Monday, June 8, 2020

หลากหลายปราสาทรอง เมืองบุรีรัมย์


วรณัย พงศาชลากร...เรื่องและภาพ
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนกันยายน ๒๕๖๑

  ปราสาทพนมรุ้ง หนึ่งในปราสาทหินขนาดใหญ่ของบุรีรัมย์  (ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...ภาพ)

หากมีโอกาสได้มาเยือนเมืองบุรีรัมย์ นอกเหนือจากการไปเที่ยวชมปราสาทหินขนาดใหญ่ที่ได้รับความนิยมท่องเที่ยวเป็นหลักแล้ว  ยังมีปราสาทหินขนาดกลางและเล็กอีกหลายแห่งที่มีเสน่ห์แตกต่างกันไป บางแห่งยังไม่ได้รับการบูรณะ จึงยังคงรักษากลิ่นอายจากอดีตเอาไว้ ดึงดูดความสนใจให้ไปเยือนยลเป็นอย่างมาก 

 ปราสาทกู่สวนแตง

 ทับหลังจากกู่สวนแตงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

ปราสาทกู่สวนแตง ตระการตาภาพสลักทับหลัง
สร้างขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ตามศิลปะนิยมแบบนครวัด เป็นปราสาทก่ออิฐสามหลังเรียงกันบนฐานศิลาแลงเดียวกัน จุดเด่นของปราสาทอยู่ที่ภาพสลักบนทับหลัง ๗ ชิ้น ซึ่งแต่เดิมทับหลังทั้งหมดยังประดับอยู่ที่ประตูปราสาททุกหลัง แต่ถูกคนร้ายลักลอบขโมยออกไป เมื่อกรมศิลปากรติดตามกลับคืนมาได้ จึงนำไปเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไม่ได้นำมาไว้ที่เดิม

ทับหลังชิ้นเด่นคือภาพสลักเรื่องนารายณ์บรรทมสินธุ์ ซึ่งปัจจุบันจัดเป็นโบราณวัตถุชิ้นสำคัญระดับประเทศ จัดแสดงอยู่ในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร  ยังมีทับหลังศิวะนาฏราช กูรมาวตารหรือการกวนเกษียรสมุทร  วามนาวตารหรือพระวิษณุตรีวิกรม และเทพเจ้าประทับบนหน้ากาล งดงามไม่น้อยหน้าไปกว่ากัน ทั้งหมดจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย

ปราสาทบ้านหนองเยือง 

 ปราสาทกุฏิฤๅษีบ้านหนองเยือง บรรยากาศของปราสาทหินดิบ ๆ   
โรคยศาลาหรือวิหารแห่งโรงพยาบาล ในพุทธศตวรรษที่ ๑๘  สร้างด้วยศิลาแลงโดยใช้หินทรายเป็นส่วนรับน้ำหนักโครงสร้างและส่วนประดับตกแต่ง มีสระน้ำอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของปราสาท ซึ่งชาวบ้านได้นำดอกบัวสีสันสดใสมาปลูกไว้ดูงดงาม ปัจจุบันปราสาทหลังนี้อยู่ในสภาพเดิม ๆ ยังไม่ได้รับการบูรณะ ชั้นในของกำแพงศิลาแลง เคยถูกสำนักสงฆ์เข้ามาดัดแปลงใช้พื้นที่รอบตัวปราสาทประธาน แต่ปัจจุบันไม่มีสำนักสงฆ์อยู่แล้ว มีต้นจำปีใหญ่ขึ้นล้อมรอบ ในบรรยากาศอันเงียบสงบชวนให้เกิดจินตนาการ สามารถเดินศึกษาพินิจร่องรอยของการเรียงหินก่อสร้างในยุคโบราณ  

 ปราสาทบ้านโคกงิ้ว

“ปราสาทโคกงิ้ว” อโรคยศาลาแห่งวีเรนทรปุระ
อโรคยศาลาหรือวิหารแห่งโรงพยาบาล ในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ก่อสร้างด้วยศิลาแลงโดยใช้หินทรายบางส่วน เป็นปราสาทหินที่บูรณะแล้ว ที่บรรณาลัยยังได้พบทับหลังชิ้นหนึ่งกับเสาประดับกรอบประตู ๒ เสาในศิลปะแบบบันทายสรี ซึ่งอาจขนย้ายมาจากปราสาทบ้านใหม่ไทยเจริญ ซากปราสาทอิฐเก่าในยุคก่อนหน้า ที่อยู่ใกล้ ๆ กัน และยังพบกรอบคันฉ่องสำริดจารึกความว่า "มหาศักราช ๑๑๑๕ ไทยธรรมของพระบาทกมรเตง อญ ศรีชยวรมเทวะ ถวายแด่พระอโรคยาศาล ณ วีเรนทรปุระ"  พร้อมพระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาสุคต รูปประติมากรรมศิลาสองกร และรูปพระมานุษโพธิสัตว์สี่กรประทับนั่ง


 วัดโพธิ์ย้อย

ปราสาทวัดโพธิ์ย้อย ปราสาทอิฐใต้อุโบสถไม้
             โบสถ์ไม้เก่าสภาพชำรุดทรุดโทรมของวัดสร้างอยู่บนซากปราสาทอิฐที่มีอายุการสร้างในพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ศิลปกรรมแบบบาปวน มีการนำแผ่นหินทับหลังของปราสาทเก่ามาวางเรียงไว้ใต้ฐานชุกชีพระประธานเพื่อป้องกันการโจรกรรม เป็นทับหลังภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ๓ แผ่น ภาพพระนางไมนาวติถวายพระอุมาแก่พระศิวะ และภาพพระศิวะทรงโคนนทิ  ยังมีใบเสมาสมัยทวารวดีสลักรูปสถูปทรงหม้อน้ำแผ่นหนึ่ง อีกแผ่นหนึ่งเป็นรูปธรรมจักร รวมทั้งชิ้นส่วนเสากรอบประตู ชิ้นส่วนประดับปราสาท ฐานรูปเคารพ และชิ้นส่วนของเทวรูปอย่างละชิ้น รอบฐานโบสถ์ มีหลักหินหัวบัวล้อมรอบอยู่ห้าหลัก ส่วนโคนสลักเป็นรูปมหาฤๅษีในท่าโยคะสนะไขว้ขาภายในซุ้มรัศมีเรือนแก้ว เสาหินหลักหนึ่งมีต้นและรากไม้ขึ้นชอนไชดูสวยงามแปลกตา 

 ปราสาทหนองหงส์

 ปราสาทหนองหงส์ ปราสาทสามหลังในคติตรีมูรติ
ปราสาทหินขนาดกลางก่ออิฐสามหลัง เรียงอยู่บนฐานเดียวกัน อายุราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ปราสาทประธานตั้งอยู่บนฐานที่สูงกว่า มีมุขฐานชั้นซ้อนยื่นออกมา เป็นมณฑปเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผา เชื่อมต่อกับมุขหน้าของปราสาทประธาน ด้านหน้าฝั่งทิศใต้มีบรรณาลัยหนึ่งหลัง  ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วที่มีส่วนยอดโค้งท้องเรือประทุน ด้านหน้าทิศตะวันออกเป็นโคปุระยกฐานสูงสามห้อง สร้างจากศิลาแลงโดยใช้หินทรายเป็นส่วนรับน้ำหนัก
            แต่เดิมปราสาททั้งสามหลังเคยมีทับหลังติดอยู่เหนือกรอบประตูด้านหน้า ทับหลังของปราสาทประธานเป็นภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณเหนือรูปเกียรติมุข ปราสาททิศเหนือเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑเหนือรูปเกียรติมุข ปราสาทฝั่งทิศใต้เป็นภาพพระศิวะทรงโคนนทิเหนือเกียรติมุข แต่ถูกโจรกรรมไปแล้ว

 ปราสาทเขากระโดง

ปราสาทเขากระโดง ปราสาทหินบนยอดเขาที่ถูกลืม
ปราสาทหินทรายขนาดเล็กหลังเดี่ยวที่เพิ่งเริ่มสร้าง แต่หยุดการก่อสร้างไปอย่างกะทันหัน อายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗  ภายหลังตระกูลสิงหเสนีได้ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองไว้ในองค์ปราสาทแล้วสร้างมณฑปครอบทับ เดิมชาวบ้านเรียกเขากระโดงว่า พนมกระดองแปลว่า ภูเขากระดองเพราะลักษณะคล้ายกระดองเต่า ต่อมาจึงเพี้ยนเป็น กระโดง

 ปราสาทละลมธม

 ปราสาทละลมธม ซากปราสาทใหญ่ที่ถูกทำลาย
            ปราสาทหินขนาดกลาง จัดวางแผนผังระบบจักรวาลแบบบาปวน สร้างในพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ปรางค์ประธานเดี่ยวอยู่กึ่งกลาง ล้อมด้วยกำแพงสี่เหลี่ยม มีบรรณาลัยและโคปุระ  สร้างขึ้นเพื่อบูชาพระศิวะในลัทธิไศวะนิกาย ใช้หินทรายเป็นวัสดุหลัก เล่ากันว่าปราสาทถูกทำลายโดยนักล่าสมบัติโบราณใช้ช้างมาลากจนปราสาทพังทลายลงมาถึงชั้นฐาน เพื่อนำเอาชิ้นส่วนโครงสร้างหินทรายที่แกะสลักลวดลายไป เหลือเพียงเสากรอบประตูและชิ้นส่วนโครงสร้างอิฐและหินทรายกระจัดกระจาย ชื่อของปราสาท มาจากคำว่า ละลมมีความหมายว่าหนองน้ำ ที่ต่ำ หรือล่มลง ส่วนคำว่า ธมแปลว่าใหญ่ เนื่องจากปราสาทขนาดใหญ่กว่าปราสาทหินหลังอื่น ๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงมาก

 ปราสาทตาเจีย (ปราสาททอง) 

 ปราสาททอง (ตาเจีย)” ปราสาทที่ซ่อนตัวในท่ามกลางชุมชนเมือง
 ปราสาทขนาดกลาง อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ศิลปกรรมแบบบาปวน ตั้งอยู่เกือบใจกลางเมืองบ้านกรวด ห่างจากตลาดเทศบาลบ้านกรวด ๙๐ เมตร กรมศิลปากรบูรณะแล้ว เป็นปราสาทอิฐสามหลังบนฐานศิลาแลงเดียวกัน ฐานของปราสาทประธานยกสูงกว่าปราสาทบริวารชั้นหนึ่ง มีบรรณาลัยสองหลังอยู่ภายในกำแพงศิลาแลงล้อมรอบ กึ่งกลางของกำแพงด้านหน้าเป็นซุ้มประตูโคปุระมีปีกอาคารสองข้าง กึ่งกลางของกำแพงด้านทิศเหนือและใต้ ทำเป็นอาคารคล้ายโคปุระ มีปีกสองข้างเช่นเดียวกัน แต่ช่องประตูและหน้าต่างด้านนอกก่อเป็นผนังทึบ ส่วนกำแพงด้านหลังทางทิศตะวันตกไม่มีโคปุระ 

รอบนอกกำแพงมีร่องรอยของคูน้ำล้อมรอบ ในอดีตเคยพบทับหลังสองแผ่นฝังดินอยู่ แผ่นหนึ่งเป็นรูปเทพประจำทิศประทับบนหน้าเกียรติมุข ยังจัดแสดงอยู่ที่สำนักงานเทศบาลตำบลบ้านกรวด ส่วนทับหลัง รูปประติมากรรมและหินทรายสลักลวดลายประดับชิ้นอื่น ๆ ถูกโจรกรรมไปจนหมด

 ปราสาทไบแบก

ปราสาทไบแบก ปราสาทหินสองสีชายแดน
             ปราสาทก่ออิฐสามหลังบนฐานไพทีเดียวกัน หันหน้าไปทางทิศตะวันตก สร้างขึ้นกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ในคติความเชื่อลัทธิฮินดู ตรีมูรติในรูปแบบศิลปะบาปวน มีลักษณะพิเศษที่ไม่เหมือนใคร คือบริเวณช่วงล่างของเรือนธาตุจากระดับบัวเชิงฐานมาถึงกรอบบนของวงกบประตู ใช้หินทรายสีขาวหรือหินทรายเพชรตัดเป็นก้อนขนาดเดียวกับอิฐ มาก่อเป็นตัวปราสาท ส่วนผนังช่วงบนขึ้นไปก่อด้วยอิฐดินเผาไม่สอปูน อิฐแนบสนิท สภาพปัจจุบันพังทลายลงมา แต่ยังเหลือผนังเรือนธาตุบางส่วนตั้งอยู่

ประติมากรรมสำคัญที่พบ ได้แก่ทับหลังรูปพระนารายณ์ทรงครุฑเหนือหน้ากาล (เกียรติมุข) ด้านบนสลักเป็นรูปฤๅษีในท่าโยคาสนะ ๑๗ ตน เป็นทับหลังที่ตามคืนมาได้จากการโจรกรรม (เหลืออยู่เพียงชิ้นเดียวจากทั้งหมดห้าชิ้น) และปราสาทหินจำลองจำนวนหนึ่ง เก็บรักษาอยู่ที่ด้านนอกของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย

ส่วนชื่อปราสาท “ไบ” มาจากคำในภาษาเขมรว่า ไปรหรือ ไพรที่แปลว่า ป่าส่วนคำว่า แบกน่าจะมาจากคำว่า เบิกแปลว่า เปิดซึ่งรับกับทำเลที่ตั้งของปราสาทซึ่งอยู่ตรงทางขึ้นเขา ในอดีตเป็นทางเข้าป่าตามช่องเขาจันทบเพชร ข้ามไปยังฝั่งเขมรต่ำ ผู้คนจึงเรียกว่า “ปราสาทไบแบก” แปลว่าปราสาทซึ่งตั้งเป็นจุดสังเกตตรงเส้นทางเข้าสู่ป่า

ปราสาทหนองกง

ปราสาทหนองกง อดีตที่พักคนเดินทางกลางท้องทุ่ง
 ปราสาทแบบ “วหนิคฤหะ” ที่เรียกว่า บ้านมีไฟ ธรรมศาลา หรือที่พักคนเดินทาง สร้างในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ โดยปรากฏในจารึกปราสาทพระขรรค์ว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ได้โปรดให้สร้างไว้ทั้งหมด ๑๒๑ แห่งทั่วราชอาณาจักร ตัวปราสาทสร้างด้วยหินศิลาแลงและใช้หินทรายสีเทาเป็นวัสดุรองรับน้ำหนักและประติมากรรมประดับปราสาท มีมุขคูหาด้านหน้ายาว มีหน้าต่างฝั่งเดียว เป็นแบบที่จะพบเห็นได้เฉพาะตามเส้นทางโบราณ “ราชมรรคา” ในอดีตเท่านั้น ปัจจุบันหลังคาและตัวปราสาทพังทลายเป็นกองหิน เหลือผนังมุขทางด้านทิศเหนือที่ยังสภาพสมบูรณ์อยู่เพียงเล็กน้อย  

เดิมชื่อปราสาทโคกปราสาทหรือปราสาทท้าวกง เนื่องจากชาวบ้านมาพบปราสาทหินร้าง จินตนาการว่าเป็นที่อยู่ของพวกท้าวพระยาในสมัยก่อน ประกอบกับเนินที่ชุมชนอยู่อาศัยและเนินดินรอบโคกปราสาทพบเครื่องมือเครื่องใช้ ภาชนะ และเครื่องประดับ กระจายอยู่มาก จึงเรียกตัวโคกปราสาทว่าเป็น ปราสาทของท้าวกง หรือ ปราสาทท้าวกง

ปราสาทหนองตาเปล่ง

ปราสาทหนองตาเปล่ง ธรรมศาลาบนเส้นทางราชมรรคา
หนึ่งในปราสาทแบบ วหนิคฤหะหรือธรรมศาลา ๙ หลังบนเส้นทางราชมรรคาฝั่งอีสานใต้  ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของห้วยลำมาศ สร้างด้วยหินศิลาแลงและหินทรายสีเทา หลังคาและตัวปราสาทพังทลาย คงเหลือส่วนของผนังมุขทางด้านทิศเหนือที่ยังสภาพสมบูรณ์อยู่บางส่วน หินศิลาแลงโครงสร้างปราสาทบางส่วนได้ถูกนำมาเรียงเป็นแนวกำแพงด้านทิศเหนือและตะวันออก
             แม้ไม่พบรูปประติมากรรม แต่ยังมีภาพสลักหลงเหลืออยู่บ้างตรงส่วนของปลายหน้าบันและประตูหลอกของเรือนปราสาททางด้านทิศเหนือ เป็นลายเส้นของพวยใบระกา นาคปลายหน้าบันสลักเป็นโกลน สำหรับปั้นปูนเป็นลวดลายประดับทับลงไปอีกทีหนึ่ง ยังคงปรากฏบนผนังมุขที่เหลืออยู่ ทั้งชั้นรองรับหลังคา หลังคาชั้นลด ลายคิ้วบัวและส่วนย่อมุมด้านหน้า แต่ไม่ปรากฏลวดลายของหน้าต่างหลอกบนผนังคูหามุข 

 ปราสาททมอ

ปราสาททมอ เสน่ห์ของซากปราสาทหินที่ยังไม่ได้รับการบูรณะ
เป็นปราสาทแบบวหนิคฤหะ ที่พบเฉพาะบนเส้นทางโบราณ “ราชมรรคา” อีกหลังหนึ่ง สร้างขึ้นต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗  ใกล้กับฝายน้ำล้น เป็นปราสาทหินยอดเดียว มีมุขคูหายาวออกไปทางด้านหน้า หลังคาและตัวเรือนปราสาทพังทลายลงมาทั้งหมด ยังไม่ได้บูรณะ แต่ถึงหลังคาและตัวปราสาทจะพังทลายลงมาเป็นกองหิน แต่ผนังทั้งสองด้านยังคงมีความสมบูรณ์ ทั้งฝั่งที่เป็นผนังกำแพงของมุขคูหายาว ที่สูงขึ้นถึงระดับชั้นรองหลังคาด้านบน และฝั่งที่เป็นผนังสลับช่องหน้าต่างทางทิศใต้ที่ยังมีหน้าต่างเรียงอยู่ครบห้าช่อง ส่วนชื่อปราสาทคำว่า ทมอมีความหมายว่า “หิน” ในภาษาเขมร
ถึงแม้ว่าปราสาท (รอง) เหล่านี้จะไม่ใหญ่โตหรือเป็นที่นิยมท่องเที่ยวอย่างปราสาทเขาพนมรุ้งหรือปราสาทเมืองต่ำ แต่ปราสาทหินโบราณเหล่านี้ก็ล้วนมีเสน่ห์ที่แตกต่างกันไป ทั้งแบบรกร้างไม่ได้บูรณะ ในบรรยากาศกลางป่ากลางทุ่ง ปราสาทนิรนามลึกลับที่ต้องเดินทางเสาะแสวงหา ทุกปราสาทล้วนมีความงดงาม น่าสนใจ มีเรื่องราวและกลิ่นอายจากอดีตให้ค้นหา ไม่ได้แตกต่างไปจากปราสาทขนาดใหญ่เลย หากท่านได้ลองไปเยือนยลกันซักครั้งหนึ่งในชีวิต

 ปราสาทพนมรุ้ง (ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...ภาพ) 

คู่มือนักเดินทาง

ปราสาทกู่สวนแตง ตั้งอยู่ที่บ้านดงยาง ตำบลกู่สวนแตง อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ ห่างจากตัวเมือง๗๕ กิโลเมตร จากตัวอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ไปทางอำเภอพุทไธสง ใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๐๒ ประมาณ ๘๐๐ เมตร ด้านขวามือมีทางแยกเข้าโรงเรียนสวนแตงวิทยาคม เข้าไปประมาณ ๕๐๐ เมตร เลยวัดกู่สวนแตงไปเล็กน้อย ปรางค์กู่สวนแตงจะตั้งอยู่ทางโค้งริมถนนด้านขวามือ

ปราสาทกู่ฤๅษีหนองเยือง ตั้งอยู่ที่บ้านกุฏิฤๅษี ตำบลหนองเยือง อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ ห่างจากตัวเมือง ๘๐ กิโลเมตร จากแยกอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ ประมาณ ๓ กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวงหมายเลข ๒๐๒ไปทางอำเภอปะทาย ทางซ้ายมือแยกเข้าตรงโรงเรียนสระจันทร์ไปอีกประมาณ ๑.๖กิโลเมตร ตัวปราสาทจะตั้งอยู่ตรงมุมโค้งถนนฝั่งขวามือ

ปราสาทโคกงิ้ว ตั้งอยู่ที่บ้านโคกงิ้ว ตำบลปะคำ อำเภอปะคำ ห่างจากตัวเมือง ๘๕ กิโลเมตร โดยใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๑๘ บุรีรัมย์ นางรอง ระยะทางประมาณ ๖๕ กิโลเมตร จากอำเภอนางรอง ใช้ทางหลวงหมายเลข ๓๔๘ นางรอง-ปะคำ ระยะทาง ๒๒ กิโลเมตร ก่อนเข้าตัวอำเภอปะคำ ๒ กิโลเมตร วัดโคกงิ้วจะอยู่ทางขวามือ ปราสาทตั้งอยู่ติดกับวัด  

            ปราสาทวัดโพธิ์ย้อย ตั้งอยู่ที่บ้านปะคำ ตำบลปะคำ อำเภอปะคำ อยู่ทางใต้ของตัวเมืองบุรีรัมย์ประมาณ ๘๐ กิโลเมตร จากตัวอำเภอนางรอง ใช้ทางหลวงสาย ๓๔๘ ถึงตัวอำเภอปะคำ ระยะทางประมาณ ๒๕ กิโลเมตร

            ปราสาทหนองหงส์ ตั้งอยู่ที่บ้านโนนดินแดง ตำบลโนนดินแดง อำเภอโนนดินแดง  ทางใต้ของตัว เมืองประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร ใกล้เขื่อนลำนางรอง จากตัวอำเภอนางรอง ใช้ทางหลวงหมายเลข ๓๔๘ ระยะทางประมาณ ๔๔ กิโลเมตร ผ่านตัวอำเภอปะคำไปยังอำเภอโนนดินแดง เลี้ยวซ้ายเข้าเขื่อนลำนางรอง ปราสาทหนองหงส์ตั้งอยู่ทางด้านซ้ายของแนวสันเขื่อนที่ห่างไปประมาณ ๕๐๐ เมตร

ปราสาทเขากระโดง  ตั้งอยู่บนปากปล่องภูเขาไฟกระโดง ในวนอุทยานเขากระโดง อำเภอเมือง ฯ  อยู่ห่างจากตัวจังหวัดมาทางใต้ ๘ กิโลเมตร ใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๔๔๕ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่วนอุทยานฯ

ปราสาทละลมธม ตั้งอยู่ในเขตบ้านศรีสุข ตำบลเขาดินเหนือ อำเภอบ้านกรวด ห่างจากตัวจังหวัด ประมาณ ๗๐ กิโลเมตร จากตัวอำเภอประโคนชัย ใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๔ ไปทางจังหวัดสุรินทร์ ประมาณ ๑๑ กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าบ้านละเวี้ย ระยะทาง ๖ กิโลเมตร ต่อไปยังบ้านศรีสุข ระยะทางอีก ๓ กิโลเมตร ออกจากบ้านศรีสุขไปทางทิศตะวันออกตามถนนลูกรังอีกประมาณ ๒ กิโลเมตร จะเดินทางถึงตัวปราสาท

            ปราสาททองหรือปราสาทตาเจีย ตั้งอยู่ที่บ้านปราสาท เทศบาลตำบลบ้านกรวด ตำบลปราสาท อำเภอบ้านกรวด  ห่างจากตัวจังหวัด ๗๐ กิโลเมตร ในตัวอำเภอบ้านกรวด เข้าไปทางซอยเทศบาล ๑๔ หลังสำนักงานประปาบ้านกรวด

ปราสาทไบแบก ตั้งอยู่ที่บ้านสายโท ๕ ใต้  ตำบลจันทบเพชร อำเภอบ้านกรวด ปัจจุบันยังคงเป็นซากปราสาทร้างท่ามกลางสวนยางพาราร่มรื่นใกล้แนวชายแดน อห่างจากตัวจังหวัด ๘๐  กิโลเมตร  จากตัวอำเภอปราสาท ผ่านบ้านสายโท ๔ ใต้ ตามถนนชนบทไปยังแนวเขาทิศใต้ที่เป็นสวนยางอีกประมาณ ๔ กิโลเมตร จึงแยกซ้ายเข้าสู่ตัวปราสาท

ปราสาทหนองกง ตั้งอยู่กลางทุ่งนาในเขตบ้านหนองกง ตำบลหนองกง อำเภอนางรอง ห่างจากตัวจังหวัด ๕๒ กิโลเมตร จากตัวจังหวัดใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๑๘ ลงมาทางใต้ แยกขวาเข้าบ้านหนองกงตรงสำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลหนองกง ผ่านบ้านหนองกงแล้วลัดเลาะไปตามถนนดิน ออกจากหมู่บ้านไปทางทิศตะวันออกอีกประมาณ  ๒.๗  กิโลเมตรถึงตัวปราสาท

ปราสาทหนองตาเปล่ง หรือปราสาทเทพสถิตย์ ตั้งอยู่ในเขตบ้านปราสาทเทพสถิตย์ ตำบลช่อผกา อำเภอชำนิ อยู่ห่างจากตัวจังหวัด ๕๘ กิโลเมตร จากตัวอำเภอชำนิไปทางเหนือตามทางหลวงหมายเลข ๒๐๗๓ ประมาณ ๕ กิโลเมตร แยกซ้ายเข้าไปทางบ้านหนองตาเปล่ง ผ่านโรงเรียนบ้านหัวสะพาน ระยะทาง๔.๕ กิโลเมตร ถึงวัดปราสาทเทพสถิตย์

ปราสาททมอ ตั้งอยู่ที่บ้านละหานทรายเก่า ตำบลหินลาด อำเภอบ้านกรวด ปราสาททมอ อยู่ห่างจากตัวจังหวัด ๗๐ กิโลเมตร จากตัวอำเภอประโคนชัยลงไปทางใต้ ตามทางหลวงหมายเลข 2445 ประมาณ 7 กิโลเมตร ผ่านบ้านโนนสิลาไปถึงบ้านโคกยาง เลี้ยวซ้าย  ไปตามเส้นไปยังอ่างเก็บน้ำห้วยทมอ อีกประมาณ 4 กิโลเมตร ตัวปราสาทจะตั้งอยู่ใกล้กับมุมของอ่างเก็บน้ำฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือ

 ทับหลังปราสาทเมืองต่ำ (ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...ภาพ)