Tuesday, March 17, 2015

อลังการและความงอกงามแห่งศิลปกรรมเครื่องเงินวัวลายที่วัดหมื่นสาร


 ประติมากรรมนูนต่ำกระบวนแห่อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานบนดอยสุเทพ

ภาคภูมิ น้อยวัฒน์... ชวนแวะและชวนชม
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนมกราคม ๒๕๕๘
          
            ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ชุมชนที่ประกอบอาชีพหัตถกรรมแบบดั้งเดิมจะยังคงอยู่ได้ในเมืองสมัยใหม่ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในย่านที่แทบจะเรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางของเมืองท่องเที่ยว
            
            แต่ที่ชุมชนวัวลาย จังหวัดเชียงใหม่ ในวันนี้รากเหง้าของหัตถศิลป์เครื่องเงินที่สืบเนื่องกันมานับหลายร้อยปี นับแต่พญามังรายสถาปนานพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่เป็นราชธานี   ไม่เพียงจะยังคงอยู่เท่านั้น ทว่ายังงอกงามแผ่กิ่งก้านสาขาผสมกลมกลืนกับความเป็นไปของโลกปัจจุบันได้อย่างสง่างาม


หัตถกรรมเครื่องเงินแบบวัวลายนั้นมีความเป็นอัตตลักษณ์ของท้องถิ่นอย่างเด่นชัด คือนิยมทำลวดลายเป็นเรื่องราววิถีการดำเนินชีวิตแบบพื้นบ้าน ด้วยเทคนิคเฉพาะ เรียกว่า บุ หรือ ดุน บนพื้นผิวบนผลิตภัณฑ์เครื่องเงินหนึ่งชั้น สองชั้น และสามชั้น เกิดลายนูนสูงนูนต่ำ แลเห็นเป็นหลายมิติได้ในชิ้นเดียว งดงามอย่างมหัศจรรย์

 อาคารพิพธภัณฑ์เครื่องเงินวัวลาย ในวัดหมื่นสาร

     แต่น้อยคนที่จะรู้ ว่ามรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของชาติชนิดนี้ เกือบที่จะต้องสาบสูญจากแผ่นดินไปตลอดกาลแล้ว เมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้า


    “ประมาณปี ๒๕๕๓ งานหัตถกรรมเครื่องเงินวัวลายตกอยู่ในสภาวะวิกฤต  เนื่องจากสินค้าเครื่องเงินไม่ใช่สิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน เพราะมีวัสดุที่มาใช้ทดแทนได้ในราคาถูกกว่า และราคาของเม็ดเงินวัตถุดิบสำคัญสูงขึ้นจากแต่เดิมกรัมละ ๙๐-๑๐๐ บาทเศษ ๆ เพียงแค่ ๕-๗ ปี ราคาขึ้นไปสิบเท่า เป็นกรัมละ ๙๐๐ บาท ส่งผลให้ชาวบ้านที่ทำเครื่องเงินแบบดั้งเดิมสู้ต้นทุนไม่ไหว”   ดร. ชวชาติ สุคนธปฏิภาค จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ซึ่งเข้ามาทำงานร่วมกับชุมชนในเวลานั้น เล่าถึงช่วงเวลาที่เครื่องเงินวัวลายตกต่ำอย่างสุดขีด 
  
      “ร้านขายเครื่องเงินที่เคยมีอยู่สามสิบกว่ากว่าร้าน ลดเหลือไม่ถึงยี่สิบ ช่างชั้นครูในย่านวัวลายที่ทำเครื่องเงิน เฉลี่ยอายุไม่ต่ำกว่า ๕๐-๖๐ ปี ลดน้อยถอยลง ที่สำคัญคือไม่มีคนรุ่นใหม่ที่จะมาสืบทอดวิชาช่างเงิน เพราะคนรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายไม่สนับสนุนให้ลูกทำอาชีพนี้ เนื่องจากเห็นว่าไม่มีอนาคต”

 บางส่วนของเครื่องเงินโบราณที่จัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์


โครงการยกระดับชุมชนบ้านวัวลายเพื่อการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ได้รวบรวมศึกษากลุ่มเครื่องเงินแบบคลัสเตอร์ อันหมายถึงทุกขั้นตอนจากเรื่องวัตถุดิบถึงการตลาด แล้วใช้ปรัชญาการพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ว่าให้ต้องเกิดจากภายใน สร้างการรับรู้เข้าใจและเห็นคุณค่าจากชุมชน  จากนั้นจึงมีการจัดทำแผน เป็นโครงการแรกที่แผนทำขึ้นจากชุมชนอย่างแท้จริงเพื่อฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่น  ระยะเวลาดำเนินการ ๓ปี  โดยมีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่จัดทำหลักสูตรช่างเครื่องเงินที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ มีการประยุกต์ผลิตภัณฑ์ให้เข้ากับตลาด
   
การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เครื่องเงินวัวลาย วัดหมื่นสาร ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมเพื่อสร้างเอกลักษณ์การรับรู้และเป็นจุดดึงดูดของชุมชน  โดยทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา ภายในโถงกว้างของอาคารทรงไทยประยุกต์ ใช้เป็นสถานที่รวบรวมและจัดแสดงหัตถกรรมเครื่องเงินวัวลายที่เป็นเครื่องใช้ไม้สอย เครื่องประดับในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งชิ้นเล็กชิ้นใหญ่ ล้วนแล้วแต่งดงามน่าชม ซึ่งทั้งหมดได้มาจากการบริจาค บางชิ้นเป็นมรดกตกทอดกันมาหลายชั่วอายุคน มีการลงทะเบียนอย่างดี บรรจุไว้ในตู้กระจกเปิดให้นักท่องเที่ยวทั่วไปได้เข้าศึกษาผลงานชิ้นเยี่ยมของหัตถกรรมวัวลายจากในอดีต

 หอศิลป์สุทธจิตโต ตกแต่งด้วยหัตกรรมทั้งหลัง

ไม่ไกลจากกันเป็นผลงานศิลปกรรมวัวลายสมัยใหม่ คือหอศิลป์สุทฺธจิตฺโต  สถาปัตยกรรมแบบล้านนาประยุกต์ สร้างขึ้นจากดำริของพระครูสุทธิจิตตาภิรัต เจ้าอาวาสวัดหมื่นสาร ด้วยงบประมาณกว่า ๑๐ ล้านบาท  โดยได้ประยุกต์นำโลหะดุนลาย ด้วยลวดลายที่เป็นลายพื้นเมืองล้านนาดั้งเดิม อันเป็นเอกลักษณ์เครื่องเงินบ้านวัวลาย มาประดับตกแต่งหอศิลป์จนตระการตา ตั้งแต่ช่อฟ้า ปั้นลม เชิงชาย หัวเสา ราวระเบียง ไปจนถึงบันได และอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยซึ่งประดิษฐานอยู่ด้านหน้า รวมไปถึงบนผนังกำแพงรั้วด้านนอก ที่ทำเป็นภาพ ๑๒ พระธาตุประจำปีเกิด  
 พระพิฆเณศวร์

ในอาคาร บนผนังด้านนอกของหอศิลป์ประดับด้วยภาพของเทพ เทวดา เช่น พระศิวะ พระพิฆเณศวร์ ลายพรรณพฤกษา สัตว์ป่าหิมพานต์ และเรื่องราวจากวรรณคดีรามเกียรติ์   ภายในประดิษฐานหุ่นขี้ผึ้งครูบาศรีวิชัย  นักบุญแห่งล้านนา ครูบาอินตา อินทปัญโญ (ครูบาอินต๊ะ) และพระครูโอภาสคณาภิบาล (ครูบาบุญปั่น  ปุญญาคโม) 

บนผนังรอบด้านจัดแสดงแผ่นประติมากรรมโลหะดุนลายขนาดใหญ่หลายภาพเรียงราย เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ตอนสำคัญ ๆ ของอาณาจักรล้านนาเอาไว้อย่างวิจิตรตระการตาน่าชม   โดยปกติจะมีคุณปู่สิงคำ ไชยบุญเรือง มรรคทายกของวัดหมื่นสาร คอยเป็นมัคคุเทศก์เดินนำชมพร้อมอธิบาย 
 การประดับตกแต่งภายในอลังการด้วยลวดลายแบบเครื่องเงินวัวลาย

พิพิธภัณฑ์เครื่องเงินวัวลายและหอศิลป์สุทฺธจิตฺโต  ตั้งอยู่ภายในวัดหมื่นสาร ถนนวัวลาย ตำบลหายยา อำเภอเมืองฯ  จังหวัดเชียงใหม่ โทรศัพท์ ๐ ๕๓๒๗ ๕๕๔๕ ๐๘ ๕๖๕๒ ๕๗๗๐ เปิดให้เข้าเยี่ยมชมทุกวันในเวลาราชการไม่มีวันหยุดและไม่เสียค่าเข้าชม

No comments:

Post a Comment