Friday, September 14, 2018

บุพเพสันนิบาต ตามรอยประวัติศาสตร์ กรุงศรีอยุธยา



ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. สิงหาคม ๒๕๖๑

ช่วงที่ผ่านมานี้ กระแสความนิยมจากละครโทรทัศน์ “บุพเพสันนิวาส” ก่อให้เกิดปรากฏการณ์นักท่องเที่ยวแต่งชุดไทยโบราณหลั่งไหลเดินทางมาเที่ยวตามรอยละครที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ซึ่งปรากฏอยู่ในเรื่องราวของละคร จะเนืองแน่นเป็นพิเศษด้วยบรรดา “ออเจ้า” ทั้งหลาย (แม่การะเกดก็เยอะ แม่กาละแม แม่กาละมังก็แยะ)  นี่ขนาดละครวนมาฉายจนจบไปเป็นรอบที่สองแล้วยังไม่มีวี่แววจะลดจำนวนลงแต่อย่างใด เดินกันให้ขวักไขว่ทั่วกรุงศรี ฯ

มาอยุธยาคราวนี้ผมจึงอยากจะชวนคุณผู้อ่านมาท่องเที่ยวในแนว “ตามรอย” กันบ้าง

 ไม่ใช่ตามรอยละคร”บุพเพสันนิวาส” นะครับ นั่นเขาตามกันจนพรุนไปแล้ว วัดไหนอยู่ในฉากไหน ทำป้ายมาติดบอกเอาไว้เสร็จสรรพ แถมด้วยรูปคู่ของ “พี่หมื่น”กับ “แม่การะเกด” มาติดไว้อย่างดี ตั้งแต่หน้าวัดเข้าไปจนถึงข้างในเลยทีเดียว


ของผมนี่ขอเรียกว่าตามรอยเส้นทาง “บุพเพสันนิบาต” ครับ

อย่าทำหน้างง ๆ อย่างนั้น ชื่อนี้มีความหมายครับ  “บุพเพ” แปลว่า แต่ครั้งก่อน “สันนิบาต” แปลว่า การมาชุมนุมกัน  จะให้สละสลวยหน่อยก็ต้องแปลว่าการรวมเรื่องราวของแต่ครั้งก่อน 

สรุปให้ง่าย ๆ ก็คือผมจะชวนคุณผู้อ่านมาท่องเที่ยวตามรอยเรื่องราวในประวัติศาสตร์นั่นเอง ตั้งชื่อล้อเลียนละครเรื่องดังให้มันเก๋ ๆ ไปยังงั้นเองแหละครับ ฮ่า ฮ่า ฮ่า

ความจริงแล้วนอกเหนือจากโบราณสถานอันเป็นสถานที่ถ่ายทำละคร “บุพเพสันนิวาส”ที่ว่า พระนครศรีอยุธยายังมีโบราณสถานอีกเยอะแยะครับ แม้ว่าจะไม่ได้ปรากฏอยู่ในละคร ทว่าแต่ละสถานที่เต็มไปด้วย “เรื่องราว” ในประวัติศาสตร์ แม้ข้อมูลในบางส่วนจะยังเลือนรางและสับสนอยู่บ้าง แต่ก็น่าสนใจและสนุกสนานตื่นเต้นไม่แพ้ละคร (เผลอ ๆ จะสนุกกว่าอีกด้วยซ้ำไป)  

โบราณสถานเหล่านี้กระจายอยู่ทั่วพระนครศรีอยุธยาทั้งในเกาะเมืองและนอกเกาะเมือง ผมมานั่งดู ๆ ไปแล้ว จัดเป็นเส้นทางท่องเที่ยวตามรอยประวัติศาสตร์ “กรุงเก่า” พระนครศรีอยุธยาได้อย่างสบายเลยทีเดียว แบ่งหมวดหมู่กลุ่มโบราณสถานในแต่ละทิศ ทั้งบนเกาะเมืองและรอบเกาะเมือง แถมเรียงลำดับตามเหตุการณ์สำคัญ ๆ  ได้อย่างค่อนข้างเหมาะเจาะลงตัวอีกต่างหาก
           


เบื้องบูรพา ศรีรามเทพนครอโยธยา แรกเริ่มความรุ่งเรือง

ออเจ้าเอย...เคยรู้หรือไม่ ...(เพลงประกอบละครนำมาก่อนเลย สร้างบรรยากาศ)

บริเวณฝั่งตะวันออกของตัวเมืองพระนครศรีอยุธยาปัจจุบัน แรกเริ่มนั้นเป็นที่ตั้งของเมืองอโยธยา หรือชื่อเต็มอันไพเราะเพราะพริ้งว่า “อโยธยาศรีรามเทพนคร”  มีฐานะเป็นเมืองท่าค้าขายทางทะเลสำคัญของอาณาจักรละโว้หรือลวปุระ ซึ่งเจริญรุ่งเรืองในดินแดนแถบนี้สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยทวาราวดี

 เรื่องราวของเมืองอโยธยานี้ปรากฏอยู่ในพงศาวดารชัดเจนครับ เพียงแต่นักวิชาการเมื่อก่อนมองไปว่าเป็นนิทานปรัมปราไปเสียอย่างนั้น ทั้งที่มีรายพระนามกษัตริย์ผู้ครองเมืองอโยธยาบันทึกไว้หลายพระองค์ พระนามที่รู้จักกันดีได้แก่ พระเจ้าสายน้ำผึ้ง  พระยาธรรมิกราชา เป็นต้น 


 หลักฐานสำคัญที่สุดที่ยืนยันการมีอยู่จริงของเมืองอโยธยา คือ “พระเจ้าแพนงเชิง” พระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยขนาดมหึมาหน้าตักกว้าง ๒๐ เมตรเศษ สูงถึง ๑๙ เมตร ที่เรารู้จักกันในนาม “หลวงพ่อโตวัดพนัญเชิง” นั่นแหละครับ พงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ซึ่งเป็นฉบับที่น่าเชื่อถือที่สุด ระบุว่าสร้างเมื่อปี พ.ศ.๑๘๖๗ ก่อนการสร้างกรุงศรีอยุธยาถึง ๒๖ ปี การสร้างพระพุทธรูปยิ่งใหญ่และงดงามได้ขนาดนี้ สะท้อนให้เห็นว่าต้องเป็นเมืองที่มีเศรษฐกิจรุ่งเรือง พร้อมทั้งมีศิลปวิทยาการขั้นสูงอย่างไม่ต้องสงสัย

ไม่เพียงเท่านั้น ยังปรากฏโบราณสถานของเมืองอโยธยาหลงเหลือให้เห็นเป็นประจักษ์พยานกันอยู่อีกไม่น้อย ตั้งเรียงรายกันอยู่เป็นแถวเป็นแนวไป ตั้งแต่วัดใหญ่ชัยมงคล วัดสามปลื้ม วัดสมณโกฏฐาราม วัดนางคำ วัดกุฎีดาว วัดจักรวรรดิ์ วัดมเหยงค์ วัดวัดสีกาสมุด และวัดอโยธยา  เพียงแต่ว่าต้องใช้ความสังเกตพอสมควรในการชมครับ เพราะแต่ละวัดได้มีการสร้างศาสนสถานเพิ่มเติม รวมทั้งบูรณปฏิสังขรณ์ซ้อนทับในสมัยอยุธยาหลายต่อหลายหน


 ศิลปกรรมแบบอโยธยาที่หลงเหลือมาให้เห็นกันในวันนี้ส่วนใหญ่เป็นสถาปัตยกรรม สังเกตได้ง่าย ๆ คือ  องค์เจดีย์แปดเหลี่ยมตั้งบนฐานสี่เหลี่ยม ก่ออิฐดินเผาที่ขัดฝนจนเรียบ ใช้ดินผสมยางไม้และมโนศิลาสอแทนปูนจนเนื้อแนบสนิทตามระบบการก่อสร้างโบราณของอินเดีย ที่สำคัญคือก่อให้ภายในเจดีย์กลวง องค์ระฆังกลมแนวองค์ระฆังมองจากด้านข้างเป็นเส้นตั้งแบบเจดีย์ปาละของอินเดีย (ในขณะที่เจดีย์แบบอยุธยาองค์ระฆังเป็นเส้นเอียงผายออก) นิยมปั้นปูนกลีบบัวประดับที่องค์ระฆัง   นอกจากนี้ยังนิยมสร้างพระพุทธรูปแกะสลักขึ้นจากหินทราย ต่างจากสมัยอยุธยาที่นิยมใช้การปั้นปูน (ศิลปกรรมแบบอโยธยานี้นิยมเรียกกันว่าศิลปกรรมแบบอู่ทอง)





เมื่อสามสิบปีก่อนตอนเรียนอยู่มหาวิทยาลัย ผมเคยมาตระเวนเที่ยวชมวัดในแถบนี้ สมัยนั้นเข้ามาดูมาชมยากมากครับ เพราะพื้นที่รกร้างเป็นป่า มีบ้านคนตั้งอยู่บ้างเพียงประปราย ยังมีโอกาสได้เห็นภายในเจดีย์วัดนางคำที่ก่ออิฐแนบสนิทและกลวงขึ้นไปจนถึงยอด และมีเศียรพระพุทธรูปหินทรายพิงอยู่บนเนินดินหลังเจดีย์ กับวัดสีกาสมุดในสภาพถูกขุดกรุจนองค์ระฆังพรุนจนเหลือแกนปล้องไฉนตั้งอยู่ง่อนแง่น วัดช้างจมอยู่ในป่าหญ้ารกสูงท่วมหัว เห็นแต่เจดีย์โผล่อยู่ไกล ๆ จะเข้ามาดูมาชมแต่ละวัดยากลำบากพิลึก




มาวันนี้โบราณสถานในแถบเมืองอโยธยาได้รับการบูรณะขุดแต่งจากกรมศิลปากรเป็นอย่างดี ทว่าหลายสิ่งไม่อาจพบเห็นได้อีก อย่างภายในเจดีย์วัดนางคำที่กลวง ปัจจุบันซ่อมปิดองค์ระฆังที่โหว่เรียบร้อย   หรือเศียรพระศิลาทรายชำรุดบนเนินวัดนางคำ ตอนนี้หายไปแล้ว (หวังว่าคนที่มาเก็บเอาไปดูแลจะเป็นกรมศิลปากรนะ ไม่ใช่พ่อค้าของเก่า)  แต่ถนนหนทางเข้าถึงหมด เข้ามาเที่ยวชมได้ง่ายทุกแห่ง ใครมีโอกาสมาเที่ยวอยุธยาจึงน่าจะเข้ามาเยี่ยมชมร่องรอยความรุ่งเรืองของเมืองอโยธยากันเอาไว้เป็นขวัญตาครับ

เมืองอโยธยาศรีรามเทพนครอันรุ่งเรืองสุดท้ายได้กลับกลายเป็นเมืองร้างไปอย่างเป็นปริศนา สันนิษฐานกันว่าเกิดโรคระบาดที่แพร่มาจากเรือสำเภาต่างชาติที่เข้ามาทำการค้า ทำให้ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก ที่เหลือรอดก็อพยพโยกย้ายทิ้งเมืองไป จนวัดวาอารามรกร้างตกอยู่ในสภาพปรักหักพัง กระทั่งพระเจ้าอู่ทองเสด็จมาสร้างกรุงศรีอยุธยาขึ้นใหม่ในหลายปีต่อมา



เบื้องทักษิณ เวียงเล็ก อลังการงดงามอารามหลวง

เลียบเลาะตามถนนมาทางทิศใต้นอกเกาะเมือง  บริเวณนี้เป็นอีกแห่งหนึ่งที่มีเรื่องราวน่าสนใจต่อเนื่องมาจากฝั่งเมืองอโยธยา นั่นคือตั้งแต่เมื่อครั้งพระเจ้าอู่ทองเสด็จมาทรงสำรวจหาทำเลที่เหมาะสมในการสร้างกรุงศรีอยุธยา

แค่ประวัติความเป็นมาของพระเจ้าอู่ทองก็น่าสนใจเสียแล้วละครับ เพราะในเอกสารประวัติศาสตร์แต่ละชิ้นบันทึกเอาไว้อย่างหลากหลาย ไม่ตรงกัน บ้างก็ว่าเสด็จมาจากเมืองจีน บ้างก็ว่าเสด็จมาจากเชียงแสน บ้างก็ว่ามาจากละโว้ บ้างก็มาจากเพชรบุรี  (มึนดีไหมล่ะ)



แต่ที่พอจะเข้าเค้ากับหลักฐานเอกสารและหลักฐานทางโบราณคดีมากที่สุด  ก็คือข้อที่ว่าพระเจ้าอู่ทองเป็นกษัตริย์อโยธยาเดิมครับ  อย่างที่บอกไว้ตอนต้นว่า เมืองอโยธยาเดิมนั้นเป็นเมืองท่าของละโว้ เมื่อเกิดโรคระบาดร้ายแรงขึ้นได้ทรงนำชาวเมืองอพยพย้ายเมืองหนีไปชั่วคราว แล้วจึงเสด็จกลับมาสำรวจหาทางสร้างเมืองขึ้นใหม่ในสถานที่ใกล้เคียง

ตรงนี้เข้ากันได้ดีกับเนื้อหาในพงศาวดาร ที่ว่าหลังสถาปนากรุงศรีอยุธยาแล้ว พระองค์ได้โปรด ฯ ให้ขุดพระศพเจ้าแก้วเจ้าไทย (หมายถึงพระสังฆราชฝ่ายอรัญวาสีและพระสังฆราชฝ่ายคามวาสี) ที่สิ้นพระชนม์ด้วยโรคระบาด ขึ้นมาฌาปนกิจบำเพ็ญกุศล เพราะหากไม่ใช่พระองค์เคยครองเมืองอโยธยานี้อยู่ก่อน จะทรงทราบได้อย่างไรว่ามีศพเจ้าแก้วเจ้าไทยฝังอยู่ แล้วฝังไว้ตรงไหน  นอกจากนี้ยังมีข้อมูลชัดเจนอีกว่าพระเจ้าอู่ทองมีสายสัมพันธ์กับสองนครใหญ่ใกล้เคียง คือสุพรรณภูมิและละโว้ โดยมีพระมเหสีสองพระองค์ เป็นเจ้าหญิงจากสุพรรณภูมิองค์หนึ่ง และเจ้าหญิงจากละโว้อีกองค์หนึ่ง ทำให้ยิ่งมีความเป็นไปได้ในข้อนี้มากขึ้นด้วย


ระหว่างทรงสำรวจหาทำเลที่ตั้งอันเหมาะสมจะสร้างเมืองใหม่ พระเจ้าอู่ทองได้ทรงสร้างพระตำหนักขึ้นเป็นสถานที่พักแรมชั่วคราวบนอีกฟากฝั่งน้ำนอกเกาะเมือง เรียกกันว่า “เวียงเล็ก” ซึ่งฟังจากชื่อก็น่าจะเป็นพระราชวังขนาดเล็กที่มีคูค่ายแข็งแรงมั่นคง จนเรียกกันในอีกชื่อหนึ่งว่า “เวียงเหล็ก” 

  ครั้นเมื่อสถาปนากรุงศรีอยุธยาสร้างพระราชวังใหม่ในเกาะเมืองเรียบร้อยแล้ว  พระองค์จึงโปรดให้สร้างวัดขึ้นเป็นอนุสรณ์ ณ  เวียงเล็กที่พระองค์เคยเสด็จมาประทับอยู่แต่เดิม ถือเป็นอารามหลวงแห่งแรกที่สร้างขึ้นในสมัยของกรุงศรีอยุธยา พระราชทานนามว่าวัดพุทไธศวรรย์ ใหญ่โตโอ่อ่าอยู่ริมฝั่งน้ำเห็นได้แต่ไกล

ช่วงนี้ในแต่ละวันมีนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลแวะเวียนกันเข้ามาเยี่ยมชมวัดพุทไธศวรรย์กันอย่างชนิดที่เรียกว่า “หัวบันไดไม่แห้ง” แต่ส่วนใหญ่มาเพราะเป็นฉากหนึ่งในละคร “บุพเพสันนิวาส”เท่านั้น  ทั้งที่ความจริงแล้วในฐานะเป็นวัดสำคัญของกรุงศรีอยุธยามาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ภายในวัดได้สั่งสมความงดงามของศิลปกรรมอยุธยาไว้หลายยุคหลายสมัย จึงมีอะไรต่อมิอะไรให้ดูมากมาย ขนาดสมัยอยุธยาเองยังถือว่าเป็นวัดสำคัญที่เชิดหน้าชูตาของพระนคร สำหรับต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองเชียวนะครับ

 ปรากฏความในจดหมายเหตุของราชฑูตลังกาที่เข้ามายังพระนครศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พรรณนาถึงความวิจิตรงดงามเอาไว้อย่างละเอียดพอสมควร อยากรู้ว่าวัดพุทไธศวรรย์สมัยนั้นอลังการงานสร้างตระการตาขนาดไหนคงต้องลองอ่านดูกัน

 “เจ็ดวัดต่อมาในวันศุกร์ เป็นวันเพ็ญ ข้าราชการสองคนมาพบเราและบอกว่า มีพระบรมราชโองการให้พาเราไปที่วัดสองวัดในวันนี้ เราจึงเดินทางโดยทางเรือไปที่วัด เรียกว่าวัดพุทไธศวรรย์ (Puthai Suwan) ซึ่งจะอธิบายดังต่อไปนี้ ทางด้านขวามือของแม่น้ำใหญ่มีทุ่งกว้างที่สิ้นสุดลงที่ฝั่งแม่น้ำ ณ ที่นี้อาคารหลังคาสองชั้นสร้างเป็นรูปจัตุรัส มีประตูอยู่สี่ประตู ทั้งสี่ด้าน ผนังทั้งสี่ประดิษฐานพระพุทธรูปปิดทองสองร้อยองค์ ภายในประตูทางด้านทิศตะวันออกมีรอยพระพุทธบาทจำลอง รูปมงคลบนรอยพระพุทธบาทนั้น ปิดทองตรงกลางของจตุรัส มีพระปรางค์ (dagava) ใหญ่ปิดทอง มีสี่ประตู

เมื่อเข้าประตูด้านทิศตะวันออกแล้ว จะมีบันไดศิลาปิดทอง พระมหาธาตุนั้นประดิษฐานอยู่ภายในท้องคูหาของพระปรางค์ ห้องนี้สร้างขึ้นเพื่อให้เดินประทักษิณได้โดยรอบพระมหาธาตุ โดยไม่ต้องเข้าไปใกล้พระธาตุ ภายในพระปรางค์ยังมีรอยพระบาทจำลองปิดทองอีกด้วย

เคียงข้างประตูทิศตะวันออก มีพญานาคห้าเศียรเลื้อยลงสู่พื้นดิน ทางด้านทิศเหนือของพระปรางค์มีวิหารหลังคาสองชั้น มีชุกชีอยู่ตรงกลาง บนฐานนี้มีพระพุทธรูปประทับปิดทอง สูง ๑๒ ศอก ทางด้านทิศตะวันออกหันหน้าไปทางพระปรางค์ มีวิหารหลังคาห้าชั้น ผูกเพดานด้วยผ้าและประดับด้วยจิตรกรรมปิดทองเสากลางห้องปิดด้วยแผ่นทองคำ บนชุกชีกลางห้องนั้นมีพระพุทธรูปทองคำขนาดเท่าคน เคียงข้างด้วยรูปปิดทองคล้ายกับสองรูปพระสาวกสำคัญ พระสารีบุตรมหาสามิ และพระมหาโมคลานะมหาสามิ และรูปอื่น ๆ อีกมากมาย

ตอนบนของประตูทางเข้าตั้งแต่หลังคาถึงทับหลังประตูมีจิตรกรรมปิดทองรูปพระพุทธเจ้าในสวรรค์ของท้าวสักกะ พระพุทธองค์ประทับบนบัลลังก์สีขาว ทรงเทศนาพระอภิธรรมอันประเสริฐโปรดพระอิศวร (Maha Deva) และเทพ แลพรหมในโลก ที่ยังไม่สมบูรณ์ และมีภาพตอนเมื่อทรงเทศนาเสด็จลงจากสวรรค์ โดยบันไดทองสู่สกัสสปุระ (Sakaspura) พระวิหารหลังนี้มีกำแพงและประตูล้อม อย่างมั่นคง รอบ ๆ มีอาคารที่รื่นรมย์และกุฎิสงฆ์เต็มไปด้วยผู้ทรงศีล ผู้ศรัทธาที่สูงศักดิ์ อุบาสิกา”

ผมเองลองไปเดินเที่ยวชมวัดตามรอยบันทึกนี้แล้วจินตนาการตามไปด้วย พอจะเห็นได้ถึงความอลังการในอดีตได้พอสมควร แต่ต้องใช้พลังงานในการ “มโน” ค่อนข้างมาก  จะว่าไปปัจจุบันนี้ยุคไทยแลนด์ ๔.๐ แล้ว ถ้าหากทางวัดหรือทางจังหวัดหางบประมาณหรือการสนับสนุนจากภาคเอกชน จัดทำเป็นแอพพลิเคชั่นชมวัดพุทไธศวรรย์ในอดีต โดยใช้ข้อมูลจำลองแบบขึ้นมาเป็นภาพสามมิติ  เชื่อมกับโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ตโฟนให้นักท่องเที่ยวดาวน์โหลดไปเดินเที่ยวชมกันได้ละก็ คงจะเป็นการเที่ยวชมวัดที่น่าตื่นตาตื่นใจขึ้นอีกจมเลยเชียวครับ


ใกล้กันกับวัดพุทไธศวรรย์ยังมีโบราณสถานน่าชมอีกแห่งนั่นคือวัดเตว็ด  อาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้น รูปแบบอิทธิพลสถาปัตยกรรมฝรั่งเศสที่รับเข้ามาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หน้าต่างก่อทำเป็นช่องซุ้มโค้งยอดแหลม หน้าจั่วชั้นสองก่ออิฐถือปูนประดับลวดลายปูนปั้น โดยส่วนขอบเป็นลายแบบยุโรป หางหงส์ทำเป็นหัวฝรั่งหันข้างสวมวิกผมยาวเป็นลอน สวมเสื้อมีระบายผูกผ้าพันคอ กึ่งกลางหน้าจั่วปั้นปูนรูปวิมานประดับลายเครือเถาแบบฝรั่งผสมผสานกับลายนกคาบของไทยแลดูอ่อนช้อยสวยงาม ผนังด้านในเจาะเป็นซุ้มสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป แม้ปรักหักพังแต่ยังเด่นสง่างดงามอยู่ในร่มไม้เขียวครึ้มที่แวดล้อมอยู่รอบด้าน

เหตุที่เรียกวัดเตว็ดเนื่องจากตัวอาคารพังทลายลงหมดเหลือเพียงผนังอาคารด้านสกัดที่มีหน้าจั่วอยู่เพียงด้านเดียว ลักษณะคล้ายเจว็ด ชาวบ้านจึงเรียกตามลักษณะที่เห็น ว่าวัดเจว็ด ก่อนจะเพี้ยนเป็นวัดเตว็ดในที่สุด 

ตามพงศาวดารในรัชกาลสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ (พระเจ้าเสือ) พ.ศ. ๒๒๔๓ ว่าเมื่อสิ้นรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา สมเด็จพระอัครมเหสีฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาในสมเด็จพระเพทราชา คือสมเด็จกรมหลวงโยธาเทพและสมเด็จกรมหลวงโยธาทิพ ได้ทูลลาสมเด็จพระเจ้าเสือออกจากพระราชวัง เสด็จออกบวชชี พร้อมนำเจ้าตรัสน้อยราชบุตรซึ่งเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเพทราชา มาตั้งนิวาสสถานอยู่ใกล้วัดพุทไธศวรรย์ และเมื่อราชบุตรอายุครบเกณฑ์โสกันต์ได้ทรงให้บรรพชาเป็นสามเณรและพระภิกษุเพื่อศึกษาเล่าเรียนที่วัดพุทไธสวรรย์ด้วย


ตึกฝรั่งหลังนี้น่าจะเป็นตำหนักของพระมเหสีทั้งสองพระองค์ดังกล่าว แต่หลายคนที่มาเยือนอาจจะสงสัยว่าถ้าเป็นตำหนักจริง ๆ แล้ว ทำไมถึงปรากฏร่องรอยของอุโบสถขนาดใหญ่ตั้งอยู่อยู่เบื้องหน้าพระตำหนักอย่างใกล้ชิดอย่างที่เห็น เหมือนกับเป็นวัด การที่สุภาพสตรีแม้จะสูงศักดิ์แต่มาตั้งตำหนักอยู่ในวัดแถมติดอยู่กับอุโบสถจึงดูเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะถูกต้องเท่าไหร่

 ข้อนี้ตอบได้ไม่ยากครับ ว่าด้วยเหตุที่ทั้งสองพระองค์ทรงมีฐานันดรศักดิ์สูง เมื่อเสด็จออกบวชชีมีข้าราชบริพารฝ่ายในซึ่งเป็นหญิงล้วนออกบวชชีตามเสด็จด้วยมาก การที่แม่ชีทั้งหมดซึ่งเป็นสตรีจะไปพำนักอยู่ในวัดพุทไธศวรรย์ย่อมไม่สะดวกและไม่เหมาะสมแน่นอน เป็นเหตุให้ต้องมาตั้งเป็นสำนักนางชีขึ้นต่างหาก และเนื่องจากสำนักนางชีต้องมีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาด้วย จึงต้องสร้างพระอุโบสถไว้ให้เป็นสัดส่วนของนางชีเอง ไม่ต้องไปปะปนกับพระที่วัด โดยในวาระสำคัญอาจนิมนต์พระสงฆ์จากวัดพุทไธศวรรย์มาเป็นประธานในพิธี วัดเตว็ดจึงไม่ใช่วัด แต่มีลักษณะเป็นสำนักนางชีที่เป็นสาขาของวัดพุทไธศวรรย์นั่นเอง

ใช่หรือไม่ใช่อย่างไรนี่เป็นเพียงแค่ข้อสันนิษฐานที่ผมจินตนาการขึ้นมาจากข้อมูลและสภาพที่พบเห็นเท่านั้นนะครับ การเที่ยวโบราณสถานบางทีต้องพยายามตอบคำถามให้กับสิ่งต่าง ๆ ที่น่าสงสัย แต่ไม่ใช่ตอบมั่ว ๆ ส่งเดชไป ควรจะมีเหตุผลมาสนับสนุนให้น่าเชื่อถือตามสมควร พูดคุยถกเถียงกันได้ในลักษณะวิชาการจะทำให้การท่องเที่ยวมีสีสันและรสชาติมากขึ้น ไม่น่าเบื่อง่วงเหงาหาวนอน

ส่วนที่คำตอบที่ถูกต้องอย่างแท้จริง บางครั้งก็ต้อรอข้อมูลที่อาจจะค้นพบในอนาคตข้างหน้ามาใช้เป็นกุญแจไขปริศนา ซึ่งนั่นเป็นหน้าที่ของนักวิชาการเขาค้นคว้าครับ เรามีหน้าที่เที่ยวก็เที่ยวกันไป



เบื้องประจิม สามอาราม สามสมัย อรัญวาสีป่าแก้ว

ตีวงอ้อมเกาะเมืองมาทางฝั่งตะวันตก ทางด้านนี้ปรากฏร่องรอยของสถาปัตยกรรมโบราณอันมีเรื่องราวน่าสนใจอยู่หลายแห่งด้วยกัน

เจดีย์วัดกระช้าย ตระหง่านเป็นสง่าท่ามกลางความรกร้างอยู่กลางทุ่งมาเนิ่นนาน ด้วยขนาดใหญ่โตและทรวดทรงเจดีย์ที่เป็นแปดเหลี่ยมตั้งบนฐานสี่เหลี่ยมองค์ระฆังกลมเป็นแนวตั้ง บ่งบอกได้ว่าเป็นหนึ่งในเจดีย์ที่สร้างขึ้นในสมัยอโยธยาอย่างไม่ต้องสงสัยครับ

เมื่อสามสิบกว่าปีที่แล้ววัดกระช้ายเป็นเจดีย์ร้างที่อยู่กลางทุ่งนาอย่างแท้จริง ไม่มีถนนตัดผ่านเข้าไป ด้วยความอยากรู้อยากเห็น ผมเคยจอดรถทิ้งไว้บนถนนแล้วเดินฝ่าแดดเปรี้ยงลุยทุ่งเข้าไปชมอย่างใกล้ชิด ตอนนั้นยังไม่มีการบูรณะจุดแต่ง เมื่อเข้าไปใกล้เจดีย์ที่เอียงเอน เงยหน้าขึ้นไปก็แลเห็นเนื้ออิฐแดงเนื่องจากปูนฉาบผิวนอกกะเทาะหลุดร่วงไปได้ชัดเจน ร่องรอยความกร่อนเก่าด้วยการเวลา ประกอบกับบรรยากาศที่รกเรื้อกลางท้องทุ่งแห้งแล้ง ร้างไร้ผู้คน และต้นไม้ใหญ่ยืนต้นตายอยู่ข้างเจดีย์ ให้ความรู้สึกราวกับได้ย้อนอดีตกลับไปเมื่อครั้งกรุงแตกยังไงยังงั้น


บนคอระฆังเจดีย์ปรากฏร่องรอยโพรงใหญ่จากการลักลอบขุดหาสมบัติ ที่น่าตื่นตาตื่นใจคือผมพบช่องที่เกิดจากการขุดเจาะหาสมบัติบริเวณส่วนฐานแปดเหลี่ยม เจาะเป็นช่องขนาดเท่าตัวคน เมื่อลองเดินเข้าไปก็ต้องตะลึงครับ เพราะภายในองค์เจดีย์เป็นห้องโล่งที่ก่ออิฐอย่างเป็นระเบียบกลวงขึ้นไปจนถึงยอดเจดีย์ข้างบนที่อยู่สูงลิบ ซึ่งเป็นลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งของเจดีย์สมัยอโยธยาที่แสดงให้เห็นเทคโนโลยีการก่อสร้างที่สูงเยี่ยมและประณีต (เจดีย์สมัยอยุธยาภายในจะก่อด้วยอิฐทึบตันทั้งหมดไม่เป็นโพรงข้างใน) โพรงภายในเจดีย์แบบนี้น่าจะใช้เป็นที่บรรจุทรัพย์สมบัติล้ำค่าที่ถวายเป็นพุทธบูชา ซึ่งคงถูกคนร้ายที่ลักลอบขุดกรุนำออกไปนานแล้ว

ในวันนี้เจดีย์วัดกระช้ายได้รับการบูรณะขุดแต่งเป็นที่เรียบร้อยหลายปีแล้ว มีถนนทางเข้าอย่างดีมาถึงในบริเวณวัด  แต่องค์เจดีย์ที่บูรณะไม่มีช่องทางที่จะเข้าไปชมความมหัศจรรย์ของเทคนิคการก่ออิฐของช่างสมัยอโยธยาได้อีกต่อไป เพราะก่ออิฐปิดทึบตันหมดทุกด้าน ไม่แน่ใจว่ารวมไปถึงภายในด้วยหรือไม่ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็น่าเสียดาย ผมมาถึงแล้วก็ได้แต่นึกย้อนไปถึงบรรยากาศรกร้างอันขรึมขลังที่เคยพบเห็น  คงไม่มีวันหวนคืนมาตลอดกาลแล้ว

น . ณ ปากน้ำ นักประวัติศาสตร์ศิลป์คนสำคัญเคยตั้งข้อสันนิษฐานไว้ว่า บริเวณวัดกระช้ายแห่งนี้คือที่ตั้งวัดป่าแก้วของเมืองอโยธยา ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา เมืองโบราณต่าง ๆ ทุกแห่งในประเทศไทย มีธรรมเนียมในการสร้างวัดป่าแก้ว คือวัดที่จำพรรษาของสมเด็จพระพนรัตน์ สังฆราชฝ่ายอรัญญวาสี (พระป่า) ไว้ทางฝั่งทิศตะวันตกของเมืองทั้งสิ้น


เช่นเดียวกับโบราณสถานเก่าแก่อีกแห่ง ไม่ไกลจากวัดกระช้ายเท่าไหร่ คือวัดทุ่งประเชด หรือวัดวรเชตุ อารามขนาดใหญ่ มีพระปรางค์เป็นประธานของวัด กับสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ อีกมากมายที่บ่งบอก

ก่อนหน้านี้วัดทุ่งประเชดไม่ปรากฏประวัติความเป็นมาชัดเจน สมัยผมมาเตร็ดเตร่เที่ยวชมโบราณสถานกรุงเก่าเมื่อสามสิบกว่าปีก่อนเคยเห็นมีป้ายติดหน้าวัดว่าชื่อวัดวรเชตุเทพบำรุงอยู่ มาครั้งนี้ถึงเห็นว่าเปลี่ยนเป็นวัดวรเชตุเฉย ๆ  แถมวงมีเล็บว่า “วรเชษฐ์”  ไว้ด้วย

จำได้ว่าหลายปีก่อนหน้า ในช่วงที่ภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรกำลังโด่งดัง ได้เกิดมีการถกเถียงกันขึ้นมาในแวดวงประวัติศาสตร์กันนัวเนียพอสมควร ว่าวัดวรเชษฐารามที่สมเด็จพระเอกาทศรถทรงสร้างเพื่อถวายสมเด็จพระนเรศวรคือวัดวรเชษฐารามในเกาะเมือง หรือวัดวรเชตุนอกเกาะเมืองแห่งนี้กันแน่ ซึ่ง จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้ข้อยุติ อาจจะต้องปล่อยให้นักวิชาการที่เกี่ยวข้องเขาไปหาหลักฐานมายืนยันกันให้รู้เรื่องอีกทีครับ ไม่รู้ว่าจะอีกนานกี่ปีเหมือนกัน

สรุปได้ตอนนี้แน่ ๆ ก็คือวัดวรเชตุนอกเกาะเมืองนี้เป็น”วัดป่าแก้ว” พระอารามที่จำพรรษาของพระสังฆราชฝ่ายอรัญวาสีของกรุงศรีอยุธยาในยุคต่อมาแน่นอน 



วัดวรเชตุน่าจะทำหน้าที่สำคัญนี้ต่อเนื่องมาจนกระทั่งถึงในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เมื่อพระองค์เสด็จไปตีนครธมได้ โปรด ฯ ให้สร้างวัดขึ้นบนที่ดินซึ่งเคยเป็นบ้านของพระราชมารดา ด้วยสถาปัตยกรรมที่จำลองรูปแบบมาจากนครวัดในกัมพูชา แต่ปรับแปลงในส่วนของเมรุทิศให้และส่วนประกอบต่าง ๆ ให้มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง  คือวัดไชยวัฒนาราม และโปรดให้เป็นวัดที่จำพรรษาของพระสังฆราชฝ่ายอรัญวาสีแทนวัดวรเชตุนับแต่นั้น  
วัดไชยวัฒนารามนี้คงไม่ต้องพูดกันมากครับ ว่ามีอะไร น่าจะรู้กันดีอยู่แล้ว เพราะเป็นหนึ่งในอีกวัดที่ปรากฏเป็นฉากสำคัญในละครบุพเพสันนิวาส ในช่วงนี้ไม่ว่าจะไปที่วัดเวลาไหนเช้า สาย บาย หรือเย็น  ล้วนแล้วแต่ได้เห็น “ออเจ้า” ทั้งหลายเดินกันแน่นวัดทั้งวัน



เกาะพระนคร ศูนย์กลางแห่งกรุงศรีอยุธยา   

 จากฟากตะวันตก เราข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่เกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ศูนย์กลางของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาอันยิ่งใหญ่รุ่งเรืองที่สุดในดินแดนสุวรรณภูมิ

พระราชพงศาวดารบันทึกเอาไว้ว่า พระเจ้าอู่ทองหรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ทรงสถาปนาพระนครแห่งใหม่ ขึ้นในบริเวณหนองโสน แล้วพระราชทานนามว่า  กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา” ในปี พ.ศ. ๑๘๙๓ พระราชวังแห่งแรกสร้างขึ้นบริเวณตอนเหนือของหนองน้ำ โดยอาศัยใช้แม่น้ำลพบุรีและแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นคูพระนครด้านเหนือ ด้านตะวันตก และด้านใต้  ส่วนด้านตะวันออกนั้น ขุดคูน้ำขึ้นใหม่ตามแนวคูเมืองอโยธยาเก่าใช้เป็นคูเมืองด้านนอก  


โบราณสถานในเกาะเมืองอยุธยาส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในบริเวณตอนกลางของเกาะ ใกล้กับพระราชวัง โดยมีทั้งวัดที่สร้างขึ้นใหม่ อย่างเช่นวัดพระราม สร้างขึ้นในบริเวณที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระเจ้าอู่ทอง  วัดพระศรีสรรเพชญ์ สร้างขึ้นบนพื้นที่พระราชวังในสมัยพระเจ้าอู่ทอง เนื่องจากสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ทรงย้ายพระราชมณเฑียรขึ้นไปทางตอนเหนือของพระราชวังเดิม จึงยกถวายป็นเขตพุทธาวาส ใช้เป็นวัดในเขตพระราชวังสำหรับประกอบพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ ของบ้านเมือง ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา (เหมือนกับวัดพระแก้วที่กรุงเทพ ฯ)


บางส่วนก็เป็นวัดที่สร้างลงบนโบราณสถานของเมืองอโยธยาเดิมเช่นวัดมหาธาตุ  ปรางค์ประธานของวัดมหาธาตุนี้เคยสูงใหญ่ที่สุดในอยุธยาคือสูงถึง ๒๕ วา เนื่องจากมีการบูรณปฏิสังขรณ์ซ้อนทับกันขึ้นไปหลายชั้นในหลายยุคสมัย จนในที่สุดก็พังทลายลงมาเมื่อสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๕ นี้เอง 

 เศียรพระพุทธรูปในโอบล้อมของรากไม้เป็นหนึ่งในสิ่งที่ทำให้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่รู้จักวัดมหาธาตุ เศียรพระพุทธรูปนี้เป็นศิลปกรรมแบบอู่ทองอันเป็นของเมืองอโยธยาเก่า ในการขุดแต่งโบราณสถานของกรมศิลปากรพบชิ้นส่วนพระพุทธรูปศิลาหินทรายสมัยอโยธยาจำนวนมากมายอึดตะปือนัง ซ่อนอยู่ใต้ฐานพระวิหารหลวงบ้าง โบกปูนซ่อนอยู่ในผนังวิหารบ้าง สันนิษฐานว่าเมื่อมีการปฏิสังขรณ์วัดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ช่างในสมัยนั้นไม่รู้จะทำอย่างไรกับชิ้นส่วนพระพุทธรูปศิลาที่ปรักหักพังของเดิมที่มีอยู่อย่างมากมาย จึงรวบรวมนำไปไว้ตามสถานที่ดังกล่าว (ปัจจุบันก็ไม่รู้จะเอาไว้ที่ไหนอีกเหมือนกันครับ เห็นเอาไปกองรวมกันไว้อยู่ริมกำแพงวัด)


 แต่ที่มีเรื่องราวความเป็นมาน่าตื่นเต้นที่สุดในแถบนี้ก็คือ วัดราชบูรณะครับ สร้างขึ้นในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) ในบริเวณพื้นที่และตำแหน่งเดิมที่พระองค์ได้ทรงถวายพระเพลิงศพให้กับเจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยา ที่ชนช้างแย่งราชสมบัติกันจนสิ้นพระชนม์ทั้งคู่

 พงศาวดารกรุงเก่าบันทึกเอาไว้ว่า เมื่อปี พ.. ๑๙๔๗ เมืองเหนือเกิดจลาจลเนื่องจากพระมหาธรรมราชาที่ ๔ (บรมปาล) กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์พระร่วงที่ครองกรุงสุโขทัยเสด็จสวรรคต สมเด็จพระนครินทราธิราชจึงเสด็จยกทัพขึ้นไปถึงเมืองพระบาง (นครสวรรค์) โปรดให้เจ้าอ้ายพระยา พระโอรสองค์โตครองเมืองสุพรรณบุรี เจ้ายี่พระยา พระโอรสองค์รองค์รอง ครองเมืองแพรกศรีราชาหรือเมืองสรรค์  และเจ้าสามพระยาองค์สุดท้องครองเมืองชัยนาท (พิษณุโลก)

เมื่อสมเด็จพระนครินทราธิราชเสด็จสวรรคต เจ้าอ้ายพระยาทรงทราบข่าวพลันยกทัพจากสุพรรณบุรีเข้ามา พร้อม ๆ กันกับเจ้ายี่พระยาก็ยกทัพลงมาจากเมืองสรรค์เช่นกัน เพื่อเข้าครอบครองราชสมบัติที่กรุงศรีอยุธยาแทนพระราชบิดา ทั้งสองทัพเกิดปะทะกันขึ้นจนถึงขั้นตะลุมบอน บริเวณเชิงสะพานป่าถ่าน  เจ้าอ้ายพระยากับเจ้ายี่พระยาทรงกระทำยุทธหัตถี ปรากฏว่าทั้งสองพระองค์ฝีมือทัดเทียมกัน ต่างฝ่ายต่างถูกพระแสงของ้าวของฝ่ายตรงข้าม พระศอขาด สิ้นพระชนม์บนคอช้างทั้งสองฝ่าย

  หลังจากทั้งสององค์สิ้นพระชนม์ เจ้าสามพระยาซึ่งเป็นพระอนุชาองค์เล็กก็เสด็จยกทัพจากเมืองชัยนาท มาขึ้นครองราชสมบัติกรุงศรีอยุธยา เป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒   แล้วโปรดให้ถวายพระเพลิงพระศพของพระเชษฐาทั้งสองพระองค์ แล้วสร้างวัดราชบูรณะในที่ถวายพระเพลิงนั้น

 แล้วยังโปรดให้สร้างเจดีย์เล็ก ๆ บริเวณที่ทั้งสองพระองค์ชนช้างกันเป็นอนุสรณ์  เรียกว่า เจดีย์เจ้าอ้ายเจ้ายี่ 
ปัจจุบันยังมีให้เห็นอยู่ครับ แต่ต้องสังเกตให้ดี ๆ อยู่ตรงวงเวียนกลางสี่แยกระหว่างวัดมหาธาตุกับวัดราชบูรณะพอดี  มองผ่าน ๆ แทบไม่เห็นเหมือนกัน ทั้งที่เป็นสถานที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์แท้ ๆ



เบื้องอุดร ประวัติศาสตร์การชิงอำนาจและการล่มสลาย

เป็นเรื่องบังเอิญอย่างไม่น่าเชื่อครับ ที่นอกเกาะเมืองฝั่งทางทิศเหนือมีสถานประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการแย่งชิงราชสมบัติ การเสียกรุง การกู้เอกราช มารวมกันอยู่ฟากนี้แทบทั้งหมด ตั้งแต่เจดีย์ภูเขาทองซึ่งตั้งอยู่ไกลลิบ ๆ ข้างนอกโน้น ที่ว่ากันว่าบุเรงนองมาสร้างเจดีย์ใหญ่แบบมอญ ไว้เป็นที่ระลึกในการตีกรุงศรีอยุธยาได้ (คราวเสียกรุง ฯ ครั้งที่ ๑) ก่อนที่จะมาซ่อมแซมปฏิสังขรณ์ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโดยเปลี่ยนส่วนยอดของเจดีย์เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองแบบอยุธยา โดยที่ฐานยังเป็นแบบมอญอยู่

 บนเส้นทางของเราก็มีอยู่อีกหลายแห่งเรียงรายกันอยู่ ตั้งแต่วัดเชิงท่า อารามซึ่งเคยเป็นที่จำพรรษาของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ผู้กอบกู้กรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งยังอุปสมบทเป็นพระภิกษุ  แต่นักท่องเที่ยวไม่ค่อยจะรู้เรื่องนี้กัน ส่วนใหญ่ที่มากันรู้แต่ว่าเป็นวัดที่แม่หญิงการะเกดมาทำบุญ ในละคร “บุพเพสันนิวาส” (เป็นซะยังงั้นไป)


วัดโคกพระยา แดนประหารหรือสถานที่สำเร็จโทษพระมหากษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงในการชิงบัลลังก์ ซึ่งก็มีทั้งที่นำมาประหารที่วัดและมีทั้งประหารที่อื่นแล้วนำพระศพมาฝังที่วัด อย่างต่อเนื่องยาวนานตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยา วัดนี้เมื่อก่อนรกเรื้อเต็มไปด้วยต้นไม้

ใกล้ ๆ กันกับวัดหัสดาวาส ที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ทรงทำสัญญาสงบศึกกับบุเรงนอง และวัดหน้าพระเมรุที่เป็นหนึ่งในวัดที่พม่ามาตั้งค่ายล้อมกรุงศรีอยุธยา

เลยเข้าไปอีกหน่อยเป็นแถบคลองสระบัวกับคลองบางปลาหมอซึ่งเป็นคลองสาขา บริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งของชุมชนและย่านการค้าสำคัญ คือย่านสัมพันนี แหล่งผลิตน้ำมันงา น้ำมันลูกกะเบา และน้ำมันถั่ว  รวมทั้งยังเป็นแหล่งตีเหล็ก และปั้นหม้อ  ส่วนปลายคลองเป็นย่านตลาดวัดครุฑ ปั้นหม้อนางเลิ้ง ฟากตะวันออกของคลองสระบัวคือทุ่งแก้ว เป็นแหล่งผลิตสินค้าสำคัญเช่นกัน โดยย่านวัดพร้าว ทำแป้งหอม น้ำมันหอม ธูป กระแจะ และกระดาษ  บ้านคนฑี ปั้นกระโถน ตะคัน ตุ๊กตารูปคนและสัตว์ต่าง ๆ   พบหลักฐานว่าบริเวณนี้มีชาวล้านนาตั้งบ้านเรือนอยู่มากด้วย จังไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นเจดีย์แบบล้านนาขนาดใหญ่องค์หนึ่งตั้งเด่นตระหง่านอยู่ที่วัดแค

เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์สำคัญอันน่าตื่นเต้นระทึกใจที่เกิดขึ้นที่คลองสระบัวและคลองบางปลาหมอ นี่แหละครับ นั่นคือการลอบปลงพระชนม์ขุนวรวงศาธิราชและแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ โดยหลังจากแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์โปรด ฯ ให้สถาปนาขุนวรวงศาธิราชขึ้นเป็นกษัตริย์ ขุนนางผู้ใหญ่บางส่วนเห็นว่าไม่เหมาะสม ขุนพิเรนทรเทพ (ต่อมาเป็นสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช) กับพรรคพวก จึงได้วางแผนลอบปลงพระชนม์  

ในวันที่เสด็จขุนวรวงศาธิราชเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคไปคล้องช้างป่า ณ เพนียดย่านหัวรอ  คณะของขุนพิเรนทรเทพนำกำลังพลไปดักซุ่มบริเวณคลองบางปลาหมอ เมื่อเรือพระที่นั่งมาถึงบริเวณปากคลองสระบัว ก็ออกจากที่ซุ่มเข้าสกัดจับขุนวรวงศาธิราชกับนางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์พร้อมพระราชบุตรปลงพระชนม์บริเวณวัดเจ้าย่า แล้วนำศพไปเสียบประจานไว้ที่วัดแร้ง จากนั้นจึงไปทูลเชิญพระเทียรราชาซึ่งขณะนั้นผนวชอยู่ที่วัดราชประดิษฐาน ให้ลาผนวชขึ้นครองราชสมบัติเป็นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ  

เส้นทางของเรามาสิ้นสุดลงที่วัดแม่นางปลื้ม มีประวัติว่าเดิมชื่อ วัดท่าโขลง  เพราะเป็นบริเวณที่โขลงช้างเข้ามาก่อนถูกต้อนเข้าเพนียด  ภายในวัดมีเจดีย์ใหญ่ที่มีรูปสิงห์ปูนปั้นท่วงทีองอาจประดับโดยรอบฐาน  วัดนี้เคยเป็นที่ตั้งค่ายพม่า ตั้งประจันหน้าฝั่งกับป้อมมหาไชยที่อยู่ตรงข้ามอีกฟากแม่น้ำ ยังหลงเหลือร่องรอยเนินค่ายปรากฏอยู่ตรงด้านทิศตะวันออกหน้าวัด เรียกว่า “โคกพม่า”

ข้อมูลจากพงศาวดารระบุว่ากองทัพพม่าตั้งปืนใหญ่ระดมยิงข้ามกำแพงเมืองเข้าไปในพระนครและใช้ทหารลอบเข้ามาขุดรากกำแพงเมืองฝังระเบิดจนกำแพงเมืองทลายลง จุดสำคัญที่พม่าทำอุโมงค์เข้าขุดเผารากกำแพงเมืองบริเวณป้อมมหาไชยจนพังทลายลง แล้วยกทัพเข้าเผาทำลายเมืองได้ เป็นการปิดฉากความรุ่งเรืองที่สืบเนื่องมายาวนานนับหลายศตวรรษของกรุงศรีอยุธยาลงอย่างสิ้นเชิง

แต่ดูเหมือนว่าอดีตอันรุ่งโรจน์ของกรุงศรีอยุธยายังคงอยู่ในความทรงจำ ในสายเลือด ของคนไทยตลอดมา เพราะเมื่อมีการสร้างภาพยนตร์หรือละครเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยาเมื่อไหร่ คนไทยก็คล้ายกับจะระลึกชาติกันขึ้นมาได้ทุกครั้ง แห่กันกลับมาเยี่ยมเยือน”กรุงเก่า” บ้านเดิมในความทรงจำกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง

เส้นทางท่องเที่ยวของเราสิ้นสุดลง เพราะหน้ากระดาษหมดโควตา ทว่าแท้ที่จริงแล้วเรื่องราวของกรุงศรีอยุธยาไม่ได้มีเพียงเท่านี้  ในประวัติศาสตร์ ๔๑๗ ปี ยังมีร่องรอยเรี่องราวมากมายที่รอการเล่าขานอยู่ครับ เพียงแต่ได้ยินว่าตอนนี้กำลังมีการสร้างละคร “บุพเพสันนิวาส” ภาคสองกันอยู่ เชื่อว่าน่าจะได้ออกอากาศในอีกไม่นานเกินรอ ดูท่าทีแล้วน่าจะมีโอกาส “ฮิต” จนอาจจะได้มี “ออเจ้าฟีเวอร์” กันอีกรอบ
ไว้ถึงวันนั้นเราค่อยมา “บุพเพสันนิบาต”  ตามรอยประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา กันอีกสักทีแล้วกันครับ