Wednesday, June 15, 2022

เปิดตัวงานแสดงเรือยอร์ชและไลฟ์สไตล์การท่องเที่ยวสุดหรู Thailand Yacht Show 2022 ครั้งที่ ๖ ที่พัทยา

        


        การเปิดตัวงาน Thailand Yacht Show ครั้งที่ ๖ โดยมีนายแอนดี้ เทรดเวลล์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวอร์เวนเทีย จำกัด ผู้จัดงาน พร้อมด้วย นายโมฮาเมด จินาห์ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐมัลดีฟส์ ประจำประเทศไทย ดาโต๊ะ สตีฟ เชียร์หัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูตประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ ไทยและ เวียดนาม นางสาววิภารัตน์ ธาราธีรภาพ ผู้อำนวยการ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา เรือตรีปราโมทย์ ทับทิม ปลัดเมืองพัทยาและรักษาการนายกเมืองพัทยา นายทรงวุฒิ อภิรักษ์ขิต ผู้อำนวยการ สำนักจัดการการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก นายปิแอร์ จาฟรีย์ ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และนายไพรัช สุขงาม รองผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานพัทยา (ชลบุรี) ร่วมพิธีเปิด ณ โอเชี่ยน มาริน่า ยอร์ช คลับ พัทยา ประเทศไทย 

         งาน Thailand Yacht Show เป็นงานจัดแสดงเรือและเรือยอร์ชระดับแนวหน้าของภูมิภาคเอเชีย และ กิจกรรมทางทะเลประจำปีที่จัดขึ้นต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ตลาดเช่าเหมาลำเรือยอร์ชทั่ว โลกมีมูลค่า ๑๐.๑๙ พันล้านเหรียญสหรัฐในปีพ.ศ.๒๕๖๓ และคาดว่าจะเติบโตที่อัตราการเติบโตต่อปี (CAGR) ที่ ร้อยละ ๒๕.๖ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๖๓-๒๕๗๑  

    ไฮไลท์ในงาน TYS – เรือและเรือยอร์ช ที่พัทยา มอบช่วงเวลาอันสนุกสนานเพลิดเพลินแก่ผู้เยี่ยมชมงาน และผู้ที่ชื่นชอบการแล่นเรือ เปิดโอกาสให้ผู้ใหญ่และเด็กได้ทดลองเรียนการเดินเรือเล็กกับผู้ช านาญการมาก ประสบการณ์และคอร์สเรียนต่าง ๆ และการเปิดตัวของ Riva76 Perseo Super เรือยอร์ชระดับอัลตร้า ลักชัวรี่ที่ น าเสนอโดย V Yachts Asia ควบคู่ไปกับ Ferretti 500 รูปแบบใหม่ซึ่งสามารถปรับแต่งให้สะท้อนอารมณ์'คลาสสิก' และ ‘ร่วมสมัย’ เปลี่ยนรูปแบบประสบการณ์การแล่นเรือทั้งหมดให้เป็นความรู้สึกที่สมบูรณ์แบบอย่างแท้จริงในทุกสัมผัส 

           ภายในงาน Thailand Yacht Show มอบมีประสบการณ์ด้านไลฟ์สไตล์ที่น่าประทับใจและน่าตื่นเต้นไม่แพ้กัน อาทิ Jetboard Thailand จะจัดแสดงอุปกรณ์ทางน้ าระดับพรีเมียมที่เคยได้รับรางวัลมาแล้วและมีความ ยั่งยืนอันทันสมัยใหม่ล่าสุด ได้แก่ กระดานโต้คลื่น และเรือไฟฟ้า Leines ซึ่งเป็นทางเลือกให้กับผู้ชื่นชอบการเล่น เจ็ตสกีและเจ็ทเซิร์ฟ ตลอดจนอุปกรณ์ลอยน้ าเพื่อความปลอดภัยที่เล็กที่สุดในโลก 

    Thailand Yacht Show ครั้งต่อไปจะจัดขึ้นที่ จังหวัดภูเก็ต ในช่วงปลายปีนี้ รายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ที่ เว็บไซต์ https://thailandyachtshow.com/registration/ 



Friday, March 25, 2022

เปิดนิทรรศการถาวรพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า กาญจนบุรี

 

ภาคภูมิ น้อยวัฒน์... เรื่องและภาพ 


ประติมากรรมยักษ์ศิลปกรรมทวารวดีจากวัดพระงาม

เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการถาวร ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีนายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม  นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมศิลปากร ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม และข้าราชการ เจ้าหน้าที่ กรมศิลปากร เข้าร่วมในพิธี

โบราณวัตถุได้รับการจัดวางและสาดแสงอย่างสวยงาม


รมต. กระทรวงวัฒนธรรมตัดริบบิ้นเปิดนิทรรศการ

รมต. กระทรวงวัฒนธรรม เยี่ยมชมโบราณวัตถุภายในพิพิธภัณฑ์

ประติมากรรมสิงห์ ศิลปกรรมทวารวดี

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์เป็นสถานที่เก็บรักษาและจัดแสดงโบราณวัตถุที่พบจากเมืองโบราณนครปฐม นครโบราณสมัยทวารวดีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีพัฒนากรอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๖  ทางพิพิธภัณฑ์ได้ปรับปรุงการจัดแสดงนิทรรศการถาวรภายในให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ด้วยการจัดวางและจัดแสงสว่างสาดส่องโบราณวัตถุรวมทั้งการนำเสนอข้อมูลในรูปแบบใหม่  โดยจัดแบ่งเป็นหัวข้อเรียงตามลำดับพัฒนาการของเมืองนครปฐม คือ เรื่องราวตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์และสมัยทวาราวดีผ่านโบราณวัตถุ เข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์จากจารึกสำคัญที่พบในเมืองนครปฐม สภาพภูมิศาสตร์ของเมืองนครปฐมโดยสังเขป ศาสนาและความเชื่อของชาวทวารวดีในนครปฐมจากโบราณวัตถุที่ค้นพบ

อาคารจัดแสดงที่สร้างขึ้นใหม่

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี ได้มีการจัดสร้างอาคารจัดแสดงหลังใหม่ขึ้นบนพื้นที่อาคารหลังเดิม ภายใต้แนวคิด “โบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์แห่งภูมิภาคตะวันตกของประเทศไทย” สถาปัตยกรรมทรงสี่เหลี่ยมสีดินเทศที่ได้รับแรงบันดาลใจจากหลุมขุดค้นทางโบราณคดี ภายในนจัดนิทรรศการถาวรที่ออกแบบในส่วนของเนื้อหาและการจัดแสดงใหม่ทั้งหมด เน้นการนำเสนอให้เข้าใจง่ายและน่าสนใจ


ภายในอาคาร ๓ ชั้น จัดแบ่งนิทรรศการเป็นหัวข้อ ชั้นแรกเป็นการนำเสนอเรื่องราวการค้นพบเครื่องมือหิน ๘ ชิ้น  โดยนักโบราณคดีที่มาเป็นเชลยศึกก่อสร้างทางรถไฟ อันนำมาสู่การขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านเก่าอย่างเป็นทางการในเวลาต่อมา พัฒนาการความเป็นอยู่ของผู้คนก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านเก่า ซึ่งใช้เทคโนโลยีมัลติมีเดียในการนำเสนอให้น่าสนใจ


ห้องฉายภาพยนตร์แบบพานอรามา เหตุการณ์ค้นพบเครื่องมือหินในครั้งแรก

ห้องจำลองบรรยากาศแสดงความเป็นอยู่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์

ทางเดินซึ่งเป็นทางลาดและบนผนังเป็นเรื่องราวไทม์ไลน์ของกาลเวลาตั้งแต่ยุคไดโนเสาร์ต่อเนื่องขึ้นมายังชั้นที่สองที่เป็นการจัดแสดงโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ค้นพบจากการดำเนินงานด้านโบราณคดีในจังหวัดกาญจนบุรีในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น เครื่องประดับ เครื่องมือหินกระเทาะ หินขัด หม้อและภาชนะดินเผา โครงกระดูก พร้อมทั้งการจัดแสดงหุ่นจำลองวิถีชีวิตของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในรูปแบบของตุ๊กตา



หุ่นจำลองวิถีความเป็นอยู่ของผุ้คนสมัยโบราณ

ทางลาดนำขึ้นสู่ชั้นที่สามที่จัดแสดงโบราณวัตถุในยุคสมัยต่อมาคือสมัยโลหะ เช่น ขวานสำริด กำไลข้อมือสำริด จำลองหลุมศพที่ขุดค้นพบข้าวของเครื่องใช้ฝังอยู่กับโครงกระดูก ห้องถัดไปจัดแสดงโลงศพไม้ขนาดใหญ่ที่ขุดขึ้นจากต้นไม้ทั้งต้น และปิดท้ายด้วยห้องจัดแสดงโบราณวัตถุในสมัยประวัติศาสตร์ที่ค้นพบจากปราสาทเมืองสิงห์

กำไลสำริด


โลงไม้ขุดโบราณ
โบราณวัตถุจากปราสาทเมืองสิงห์


พระพิมพ์

ในบริเวณใกล้กับพิพิธภัณฑ์ยังมีหลุมขุดค้นทางโบราณคดีโรงเรียนวัดท่าโป๊ะซึ่งมีอยู่หลายหลุม ภายในขุดพบโครงกระดูกสมัยก่อนประวัติศาสตร์จำนวนมาก บางหลุมเป็นโครงกระดูกของเด็ก ซึ่งทางกรมศิลปากรยังคงดำเนินการขุดค้นอย่างต่อเนื่อง


การขุดค้นในหลุมโรงเรียนวัดท่าโป๊ะ

Monday, December 27, 2021

เชียงใหม่ ประสบการณ์ใหม่ในตัวตนเดิม เวียงแก้ว พระราชวังหลวงแห่งล้านนาและพื้นที่ทางวัฒนธรรมโดยรอบ


เจดีย์เจดีย์วัดอินทขิลและวัดสะดือเมืองสะท้อนเงาอดีตในแอ่งน้ำ

สายกลาง จินดาสุ เรื่อง ภาคภูมิ น้อยวัฒน์ ภาพ

ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ธันวาคม ๒๕๖๔ 

            ท้องถนนที่เคยเงียบเหงาเริ่มกลับมาคลาคล่ำด้วยรถราและนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ  วิถีชีวิตของผู้คนเริ่มกลับมาดำเนินตามปกติ  สองสามวันก่อนเพิ่งได้ยินคนในสำนักงานคุยกันว่าจะไปหาหมูจุ่มอร่อย ๆ กินตอนเย็นจากที่ไม่ได้ยินมานานร่วมปี (พร้อมเสียงแซวว่าระวังจะเป็นคลัสเตอร์หมูจุ่ม) การกลับมาของวิถีและบรรยากาศที่คุ้นเคยเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าสถานการณ์เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิfในเมืองแห่งนี้และในโลกคงกำลังดีขึ้นเป็นลำดับ

            นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ เมืองที่มีชื่อนามอันเป็นมงคล สถาปนาขึ้นจากการรวมแคว้นโยนแห่งลุ่มแม่น้ำกก-อิง ในแอ่งที่ราบเชียงราย-เชียงแสน และแคว้นหริภุญไชยแห่งลุ่มแม่น้ำปิงในแอ่งที่ราบเชียงใหม่-ลำพูน ในปี พ.ศ. ๑๘๓๙   

เชียงใหม่ก่อเกิดขึ้นภายใต้การตกผลึกทางความคิดของพญามังราย ปฐมกษัตริย์ผู้ก่อตั้งราชวงศ์มังราย โดยสร้างเมืองให้อยู่บนเส้นทางการค้าที่สามารถติดต่อกับอาณาจักรอื่นได้ทุกทิศทาง เทคโนโลยีและองค์ความรู้การวางผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส มีระบบการจัดการน้ำที่ยอดเยี่ยม ทำให้โดดเด่นต่างจากเมืองในภูมิภาคยุคเดียวกัน และเป็นที่รวมของสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาดังกล่าว สมกับความหมายของเมืองว่า “เมืองใหม่”

เชียงใหม่ก่อนเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดกับเชียงใหม่ในวันนี้ยังคงเป็นเชียงใหม่ในตัวตนเดิมที่เต็มไปด้วยความเรียบง่ายแต่ลึกซึ้ง งดงามแต่เป็นกันเอง ต่างแต่สิ่งที่เพิ่มเติมคือ มุมมองและประสบการณ์ใหม่จากการค้นพบข้อมูลใหม่ทางโบราณคดีในห้วงปีที่ผ่านมา

อนุสาวรีย์สามกษัตริย์

            พื้นที่วงรอบเล็กๆ บริเวณอนุสาวรีย์สามกษัตริย์กลางเมืองเชียงใหม่และโดยรอบ อาจเป็นพื้นที่ที่หลายคนคุ้นเคย หรือเคยไปเยือนมาแล้วหลายครา แต่ครั้งนี้พิเศษยิ่งขึ้น เพราะการค้นพบทางโบราณคดีและมุมมองใหม่ จะพาทุกคนไปพบกับ “ประสบการณ์ใหม่” ของเชียงใหม่ ในตัวตนเดิม

            ไม่ว่าท่านจะเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวหรือใช้บริการรถแดง รถรับจ้างซิกเนเจอร์ของเชียงใหม่ อยากเชิญชวนทุกท่านลองผ่านเข้ามาในเขตเมืองเก่าเชียงใหม่ด้วยประตูช้างเผือก ประตูด้านทิศเหนือของเมืองเชียงใหม่สักครั้ง ประตูแห่งนี้มีประวัติศาสตร์ที่น่าจะเหมาะแก่การเริ่มต้นอะไรดี ๆ ในช่วงที่สถานการณ์โควิดเริ่มบรรเทา

ประตูช้างเผือกในปัจจุบัน (สายกลาง จินดาสุ ...ภาพ)


ตามความเชื่อและเอกสารประวัติศาสตร์ ประตูช้างเผือก ถือเป็นประตูมงคลของเมือง ปีพ.ศ. ๑๘๓๙ เมื่อครั้งพญามังราย ปฐมกษัตริย์แห่งล้านนาสร้างเมืองเชียงใหม่ พระองค์สร้างกำแพงเมืองเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีประตูทางเข้า ๕ ประตู ป้อมมุมเมือง ๔ ป้อม เมื่อสร้างเสร็จ พญามังรายได้ทำพิธีเข้าเมือง ด้วยการเดินประทักษิณโดยรอบและเข้าสู่เมืองผ่านประตูช้างเผือกด้านทิศเหนือนี้เพื่อเป็นนิมิตมงคล

ความเชื่อในมงคลของประตูช้างเผือกยังมีสืบเนื่องในสมัยหลังที่พญากาวิลละฟื้นเมืองเชียงใหม่ปี พ.ศ. ๒๓๓๙  หลังจากเมืองได้ร้างไปเป็นเวลาหลายปี  โดยเลือกเข้าเมืองที่ประตูแห่งนี้เช่นกัน ความเชื่อนี้น่าจะสืบมาถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในหมู่ข้าราชการนักปกครองที่มารับตำแหน่ง มักจะมาสักการะอนุสาวรีย์ช้างเผือกและเข้าเมืองที่ประตูนี้เสมอ ประตูช้างเผือกจึงถือเป็นประตูมงคลของเมืองซึ่งให้พลังชีวิต พ้องกับความหมายของเมือง คือเมืองใหม่ ชีวิตใหม่ ที่สุขและสมบูรณ์  

ใครคิดจะเที่ยวในตัวเมืองเชียงใหม่ ลองผ่านประตูนี้เข้าไปสักครั้ง จะประหนึ่งได้รับพรมงคลชั้นแรกก่อนเข้าไปเที่ยวโบราณสถาน วัดวาอาราม เป็นการเริ่มต้นใหม่หลังโควิดที่มีพลังยิ่ง

เจดีย์ประธานวัดเชียงมั่นตกแต่งปูนปั้นรูปช้างล้อมรอบฐาน (สายกลาง จินดาสุ...ภาพ) 

            ไหนๆก็เข้าเมืองอิงคอนเซ็ปพญามังรายแล้ว ก็ขอตามรอยมังรายเจ้าต่อด้วยการพาทุกท่านไปยังวัดเชียงมั่น ตามประวัติ วัดนี้ถือเป็นวัดแห่งแรกที่ถูกสร้างขึ้นในเมืองเชียงใหม่ สร้างขึ้นบริเวณที่เป็นที่พักชั่วคราวครั้งพญามังรายบัญชาการสร้างเมือง ในวัดมีพระเจดีย์ช้างล้อม อิทธิพลศิลปกรรมแบบสุโขทัยที่ผสมผสานอยู่ในเจดีย์ทรงปราสาทแบบล้านนาที่มีอายุในช่วง พ.ศ.๒๐๐๐-๒๑๐๐

 



พระเสตังคมณี (กรมศิลปากร ...ภาพ) 


พระศีลา (กรมศิลปากร...ภาพ)

    และที่พลาดไม่ได้ อย่าลืมเข้าไปสักการะพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองเชียงใหม่อีกสององค์ คือพระแก้วขาวหรือพระเสตังคมณี พระพุทธรูปที่มีประวัติว่าพญามังรายอัญเชิญมาจากเมืองหริภุญไชย เมื่อครั้งสถาปนาเมืองเชียงใหม่ เพื่อเป็นพระพุทธรูปประจำพระองค์ และพระศีลา พระพุทธรูปหนึ่งเดียวในล้านนาที่มีรูปแบบศิลปะอินเดีย สกุลช่างปาละ แกะสลักด้วยหินชนวนดำ ปางโปรดช้างนาฬาคีรี ลักษณะประทับยืนเยื้องสะโพกตามแบบศิลปะอินเดีย

            ตามประวัติ เดิมพระศีลาประดิษฐานที่เมืองลำปาง ต่อมาพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ผู้ครองเชียงใหม่ช่วง พ.ศ.๑๙๘๕-๒๐๓๐  ได้อาราธนามาประดิษฐานไว้ที่วัดป่าแดง ศูนย์กลางสงฆ์สายลังกาวงศ์ที่สำคัญของเมืองเชียงใหม่ในช่วงเวลานั้น และถูกนำไปประดิษฐานในหอพระแก้วคู่กับพระแก้วขาว  ในปี พ.ศ. ๒๐๑๘ สืบมา จนกระทั่งย้ายมาประดิษฐานในวิหารวัดเชียงมั่นภายหลัง

ภาพถ่ายเก่าของหอคำ ที่ประทับเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ในเวียงแก้ว (กองโบราณคดี กรมศิลปากร...ภาพ) 

ตามรอยพญามังรายเข้าเมือง สร้างวัด ประดิษฐานพระ ถึงเวลาต้องตามพญามังราย “เข้าวัง” กันบ้างแล้ว พระราชวังแห่งนี้คือความปีติและตื่นเต้นของคนเชียงใหม่และนักประวัติศาสตร์โบราณคดี เนื่องจากเป็นวังหลวงหนึ่งเดียวของล้านนาที่เพิ่งถูกค้นพบกลางเมืองเชียงใหม่  ตั้งอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากวัดเชียงมั่น ระยะทางพอเดินไปได้สบาย ๆ ได้เหงื่อนิด ๆ

ในคราที่พญามังรายสถาปนาเมือง พระองค์ได้สร้างพระราชวังขึ้นแห่งหนึ่งภายในเมือง พระราชวังหลวงแห่งนี้มีชื่อเรียกปรากฏในเอกสารแผนที่สมัยหลังว่า “เวียงแก้ว”

            สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพเคยอธิบายไว้ว่า "เวียงแก้ว" ตรงกับคำว่า "วังหลวง" ในภาษาไทยภาคกลาง หมายถึงวังอันเป็นที่สถิตของเจ้าผู้ครองเมือง  จากข้อมูลหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับล้านนามีข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับชื่อเรียก "เวียงแก้ว" ว่าน่าจะสัมพันธ์กับสิ่งก่อสร้างหนึ่งในพื้นที่ คือ "หอคำ" ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างสำคัญที่มีสถานะเป็นได้ทั้งท้องพระโรงออกว่าราชการและที่อยู่อาศัย

หลักฐานทางประวัติศาสตร์มิได้กล่าวชี้ชัดว่า พระราชวังตั้งอยู่จุดใดในคราวพญามังรายสร้างเมือง แต่เอกสารกล่าวถึงที่ตั้งเชิงความสัมพันธ์ของพื้นที่ว่าพระราชวังตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัดเชียงมั่น  โดยตั้งตรงที่กวางเผือกสองแม่ลูกสามารถต่อสู้ขับไล่ฝูงสุนัขของพญามังราย คราวที่พญามังรายออกสำรวจชัยภูมิสร้างเมือง นิมิตหมายดังกล่าวถือเป็นชัยมงคลในการตั้งพระราชวัง

แผนที่โบราณนครเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๔๓๖

หลักฐานเอกสารที่พอปะติดปะต่อฉายภาพการมีอยู่จริงของวังหลวงแห่งล้านนานี้คือแผนที่โบราณนครเชียงใหม่ ที่จัดทำขึ้นราวปีพ.ศ. ๒๔๓๖  โดยกระทรวงมหาดไทย ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕  ที่ปรากฏพื้นที่ผืนใหญ่ภายในกำแพงเมืองเชียงใหม่ด้านทิศเหนือ พื้นที่ผืนดังกล่าวมีลักษณะการแบ่งเขตคล้ายการแบ่งพื้นที่พระราชวังชั้นนอก - ชั้นใน (ผังคล้ายอักษร T ตะแคงด้านซ้าย) โดยมีข้อความเขียนตรงกลางว่า "เวียงแก้ว"

เวียงแก้วแห่งนี้มิได้ตั้งโดดเดี่ยว แต่รายล้อมด้วยโบราณสถานสำคัญ คือวัดสะดือเมือง หอพระแก้วร้าง (ปัจจุบันคือที่ตั้งของหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่)   เวียงแก้วที่ปรากฏในแผนที่นี้ตั้งอยู่ห่างจากประตูเมืองด้านทิศเหนือ ๓๐๐ เมตรโดยประมาณ และห่างจากวัดเชียงมั่น มาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ราว ๒๖๐ เมตร

          ชาวเชียงใหม่ ชาวไทย รวมไปถึงชาวโลกคงไม่มีโอกาสได้เห็นพระราชวังหลวงแห่งนี้เป็นแน่แท้หากไม่มีโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่เดิมให้เป็นพื้นที่สาธารณะของเมือง

จากการนำแผนที่โบราณนครเชียงใหม่ ทับซ้อนกับภาพถ่ายทางอากาศในปัจจุบัน พบว่าเวียงแก้วแห่งนี้บริเวณวังหลังส่วนใต้ทับซ้อนกับพื้นที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ที่กำลังจะมีโครงการปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะทั้งหมด นำไปสู่ดำเนินงานทางโบราณคดีโดยสำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่ ในปีพ.ศ. ๒๕๕๘ – ๒๕๖๔ เพื่อค้นหา “เวียงแก้ว ที่น่าจะเป็นวังหลวงของล้านนา

พื้นที่การขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณทัณฑสถานหญิง

             ในที่สุดพระราชวังหลวงแห่งล้านนาที่หลับใหลอยู่ใต้ผืนแผ่นดินเมืองเชียงใหม่เป็นเวลานานนับร้อยปีก็ได้เผยโฉมออกมาให้เห็น แนวกำแพงพระราชวังที่ด้านใต้และด้านเหนือ วางตัวในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ (วางตัวเฉียงจากแนวแกนทิศตะวันออก - ตะวันตก ไปทางทิศเหนือ ๙ องศา) แนวอิฐกำแพงพระราชวังวางตัวอยู่ที่ระดับความลึก ๐.๖๐ -๑.๐๐ เมตรจากผิวดิน ทอดยาวกว่า ๑๕๐ เมตร ตัวกำแพงกว้าง  ๑.๘๐-๒.๒๐ เมตร ปัจจุบันแนวกำแพงคงเหลือเป็นชั้นอิฐก่อสูง ๓-๔ ชั้นอิฐ

กำแพงพระราชวังนี้เดิมน่าจะมีความสูงอย่างน้อย ๒.๔๐ เมตร เนื่องจากที่กำแพงด้านทิศเหนือ พบแนวกำแพงเดิมที่ถูกพังให้ล้มลง เป็นที่น่าสังเกตว่าขนาดกำแพงเวียงแก้วส่วนด้านใต้และส่วนเหนือที่แบ่งพื้นที่วังเป็นสองส่วน มีขนาดอิฐที่ใหญ่มากและขนาดต่างจากอิฐโบราณสถานในเมืองเชียงใหม่และพื้นที่อื่น ๆ ของล้านนา อิฐขนาดดังกล่าวนี้นอกจากใช้ในการก่อสร้างกำแพงเวียงแก้วส่วนเหนือและใต้แล้ว ยังถูกใช้เป็นองค์ประกอบก่อสร้างประตูเมืองเชียงใหม่ พบทั้งที่ประตูช้างเผือก (ประตูด้านทิศเหนือ) และประตูสวนปรุง (ประตูด้านทิศใต้ ประตูที่สอง) แต่พบในปริมาณไม่มากนัก

แนวกำแพงวังก่อด้วยอิฐที่ขุดพบ

จากการนำอิฐกำแพงพระราชวังส่วนนี้ตรวจสอบค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ ผลปรากฏว่าได้ค่าอายุอิฐที่ พ.ศ.๒๑๘๙ –๒๒๓๗ ซึ่งเป็นช่วงสมัยที่พม่าครองเมืองเชียงใหม่ จึงกล่าวได้ว่ากำแพงเวียงแก้วด้านใต้น่าจะสร้างขึ้นช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๓ หรือราวเกือบสี่ร้อยปีมาแล้ว

            นอกจากกำแพงเวียงแก้วส่วนวังหลัง (วังด้านตะวันตก) บริเวณมุมด้านตะวันออกเฉียงเหนือของพื้นที่ พบจุดบรรจบกันของกำแพงวังด้านเหนือและส่วนท้ายของกำแพงวังด้านทิศตะวันออก (วังส่วนหน้า) กำแพงนี้บรรจบกันเป็นมุมฉาก จากการขุดทางโบราณคดีพบข้อมูลสำคัญ คืออิฐของกำแพงที่บรรจบกันทั้ง สองจุดมีขนาดไม่เท่ากันและวางตัวอยู่ต่างระดับกัน โดยอิฐกำแพงด้านทิศเหนือมีระดับที่ตื้นกว่าและมีขนาดใหญ่กว่า แต่อิฐส่วนท้ายของกำแพงวังด้านทิศตะวันออก (วังส่วนหน้า) มีขนาดเล็กกว่าและวางตัวอยู่ในระดับความลึกมากกว่า

 จึงกล่าวได้ว่า พระราชวังเวียงแก้วที่ปรากฏในแผนที่โบราณ ๓ ส่วน สร้างขึ้นไม่พร้อมกัน โดยส่วนตะวันออกน่าจะสร้างขึ้นก่อน และส่วนตะวันตก (วังส่วนหลัง) น่าจะสร้างขึ้นภายหลัง และเมื่อดูจากแผนผังขอบเขตเวียงแก้ว จะเห็นได้ชัดว่าวังส่วนหลังด้านเหนือและด้านใต้มีสัณฐานขอบเขตที่เป็นการสร้างขึ้นไปบรรจบวังส่วนตะวันออก (วังส่วนหน้า)

ร่องน้ำที่ขนานไปกับแนวกำแพงเวียงแก้ว

            นอกจากแนวกำแพงพระราชวังแล้ว ยังพบหลักฐานที่น่าสนใจในพื้นที่อีก คือ ระบบน้ำ (ท่อและร่องน้ำ) ที่พื้นที่ด้านด้านตะวันตกเฉียงเหนือของพระราชวัง ท่อน้ำนี้วางตัวอยู่ใต้แนวกำแพงเวียงแก้วด้านเหนือ (กำแพงที่แบ่งพื้นที่เวียงแก้วส่วนเหนือและใต้) ท่อนี้น่าจะมีมาก่อนการสร้างกำแพงเวียงแก้วด้านเหนือ ต่อเนื่องจากท่อน้ำไปทางใต้ พบร่องน้ำที่วางตัวเฉียงสัมพันธ์กับแนวกำแพงและอาคารยุคเวียงแก้ว ร่องน้ำนี้น่าจะเกิดก่อนการสร้างกำแพงเวียงแก้วส่วนหลังที่เป็นกำแพงอิฐ โดยมีความกว้าง ๒ เมตร ลาดเอียงจากด้านเหนือลงสู่ด้านใต้ ยาวประมาณ ๔๕ เมตร

โบราณวัตถุที่พบในร่องน้ำ คือสิ่งช่วยกำหนดอายุช่วงเวลาการใช้งานร่องน้ำ โดยพบว่าโบราณวัตถุที่มีอายุสมัยหลังสุด(ใหม่ที่สุด) ที่พบในร่องน้ำ คือ เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง (พ.ศ.๑๙๑๑-๒๑๘๗) เมื่อไม่พบเครื่องถ้วยหรือโบราณวัตถุที่มีอายุสมัยหลังกว่านี้ในร่องน้ำ จึงแปลความได้ว่าร่องนี้ถูกถมปิดไปโดยมีเวลาปี ๒๑๘๗ เป็นเพดานบนสุด ซึ่งน่าสังเกตว่าลำดับเวลาของการถมกลบร่องน้ำนี้ ใกล้เคียงกับค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ของกำแพงเวียงแก้วที่สร้างในปีพ.ศ. ๒๑๘๙-๒๒๓๗   

โบราณวัตถุที่ขุดพบในเวียงแก้ว


            ย้อนไปดูเอกสารประวัติศาสตร์เนื้อความตอนนึ่งระบุว่าปี พ.ศ. ๒๐๖๕  พระเมืองแก้วโปรดให้ขุดสระมงคลโบกขรณีนี้ไว้เป็นที่ประพาสส่วนพระองค์ ต่อมาในสมัยพระเมกุฏเรียกสระนี้ว่า “สระดอกคำ” ซึ่งจากแผนที่โบราณนครเชียงใหม่ปีพงศ. ๒๔๓๖  ปรากฏหนองน้ำขนาดใหญ่ในเวียงแก้วส่วนหลัง ที่เป็นวังทิศเหนือ ระบุชื่อ “หนองคำแพะ” ซึ่งอาจเป็นสระเดียวกันกับสระมงคลโบกขรณีหรือสระดอกคำ ท่อและร่องน้ำนี้จึงอาจเป็นระบบระบายน้ำจากวังด้านทิศเหนือที่มีต้นทางแหล่งน้ำ คือสระมงคลโบกขรณีหรือสระดอกคำ มายังวังด้านใต้ ส่วนแนวกำแพงที่เวียงแก้วส่วนเหนือและใต้ที่พบจากการขุดทางโบราณคดี น่าจะเป็นการเปลี่ยนสภาพกำแพงที่มีมาแต่ก่อนที่อาจเป็นวัสดุที่ไม่มั่นคงแข็งแรง ให้เป็นกำแพงอิฐในราวปีพ.ศ. ๒๑๘๗-๒๒๓๗  ในช่วงที่พม่าครองล้านนาแล้ว

จึงพอจะกล่าวถึงพัฒนาการของพระราชวังหลวงแห่งนี้ได้ว่า ในระยะแรกคงสร้างขึ้นมาเพียงพระราชวังส่วนหน้าด้านทิศตะวันออก ต่อมามีการขยายวังส่วนหลัง คือวังด้านเหนือและด้านใต้ ซึ่งควรเกิดก่อนปี 2065 ตามการเชื่อมโยงกับสระน้ำภายในพระราชวังและอายุสมัยของร่องน้ำ จนกระทั่งวังส่วนหลังนี้มีการปรับปรุงสร้างแนวกำแพงอิฐอย่างมั่นคงในราวปีพ.ศ. ๒๑๘๗-๒๒๓๗  ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พม่าปกครองเมืองเชียงใหม่

บ่อน้ำในวังที่มีจารึกบนอิฐขอบบ่อ

ตัวอักษรที่จารึกบนอิฐ


            นอกจากท่อและร่องน้ำของวังแล้ว ยังพบบ่อแห่งหนึ่งในพื้นที่วังที่มีลักษณะพิเศษ คืออิฐที่ใช้กรุขอบบ่อมีมีจารึกปรากฏอยู่บนอิฐ บ่อนี้เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้าง - ยาว ๑ เมตร ลึก ๑.๕ เมตร พบว่าอิฐที่ด้านตะวันตกของขอบบ่อก้อนหนึ่งปรากฏจารึกเป็นอักษรไทฝักขาม รูปพยัญชนะสองตัว ปัจจุบันมีแนวคิดทางวิชาการเกี่ยวกับจารึกนี้สองแนวทาง คือ ๑.จารึกเป็นคำว่า “วง” หรือ “วัง” โดยกำหนดอายุตัวอักษรช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๐ และ ๒.จารึกเป็นคำว่า ๒อ โดยอิฐนี้ถูกวางกลับหัว ซึ่งจารึกดังกล่าวนี้อาจบอกที่มาอิฐที่เป็นการส่งส่วย(อิฐ) มาจากเมืองลำปาง  

ศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก ทางทิศตะวันออก นอกกำแพงเรือนจำ (สายกลาง จินดาสุ...ภาพ)

    พาชมวังมาเกือบทั่ว มานึกได้ว่าลืมศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็กโบราณสถานหลังหนึ่งที่สำคัญที่สุดในพื้นที่ไปได้เสียนี่

                ศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็กคือศาลที่ชาวราชทัณฑ์เชียงใหม่นับถือให้เป็นศาลเจ้าพ่อเจตคุปต์    ที่เรือนจำทุกแห่งต้องมี ศาลแห่งนี้ตั้งอยู่นอกกำแพงเรือนจำ แต่ยังอยู่ในพื้นที่โครงการสร้างสวนสาธารณะ โดยอยู่บริเวณขอบพื้นที่ด้านทิศตะวันออก ติดกับแนวรั้วคอนกรีตที่แบ่งระหว่างที่ดินเรือนจำและที่เอกชน ศาลเจ้าพ่อเจตคุปต์แห่งนี้น่าจะเข้มขลังกว่าที่ใด ๆ เพราะตั้งอยู่บนฐานโบราณสถานเดิม

ถ้าเรานั่งไทม์แมชชีนแล้วกระโดดลงตรงศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก เลือกเวลาช่วงเย็น ๆ แดดรำไร  ภาพที่ได้เห็นคงเป็นหญิงสาวชาววัง แต่งกายด้วยชุดล้านนา ถือพานดอกไม้เครื่องหอมมาสักการะบูชาสถานที่แห่งนี้     

             หญิงสาวผู้นี้เป็นใคร และเราหล่นจากไทม์แมชชีนไปอยู่ที่ไหน และห้วงเวลาใด

             เอกสารตำนานเมืองเชียงใหม่ มีความตอนหนึ่งระบุถึงหอพระประจำวัง ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัง หอพระนี้สร้างขึ้นในสมัยพระเมกุฏ กษัตริย์ล้านนาองค์สุดท้ายที่ครองเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ. ๒๐๙๔-๒๑๐๑  ก่อนที่เชียงใหม่จะถูกพม่าปกครอง

เอกสารระบุว่า พระอัครมเหสีของพระเมกุฏ นำดอกไม้เครื่องหอมมาบูชาหอพระประจำวังนี้ทุกเย็น จนหอพระนี้ได้ชื่อว่า “หอพระนางไหว้” จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่มีในปัจจุบันพบว่าหอพระแห่งนี้อาจมีมาแล้วตั้งแต่สมัยพญามังราย พร้อมกับการสร้างพระราชวัง เดิมอาจเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วขาว เสตังคมณี ที่เป็นพระพุทธรูปประจำพระองค์พญามังราย ต่อมาภายหลังเมื่อมีการสร้างหอพระแก้วขึ้นใหม่ในสมัยพญาติโลกราช บริเวณทิศตะวันออกเฉียงใต้นอกเขตพระราชวัง หอพระประจำวังแห่งนี้จึงอาจถูกใช้เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตที่อัญเชิญมาจากวัดพระแก้วดอนเต้า เมืองลำปาง ก่อนที่จะถูกอัญเชิญไปประดิษฐานที่ซุ้มจระนำทิศตะวันออกของเจดีย์หลวง เมื่อเจดีย์หลวงบูรณะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๐๒๔   

ภายในบริเวณศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็กที่สร้างขึ้นในสมัยปัจจุบัน (สายกลาง จินดาสุ...ภาพ)

            ได้มายืนอยู่หน้าหอพระของวังหลวง จินตภาพแห่งอดีตของชาววังและหอพระแห่งนี้ผุดเป็นภาพซ้อนอยู่เบื้องหน้า นี่คงเป็นความมหัศจรรย์ของโบราณสถาน ที่สามารถถ่ายทอดเหตุการณ์และบรรยากาศที่ผ่านมานับร้อย ๆ ปีแก่ผู้มาเยือน เกิดเป็นความรู้สึกอิ่มเอิบและเคารพอยู่ในห้วงอารมณ์เดียวกัน

            นอกจากอายุสมัยของหอพระแห่งนี้ที่มีหลักฐานเอกสารการมีอยู่ในช่วงปีพ.ศ.๒๐๙๔-๒๑๐๑   มาแล้วเป็นอย่างน้อย รูปแบบทางศิลปกรรมที่ปรากฏเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ

         ถ้าพิจารณารูปแบบหอพระประจำวังนี้ พบว่าเป็นมณฑปภายในวิหาร คล้ายกับกู่พระแก่นจันทร์ที่วัดเจ็ดยอด หรือมณฑปภายในวิหารวัดพระธาตุลำปางหลวง มณฑปลักษณะนี้มีพัฒนาการจากมณฑปท้ายวิหาร (นอกวิหาร) จนกระทั่งเข้ามาตั้งอยู่ภายในวิหาร (ห้องท้ายของวิหาร) และกลางวิหารในที่สุด รูปแบบการทำมณฑปในวิหารนี้ เกิดขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ - ๒๒ (พ.ศ.๒๐๐๐-๒๒๐๐) ซึ่งนับได้ว่าสอดคล้องกับช่วงเวลาในเอกสารประวัติศาสตร์ที่ระบุถึงการมีอยู่ของหอพระประจำวังแห่งนี้

กลุ่มอาคารทัณฑสถาน (สายกลาง จินดาสุ...ภาพ)

            ในพื้นที่นี้ นอกจากจะได้เที่ยวชมพระราชวังหลวงของล้านนาแล้ว ยังมีโบราณสถานอีกกลุ่มหนึ่งที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่งต่อประวัติศาสตร์พัฒนาการของเมืองเชียงใหม่และประเทศไทย คือ อาคารทัณฑสถาน ที่ถูกสร้างขึ้นในราวสมัยปลายรัชกาลที่ ๕  เพื่อเป็นเรือนจำมณฑล จากการสืบค้นทางประวัติศาสตร์พบว่า เรือนจำแห่งนี้มิได้มีความหมายเพียงห้องขังและซี่ลูกกรง แต่อาคารกลุ่มนี้มีความสำคัญในฐานะพัฒนาการกระบวนการศาลและราชทัณฑ์ของประเทศไทย รวมถึงคุณค่าด้านสถาปัตยกรรมที่บอกเล่าเทคโนโลยีการสร้างอาคารในช่วงร้อยกว่าปีก่อนและความสัมพันธ์กับชาวตะวันตกที่เข้ามาในเมืองเชียงใหม่ในช่วงดังกล่าว

อาคารมีลักษณะเป็นอาคารแบบโคโลเนียลร่วมสมัยที่คลี่คลายมาจากสถาปัตยกรรมของล้านนาดั้งเดิม เป็นอาคารสองชั้น ก่ออิฐถือปูน โครงสร้างแบบผนังรับน้ำหนักที่นิยมในช่วงสมัยรัชกาลที่     ๕-๖ ผนังมีความหนากว่าครึ่งเมตร ฉาบผิวภายนอกด้วยปูนตำ เรียกว่า “สะทายปูน” ชั้นล่างเป็นพื้นปูน     ชั้นบนเป็นพื้นไม้ (ต่อมาบางหลังเปลี่ยนเป็นพื้นซีเมนต์)

ถ้าเป็นภาพยนตร์ ภาพคงตัดไปที่ชายชาวต่างชาติคนหนึ่ง ยืนอยู่ในเรือนจำที่มีสภาพอนาถาสุดจะบรรยาย เขาบันทึกทุกองค์ประกอบทุกบรรยากาศในเรือนจำแห่งนี้ แล้วเขียนรายงานถึงยังเจ้านายอันเป็นที่รักว่า “เรือนจำแห่งนี้เทียบไม่ได้แม้กระทั่งกับคอกหมูของชาวยุโรป”

เรือนจำเชียงใหม่ในอดีต (กรมศิลปากร ..ภาพ)

เรือนจำที่ชายคนนี้กล่าวถึงคือ เรือนจำเมืองเชียงใหม่ (ก่อนการสร้างเรือนจำมณฑล) และชายคนดังกล่าวคือ ปิแอร์ โอต ที่ปรึกษาด้านกฏหมาย ที่รัชกาลที่ ๕ มอบหมายให้ตรวจและจัดทำข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนากิจการศาลและงานราชทัณฑ์ให้มีความทัดเทียมอารยประเทศ

งานศาลและราชทัณฑ์สำคัญถึงเพียงไหน ถึงต้องตั้งที่ปรึกษาชาวต่างชาติมาดู  บางคนบอก ก็แค่เรื่องคุกเรื่องตะราง แต่อย่าเพิ่งด่วนตัดสินความ เดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟัง

ในช่วงเวลาดังกล่าว ล้านนาตกเป็นเมืองประเทศราชของสยาม อังกฤษย้ายฐานการทำอุตสาหกรรมป่าไม้มาสู่พื้นที่ภาคเหนือ ด้วยป่าไม้ในพม่าเริ่มเสื่อมโทรม ป่าในล้านนาระยะแรกถือเป็นทรัพย์สินของเจ้าผู้ครองนคร ต่อมาเมื่อเกิดเหตุกระทบกระทั่งระหว่างเจ้าผู้ครองนครและคนในบังคับของอังกฤษจากเรื่องการทำไม้ นำไปสู่การที่อังกฤษเรียกร้องให้มีการจัดตั้งศาลต่างประเทศเพื่อตัดสินข้อพิพาท ด้วยสนธิสัญญาเบาว์ริงที่มีต่อสยามมิได้ครอบคลุมถึงล้านนา

จนกระทั่งรัชกาลที่ ๕ ประพาสอินเดียในปีพ.ศ. ๒๔๑๔  รัฐบาลอังกฤษที่อินเดียได้เรียกร้องให้สยามทำสัญญาเพื่อบังคับใช้ในหัวเมืองประเทศราช คือ เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน ให้สยามตั้งศาลต่างประเทศเพื่อพิจารณาคดีที่คนล้านนามีข้อพิพาทกับคนอังกฤษหรือคนในบังคับของอังกฤษโดยไม่ใช้ระบบการศาลและราชทัณฑ์ของล้านนาและสยาม จึงเป็นเหตุผลให้ไทยเร่งพัฒนากิจการศาลและงานราชทัณฑ์ จนกระทั่งมีการไปดูงานเรือนจำที่สิงคโปร์ ราวปีพ.ศ. ๒๔๒๕ แล้วกลับมาสร้างเรือนจำอย่างมาตรฐานสากลที่กรุงเทพฯ ชื่อคุกมหันตโทษ (สวนรมณีนาถในปัจจุบัน) ในปีพ.ศ. ๒๔๓๓  รวมถึงออกพระราชบัญญัติลักษณะเรือนจำในปี พ.ศ.๒๔๔๔  ตามมา

ตัดฉากไปที่ปีพ.ศ. ๒๔๖๗  ผู้ตรวจราชการมณฑลพายัพ กรมหลวงนครราชสีมา ได้เขียนในรายงานการตรวจราชการ อธิบายเรือนจำเชียงใหม่(แห่งใหม่)ไว้ว่า สวย ทันสมัย ใหญ่โต จนเหมาะเป็นโรงเรียนหรือสถานที่ราชการอื่นมากกว่า จึงเป็นสิ่งเน้นย้ำว่าเรือนจำแห่งนี้เป็นสถานที่ที่เราใช้โชว์ความเป็นอารยะต่อชาติตะวันตก เนื่องด้วยใช้เป็นที่คุมขังนักโทษต่างชาติหรือคนในบังคับของชาติตะวันตก ที่เจ้าอาณานิคมเหล่านั้นต้องมาตรวจเยี่ยมดูคนของตนเองอยู่เสมอ  ลึกลงไปในคุณค่าและความหมาย เรือนจำแห่งนี้จึงเป็นประจักษ์พยานในพัฒนาการของชาติบ้านเมือง ที่พยายามเอาชนะการดูหมิ่นและเอารัดเอาเปรียบของชาติมหาอำนาจ ด้วยการพัฒนากระบวนการศาลและงานราชทัณฑ์ที่ก้าวหน้าทันสมัย

      ปัจจุบันอาคารเรือนจำที่คงเหลือในพื้นที่ประกอบด้วย อาคารเรือนบัญชาการ (ด้านทิศใต้) เรือนแว่นแก้ว (ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้) เรือนเพ็ญ (ด้านทิศเหนือ) รวมถึงป้อมด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้และแนวกำแพงบางส่วนที่ต่อเนื่องจากป้อม รวมถึงประตูทางเข้าด้านทิศใต้ ซึ่งอาคารเหล่านี้ถูกสร้างโดยวางตัวในแนวแกนทิศตะวันออก-ตะวันตก


พระประธานวัดอินทขิลสะดือเมือง สมัยยังไม่ได้สร้างวิหารใหม่

วิหารวัดอินทขิลที่สร้างขึ้นใหม่ในภายหลัง


ดื่มด่ำกับพื้นที่พระราชวังหลวงแห่งล้านนาและเรือนจำมณฑลพายัพแล้ว พื้นที่วงรอบเล็ก ๆ นี้ ยังมีประวัติศาสตร์อีกหลายสิ่งที่บอกเล่าพัฒนาการเมืองเชียงใหม่ผ่านงานศิลปกรรมทางศาสนา

ก้าวเท้าออกจากเวียงแก้ว มุ่งหน้าสู่หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ภายในพื้นที่หอศิลป์ด้านทิศใต้และนอกแนวรั้ว มีเจดีย์วัดอินทขิลและวัดสะดือเมือง  ที่สวยงามและสำคัญยิ่ง ทั้งสองวัดนี้เดิมมีเขตพื้นที่เป็นวัดเดียวกัน ต่อมาเมื่อมีการสร้างศาลาว่าการมณฑล (อาคารหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ในปัจจุบัน) จึงแยกสองวัดนี้ออกจากกัน

ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่ 

เจดีย์เจดีย์วัดอินทขิลและวัดสะดือเมืองอาจเป็นเจดีย์เพียงสององค์ที่หลงเหลือในเมืองเชียงใหม่ที่ปรากฏอิทธิพลรูปแบบทางศิลปกรรมสืบเนื่องจากอาณาจักรหริภุญไชยที่พญามังรายยึดครองได้ก่อนหน้าการสถาปนาเมืองเชียงใหม่ รูปแบบที่ว่าคือการเป็นเจดีย์ทรงปราสาทในรูปทรงสี่เหลี่ยมและแปดเหลี่ยม ที่ปรากฏมาก่อนแล้วในเมืองหริภุญไชย ที่วัดจามเทวี  (อำเภอเมืองฯ จังหวัดลำพูน)

กรอบหน้าบันอันงดงามของเจดีย์วัดอินทขิล (สายกลาง จินดาสุ ...ภาพ) 

        เริ่มต้นที่เจดีย์อินทขิล พัฒนาการแห่งศิลปกรรมของเมืองเชียงใหม่ปรากฏอยู่บนกรอบหน้าบันด้านทิศเหนือของเจดีย์องค์นี้  ลวดลายที่ปรากฏที่กรอบหน้าบันนี้เป็นลวดลายประดับที่เก่าแก่ที่สุดในเมืองเชียงใหม่ที่มีอายุในช่วง พ.ศ.๑๙๐๐-๒๐๐๐  ขอบกรอบซุ้มทำเป็นเส้นขนานไปตามความโค้งของกรอบ ขนาบด้วยแถวลายเม็ดกลม เหนือกรอบซุ้มมีแถวกระหนกในทรงของใบระกา ซึ่งเป็นรูปแบบซุ้มจระนำที่เก่าแก่ของล้านนาที่สืบทอดมาจากเจดีย์กู่กุด หริภุญไชยและเจดีย์วัดป่าสัก เชียงแสน ถัดไปด้านทิศใต้   

เจดีย์ทรงปราสาทของวัดอินทขิล (สายกลาง จินดาสุ...ภาพ) 

    นอกรั้วเป็นที่ตั้งของเจดีย์สะดือเมือง ถ้าจะพิจารณาเจดีย์องค์นี้ให้ได้อรรถรส จะต้องแทรกตัวเข้าไประหว่างรถเข็นขายขนมถ้วยและมันเผาริมฟุตบาธ เข้าไปยืนบริเวณที่ว่างด้านทิศตะวันตกของเจดีย์ แล้วจะพบความลับแห่งเมืองเชียงใหม่ที่ซ่อนอยู่

          เบื้องหน้านั้นคือ เจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนาขนาดย่อม ที่ซุกซ่อนสิ่งพิเศษคือ ส่วนกลางของเจดีย์มีช่องที่เกิดจากการลักลอบขุดหาโบราณวัตถุในอดีต ทำให้เห็นสิ่งที่อยู่ลึกเข้าไปด้านในของเจดีย์ คือ พระพุทธรูปประทับยืน ในแวดวงประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีเป็นที่เข้าใจทั่วกันว่า การมีพระพุทธรูปเป็นองค์ประกอบเจดีย์ แสดงให้เห็นว่าเจดีย์องนั้นเป็นทรงปราสาท เพราะมีส่วนเรือนธาตุที่สูงพอสำหรับการทำซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูป และในเชิงความหมายเรือนธาตุของเจดีย์เปรียบเสมือนห้องที่พระพุทธเจ้าทรงประทับ 

เจดีย์สะดือเมือง (สายกลาง จินดาสุ ...ภาพ)

ซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปในองค์เจดีย์ (สายกลาง จินดาสุ...ภาพ) 


            การพบร่องรอยหลักฐานของเจดีย์ทรงปราสาท ที่เป็นเจดีย์องค์ดั้งเดิมของเจดีย์วัดสะดือเมือง ถือเป็นอีกหนึ่งหลักฐานสำคัญของเมืองเชียงใหม่ที่แสดงให้เห็นรูปแบบเจดีย์ระยะแรกของเมืองที่นิยมทรงปราสาท ที่รับอิทธิพลจากหริภุญไชย ปัจจุบันเจดีย์ทรงปราสาทระยะแรกที่มีในพื้นที่เชียงใหม่ ปรากฏให้เห็นเพียง เจดีย์เหลี่ยมหรือที่ปรากฏชื่อในเอกสารประวัติศาสตร์ว่า “กู่คำ” ซึ่งตั้งอยู่ที่เวียงกุมกาม เมืองโบราณที่พญามังรายสร้างขึ้นก่อนการสถาปนาเมืองเชียงใหม่ ๑๐ ปี ปัจจุบันเมืองนี้ตั้งอยู่ด้านทิศใต้ของเมืองเชียงใหม่ บริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง

หอพระแก้วร้าง เมืองเชียงใหม่ (กองโบราณคดี กรมศิลปากร...ภาพ) 

            ในหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ยังมีโบราณสถานที่มีความสำคัญที่สุดของเมืองเชียงใหม่อีกหลังที่สูญหายไปจากการรับรู้ของผู้คนเป็นเวลาร่วมร้อยปี  

หอพระแก้วร้าง คืออาคารสำคัญที่ปรากฏในแผนที่โบราณนครเชียงใหม่ที่จัดทำขึ้นราว พ.ศ.๒๔๓๖ ซึ่งปัจจุบันไม่ปรากฏสภาพบนผิวดิน  จากการเทียบตำแหน่งในแผนที่ พบว่าหอพระแก้วร้างเมืองเชียงใหม่ ตั้งอยู่ในจุดที่เป็นอาคารหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบัน  เมื่อพิจารณาดูคำที่ใช้เรียก เห็นได้ถึงสถานะของสถานที่ว่า ที่แห่งนี้คงเคยประดิษฐานพระแก้วมาก่อน และในห้วงเวลาการทำแผนที่เมืองเชียงใหม่ในปีพ.ศ. ๒๔๓๖ หอพระแก้วแห่งนี้ได้ถูกทิ้งร้างไป 

ช่วงต้นปี๒๕๖๔  หลังจากที่ข้อมูลการขุดพบ “เวียงแก้ว พระราชวังหลวงแห่งล้านนา” แพร่หลายออกไป ได้มีการเสวนาทางวิชาการหลาย ๆ ประเด็นที่เกี่ยวเนื่องในพื้นที่ ประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาพูดถึง คือหอพระแก้วร้างแห่งนี้

ตามตำนานกล่าวว่า พระนางจามเทวีแห่งเมืองหริภุญไชย อัญเชิญพระแก้วขาวมาจากเมืองละโว้  พระแก้วขาวประดิษฐานที่เมืองหริภุญไชยตั้งแต่ปี พ.ศ.๑๒๐๔  จนกระทั่งพญามังรายยึดครองหริภุญไชยได้ ปีพ.ศ. ๑๘๒๔ จึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่เชียงใหม่และให้เป็นพระพุทธรูปประจำพระองค์  โดยได้สร้างหอพระภายในเวียงแก้วเป็นที่ประดิษฐานดังที่ได้เล่าไว้แล้วข้างต้น

หอศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่  (สายกลาง จินดาสุ...ภาพ)

จากข้อมูลแผนที่โบราณพบว่าหอพระแก้วร้าง มีตำแหน่งทับซ้อนกับอาคารหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ หอพระแก้วแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราช มหาราชผู้ยิ่งใหญ่ของล้านนาที่มีรัชสมัยร่วมกับพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยา โดยให้หมื่นด้ามพร้าคต นายช่างผู้มีชื่อเสียง ถ่ายแบบมาจากโลหะปราสาท คาดว่าหอพระแห่งนี้คงร้างไปหลังจากที่มีการย้ายพระแก้วขาวและพระศีลาไปประดิษฐานที่วัดเชียงมั่น

วิหารวัดพันเตา หอคำเดิมของเจ้ามโหตรประเทศ 

    จากหอพระแก้วร้าง เรายังอยู่กับการท่องเที่ยวตามแผนที่โบราณนครเชียงใหม่ปี พ.ศ.๒๔๓๖ ให้ทุกคนได้ตื่นเต้นต่อเนื่อง

จากอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เมื่อเรามุ่งลงมาด้านใต้ตามถนนพระปกเกล้าราวสองร้อยเมตร เราจะพบกับสี่แยกไฟแดง เยื้องอีกฟากของถนนเป็นวัดสำคัญที่เก็บรักษาอาคาร “หอคำ” ที่คงเหลือเพียงหลังเดียวของเมืองเชียงใหม่  สิ่งที่พิเศษคือ หอคำหลังนี้ถูกรักษาไว้ในสถานะของ วิหารวัดพันเตา

พระวิหารหลังนี้ เดิมเป็นหอคำที่ประทับเดิมของเจ้ามโหตรประเทศเจ้าหลวงองค์ที่ ๕ ของเมืองเชียงใหม่ ตามประวัติกล่าวไว้ว่า เจ้าหลวงอินทวิชยนนท์ เจ้าหลวงองค์ที่ ๗ ได้รื้อหอคำของเจ้ามโหตรประเทศ ไปปลูกถวายเป็นวิหารวัดพันเตาในปี พ.ศ. ๒๔๑๘ ตามธรรมเนียมความเชื่อของชาวล้านนาที่มักนำเรือนของบรรพบุรุษที่เสียชีวิตไปแล้ว ปลูกถวายให้พระศาสนาใช้งานเพื่อเป็นกุศลแก่ผู้ตาย ทั้งนี้มีสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับหอคำของเจ้ามโหตรประเทศ คือ ตามธรรมเนียมการขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนคร เจ้าหลวงแต่ละองค์มักสร้างหอคำของตนเอง เว้นแต่เจ้ามโหตรประเทศที่ไม่พบประวัติการสร้างหอคำ จึงมีการสันนิษฐานว่า หอคำของเจ้ามโหตรประเทศที่ยกมาสร้างเป็นวิหารวัดพันเตานี้ น่าจะเป็นหอคำเดิมของพระเจ้ากาวิลละ เจ้าหลวงองค์แรกผู้สถาปนาราชวงศ์ทิพย์จักรหรือราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 

ถนนคนเดินในยามค่ำหน้าวิหารวัดพันเตา

     ย้อนกลับมาที่สี่แยก เดินลัดเลาะฟุตบาทไปทางตะวันตก ตามถนนราชดำเนิน ๑๐๐ เมตรโดยประมาณจะพบกับวัดไชยพระเกียรติ  วัดแห่งนี้หากดูจากสภาพปัจจุบัน ไม่ปรากฏอาคารโบราณสถานเก่าหลงเหลืออยู่ แต่เมื่อดูแผนที่โบราณนครเชียงใหม่ประกอบ จะพบปริศนาที่วัดนี้ซุกซ่อนไว้ในชื่อและตำแหน่งที่ตั้งในแผนที่โบราณฯ  วัดนี้มีขอบเขตค่อนข้างเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่สิ่งที่พิเศษสุดที่วัดนี้มีต่อเมืองเชียงใหม่ คือวัดตั้งอยู่ในตำแหน่งกึ่งกลางเมือง

ถ้าเรากางแผนที่เมืองเชียงใหม่ออกมาและลองลากมุมเมืองเชียงใหม่ไปบรรจบกันในแนวทแยง เราจะพบว่าจุดตัดของเส้นทแยง คือบริเวณกลางเมืองอันเป็นที่ตั้งของวัดไชยพระเกียรติในปัจจุบัน และยิ่งไปกว่านั้น ในแผนที่โบราณนครเชียงใหม่ ระบุชื่อวัดไชยพระเกียรติว่า “วัดใจ” วัดนี้จึงน่าจะเป็นวัดที่ถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมการสร้างเมืองเชียงใหม่ และอาจเป็นวัดที่เป็นมงคลของเมืองและเป็นใจเมือง ตามนามเดิมของวัด


วัดพระสิงห์ (สายกลาง จินดาสุ...ภาพ) 


จากวัดใจ เรามุ่งตรงตามถนนราชดำเนินไปทางตะวันตก สุดอยู่ที่วัดพระสิงห์ ข้อมูลทางภูมิศาสตร์แสดงให้เห็นนัยยะสำคัญอันหนึ่งเกี่ยวกับวัดแห่งนี้ คือวัดตั้งอยู่บนที่ดอนสูงที่สุดของเมือง โดยที่ดอนนี้มีลักษณะวางตัวยาวทอดจากด้านเหนือลงใต้ พื้นที่บริเวณวัดพระสิงห์จึงน่าจะเป็นพื้นที่สำคัญมาตั้งแต่ก่อนการสร้างเมืองเชียงใหม่ จากข้อมูลทางโบราณคดี พบว่าที่ดอนมักจะเป็นที่ตั้งชุมชนมาต่อเนื่องยาวนาน โดยมักปรากฏหลักฐานการเป็นพื้นที่อยู่อาศัยหรือพื้นที่ปลงศพในสมัยก่อนประวัติศาสตร์มาก่อน อาทิ แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี

เอกสารทางประวัติศาสตร์ระบุว่าก่อนการสร้างวัดพระสิงห์ ในรัชกาลของพญาผายู กษัตริย์องค์ที่ ๕ แห่งราชวงศ์มังราย พื้นที่บริเวณนี้เป็นตลาดของเมืองเชียงใหม่ ภาษาล้านนาเรียกตลาดว่า ลี จึงเป็นที่มาของชื่อวัดในระยะแรกว่า  วัดลีเชียง”  หรือวัดที่อยู่บริเวณตลาด จนกระทั่งได้มีการประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ที่วัดลีเชียงในสมัยพระเจ้าแสนเมืองมา นามเรียกขานวัดจึงได้เปลี่ยนไปเป็น “วัดลีเชียงพระ” และ “วัดพระสิงห์”  ในที่สุด

อุโบสถสองสงฆ์ สถาปัตยกรรมที่ซ่อนความเชื่อเอาไว้ (สายกลาง จินดาสุ...ภาพ)


            ที่วัดพระสิงห์ นอกจากวิหารลายคำวัดพระสิงห์ที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์และมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่น่าสนใจแล้ว ยังมีอุโบสถสองสงฆ์ ที่เป็นอาคารทางศาสนาที่แปลกประหลาดที่สุดหลังหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ทั้งชื่อเรียกและลักษณะการวางตัวของอาคาร รวมถึงมีองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจที่มีความใกล้เคียงกับหอคำหลวงของเมืองเชียงใหม่ ที่ปรากฏในภาพถ่ายเก่า

            ความพิเศษของอุโบสถสองสงฆ์ คือ การหันหน้าของอุโบสถที่หันไปทางทิศเหนือ - ใต้ มิได้หันไปตามทิศตะวันออก - ตะวันตก พ้องกับอาคารอื่นภายในวัดและตามแบบแผนของวัดในล้านนา ต่อประเด็นนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี อาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ เคยให้ทรรศนะว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับแนวคิดเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ป้องกันเมืองและประตูผีของเมือง 

ประตูเมืองโดยทั่วไป เมื่อสร้างขึ้นมักจะมีการประกอบพิธีกรรมเพื่อให้ประตูเมืองมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองเพื่อป้องกันภูติผี และความชั่วร้ายต่าง ๆ ไม่ให้เข้ามาในเมือง ทั้งนี้ตามความเชื่อที่สืบทอดมาของชาวเชียงใหม่เชื่อว่าประตูสวนปรุงที่อยู่ด้านทิศใต้ของเมือง ประตูที่ ๒ เป็นประตูผี (กำแพงเมืองเชียงใหม่มีประตูเมือง ๕ ประตู โดยที่ด้านทิศเหนือ ตะวันออก ตะวันตกมีด้านละ ๑ ประตู แต่ด้านทิศใต้มี ๒ ประตู) ดังนั้นประตูนี้จึงเป็นประตูที่ไม่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์รักษาป้องกัน เพื่อให้วิญญาณสามารถผ่านยังประตูนี้ได้ จึงจำเป็นต้องมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในรูปแบบอื่นในการรักษาดูแล 

ที่เมืองพระนคร (นครธม) ประเทศกัมพูชา กำแพงด้านทิศตะวันออกมีประตูเมือง ๒ ประตูเหมือนกำแพงเมืองเชียงใหม่ด้านทิศใต้ ประตูหนึ่งเป็นประตูกลางชื่อ “ประตูชัย” อีกประตูหนึ่ง เยื้องขึ้นไปทางเหนือ เรียกว่า “ประตูผี” ประตูนี้ ตั้งอยู่ตรงแนวกับเทวาลัยประจำพระราชวัง คือ ปราสาทพิมานอากาศ   ที่กรุงเทพฯ อุโบสถของพระแก้วมรกตหันตรงไปยังประตูผีเช่นกัน

ดังนั้นอุโบสถสองสงฆ์ของวัดพระสิงห์ ที่ตรงแนวกับประตูสวนปรุงซึ่งเป็นประตูผีเมืองเชียงใหม่ อาจทำหน้าที่นี้ เช่นเดียวกับเทวาลัยพิมายอากาศของเมืองพระนคร และอุโบสถพระแก้วมรกตของวัดพระแก้วของกรุงเทพฯ

            ชื่ออุโบสถสองสงฆ์นั้น มาจากลักษณะของอุโบสถที่มีทางขึ้นสองทางที่ทิศเหนือและทิศใต้ เชื่อกันว่าอาจเป็นการแบ่งส่วนทางขึ้น การใช้งานของภิกษุและภิกษุณี ทั้งนี้ก็มีอีกหนึ่งแนวคิดที่เชื่อว่า อาจมาจากการแบ่งส่วนใช้งานของสงฆ์คนละนิกายในเมืองเชียงใหม่เวลานั้น   

            รูปแบบและศิลปกรรมของอุโบสถสองสงฆ์ นับว่าสำคัญยิ่งต่อการศึกษารูปแบบหอคำหลวงเวียงแก้วที่เหลือให้เห็นเพียงในภาพถ่าย เนื่องด้วยทั้งสองแห่งมีอายุในช่วงสมัยพญากาวิลละเช่นเดียวกัน และมีรูปแบบโดยรวมคล้ายคลึงกัน คือ มีส่วนฐานก่ออิฐถือปูน หลังคาเป็นเครื่องไม้ ผนังเจาะช่องประดับซี่ลูกกรง ที่ซุ้มประตูทางเข้าปรากฏกรอบซุ้มประตูที่พอเห็นเค้าความเชื่อมโยงกับอาคารหอคำหลวง คือ เป็นซุ้มแบบซุ้มซ้อน หรือที่ทางประวัติศาสตร์ศิลปะเรียกในอีกชื่อว่า “ซุ้มลด”  บนสุดของกรอบซุ้มเป็นนาคกระหวัดหางเกี่ยวกันเป็นยอดแหลม ซึ่งพัฒนาการซุ้มรูปแบบดังกล่าว เด่นชัดขึ้นครั้งแรกในล้านนาราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ที่ซุ้มประตูโขงวัดพระธาตุลำปางหลวง เมื่อประมวลข้อมูลทางศิลปะเข้ากับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์จึงพบว่า หอคำหลวงเวียงแก้วและอุโบสถสองสงฆ์วัดพระสิงห์ น่าจะสร้างขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันโดยช่างกลุ่มเดียวกัน (หรืออาจจะคนเดียวกัน) โดยเป็นสกุลช่างลำปาง ที่ถือเป็นสกุลช่างราชสำนัก

           การเที่ยวโบราณสถาน วัดวาอาราม สิ่งสำคัญคือการผนวกสุนทรียศาสตร์ความงาม   เข้ากับประวัติศาสตร์ความเป็นมาและศรัทธาความเชื่อ  องค์ประกอบเหล่านี้เมื่อหลอมรวมเข้าด้วยกัน

                การท่องเที่ยวจึงมีทั้งคำว่า “สีสัน” และ “ลึกซึ้ง”

            วัดวาอาราม โบราณสถานที่ทรงคุณค่าบริเวณวงรอบเล็กๆ กลางเมืองเชียงใหม่ที่ได้นำเสนอในครั้งนี้ แม้บางแห่งหลายท่านอาจเคยไปเยือนมาแล้วหลายครั้งหลายหน แต่ภายใต้ข้อมูลใหม่มุมมองใหม่ที่มี เมืองเชียงใหม่ที่ทุกท่านไปสัมผัสครั้งนี้จะเป็นเชียงใหม่ในประสบการณ์ใหม่แก่ผู้มาเยือนอย่างแน่นอน

 

จิตรกรรมฝาผนังบันทึกวิถีชีวิตการแต่งกายของคนเชียงใหม่สมัยก่อน (สายกลาง จินดาสุ...ภาพ)