Thursday, November 15, 2018

ล่องเรืออ่าวรูปตัว ก. รอดูวาฬบรูด้า

 วาฬบรูด้าโผล่ขึ้นเหนือน้ำ (คมฉาน ตะวันฉาย...ภาพ)


ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...รายงาน   
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสารอ.ส.ท. ฉบับเดือนธันวาคม ๒๕๖๑

อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ผู้บริหาร ผู้เชียวชาญ และคณะสื่อมวลชนที่ร่วมเดินทาง

            กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยนายสมหมาย เตชวาล รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี คณะผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรธรณี และคณะสื่อมวลชนหลากหลายสาขา ร่วมเดินทางในกิจกรรม “ทัศนศึกษาดูงานด้านธรณีวิทยา และทรัพยากรธรณี บริเวณอ่าวไทยรูปตัว ก. รอดูบรูด้า” ณ ปากแม่น้ำบางตะบูน จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๖ ตุลาคมที่ผ่านมา

 รองอธิบดีบรรยายข้อมูลอ่าวไทยรูปตัว ก. ให้กับสื่อมวลชน

อ่าวรูปตัว ก.ไก่ ถือเป็นส่วนหนึ่งของที่ราบลุ่มเจ้าพระยา เป็นบริเวณที่แม่น้ำสำคัญ ๕ สายไหลออกจาก ๖ จังหวัดลงสู่อ่าวไทย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านจังหวัดสมุทรปราการ และเขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ  แม่น้ำบางปะกงไหลผ่านจังหวัดฉะเชิงเทรา แม่น้ำท่าจีนไหลผ่านอำเภอมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร แม่น้ำแม่กลองไหลผ่านจังหวัดสมุทรสงคราม และแม่น้ำเพชรบุรีไหลผ่านอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

เมื่อแม่น้ำทั้งห้าสายหลักไหลมารวมกันที่อ่าวไทยรูปตัว ก.ก็ได้พัดพาเอาตะกอนแร่ธาตุลงจากภูเขาและแผ่นดินบนทางที่ผ่านออกมาทับถมสะสมกันในอ่าว เกิดเป็นหาดเลนหรือ“ทะเลตม”ขึ้น  รวมทั้งยังทำให้พื้นที่อ่าว ก.ไก่ มีสภาพเป็นที่รวมน้ำสามชนิด ได้แก่ น้ำเค็ม น้ำกร่อย และน้ำจืด ล้วนมีคุณประโยชน์ต่อทั้งคน สัตว์ และพืช ทำให้เป็นแหล่งกุ้ง หอย ปู ปลา นกทะเล และป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ 

จึงไม่น่าแปลกใจที่บริเวณอ่าวไทยรูปตัว ก. เป็นแหล่งอาหารทะเลขึ้นชื่อ ไม่ว่าจะเป็นปลาทูแม่กลอง   ปลาสลิดบางบ่อ   ปลากะพงขาวบางปะกง ปลาช่อนแปดริ้ว เมืองฉะเชิงเทรา  หอยแครงอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี หอยหลอดดอนหอยหลอด อำเภอเมืองฯ จังหวัดสมุทรสงคราม  หอยแมลงภู่อำเภอคลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ ฯลฯ

 วาฬบรูด้าแม่ลูก ว่ายน้ำคู่เคียงกัน

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีฝูงวาฬบรูด้า ที่เข้ามาหากินในทะเลอ่าวไทยรูปตัว ก. บริเวณพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ช่วงตั้งแต่ตำบลบางตะบูน ตำบลบางแก้ว ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ตำบลหาดเจ้าสำราญ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี  ในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม ที่ผ่านมาได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก แต่ละปีเมื่อถึงช่วงเทศกาล จะมีนักท่องเที่ยวสนใจเช่าเหมาเรือเพื่อออกไปชมวาฬบรูด้ากันอย่างคึกคัก
  
 รอดูบรูด้าโผล่ขึ้นเหนือน้ำ

วาฬบรูด้าหรือวาฬแกลบ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ วาฬบรูด้าที่พบในประเทศไทยถือได้ว่าเป็นฝูงวาฬซึ่งหากินใกล้กับนครหลวงของประเทศมากที่สุดในโลก  เป็นดัชนีชี้วัดถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรใต้ท้องทะเลไทยได้อย่างดี โดยฝูงวาฬบรูด้าเหล่านี้ถือว่าเป็นสัตว์ประจำถิ่นอ่าวไทยไปแล้ว ประมาณการว่ามีจำนวนประชากรวาฬบรูด้าอยู่ในราว ๓๕ ตัว เป็นแหล่งอาศัยและศึกษาเกี่ยวกับวาฬบรูดาแหล่งใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชีย

 วาฬบรูด้าเป็นสัตว์ทะเลหายากขนาดใหญ่ลำดับต้น ๆ ของน่านน้ำไทย

ปัญหาสำคัญของอ่าวไทยรูปตัว ก. ในปัจจุบันนี้ก็คือเกิดการกัดเซาะชายฝั่งขึ้นโดยทั่วไป ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากดินตะกอนที่ปกติจะถูกพัดพามากับแม่น้ำหลักทั้งห้าสายลดจำนวนลงอย่างมาก โดยปัจจุบันเหลือเพียงแม่น้ำเพชรบุรีสายเดียวที่ยังพัดพาตะกอนลงมายังอ่าวไทยรูปตัว ก. มากที่สุด เนื่องจากในแม่น้ำอีกสี่สายมีการสร้างเขื่อนกั้นในแม่น้ำและมีการดูดทรายจากในแม่น้ำไปขายกันมาก เป็นเหตุให้เกิดมีการกัดเซาะชายฝั่ง จากการขาดสมดุลระหว่างน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นกับปริมาณตะกอนจากแม่น้ำที่ลดลง

ชมภาพถ่ายและวิดิทัศน์กิจกรรม “ทัศนศึกษาดูงานด้านธรณีวิทยา และทรัพยากรธรณี บริเวณอ่าวไทยรูปตัว ก. รอดูบรูด้า” เพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/osotho



Monday, November 12, 2018

Suan Dusit Tourism Run 2018 : วิ่งรอบรั้ว ทัวร์รอบเมือง



“โร้ด รันเนอร์”...รายงาน


มหาวิทยาลัยสวนดุสิตร่วมกับ Nai Lert Group  บริษัท เมเจอร์ซินีเพล็กซ์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มูลนิธิสื่อสร้างสรรค์  และอนุสาร อ.ส.ท.  จัดกิจกรรม Suan Dusit Tourism Run 2018 : วิ่งรอบรั้ว  ทัวร์รอบเมือง ชิงถ้วยประทานพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เพื่อจัดหาทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาที่มีผลการเรียนและความประพฤติดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เมื่อเช้าตรู่ของวันอาทิตย์ที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ โดยได้รับเกียรติจากนางวัลยา วัฒนรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร ผู้แทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดงาน ณ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ผลการแข่งขันมีดังต่อไปนี้



ประเภทระยะทาง ๑๐ กิโลเมตร ชาย ชนะเลิศอันดับที่ ๑ ได้รับถ้วยประทานพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ได้แก่ นายอุทัย ใจเทพ รองชนะเลิศอันดับที่ ๑-๔  ได้รับโล่รางวัล Suan Dusit Tourism Run 2018 ได้แก่ นายเปรมกิตขจร  ช่วยเกตุ นรต.วัชรากร  คำบุง ร.ต.ชลวัตร  ชุมภูงาม และ  นายนุวรรต ลีลาพตะ



ประเภทระยะทาง ๑๐ กิโลเมตร หญิง ชนะเลิศอันดับที่ ๑ ได้รับถ้วยประทานพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ได้แก่ นางสาวสุจิตรา เจนก่อเกียรติกุล รองชนะเลิศอันดับที่ ๑-๔ ได้รับโล่รางวัล Suan Dusit Tourism Run 2018 ได้แก่ นางสาวจิราภรณ์ หวังผล นางสาว  ภัคจิรา วนาอุปถัมภุ์ล นางสาวอนุสรา เกิดขาว และนางสาวเลิศศิริ   โตสิงห์

 ประเภทระยะทาง ๕ กิโลเมตร ชาย ชนะเลิศอันดับที่ ๑ ได้รับถ้วยประทานพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา  ได้แก่ นายชินโชติ วิเศษศรี รองชนะเลิศอันดับที่ ๑-๔  ได้รับโล่รางวัล Suan Dusit Tourism Run 2018 ได้แก่ นายอำนวย กิจอรุณกูล นายสุวิชัย หมอจืดพิมาย เรือโทวิษณุ สิทธิบรรณ์ และ นจอ.อภิสิทธิ์ ศรีทอง

ประเภทระยะทาง ๕ กิโลเมตร หญิง ชนะเลิศอันดับที่ ๑ ได้รับถ้วยประทานพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ได้แก่  เด็กหญิงอริสา แซ่ลี้  รองชนะเลิศอันดับที่ ๑-๔  ได้รับโล่รางวัล Suan Dusit Tourism Run 2018 ได้แก่ นางสาวไพลิน รอดโพธิ์ทอง เด็กหญิงณัฐณิชา นาคนิยม นางสาวธัญญาณัฐ แก้วกระจ่าง และนางสาวธนาภรณ์ บุญเพิ่ม