Sunday, August 16, 2020

สัญจรผาแคนยอน ชมรอยตีนอาร์โคซอร์ เยือนต้นตอฟอสซิลไดโนเสาร์ เสริมเรื่องราวเศรษฐกิจชุมชน กับกรมทรัพยากรธรณี

 


ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ

อุทยานธรณีก้าวไกล นำพาไทยก้าวหน้า ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน” คือสโลแกนล่าสุดของการจัดทัศนศึกษา “สื่อมวลชนสัญจร” ของกรมทรัพยากรธรณี ลงพื้นที่ศึกษาดูงานเขตอุทยานธรณีเพชรบูรณ์และอุทยานธรณีขอนแก่น เมื่อวันที่ ๑๐-๑๑ สิงหาคมที่ผ่านมา โดยนายมนตรี เหลืองอิงคะสุต รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี นำทัพสื่อมวลชนจากหลากหลายสาขา เหินฟ้าจากท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง กรุงเทพมหานคร ไปลงยังสนามบินนานาชาติขอนแก่น ก่อนจะเดินทางต่อด้วยรถตู้ มุ่งหน้าสู่อุทยานธรณีเพชรบูรณ์เป็นลำดับแรก

นายมนตรี เหลืองอิงคะสุต รองอธิบดี
ไข่อาร์โคซอร์ เมนูธรณีวิทยา
น้ำมะเม่าสีสดสวย

ที่ร้านทูน คอฟฟี่ ร้านกาแฟซึ่งร่วมอยู่ใน “เครือข่ายอุทยานธรณีเพชรบูรณ์” นายวิศัลย์ โฆษิตานนท์ ผู้อำนวยการอุทยานธรณีเพชรบูรณ์ ได้กล่าวต้อนรับพร้อมทั้งบรรยายถึงจุดเด่นของอุทยานธรณีเพชรบูรณ์ รวมทั้งให้คณะสื่อมวลชนชิมกาแฟพิเศษที่เกิดจากความโดดเด่นทางธรณีวิทยาที่พัฒนาจนได้รับรางวัลวิสาหกิจชุมชน คือกาแฟอะราบิกา “อาร์โคซอร์” ตราอุทยานธรณีเพชรบูรณ์ รสชาติเข้มข้น หอมหวน แต่คาเฟอีนต่ำ อาหารว่าง “ไข่อาร์โคซอร์” ที่ทำจากหน่อไม้และไส้อั่ว และเครื่องดื่มน้ำมะเม่า หอมหวานชื่นใจ

น้ำตกนาคราชตาดหมอก
น้ำตกนาคราชตาดหมอก

จุดแรกที่คณะเข้าเยี่ยมชมคือแคนยอนน้ำหนาว ที่บ้านโคกมน ตำบลโคกมน อำเภอน้ำหนาว ในบริเวณวัดโคกมน ถัดจาก “นาคราชตาดหมอก” น้ำตกสายเล็ก ๆ ซึ่งประดับด้วยประติมากรรมพญานาคไปเล็กน้อย บนจุดชมวิวสามารถมองหน้าผาชันที่มีโครงสร้างหินเรียงกันเป็นระเบียบคล้ายขนมชั้น เกิดจากตะกอนที่ตกสะสมอยู่ในทะเลสาบเมื่อราว ๒๐๐ ล้านปีทับถมก่อนจนแข็งตัวเป็นหินชั้น แล้วถูกการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกทำให้ชั้นหินยกตัวขึ้น โก่งงอและแตกหักเป็นแนวยาวตามทิศทางที่โก่งตัว กลายเป็นหน้าผาความสูงกว่า ๒๐๐ เมตร ชั้นหินแต่ละชั้นมีความทนทานต่อการกัดกร่อนที่ต่างกัน ชั้นหินดินดานที่อยู่ด้านล่างจะถูกกัดกร่อนได้ง่ายที่สุด ในขณะที่ชั้นหินทรายและหินทรายแป้งที่อยู่ด้านบนจะมีความทนทานมากกว่า เมื่อชั้นหินดินดานถูกกัดกร่อนผุพังไปก่อน จึงเกิดเป็นโค้งเว้าเข้าไปในหน้าผา แรงโน้มถ่วงของโลกก็จะดึงชั้นหินทรายและหินทรายแป้งที่ไม่มีชั้นหินดินดานรองรับให้พังทลายตามลงมา


กระบวนการนี้เมื่อเกิดอย่างต่อเนื่องส่งผลให้หน้าผาขยายกว้างออกไปเรื่อย ๆ นานนับแสนนับล้านปี จนปัจจุบันกลายเป็นผาหินโค้งกว้างใหญ่ที่มีริ้วลายสวยงามคล้ายกับ ”แกรนด์แคนยอน” ในสหรัฐอเมริกา แต่เล็กกว่า โดยเฉพาะแคนยอนน้ำหนาวนี้ยังมีสายน้ำตกใหญ่ที่ชื่อว่า “ตาดหมอก” หลากไหลจากลำธารทิ้งตัวลงจากหน้าผาสู่หุบเขาซึ่งปกคลุมด้วยแมกไม้เขียวขจีเบื้องล่าง ยิ่งในช่วงหลังจากฝนตกใหม่ ๆ จะเห็นสายน้ำสีขุ่นพุ่งออกจากหน้าผาเป็นสายใหญ่ตกลงกระทบหินผาเบื้องล่างเสียงสนั่นหวั่นไหว สร้างความน่าตื่นตาตื่นใจให้เป็นทวีคูณ


ไม่ไกลจากกันที่บ้านดงมะไฟ ตำบลโคกมนเช่นเดียวกัน เป็นที่ตั้งของน้ำตกตาดใหญ่ บนผาหินดินดานที่ถูกยกตัวขึ้นมาโดยการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก ทำให้เกิดการคดโค้งและเกิดรอยแตกบนพื้นหินขึ้น เมื่อสายน้ำผ่านมาตกลงตรงบริเวณนั้นนานเข้าก็กัดกร่อนจนคดโค้งกลายเป็นลำธารกว้างและลึกลงไป ตลอดแนวน้ำตกจะเห็นหินดินดานซ้อนทับกันเป็นชั้น ๆ อย่างชัดเจน ธารน้ำไหลไปจนสุดตรงหน้าผาสูงชัน ก่อนทิ้งดิ่งลงไปตามความสูงราว ๖๐ เมตรสู่เบื้องล่าง ถือเป็นแหล่งปรากฏการณ์ทางธรณีที่งดงามอีกแห่ง

ภูผาจิตมองเห็นจากจุดชมทิวทัศน์
บนผาหินสูงชันที่พบรอยตีนอาร์โคซอร์


รอยตีนอาร์โคซอร์


บ่ายคล้อยไปพอสมควร ณ ที่ว่าการอำเภอน้ำหนาว คณะเดินทางต้องเปลี่ยนพาหนะจากรถตู้เป็นรถกระบะยกสูง เพื่อเดินทางผ่านถนนลูกรังคดเคี้ยวขึ้นลงไปตามเนินเขาที่สองฟากเป็นไร่ข้าวโพด เส้นทางไปสุดที่ศาลาหลังเล็กอันเป็นจุดเริ่มต้นทางเดินสู่ผารอยตีนอาร์โคซอร์ ในเขตบ้านนาพอสอง ตำบลน้ำหนาว อำเภอน้ำหนาว หลังจากเดินไปจุดชมทิวทัศน์ที่มองเห็นภูผาจิตตระหง่านอยู่เบื้องหน้าแล้ว คณะก็เดินเท้าลัดเลาะตามทางที่ชันดิ่งลงสู่หุบเขาเบื้องล่าง ผ่านป่ากล้วย ป่าไผ่ ระยะทางประมาณ ๕๐๐ เมตร เพื่อพบกับผาหินทรายแผ่นมหึมาตระหง่านตั้งชันจากพื้นกว่า ๔๕ องศา ลักษณะเป็นลานหินกว้างใหญ่ในแนวตะแคงน่าตื่นตา



บนลานหินนี้เองที่มีผู้พบรอยตีนสัตว์ดึกดำบรรพ์ชนิดหนึ่ง ผู้เชี่ยวชาญของกรมทรัพยากรธรณีสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นรอยตีนของสัตว์จำพวกอาร์โคซอร์ (Archosaurs) กลุ่มสัตว์เลื้อยคลานที่มีชีวิตอยู่ในยุคไทรแอสซิก อายุประมาณ ๒๒๙-๒๐๔ ล้านปี ลักษณะคล้ายจระเข้ตัวใหญ่ แต่หางสั้น กินเนื้อสัตว์เป็นอาหาร ถือเป็นสัตว์ที่อยู่บนรอยต่อวิวัฒนาการระหว่างจระเข้กับไดโนเสาร์ รอยตีนที่พบบนสามแนวทางเดินมีมากกว่า ๓๐๐ รอย คุ้มค่ากับความเหน็ดเหนื่อยหนักหนาในการเดินไต่ความสูงลงมาชมและไต่กลับขึ้นไป


อุทยานไดโนเสาร์ศรีเวียง

คณะออกเดินทางย้อนกลับมาพักที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อให้ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไกลในวันรุ่งขึ้น โดยวันที่สองนี้เป็นการเยี่ยมชมในส่วนของอุทยานธรณีขอนแก่น ซึ่งมีความโดดเด่นทางธรณีวิทยาในด้านแหล่งซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ จนถึงขั้นที่เรียกได้ว่าเป็น “อาณาจักรไดโนเสาร์” เพราะเป็นแหล่งที่พบไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ของโลกถึง ๕ สายพันธุ์


รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณีและคณะสื่อมวลชน


สาย ๆ ของวัน คณะเข้าเยี่ยมชมศูนย์ข้อมูลอุทยานธรณีขอนแก่นและอุทยานไดโนเสาร์ศรีเวียงซึ่งเต็มไปด้วยรูปปั้นของไดโนเสาร์ทั้งห้าที่ค้นพบในขอนแก่น ก่อนจะเดินทางต่อไปยังศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์แห่งแรกของประเทศไทยที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ดำเนินงานด้านสำรวจ วิจัย อนุรักษ์ และจัดแสดง รวมทั้งยังมีเครือข่ายความร่วมมือศึกษาวิจัยไดโนเสาร์ในระดับนานาชาติ และจัดกิจกรรมเรียนรู้เรื่องไดโนเสาร์สำหรับเยาวชน


โครงกระดูกจำลองแสดงให้เห็นภาพของฟอสซิลที่สมบูรณ์


แวะชมลานขุดเจาะค้นหายูเรเนียมอันนำไปสู่การค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์ชิ้นแรกของประเทศไทยในบริเวณหลุมขุดค้นที่ ๓ สถานที่พบท่อนขาของ “ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน” ไดโนเสาร์กินพืชขนาดยักษ์ชนิดใหม่ของโลก ภายในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติภูเวียง


 เมนูจีโอพาร์ครสเด็ด

มื้อกลางวันที่ครัวเวียงเก่า ชาวคณะได้ลิ้มลองรสชาติของอาหารการกินที่ดึงเรื่องราวทางธรณีมาผสมผสานเป็นเมนู “ขอนแก่นจีโอปาร์ค” ทำให้อาหารพื้นบ้านธรรมดาดูน่าสนใจมากขึ้นในแบบ “พาเข่า” คืออาหารชุดรวมที่ประกอบด้วยไก่ทอด “กินรี มิมัส” ที่นำเอาชื่อไดโนเสาร์ขนาดเล็กคล้ายไก่ที่พบเฉพาะในประเทศไทยมาขนานนามให้  น้ำพริกหนุ่มและแกงป่า”ครีเตเชียส” ผักหน่อไม้จากแผ่นดินดินในยุคครีเตเชียส ต้มยำปลา“เลปิโดเทส” ที่ตั้งชื่อตามปลามีเกล็ดดึกดำบรรพ์ และ ตำสะท้านป่าไดโน่ ส้มตำจากผลิตผลบนแผ่นดินไดโนเสาร์

กระบวนการทอผ้าดั้งเดิมถูกปรับปรุงสู่ผ้าฝ้ายธรณิน


ต้นอินทผลัมภายในบ้านสวนสัมฤทธิ์

ช่วงบ่ายเป็นการเยี่ยมชมกิจกรรมของชุมชนท้องถิ่นที่เชื่อมโยงเข้ากับอุทยานธรณีขอนแก่น ซึ่งมีผลอย่างสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน โดยเริ่มจากโคกภูตากา โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชพื้นเมืองอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่เน้นด้านการศึกษาพันธุ์พืชบนเส้นทางเดินป่าของชุมชน ผ้าฝ้ายธรณินของกลุ่มทอผ้าบ้านโคกม่วง นำภูมิปัญญาการทอผ้าแบบท้องถิ่นดั้งเดิมมาประยุกต์ผสมผสานกับการย้อมสีที่มาจากหิน นำมาย้อมผ้าฝ้ายที่ใช้ทอจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์เด่นของชุมชน และสวนอินทผลัมบ้านสวนสัมฤทธิ์ ที่ใช้ความอุดมสมบูรณ์ของดินที่เกิดจากธรณีวิทยาส่งผลให้ดินและน้ำมีสภาพความกร่อยนิด ๆ เหมาะกับการปลูกอินทผลัมให้ได้รสชาติดี ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งจากการเดินทางในครั้งนี้ทำให้เห็นอย่างชัดเจนถึงประโยชน์ของ “อุทยานธรณี” ที่เป็นทรัพยากรเอื้อประโยชน์ให้กับกับชุมชนและผู้คนในพื้นที่ในทุก ๆ ด้านไม่ใช่เพียงแค่แหล่งท่องเที่ยวเท่านั้น

ชมภาพถ่ายและวีดิทัศน์การเดินทางสื่อมวลชนสัญจรของกรมทรัพยากรธรณีในครั้งนี้เพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊ก : www.facebook.com/artontheways

 อาร์โคซอร์

No comments:

Post a Comment