Tuesday, November 17, 2015

รายงานพิเศษ ล่องเรือตามรอย ๑๕๐ ปี บรมมหาศรีสุริยวงศ์


ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ
(ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนธันวาคม ๒๕๕๘) 

ปี พ.ศ. ๒๕๕๗- ๒๕๖๑  มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาประกาศให้เป็นปีแห่งการเชิดชูเกียรติ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)  โดยในปี ๒๕๖๑ ที่จะถึงนี้จะครบรอบ ๑๕๐ ปีที่ท่านได้ปฏิบัติราชการในตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในช่วงปี พ.ศ.๒๔๑๑- ๒๔๑๖ ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ยังทรงพระเยาว์

อัจฉริยภาพของท่านปรากฏอยู่ในผลงาน ๗ ด้าน คือด้านกฎหมาย ด้านวิทยาศาสตร์ ด้านการศึกษา, ด้านวรรณกรรม  ด้านการพัฒนาประเทศ ด้านศิลปวัฒนธรรม และด้านการเสริมสันติภาพและขันติธรรม  เรียกได้ว่าเป็นผู้นำการพัฒนา สร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับชาติบ้านเมือง จนเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ

ด้วยเหตุนี้ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาจึงเตรียมยื่นเสนอองค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก ประกาศให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นบุคคลสำคัญของโลกในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ และเพื่อเผยแพร่คุณูปการและภารกิจของสมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ด้านต่างๆ  ทางมหาวิทยาลัยจึงได้จัดกิจกรรม“ตามรอย ๑๕๐ ปี ศรีสุริยวงศ์” เพื่อเผยแพร่ผลงานของสมเด็จเจ้าพระยาฯตามวาระของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือน อันจะเป็นการเรียนรู้ถึงผลงานของท่านจากข้อมูลตามเส้นทาง



         ล่าสุดคือกิจกรรมในหัวข้อ สังคมและเศรษฐกิจหลังสนธิสัญญาเบาว์ริง นำคณะสื่อมวลชนล่องเรือทัศนศึกษาสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จเจ้าพระยาฯและสนธิสัญญาเบาว์ริง ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จัดขึ้นเมื่อวันพุธที่ ๒๘ ตุลาคมที่ผ่านมา โดยออกเดินทางจากท่าเรือสำนักงานท่องเที่ยว กรุงเทพมหานครฯ เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า โดยเรือของกรมเจ้าท่า

          สนธิสัญญาเบาว์ริงนั้นเป็นหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีระหว่างอังกฤษกับสยาม ซึ่งมีผลบังคับทำให้สยามต้องยกเลิกระบบการค้าผูกขาดกับพระคลังสินค้าแบบดั้งเดิม ทั้งยังต้องเปิดการค้าแบบเสรี อันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามมามากมาย ซึ่งในขณะนั้นหากไม่ทำสนธิสัญญา ทางอังกฤษมีแนวโน้มจะใช้กำลังทหารที่เหนือกว่าด้วยยุทโธปกรณ์อันทันสมัยเข้ารุกราน ท่านสมเด็จเจ้าพระยาฯ ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีบทบาทสำคัญในการเกลี้ยกล่อมขุนนางในกลุ่มอนุรักษ์นิยมจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยให้ยอมรับและในขณะเดียวกันก็ทำการเจรจากับทางอังกฤษโดยตลอด ทำให้รักษาเอกราชของสยามเอาไว้ได้ 




                 เรือล่องลงไปตามแม่น้ำทางทิศใต้เปิดโอกาสให้คณะได้ชมทัศนียภาพอันงดงามริมฝั่งน้ำของพระราชวังบวรสถานมงคล(วังหน้า) พระบรมมหาราชวัง และบ้านเรือนวิถีชีวิตสองฟากฝั่ง พร้อมฟังบรรยายเกร็ดประวัติศาสตร์รายทางโดยอาจารย์นัท จุลภัสสร จุดหมายแรกคือท่าเรือกรมเจ้าท่าซึ่งหลังเซ็นสนธิสัญญาเบาว์ริ่งมีการปรับเปลี่ยนระบบการทำงานของกรมเจ้าท่าที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาให้สามารถรองรับปริมาณการค้ากับต่างชาติที่มีเพิ่มมากขึ้น

                




            หลังฟังการบรรยายสรุปและนำเสนอเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับสนธิสัญญาเบาว์ริงโดยอาจารย์พลาดิศัย สิทธิธัญญกิจ และอาจารย์จุมพล สอนเสริม ในห้องประชุมของกรมเจ้าท่าแล้ว คณะก็ได้เดินเท้าไปชมสถาปัตยกรรมอันงดงามของอาคารธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาตลาดน้อย ที่สร้างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมแบบนิโอคลาสสิคในสมัยรัชกาลที่ ๕ จากแนวพระราชดำริเพื่อเป็นฐานรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศหลังจากที่ชาวตะวันตกขยายเส้นทางการค้าทางทะเลมายังสยามประเทศมากขึ้น





                 คณะกลับมาลงเรือลอยลำชมอาคารเก่าของบริษัทอีสต์เอเชียติ๊ก สถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิคอีกแห่งที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ เช่นกัน เดิมชื่อบริษัท แอนเดอร์เซ่น แอนด์ โก ประกอบธุรกิจหลักคือ ส่งออกไม้สักไปต่างประเทศ ถือเป็นบริษัทหนึ่งที่เกิดขึ้นและประสบความสำเร็จอย่างมากภายหลังการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง
                 
               เทียบท่าอีกครั้งที่ท่าเรือตำรวจน้ำเยี่ยมชมอาคารเก่าศุลกสถานหรือโรงภาษี สถาปัตยกรรมเป็นตึก ๓ ชั้น แบบยุโรปขนาดใหญ่ สร้างขึ้นตามข้อตกลงหนึ่งในสนธิสัญญาเบาว์ริง ที่ระบุว่าจะต้องปลูกโรงภาษีให้ใกล้ท่าจอดเรือพอสมควรเพื่อความสะดวกในการติดต่อ ตัวอาคารปัจจุบันแม้คร่ำคร่าและทรุดโทรมแต่ยังคงหลงเหลือร่องรอยความงดงามเนื่องจากเป็นผลงานการออกแบบของมิสเตอร์โจอาคิม กราซี สถาปนิกผู้ออกแบบและก่อสร้างพระที่นั่งวโรภาษพิมาน ในพระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ซึ่งศุลกสถานแห่งนี้กำลังอยู่ระหว่างรอการบูรณะให้กลับมางดงามดังเดิมในอีกไม่นาน



                 




             
          ปิดท้ายรายการที่ท่าเรือเอเชียทีค ในอดีตบริเวณนี้เป็นโกดังเก็บสินค้าของ บริษัท อีสต์เอเชีย ติ๊ก ซึ่งปัจจุบันยังพอมองเห็นถึงเค้าโครงดั้งเดิมของอาคารที่เป็นคลังสินค้าแม้ว่าจะมีการปรับปรุงสถานที่ให้เป็นเป็นศูนย์การค้าและแหล่งท่องเที่ยวไปแล้วก็ตาม 

            กิจกรรม “ตามรอย ๑๕๐ ปี ศรีสุริยวงศ์” เพื่อเผยแพร่ผลงานของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์นี้ยังคงจัดให้มีขึ้นอีกอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ ไปจนกระทั่งถึงปี ๒๕๖๑  โดยหัวข้อจะปรับเปลี่ยนหมุนเวียนไปตามเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ ซึ่งทางอนุสาร อ.ส.ท. จะได้ติดตามกิจกรรมที่น่าสนใจมานำเสนอในโอกาสต่อไป


Sunday, November 15, 2015

อนุสาร อ.ส.ท. รับโล่พระราชทานรางวัลสื่อมวลชนเพื่อเด็กและเยาวชน ประจำปี ๒๕๕๘


“กล้องเล็ก ถ่ายภาพโต” ...รายงาน
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนธันวาคม ๒๕๕๘ 

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ เสด็จแทนพระองค์ยังศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ทรงเปิดงาน "วันเยาวชนแห่งชาติ" ประจำปี ๒๕๕๘  และพระราชทานรางวัลแก่ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชน ผู้แทนองค์กรที่ทำคุณประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชน ตลอดจนกลุ่มเด็กและเยาวชนดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๕๘ เมื่อวันที่ ๒๐ เดือนตุลาคมที่ผ่านมา

ในการนี้ อนุสารอ.ส.ท. นิตยสารเพื่อการท่องเที่ยวอนุรักษ์ธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรม ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)   ได้รับคัดเลือกให้รับรางวัลองค์กรที่ทำคุณประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชน สาขาสื่อสารมวลชนเพื่อเด็กและเยาวชนที่ป้องกันปัญหาสังคม โดยมีนายภาคภูมิ น้อยวัฒน์ บรรณาธิการฝ่ายภาพ อนุสาร อ.ส.ท. ซึ่งทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบคอลัมน์เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน เป็นผู้เข้ารับพระราชทานโล่รางวัล



ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อนุสาร อ.ส.ท. ได้เปิดหน้าคอลัมน์เกี่ยวกับเด็กและเยาวชนขึ้นหลายคอลัมน์ด้วยกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการรับรู้เข้าใจ ถึงคุณค่าและเอกลักษณ์ของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรมในแต่ละภูมิภาค  รวมทั้งส่งเสริมการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ในหมู่เด็กและเยาวชน

คอลัมน์“เที่ยวเมืองไทย วาดเมืองไทย” เปิดขึ้นตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ เพื่อให้โอกาสเด็กและเยาวชนได้แสดงความสามารถ โดยการวาดภาพและระบายสีแหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทย ส่งเข้ามาประกวดชิงรางวัลของที่ระลึกจากอนุสาร อ.ส.ท. เป็นประจำทุกฉบับ ได้รับความสนใจจากเด็กและเยาวชนส่งผลงานเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก  ผลงานที่ได้รับคัดเลือกยังได้ถูกนำไปจัดแสดงเป็นนิทรรศการ รวมทั้งยังมีการจัดกิจกรรมต่อยอด ด้วยการจัดอบรมวาดภาพสีน้ำในงานเทศกาลเที่ยวเมืองไทย ณ ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ในปี ๒๕๕๖


ส่วนคอลัมน์ “เยาวชนตากล้องท่องเที่ยวไทย” เปิดขึ้นตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ ด้วยการจัดประกวดภาพ เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนส่งภาพถ่ายแหล่งท่องเที่ยวในท้องถิ่นเข้ามาประกวด เพื่อชิงรางวัลกล้องถ่ายภาพแบบพกพา เป็นประจำทุกเดือน นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จัดกิจกรรมอบรมการถ่ายภาพท่องเที่ยวเบื้องต้นให้กับนักเรียนตามจังหวัดต่าง ๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ชื่อว่าโครงการ Youth Photographer  เพื่อให้สื่อสารได้เป็นสากลยิ่งขึ้น สอดรับกับการเข้าสู่ความเป็นประชาคมอาเซียน





ล่าสุดได้มีการเพิ่มเติมกิจกรรมใหม่ของคอลัมน์เยาวชนตากล้องท่องเที่ยวไทยขึ้นอีก ในชื่อของโครงการ Youth Bloggers  อบรมการถ่ายภาพพร้อมด้วยการเขียนสารคดีท่องเที่ยวเบื้องต้น พร้อมกับสอนการจัดทำบล็อกท่องเที่ยวสำหรับเผยแพร่ทางอินเตอร์เนตให้กับนักเรียนในต่างจังหวัด เพื่อให้เป็นเครือข่ายเยาวชนที่จะช่วยนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวในท้องถิ่นออกสู่สายตาชาวโลกต่อไป

 ปลายปี ๒๕๕๘ ที่ผ่านมาได้มีการจัดอบรม Youth Bloggers ไปแล้วรวม ๓ รุ่นคือ รุ่นที่ ๑ ที่อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน รุ่นที่ ๒ ที่อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี และรุ่นที่ ๓ ที่อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี

            (หมายเหตุ ปัจจุบัน ปี ๒๕๖๐ Youth Bloggers ได้จัดอบรมไปแล้ว ๑๐ รุ่น และยังคงเดินหน้าจัดอย่างต่อเนื่องต่อไปโดยมีเป้าหมายสร้างเครือข่ายเยาวชน Youth Bloggersให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ) 



ติดตามชมภาพถ่ายกิจกรรมและผลงานของเหล่า “เยาวชนตากล้องท่องเที่ยวไทย” ในทั้งสองโครงการ ได้ที่ www.facebook.com/youthphotograph และ www.facebook.com/youthbloggers


Wednesday, November 11, 2015

ท่าสอน เส้นทางสัมผัสมหัศจรรย์แห่งป่าชายเลนจันทบุรี


“พราว เภตรา” ...รายงาน
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนตุลาคม ๒๕๕๘ 
            ป่าชายเลนถือเป็นแหล่งธรรมชาติที่สำคัญต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีประโยชน์ต่อการดํารงชีพของมนุษย์และสัตว์  ด้วยความหลากหลายของพืชและสัตว์นานาชนิด จัดเป็นระบบนิเวศแบบ ๓  น้ำ โดย ในฤดูฝนมีน้ำฝนลงมาผสมกับน้ำทะเลมาก น้ำจะจืด ช่วงปลายฤดูฝนย่างเข้าฤดูแล้งน้ำฝนน้อยลง น้ำจะกลายเป็นน้ำกร่อย และในฤดูแล้งที่ไม่มีน้ำฝนลงมาผสม น้ำจะเค็ม หมุนเวียนกันไปเป็นวงจร จึงเป็นแหล่งแพร่พันธุ์และอยู่อาศัยของสัตว์น้ำได้เป็นอย่างดี

 ป่าชายเลนลุ่มน้ำเวฬุ บริเวณรอยต่อของ อําเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี กับ อําเภอเขาสมิง จังหวัดตราดเป็นพื้นที่ป่าชายเลนซึ่งมีความหลากหลายและสมบูรณ์ทางนิเวศมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย โดยจากการสํารวจในพื้นที่ซึ่งมีอยู่ประมาณ ๑๒๐,๐๐๐ ไร่ในอดีต  พบว่ามีสัตว์น้ำมากกว่า ๓๐ ชนิด และนกอีกมากกว่า ๒๐๐ ชนิด ทว่าในช่วง ๓๐ ปีที่ผ่านมาถูกชาวบ้านบุกรุกพื้นที่เข้าไปทำมาหากิน เป็นเหตุให้ป่าชายเลนถูกทำลายไปกว่าร้อยละ ๙๐  สภาพป่าที่ทรุดโทรม ส่งผลให้พันธุ์สัตว์น้ำชายฝั่งลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านชนิดและจำนวน


กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ ๒ (ท่าสอน จันทบุรี) ได้ดำเนินฟื้นฟูป่าชายเลน ลุ่มน้ำเวฬุขึ้นมาใหม่ โดยยึดตามแนวพระราชดํารัสของพระบาทสมเด็จพระ เจ้าอยู่หัว ที่ทรงรับสั่งว่า “คนกับป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้ ในการฟื้นฟูป่านั้นต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม และให้เขาได้รับประโยชน์จากการสร้างป่านั้นด้วย”

ในปี พ.ศ.๒๕๔๗ จึงได้มีการก่อตั้งศูนย์เรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงนิเวศป่าชายเลนลุ่มน้ำเวฬุ ขึ้น   เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านนิเวศวิทยาป่าชายเลน สำหรับกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศ รวมทั้งเป็นสถานที่พบปะทํากิจกรรมร่วมกันของกลุ่มเยาวชนและประชาชน เพื่อปลูกจิตสํานึกด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนให้มีความอุดมสมบูรณ์  โดยให้คนในท้องที่มีส่วนร่วมอีกทั้งยังมีรายได้จากนักท่องเที่ยว  โดยที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากจังหวัดจันทบุรี ล่าสุดในปี ๒๕๕๘ นี้ ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ได้เข้ามาดำเนินการปลูกป่าชายเลนจำนวน ๑ พันไร่ เพื่อฟื้นฟูสภาพผืนป่าท่าสอนให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง


ภายในพื้นที่ศูนย์ฯ ได้มีการตัดถนนลาดยางผ่านเข้าไปในผืนป่า เพื่อให้สามารถเข้าไปศึกษาธรรมชาติกันได้อย่างใกล้ชิด โดยจัดสร้างห้องสำหรับบรรยายในอาคาร พร้อมทั้งเส้นทางเดินเท้าศึกษาธรรมชาติ เป็นสะพานคอนกรีตและสะพานไม้ ทอดผ่านเข้าไปในผืนป่าชายเลนท่ามกลางพันธุ์ไม้นานาชนิดที่เรียงราย เช่น โกงกาง แสม ลำพู บนระยะทาง ๑.๒ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ ๖๐ นาที

แต่ละจุดมีป้ายสื่อความหมายเกี่ยวกับธรรมชาติป่าชายเลนบอกเล่าข้อมูลพันธุ์ไม้ สัตว์ต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งนก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์น้ำ ที่อาศัยอยู่ในป่าชายเลน ไว้อย่างละเอียดพอสมควร ซึ่งถ้าโชคดีก็อาจจะได้พบเห็นตัวเป็น ๆ กัน ซึ่งที่ถือเป็นดาวเด่นของป่าท่าสอนแห่งนี้ก็คือ “เหยี่ยวแดง”  เนื่องจากพบเห็นได้ง่าย มักจะเห็นกางปีกถลาร่อนอยู่ไปมาอยู่มากมาย  บนผืนฟ้าสีครามเหนือป่าเขียวขจี

โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มิถุนายนของทุกปี บนถนนลาดยางสายหลักที่ทอดยาว ระยะทางประมาณ ๒ กิโลเมตร ในยามค่ำคืนยังสว่างไสวเรืองรองด้วยแสงของหิ่งห้อยกระพริบวิบวับอยู่สองฟากฝั่ง เป็นความงดงามมหัศจรรย์อันเป็นเอกลักษณ์ของผืนป่าชายเลนท่าสอนแห่งนี้ ที่หากมีโอกาสก็ไม่ควรพลาดที่จะมาชมเป็นบุญตาสักครั้งในชีวิต

สุดถนนที่ท่าน้ำยังมีร้านอาหารทะเลแพโชครุ่งรัตน์ให้บริการอาหารทะเลในราคาย่อมเยา และหากต้องการพักผ่อนแรมคืนแบบใกล้ชิดธรรมชาติ ทางศูนย์ฯ ก็มีเต็นท์ไว้บริการนักท่องเที่ยว พักได้ ๒-๕ คน ราคา ๑๒๐-๓๐๐ บาท ในกรณีที่นักท่องเที่ยวนำเต็นท์มาเอง เสียค่าธรรมเนียมพื้นที่กางเต็นท์ คนละ ๕๐ บาท
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลน ที่ ๒ (ท่าสอน จันทบุรี) โทรศัพท์ ๐ ๓๙๔๒ ๔๑๘๖, ๐๘ ๙๒๔๕ ๓๕๐๙