Friday, October 25, 2013

เปิดตัวอุทยานธรณีแห่งแรกของประเทศไทย “ผาชัน-สามพันโบก”

 ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...รายงาน



อุทยานธรณี หมายถึงพื้นที่ซึ่งประกอบไปด้วยแหล่งอันมีความโดดเด่นอย่างสำคัญทางด้านธรณีวิทยา รวมถึงแหล่งที่มีคุณค่าทางด้านโบราณคดี นิเวศวิทยา และวัฒนธรรม ที่อยู่ในพื้นที่นั้น ๆ  ทั้งที่อยู่บนบกและในทะเล  ซึ่งองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโกได้กำหนดขึ้น  

ปัจจุบันมีอุทยานธรณีของโลกกระจายอยู่ ๙๐ แห่งใน ๒๗ ประเทศทั่วโลก โดยอยู่ในพื้นที่ของสาธารณรัฐประชาชนจีนถึง ๒๗ แห่ง ในขณะที่ในกลุ่มประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน เพิ่งจะมีแหล่งที่ได้รับการรับรองจากยูเนสโกให้เป็นอุทยานธรณีอยู่แค่เพียง ๓ แห่งด้วยกัน คือเกาะลังกาวี สหพันธรัฐมาเลเซีย อ่าวฮาลอง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และเกาะบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย

ในส่วนของประเทศไทย แนวความคิดในการจัดตั้งอุทยานธรณีเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ โดยกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกับหน่วยงานในท้องถิ่นทั่วประเทศ สำรวจ ศึกษาวิจัย และประเมินคุณค่าแหล่งธรณีวิทยาที่มีความโดดเด่นในแต่ละท้องถิ่น โดยใช้เกณฑ์พิจารณาจากองค์ประกอบด้านต่าง ๆ ตามที่ยูเนสโกกำหนด เสนอต่อคณะกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ และศิลปกรรม เพื่อคัดเลือกเป็นพื้นที่จัดตั้งอุทยานธรณี  เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้ว จึงนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อมีมติกำหนดให้เป็นอุทยานธรณีระดับจังหวัดหรือระดับประเทศ


ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรนอกสถานที่ จังหวัดสุรินทร์ ได้มีมติเห็นชอบในหลักการ ให้จัดตั้งอุทยานธรณีผาชัน-สามพันโบก จังหวัดอุบลราชธานี เป็นอุทยานธรณีแห่งแรกของประเทศไทย

อุทยานธรณีผาชัน-สามพันโบกครอบคลุมพื้นที่ใน ๓ อำเภอได้แก่ อำเภอศรีเมืองใหม่ อำเภอโพธิ์ไทร และอำเภอโขงเจียม ของจังหวัดอุบลราชธานี อันตลอดแนวเลียบลำน้ำโขง ปรากฏแหล่งภูมิทัศน์ทางธรรมชาติที่ก่อเกิดจากการสะสมตัวของตะกอนแม่น้ำประมาณ ๑๐๐ ถึง ๑๓๐ ล้านปี ผ่านการกัดกร่อนของสายน้ำและลมฟ้าอากาศ  ในอาณาบริเวณยังมีแหล่งอนุรักษ์สำคัญอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ วนอุทยานน้ำตกผาหลวง ผาชัน สามพันโบก สามหมื่นรู ถ้ำปาฏิหาริย์ ถ้ำมืด อุทยานแห่งชาติผาแต้ม 

การประกาศเป็นอุทยานธรณีนี้เป็นเพียงในนาม ไม่มีผลในด้านการบริหารพื้นที่ โดยเฉพาะบางส่วนซึ่งคาบเกี่ยวอยู่ในความรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติผาแต้มและอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพรรณพืช  เนื่องจากกรณีพื้นที่ใดอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของส่วนราชการใด ส่วนราชการนั้นยังคงเป็นผู้ดูแลจัดการเช่นเดิม ส่วนในพื้นที่ซึ่งไม่มีผู้ดูแล คณะทำงานจัดตั้งอุทยานธรณีจังหวัดจะเป็นผู้ดูแล

นอกจากอุทยานธรณีผาชัน-สามพันโบก จังหวัดอุบลราชธานี  ยังมีพื้นที่เตรียมจัดตั้งเป็นอุทยานธรณีในอีก ๓ จังหวัดนำร่อง ได้แก่ อุทยานธรณีจังหวัดขอนแก่น  อุทยานธรณีจังหวัดเลย และ อุทยานธรณีละงู-ทุ่งหว้า-มะนัง จังหวัดสตูล ซึ่งจากการสำรวจของกรมทรัพยากรธรณี พบว่าทั่วประเทศไทยมีแหล่งธรณีวิทยาที่มีความโดดเด่นอยู่ทั้งหมดมากกว่า ๘๐๐ แห่ง อยู่ในระหว่างการสำรวจและประเมินแหล่งอนุรักษ์ในพื้นที่ เตรียมขอขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานธรณีและนำเสนอให้ยูเนสโกพิจารณารับรองในลำดับต่อ ๆ ไปประมาณ ๒๒ แห่ง


ในการเปิดตัว ผาชัน-สามพันโบก อุทยานธรณีแห่งแรกของประเทศไทย กรมทรัพยากรธรณี ได้จัดกิจกรรม “สื่อมวลชนสัญจร แหล่งอนุรักษ์ทางธรรมชาติทางธรณีวิทยาและแหล่งซากดึกดำบรรพ์” ในเส้นทางอุบลราชธานี –ผาชัน-สามพันโบก-ขอนแก่น ขึ้นเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

การเดินทางครั้งนี้ได้นำสื่อมวลชนล่องเรือลำน้ำโขง ทัศนศึกษาเกาะแก่งบริเวณสามพันโบก ฟังการเสวนาเรื่อง “การจัดตั้งอุทยานธรณีของประเทศไทย หนึ่งในโอกาสเตรียมพร้อมรับ AEC”  ชมเสาเฉลียงบ้านผาชัน  จังหวัดอุบลราชธานี ก่อนเดินทางไปเยี่ยมชมซากดึกดำบรรพ์ที่พิพิธภัณฑ์สิรินธร  พิพิธภัณฑ์ทางธรณีวิทยาที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  และศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ หลุมขุดค้นซากดึกดำบรรพ์กระดูกไดโนเสาร์แห่งแรกของประเทศไทย ที่อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น  เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องอุทยานธรณีวิทยาสู่ประชาชน ผ่านทางสื่อมวลชนจากหลากหลายสาขา


การจัดตั้งอุทยานธรณีถือเป็นมิติใหม่ของการอนุรักษ์ธรรมชาติในส่วนของแหล่งธรณีวิทยา  ในอีกมุมหนึ่งยังเป็นการส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยว อันจะช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้คนและชุมชนในท้องถิ่นที่อุทยานธรณีตั้งอยู่ได้เป็นอย่างดี เพียงแต่จะต้องมีการทำความเข้าใจกับชุมชนและนักท่องเที่ยวผู้มาเยือนให้เห็นถึงคุณค่า เพื่อที่จะได้ช่วยกันดูแลรักษาความงดงามอันน่าตื่นตาตามธรรมชาติให้ยั่งยืนสืบต่อไป

หมายเหตุ สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานธรณีเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กรมทรัพยากรธรณี โทรศัพท์ ๐ ๒๖๒๑ ๙๕๐๐  โทรสาร ๐ ๒๖๒๑ ๙๖๐๒ 

4 comments:

  1. น่าจะมีข้อมูลเพิ่มเติมมาอัพเดตเพิ่มขึ้นเนาะ

    ReplyDelete
  2. http://livingmuseumthailand.com/sampunbok/tour_5.html
    มีภาพ Virtual Geo Tour เอาไว้ให้ดูแหล่งเรียนรู้ที่สามพันโบกแล้วนะครับ

    ReplyDelete
    Replies
    1. เราสามารถดูสภาพทางธรรมชาติบ้านเรา และบ้านเขาได้ด้วยล่ะ
      http://livingmuseumthailand.com/sampunbok/tour_6.html

      Delete