Monday, October 3, 2016

ธรณีนี่นี้...น่าฉงน ท่องเที่ยวไขปริศนาร่องรอยทางธรณีวิทยากับกรมทรัพยากรธรณี


ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ
ตีพิพม์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๕๙

            หลายครั้งที่การเดินทางท่องเที่ยวในธรรมชาตินำพาความพิศวงสงสัยให้กับนักเดินทางอย่างเรา ๆ ติดค้างอยู่ในใจอย่างไม่มีคำตอบ กับร่องรอยของปรากฏการณ์ธรณีที่มีความงดงามแปลกตา บนพื้นผิวของทิวเทือกเขา แผ่นผา โถงถ้ำ แม้กระทั่งพื้นแผ่นดิน ยากจะหาคำอธิบายว่าสิ่งที่พบเห็นเกิดขึ้นได้อย่างไร

เพื่อกระจายความรู้ความเข้าใจในร่องรอยจากปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในธรรมชาติออกไปยังสาธารณชน กรมทรัพยากรธรณีจึงจัดกิจกรรมเดินทางทัศนศึกษาสื่อมวลชนสัญจรครั้งที่ ๑  “ธรณีนี่นี้...น่าฉงน”ขึ้น  บนเส้นทางสมุทรสาคร ราชบุรี สุพรรณบุรี  และกาญจนบุรี ในวันที่ ๓๐ มิถุนายน- ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา นำโดยนายทศพร นุชอนงค์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี 


เริ่มต้นด้วยการลดเลี้ยวสู่วัดกลางคลอง ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อเยี่ยมชมเรือโบราณพนมสุรินทร์ เรือสินค้าไม้ทั้งลำสร้างด้วยเทคนิคแบบอาหรับโบราณ อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ ร่วมสมัยกับทวารวดี  นายนิรันดร์ ชัยมณี นักธรณีวิทยาชำนาญการพิเศษของกรมทรัพยากรธรณีอธิบายว่า ทะเลอ่าวไทยปัจจุบันเมื่อ ๓๐,๐๐๐ ปีก่อนเคยเป็นแผ่นดิน เชื่อมต่อกับหมู่เกาะชวา กาลิมันตัน เรียกว่า “แผ่นดินซุนดา” จนเมื่อ ๑๐,๐๐๐ ปีที่แล้วสิ้นสุดยุคน้ำแข็ง น้ำแข็งขั้วโลกละลายลงสู่มหาสมุทร เกิดเป็นปรากฏการณ์น้ำทะเลเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก

พื้นที่ประเทศไทยสมัยนั้นน้ำทะเลรุกเข้ามาถึงอยุธยา ลพบุรี สุพรรณบุรี  สระบุรี  ก่อนจะทรงตัวในระดับสูงกว่าปัจจุบันราว ๔-๕ เมตร  จนถึงราว ๕,๐๐๐-๖,๐๐๐ ปีก่อน  เกิดการตกตะกอนของแม่น้ำที่ปากอ่าว ในขณะที่น้ำทะเลถอยร่นไป เกิดทะเลโคลนตมขึ้น กลายเป็นเส้นทางสัญจรค้าขายสำคัญในชื่อ “สุวรรณภูมิ” และ“ทวารวดี”  จุดที่พบเรือเป็นหลักฐานว่าบริเวณนี้อาจเป็นปากน้ำท่าจีนเก่าที่เชื่อมต่อกับทะเลสมัยนั้น




คณะทัศนศึกษาเดินทางต่อไปยังบ่อดินเอกชนที่ขุดดินขาย บริเวณบ้านปากบ่อ ตำบลชัยมงคล อำภอเมืองฯ จังหวัดสมุทรสาคร และที่บ้านตาลเรียง ตำบลบัวงาม อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เพื่อชมร่องรอยของทะเลโบราณ  จากความลึกของบ่อหลายสิบเมตรทำให้เห็นถึงชั้นดินในยุคแผ่นดินซุนดาอยู่ล่างสุดเป็นแนวสีเหลืองชัดเจน ถัดขึ้นมาเป็นชั้นดินในยุคทะเลโบราณเป็นสีเทาดำลึกประมาณ ๒๐ เมตร พบซากเปลือกหอยทะเลโบราณอยู่จำนวนมาก เมื่อน้ำทะเลย้อนกลับออกไปเมื่อสิ้นยุค ดินตะกอนปากแม่น้ำทับถมเพิ่มขึ้นมาก่อเกิดเป็นแผ่นดิน ที่ต่อมาเป็นที่ตั้งของเมืองสมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ และกรุงเทพฯ


ในช่วงบ่ายที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี  นายพิภพ บุญธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีให้เกียรติมาต้อนรับคณะพร้อมนำเยี่ยมชมศึกษาเรื่องราวของเมืองโบราณอู่ทองในอดีต ที่เป็นเมืองท่าและศูนย์กลางของอาณาจักรทวารวดี เมื่อครั้งทะเลเว้าลึกเข้ามาถึงสุพรรณบุรี ลพบุรี และสระบุรี  ซึ่งในขณะนั้นกรุงเทพฯ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และสมุทรปราการยังเป็นทะเลอยู่


 ปิดท้ายรายการของวันแรกด้วยการแวะเวียนเข้าไปเยี่ยมชมการแกะสลักหินพระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ ปางโปรดพุทธมารดาขนาดใหญ่ติดอันดับโลก ด้วยขนาดหน้าตักกว้าง ๒๔.๙๐ เมตร บนแผ่นผาเขาทำเทียมภายในพุทธมหาสถานเมืองโบราณอู่ทอง ตามแผนการสร้างพระพุทธรูปแกะสลักหิน ๕ องค์ ๕ ปางตลอดแนวหน้าผาหินยาว ๘๐๐เมตร โดยองค์แรกคือองค์นี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๖๐


คณะเข้าพักแรมที่บลูแซฟไฟร์กอล์ฟแอนด์รีสอร์ทในบ้านพักรูปเรือริมผืนน้ำกว้าง ซึ่งในอดีตพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นขุมเหมืองแร่รัตนชาติขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย หลังจากแร่หมดไปจึงพัฒนาพื้นที่เป็นสนามกอล์ฟและรีสอร์ตบนเนื้อที่กว่า ๘,๐๐๐ไร่ หลังอาหารค่ำเป็นการพูดคุยสนทนาอย่างเป็นกันเองระหว่างวิทยากรกับสื่อมวลชนซึ่งสนใจสอบถามเรื่องราวทางธรณีวิทยาในประเด็นข้อสงสัยจากการเดินทางช่วงที่ผ่านมา



เช้าวันรุ่งขึ้นคณะทัศนศึกษาออกเดินทางขึ้นไปยังเนินเขาเตี้ย ๆ หลังที่ว่าการอำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี ชมกองหินบะซอลต์ระเกะระกะที่เกิดจากลาวาออกมาสู่พื้นโลกทางปากปล่องภูเขาไฟ นายนิวัติ บุญนพ ผู้อำนวยการส่วนประสานและสนับสนุนทางวิชาการ กรมทรัพยากรธรณี อธิบายว่าปล่องภูเขาไฟที่บ่อพลอยนี้เกิดขึ้นเมื่อ ๓-๔ ล้านปีก่อน เมื่อภูเขาไฟระเบิดลาวาจะไหลผ่านชั้นหินที่มีอัญมณีอย่างเพชร พลอย ไพลิน และนำพาออกมาด้วย ทำให้ที่นี่มีอัญมณีมาก เป็นที่มาของชื่อบ่อพลอย  


  พากันเดินลงเนินมา ไม่ไกลจากกองหินภูเขาไฟเป็นแหล่งเสาหินหกเหลี่ยมแห่งเดียวในกาญจนบุรี ซึ่งผอ.นิวัติอธิบายว่าปรากฏการณ์เสาหินหกเหลี่ยมเกิดจากลาวาไหลขึ้นมาเป็นแนวชั้นหนาเย็นตัวลงอย่างรวดเร็ว เกิดการหดตัวและมีแรงดึงตัวในเนื้อหินหลอมละลาย   ทำให้เกิดรอยแตกเป็นแนวลึกสม่ำเสมอและหลายชุด ทำให้หินแตกเป็นแท่งๆ มักมีรูปหกเหลี่ยมบ้าง ห้าเหลี่ยมบ้าง แลดูเป็นแท่งเสาหินตามธรรมชาติในลักษณะตั้งตรงแลดูแปลกตา


ข้ามฟากถนนมายังวัดเขาวงจินดาราม ขึ้นเขาไปชมหลวงพ่อนิลประทานพร พระพุทธรูปทาสีดำทั้งองค์ซึ่งใช้นิลแท้ชิ้นเล็กมาประดับบนพื้นผิวองค์ท่านด้วย เป็นสัญลักษณึงความเป็นแหล่งนิลคุณภาพในอดีตของอำเภอบ่อพลอย
   


ช่วงบ่าย มุ่งหน้าสู่ความเขียวขจีของผืนป่าอุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์  โดยมี ร.ศ.ชัยพร ศิริพรไพบูลย์ นำชมและอธิบายถึงกระบวนการเกิดถ้ำในภูเขาหินปูนว่าเกิดจากการกัดเซาะของลำธารใต้ภูเขา เป็นถ้ำน้ำ และต่อมาเมื่อมีการทรุดตัวลงกลายเป็นถ้ำแห้ง  น้ำฝนที่ตกลงมาผ่านก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กลายเป็นกรดคาร์บอนิคลงมาผสมผสานกับสารอินทรีย์เพิ่มความเข้มข้น เมื่อซึมตามรอยแยกของหินปูนก็จะกัดกร่อนละลายกลายเป็นโพรงถ้ำ เมื่อซึมลงมาจากเพดานถ้ำก็เกิดสะสมเป็นหินงอกหินย้อย ผ่านเวลานานไปหลังคาถ้ำพังลง เกิดเป็นหลุมยุบ พร้อมกับพาชมถ้ำธารลอดน้อยเป็นตัวอย่างของถ้ำน้ำลอด ในขณะที่ถ้ำธารลอดใหญ่เป็นตัวอย่างของถ้ำน้ำลอดที่ต่อมาหลังคาพังทลายลง


จากการเดินทางทัศนศึกษาครั้งนี้ ทำให้เกิดการเรียนรู้ทางธรณีวิทยาและมีความเข้าใจถึงกระบวนการเกิดปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยารูปแบบต่าง ๆ มากขึ้น สามารถไขรหัส “ความลับทางธรณี” จากร่องรอยที่ผ่านกาลเวลามาได้ การเดินทางท่องเที่ยวในธรรมชาติครั้งต่อ ๆไป คงสนุกสนานมากขึ้น เพราสัมผัสความงามได้ลึกซึ้งขึ้น

ที่สำคัญคือ...ไม่ต้องมีคำถามที่ค้างคาใจอีกต่อไปแล้ว

ผู้สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถชมวิดิทัศน์การเดินทางทัศนศึกษาครั้งนี้ที่ที่แฟนเพจ เฟซบุ๊ก ของอนุสาร อ.ส.ท. www.facebook.com /osotho

  

No comments:

Post a Comment