Sunday, December 22, 2019

อ.ส.ท. ยุคฉายหนังกลางแปลง




วิทยา ภูลสนอง...เรื่อง  อ.ส.ท. ภาพ

ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ "เรื่องราวเรื่องเล่า จากเล่มเก่าอ.ส.ท." 
อนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนสิงหาคม ๒๕๖๒

            หน่วยงาน อ.ส.ท. ก่อกำเนิดขึ้นช่วงที่ภัยคอมมิวนิสต์เริ่มก่อหวอดมีฐานที่มั่นอยู่ภาคอีสาน ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และเป็นผู้ก่อตั้ง อ.ส.ท. เล็งเห็นความจำเป็นของการเปิดแนวรุกภาคอีสานด้วยการท่องเที่ยว เพราะเชื่อว่าเมื่อคนเดินทางไปท่องเที่ยวมากขึ้น ผู้คนในท้องถิ่นแถบนั้นก็จะมีงานทำ มีรายได้มากขึ้น จะไม่หันไปหาอุดมการณ์แบบลัทธิคอมมิวนิสต์  ด้วยนโยบายดังกล่าว ทำให้การเดินทางไปอีสานแทบทุกครั้ง พนักงาน อ.ส.ท. ยุคแรก ๆ ซึ่งมีพลโทเฉลิมชัย จารุวัสตร์ เป็นผู้อำนวยการ จึงต้องนำอุปกรณ์ฉายหนัง เครื่องทำไฟ เครื่องบันทึกเสียง ฟิล์มภาพยนตร์ ๑๖ มิลลิเมตรที่ อ.ส.ท. จัดทำไว้ อย่างเช่น วัดพระแก้ว พระบรมมหาราชวัง ตลาดน้ำ และสถานที่น่าเที่ยวในจังหวัดต่าง ๆ ติดไปด้วยทุกครั้ง เพื่อนำไปฉายให้กับชาวบ้านในท้องถิ่นที่ทีมงานเดินทางไปเขียนเรื่องได้ชม  


          หากย้อนกลับไปเปิดดูอนุสาร อ.ส.ท. ยุคแรก ๆ จะพบว่ามีการบันทึกเรื่องราวการฉายหนังกลางแปลงสอดแทรกอยู่หลายครั้ง เช่น เมื่อครั้งเดินทางไปทำสารคดีชีวิตชาว “ภูไท” หรือ “ผู้ไทย” ใน ๓ จังหวัด คือ กาฬสินธุ์ สกลนคร และนครพนม ในเดือนเมษายน ๒๕o๕ เพื่อนำเรื่องราวของชาวผู้ไทยมาเผยแพร่ในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนมิถุนายน ๒๕oคุณคณิตา เลขะกุล (ซึ่งต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เป็นคุณหญิง) เล่าถึงการเดินทางครั้งนั้นไว้ในสารคดี “บนเส้นทางสู่......แผ่นดินภูไท” ว่าคณะเดินทางทั้งหมดมี ๑๑ คน  มีพันเอกสมชาย หิรัญกิจ (ภายหลังเป็นผู้ว่าการ ททท. คนแรก) เป็นหัวหน้าคณะ ช่างภาพคือคุณปราโมทย์ ทัศนาสุวรรณ และคุณสุธรรม ชมชื่น คุณคณิตา เลขะกุล เป็นผู้หญิงคนเดียวในคณะ  การเดินทางใช้รถแลนด์โรเวอร์สำหรับนั่งหนึ่งคัน และมีรถจี๊ปสำหรับใส่อุปกรณ์ต่าง ๆ อีกหนึ่งคัน หมู่บ้านเป้าหมายคือหมุ่บ้านที่มีชาวผู้ไทยอยู่กันอย่างหนาแน่นใน ๓ จังหวัดดังกล่าว คุณคณิตา เลขะกุล บันทีกการเดินทางครั้งนี้ไว้ว่า



 “๑๘ เมษายน ๒๕o๕ ประมาณ ๑๔ นาฬิกา ได้ออกเดินทางจากบ้านนายอำเภอกุฉินารายณ์ รถแล่นไปตามทางเกวียนเข้าสู่หมู่บ้านภูไท หมู่บ้านแรกที่เราจะพักเพื่อศึกษาและสำรวจคือหมู่บ้านกุดสินคุ้มใหม่และคุ้มเก่า.....เมื่อเข้าสู่ที่พักแล้ว พวกเราได้ช่วยกันทำงานทันที ยกสัมภาระเครื่องครัว เครื่องใช้ลงจากรถ ส่วนหนึ่งช่วยกันติดตั้งเครื่องฉายหนัง ลำโพงกระจายเสียง ติดตั้งเครื่องทำไฟ ฯลฯ แล้วประกาศให้พี่น้องบ้านคุ้มเก่าคุ้มใหม่มาชมภาพยนตร์ในคืนวันนั้น กว่าจะเสร็จก็กินเวลานาน อีกส่วนหนึ่งแยกไปเตรียมอาหารเย็น  คืนวันนั้นมีพี่น้องชาวภูไทคุ้มใหม่และคุ้มเก่ามาชมภาพยนตร์ที่เราฉายให้ดูอย่างคับคั่งนับจำนวนพัน ๆ คน มีทั้งเด็ก ผู้เฒ่า ผู้แก่ เห็นแล้วชื่นใจหายเหนื่อย มิเสียแรงบุกป่าฝ่าดงเข้ามา กว่าจะฉายภาพยนตร์เสร็จก็ย่างเข้าหนึ่งนาฬิกาของวันใหม่  ปฏิกิริยาของชาวบ้านเมื่อได้ชมภาพยนตร์นั้น คุณคณิตา เลขะกุล เล่าไว้ในบทความเรื่องเดียวกันว่า”การชมภาพยนตร์ของเขาก็น่าสนุก ถ้าชอบใจตอนไหนก็จะฮากันลั่น มีการเชียร์เสียงดังและตบมือ ฯลฯ” 


          คุณปราโมทย์ ทัศนาสุวรรณ ช่างภาพและนักเขียนที่ร่วมเดินทางไปในครั้งนี้ด้วย พร้อมทั้งช่วยทำหน้าที่ทุกอย่าง ตั้งแต่การติดตั้งจอหนัง เครื่องฉายหนัง เครื่องขยายเสียง จนถึงลงไปพากย์หนังด้วยตัวเอง ได้เล่าถึงจุดมุ่งหมายในการไปฉายหนังตามหมู่บ้านต่าง ๆ ไว้ในสารคดีเรื่อง “บนแผ่นดินถิ่นภูไท” ว่า “คืนนั้นบังเอิญฝนตกลงมาในตอนหัวค่ำ แต่พอฝนหายเราก็เริ่มฉายภาพยนตร์ทันที ชาวบ้านมาชมกันไม่น้อยเลย  ในการเดินทางของเราชาวคณะ อ.ส.ท. ในครั้งนี้นั้น นอกจากจะเสาะแสวงหาเรื่องราวอันน่าสนใจของชาวภูไทมาเผยแพร่แล้ว เรายังทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้เขาได้ทราบถึงการที่รัฐบาลกำลังวางแผนพัฒนาภาคอีสานเป็นการใหญ่ เป็นการบอกให้เขาทราบว่าเขาไม่ได้ถูกทอดทิ้งดังที่มีคำกล่าวให้ร้ายเลย เขาเป็นส่วนหนึ่งของชาติเป็นเจ้าของแผ่นดินไทยด้วยคนหนึ่ง  เราได้ประชาสัมพันธ์ให้ชาวภูไททราบว่าขณะนี้แผนพัฒนาภาคอีสานกำลังเริ่มขึ้นในยุคของรัฐบาลชุดนี้อย่างจริงจัง โดยเริ่มทำผังเมืองใหม่ที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อทำเป็นเมืองศูนย์กลางของภาคอีสาน ถนนหนทางก็กำลังลงมือก่อสร้างอย่างจริงจัง เร่งด่วน.อีกไม่นานในอนาคตอันใกล้นี้ ความเจริญก็จะแผ่มาถึงทุกหมู่บ้านไม่ว่าจะอยู่ห่างไกลเพียงไรก็ตาม”


หลังจากการเดินทางไปยังหมู่บ้านชาวผู้ไทยในจังหวัดกาฬสินธุ์ สกลนคร และนครพนม ในเดือนเมษายน ๒๕๐๕ แล้วอีกไม่กี่เดือนต่อมา พนักงานอนุสาร อ.ส.ท. ก็ได้รับคำสั่งให้เดินทางไปจังหวัดสุรินทร์เพื่อจัดทำอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับแนะนำจังหวัดสุรินทร์เพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในเดือนตุลาคม ๒๕๐๕ ซึ่งการเดินทางครั้งนั้นแม้จะเป็นการเดินทางด้วยรถไฟ คณะทำงานก็ยังได้รับมอบหมายให้นำอุปกรณ์ฉายภาพยนตร์ขึ้นรถไฟไปด้วย เพื่อนำไปฉายให้ชาวสุรินทร์ได้ชม  ในสารคดี “อนุทินการเดินทางสู่สุรินทร์” โดยคุณคณิตา เลขะกุล เล่าถึงการเดินทางไปเก็บข้อมูลพร้อมทั้งนำภาพยนตร์ไปฉายในครั้งนี้ว่า

“๕ กันยายน ๒๕๐๕ เวลา ๑๙.๓๐ ได้เริ่มฉายภาพยนตร์เรื่องนิ้วเพชร Thailand เยี่ยมถิ่นภูไท ถ้ำแก่งละว้า เวียงพิงค์ และช้างไทย ให้ทหารและครอบครัวในค่าย ผส.๓ พัน ๓ ชม ปรากฏว่าได้รับการต้อนรับอย่างเอิกเกริกที่สุด เพราะทหารที่ชมภาพยนตร์คืนนี้ส่วนมากเป็นทหารที่เพิ่งเกณฑ์ใหม่ยังไม่ถึงเดือน จึงยังไม่ได้รับการฝึกให้เก็บความรู้สึก เมื่อรู้สึกอย่างไรก็แสดงออกมาอย่างนั้น สรุปแล้วการฉายภาพยนตร์คืนนี้ได้รับผลดี เสียดายอย่างเดียวว่าเราเตรียมภาพยนตร์ไปฉายน้อยไปหน่อย.... 

๘ กันยายน ๒๕๐๕ ค่ำวันนี้ได้ฉายภาพยนตร์ให้พี่น้องชาวสุรินทร์ชมที่ศาลากลางจังหวัด ฝนตกตลอดเวลา ลมแรงจนจอล้มไปทีหนึ่ง แต่ก็ฉายจนจบทุกเรื่อง ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด ฯลฯ และครอบครัวได้มาชมอยู่ด้วย......

๙ กันยายน ๒๕๐๕ โปรแกรมวันนี้อยู่ที่ท่าตูม ราว ๆ สามโมงเช้าขนเครื่องมือทำมาหากินหลายชิ้น ชิ้นหนึ่งหนักหลายกิโล และต้องการความทะนุถนอมยิ่งกว่าผู้หญิง นี่เป็นการขนครั้งที่ ๒๓  น้ำลด.....ทางแห้งกว่าเมื่อวาน  แต่บ่อหลุม....คลื่น....บนถนนยังไม่ดีกว่า พอรถแล่น เจ้าก็เริ่มเข้าทรงทั่วถึงกันทุกคน สงสารเครื่องฉายหนัง เครื่องขยายเสียง เครื่องบันทึกเสียง ส่วนตัวเองนั้น.... ช่างมันเถอะ  ถึงท่าตูม....เตรียมการฉายหนังเสร็จก็เปิดเพลงโหมโรง  “สวัสดีบางกอก” เป็นเพลงแรกที่อัดเทปไป เสียงของอ้อย อัจฉรา กังวานออกไปจากลำโพง “อย่าไปเลยบางกอกจะบอกให้... “พวกเราหันมามองหน้ากัน เป็นอย่างนี้ทุกทีที่เปิด เพราะต่างรู้สึกชอบกล ๆ อยู่ในหัวใจ.....คนที่นั่นคั้นแต่ตัวหัวกะทิ หัวใจสิแสนบ้าใบหน้าใส....แต่ค่อยโล่งใจขึ้นมาได้เมื่อหม่อมถนัดศรีร้องแก้ด้วยเพลง อย่าเกลียดบางกอก.....หากเจ้าพบพี่ก่อนถูกหลอนใจ คงไม่ไปไกลบางกอกหรอกแม่คุณ.....


ชาวท่าตูมมาดูหนังของเรามากพอดู น้ำฝนที่ตกหนักลงมาเมื่อวันก่อนทำให้บริเวณนั้นเจิ่งนองอยู่ พื้นแห้ง ๆ ค่อนข้างจะจำกัดจำเขี่ย นักดูทรหด บางกลุ่มถกกางเกงขาก๊วยลงไปยืนแช่น้ำครึ่งน่อง ตั้งอกตั้งใจดูอย่างไม่อาทร  ชาวพื้นเมืองเก้าสิบห้าเปอร์เซ็นต์ไม่มีโอกาสได้เดินทางออกจากภูมิลำเนาไปไหน ภาพยนตร์ที่แสดงภูมิประเทศ ความเจริญของวัตถุ ความสวยงามของศิลปะ อย่างที่เราขนเอาไปฉายนั้นจึงได้รับความสนใจไม่ยิ่งหย่อนกว่าหนังคาวบอย นับว่าไม่น่าเสียดายงบประมาณจำกัดจำเขี่ยที่มอบให้คณะเราขนอุปกรณ์การฉายหนังกลางแปลง ทุลักทุเล ตระเวนไปอย่างนั้น”

ถึงวันนี้ไม่มีคอมมิวนิสต์ให้ต้องหวาดผวาอีกแล้ว อีกทั้งการคมนาคมก็สะดวกสบาย ชาวบ้านในถิ่นห่างไกล มีโอกาสได้ชมภาพยนตร์ผ่านจอโทรทัศน์กันอย่างแพร่หลาย นี่คือภารกิจหนึ่งของอนุสาร อ.ส.ท. ในอดีต ที่หลายคนอาจนึกไม่ถึง 



Friday, November 15, 2019

ท่องเวียงโบราณ ตามรอยตำนานรักพระลอ

 ทุ่งดอกปอเทืองเหลืองอร่ามกับวัดงามบนเส้นทาง


ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒ 

 พูดถึงความรัก ไม่ว่าใครก็มักจะนึกถึงภาคเหนือ

 ไม่แปลกใจเลยที่บรรดาคนทำหนังทั้งหลายมักเลือกเป็นโลเกชันมาถ่ายทำภาพยนตร์ไทยแนวรักโรแมนติกคิกขุอาโนเนะ ลองสังเกตดูสิครับว่าระยะหลังมานี่ล้วนแล้วแต่ไปถ่ายทำกันในภาคเหนือทั้งนั้น

ที่สำคัญก็คือทำแล้วดัง กวาดสตางค์กันจนกระเป๋าตุงทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนสนิท รักจัง กระทั่งเรื่องล่าสุด แฮปปี้เบิร์ธเดย์ ที่เพิ่งเข้าฉายส่งท้ายปีซึ่งได้ยินว่าถ่ายทำที่ปาย ไม่รู้ว่าเพราะเรื่องนี้หรือเปล่าทำเอาช่วงหยุดยาวปีใหม่ที่ผ่านมาคนแห่ขึ้นไปเที่ยวเมืองปายกันอย่างมโหฬารล้นหลาม กระทั่งน้ำมันหมดปั๊มไม่มีให้เติม  ต้องบันทึกเอาไว้เป็นประวัติศาสตร์ของการท่องเที่ยวกันเลยละครับ

 อาจจะเป็นเพราะภาคเหนือนั้นมีบรรยากาศที่เป็นใจ เชื่อได้เลยว่าไม่ว่าใครก็ตามที่มีโอกาสได้มาท่องเที่ยวภาคเหนือ ท่ามกลางทิวทัศน์สวย ท้องฟ้าสีครามใส สายลมหนาวที่โชยพัดเย็นสบายอย่างนี้ ต้องมีอย่างน้อยสักครั้งละครับ ที่แอบฝันไปว่าบนเส้นทางระหว่างเดินทางท่องเที่ยวจะได้พบพานเข้ากับความรักอันแสนหวาน ผ่านเข้ามาให้จดจำเป็นความประทับใจสักครั้งในชีวิต
 
 พระลอ พระเพื่อน และพระแพง ความตายเพื่อรักอันเป็นอมตะ

เปิดปูมตำนานรักอมตะ

            ก็เพราะความรักนี่แหละที่ชักนำผมมาอยู่บนเส้นทางแพร่-พะเยาในตอนนี้

            เปล่าครับ ไม่ใช่ความรักของผมเองหรอก เดี๋ยวจะนึกว่าผมแอบติดอกติดใจมาเทียวไล้เทียวขื่อสาวชาวล้านนาแถวนี้เข้าให้

ความรักที่ว่านี้เป็นเรื่องราวความรักระหว่างพระลอแห่งเมืองแมนสรวงกับพระเพื่อนพระแพงแห่งเมืองสรองที่กลายเป็นตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาในท้องถิ่นแดนดินล้านนาเนิ่นนานนับหลายร้อยปีต่างหากครับ

เรื่องราวนั้นจะว่าไปก็คล้าย ๆ เรื่องโรมิโอกับจูเลียตของฝรั่ง คือเป็นโศกนาฏกรรมรักระหว่างหนุ่มสาวจากสองราชวงศ์ที่เป็นศัตรูกัน โดยต้นเรื่องเกิดขึ้นจากสงครามระหว่างเมืองแมนสรวงกับเมืองสรอง โดยท้าวแมนสรวงเจ้าเมืองแมนสรวงได้ยกทัพเข้าโจมตีเมืองสรอง แม้ไม่สามารถยึดเมืองได้ แต่ก็ได้สังหารท้าวพิมพิสาคร เจ้าเมืองสรองในการรบ เป็นผลให้ทั้งสองเมืองต่างก็เป็นอริบาดหมางต่อกันนับแต่นั้นเป็นต้นมา

เมื่อเจ้าเมืองแมนสรวงเสด็จสวรรคต พระโอรสได้ขึ้นครองราชสมบัติแทนคือพระลอ ทรงเป็นเจ้าชายหนุ่มสง่างามเป็นที่เลื่องลือ ถึงขนาดมีผู้แต่งเป็นบทเพลงสรรเสริญขับขานขจรขจายไปทั่วทุกสารทิศ แม้แต่พระเพื่อน พระแพง พระราชธิดาทั้งสองของท้าวพิชัยพิษณุ เจ้าเมืองสรอง ซึ่งเป็นศัตรู เพียงได้ยินได้ฟังคำร่ำลือก็ยังหลงใหลจนตรอมใจไม่เป็นอันกินอันนอน เป็นเหตุให้พี่เลี้ยงทั้งสองของพระราชธิดา คือนางรื่น นางโรย ต้องช่วยเหลือด้วยวิธีให้กวีแต่งบทเพลงพรรณาความงามของพระเพื่อนพระแพง เรียกร้องความสนใจจากพระลอบ้าง พร้อมทั้งไปขอให้ปู่เจ้าสมิงพรายผู้วิเศษประจำเมือง ให้ช่วยทำเสน่ห์เรียกพระลอมาหาพระราชธิดาทั้งสอง แต่ทางเมืองแมนสรวงก็มีหมอสิทธิชัยมาแก้ไขได้  ท้ายสุดปู่เจ้าสมิงพรายจึงใช้กองทัพผีเข้าโจมตีเหล่าเทวดาที่คุ้มครองเมืองแมนสรวง พร้อมทั้งเสกสลาเหินมายังเชี่ยนหมากของพระลอ

เมื่อเสวยหมากเสกเข้าไป ด้วยอำนาจมนตราอันเปี่ยมฤทธานุภาพ พระลอจึงไม่สามารถทนทานอยู่ได้ ต้องเสด็จออกเดินทางจากเมืองแมนสรวงมาพร้อมกับนายแก้วนายขวัญ สองมหาดเล็กคู่พระทัย แม้ว่าพระมารดาและพระมเหสีจะพยายามทัดทานอย่างไรก็ไม่เป็นผล

 หนทางมายังเมืองสรองต้องข้ามแม่น้ำกาหลง พระลอทรงตั้งจิตอธิษฐานเสี่ยงทายในแม่น้ำ ปรากฏว่าสายน้ำเกิดเปลี่ยนสีเลือดเสมือนเป็นลางร้าย แต่กระนั้นพระลอยังทรงบากบั่นมุ่งหน้าต่อไปด้วยขัตติยะมานะและแรงแห่งเวทมนต์สะกด

เมื่อใกล้ถึงเมืองปู่เจ้าสมิงพรายเสกไก่แก้วมาชักนำพระลอเข้าไปจนกระทั่งถึงสวนขวัญ อุทยานหลวงในพระราชวังของเมืองสรอง  สองมหาดเล็กนายแก้วกับนายขวัญปลอมตัวเข้าไปสืบข่าวจนได้พบรักกับนางรื่นนางโรยพี่เลี้ยง  ก่อนจะช่วยกันลักลอบพาพระลอเข้าไปพบกับพระเพื่อน พระแพงจนได้ผูกสมัครรักใคร่มีความสัมพันธ์อันลึกซึ้งต่อกันภายในพระตำหนัก

 แต่ความลับไม่มีในโลก ครึ่งเดือนผ่านไป ความก็ทราบถึงท้าวพิชัยพิษณุกร และพระนางดาราวดี พระราชบิดาและพระราชมารดาของพระเพื่อนพระแพง เสด็จมาพบ แม้ในตอนแรกจะทรงกริ้วแต่เมื่อพระลอทูลขอพระราชทานอภัย ด้วยรูปโฉมงามสง่าของพระลอและชาติตระกูลที่คู่ควรกันกับพระธิดา ท้าวพิชัยพิษณุไม่เพียงพระราชทานอภัยโทษ ยังเตรียมหาฤกษ์อันเหมาะสมเพื่อจัดงานอภิเษกให้พระลอกับพระเพื่อนพระแพงอย่างสมพระเกียรติต่อไป

เรื่องราวคล้ายจะจบด้วยดี ทว่าเจ้าย่าซึ่งเป็นมเหสีของท้าวพิมพิสาคร เจ้าเมืององค์ก่อนซึ่งถูกพระราชบิดาของพระลอสังหารในการรบ  เมื่อทราบข่าวก็ไม่พอใจ เพราะยังมีความอาฆาต หลังจากทูลทัดทานท้าวพิชัยพิษณุกรไม่สำเร็จ จึงแอบอ้างพระบรมราชโองการสั่งระดมทหารเข้ามาล้อมสวนขวัญเพื่อจับพระลอฆ่าล้างแค้นให้ได้ พระเพื่อน พระแพงจึงปลอมองค์เป็นชาย พร้อมด้วยนายแก้วนายขวัญ นางรื่นนางโรย พากันจับดาบขึ้นต่อสู้ ตีฝ่าวงล้อมของทหารออกไป

 แต่น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ ไม่นานเหล่ามหาดเล็กและพี่เลี้ยงทั้งสี่ต่างก็ถูกลูกธนูล้มตายหมดสิ้น คงเหลือเพียงพระลอ และพระเพื่อนพระแพงที่สู้พลางหนีพลางไปจนมุมที่ประตูเมือง  กระนั้นต่างยังคงยืนหยัดเคียงบ่าเคียงไหล่สู้ยิบตา

กระทั่งวาระสุดท้ายที่ถูกลูกธนูอาบยาพิษซึ่งระดมยิงเข้ามาเป็นห่าฝนสิ้นพระชนม์ในลักษณะยืนพิงประตูเคียงข้างกันสามพระองค์

ท้าวพิชัยพิษณุทรงทราบข่าวก็พิโรธสั่งให้จับเจ้าย่าประหารชีวิต   พร้อมทั้งได้ส่งพระราชสาส์นแจ้งข่าวเรื่องพระลอไปยังเมืองแมนสรวง หลังจากจัดพิธีพระราชทานเพลิงศพอย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติแล้ว ก็โปรดฯ ให้สร้างสถูปเจดีย์บรรจุพระอัฐิของพระลอและพระเพื่อนพระแพงเอาไว้ด้วยกัน พร้อมทั้งสร้างเจดีย์บริวารที่บรรจุอัฐิของมหาดเล็กและพี่เลี้ยงไว้เคียงข้างอีกสององค์ 

โศกนาฏกรรมความรักเรื่องนี้เชื่อกันว่ามีเค้าโครงจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในดินแดนล้านนาช่วงประมาณปีพ.. ๑๑๑๖ -๑๖๙๓  เล่าขานสืบต่อกันมา ก่อนที่จะมีการนำเอามาแต่งเป็นวรรณคดีประเภทลิลิต มีความยาวถึง ๖๖๐ บท แต่ไม่ปรากฏชื่อเสียงเรียงนามว่าใครเป็นคนแต่ง ก็เลยมีการสันนิษฐานต่าง ๆ นา ๆ  ผู้สันทัดกรณีส่วนใหญ่คิดสอดคล้องไปในทางเดียวกันว่าเป็นวรรณคดีสมัยกรุงศรีอยุธยา 

ที่เห็นไม่ตรงกันอยู่บ้างก็คือช่วงเวลาที่แต่งขึ้นมาครับ

บ้างก็ว่าแต่งในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ พระเชษฐาธิราช (ระหว่างพ.. ๒๐๓๔- ๒๐๗๒)   บ้างก็ว่าน่าจะแต่งในสมัยพระชัยราชาธิราช (ระหว่าง พ.. ๒๐๗๗-๒๐๘๙)  บ้างก็ว่าแต่งในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ระหว่างพ.. ๒๑๙๙ ๒๒๓๑ ที่สันนิษฐานว่าแต่งขึ้นมาในสมัยรัตนโกสินทร์เรานี้เองก็ยังมี  ทว่าข้อหลังนี้ไม่ค่อยมีใครเห็นด้วยเท่าไหร่

แต่ที่แน่ ๆ ก็คือลิลิตพระลอได้รับยกย่องให้เป็นสุดยอดของบทประพันธ์ประเภทลิลิต เรียบร้อยโรงเรียนวรรณคดีสโมสรไปตั้งแต่เมื่อปี พ.. ๒๔๕๙ โน้นแล้วละครับ

 จะว่าไปคงไม่มีใครหรอกกระมัง ที่จะไม่รู้จักวรรณคดีเรื่องนี้ ยกเว้นก็เฉพาะคนไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะในหนังสือเรียนวิชาภาษาไทยมีบรรจุเอาไว้เป็นบทเรียน ต้องเรียนทุกคนอยู่แล้ว โดยเฉพาะบทที่ครูมักจะยกเป็นตัวอย่างของเสียงวรรณยุกต์ในการแต่งโคลงสุภาพบทที่ว่า เสียงลือเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่เอย...นั่นแหละ ผมเองยังจำได้ว่าตอนเรียนเรื่องนี้สนุกมากเพราะคุณครูเล่าเรื่องราวให้ฟังอย่างละเอียด หลากหลายรสชาติจริง ๆครับ มีทั้งรักหวานซึ้ง โศกเศร้าเคล้าน้ำตา ผีสางเทวดา เวทย์มนต์คาถาอาคม ต่อสู้บู๊สะบั้นหั่นแหลก ครบครัน

แต่ละคนที่ได้อ่านก็เลยจะชอบไม่เหมือนกัน ถามผมว่าชอบตรงไหนเป็นพิเศษ  ก็เห็นจะต้องตอบว่าชอบช่วงสงครามไสยศาสตร์ระหว่างกองทัพผีที่ปู่เจ้าสมิงพรายส่งมาโจมตีเมืองแมนสรวงกับเทวดาอารักษ์ผู้คุ้มครองเมืองแมนสรวงนั่นแหละครับ เพราะพรรณาได้เห็นภาพดุเดือดตื่นเต้นระทึกใจในแบบแฟนตาซี แต่ถ้าไปถามคุณอภินันท์ บัวหภักดี บรรณาธิการภาพของอนุสาร อ... แล้วละก็จะได้คำตอบว่าชอบตรงบทอัศจรรย์เป็นพิเศษ เพราะใช้คำตรงไปตรงมาเรียกว่าออกไปทางแนวอีโรติก เข้าขั้นเรตเอ็กซ์ เรตอาร์  ชนิดไม่มีกบว. มาเซ็นเซอร์ ว่างั้น

ถึงตรงนี้ก็เป็นความชอบส่วนตัวของใครของมันละครับ อยากรู้ว่ารายละเอียดบทไหนเป็นไงคงต้องลองไปหาอ่านกันเอาเอง

 เจดีย์วัดศรีปิงเมือง เวียงลอ

รอยอดีตกับปริศนาเมืองพระลอ

            ผมหยุดรถลงตรงลานกว้างหน้าโบราณสถานเวียงลอ ในเขตอำเภอจุน จังหวัดพะเยา

 ประติมากรรมฝีมือแบบช่างพื้นบ้านรูปพระลอยืนถือดาบสองมือยังคงตระหง่านเด่นอยู่บนฐานสูง สะท้อนความเชื่อของผู้คนในท้องถิ่นที่ว่าเมืองโบราณแห่งนี้แหละ คือเมืองแมนสรวงของพระลอ

 จำได้ว่าสมัยเด็ก ผมเคยใฝ่ฝันจะมาเที่ยวเวียงลอเป็นนักหนา เพราะอ่านอนุสาร อ...ในยุคนั้นที่ยังเป็นเล่มบาง ๆ เย็บลวดแบบมุงหลังคา แล้วเจอข้อความที่พรรณนาถึงทุ่งลอว่าเป็นเมืองโบราณอันอุดมด้วยซากวัดวาอารามกับชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายเก่า ๆ  กระจัดกระจายอยู่เต็มไปหมด ก็เลยอยากมาดูอยากมาเห็นกับตา ตามประสาคนชอบดูของเก่าโบร่ำโบราณ

 นานนับสิบปีเลยทีเดียวกว่าฝันจะเป็นจริง เพิ่งมีโอกาสได้มาเห็นเวียงลอกับตาก็ตอนทำสารคดีเรื่องเที่ยวเมืองพะเยาเมื่อหลายปีก่อนนี่เองครับ ครั้งนั้นมาถึงก็แอบผิดหวังนิดหน่อย เพราะร่องรอยวัดวาอารามรวมทั้งชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายที่ว่ามีอยู่มากมายเต็มทุ่งนั้นมองไม่เห็นเสียแล้ว รอบข้างกลายเป็นชุมชน มีบ้านเรือนผู้คนเรือกสวนไร่นาเต็มไปหมด โบราณสถานที่เห็นได้ชัดเจนก็มีแต่เจดีย์ใหญ่ในวัดศรีปิงเมืองอยู่องค์เดียว  

ทว่ามาคราวนี้ถือว่าโชคดี เพราะผมเองได้ข่าวว่ามีโครงการขุดแต่งโบราณสถานในเขตเวียงลอกันขึ้นมาใหม่ช่วงที่ผ่านมา ไม่รู้ว่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องที่แว่วว่าจะมีการเตรียมนำเสนอกลุ่มเมืองโบราณแหล่งวัฒนธรรมล้านนาเป็นมรดกโลกหรือเปล่า แต่ที่แน่ ๆ ก็คือบรรดาซากปรักหักพังของวัดอันคร่ำคร่าทั้งหลายในอาณาบริเวณของเวียงลอที่ว่ากันว่ามีไม่น้อยกว่า ๗๐ แห่ง เริ่มเผยโฉมออกมาปรากฏให้ผมได้เห็นหน้าค่าตาแล้วละครับ

 อาคารศูนย์ข้อมูลเวียงลอ



ที่น่าดีใจก็คือได้เห็นศูนย์ศึกษาข้อมูลเวียงลอเพิ่มขึ้นมา เป็นอาคารล้านนาประยุกต์ตั้งอยู่ในบริเวณวัดด้วย ลองเกร่เข้าไปดู เห็นประตูปิดล็อกกุญแจอยู่เงียบกริบ มากี่วันก็เห็นปิดตลอด ไม่รู้ว่าเคยเปิดให้ชมบ้างไหม  หวังว่าคงไม่ปิดถาวรเหมือนศูนย์ข้อมูลหลาย ๆแห่งที่เคยเจอนะ แต่คิดในแง่ดีบางทีศูนย์อาจจะยังไม่ได้เปิดให้บริการตอนนี้ก็ได้ คงรอให้ขุดแต่งวัดวาอารามต่าง ๆ ให้เรียบร้อยก่อน

จากหน้าโบราณสถานเวียงลอผมลองขับรถเข้าไปตามถนนสายเล็ก ๆ ที่ทอดตัวลดเลี้ยวผ่านเข้าไปในหมู่บ้าน แล้วก็ไม่ผิดหวังครับ เมื่อเห็นวัดกู่ศรีปิงเมืองโบราณสถานกับร่องรอยถูกขุดแต่งเมื่อไม่นาน เด่นอยู่กลางบ้านเรือนที่รายรอบด้วยฐานวิหารก่อด้วยอิฐ  แสดงว่าวัดวาอารามโบราณทั้งหลายที่ผมเคยได้ยินคำร่ำลือไม่ได้หายไปไหน จมอยู่ใต้ดินในหมู่บ้านนี้เอง แต่ก็มีบ้างบางแห่งที่ถูกแปรสภาพไปแล้ว อย่างมณฑปในสำนักสงฆ์หลักเมือง  แลดูน่าจะดัดแปลงมาจากซากโบราณสถานเดิมที่ไม่รู้ชัดว่าเป็นอะไร  มองเผิน ๆ ดูคลับคล้ายฐานเจดีย์อยู่ครามครัน

 ชิ้นส่วนพระพุทธรูปในบริเวณวัดมะม่วงแก้มแดง
 ฐานเจดีย์ใหญ่บริเวณกู่พระแก้ว

รถแล่นข้ามสะพานข้ามคลองคูเมือง ลอดแนวเงาไม้ร่มครึ้มก่อนโผล่ออกมาในท้องทุ่งเล็ก ๆ เขียวขจี ผมมองไปรอบ ๆ เห็นซากวัดร้างที่ถูกขุดแต่งเรียบร้อยแล้วเรียงรายอยู่หลายวัด พร้อมป้ายข้อมูลของกรมศิลปากรปักเอาไว้เสร็จสรรพ ฟากหนึ่งของถนนยังทำห้องน้ำแอบอยู่ใต้ร่มไม้เอาไว้ให้บริการด้วย

ลองเลี้ยวรถตามทางเข้าไปดู   วัดกู่พระแก้ว หลงเหลือฐานเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมแบบล้านนา พร้อมฐานวิหารขนาดใหญ่ ในขณะที่วัดมะม่วงแก้มแดง มีฐานวิหารขนาดย่อมลงมาหน่อย ภายในหลงเหลือชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายหลายองค์ หลายขนาด เรียงรายอยู่ตามแนวผนังวิหารที่หักพัง ท่ามกลางดอกหญ้าสีขาวล้อลมไสว มีท้องทุ่งเขียวและเทือกทิวเขาเป็นฉากหลัง แลดูคล้ายภาพเขียนสวยสบายตา มาสุดทางที่วัดพระเจ้าเข้ากาด ริมแม่น้ำที่บนถนนหน้าวัดมีข้าวเปลือกของชาวบ้านเอามากองแผ่ตากแดดเอาไว้เต็มไปหมด  ต้นไม้ใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขางอกงามอยู่บนฐานวิหารสูงซึ่งเหลือชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายตั้งอยู่องค์เดียว

 ลำน้ำที่ไหลผ่านกลางเมือง

           เวียงลอนั้นมีลักษณะเป็นเมืองอกแตกคือมีลำน้ำแม่อิงไหลผ่านกลางเมือง บริเวณที่ผมยืนอยู่นี้เป็นฝั่งแม่น้ำทางทิศใต้   มองไปฝั่งทิศเหนือของแม่น้ำมีวัดร้างอีกหลายแห่งเป็นแถวเป็นแนวอยู่ ดูน่าสนใจ เหลียวซ้ายแลขวาไม่เห็นหนทางใดจะข้ามฟากไปได้ ผมเลยต้องย้อนกลับออกมาถามหาทางข้ามจากชาวบ้าน

ใกล้ ๆ นี่มีสะพานข้ามฝาย แต่รถยนต์ไปไม่ได้นะ มันแคบ ข้ามได้แต่รถมอเตอร์ไซค์ หรือไม่งั้นก็ต้องเดินข้าม  อยู่ตรงโรงเรียนโน้นแน่ะ คุณป้าชาวชมรมผู้สูงอายุที่มาตั้งแผงลอยขายเครื่องดื่มและขนมขบเคี้ยวอยู่หน้าโบราณสถานเวียงลอบอกกับผมพลางชี้ไม้ชี้มือ

 ขับรถไปตามทางที่คุณป้าบอก พักเดียวก็เห็นป้ายบอกทางเข้าไปยังโรงเรียนบ้านเวียงลอ    เลี้ยวไปตามทาง  ฝายกั้นแม่น้ำมองเห็นโดดเด่นตัดกับผืนฟ้าสีครามแต่ไกลทางซ้ายมือ บนฝายมีสะพานเหล็กแคบ ๆ อย่างที่ว่าเอาไว้  คะเนดูระยะทางจากฝายไปยังบริเวณวัดที่เห็นอยู่อีกฝั่งเมื่อกี้ ถือว่าไกลพอสมควรครับสำหรับการเดินไป แถมวัดแต่ละแห่งก็อยู่ห่างกันไม่น้อย

โชคยังดีที่ผมพกพาเอาจักรยานพับคันเก่งใส่รถมาด้วย 

จัดแจงจอดรถแอบเอาไว้ ก่อนจะยกเจ้าสองล้อพับคันเล็กออกจากหลังรถมากาง ปั่นฉิวข้ามสะพานเหล็กข้ามฝายมายังฝั่งเหนือของแม่น้ำ ดูเหมือนจะเป็นพื้นที่เกษตรกรรมเพราะเห็นไร่ข้าวโพด ข้าวฟ่าง แปลงผักของชาวบ้านเรียงรายเป็นระยะ โลดลิ่วโต้ลมเย็นด้วยสองแรงขาเลาะไปตามทางดินลูกรังสีแดงขนานลำน้ำใหญ่ ชั่วไม่กี่อึดใจก็ถึงกลุ่มโบราณสถานฝั่งเหนือของแม่น้ำ

 ฐานวิหารขนาดใหญ่ของวัดสารภี
 ซากปรักหักพังของวัดกู่เกือกม้า

วัดสารภี เป็นวัดแรกที่เห็นอยู่ขวามือ ขุดแต่งทางโบราณคดีเรี่ยมเร้เรไรแล้ว บนฐานวิหารก่ออิฐขนาดใหญ่เห็นมีชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายอยู่มุมหนึ่ง  ปั่นเลยลึกเข้าไปกลางทุ่งเขียวด้วยต้นข้าว ข้างเถียงนาหลังน้อยใต้ร่มไม้เป็นวัดกู่เกือกม้า ร่องรอยเหมือนเพิ่งจะขุดผิวดินที่ปกคลุมโบราณสถานออกมา  เจดีย์และวิหารอิฐขนาดเล็กที่หักพังทับถมกันอยู่ ยังไม่ได้แต่งเติมเสริมก่อ เวิ้งว้างอยู่กลางทุ่งนาได้อารมณ์ไปอีกแบบ

 จักรยานพับคันเก่งในบริเวณวัดศรีชุม

ปั่นจักรยานตามแนวคันนาเข้ามาถึงวัดศรีชุมซึ่งตั้งอยู่ลึกชิดติดแนวชายป่าละเมาะ ถือเป็นวัดใหญ่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดของเวียงลอฝั่งเหนือครับ  ภายในอาณาบริเวณหลงเหลือซากอยู่ค่อนข้างครบถ้วน เข็นจักรยานผ่านแนวกำแพงและซุ้มประตูปรักหักพังเข้าไปพบกับซากเจดีย์เหลี่ยม ฐานวิหารก่ออิฐขนาดมหึมา ด้านบนประดิษฐานพระพุทธรูปหินทรายสร้างใหม่โดยผู้มีจิตศรัทธา เดินเตร็ดเตร่รอบ ๆ ได้บรรยากาศเหมือนค้นพบวัดโบราณร้างกลางป่า น่าตื่นเต้นยังไงก็บอกไม่ถูก 

ในสายตาของหลายคนเวียงลออาจจะเป็นโบราณสถานที่ไม่น่าสนใจเท่าไหร่ เพราะไม่ใหญ่ ไม่แปลก แต่สำหรับผมแล้ว บอกได้เลยครับว่า ประทับใจกับความมีชีวิตชีวาของโบราณสถานที่อยู่ท่ามกลางแปลงผัก ท้องไร่ท้องนา ของเวียงลอเอามาก ๆ คิดดูสิครับ ขี่จักรยานเที่ยวไปก็ได้เห็นทั้งวัดวาอารามโบราณ กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชนท้องถิ่นพร้อมกันไป   

น่าเสียดายที่การผจญภัยในเวียงเก่าด้วยจักรยานของผมต้องยุติลงกลางคันเพราะเวลาไม่เป็นใจ เพลิดเพลินอยู่ได้ไม่นาน ดวงตะวันก็ทิ้งตัวลงไปในกลับเมฆ ทำให้ผมต้องตัดใจปั่นสองล้อคู่ชีพกลับออกมา อยู่ในวัดร้างตอนมืด ๆ คงไม่ค่อยเข้าท่าเท่าไหร่  ไม่ได้กลัวอะไรหรอกครับ เดี๋ยวจะปั่นกลับออกมาตกหลุมตกร่อง ตีลังกาแข้งขาหักเพราะมองไม่เห็นทางน่ะ เอาไว้พรุ่งนี้ค่อยมาใหม่ก็ยังได้


แต่แล้วก็เหมือนฟ้ากลั่นแกล้งครับ รุ่งขึ้นฝนตกลงมาซะงั้น ทั้งที่เป็นหน้าหนาวแท้ ๆ  รายการปั่นจักรยานชมเมืองเก่าของผมที่กำลังสนุกจึงเป็นอันต้องยกเลิก  ยังดีที่ไถ่ถามหาทางเข้าเวียงลอฝั่งเหนือทางถนนมาได้ ชาวบ้านชี้บอกให้ขับรถตามทาง อ้อมไปทางบ้านพวงพยอมพัฒนา มาเลี้ยวเข้าเวียงลอตรงปากทางที่มีจุดสังเกตคือป้ายชื่อวัดธาตุคีรีศรีเวียงลอ 


เป็นอันว่าต้องเปลี่ยนมาขับรถชมแทนครับ แต่ฝนก็ไม่ได้ตกกระหน่ำโหดร้ายจนเกินไป แค่โปรยปรายลงมาเป็นละออง รถคันเก่งพาผมย่องช้า ๆ ผ่านเจดีย์องค์ใหญ่ของวัดหนองห้าตรงปากทางย้อนเข้าไปตามทางลูกรัง

เริ่มต้นที่วัดหนองผำ อันอยู่ถัดจากวัดศรีชุมซึ่งเป็นจุดสุดท้ายที่ผมไปแวะเมื่อวาน ในบริเวณเป็นซากวิหารก่ออิฐ ตัววัดอยู่ชิดติดกับบึงเล็ก ๆ ซึ่งต้นไม้ดำทะมึนแผ่กิ่งก้านสาขา ยามครึ้มฟ้าครึ้มฝนอย่างนี้ยิ่งดูเหมือนเดินอยู่ในดินแดนประหลาดต่างมิติ ไม่ไกลจากกันเท่าใดเป็นวัดกู่บวกกู่ ชื่อแปลกดี ในวัดมีซากวิหารเล็ก ๆ พังทลายรวมกันเป็นกองอิฐอยู่ เห็นอย่างนี้ไม่แน่เหมือนกันว่าขุดแต่งแล้วอาจจะเจออะไรน่าสนใจก็ได้

 ซากพระพุทธรูปในอาณาเขตวัดเวียงป่าสัก

 เมฆหมอกสีขาวคลี่เข้าห่มคลุมทิวเขาสูงเบื้องหลังเมื่อผมลงจากรถเดินเข้าไปในวัดเวียงป่าสัก ที่ซ่อนตัวอยู่หลังแนวไร่ข้าวฟ่างสูงท่วมหัวเพิ่มความลึกลับน่าสนใจ ลุยเข้าไปก็ต้องตะลึงเพราะพบกับฐานวิหารก่ออิฐสูงเด่นอยู่ท่ามกลางดอกหญ้าขาวสะพรั่งบานเต็มลาน เมื่อรวมกับทิวเขาที่เป็นฉากหลังดูเหมือนกับเป็นภาพความฝันอันละมุนละไมของเมืองโบราณกลางม่านหมอก  ชวนให้จินตนาการล่องลอยไปแสนไกล กับเรื่องราวความรักที่ไม่มีวันตายของพระลอและพระเพื่อนพระแพง

ความจริงแล้วผมน่าจะ “อิน” ในบรรยากาศได้มากกว่านี้ครับ ถ้าไม่สะดุดอยู่ในใจ เรื่องที่เคยมีผู้สันทัดกรณีหลายท่านคัดค้านว่าเวียงลอไม่น่าจะใช่เมืองแมนสรวงของพระลอ ด้วยเหตุผลที่ว่าในลิลิตพระลอระบุไว้ชัดเจนถึงที่ตั้งของเมืองแมนสรวงว่าอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองสรอง ในขณะที่เวียงลอนั้นอยู่ทางเหนือขึ้นไป แถมในลิลิตยังกล่าวถึงการเดินทางของพระลอไปเมืองสรองว่าต้องข้ามแม่น้ำกาหลง แต่เส้นทางจากเวียงลอไปเวียงสรองไม่ต้องข้ามแม่น้ำกาหลงตรงไหนเลย

อ้าว…แล้วเมืองแมนสรวงของพระลอที่แท้อยู่ที่ไหน

            เมืองโบราณที่ผู้รู้หลายท่านได้สันนิษฐานเอาไว้ว่าน่าจะมีโอกาสเป็นเมืองแมนสรวงของพระลอได้แห่งแรกก็คือ เวียงกาหลง ในอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง เพราะว่าที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกของเวียงสรอง และชื่อเวียงกาหลงก็มาจากอยู่ใกล้กับแม่น้ำกาหลง ตรงตามเรื่องในลิลิตพอดี

 บรรยากาศลึกลับในวัดหนองผำ

            อีกเมืองที่ผู้เชี่ยวชาญท่านเสนอว่าเมืองที่น่าจะเป็นเมืองแมนสรวงได้ก็คือ เมืองโบราณในเขตอำเภอแม่สรวย โดยตั้งข้อสังเกตว่าชื่อแม่สรวยอาจจะเพี้ยนมาจากคำว่า แมนสรวงก็เป็นได้  ฟังดูก็คลับคล้ายคลับคลาเข้าท่าดีเหมือนกัน

            แต่ทั้งหมดทั้งมวลนั้นก็ยังหาหลักฐานเป็นชิ้นเป็นอันมายืนยันไม่ได้ครับ

 มาถึงวันนี้ก็เลยยังไม่มีข้อสรุปว่าเมืองแมนสรวงของพระลอที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ไหน คงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของบรรดานักวิชาการทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นนักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี นักวรรณกรรม ฯลฯ ที่เกี่ยวข้อง เขาค้นหาหลักฐานมาพิสูจน์ความจริงกันต่อไป

 เถียงกันโดยไม่มีหลักฐานสนับสนุนมันไม่ได้อะไรหรอกครับ เผลอ ๆ จากที่เถียงกันว่าเมืองแมนสรวงอยู่ไหน กลายเป็นเถียงกันว่าตำนานพระลอกับพระเพื่อนพระแพงเป็นเรื่องจริงหรือไม่ใช่ไปโน่นเลยก็มี หนักเข้าไปอีก  

 ศาลาหลังเล็กสำหรับพักหลบแดดหลบฝน

พวกเราเป็นนักท่องเที่ยวมีหน้าที่เดินทางอย่างสนุกสนานเท่านั้นก็พอครับ เวียงลอจะใช่เมืองแมนสรวงหรือเปล่าคงไม่สำคัญ  ที่แน่ ๆ ภาพของเวียงลอที่เห็นน่ะเป็นเมืองในรุ่นราวคราวเดียวกันกับเมืองแมนสรวงอย่างแน่นอน แค่นั้นก็เกินพอแล้วละครับสำหรับที่จะเป็นข้อมูลช่วยเสริมให้จินตนาการภาพเมืองของพระลอและเรื่องราวในวรรณคดีชัดเจนยิ่งขี้น เพิ่มรสชาติสีสันการเดินทางให้น่าสนใจ

อย่างน้อยก็สนุกกว่าแค่ขับรถไปดูเฉย ๆ โดยไม่รู้ ไม่คิด ไม่รู้สึกอะไรเลย เป็นไหน ๆ แหละน่า

 อาณาบริเวณอันกว้างขวางของอุทยานลิลิตพระลอ อำเภอสอง

เวียงสรอง ถิ่นฐานตำนานรัก

ในขณะที่เมืองแมนสรวงของพระลออยู่ที่ไหน จะใช่เวียงลอหรือไม่ ยังไม่ค่อยแน่ใจกันนัก ทว่าเมืองสรองอันเป็นสถานที่เกิดเหตุการณ์ตำนานรักอันสะเทือนใจนั้น แทบไม่ต้องมีอะไรสงสัยครับ เพราะถึงแม้เวลาผ่านไปหลายร้อยปี ชื่อของเมืองสรองถือว่าเกือบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไป นอกจากอักษร “ร” เรือ ตกหล่นหายไปกับกาลเวลาแค่เพียงตัวเดียว

ใช่แล้วครับ เวียงสรอง ในตำนาน ปัจจุบันนั้นอยู่ที่อำเภอสองในเขตจังหวัดแพร่นั่นเอง

 ก่อนออกรถเดินทางจากเวียงลอไปยังจุดหมาย ผมลองดูระยะทางจากหน้าจอเครื่องนำทางด้วยดาวเทียมหรือจีพีเอส เวียงลออยู่ห่างจากเมืองสรอง ๑๔๙ กิโลเมตร แต่ถ้าวัดตามระยะทางถนนจะอยู่ห่าง ๑๙๐ กิโลเมตร

แน่ะ เห็นไหมครับ ถ้าเที่ยวไปโดยมีหัวข้อเป็นประเด็นเรื่องราว เราก็จะมีรายละเอียดอะไรต่อมิอะไรให้เราสนุกกับการเดินทางได้ตลอดเวลา รู้อย่างนี้แล้วก็ต้องจินตนาการเห็นภาพว่าพระลอต้องบุกป่าฝ่าเขาลำเนาไพรไกลแค่ไหน เปรียบเทียบกับการเดินทางด้วยพาหนะสมัยใหม่ของเรา แม้ถนนจะพาลดเลี้ยวอ้อมภูเขาไกลกว่า แต่ใช้เวลาอย่างมากแค่ชั่วโมงสองชั่วโมงเท่านั้น ส่วนพระลอ อย่างน้อยก็ต้อง ๑๐ วันขึ้นไป คำนวณจากการสมมุติว่านั่งช้างมานะครับนั่น ถ้าเดินเท้ายิ่งนานเข้าไปใหญ่ นี่แหละพลานุภาพแห่งความรัก ชักนำคนให้ดั้นด้นข้ามเขาเป็นลูก ๆ มาได้

และอาจจะเพราะด้วยความที่คนส่วนใหญ่ค่อนข้างจะแน่ใจว่าเมืองสรองในตำนานคืออำเภอสองในปัจจุบันนี่แหละ ทำให้มีการก่อสร้างอะไรต่อมิอะไรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวในวรรณคดีเป็นที่ระลึกถึงความรักอมตะของพระลอกับพระเพื่อนพระแพงอยู่ทั่วไป

 ประติมากรรมชิ้นงาม พระลอและพระเพื่อนพระแพง

 ใหมเอี่ยมล่าสุดก็คือ อุทยานลิลิตพระลอ ที่ผมกำลังมุ่งหน้าไปนี่แหละครับ ว่ากันว่าสร้างขึ้นในเขตเมืองสรองโบราณกันเลย ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.. ๒๕๔๙ เพิ่งผ่านมาได้ปีกว่า ๆ เท่านั้น

เลี้ยวรถเข้ามาในบริเวณก็เห็น ประติมากรรมพระลอและพระเพื่อนพระแพงสามองค์ประทับยืนอิงพิงกันโดดเด่นแต่ไกล จำได้ว่าเป็นข่าวฮือฮากันอยู่ช่วงหนึ่ง เนื่องจากนักวิชาการทักท้วงกันว่าสร้างผิดไปจากเนื้อหาในวรรณคดี เพราะตามท้องเรื่องพระเพื่อนพระแพงนั้นทรงปลอมเป็นชายจับอาวุธออกต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับพระลอ ตีฝ่าทหารที่มาล้อมตำหนักออกไป แต่รูปประติมากรรมพระเพื่อนพระแพงกลับแต่งองค์ในแบบสตรีล้านนา ไม่ได้แต่งเป็นชาย เท่าที่ผมมองดู ถ้าไม่คิดมากเรื่องรายละเอียดเครื่องแต่งกาย ก็นับว่าฝีมือการสร้างนั้นได้สัดส่วนสวยงามดี

บนพื้นที่ทั้งหมด ๓๓ ไร่ เห็นเขาว่ามีโครงการจะปรับภูมิทัศน์ ทำเป็นอุทยานและมีการสร้างจุดสนใจต่าง ๆ ตามเหตุการณ์สำคัญในวรรณคดีลิลิตพระลอรวม ๑๓ แห่ง เอาไว้ตามจุดต่าง ๆ ท่ามกลางไม้ดอกไม้ประดับนานาพรรณ แต่ตอนนี้เพิ่งเริ่มสร้างไปได้แค่ ๑๕ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

 อาคารที่ทำการอุทยานลิลิตพระลอ

นอกจากอนุสาวรีย์ที่เห็น ก็มีอาคารชั้นเดียวแบบล้านนาประยุกต์ใช้เป็นที่ทำการประชาสัมพันธ์อุทยานลิลิตพระลอ ลองเดินเข้าไปข้างใน เห็นจัดแสดงนิทรรศการภาพวาดที่ชนะประกวดในหัวข้อลิลิตพระลอ มีทั้งฝีมือเด็กและผู้ใหญ่ แต่ละคนวาดกันสวย ๆ ทั้งนั้น ดูแล้วภาพพระลอ กับพระเพื่อนพระแพงมีหลายเวอร์ชั่น ตั้งแต่ในแบบจิตรกรรมไทยประเพณี แบบภาพเหมือน แบบการ์ตูนวอลท์ ดิสนีย์ แบบการ์ตูนญี่ปุ่นก็ยังมี ดูเล่น ๆ ก็เพลินดีเหมือนกัน

มุมหนึ่งเป็นตู้กระจกจัดแสดงโบราณวัตถุที่พบภายในบริเวณอุทยานฯ เท่าที่เห็นก็เป็นข้าวของเครื่องใช้ของคนในสมัยก่อน จำพวกเศษชิ้นส่วนเครื่องเคลือบดินเผา ที่มีมากคือกล้องยาสูบดินเผา แสดงให้เห็นว่าแถบเมืองแพร่นี้คงทำอาชีพเกี่ยวข้องกับยาสูบมาแต่โบราณ  กระทั่งทุกวันนี้บนเส้นทางที่ผมขับรถผ่านยังเห็นมีโรงบ่มใบยาสูบเก่าร้างอยู่หลายแห่ง

 เจ้าหน้าที่ของศูนย์ ฯ เป็นวัยรุ่นสาวสวย ตากลมโตด้วยคอนแท็กเลนส์ บิ๊กอายส์ รุ่นใหม่ทันสมัยเปี๊ยบเข้ามาทักทาย พอเห็นผมสนใจของในตู้ ก็ชักชวนพาเดินออกไปด้านนอก ไปดูแถวประตูเมืองรึยังคะ พวกแบบนี้ยังมีอยู่อีกเยอะเลยค่ะ เดี๋ยวจะพาไปดู

สองคนพากันเดินผ่านแนวไม้ ย่ำไปบนใบไม้แห้งที่ร่วงหล่นปกคลุมอยู่ มัคคุเทศก์สาวชี้ให้ผมดูตามพื้นดินที่เศษกระเบื้องแตก อิฐหัก กระจัดกระจายเกลื่อนกล่นบนผิวดิน  นี่ถ้าขุดค้นทางโบราณคดีคงจะได้ข้อมูลที่น่าสนใจไม่น้อย  ลดเลี้ยวผ่านแนวไม้พักเดียวก็ถึงเนินดินสูงริมแม่น้ำ มองไปฝั่งตรงข้ามเป็นท้องทุ่งกว้างเห็นชาวบ้านกำลังทำนากันอยู่ขะมักเขม้น

แม่น้ำที่เห็นคือแม่น้ำกาหลงค่ะ บนนี้เป็นแนวกำแพงเมือง ตรงที่เรายืนอยู่คือประตูเมืองที่พระลอและพระเพื่อนพระแพงหนีทหารที่ล้อมจับมาจนมุมตรงนี้ ก่อนจะถูกยิงด้วยลูกศรยืนสิ้นพระชนม์พิงประตูทั้งสามองค์  ผมฟังแล้วก็จินตนาการเห็นภาพตาม เรื่อยเปื่อยต่อไปถึงขนาดว่าตรงไหนหนอที่เป็นสวนขวัญ ทางไหนกันนะที่พระลอแอบเข้ามา  แล้วตำหนักของพระเพื่อนพระแพงล่ะอยู่ตรงไหน เสียดายตรงที่ยังไม่มีการขุดค้นทางโบราณคดีในบริเวณที่เป็นเวียงสรองนี่เป็นเรื่องเป็นราว ถ้าได้เห็นร่องรอยหลักฐานจะยิ่งช่วยให้จินตนาการเห็นภาพได้ชัดเจนเป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้นอีกเยอะครับ

เดี๋ยวจะพาไปดูศาลปู่เจ้า ฯ นะคะ เสียงหวาน ๆ  ดึงผมกลับมาจากห้วงจินตนาการอันบรรเจิด


ระหว่างเดินตามมัคคุเทศก์ลัดตัดทุ่งไป ผมสงสัยขึ้นมาอีกเมื่อเห็นว่ามีพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ครึ่งองค์ประดิษฐานอยู่กลางลาน สอบถามได้ความว่า เมื่อก่อนพื้นที่ตรงนี้เคยใช้เป็นค่ายลูกเสือ สำหรับกิจกรรมออกค่ายพักแรมกัน



ศาลไม้ชั้นเดียวเล็ก ๆ สร้างแบบง่าย ๆ ตั้งอยู่บนแนวกำแพงดินที่ปรากฏตรงหน้าคือ ศาลปู่เจ้าสมิงพราย ดูแล้วคงไม่ใช่ตำแหน่งที่ปู่เจ้าอยู่จริง ๆ ในวรรณคดีหรอกครับ ในศาลมีพวงมาลัยดอกไม้ธูปเทียนปักอยู่เต็ม

ใครที่ยังไม่มีคู่ มาอธิษฐานขอจากปู่เจ้าสมิงพรายก็จะได้มีคู่ ท่านศักดิ์สิทธิ์นะคะ ขอได้กันไปหลายคนแล้ว มัคคุเทศก์สาวยืนยันอย่างมั่นใจ ไม่รู้เหมือนกันว่าในบรรดาคนที่ขอได้มีน้องเขารวมอยู่ด้วยหรือเปล่า(ไม่กล้าถามครับ เกรงใจ)

แว่ว ๆ มาว่าปีนี้จะมีการสร้างถ้ำปู่เจ้าสมิงพรายขึ้นในบริเวณอุทยานลิลิตพระลอนี่แหละครับ งบประมาณถึง ๑๕ ล้านบาท เฉพาะถ้ำอย่างเดียวนะ ท่าทางจะอลังการงานสร้างไม่เบา แต่ความจริงน่าจะลองขุดค้นทางโบราณคดีกันดูก่อนมากกว่า เดี๋ยวสร้างแล้วเกิดเจออะไรสำคัญขึ้นมาต้องรื้อทิ้งก็น่าเสียดายงบประมาณ
 
เดี๋ยวออกไปอย่าลืมขึ้นไปตรงเนินโน้นด้วยนะคะ เป็นจุดชมวิวค่ะ  มองเห็นแนวกำแพงโบราณทั้งสามชั้นได้ชัด แต่กำแพงไม่ได้เป็นกำแพงอิฐนะเป็นกำแพงดิน เพราะเป็นเมืองโบราณ คุณน้องประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลจนนาทีสุดท้าย ก่อนที่ผมจะอำลาออกจากอุทยานฯ  

 วัดพระธาตุพระลอ

ขับรถเลยเข้ามาอีกหน่อยก็ถึง วัดพระธาตุพระลอ  

เจดีย์ขนาดไม่ใหญ่ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสถานที่บรรจุอัฐิของพระลอและพระเพื่อนพระแพงตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่  โดยมีประติมากรรมพระลอและพระเพื่อนพระแพงถูกลูกศรปักยืนอิงพิงกันสิ้นพระชนม์ทาสีทองอร่าม ตั้งเด่นอยู่ด้านหน้า ฝีมือการปั้นเป็นแบบช่างพื้นบ้านไม่อลังการงานสร้างเท่าที่อุทยานลิลิตพระลอที่ผ่านมา แต่ก็สวยไปอีกแบบ
   
 ภาพแกะสลักไม้บนบานหน้าต่างวิหาร

บานหน้าต่างไม้ของวิหารแกะสลักเป็นรูปเรื่องราวในวรรณคดีพระลอตั้งแต่ต้นจนจบ ฝีมือแบบพื้นบ้านแต่เดินดูเล่น ๆ ก็สนุกสนานดีไม่น้อย โดยเฉพาะต้องพยายามตีความภาพที่เห็นว่าเป็นเรื่องราวตอนไหน เพลิดเพลินจนลืมเวลาไปเหมือนกัน
 คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่อันงดงามด้วยลวดลายฉลุไม้

ตะลอนรอบเวียงเมืองแพร่

            หลังจากตามรอยตำนานรักพระลอจนเป็นที่พอใจแล้ว ผมก็ถือโอกาสเลียบ ๆ เคียง  ๆ เที่ยวเวียงแพร่เสียด้วยเลย เพราะเท่าที่ผ่านมาถึงผมเองจะเคยแวะเวียนมาเมืองแพร่บ้างแต่ก็ไม่เคยเที่ยวชมอย่างเป็นจริงเป็นจังนัก มาคราวนี้มีโอกาสก็ต้องขอลองสัมผัสให้ใกล้ชิดหน่อย

            จักรยานพับที่ติดรถมาด้วยมีประโยชน์อีกแล้วครับ

            เมืองแพร่เป็นอีกเมืองหนึ่งที่น่าขี่จักรยานเที่ยวเป็นที่สุด โดยเฉพาะในยามเช้า อากาศเย็นสบาย ถนนหนทางไม่ค่อยพลุกพล่านด้วยยวดยาน  นอกจากนั้นบนเส้นทางยังมีสถานที่น่าสนใจหลายแห่งให้แวะเที่ยวชมได้ ไม่ว่าจะเป็นวัดวาอารามสำคัญหลายแห่งที่เรียงรายตามตรอกซอกซอยเต็มไปหมด 

 วัดพระบาทมิ่งเมือง

 วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร ที่ตั้งของเจดีย์มิ่งเมืองอันเก่าแก่ และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธโกศัยศิริชัยศากยมุนีประจำเมืองแพร่ วัดหลวงคู่บ้านคู่เมืองอันเป็นที่ตั้งของวิหารหลวงเก่าแก่ซึ่งสร้างพร้อมเมืองแพร่ และพระธาตุหลวงไชยช้างค้ำประดิษฐานพระธาตุจากเมืองหงสาวดี วัดสระบ่อแก้วและวัดจอมสวรรค์ ที่โดดเด่นด้วยศิลปสถาปัตยกรรมแบบพม่า 

นอกจากนั้นยังมีที่สำคัญอื่นเช่น ศาลหลักเมือง ที่มีจารึกเก่าสมัยพ่อขุนรามคำแหงพิพิธภัณฑ์บ้านวงศ์บุรี  บ้านไม้สักสองชั้นแบบยุโรปประยุกต์   พิพิธภัณฑ์คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่   อาคารไม้ฉลุลวดลายงดงามละออตาทั้งหลัง เดี๋ยวนี้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมได้ 

ผมใช้วิธีออกจากโรงแรมแต่เช้า ปั่นจักรยานเที่ยวในอาณาบริเวณรอบเขตเมืองเก่า ชมสถานที่สำคัญในเมืองจนพอใจ หาอะไรอร่อย ๆ ในตลาด กินเป็นมื้อเช้า  ก่อนกลับเข้าโรงแรม สาย ๆ ค่อยขับรถออกไปนอกเมือง

            แหล่งท่องเที่ยวนอกเมืองโดยรอบก็ไม่ไกลจนเกินไป  เสียดายผมมาคราวนี้วัดพระธาตุช่อแฮ กำลังอยู่ในระหว่างบูรณปฏิสังขรณ์ อีกทั้งยังมีงานฉลองพัดยศเจ้าอาวาส เนืองแน่นไปด้วยผู้คนล้นหลาม เลยขอผ่านเพราะเคยมานมัสการแล้ว  

เลี้ยวขวาเข้าไปวัดพระธาตุจอมแจ้งซึ่งอยู่ถัดเข้าไปอีกไม่ไกลแทน พระธาตุปิดทองอร่ามงามตาแต่ไกลคู่กับพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่กลายเป็นเอกลักษณ์พระธาตุจอมแจ้งไปแล้ว ไหว้พระธาตุแล้วเดินเตร็ดเตร่ไปมาในวัดพักใหญ่ ท่านเจ้าอาวาสก็กวักมือเรียกให้ผมไปดูเจดีย์เหลี่ยมบนฐานสูงแบบล้านนาตะหง่านอยู่ท่ามกลางดงใบไม้เปลี่ยนสีด้านหลังกุฏิพร้อมเล่าให้ฟังถึงประวัติความเป็นมา

องค์นี้ชื่อว่า เจดีย์นางแก๋วนางแมน พญาลิไทแห่งกรุงสุโขทัยได้เสด็จมาบูรณะองค์พระธาตุจอมแจ้ง พระสนมของพระองค์ชื่อนางฟองแก้วและนางบัวแมนได้มาเสียชีวิต ที่นี่ พระองค์จึงทรงสร้างเจดีย์ไว้เพื่อเป็นที่ระลึกถึง  

            ใกล้กับเจดีย์มีรูปปั้นบรรดาเปรต อสุรกายรูปร่างหน้าตาแปลกประหลาดชวนสยดสยองเรียงราย ก็คล้าย ๆ กับที่เคยเห็นตามวัดวาอารามทั่วไป คือเป็นรูปปั้นจำลองเมืองนรกขุมต่าง ๆ

 เจดีย์นางแก๋วนางแมน

 สวรรค์จำลอง
 หนึ่งในประติมากรรมเปรต

 แต่ที่ผมชอบใจกลับเป็นสวรรค์จำลองที่อยู่ถัดออกมาทางด้านหน้ามากกว่า ถูกใจมากครับกับความคิดสร้างสรรค์ของช่างพื้นบ้านที่ก่ออิฐเป็นชั้น ๆ คล้ายเจดีย์ โดยสมมติให้แต่ละขั้นที่ลดหลั่นแทนสวรรค์ชั้นต่าง ๆ ไล่จากต่ำสุดไปถึงสูงสุดตามลำดับ มีบันไดนาคพร้อมสรรพ วาดภาพประกอบเป็นวิมาน เทวดานางฟ้าในแต่ละชั้นเอาไว้ด้วยลายเส้นแบบช่างพื้นบ้าน สีสันลายเส้นจริงใจตรงไปตรงมา ดูแล้วคล้ายศิลปะเด็ก

เห็นแล้วก็อดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบภาพจิตรกรรมประดับกระจกสีแบบไร้มารยาบนผนังวัดเชียงทองในเมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว ก็คล้าย ๆ กันแบบนี้ ประทับใจฝรั่งดังระดับโลกไปแล้ว ใครผ่านมาไหว้พระธาตุก็อย่าลืมแวะเวียนมาดูของดีที่แอบซ่อนอยู่ด้วยก็แล้วกัน

 แพะเมืองผี ประติมากรรมธรรมชาติ

            แน่นอนครับ มาถึงแพร่ทั้งที ต้องไม่ลืมที่จะแวะเข้ามาดูแพะเมืองผี เห็นกี่ทีก็ยังไม่เบื่อครับกับภูมิทัศน์อันแปลกตาของเสาดินที่เกิดจากการกัดกร่อนของสายลม สายฝนและแสงแดด ก่อเกิดเป็นประติมากรรมธรรมชาติสูงท่วมหัว ชวนให้จินตนาการไปถึงดินแดนต่างมิติ  โดยเฉพาะยามเย็นที่แสงแดดสีทองสาดส่องทาบทาด้วยแล้ว ตระการตาอย่าบอกใคร

 พระธาตุสุโทน

 พระนอนแบบพม่า


            ที่เป็นของใหม่สำหรับผมสำหรับคราวนี้ก็เห็นจะเป็น วัดพระธาตุสุโทนเจดีย์  ที่สุดแสนอลังการงานสร้าง ขับรถเข้ามาก็เห็นพระนอนองค์ใหญ่สไตล์พม่าอ่อนช้อยงามจับตาแต่ไกล ขึ้นไปจอดรถใกล้ ๆ ยิ่งตาลายกับความอลังการของลวดลายและการประดับประดา

ผมแอบเรียกเล่น ๆ ของผมเองว่าวัดรวมฮิต เพราะภายในวัดรวบรวมเอาสิ่งที่เป็นจุดเด่นจากหลายยุคหลายสมัย รวมทั้งศิลปกรรมชิ้นเยี่ยม ๆ  ทั้งจากในและนอกประเทศ จำลองมารวมไว้ในที่เดียวกันอย่างผสมผสานกลมกลืน
 เทวดาหาบกระดึงแบบพม่า

 ยักษ์ทวารบาลสองฟากประตูทางเข้าวัด


เท่าที่เห็นก็มีพระบรมธาตุเจดีย์ ๓๐ ทัส ที่จำลองมาจากวัดพระธาตุหน่อจากแคว้นสิบสองปันนา ในประเทศจีน หอไตรจากวัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ ซุ้มประตูโขงจากวัดพระธาตุหลวง จังหวัดลำปาง เทพนมปูนปั้นจากวัดเจ็ดยอดเชียงใหม่   หอระฆังจากวัดพระธาตุหริภุญชัย  ฯลฯ โอ๊ย จาระไนไม่หวาดไหวครับ

ต้องลองมาดูด้วยตาตัวเอง คนที่ได้ไปเที่ยวมาเยอะ เห็นมาแยะจะสนุกกว่า ตรงที่เห็นแล้วคลับคล้ายคลับคลาว่าชิ้นนี้เคยเห็นมาจากที่ไหน ส่วนคนที่ไม่ค่อยได้เที่ยว ไม่ค่อยเคยเห็นอะไร อาจจะไม่รู้สึกอะไรเท่าไหร่  แต่อย่างน้อยก็ได้เห็นอะไรสวย ๆ งาม ๆ

ครับ แล้วการตามรอยตำนานรักพระลอของผมก็สิ้นสุดลงแต่เพียงนี้ แฮปปีเอ็นดิง

แต่เป็นการชั่วคราวเท่านั้นนะครับ มีข่าวคราวความคืบหน้าอย่างเช่น เจอหลักฐานใหม่ที่เกี่ยวข้องกับตำนาน หรือรู้แน่ว่าเมืองแมนสรวงของพระลออยู่ที่ไหน ฯลฯ

ถึงวันนั้นคงจะได้มาตามรอยตำนานกันใหม่


ขอขอบคุณ
อุทยานลิลิตพระลอ และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน ที่ช่วยอำนวยความสะดวกจนสารคดีเรื่องนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

เอกสารอ้างอิง
เชื้อชื่น ศรียาภัย. พระลอร้อยแก้ว.กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, ๒๕๑๖.
วรเวทย์พิสิฐ, พระ.คู่มือลิลิตพระลอ.พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพ ฯ : องค์การค้าของคุรุสภา , ๒๕๔๕.



คู่มือนักเดินทาง
ทางรถยนต์ จากกรุงเทพ ฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑ แยกเข้าทางหลวงหมายเลข ๑๑ ที่อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ผ่านจังหวัดนครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก อุตรดิตถ์ เข้าสู่จังหวัดแพร่ รวมระยะทางประมาณ ๕๕๑ กิโลเมตร

เวียงสรอง (อุทยานลิลิตพระลอ-วัดธาตุพระลอ) จากตัวเมืองแพร่ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๐๑ (แพร่-น่าน) ประมาณ ๒๔ กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข ๑๐๓ อีกประมาณ ๑๘ กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาเข้าตามทางหลวงหมายเลข ๑๑๕๔ สู่อำเภอสอง

เวียงลอ จากอำเภอสองใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๐๓ ไปเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๑ ไปทางอำเภองาว ตรงไปถึงเมืองพะเยาเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๑๐๒๑ ไปถึงอำเภอจุนแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๑๒๙๒ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไปตามถนนอบต. พย. หมายเลข ๒๐๒๗ ก็จะถึงเวียงลอ