Monday, March 1, 2021

อลังการจิตรกรรมเล่าเรื่อง ณ วัดโบสถ์เมืองบางขลัง

 

ภาพจิตรกรรมเล่าเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖   
และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรวัดโบสถ์เมืองบางขลัง 

ภาคภูมิ น้อยวัฒน์..ชวนแวะและชวนชม

ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนมกราคม ๒๕๖๔

      เมืองบางขลังคือเมืองโบราณที่ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างเมืองศรีสัชนาลัยกับเมืองสุโขทัย   

     ในทางประวัติศาสตร์ เมืองบางขลังถือว่ามีความสำคัญ โดยจารึกวัดศรีชุมบันทึกว่าพ่อขุนผาเมืองจากเมืองราดร่วมกับพ่อขุนบางกลางหาวจากเมืองบางยาง ใช้เมืองบางขลังเป็นที่ชุมนุมพลเข้าตีเมืองสุโขทัยคืนจากขอมสบาดโขลญลำพง ก่อนสถาปนาพ่อขุนบางกลางหาวขึ้นเป็นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ต้นราชวงศ์พระร่วง ครองกรุงสุโขทัย  

วัดใหญ่ชัยมงคล โบราณสถานสำคัญของเมืองบางขลัง

     ในทางพุทธศาสนา เมืองบางขลังก็มีความสำคัญไม่น้อยเช่นกัน เนื่องจากปรากฏเรื่องราวในตำนานวัดพระธาตุดอยสุเทพว่าพระมหาสุมนเถรเจ้าแห่งกรุงสุโขทัย เกิดนิมิตว่าพระบรมธาตุซึ่งพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชอัญเชิญมาบรรจุไว้ ณ พระเจดีย์เมืองบางขลังนั้น บัดนี้พระเจดีย์หักพังเสียแล้ว พระบรมธาตุได้ตกลงสถิตอยู่บริเวณใต้กอดอกเข็มกอหนึ่ง พระสุมนเถรเจ้าจึงเดินทางไปค้นหา จนได้พบพระบรมธาตุที่ข้างใต้กอเข็มนั้น  

    ต่อมาพระเจ้ากือนากษัตริย์องค์ที่ ๖ ราชวงศ์มังราย ขึ้นครองราชย์นครเชียงใหม่ในพ.ศ.๑๙๑๐ ได้นิมนต์พระสุมนเถรเจ้าให้ไปประกาศพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์ที่เมืองเชียงใหม่ พระสุมนเถรเจ้าจึงเดินทางไปพร้อมกับพระธาตุนั้น พระบรมธาตุได้แสดงปาฏิหาริย์แยกออกเป็นสององค์ จึงอัญเชิญองค์หนึ่งประดิษฐานไว้ในเจดีย์วัดพระธาตุดอยสุเทพ  อีกองค์ประดิษฐานในเจดีย์วัดบุปผาราม หรือวัดสวนดอก

มณฑปขนาดใหญ่ก่อด้วยศิลาแลง ในบริเวณวัดโบสถ์เมืองบางขลัง

            หลังกรุงสุโขทัยเสื่อมอำนาจ เมืองบางขลังได้กลายเป็นเมืองร้างไปเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด หลงเหลือเพียงร่องรอยโบราณสถานวัดร้างหลายแห่งกระจายอยู่ เช่น วัดใหญ่ชัยมงคล วัดเจดีย์เจ็ดแถว วัดริมทาง และวัดเขาเดื่อ  โดยเฉพาะที่วัดโบสถ์ ปรากฏซากมณฑปศิลาแลงเป็นโบราณสถานขนาดใหญ่

             วัดโบสถ์เดิมเป็นวัดร้าง ปรากฏชื่อในหนังสือพระราชนิพนธ์เที่ยวเมืองพระร่วง ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖  ที่กล่าวถึงไว้ว่า “เดินทางไปได้ประมาณ ๑๑๐ เส้น ข้ามเขตแดนเมืองสวรรคโลก เวลาเที่ยงถึงวัดร้าง เรียกตามคําชาวบ้านว่า วัดโบสถ์”  

ภายหลังชาวบ้านจากบ้านคลองแห้งจํานวน ๑๘ ครอบครัว ได้ย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณวัดโบสถ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๗  จากนั้นเมื่อมีผู้คนอพยพเข้ามามากขึ้นจนกลายเป็นชุมชนใหญ่จึงสร้างวัดขึ้นในบริเวณมณฑป เพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ราวปี พ.ศ. ๒๕๑๔  


หลวงพ่อขาวเนรมิต หรือ พระศรีสุรีย์มงคลพลญาณ

ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๕๓๐ ชาวบ้านคือนายยม ไอยเรศ ฝันว่ามีพระพุทธรูปโบราณถูกฝังอยู่ในที่ดินของนายหน่วย หมื่นหาญ ที่อยู่ติดกับวัดโบสถ์ เมื่อมีผู้ลองขุดก็พบพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยสีขาว ศิลปกรรมสุโขทัย อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘  จึงนำมาประดิษฐานไว้ที่วัดโบสถ์ ในอุโบสถหลังเก่าที่สร้างขึ้นบนฐานอุโบสถโบราณ ให้ชื่อว่าหลวงพ่อขาวเนรมิต หรือ “พระศรีสุรีย์มงคลพลญาณ”  อันเป็นชื่อตามนิมิตของพระมหาบุญมี ภูริมงคลาจาโร เจ้าอาวาสวัดโบสถ์ในขณะนั้น

หลังจากนั้น กรมศิลปากรรวมทั้งนักวิชาการผู้สนใจจากหลากหลายสถาบันเข้ามาทำการขุดแต่งศึกษาโบราณสถานวัดโบสถ์ รวมทั้งจัดเสวนาทางวิชาการหลายต่อหลายครั้ง  จนได้ข้อมูลค่อนข้างชัดเจน สามารถสร้างเป็นอาคารศูนย์ข้อมูลพร้อมนิทรรศการขนาดเล็ก นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับโบราณคดีและประวัติศาสตร์ของเมืองบางขลังโดยสังเขป ทั้งยังได้ปรับภูมิทัศน์โดยรอบ ทำให้โบราณสถานวัดโบสถ์กลายเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวของเมืองบางขลัง  สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงสนพระทัย เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโบราณสถานของวัดโบสถ์เมืองบางขลังเมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๐


อุโบสถหลังใหม่ที่ผสมผสานศิลปกรรมหลากหลายยุคสมัย


 ปี พ.ศ. ๒๕๕๓ พระครูพิพัฒน์สุตากร เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันได้สร้างอุโบสถหลังใหม่เพื่อประดิษฐาน  พระศรีสุรีย์มงคลพลญาณ ด้วยงบประมาณจากกองกฐินผ้าป่าของวัดในแต่ละปี ในรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ ผสมผสานส่วนหลังคาหน้าจั่วแหลมแบบไทย  ส่วนชายคายาวแบบล้านช้าง รองรับด้วยเสาแปดเหลี่ยมโคนใหญ่ปลายเล็กแบบกรีก-โรมัน เชิงชายหลังคา ตัวมกร หลังคากระบื้องกาบกล้วยแบบจีน  ลวดลายปูนปั้นประดับแบบขอม   พระพุทธรูปยืนปางประทานอภัยด้านหลังอุโบสถและกลีบบัวหัวเสาศิลปะอินเดีย ค่อยสร้าง ค่อยทำอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา ๘ ปีจนเป็นรูปเป็นร่างชัดเจน

 ช่างรุ่ง นันต๊ะ จิตรกรผู้รังสรรค์จิตรกรรมวัดโบสถ์บางขลัง

สิ่งที่น่าสนใจนอกเหนือจากรูปแบบสถาปัตยกรรมภายนอก คือภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถ ที่วาดขึ้นอย่างวิจิตรตระการตาด้วยรูปแบบจิตรกรรมไทยประเพณีประยุกต์ที่มีทัศนมิติเหมือนจริง จากฝีมือนายช่างรุ่ง นันต๊ะ  สล่าชาวเมืองน่านผู้ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากคณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ แต่ย้ายถิ่นฐานมาเป็นชาวสุโขทัยเพราะได้ภรรยาเป็นคนอำเภอศรีสำโรง รับมอบหมายงานจากท่านเจ้าอาวาส ให้วาดจิตรกรรมเป็นเรื่องราวเหตุการณ์สำคัญของเมืองบางขลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับทางพุทธศาสนาตั้งแต่เมื่อประมาณ ๒ ปีก่อน

พระอรหันตสาวกสังคายนาพระไตรปิฏก พระเจ้าอโศกทรงสร้างอนุสรณ์สถาน

ชั้นบนสุดของผนังโบสถ์สองฟากฝั่งเรียงรายด้วยเทพชุมนุมในเครื่องแต่งกายแบบขอม ต่ำลงมาเป็น ภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องไล่เรียงเรื่องราวจากซ้ายไปขวา (เมื่อหันหน้าเข้าหาองค์พระประธาน) โดยเริ่มต้นจากภาพเหตุการณ์เมื่อครั้งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานใต้ต้นสาละคู่ ณ เมืองกุสินารา  ตามด้วยภาพการสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรกหลังจากพุทธปรินิพพานได้ ๓ เดือน โดยพระอรหันต์สาวก ๕๐๐ รูป อันมีพระมหากัสสปะเป็นประธาน  ณ ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างเขาภารบรรพต นอกเมืองราชคฤห์ นครหลวงแห่งแคว้นมคธ มีพระเจ้าอชาตศัตรูผู้ครองนครขณะนั้นทรงเป็นองค์อุปถัมภ์  

ด้านล่างเป็นเรื่องของพระเจ้าอโศกมหาราช เอกอัครพุทธศาสนูปถัมภก จารึกพระบรมราชโองการไว้บนเสาศิลาเรียกว่า เสาอโศก โปรด ฯ ให้สร้างอนุสรณ์สถานในสถานที่ประสูติ ตรัสรู้  ปฐมเทศนา และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เรียกว่าสังเวชนียสถาน รวมทั้งส่งสมณทูตเพื่อไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในเอเชียกลางและเอเชียใต้ 

จากถ้ำอชันตา สู่การเผยแผ่พระพุทธศาสนาออกไปอย่างกว้างไกล

              ถัดมาคือภาพของถ้ำอชันตา ประเทศอินเดีย สร้างโดยพระภิกษุในปีพ.ศ. ๓๕๐ เจาะและแกะสลักภูเขาหินเป็นอุโบสถ วิหาร และกุฏิ จนกลายเป็นวัดถ้ำในพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่งดงามและเก่าแก่ที่สุดในโลก และในปี พ.ศ. ๕๐๐ จึงเกิดคติการสร้างพระพุทธรูปเพื่อสักการบูชา จากแต่เดิมที่นิยมสร้างเป็นสัญลักษณ์ธรรมจักรหรือพระพุทธบาทแทนองค์พระพุทธเจ้า สุดผนังด้านซ้ายเป็นภาพของพระปฐมเจดีย์และเจดีย์พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช สื่อถึงการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศไทย

 พระสุมนเถระเจ้านิมิตพระพระบรมสารีริกธาตุ


               ส่วนอีกฟากบนผนังฝั่งตรงกันข้ามด้านซ้ายสุด เริ่มด้วยภาพของพระนางจามเทวีที่เสด็จจากเมืองละโว้ขึ้นมาครองราชย์เป็นกษัตริย์เมืองลำพูน เป็นการเริ่มต้นประวัติศาสตร์ภาคเหนือ  ต่อด้วยเรื่องพระสุมนเถระเจ้านิมิตพบพระบรมธาตุที่กอดอกเข็มเมืองบางขลัง ถัดไปเป็นเรื่องการอัญเชิญพระบรมธาตุไปประดิษฐานในเจดีย์บนยอดดอยสุเทพและที่เจดีย์วัดสวนดอกจังหวัดเชียงใหม่ 

ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุบนยอดดอยสุเทพ

     ท้ายสุดคือเรื่องราวการเสด็จพระราชดำเนินโดยช้างพระที่นั่งของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ มายังวัดโบสถ์เมืองบางขลัง ขณะยังรกร้างอยู่กลางป่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๐ และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโบราณสถานวัดโบสถ์ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งถือเป็นเรื่องแปลกตรงที่เวลาห่างกัน ๑๐๐ ปีพอดิบพอดี

ภาพจิตรกรรมเล่าเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖   
และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรวัดโบสถ์เมืองบางขลัง 

          ปัจจุบันภาพจิตรกรรมยังไม่เสร็จเรียบร้อย คงอยู่ในระหว่างดำเนินการวาดอยู่ ซึ่งแต่เดิมกำหนดการตัดลูกนิมิตอุโบสถตั้งไว้ที่เดือนมกราคม ๒๕๖๔ นี้ แต่ด้วยเหตุที่เป็นการสร้างตามเงินกองทุนจากกฐินและผ้าป่าในแต่ละปีซึ่งไม่แน่นอน ส่งผลทำให้ต้องล่าช้า จึงเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ที่มาเยี่ยมชมจิตรกรรมในช่วงเวลานี้สามารถมีส่วนร่วมในบุญกุศล เพื่อให้อุโบสถและจิตรกรรมได้เสร็จสมบูรณ์ เป็นสมบัติศิลป์อันงดงามของแผ่นดินเมืองบางขลังสืบไป

โลกสวรรค์ โลกมนุษย์ และนรก ที่ยังวาดไม่เสร็จ


 คู่มือนักเดินทาง

เมืองบางขลังตั้งอยู่ระหว่างเมืองศรีสัชนาลัยกับเมืองสุโขทัย อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของอำเภอสวรรคโลก จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข ๓๒  ถึงนครสวรรค์ เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข ๑  ถึงกำแพงเพชร เลี้ยวขวาเข้ากำแพงเพชร มุ่งสู่สุโขทัยตามทางหลวงหมายเลข ๑๐๑ ผ่านจังหวัดสุโขทัยสุโขทัย มุ่งสู่สวรรคโลกตามทางหลวงหมายเลข ๑๑๙๕ ผ่านทางแยกเข้าอำเภอศรีสำโรงไปประมาณ ๑๐กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงชนบท ๔๐๑๓ ท่าทอง – ขอนซุง ผ่านวัดขอนซุง ข้ามลำน้ำมอก เลี้ยวขวา แล้วเลี้ยวซ้ายตรงไปตามป้ายชี้ทาง จนถึงวัดโบสถ์ทางขวามือ  

No comments:

Post a Comment