Tuesday, January 27, 2015

รายงานพิเศษ มองมุมใหม่ เมืองกาฬสินธุ์

วัดวังคำ สถาปัตยกรรมจำลองจากวิหารวัดเชียงทองที่หลวงพระบาง สปป.ลาว


ภาคภูมิ น้อยวัฒน์ ...รายงาน
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนมกราคม ๒๕๕๘  

           
           “มองมุมใหม่ หมายถึงการทำให้นักท่องเที่ยวมองจังหวัดกาฬสินธุ์ด้วยทัศนคติที่ต่างออกไป จากที่เคยมองเป็นแค่เมืองบนทางผ่าน มาเป็นเมืองท่องเที่ยวทางเลือก แต่ไม่ใช่มุมมองใหม่ เพราะมุมมองเดิมของกาฬสินธุ์ที่มี ดีอยู่แล้ว แค่เราพัฒนาเพิ่มเติม เสริมของดีอันโดดเด่นของกาฬสินธุ์ให้น่าสนใจมากขึ้นเท่านั้น” 
           
          นายภุชงค์ โพธิกุฎสัย ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวระหว่างล่องแพชมทิวทัศน์ยามเย็นในอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาวกับคณะสื่อมวลชนที่ร่วมเดินทาง ในงานเปิดตัวโครงการมองมุมใหม่ในกาฬสินธุ์  ซึ่งจังหวัดกาฬสินธุ์ร่วมกับองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานต่างๆ จัดขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว  นำแหล่งท่องเที่ยวหลักมาเสริมศักยภาพ ควบคู่ไปกับการเปิดตัวแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่น่าสนใจให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

บรรยากาศยามเย็นขณะล่องแพในเขื่อนลำปาว

 นายภุชงค์ โพธิกุฎสัย ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ 

แหล่งดั้งเดิมที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพ คือแหล่งศิลปกรรมโบราณได้แก่เมืองฟ้าแดดสงยาง นครโบราณผังเมืองรูปใบเสมาแห่งนี้เจริญสูงสุดราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖ ในสมัยทวารวดี 

เมื่อรับพุทธศาสนาจากการค้าขายกับภาคกลาง ขยายตัวเป็นเมืองใหญ่ มีคูเมือง กำแพงเมือง โดยมีพระธาตุยาคู  ปูชนียสถานสำคัญเป็นศูนย์กลาง 


 พระธาตุยาคู ปูชนียสถานสำคัญกลางเมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง

เสมาหินทรายในพิพิธภัณฑ์วัดโพธิ์ชัยเสมาราม

เอกลักษณ์ที่โดดเด่น คือใบเสมาหินทรายมหึมาจำนวนมากมาย  หลากรูปแบบ ทั้งแบบกลม แบบสี่เหลี่ยม และแบบแผ่นหิน จำหลักภาพพุทธประวัติและชาดก งดงามกว่าบรรดาเสมาแหล่งอื่น ๆ ของภาคอีสานทั้งหมด  ซึ่งในวันนี้ได้สร้างอาคารศูนย์ข้อมูลขึ้นในบริเวณใกล้กับพระธาตุยาคู สำหรับเป็นแหล่งท่องเที่ยวค้นคว้าศึกษาทางด้านศิลปวัฒนธรรมโบราณในพื้นที่เรียบร้อยแล้ว 


 พระพุทธไสยาสน์ภูค่าว ประทับนอนตะแคงซ้าย

เช่นเดียวกันกับพระพุทธไสยาสน์ตะแคงซ้ายในเพิงผาที่พุทธสถานภูค่าว อำเภอสหัสขันธ์ เป็นแหล่งศิลปกรรมแบบทวารวดีอีกแห่ง ที่ถึงพร้อมด้วยศักยภาพสำหรับการท่องเที่ยว เนื่องจากรอบอาณาบริเวณอันเป็นที่ตั้งคือวัดพุทธนิมิตภูค่าว 


 วิหารไม้แกะสลัก

กุฎิสมเด็จ แหลางรวบรวมพระสมเด็จจำนวนมหาศาล

ยังมีอุโบสถไม้ทั้งหลังประดับด้วยไม้แกะสลักเรื่องราวพุทธประวัติและชาดกอย่างงดงาม ทั้งภายนอกและภายใน รวมทั้งพระมหาธาตุเจดีย์พุทธนิมิตหินทรายสูงสง่าเสียดฟ้าประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ  รายรอบด้วยประติมากรรมคติธรรมทางพุทธศาสนา 



ความเป็นดินแดนดึกดำบรรพ์เป็นอีกจุดเด่นหลักที่ถูกเน้นขึ้นมา เนื่องจากในกาฬสินธุ์พบแหล่งขุดค้นทางโบราณชีววิทยาหลายแห่ง 

ภูกุ้มข้าว อำเภอสหัสขันธ์ เป็นแหล่งขุดพบฟอสซิลไดโนเสาร์และเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์สิรินธร แหล่งรวบรวมอนุรักษ์ รวมทั้งจัดแสดงซากดึกดำบรรพ์ ที่มีฟอสซิลไดโนเสาร์มากที่สุดและสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย


 ในขณะที่วนอุทยานภูแฝก  กิ่งอำเภอนาคู ในบริเวณลำธารธรรมชาติ  เป็นแหล่งพบรอยตีนไดโนเสาร์ชัดเจนที่สุดและมากรอยที่สุดในประเทศไทยอีกเช่นกัน 



ยังมีวัดป่าพุทธบุตร  อำเภอเขาวง ซึ่งมีพิพิธภัณฑ์ดึกดำบรรพ์อยู่ในบริเวณวัด จัดแสดงซากบรรพชีวิน กระดูกไดโนเสาร์ ไม้กลายเป็นหิน และที่สำคัญที่สุด คือฟอสซิลปลาโบราณหายใจด้วยปอด ที่ขุดพบจำนวนมากใกล้กับวัด 



ทั้งนี้ยังได้มีการจัดสร้างสวนไดโนเสาร์ ซึ่งมีประติมากรรมสัตว์โลกล้านปีขนาดน้อยใหญ่พันธุ์ต่าง ๆ ตั้งไว้ริมทางหลวงหมายเลข ๒๒๗ อันเป็นทางผ่านไปยังพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์สิรินธร ช่วยสร้างบรรยากาศอันเป็นจุดขายความเป็นดินแดนไดโนเสาร์ได้เป็นอย่างดี


กิจกรรมท่องเที่ยวเพื่อเรียนรู้ในเชิงตามรอยพระราชดำริ ก็เป็นอีกอย่างที่นำมาใช้เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว ด้วยโครงการอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในอำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์  

จุดเด่นอยู่ที่อุโมงค์ขนาดใหญ่ กว้าง ๓ เมตร สูง ๓ เมตร ยาว ๗๔๐ เมตรที่เจาะลอดใต้เขาภูบักดีตรงพื้นที่รอยต่อ ๒ จังหวัด ผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร มาให้กับพื้นที่การเกษตรลุ่มน้ำลำพะยังตอนบน เป็นหลักฐานถึงพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยในอุโมงค์มีเส้นแบ่งเขตแดนจังหวัดระหว่างมุกดาหารกับกาฬสินธุ์ที่อยู่กึ่งกลางของอุโมงค์  เป็นจุดสนใจ  


ส่วนแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่เริ่มเปิดตัวให้เป็นที่รู้จักกันก็มีหลากหลาย ตั้งแต่กิจกรรมล่องแพกินอาหารชมบรรยากาศงามๆ ยามเย็น ของอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาว และสะพานเทพสุดาที่เชื่อมจากอำเภสหัสขันธ์ไปยังอำเภอหนองกุงศรี 


 ไดโนโรดย่านถนนคนเดินแห่งใหม่ของอำเภอสหัสขันธ์ ที่ในทุกเช้าวันเสาร์มีการตักบาตรพระร้อยรูปและในช่วงออกพรรษามีประเพณีตักบาตรเทโวโดยพระภิกษุเดินลงมาจากยอดภูสิงห์อันเป็นแหล่งประดิษฐานพระพรหมภูมิปาโลและเป็นจุดชมทิวทัศน์ที่สวยงาม



โดยเฉพาะแหล่งที่โดดเด่นและเป็นที่เชิดหน้าชูตาที่สุด คือวัดวังคำ อำเภอเขาวง ด้วยวิหารสถาปัตยกรรมล้านช้าง จำลองแบบมาจากวัดเชียงทองที่หลวงพระบาง ด้วยหลังคามุขลด ๓ ชั้น โค้งลงมาจนเกือบจดพื้น สันหลังคาประดับด้วยช่อฟ้าหรือวิมาน ๙ ยอด โครงสร้างภายในแบบขื่อม้าต่างไหม  


         

       ทางโครงการฯ ได้เลือกใช้ลานด้านหน้าเป็นสถานที่แถลงข่าว โดยมี นางกอบกาญจน์ รัตนวรางกูร รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายภุชงค์ โพธิกุฏสัย ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมเปิดตัวโครงการ ซึ่งในตอนท้ายของพิธี รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้กล่าวสรุปว่า


“โดยส่วนตัวเห็นว่ากาฬสินธุ์มีความโดดเด่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องผ้าแพรวาของชาวผู้ไทยซึ่งเป็นเอกลักษณ์...ได้มาเยือนกาฬสินธุ์แล้วก็ประทับใจ อยากให้คนไทยได้มีความรู้สึกแบบนี้ เรียกว่าเป็นการนำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต รับรองว่าใครได้มาแล้วจะต้องกลับไปพร้อมกับรอยยิ้ม และจะต้องกลับมาใหม่อีกอย่างแน่นอน”