกคนต่างติดอกติดใจในแหล่งเรียนรู้ที่ได้พบเห็น ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามีเวลาในการเที่ยวชมน้อยไปหน่อย หากมีโอกาสจะต้องมาใหม่จะได้เที่ยวชมได้ทั่วถึง 

แหล่งเรียนรู้ในเขตจังหวัดปทุมธานียังมีอีกหลายแห่ง แต่ละแห่งเปิดให้เข้าชมทุกวัน หยุดวันจันทร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์  สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานกรุงเทพมหานคร  โทรศัพท์  ๐ ๒๒๕๐ ๕๕๐๐ ต่อ ๒๙๙๑-๕ 

ไหว้พระธาตุ ๙ จอม เมืองเชียงราย


ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ

ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท.

เชียงรายจังหวัดเหนือสุดของไทยเป็นจุดหมายของหลายต่อหลายคนในยามนี้ ด้วยธรรมชาติอันงดงามของเทือกเขาป่าดงซึ่งแต่งแต้มด้วยสีสันของดอกไม้ที่สะพรั่งบานท่ามกลางสายลมหนาว

นอกเหนือไปจากทิวทัศน์อันตระการตา บนยอดดอยในเขตจังหวัดเชียงรายยังเป็นสถานที่ประดิษฐานพระธาตุสำคัญถึง ๙ แห่ง  ซึ่งนักท่องเที่ยวที่เป็นพุทธศาสนิกชนไม่ควรพลาดที่จะเยี่ยมเยือนนมัสการอย่างน้อยสักครั้งในชีวิตเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง
   
พระธาตุจอมทอง ตั้งอยู่ที่วัดดอยทองหรือวัดพระธาตุจอมทอง ตำบลเวียง อำเภอเมืองฯตามตำนานเล่าว่า พระพุทธโฆษาแห่งลังกาทวีปซึ่งนำพระไตรปิฏกเข้ามาสู่แคว้นโยนกนาคพันธ์ในปีพ.. ๑๔๘๓ พร้อมกับถวายพระบรมสารีริกธาตุ ๑๖ องค์ให้กับพญาพังคราชซึ่งครองราชย์อยู่ในขณะนั้น พระองค์จึงโปรดให้แบ่งเป็น ๓ ส่วน สร้างเจดีย์ขึ้นสำหรับประดิษฐาน ๓ แห่งบนยอดดอยจอมทอง ดอยบ้านยาว และดอยน้อย ถือเป็นพระธาตุเก่าแก่รุ่นแรก ๆ  เพราะมีมาก่อนพญามังรายเสด็จมาทรงสร้างเมืองเชียงรายในปีพ.. ๑๘๐๕ เชื่อกันว่าหากกราบไว้พระธาตุองค์นี้แล้วจะช่วยให้มั่งมีเงินทอง

พระธาตุจอมหมอกแก้ว ตั้งอยู่ที่บ้านดงมะเฟือง ตำบลจอมหมอกแก้ว อำเภอแม่ลาว ไม่มีประวัติการสร้างแน่ชัด เล่ากันว่าเดิมชาวบ้านออกมาหาของป่าพบจอมปลวกบนเนินเตี้ย ๆ กับเครื่องปั้นดินเผากระจัดกระจาย มีต้นไม้ลักษณะคล้ายพญานาคขึ้นอยู่ข้างบน  เวลาหาของป่าจะต้องมากราบไหว้บูชาขออนุญาตเสียก่อน ไม่เช่นนั้นจะมีอันเป็นไป ต่อมาจึงได้สร้างเจดีย์ขึ้นมาครอบจอมปลวกเอาไว้ข้างใน เรียกกันว่าพระธาตุจอมหมอกแก้ว เชื่อกันว่าหากกราบไหว้พระธาตุองค์นี้แล้วจะช่วยให้อุปสรรคที่มีอยู่เสมือนเมฆหมอกในชีวิตหมดสิ้นไป

พระธาตุจอมผ่อ ตั้งอยู่ในวัดอรัญญวิเวกคีรี (จอมผ่อตำบลเวียง อำเภอเวียงป่าเป้า มีประวัติว่าสร้างขึ้นในปีพ.. ๒๒๖๓ ก่อนถูกทิ้งร้างและบูรณะขึ้นใหม่อีกหลายครั้ง ในปีพ .. ๒๔๗๓ พ.. ๒๕๐๘  จนกระทั่ง พ.. ๒๕๑๒ ทางวัดได้ขอยกฐานะจากวัดร้างขึ้นเป็นวัดที่มีพระภิกษุจำพรรษาและเปลี่ยนชื่อเป็นวัดอรัญญวิเวกคีรี (จอมผ่อ) ก่อนจะรื้อพระธาตุเจดีย์องค์เดิมทรงสี่เหลี่ยมแล้วสร้างใหม่เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง โดยเพิ่งบูรณะครั้งล่าสุดเมื่อปีพ.. ๒๕๔๖ คำว่า ผ่อ ในภาษาเหนือแปลว่ามอง จึงเชื่อกันว่าถ้าได้กราบไหว้พระธาตุองค์นี้แล้วจะช่วยให้มองเห็นลู่ทางในชีวิต

พระธาตุจอมแจ้ง ตั้งอยู่ในวัดพระธาตุจอมแจ้ง ตำบลแม่สรวย อำเภอแม่สรวย  ตำนานเล่าว่าสร้างตั้งแต่ปีพ.. ๒๐๐๑ พระมหาเถระรูปหนึ่งเดินทางมาเผยแผ่พุทธศาสนามาถึงบริเวณนี้ในเวลารุ่งแจ้ง และได้พักแรมอยู่ ๗ วัน ก่อนออกเดินทางต่อได้มอบพระบรมสารีริกธาตุกับชายชราผู้ดูแลพื้นที่เพื่อให้บรรจุไว้ในพระธาตุ พร้อมกับทำนายว่าบริเวณนี้ในภายภาคหน้าจะเป็นที่ตั้งของพระธาตุจอมแจ้ง  เชื่อกันว่าถ้าได้กราบไหว้พระธาตุองค์นี้แล้ว จะช่วยให้ประสบความสำเร็จในด้านการเรียนการศึกษา เรียนรู้ได้อย่างแจ่มแจ้ง

พระธาตุจอมจันทร์ ตั้งอยู่ในวัดพระธาตุจอมจันทร์ ตำบลสันทราย อำเภอแม่จัน มีประวัติว่าสร้างขึ้นเมื่อพ..๒๔๕๓ โดยครูบาทิพย์ เจ้าอาวาสวัดบ้านแหลว นิมิตเห็นแสงพุ่งจากยอดดอยขึ้นสู่ท้องฟ้า ขึ้นไปสำรวจพบว่าพื้นที่เหมาะสมแก่การสร้างปูชนียสถาน จึงได้ชักชวนชาวบ้านก่อสร้างพระธาตุเจดีย์ขึ้น ก่อนจะสร้างวิหาร กุฏิ และศาลาตั้งเป็นวัดพระธาตุจอมจันทร์ในปีพ.. ๒๔๖๘ ก่อนจะกลายเป็นวัดร้างไปในปีพ.. ๒๔๘๐ เนื่องจากเกิดเพลิงไหม้  จนกระทั่งถึงปีพ.. ๒๕๔๒ จึงได้มีการบูรณะขึ้นใหม่ เชื่อกันว่าถ้าได้กราบไหว้พระธาตุองค์นี้แล้ว จะช่วยให้มีผิวพรรณสวยงามเปล่งปลั่งดังแสงจันทร์

พระธาตุจอมสัก ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมือง  เดิมชื่อพระธาตุดอยบ้านยาว ตามประวัติว่าสร้างขึ้นในสมัยพญาพังคราช พร้อมกับพระธาตุจอมทอง  ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในปีพ.. ๒๔๙๐ โดยครูบาคำหล้า สังวโร สร้างเจดีย์ใหม่ครอบพระธาตุองค์เดิมไว้ ทั้งยังสร้างวิหารไม้สักขึ้นหลังหนึ่ง พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อจากพระธาตุดอยบ้านยาวเป็นพระธาตุจอมสัก   เชื่อกันว่าถ้าได้กราบไหว้พระธาตุ จอมสักแล้วจะช่วยให้ได้รับเกียรติ การงานรุ่งเรือง มียศฐาบรรดาศักดิ์

พระธาตุจอมกิตติ ตั้งอยู่ในวัดพระธาตุจอมกิตติ ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน ตามประวัติว่าสร้างขึ้นในสมัยพญาพังคราช พร้อมกับพระธาตุจอมทอง และพระธาตุดอยบ้านยาวหรือพระธาตุจอมสัก ในบริเวณที่พญาสิงหนวัติ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์โยนกได้เคยบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้  ต่อมาองค์พระธาตุเจดีย์ทรุดโทรมมาก เจ้าฟ้าเฉลิมเมืองผู้ครองเชียงแสนจึงได้บูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในพ.. ๒๒๓๗ เชื่อกันว่าถ้าได้กราบไหว้พระธาตุจอมกิตติแล้วจะช่วยให้มีชื่อเสียงเป็นที่สรรเสริญ กิตติศัพท์เลื่องลือระบือไกล

พระธาตุจอมจ้อ ตั้งอยู่ในวัดพระธาตุจอมจ้อ ตำบลเวียง อำเภอเทิง ตามคัมภีร์เก่าแก่ระบุถึงประวัติว่าเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จมายังดินแดนสุวรรณภูมิ พระองค์ได้ประทับแรมใต้ต้นอโศกบนดอยใกล้แม่น้ำอิง พญานาคตนหนึ่งทราบข่าวจึงมาเข้าเฝ้า ถวายจ้อคำและจ้อแก้วอย่างละ ๓ ผืน พระอานนท์จึงทูลขอพระธาตุให้พญานาคตนนั้น พระพุทธองค์จึงทรงมอบพระเกศาธาตุ ๑ เส้น บรรจุไว้ในพระธาตุเจดีย์ที่เรียกขานกันว่าพระธาตุจอมจ้อ เชื่อกันว่าถ้าได้กราบไหว้บูชาพระธาตุจอมจ้อจะช่วยให้เจรจาสิ่งใดก็ประสบความสำเร็จสมความมุ่งหมาย

พระธาตุจอมแว่ ตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองพาน อำเภอพาน ตามประวัติว่าสร้างโดยพญางำเมือง เจ้าเมืองพะเยา ระหว่างเสด็จตรวจราชการและความเป็นอยู่ของราษฎรได้ทรงสร้างขึ้นไว้บนดอยซางคำอันเป็นชื่อเดิมของดอยจอมแว่  ต่อมาถูกทิ้งร้างปรักหักพัง พระยาหาญเจ้าเมืองพานคนแรกได้มาบูรณะองค์พระธาตุขึ้นในปีพ..๒๓๘๐ และพระยาไชยชนะสงครามเจ้าเมืองพานคนที่ ๓ ได้บูรณะเพิ่มเติมจนมีขนาดใหญ่อย่างที่เห็นในปัจจุบัน คำว่าแว่ หมายถึงเริ่มหัดพูด เชื่อกันว่าถ้าได้กราบไหว้พระธาตุจอมแว่แล้วจะช่วยให้การริเริ่มตั้งต้นกระทำกิจการใด ๆ เป็นไปได้ด้วยดี


การนมัสการพระธาตุ ๙ จอมนี้ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องไปกราบไหว้ให้ครบทุกแห่งภายในวันเดียว ดังนั้นระหว่างเดินทางท่องเที่ยวในเชียงราย แวะเวียนผ่านไปใกล้พระธาตุองค์ไหนก็แวะเข้าไปได้ตามความสะดวก ให้ครบทั้ง ๙ แห่งเป็นใช้ได้ ไม่ใช่เรื่องลำบากยากเย็นอะไร ไหน ๆ ก็มาเที่ยวเชียงรายแล้ว ถือเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ด้วยบุญกุศล ชีวิตจะได้สดใสไปตลอดทั้งปี  

Sunday, March 22, 2015

แลหลังงานช้างสุรินทร์ เมื่อ ๕ ทศวรรษ


การแสดงช้างชักคะเย่อกับคน

พิชัย  น้อยวัฒน์ เรื่องและภาพ
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท.ฉบับเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ 


งานช้างสุรินทร์ หรือ งานแสดงของช้างจังหวัดสุรินทร์ หรือที่นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศรู้จักกันในชื่อภาษาอังกฤษในตอนนั้นว่า “Elephant Round Up at Surin”  ปัจจุบันเติบโตเป็นงานแสดงของช้างที่ยิ่งใหญ่มีชื่อเสียงกระฉ่อนไปทั่วโลก และก็เป็นงานที่สร้างความภาคภูมิใจ อันเป็นที่สุดของความภูมิใจในความสำเร็จของการจัดงานเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไปสู่อีสาน ซึ่งองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (อ.ส.ท.) หน่วยงานท่องเที่ยวเล็ก ๆ ในขณะนั้น ร่วมกับจังหวัดสุรินทร์จัดให้มีขึ้น

งานแสดงของช้างมีช้างซึ่งเป็นสัตว์บกที่ใหญ่ที่สุดในโลกเป็นดาราแสดง จึงเป็นงานที่สร้างความสนุกสนานตื่นเต้น ประทับใจแก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่มีโอกาสเดินทางไปชมเป็นอย่างมาก ผลของการจัดงานเป็นที่เล่าขานกันต่อ ๆ ไป ปากต่อปาก  จนกระทั่งกลายเป็นงานที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกต้องการจะได้มีโอกาสเดินทางมาชม อย่างน้อยก็สักครั้งหนึ่งในชีวิต

สมัยก่อนการจะไปชมต้องไปกับการจัดนำเที่ยวของอ.ส.ท. เท่านั้น แต่ปัจจุบันเส้นทางคมนาคมในการที่จะเดินทางไปจังหวัดสุรินทร์สะดวกสบายและรวดเร็ว นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปกับบริษัททัวร์ก็ได้ หรือเดินทางไปเองได้ทั้งทางรถยนต์และรถไฟ  การจัดนำเที่ยวงานช้างโดยขบวนรถไฟพิเศษจึงถูกยกเลิกไป จะเหลืออยู่แต่เพียงความทรงจำเท่านั้น  

ย้อนสู่อดีต
       
        เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓ จอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ได้จัดตั้งองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (อ.ส.ท. ) ซึ่งใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “Tourism Organization of Thailand” (T.O.T)
               
              ในปีเดียวกันนั้นนายวินัย สุวรรณากาศ นายอำเภอท่าตูมในขณะนั้น ได้จัดงานแสดงของช้างจังหวัดสุรินทร์ซึ่งเป็นครั้งแรกเช่นกัน เพื่อเฉลิมฉลองอาคารที่ว่าการอำเภอที่จัดสร้างขึ้นใหม่
              
              งานแสดงของช้างจังหวัดสุรินทร์จึงถือว่าเกิดขึ้นปีเดียวกับองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ อ.ส.ท. นั่นเอง มาถึงวันนี้ พ.ศ. ๒๕๕๓ หน่วยงานส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐ หรือ อ.ส.ท. และงานแสดงของช้างจังหวัดสุรินทร์ จึงมีอายุยืนยาวมา ๕ ทศวรรษแล้ว ดูช่างเป็นเวลาอันยาวนานเสียจริง ๆ
            
           จากวันนั้น ถึงวันนี้ทุกสิ่งอย่างเจริญเติบโต และเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย - อ.ส.ท. (Tourism Organization of Thailand – T.O.T)  เติบโตเป็นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย- ททท. (Tourism Authority of Thailand – T.A.T) งานแสดงของช้างจังหวัดสุรินทร์ก็พัฒนาจากงาน เล็ก ๆ ในชนบท มาเป็นงานประจำปีของชาติ
            
         เรามาย้อนยุคแลหลังกลับไปดูการจัดงานแสดงของช้างในสมัยนั้นว่าเขาจัดกันอย่างไร ถึงได้ผ่านเวลาอันยาวนานจนกลายเป็นงานของชาติในปัจจุบัน

ขี้ม้าล่อช้าง การแสดงชุดปิดท้าย

การจัดงานช้างครั้งแรกที่อำเภอท่าตูม
            
            ถึงแม้ว่าผมจะไม่ได้เป็นพนักงาน อ.ส.ท. คนแรกที่ได้เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ในการจัดงานแสดงของช้างตั้งแต่ปีแรก ๆ (พ.ศ. ๒๕๐๓-๐๖) แต่ในปีที่ผมต้องเดินทางไปปฏิบัติงานเป็นครั้งแรก ก็ได้รวบรวมข้อมูลจากเอกสารและคำบอกเล่าของผู้ไปปฏิบัติงานรุ่นก่อน โดยเฉพาะจากคุณวิสิทธ์ ศรีนาวา และร.อ.สำคัญ เจริญพิภพ เอาไว้อย่างค่อนข้างจะสมบูรณ์ทีเดียว
            
           งานแสดงของช้างที่จัดขึ้นที่ว่าอำเภอท่าตูมเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓ นั้น เป็นการจัดของนายอำเภอท่าตูม (นายวินัย สุวรรณากาศ) เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองที่ว่าการอำเภอหลังใหม่ ในงานกลางวันจะมีการออกร้าน การแข่งกีฬา และงานรื่นเริงต่าง ๆ ในช่วงกลางคืนก็จะมีมหรสพ แต่ที่พิเศษและเป็นที่ฮือฮากันทั่วไปก็คือ การแสดงของช้างแสนรู้ ในวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๐๓ ในบริเวณสนามบินเก่า อำเภอท่าตูม (ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนท่าตูมประชาเสริมวิทย์) ไปแล้ว
           
          การแสดงของช้างในวันนั้นมีช้างมาร่วมแสดงประมาณ ๖๐ เชือก (ช้างทั้งหมดนี้มาจากบ้านตากลาง ตำบลกระโพ ซึ่งเป็นหมู่บ้านของชาวกูยที่มีอาชีพจับช้างและเลี้ยงช้าง และมีช้างอยู่ในหมู่บ้านขณะนั้น ๒๐๐ กว่าเชือก) การแสดงประกอบด้วยการคล้องช้าง ช้างปฏิบัติตามคำสั่ง ช้างวิ่งเร็ว และขบวนพาเหรดช้าง หลังจากเสร็จการแสดงยังได้เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวที่มาชมงานได้ขึ้นนั่งหลังช้างไปเที่ยวชมทิวทัศน์ของแม่น้ำมูลอีกด้วย
             
        เมื่อสื่อมวลชนทั้งโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ได้เผยแพร่ภาพข่าวการจัดงานออกไป นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศก็ได้ให้ความสนใจสอบถามข้อมูล และกำหนดการจัดงานมายัง อ.ส.ท. เป็นจำนวนมาก จนตอบคำถามกันแทบไม่หวาดไม่ไหว  
            
          ด้วยเหตุนี้ อ.ส.ท. ได้พิจารณาเห็นว่าเป็นงานที่มีศักยภาพเป็นที่น่าสนใจและน่าจะมีเพียงแห่งเดียวในโลก ถ้าจัดให้เป็นงานประจำปี จัดระเบียบและปรับปรุงการแสดงให้เป็นไปตามกำหนดเวลาที่เหมาะสม ตลอดจนปรับปรุงสนามและที่นั่งชมการแสดงให้ดีมีมาตรฐาน งานช้างสุรินทร์จะเป็นงานที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ จนสามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวไปสู่จังหวัดสุรินทร์และอีสานตอนใต้ได้อย่างแน่นอน
            
         หลังจากนั้นมีการประชุมร่วมกัน ซึ่งก็ได้รับความเห็นชอบร่วมกันทุกหน่วยงาน งานแสดงของช้างจึงกลายเป็นงานที่ ต้อง จัดเป็นงานประจำปีของจังหวัดสุรินทร์ นับตั้งแต่ครั้งที่ ๒ คือปี พ.ศ. ๒๕๐๔ เป็นต้นมา




อ.ส.ท. เข้าร่วมจัดงานแสดงของช้าง จังหวัดสุรินทร์
            
           การจัดงานช้างในปี ๒๕๐๔ นี้ นับเป็นปีแรกที่ อ.ส.ท. เข้าไปร่วมจัดงานกับจังหวัดสุรินทร์ และการรถไฟแห่งประเทศไทย  กำหนดจัดขึ้นในวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๐๔ โดยยังคงใช้สถานที่เดิม คือบริเวณสนามบินเก่า อำเภอท่าตูม ซึ่งเคยจัดงานเมื่อครั้งแรกนั้นเองโดยหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำความตกลงแบ่งภารกิจการทำงานกันดังนี้
            
           องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย  (อ.ส.ท.)  รับทำหน้าที่โฆษณาเผยแพร่ข่าวสารการจัดงาน ทั้งในและต่างประเทศ โดยจัดทำโปสเตอร์โฆษณา แผ่นพับภาษาไทย และภาษาอังกฤษ และประสานงานกับการรถไฟแห่งประเทศไทย จัดรถไฟขบวนพิเศษนำนักท่องเที่ยวเดินทางไปชมงานช้างจังหวัดสุรินทร์ ตลอดจนจัดพิมพ์ รับจอง และจำหน่ายบัตรนำเที่ยวแก่บริษัทนำเที่ยวและนักท่องเที่ยว รวมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เดินทางไปวางรูปแบบการจัดงาน ขึ้นตอนการแสดง  การกำหนดเวลาและการต้อนรับนักท่องเที่ยว
            
            จังหวัดสุรินทร์รับจัดการในเรื่องสนามการแสดงของช้าง จัดหาที่นั่งสำหรับนักท่องเที่ยวชมการแสดง จัดเตรียมสถานที่รับประทานอาหาร จัดพาหนะเดินทางจากสุรินทร์ไปยังอำเภอท่าตูม และจัดช้างมาแสดงโดยประสานกับเจ้าหน้าที่ อ.ส.ท.
            
         ส่วนการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)  รับจัดรถไฟขบวนพิเศษ (รถนอน บนท.) รับนักท่องเที่ยวเดินทางจากกรุงเทพมหานคร ไปยังจังหวัดสุรินทร์ ทั้งขาไปและขากลับ โดยในระหว่างอยู่บนรถ ทาง อ.ส.ท.ก็ได้จัดเจ้าหน้าที่ไว้เป็นมัคคุเทศก์ คอยดูแลและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวตลอดเวลาของการเดินทาง




รถไฟขบวนแรกนำนักท่องเที่ยวชมงานช้างจังหวัดสุรินทร์
            
           เมื่อ อ.ส.ท. เปิดจำหน่ายบัตรนำเที่ยวชมงานแสดงของช้างจังหวัดสุรินทร์โดยขบวนรถไฟพิเศษเป็นครั้งแรกนั้น ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวต่างประเทศเป็นอย่างมาก บัตรจึงขายหมดในเวลาอันรวดเร็วเกินความคาดหมาย
            
          รถไฟขบวนพิเศษ เริ่มเคลื่อนตัวออกจากสถานีรถไฟกรุงเทพฯ ในวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๐๔ เวลา ๒๐.๐๐ นาฬิกา นำนักท่องเที่ยวมุ่งสู่จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งแต่ละตู้นอนจะมีเจ้าหน้าที่ของ อ.ส.ท. ประจำคอยดูแลให้ข้อมูลข่าวสารการเดินทาง และอำนวยความสะดวกตลอดการเดินทาง การเดินทางเป็นไปโดยราบรื่น พอเวลา ๐๖.๐๐ นาฬิกา ของเช้าตรู่วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๐๔ ขบวนรถไฟพิเศษเที่ยวงานช้างสุรินทร์ขบวนแรกก็เข้าเทียบชานชาลาสถานีรถไฟสุรินทร์
            
          นักท่องเที่ยวชุดแรกจำนวนประมาณ ๓๐๐ คน ที่เดินทางมากับขบวนรถไฟขบวนพิเศษลงจากรถไฟด้วยความตื่นตาตื่นใจกับภาพของสถานีรถไฟเก่า ๆ แลตัวเมืองสุรินทร์ที่เขาได้พบเห็นเป็นครั้งแรก จากนั้นเจ้าหน้าที่ฝ่ายต้อนรับก็พานักท่องเที่ยวไปขึ้นรถจิ๊ปทหารที่จอดรออยู่แล้ว เพื่อเดินทางไปยังอำเภอท่าตูมอันเป็นจุดหมายปลายทาง
            
          สมัยนั้นจากจังหวัดสุรินทร์จะเดินทางไปอำเภอท่าตูม ต้องใช้ถนนสายที่จะไปยังจังหวัดร้อยเอ็ด ระยะทางจากตัวเมืองสุรินทร์ถึงอำเภอท่าตูมแค่ ๕๒ กิโลเมตร แต่ ๕๒ กิโลเมตร ที่ว่าในสมัยนั้นเป็นถนนดินลูกรังที่ฟุ้งไปด้วยฝุ่นสีแดง แถมยังขรุขระเป็นหลุมเป็นบ่อ พาหนะที่ใช้เดินทางได้ดีที่สุดก็คือรถจี๊ปทหารเท่านั้น นักท่องเที่ยวชุดประวัติศาสตร์การชมงานช้างของ อ.ส.ท. ชุดนี้จึงต้องนั่งรถขโยกเขยก ผจญทะเลฝุ่นตลอดระยะทาง ๕๒ กิโลเมตร ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางเกือบสองชั่วโมงทีเดียว ไปถึงอำเภอท่าตูมเอาเมื่อเวลาประมาณเกือบ ๘.๐๐ นาฬิกา คิดเอาแล้วกันครับว่าจะทรมานขนาดไหน เดินลงมาจากรถทุกคนก็เต็มไปด้วยฝุ่นสีแดง แต่ก็ยังยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่มีสักคนที่จะมาต่อว่าต่อขานถึงสภาพการเดินทาง ซึ่งก็อาจจะเป็นเพราะว่าทาง อ.ส.ท. ได้ให้ข้อมูลกับเขาไว้ล่วงหน้าแล้วก็ได้
            
           หลังจากที่นักท่องเที่ยวได้พักผ่อน ล้างหน้าล้างตา และรับประทานอาหารเช้ากันเป็นที่เรียบร้อย ก็ได้เวลาเดินทางไปยังสนามแสดงของช้าง ซึ่งจะเริ่มแสดงเวลา ๐๙.๐๐ นาฬิกา  ในปีนี้มีช้างมาร่วมในงานแสดงมากกว่าปีที่แล้ว คือประมาณ ๑๐๐ เชือก โดย อ.ส.ท. ได้ส่งเจ้าหน้าที่ คือ ร.อ.สำคัญ เจริญพิภพ มาช่วยในด้านการฝึกช้าง และจัดระบบการแสดง
            
           สำหรับรายการแสดงของช้างในปีนี้ มีการแสดงเพิ่มขึ้นหลายรายการ ทั้งที่เป็นการแสดงของช้าง และการแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้าน  เริ่มต้นด้วยการประกอบพิธีบวงสรวงเซ่นผีปะกำของหมอช้างก่อนที่จะออกเดินทางไปจับช้างป่า ต่อด้วยการแสดงการคล้องช้างป่า และสลับด้วยการแสดงรำพื้นเมือง ลูดอันเร-เรือมอันเร (รำสาก-เต้นสาก) แล้วต่อด้วยโขลงช้างจำนวน ๑๐๐ เชือกเดินให้ชมรอบสนาม เสร็จจากขบวนช้างก็เป็นการแข่งขันช้างวิ่งเร็ว ช้างชักกะเย่อกับคน และจบชุดสุดท้ายด้วยการแสดง ขี่ม้าล่อช้าง
            
         จบการแสดงแล้วก็มีการจัดให้นักท่องเที่ยวนั่งหลังช้างท่องเที่ยวชมทิวทัศน์ริมฝั่งแม่น้ำมูล ดูช้างอาบน้ำ หลังจากให้นักท่องเที่ยวรับประทานอาหารกลางวัน และพักผ่อนแล้ว ก็พาขึ้นรถจี๊ปทหาร เดินทางกลับด้วยเส้นทางวิบากสายเดิมอีกครั้ง  ถึงจังหวัดสุรินทร์เอาเมื่อเวลา ๑๕.๓๐ นาฬิกา ให้นักท่องเที่ยวพักผ่อนทำความสะอาดร่างกาย ก็ได้เวลารับประทานอาหารเย็น เสร็จแล้วถึงได้เดินทางกลับกรุงเทพฯ
            
        รถไฟนำนักท่องเที่ยวเดินทางจากสถานีสุรินทร์เวลา ๒๐.๐๐ นาฬิกา  ถึงสถานีกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) เวลา ๐๗.๐๐ นาฬิกาของวันที่ ๑๙ พ.ย. ๒๕๐๔ เป็นอันเสร็จสิ้นการจัดงานแสดงของช้างครั้งแรกของ อ.ส.ท. ที่นำนักท่องเที่ยวเดินทางไปชมงานแสดงของช้าง
            
             ถือว่าประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง

จากงานในท้องถิ่นสู่งานประจำปีของชาติ
            
           จากความสำเร็จในการจัดงานครั้งที่ผ่านมา จนได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศอย่างกว้างขวาง  ทางอ.ส.ท. จึงได้จัดทำรายงานเสนอต่อคณะรัฐมนตรี พร้อมทั้งเสนอให้พิจารณางานแสดงของช้างเป็นงานประจำปีของชาติ  ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ ก็ได้มีมติอนุมัติให้งานแสดงของช้างเป็นงานประจำปีของชาติ ตามที่ อ.ส.ท. เสนอ  โดยมอบให้ อ.ส.ท. เป็นเจ้าของเรื่องดำเนินการ และให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือสนับสนุนตามความจำเป็น
            
           งานแสดงและช้างจึงเป็นงานประจำปีของชาติที่ต้องจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี ๒๕๐๕ เป็นต้นมา
        
        และเนื่องจากงานแสดงของช้างสุรินทร์ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างประเทศอย่างกว้างขวาง อ.ส.ท. จึงได้ประชุมร่วมกับจังหวัดสุรินทร์ และการรถไฟแห่งประเทศไทย ในการกำหนดการจัดงานแสดงของช้างในปี ๒๕๐๕  จึงมีรถไฟขบวนพิเศษที่ อ.ส.ท. จัดทำนักท่องเที่ยวไปชมงานแสดงของช้างที่จังหวัดสุรินทร์ถึง ๓ ขบวน
            
         เมื่อเป็นงานประจำปีชองชาติ การปรับปรุงและพัฒนาการจัดงานก็เกิดจึ้น ทางจังหวัดสุรินทร์โดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดคำรณ สังขกร ในสมัยนั้น ได้พิจารณาเห็นว่าการจัดงานแสดงของช้างที่อำเภอท่าตูมมีอุปสรรคและปัญหาในด้านการต้อนรับและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวมากมาย นับตั้งแต่การเดินทางจากจังหวัดไปยังอำเภอท่าตูม ไหนจะเรื่องที่พักผ่อน ที่รับประทานอาหาร น้ำประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ ก็มีไม่พอเพียง
            
            จึงพิจารณาให้ย้ายสถานที่จัดงานช้างจากอำเภอท่าตูม มาจัดที่สนามกีฬาจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์แทน รวมทั้งยังได้ปรับปรุงสถานีรถไฟ อัฒจันทร์ที่นั่งชมการแสดง สถานที่จัดเลี้ยงอาหาร (ใช้หอประชุมโรงเรียนสิรินทร) โดยเฉพาะอาหารสำหรับนักท่องเที่ยวนั้นถึงขนาดนำพ่อครัวมาจากโรงแรมเอราวัณที่กรุงเทพฯ เลยทีเดียว ในด้านการแสดงก็เพิ่มกิจกรรมการแสดงให้มากขึ้นอีก เช่น ช้างวิ่งเก็บของ ช้างปฏิบัติตามคำสั่ง ช้างข้ามคน และขบวนช้างศึกเป็นต้น
           
        งานแสดงของช้างในตัวเมืองสุรินทร์ก่อให้เกิดการพัฒนามากมาย ในภาคเอกชนมีการสร้างโรงแรมที่ทันสมัย ถนนจากสุรินทร์ถึงนครราชสีมาก็ทำใหม่เป็นถนนลาดยาง ทำให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวทางรถยนต์ได้อีกเส้นทางหนึ่ง สมกับคำที่ว่า การพัฒนาการท่องเที่ยวเป็นการสร้างความเจริญเติบโตให้กับท้องถิ่น สร้างงานสร้างอาชีพ ให้กับประชาชน ในพื้นที่ซึ่งการท่องเที่ยวขยายต่อไปถึง  นับแต่นั้นจังหวัดสุรินทร์จึงมีความเจริญเติบโต และพัฒนาตัวเองมาจนถึงปัจจุบัน และยังจะพัฒนาต่อไปตราบเท่าที่งานแสดงของช้างยังมีอยู่ ไม่เพียงเท่านั้นยังช่วยให้การท่องเที่ยวขยายตัวออกไปในจังหวัดต่าง ๆ ของภาคอีสานอีกด้วย
            
          การจัดงานแสดงของช้างที่ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ถือเป็นความภาคภูมิใจของหน่วยงานในผลงานที่เกิดขึ้น แต่เบื้องหลังการจัดเตรียมงานนั้นเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสสำหรับเจ้าหน้าที่ซึ่งต้องไปปฏิบัติงาน เพราะต้องอยู่กับช้าง กินกับช้าง นอนกับช้างกันเป็นเดือน ๆ  ทีเดียว มีหลายคนเคยถามเหมือนกันว่า ทำงานนี้ได้อย่างไร
           
            ผมตอบว่า ก็เพราะผมเป็นพนักงาน อ.ส.ท. ยังไงละครับ
            
           เมื่อผ่านมา ๕๐ ปี การจัดงานแสดงของช้างก็ได้รับการปรับปรุงพัฒนามาโดยตลอด เช่นการจัดรายการแสดงก็จัดให้เป็นชุด ๆ ไป เริ่มตั้งแต่ การแสดงชุด จ่าโขลง ชุด กวย ชุด จากป่ามาสู่บ้าน ชุด สร้างบ้านแปงเมือง ชุด ประเพณี ชุด แห่นาคฉลองพร และชุด บารมีปกเกล้า ซึ่งก็แตกต่างไปจากเดิมที่จะใช้ชื่อการแสดงสลับกันไป เช่น ขบวนช้างพาเหรด, ช้างวิ่งเก็บของ การชักคะเย่อช้างกับคน ฯลฯ
            
          หมู่บ้านช้างที่บ้านตากลางก็เช่นเดียวกัน ปัจจุบันไม่มีสภาพของหมู่บ้านเดิมให้เห็นแล้ว เพราะได้รับการพัฒนาเป็นศูนย์คชศึกษา จัดแสดงโครงกระดูกช้าง เครื่องมือคล้องช้าง ศาลปะกำ และเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับช้าง ไว้ในอาคารพิพิธภัณฑ์ช้าง และ มีสนามแสดงของช้างซึ่งเปิดแสดงทุกวันเวลา ๑๐.๐๐ น. และ ๑๔.๐๐ น.

           ผู้สนใจจะไปชมติดต่อได้ที่ศูนย์คชศึกษา โทร. ๐-๔๔๑๔-๕๐๕๐ ครับ

         ถึงวันนี้กาลเวลาผ่านไปถึงห้าสิบปีแล้ว ไม่น่าเชื่อเลยจริง ๆ หลายคนในหมู่บ้านช้างที่ร่วมฝึกซ้อมช้างกันมา รวมทั้งหัวหน้าของผมเอง (ร.อ.สำคัญ เจริญพิภพ) ก็ได้ลาลับจากโลกไปกันเกือบหมดแล้ว แม้แต่ในการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ( ททท.)  หรือ อ.ส.ท. เดิม ก็คงเหลือผมคนเดียวนี่แหละ ที่เป็นคนทำงานรุ่นแรกที่ไปบุกเบิกงานช้าง 

           เก็บเอาไว้ในความทรงจำเนิ่นนาน เพิ่งจะมีโอกาสนำกลับมาเล่าสู่กันฟังก็ในวาระครบ ๕๐ ปี ททท. ในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ นี่แหละครับ 

การแสดงของช้างในหมู่บ้านช้างตากลางปัจจุบัน

Tuesday, March 17, 2015

อลังการและความงอกงามแห่งศิลปกรรมเครื่องเงินวัวลายที่วัดหมื่นสาร


 ประติมากรรมนูนต่ำกระบวนแห่อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานบนดอยสุเทพ

ภาคภูมิ น้อยวัฒน์... ชวนแวะและชวนชม
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนมกราคม ๒๕๕๘
          
            ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ชุมชนที่ประกอบอาชีพหัตถกรรมแบบดั้งเดิมจะยังคงอยู่ได้ในเมืองสมัยใหม่ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในย่านที่แทบจะเรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางของเมืองท่องเที่ยว
            
            แต่ที่ชุมชนวัวลาย จังหวัดเชียงใหม่ ในวันนี้รากเหง้าของหัตถศิลป์เครื่องเงินที่สืบเนื่องกันมานับหลายร้อยปี นับแต่พญามังรายสถาปนานพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่เป็นราชธานี   ไม่เพียงจะยังคงอยู่เท่านั้น ทว่ายังงอกงามแผ่กิ่งก้านสาขาผสมกลมกลืนกับความเป็นไปของโลกปัจจุบันได้อย่างสง่างาม


หัตถกรรมเครื่องเงินแบบวัวลายนั้นมีความเป็นอัตตลักษณ์ของท้องถิ่นอย่างเด่นชัด คือนิยมทำลวดลายเป็นเรื่องราววิถีการดำเนินชีวิตแบบพื้นบ้าน ด้วยเทคนิคเฉพาะ เรียกว่า บุ หรือ ดุน บนพื้นผิวบนผลิตภัณฑ์เครื่องเงินหนึ่งชั้น สองชั้น และสามชั้น เกิดลายนูนสูงนูนต่ำ แลเห็นเป็นหลายมิติได้ในชิ้นเดียว งดงามอย่างมหัศจรรย์

 อาคารพิพธภัณฑ์เครื่องเงินวัวลาย ในวัดหมื่นสาร

     แต่น้อยคนที่จะรู้ ว่ามรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของชาติชนิดนี้ เกือบที่จะต้องสาบสูญจากแผ่นดินไปตลอดกาลแล้ว เมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้า


    “ประมาณปี ๒๕๕๓ งานหัตถกรรมเครื่องเงินวัวลายตกอยู่ในสภาวะวิกฤต  เนื่องจากสินค้าเครื่องเงินไม่ใช่สิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน เพราะมีวัสดุที่มาใช้ทดแทนได้ในราคาถูกกว่า และราคาของเม็ดเงินวัตถุดิบสำคัญสูงขึ้นจากแต่เดิมกรัมละ ๙๐-๑๐๐ บาทเศษ ๆ เพียงแค่ ๕-๗ ปี ราคาขึ้นไปสิบเท่า เป็นกรัมละ ๙๐๐ บาท ส่งผลให้ชาวบ้านที่ทำเครื่องเงินแบบดั้งเดิมสู้ต้นทุนไม่ไหว”   ดร. ชวชาติ สุคนธปฏิภาค จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ซึ่งเข้ามาทำงานร่วมกับชุมชนในเวลานั้น เล่าถึงช่วงเวลาที่เครื่องเงินวัวลายตกต่ำอย่างสุดขีด 
  
      “ร้านขายเครื่องเงินที่เคยมีอยู่สามสิบกว่ากว่าร้าน ลดเหลือไม่ถึงยี่สิบ ช่างชั้นครูในย่านวัวลายที่ทำเครื่องเงิน เฉลี่ยอายุไม่ต่ำกว่า ๕๐-๖๐ ปี ลดน้อยถอยลง ที่สำคัญคือไม่มีคนรุ่นใหม่ที่จะมาสืบทอดวิชาช่างเงิน เพราะคนรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายไม่สนับสนุนให้ลูกทำอาชีพนี้ เนื่องจากเห็นว่าไม่มีอนาคต”

 บางส่วนของเครื่องเงินโบราณที่จัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์


โครงการยกระดับชุมชนบ้านวัวลายเพื่อการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ได้รวบรวมศึกษากลุ่มเครื่องเงินแบบคลัสเตอร์ อันหมายถึงทุกขั้นตอนจากเรื่องวัตถุดิบถึงการตลาด แล้วใช้ปรัชญาการพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ว่าให้ต้องเกิดจากภายใน สร้างการรับรู้เข้าใจและเห็นคุณค่าจากชุมชน  จากนั้นจึงมีการจัดทำแผน เป็นโครงการแรกที่แผนทำขึ้นจากชุมชนอย่างแท้จริงเพื่อฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่น  ระยะเวลาดำเนินการ ๓ปี  โดยมีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่จัดทำหลักสูตรช่างเครื่องเงินที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ มีการประยุกต์ผลิตภัณฑ์ให้เข้ากับตลาด
   
การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เครื่องเงินวัวลาย วัดหมื่นสาร ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมเพื่อสร้างเอกลักษณ์การรับรู้และเป็นจุดดึงดูดของชุมชน  โดยทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา ภายในโถงกว้างของอาคารทรงไทยประยุกต์ ใช้เป็นสถานที่รวบรวมและจัดแสดงหัตถกรรมเครื่องเงินวัวลายที่เป็นเครื่องใช้ไม้สอย เครื่องประดับในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งชิ้นเล็กชิ้นใหญ่ ล้วนแล้วแต่งดงามน่าชม ซึ่งทั้งหมดได้มาจากการบริจาค บางชิ้นเป็นมรดกตกทอดกันมาหลายชั่วอายุคน มีการลงทะเบียนอย่างดี บรรจุไว้ในตู้กระจกเปิดให้นักท่องเที่ยวทั่วไปได้เข้าศึกษาผลงานชิ้นเยี่ยมของหัตถกรรมวัวลายจากในอดีต

 หอศิลป์สุทธจิตโต ตกแต่งด้วยหัตกรรมทั้งหลัง

ไม่ไกลจากกันเป็นผลงานศิลปกรรมวัวลายสมัยใหม่ คือหอศิลป์สุทฺธจิตฺโต  สถาปัตยกรรมแบบล้านนาประยุกต์ สร้างขึ้นจากดำริของพระครูสุทธิจิตตาภิรัต เจ้าอาวาสวัดหมื่นสาร ด้วยงบประมาณกว่า ๑๐ ล้านบาท  โดยได้ประยุกต์นำโลหะดุนลาย ด้วยลวดลายที่เป็นลายพื้นเมืองล้านนาดั้งเดิม อันเป็นเอกลักษณ์เครื่องเงินบ้านวัวลาย มาประดับตกแต่งหอศิลป์จนตระการตา ตั้งแต่ช่อฟ้า ปั้นลม เชิงชาย หัวเสา ราวระเบียง ไปจนถึงบันได และอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยซึ่งประดิษฐานอยู่ด้านหน้า รวมไปถึงบนผนังกำแพงรั้วด้านนอก ที่ทำเป็นภาพ ๑๒ พระธาตุประจำปีเกิด  
 พระพิฆเณศวร์

ในอาคาร บนผนังด้านนอกของหอศิลป์ประดับด้วยภาพของเทพ เทวดา เช่น พระศิวะ พระพิฆเณศวร์ ลายพรรณพฤกษา สัตว์ป่าหิมพานต์ และเรื่องราวจากวรรณคดีรามเกียรติ์   ภายในประดิษฐานหุ่นขี้ผึ้งครูบาศรีวิชัย  นักบุญแห่งล้านนา ครูบาอินตา อินทปัญโญ (ครูบาอินต๊ะ) และพระครูโอภาสคณาภิบาล (ครูบาบุญปั่น  ปุญญาคโม) 

บนผนังรอบด้านจัดแสดงแผ่นประติมากรรมโลหะดุนลายขนาดใหญ่หลายภาพเรียงราย เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ตอนสำคัญ ๆ ของอาณาจักรล้านนาเอาไว้อย่างวิจิตรตระการตาน่าชม   โดยปกติจะมีคุณปู่สิงคำ ไชยบุญเรือง มรรคทายกของวัดหมื่นสาร คอยเป็นมัคคุเทศก์เดินนำชมพร้อมอธิบาย 
 การประดับตกแต่งภายในอลังการด้วยลวดลายแบบเครื่องเงินวัวลาย

พิพิธภัณฑ์เครื่องเงินวัวลายและหอศิลป์สุทฺธจิตฺโต  ตั้งอยู่ภายในวัดหมื่นสาร ถนนวัวลาย ตำบลหายยา อำเภอเมืองฯ  จังหวัดเชียงใหม่ โทรศัพท์ ๐ ๕๓๒๗ ๕๕๔๕ ๐๘ ๕๖๕๒ ๕๗๗๐ เปิดให้เข้าเยี่ยมชมทุกวันในเวลาราชการไม่มีวันหยุดและไม่เสียค่าเข้าชม