Friday, October 28, 2016

ท่องอดีตกาล บ้านเชียง-ภูพระบาท

ภาคภูมิ น้อยวัฒน์เรื่องและภาพ

ตีพิมพ์ครั้งแรกใน อนุสาร อ.ส.ท.ปีที่ ๔๘  ฉบับที่ ๑๐ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

            หลายวันก่อนได้หยุดพักผ่อนอยู่กับบ้าน มีเวลาว่าง ผมก็เลยไปรื้อเอาวีดีโอซีดีที่ซื้อเก็บเอาไว้นานแล้วออกมาดู

            เพิ่งมาสังเกตเห็นว่าผมซื้อมาแต่สารคดีเกี่ยวกับมัมมี่เต็มไปหมด ถึงหน้าปกจะแตกต่างกันไปเพราะมาจากหลายค่ายหลายบริษัท ทว่าก็เรื่องมัมมี่ทั้งนั้น  ตอนแรกก็หนักใจสงสัยว่าต้องดูมัมมี่ทั้งวันจนหน้าแทบจะเป็นมัมมี่ไปเลยละกระมัง 

 แต่เอาเข้าจริงก็นั่งดูนอนดูจนลืมเวลาครับ เพราะว่าสนุกตื่นเต้นไปกับเรื่องราววิธีค้นคว้าหาความจริงของนักโบราณคดีจากร่องรอยของซากศพและข้าวของเครื่องใช้ที่ทำให้เรียนรู้ถึงชีวิตความเป็นอยู่ประจำวันของผู้คนในสมัยนั้นได้ ทั้งที่ห่างไกลจากช่วงเวลาปัจจุบันหลายพันปี
 
ที่ผมชอบที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องมัมมี่สวมหน้ากากของชาวชินโคโร ในประเทศชิลี ซึ่งไม่ได้มีอาณาจักรยิ่งใหญ่อะไร เพราะเป็นชนเผ่าประมงชายฝั่ง แต่กลับรู้จักวิธีทำมัมมี่ในแบบของตัวเอง ตรวจสอบแล้วมีอายุอยู่ในช่วง ๗,๐๐๐-,๐๐๐ปี เรียกว่าเก่าแก่กว่ามัมมีของอียิปต์หลายเท่า

            ดูแล้วผมก็อดไม่ได้ที่จะคิดถึงแหล่งมรดกโลกบ้านเชียงของไทยเรา ที่จังหวัดอุดรธานีครับ
 
เปล่าครับไม่ใช่ว่ามีใครไปขุดเจอมัมมี่ขึ้นที่บ้านเชียงหรอก แต่นึกถึงก็เพราะว่าบ้านเชียงของเราเองก็มีอายุเก่าแก่ย้อนหลังไปถึง ๕,๖๐๐ ปี  แถมยังมีเรื่องราวที่สืบสาวได้จากหลุมฝังศพเหมือนกันอีกด้วย  เพราะพบหม้อดินเผานับร้อยใบที่พบในหลุมศพ ซึ่งมีหลากขนาด หลายรูปแบบ กับเอกลักษณ์อันโดดเด่นไม่ซ้ำใครด้วยลวดลายเขียนสีอันพิสดารตระการตา

            ถึงไม่มี มัมมี่แต่ก็มี มัมหม้อละว่างั้นเถอะ


             จะว่าไปแล้วเรื่องราวความเป็นมาของชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่สืบสาวจากหม้อดินในหลุมศพโบราณ จนกระทั่งได้ข้อมูลสำคัญที่ทำให้บ้านเชียงได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ก็สนุกสนานน่าตื่นเต้นไม่แพ้การไขปริศนาความเป็นมาของมัมมี่อยู่เหมือนกัน 
 
ครับ และนั่นก็คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผมมาปร๋ออยู่ที่อุดรธานีอีกครั้ง  


เยือนถิ่นหม้อดินเผาเขย่าโลก

แม้ว่าที่บ้านเชียงเดี๋ยวนี้จะไม่ได้มีการขุดค้นทางโบราณคดีให้เห็นกันแบบสด ๆ แล้ว แต่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียงก็ได้เก็บรวบรวมเรื่องราวการขุดค้นตั้งแต่ต้นทั้งหมดเอาไว้  โดยเฉพาะได้ข่าวมาว่าเมื่อไม่นานมานี้ได้มีการปรับปรุงครั้งใหญ่ เพื่อให้ทันสมัยและมีความน่าสนใจ สมศักดิ์ศรีดีกรีมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่ได้รับมา

            ดูท่าจะแจ๋วจริงอย่างว่าครับ แค่เลี้ยวรถเข้าที่ลานจอด ก็รู้สึกได้ว่าอะไรต่อมิอะไรแปลกตาไปจากที่เคยเห็นเยอะ ผมลองเตร่ไปเดินเล่นดูรอบ ๆ  ด้านนอกจัดภูมิทัศน์ใหม่ สร้างอาคารศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอย่างดี เรียงรายด้วยร้านขายของที่ระลึกเป็นระเบียบ ปลูกสนามหญ้าใหม่ทำเป็นสวนสาธารณะ พรั่งพร้อมด้วยเครื่องไม้เครื่องมือออกกำลังกายเสร็จสรรพ อนุสาวรีย์โดดเด่นเป็นสง่าอยู่ริมบึงใหญ่ ข้ามสะพานไปเป็นศาลาสัญลักษณ์เฉลิมพระเกียรติครองราชสมบัติครบ ๖๐ ปี บรรยากาศดีลมพัดโกรกเย็นสบาย เหมาะกับการกินลมชมวิวในยามเย็น


             ซื้อบัตรผ่านประตูเหยียบย่างเข้าสู่ในรั้วพิพิธภัณฑ์ก็ไม่แพ้กันครับ สัญลักษณ์มรดกโลกเด่นสง่าอยู่กึ่งกลางสนามหญ้าข้างหน้าที่ตัดแต่งเขียวขจี มองไปทางไหนก็เอี่ยมอ่องไปหมด เข้าไปข้างในอาคารสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่เป็นพิพิธภัณฑ์ ก็ปรับปรุงใหม่ ชั้นล่างมุมหนึ่งจัดเป็นร้านขายเครื่องดื่ม ถัดเข้าไปอีกหน่อยเป็นร้านขายหนังสือและของที่ระลึก  แลดูทันสมัยขึ้นจมเชียวละ

            เดินคนเดียวก็เปลี่ยวใจ ผมก็เลยพยายามทำตัวให้กลมกลืนไปกับนักท่องเที่ยวที่มากันเป็นกลุ่มใหญ่ เดินตามเขาต้อย ๆ เลี้ยวเข้าห้องไปชมวีดีโอแนะนำความเป็นมากันเสียก่อนตามธรรมเนียม เสร็จสรรพเดินออกมาก็เจอเจ้าหน้าที่ยิ้มแฉ่งชี้ทางให้เดินขึ้นบันไดไปชมชั้น ๒


 พ้นบันไดก็เจอเข้ากับห้องนิทรรศการชั่วคราวครับ จัดแสดงนิทรรศการเคลื่อนที่หัวข้อ บ้านเชียง การค้นพบยุคสำริดที่สาบสูญ ซึ่งเคยไปตระเวนเผยแพร่ที่สหรัฐอเมริกามาแล้วในช่วงระหว่างปี พ.. ๒๕๒๕ ถึง ๒๕๒๙ นำเสนอประวัติความเป็นมา ข้อมูลการสำรวจขุดค้น และศึกษาวิจัยเกี่ยวกับบ้านเชียง อันเป็นความร่วมมือระหว่างกรมศิลปากรกับมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย 
 
 ว่ากันตั้งแต่การค้นพบชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเขียนลวดลายสีแดงของบ้านเชียงในพ.. ๒๕๐๙  ตอนนั้นนายสตีเฟน ยัง บุตรชายของเอกอัครราชฑูตสหรัฐอเมริกา นักศึกษาวิชาสังคมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด เข้ามาศึกษาเรื่องราวของหมู่บ้าน เดิน ๆ อยู่สะดุดรากไม้ตะครุบกบป้าบลงไป ประสบพบเข้ากับเศษเครื่องปั้นดินเผาลวดลายสีแดงที่ว่า เกิดสนใจขึ้นมา ก็เลยเก็บเอาไปให้ผู้เชี่ยวชาญทางโบราณคดีดู

ในนิทรรศการเขาสเก็ตช์เป็นภาพวาดลายเส้นตอนสะดุดรากไม้ไว้ให้ชมเสียด้วยนะ ผมยืนดูอยู่เห็นใครไปใครมาก็หยุดหัวเราะกันคิกคักตรงภาพนี้ทุกที (บางคนไม่หัวเราะเฉย ๆ ครับ ยังตั้งข้อสงสัยขึ้นมาอีกว่าบางทีหนุ่มสตีเฟนแกอาจจะเดินไปกับเพื่อนนักศึกษาสาว แล้วสะดุดหกล้ม เลยแกล้งทำเป็นเก็บเศษหม้อบ้านเชียงไปวิจัยแก้เขิน แหม …ช่างคิดเสียเหลือเกิน)


            แต่ไม่ว่ายังไงนั่นก็เป็นก้าวแรกที่นำไปสู่การขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านเชียงครั้งแรกของกรมศิลปากรในปีพ.. ๒๕๑๐  ละครับ ซึ่งก็ได้หลักฐานทางโบราณคดีมากมาย โดยเฉพาะหม้อดินเผาเขียนลวดลายสีแดง ที่สร้างความตื่นตะลึงไปทั่วโลก เพราะชิ้นส่วนส่งไปตรวจหาอายุ ด้วยวิธีเทอร์โมลูมีเนสเซนส์ ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกาแล้วผลออกมาว่ามีอายุถึง ๗,๐๐๐ ปี   (เพิ่งมารู้หลังจากนั้นอีกหลายปีครับว่า ผลตรวจผิดพลาด พวกหม้อดินเผาเขียนลายสีแดงน่ะ เป็นของในยุคสุดท้าย อายุแค่ ๒,๒๐๐,๘๐๐ปี เท่านั้น)

           การขุดค้นครั้งที่ ๒ ของกรมศิลปากรจึงตามมาในปีพ.. ๒๕๑๕ ซึ่งในครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถยังได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรหลุมขุดค้นที่บริเวณวัดโพธิ์ศรีในและที่บ้านมนตรีพิทักษ์ด้วย ซึ่งหลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีในต่อมาก็ได้คงสภาพไว้เป็นพิพิธภัณฑ์หลุมขุดค้นกลางแจ้ง  ส่วนบ้านมนตรีพิทักษ์ ในเวลาต่อมา  นายพจน์ เจ้าของบ้าน ก็ได้มอบบ้านพร้อมที่ดินให้กับกรมศิลปากรเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานในการเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรหลุมขุดค้นมนตรีพิทักษ์

            ส่วนการขุดค้นครั้งใหญ่ที่สุดคือในปีพ..๒๕๑๗ -๒๕๑๘ ทางกรมศิลปากรได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา จัดทำโครงการวิจัยโบราณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำรวจแหล่งโบราณคดีต่าง ๆ ทั่วทั้งภาค พร้อมทั้งขุดค้นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญหลายแห่งทั้งที่บ้านเชียง บ้านต้อง บ้านผักตบ อุดรธานี และที่แหล่งโบราณคดีตอนกลางจังหวัดขอนแก่น 

           ได้ข้อมูลมากมายครับ เพราะใช้วิธีศึกษาแบบสหวิทยาการ วิเคราะห์หลักฐานที่ได้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ โดยผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา ทั้งนักพฤกษศาสตร์ นักสัตวศาสตร์ นักปฐพีวิทยา นักโบราณคดี  ฯลฯ  เป็นที่มาของความรู้ความเข้าใจในสังคมและวัฒนธรรมของชาวบ้านเชียงในยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่มีอยู่ทั้งหมด รวมทั้งนิทรรศการที่ผมกำลังชมอยู่นี่ด้วย

 สังเกตดูนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ดูจะไปสนใจมุงกันอยู่แต่ โครงกระดูกนิมรอด ที่จัดแสดงไว้ ตรงมุมกลางห้อง อันเป็นหลักฐานของรูปแบบการฝังศพบุคคลสำคัญที่ได้รับการยกย่องในสังคมแต่ผมกลับชอบที่จะเดินดูบรรดาหม้อดินเผาที่จัดแสดงอยู่มากมายหลายตู้มากกว่า เพราะว่าตรงนี้เขาเลือกชิ้นที่เป็นมาสเตอร์พีซเอามาใส่ตู้ไว้ให้ชม คัดเอาเฉพาะรูปแบบที่เป็นจุดเด่นของยุคเลยละครับ แต่ละชิ้นสวยแปลกตาทั้งนั้น
   
ในยุคแรก ก็จะมีภาชนะดินเผาใช้ฝังศพเด็ก อายุประมาณ ๔,๕๐๐๓๕๐๐ ปี  เป็นหม้อใบใหญ่มีลวดลาย ใช้ใส่ศพทารกอายุไม่กี่อาทิตย์  ส่วนยุคกลางคือช่วงถัดมา อายุประมาณ ๓,๐๐๐-,๓๐๐ ปี  จะมีหม้อดินเผาขนาดใหญ่ผิวบางละเอียดงดงาม ยุคนี้มีธรรมเนียมทุบภาชนะให้แตกก่อนใส่ลงไปในหลุมศพ ก็เลยมีการแสดงวิธีต่อภาชนะที่แตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยขึ้นมาใหม่เป็นของแถมเอาไว้ให้ดูในตู้ด้วย ซึ่งผมเห็นแล้วก็ต้องยอมคารวะในฝีมือคนปะติดปะต่อขึ้นมาทันที  เพราะแตกชนิดเรียกว่าไม่มีชิ้นดีเลยก็ว่าได้ คงต้องใจเย็น ใช้เวลาเป็นปี ๆ ในการประกอบขึ้นมาใหม่  ในขณะที่ยุคสุดท้าย อายุประมาณ ๒,๓๐๐,๘๐๐ปี  จะเน้นการประดับประดาเขียนสีลวดลายบนภาชนะดินเผาอย่างวิจิตรบรรจงละลานตาด้วยรูปแบบลวดลายอิสระที่ไม่ซ้ำกัน ก็ได้แต่ทึ่งในฝีไม้ลายมือของคนโบราณครับ ช่างคิดช่างสร้างสรรค์เสียจริง

นอกจากนี้ยังมีตู้จัดแสดงเครื่องปั้นดินเผาแบ่งตามยุคสมัยให้เห็นกันชัด ๆ ว่ายุคไหนปั้นแบบไหนอีกส่วนหนึ่งด้วย โดยเครื่องปั้นดินเผายุคแรก,๖๐๐ ปี-,๐๐๐ ปี จะมีหม้อสีดำขัดมันลายขูด  หม้อลายเชือกทาบ และ หม้อมีเชิงสีดำ ที่แบ่งเป็น ๒ ส่วน ส่วนบนขัดมันมีลวดลายกดประทับ ลายสลับฟันปลาส่วนล่างเป็นลายเชือกทาบ ในความรู้สึกผม หม้อสมัยนี้ทั้งพื้นผิวและรูปแบบให้ความรู้สึกดิบ ๆ ได้ใจในความเก๋า

เครื่องปั้นดินเผายุคกลาง,๐๐๐ -,๓๐๐ ปี ภาชนะที่ใช้ในการฝังศพยุคนี้งดงามทางด้านประติมากรรมเหนือกว่าสมัยอื่นด้วยผิวที่บางสม่ำเสมอ (เสียดายที่ถูกทุบแตกทุกใบ ยังดีนะที่นักโบราณคดีประกอบขึ้นมาใหม่ได้) ที่เด่นก็เป็นหม้อก้นกลม อายุ ๒,๔๐๐ ปี ที่ประกอบขึ้นมาจากเศษภาชนะดินเผาในหลุมศพเด็ก  หม้อลายขูดขีด และเขียนสีลายเรขาคณิต  อายุ ๓,๐๐๐ ปี มีลายเชือกทาบตามแนวตั้ง แล้วยังมีลวดลายขูดขีดบาง ๆ  และภาชนะก้นแหลม อายุ ๒,๘๐๐๒๒,๔๐๐ ปี มีทั้งแบบเขียนสีแดง ลายขูด และสีขาวเรียบแบบไม่มีลวดลาย  ดูรวม ๆ แล้วถูกใจผมที่ทรวดทรงแปลกตา หรูหรามีดีไซน์


เครื่องปั้นดินเผายุคหลัง,๓๐๐-,๘๐๐ ปี เป็นเครื่องปั้นดินเผาเขียนลวดลายสีแดงเป็นลายก้านขดงดงามอ่อนช้อยไม่ซ้ำกัน  สมัยหลังนี้จะไม่ทุบให้แตก แต่จะวางภาชนะที่ทั้งหนาทั้งหนักไว้บนศพแทน ชิ้นเด็ด ๆ ที่แสดงไว้ก็ได้แก่ หม้อเขียนสีแดงบนพื้นสีนวล อายุ ๒,๓๐๐-,๑๐๐ ปี วางอยู่คู่กับหม้อเขียนลายสีแดงบนพื้นแดงที่เกิดขึ้นหลังลายแดงบนพื้นนวล อายุ ๒,๐๐๐,๘๐๐ ปี  หม้อผิวขัดมัน,๓๐๐ -,๑๐๐ ปี ประดับลวดลายตกแต่งง่าย ๆ  ใบนี้มีผิวมันเงา ที่เขาว่าเกิดจากการถูด้วยหินกลมมนขณะกำลังผึ่งให้แห้ง และหม้อเขียนลายแดงผิวขัดมัน,๒๐๐,๘๐๐ ปี เป็นแบบสุดท้ายของหม้อสมัยนี้ ปากผายเขียนลายเข้มผิวขัดมันวาวเงาแว๊บ ยุคสุดท้ายนี่เล่นเอาตาลายไปเหมือนกันครับ เพราะทั้งขัดมันทั้งลวดลายจี๊ดใจเหลือเกิน

 จากห้องนิทรรศการชั่วคราวมีทางเดินที่เชื่อมไปยังอีกอาคาร  เข้าสู่ห้องจัดแสดงภาพถ่าย ซึ่งภาพชุดสำคัญที่ไม่ควรพลาดชมคือภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการขุดค้นทางโบราณคดีในบริเวณวัดโพธิ์ศรีใน และบริเวณบ้านนายพจน์ มนตรีพิทักษ์  เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.. ๒๕๑๕  นอกจากนี้ยังมีภาพถ่าย พร้อมประวัติของบุคลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านเชียงอีกหลายต่อหลายท่าน ให้ผู้มาเยือนได้รู้จักหน้าค่าตาและประวัติความเป็นมา


ถัดเข้าไปในห้องโถงใหญ่อีกห้องถือว่าเป็นทีเด็ดครับ เพราะเป็นหัวข้อการปฏิบัติงานทางโบราณคดี จำลองห้องปฏิบัติงานของนักโบราณคดีแบบเดียวกับในสมัยที่ทำการขุดค้นเอาไว้เหมือนจริงทุกอย่าง ทั้งโต๊ะเก้าอี้ ตาชั่ง กระดานดำ เครื่องไม้เครื่องมือ ชิ้นส่วนโบราณวัตถุที่อยู่ในระหว่างรอการอนุรักษ์ห่อไว้ในถุงผ้าขาวเป็นแถว ภาชนะที่ประกอบเรียบร้อยก็จัดวางเรียงกันเป็นระเบียบบนชั้นวาง รวมทั้งลำดับเหตุการณ์การขุดค้นแหล่งโบราณคดีที่บ้านเชียงในปีต่าง ๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ตรงกลางห้องยังมีหลุมขุดค้นทางโบราณคดีจำลองอยู่ข้างล่าง ล้อมด้วยระเบียงทางเดินสี่ด้านเดินชมจากด้านบนได้รอบ มองลงไปเห็นหุ่นนักโบราณคดีขนาดเท่าคนจริงในท่วงท่าปฎิบัติงานขุดค้น คนหนึ่งกำลังแซะดินออกจากโครงกระดูก อีกคนหนึ่งกำลังถ่ายภาพอย่างขะมักเขม้น ฝั่งตรงข้ามกันยังมีหุ่นนักโบราณคดีอีกคนกำลังยืนจดบันทึกข้อมูลอยู่ท่ามกลางกลุ่มหม้อดินเผาบ้านเชียงที่แตกหักกระจัดกระจาย  ผมลองลงบันไดไปดูใกล้ ๆ  ทุกอย่างจำลองไว้เนี้ยบมากครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกภาชนะดินเผา โครงกระดูกคน แม้กระทั่งโครงกระดูกสุนัข ก็ทำเสียเหมือนของจริงเปี๊ยบจนดูไม่ออก


 ผ่านเข้าไปอีกห้องที่มีป้ายเขียนเอาไว้ว่าเป็นหัวข้อวัฒนธรรมบ้านเชียงยุคก่อนประวัติศาสตร์  ห้องนี้จะถือว่าเป็นการสรุปภาพรวมของวัฒนธรรมบ้านเชียงก็ว่าได้ เพราะสองฟากทางเดินที่ลดเลี้ยวจัดเป็นหุ่นจำลองวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชนก่อนประวัติศาสตร์รวมไปถึงสภาพแวดล้อมในยุคสมัยนั้นตามหลักฐานที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดี 

เรียกว่าเอาข้อมูลที่มีทั้งหมดมาประมวลผลสร้างสรรค์ให้เห็นเป็นตัวตนแบบสามมิติจับต้องได้กันเลยละครับ (เอาเข้าจริงก็ห้ามจับนั่นแหละ เดี๋ยวพัง) อย่างน้อยก็ดูเป็นรูปธรรมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือน  แม้แต่ชีวิตความเป็นอยู่ อาหารการกิน รายละเอียดปลีกย่อยล้วนแต่สอดแทรกอยู่ในหุ่นจำลองทั้งสิ้น ทำให้ดูสนุกน่าสนใจมากขึ้น เหมือนย้อนยุคกลับไปอยู่ในบ้านเชียงสมัยเมื่อหลายพันปีก่อน ได้เห็นได้สัมผัสกันจริง ๆ


 อย่างที่พบหลักฐานว่ามีการล่าสัตว์ เขาก็ทำบรรยากาศรอบข้างเป็นป่า พร้อมกวางจำลองยืนจังก้าตระหง่าน ถัดไปอีกด้านติด ๆ กันหุ่นจำลองนายพรานสมัยบ้านเชียงกำลังเอาหอกยาวแทงกวางที่ล้มนอนอยู่บนพื้น  หรือในส่วนของการเลี้ยงสัตว์ก็เห็นทำเป็นควายจำลองนอนหมอบอยู่ในคอกอย่างดี มีฉากหลังเป็นบ้านเรือนชุมชนในสมัยนั้น

ที่ขาดไม่ได้ก็คือการปั้นภาชนะดินเผาเขียนลวดลายสีแดง  อันนี้เขาทำเป็นหุ่นคนสมัยบ้านเชียงกำลังนั่งประดิดประดอยปั้นหม้อใบใหญ่อยู่บนลานหน้าบ้าน ท่ามกลางหม้อดินที่ปั้นเสร็จแล้วมากมาย รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ทั้งหลายแหล่ที่ใช้ในการปั้น เช่นเดียวกันกับการทำเครื่องมือเครื่องประดับจากโลหะ เราก็จะเห็นหุ่นจำลองชายชาวบ้านเชียงบ้างกำลังหลอมโลหะ บ้างเทโลหะลงในแม่พิมพ์ บ้างก็กำลังใช้ค้อนตอกตีให้เป็นรูปเป็นร่าง เครื่องไม้เครื่องมืออะไรก็วางไว้ให้เห็นกันอยู่ มีให้ชมทุกขั้นตอนการผลิต



             มาถึงตรงนี้ก็เห็นภาพของบ้านเชียงชัดเจนครับ ในฐานะชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในบริเวณหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เริ่มต้นขึ้นอย่างน้อยกว่า ๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว แถมยังมีวัฒนธรรมของชุมชนที่ปรับตัวเข้ากับสภาพภูมิประเทศแบบที่ราบลุ่มได้เป็นอย่างดี สามารถดึงเอาผลประโยชน์ออกมาจากสภาพแวดล้อมที่ประกอบด้วยป่าผสมที่ลุ่ม  

            มิหนำซ้ำยังรู้จักดัดแปลงสภาพแวดล้อมธรรมชาติบางส่วนให้กลายเป็นสภาพแวดล้อมระบบใหม่ที่เหมาะสำหรับการสำหรับการปลูกข้าว จนกลายเป็นเศรษฐกิจหลัก การดัดแปลงธรรมชาติก็ประสบผลสำเร็จมากจนสังคมวัฒนธรรมมั่นคง สามารถพัฒนาต่อ มาอีกเป็นระยะเวลานานนับพันปี โดยมีพัฒนาการทางเทคโนโลยีในการทำภาชนะดินเผาและด้านโลหกรรมเกิดขึ้นด้วย

            และนั่นก็คือเหตุผลที่บ้านเชียงได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมจากยูเนสโก


            ลงบันไดมาผมก็พบว่าเป็นห้องสุดท้ายพอดี ห้องนี้จัดแสดงโบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้นที่วัดโพธิ์ศรีในเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๔๖ ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ก็เป็นภาชนะดินเผานั่นแหละครับนับร้อยใบ จัดแบ่งเป็นหมวดหมู่ตามยุคสมัยเรียงรายไว้ในตู้ ไล่เรียงไปตั้งแต่ภาชนะดินเผายุคต้น ภาชนะดินเผายุคกลาง และภาชนะดินเผายุคปลาย  แถมพกด้วยเครื่องมือและเครื่องประดับที่ทำจากสำริดและเหล็กอีกนิดหน่อย

 หลายคนอาจจะคิดว่ามีแต่หม้อดินเผาให้ดู ไม่เห็นจะน่าสนุกตรงไหน แต่ความจริงแล้วถ้าเรารู้ว่าอะไรเป็นอะไรมันก็ทำให้สนุกขึ้นมาได้ ยิ่งได้ข้อมูลจากนิทรรศการในห้องที่ผ่าน ๆ มาแล้วด้วย ดูเพลินไปเลยละครับ ตัวหม้อเองก็มีความน่าสนใจอยู่แล้ว 

ไหนจะทรวดทรงของหม้อที่แปลกตา บ้างก็ก้นกลม บ้างก็ก้นแหลม บ้างก็มีขา ไหนจะขนาดที่หลากหลาย มีตั้งแต่เล็กจิ๋วไปจนใหญ่เบ้อเริ่มเบ้อร่า  ไหนจะลวดลาย มีทั้งแปะนูน ทั้งขูดขีด ทั้งเชือกทาบ ทั้งเขียนลาย ฯลฯ  ผมน่ะเดินวนไปเวียนมาดูตู้โน้นทีตู้นี้ทีอย่างไม่รู้จักเบื่อหน่ายได้เป็นชั่วโมง  ๆ 

“เก็บข้อมูลไปทำรายงานหรือจ๊ะ สงสัยตรงไหนถามได้นะ” คุณพี่เจ้าหน้าที่หญิงที่นั่งเฝ้าห้องอยู่เห็นผมสนอกสนใจมากเป็นพิเศษกว่าใครเลยเข้ามาทักทาย ผมได้แต่ยิ้มตอบไป (ไม่บอกหรอกครับว่ามาจากอ.ส.ท. เพราะชอบเล่นบทปลอมตัวมาแบบร้อยตำรวจเอกในหนังไทย)  

คุณพี่ก็ดีใจหายเดินนำหน้าพาไปชมพร้อมอธิบาย “ ภาชนะสีดำนี่จะมีแต่ยุคแรกเท่านั้น อย่างเป็ดดินเผาสีดำนี่ก็เหมือนกัน สันนิษฐานว่าใช้ใส่น้ำ  แต่รูปร่างมันอาจจะดูคล้ายคอมฟอร์ต ๑๐๐ สมัยใหม่ไปหน่อยนะ”  นั่นแน่ะ ลูกเล่นไม่เบาเหมือนกัน



พักเดียวก็รอบห้อง ได้ข้อมูลใหม่ ๆ ที่น่าสนใจเพิ่มเติมมากมาย ด้วยความประทับใจในการบริการ ผมก็เลยสอบถามชื่อเสียงเรียงนามได้ความว่าชื่อพี่สิริพรรณ สุทธิบุญ  ครับ มารู้ทีหลังว่านามสกุลเดิมของคุณพี่เธอก็คือมนตรีพิทักษ์ ที่แท้เป็นลูกของคุณพจน์ มนตรีพิทักษ์ เจ้าของบ้านที่เป็นหนึ่งในหลุมขุดค้นนั่นเอง

“ตอนในหลวงกับพระราชินีเสด็จฯ ทอดพระเนตรหลุมขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านเชีย น่ะ พี่เรียนอยู่ป. ๔ ท่านเสด็จมาประทับที่บ้าน บ้านนั้นต่อมาพ่อพี่ก็ยกให้กรมศิลปากร  ไปดูมารึยังล่ะ ที่เขาเรียกเรือนไทยพวนน่ะ บ้านพี่เอง เดี๋ยวออกไปอย่าลืมแวะไปดูนะ ตอนนี้ปรับปรุงใหม่แล้ว”

ร่ำลาคุณพี่ใจดีกลับออกมาเกือบจะได้เวลาปิดทำการแล้ว ไม่น่าเชื่อครับ เที่ยวดูตั้งแต่เช้า เพลิดเพลินจนลืมกินข้าวกลางวัน พอนึกได้ก็หิวแสบไส้มือไม้สั่นขึ้นมาทันที ต้องรีบเข้าร้านอาหารหน้าพิธภัณฑ์ไปหาอะไรรองท้อง  อิ่มหมีพีมันค่อยสบายขับรถคันเก่งเวียนไปดู หลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีใน พิพิธภัณฑ์ที่หลุมขุดค้นซึ่งเป็นหลักฐานการฝังศพและโบราณวัตถุที่พบ ตั้งแต่ปีพ.. ๒๕๑๕ 


จำได้ว่าตอนผมมาเมื่อหลายปีก่อนมีปัญหาน้ำท่วมขังภายในหลุม  แต่ตอนนี้เขาปรับปรุงใหม่แล้ว ยกของเก่าออกไป เอาแบบจำลองลงไปแทนที่ แต่ไม่บอกก็คงไม่รู้ เพราะเหมือนของจริงทุกประการ รอบหลุมขุดค้นยังมีนิทรรศการพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการขุดค้นทางโบราณคดีที่วัดโพธิ์ศรีใน เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๑๕  รวมทั้งประวัติการขุดค้นตั้งแต่พ.. ๒๕๑๕ จนกระทั่งถึงปัจจุบัน


 ส่งท้ายไม่ลืมที่จะไปแวะดูเรือนไทยพวน หรือบ้านมนตรีพิทักษ์ที่ได้มอบบ้านและที่ดินให้กรมศิลปากรเมื่อพ.. ๒๕๔๖๕๐ กรมศิลปากรจึงได้ปรับปรุงเรือนไทยพวนเพื่อเป็นอนุสรณสถานในการเสด็จพระราชดำเนิน มาทอดพระเนตรหลุมขุดค้นมนตรีพิทักษ์ เห็นเขาว่าจะจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวไทยพวนในอดีต แต่ตอนที่ผมมานี่ยังไม่เห็น มีแต่เจ้าหน้าที่มากวาดลานบ้านอยู่  ทว่าแค่ได้มาดูมาเห็นสถาปัตยกรรมบ้านเรือนแบบไทยพวนที่สวยงามก็คุ้มค่าที่แวะเวียนมาแล้วละครับ

คืนนี้ผมกลับไปนอนหลับสบายเพราะยืน ๆ เดิน ๆ มาทั้งวัน เมื่อยขาเหลือหลาย แถมยังฝันเห็นหม้อดินเผาบ้านเชียงหลากแบบหลายสไตล์ลอยวนเวียนไปมา (ท่าจะบ้านเชียงขึ้นสมองแฮะ)


เยี่ยมศาสนสถานเพิงผา ว่าที่มรดกโลก

มาถึงอุดรธานีทั้งที จะเที่ยวดูแค่บ้านเชียงที่เดียวก็คงจะไม่ครบถ้วนกระบวนความ  เพราะยังมีอีกแห่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นก็คืออุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
 
ที่นี่ไม่ได้เป็นแค่แหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ธรรมดานะครับ เพราะว่ามีร่องรอยหลักฐานว่าเป็นรอยต่อกันกับยุคประวัติศาสตร์เสียด้วย  ที่สุดยอดไปกว่านั้นคือเป็นแหล่งโบราณคดีที่ตั้งอยู่ท่ามกลางภูมิทัศน์ธรรมชาติอันงดงามแปลกตาของป่าเขือน้ำ บนเทือกเขาภูพานอันเป็นหนึ่งในต้นน้ำสำคัญที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขง เรียกว่ารวมสามคุณสมบัติในหนึ่งเดียว 

ครึ่งค่อนวันแล้วครับ ที่ผมมาเตร็ดเตร่อยู่บนเส้นทางที่ลัดเลาะผ่านไปในผืนป่าโปร่ง และลานหินที่เรียงรายด้วยหินซึ่งถูกกัดกร่อนจากกาลเวลาเป็นรูปร่างประหลาดเป็นเป็นเสาเป็นเพิงหินใหญ่  บรรยากาศชวนให้จินตนาการไปถึงเรื่องราวตำนานรักอันแสนเศร้าที่เล่าขานกันมา อุสา-บารส


นางอุสาเป็นหญิงสาวที่เกิดขึ้นจากดอกบัว พระฤาษีจันทาได้เก็บมาเลี้ยง ต่อมาท้าวกงพานเจ้าเมืองพาน ซึ่งเป็นศิษย์ของพระฤาษีได้ขอนางไปเป็นราชธิดา เมื่อเจริญวัยขึ้นนางมีรูปโฉมที่งดงามและกลิ่นกายที่หอมกรุ่น เป็นที่ปรารถนาของเจ้าชายหลายเมืองได้มาสู่ขอ แต่ท้าวกงพานก็ทรงรักหวงแหนพระราชธิดาบุญธรรม ไม่ยอมยกให้ใคร ถึงกับสร้างหอสูงไว้บนภูเขาเป็นตำหนักให้นางอุสา ขณะพำนักศึกษาวิชาอยู่กับพระฤาษี

วันหนึ่งนางอุสาได้ไปเล่นน้ำในลำธารใกล้ ๆ และได้เก็บดอกไม้มาร้อยเป็นมาลัยรูปหงส์ ก่อนจะเสี่ยงทายหาคู่ด้วยการลอยมาลัยไปกับสายน้ำ มาลัยลอยไปถึงเมืองปะโคเวียงงัว ท้าวบารสซึ่งเป็นเจ้าชายทรงเก็บมาลัยได้จึงทรงม้าเสด็จออกตามหาเจ้าของมาลัยพร้อมด้วยข้าราชบริพาร

เข้าเขตเมืองพาน เมื่อถึงหินใหญ่ก้อนหนึ่งม้าก็ไม่ยอมเดินต่อ ท้าวบารสจึงทรงผูกม้าไว้ก่อนจะพาบริวารเดินเที่ยวป่าในบริเวณนั้น จนพบกับนางอุสาซึ่งกำลังอาบน้ำอยู่ และได้รู้ว่าเป็นเจ้าของมาลัยที่เสี่ยงทาย จึงเกิดผูกสมัครรักใคร่กันขึ้น แอบอยู่กินกันบนตำหนักหอนางอุสานั่นเอง


ต่อมาท้าวกงพานทรงทราบเรื่องก็พิโรธหนัก จะจับท้าวบารสประหาร แต่เหล่าเสนามาตย์ทัดทานเอาไว้เนื่องจากกลัวว่าจะมีปัญหากับเจ้าเมืองปะโค  ท้าวกงพานจึงออกอุบายท้าทายให้ท้าวบารสสร้างวัดแข่งกันให้เสร็จภายในวันเดียว โดยนับเวลาตั้งแต่เช้าจนกระทั่งถึงดาวประกายพรึกขึ้น ใครสร้างไม่เสร็จจะต้องเป็นฝ่ายถูกประหาร

ท้าวกงพานได้เกณฑ์ไพร่พลมากมายมาช่วยกันสร้างวัดในขณะที่ท้าวบารสมีเพียงข้าราชบริพารที่ติดตามมา จึงสร้างได้ช้ากว่า พี่เลี้ยงของนางอุสาจึงออกอุบายให้นำเอาโคมไฟไปแขวนบนยอดไม้ใหญ่กลางดึกทำทีเป็นดาวประกายพรึกขึ้นแล้ว ฝ่ายไพร่พลของท้าวกงพานเห็นดังนั้นก็หยุดสร้างในขณะที่ฝ่ายท้าวบารสเร่งมือจนแล้วเสร็จทันเวลา เป็นอันว่าท้าวกงพานต้องเป็นผู้ถูกประหารเสียเอง


หลังจากนั้นนางอุสาได้ติดตามท้าวบารสกลับเมืองปะโค ทว่าที่เมืองนั้นท้าวบารสมีชายาอยู่แล้วหลายองค์ จึงอิจฉาริษยานางอุสา สมคบกับโหราจารย์ให้ทำนายว่าท้าวบารสมีเคราะห์ร้าย ต้องออกบำเพ็ญเพียรในป่าองค์เดียวเป็นเวลา ๑ ปี จึงจะพ้นเคราะห์ เมื่อท้าวบารสเสด็จออกนอกเมืองเหล่าชายาก็หาทางกลั่นแกล้งนางอุสาต่าง ๆ นา ๆ จนในที่สุดนางทนไม่ไหวต้องหนีกลับไปอยู่กับพระฤาษี ก่อนจะล้มป่วยและสิ้นใจลงด้วยความตรอมใจบนหออันเคยเป็นรังรักในที่สุด

ผ่านไป ๑ ปี ท้าวบารสกลับมาถึงเมือง ทราบข่าวก็รีบติดตามมา แต่ช้าเกินไป เมื่อพบว่านางอันเป็นที่รักจากไปอย่างไม่มีวันกลับแล้ว ท้าวบารสก็ตรอมใจสิ้นพระชนม์ตามไปด้วย (เศร้า)

อดคิดเล่น ๆ ไม่ได้ว่านี่ถ้ามีใครเอาไปสร้างเป็นละคร ชื่อประมาณว่า รักรันทดบนภูพระบาท เขียนบท ทำโปรดักชันให้ดี ๆ แบบเดียวกับละครซีรีส์เกาหลี นักท่องเที่ยวที่มาคงจะมีจินตนาการและอารมณ์ร่วมซาบซึ้งไปกับสถานที่ได้ไม่ยาก เหมือนกับที่เกาหลีเขาใช้ละครในการโปรโมทสถานที่ท่องเที่ยวของเขาสำเร็จจนโด่งดังไปทั่วโลก ทั้งที่เป็นแค่เรื่องแต่งขึ้นมาใหม่ล้วน ๆ  เรื่องราวในตำนานอุสา-บารสของเราขลังกว่าเป็นไหน ๆ  เพราะเป็นตำนานเก่าเล่าขานสืบกันมา มิหนำซ้ำกลายเป็นส่วนหนึ่งของภูพระบาทไปแล้วอย่างแยกไม่ออก

 ก็บนเส้นทางที่ผมเดินผ่านมา เพิงหินทุกแห่งมีชื่อเกี่ยวพันกับเหตุการณ์ตามตำนานทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นคอกม้าน้อย คอกม้าท้าวบารส สถานที่ผูกม้าของท้าวบารส  ถ้ำฤาษี ที่อยู่ของพระฤาษีจันทา  บ่อน้ำนางอุสา สถานที่พบรักของนางอุสากับท้าวบารส  หอนางอุสา สถานที่ครองรักของทั้งสอง วัดพ่อตา กับวัดลูกเขย ที่ท้าวกงพานท้าวบารสสร้างแข่งกัน มีแม้กระทั่ง  หีบศพพ่อตา   หีบศพนางอุสา  และหีบศพท้าวบารส ครบครันทุกตัวละคร 


แต่ในทางโบราณคดีแล้วเพิงหินเหล่านี้มีความสำคัญในฐานะที่เป็นหลักฐานของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ครับ เพราะมีร่องรอยภาพเขียนสีแดงเป็นรูปฝ่ามือ รูปคน และรูปสัตว์ รวมทั้งลวดลายเรขาคณิตตามเพิงผาและถ้ำต่าง ๆ  (ที่เห็นชัดเจนเป็นชิ้นเป็นอันก็คือถ้ำวัวและถ้ำคน ครับ) ซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับการประกอบพิธีกรรมบางอย่าง แต่ในขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นถึงการเก็บของป่า ล่าสัตว์ อันเป็นวิถีการดำรงชีวิตของคนในยุคหลายพันปีก่อนด้วย


ที่แจ๋วไปกว่านั้นก็คือใต้เพิงเหล่านี้ได้ถูกใช้เป็นศาสนสถานต่อเนื่องกันมาจนถึงสมัยประวัติศาสตร์อีกต่างหาก หลักฐานก็คือใบเสมาหินขนาดใหญ่ที่ปักล้อมรอบเพิงหินทรายหลายแห่ง วัดพ่อตา วัดลูกเขย เป็นตัวอย่างการดัดแปลงเพิงหินเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งมีทั้งพุทธและฮินดู เห็นได้จากถ้ำพระซึ่งจำหลักพระพุทธรูปในซุ้มเรือนแก้ว รวมทั้งเทวรูปไว้ในเพิงหินใกล้ ๆ กัน นอกจากนี้ยังมีการสร้างเจดีย์ขนาดเล็กบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เรียกได้ว่าภูพระบาทนี้เป็นกลุ่มโบราณสถานที่เก่าแก่ที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ และมีความสืบเนื่องกันมายาวนานที่สุดแห่งหนึ่ง

ด้วยความโดดเด่นในข้อนี้เองอุทยานภูพระบาทจึงเป็นอุทยานประวัติศาสตร์แห่งล่าสุดของไทยที่ได้รับการเสนอชื่อเพื่อให้ยูเนสโกพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ซึ่งมีวี่แววเสียด้วยว่าจะได้ ก็คงต้องรอลุ้นกันต่อไปละครับ มรดกโลกทางธรรมชาติก็มีแล้ว มรดกโลกทางวัฒนธรรมก็มีแล้ว ภูพระบาทนี่ถ้าได้ก็จะเป็นมรดกโลกแบบผสมที่ประเทศไทยเรายังไม่เคยมี

            ถึงตอนนั้นผมก็คงจะมีโอกาสได้กลับมาที่นี่ใหม่อีกครั้ง

แต่ตอนนี้ชักเมื่อยเต็มที ขอกลับไปนอนพักผ่อนดูวีดีโอมัมมี่ก่อนก็แล้วกันครับ เชื่อไหมนี่ที่ซื้อเอาไว้ยังดูไม่หมดเลย


ขอขอบคุณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท และเจ้าหน้าที่
ผู้เกี่ยวข้องทุกท่านที่ได้ช่วยอำนวยความสะดวกให้สารคดีเรื่องนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

เอกสารอ้างอิง

ศิลปากร,กรม. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท. มปพ.
ศิลปากร.กรม.มรดกโลกบ้านเชียง. กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์,๒๕๕๐.


คู่มือนักเดินทาง

รถยนต์ส่วนตัว
จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑ ไปเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๒ ที่จังหวัดสระบุรี ผ่านจังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่นถึงจังหวัดอุดรธานี รวมระยะทางประมาณ ๕๖๔ กิโลเมตร
รถโดยสารประจำทาง

              มีบริการรถโดยสารปรับอากาศ ๒๔ที่นั่ง สายกรุงเทพฯ-อุดรธานี ออกจากสถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ หมอชิต ๒ ทุกวัน อัตราค่าโดยสาร ๖๔๐ บาท ใช้เวลาเดินทาง ๙ ชั่วโมง จองตั๋วได้ที่โทรศัพท์ ๐ ๒๙๓๖ ๐๖๕๗

รถไฟ
            การรถไฟแห่งประเทศไทยมีบริการรถไฟกรุงเทพฯ อุดรธานีทุกวัน อัตราค่าโดยสาร รถด่วน ชั้น ๒ ปรับอากาศ  ๔๗๙ บาท ชั้น ๓ พัดลม  ๒๔๕ บาท รถเร็วชั้น ๒ ปรับอากาศ  ๓๒๙ บาท ชั้น ๓ พัดลม ๒๐๕ บาท จองตั๋วได้ที่โทรศัพท์ ๐ ๒๒๒๐ ๔๔๔๔

            พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียงอยู่ห่างจากตัวเมืองอุดรธานี ๕๕ กิโลเมตร ใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๒ (อุดรธานี-สกลนคร) เลยสี่แยกเข้าอำเภอบ้านดุงไปเล็กน้อย เลี้ยวขวาทางหลวงหมายเลข ๒๒๐๓ เข้าไปอีกประมาณ ๘ กิโลเมตรก็จะถึงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง โทรศัพท์ ๐ ๔๒๒๐ ๘๓๔๐

            อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อยู่ห่างจากตัวเมืองอุดรธานี ๖๗ กิโลเมตร ใช้ทางหลวงหมายเลข ๒ (อุดรธานี-หนองคายระยะทางประมาณ ๑๓ กิโลเมตร มาเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๐๒๑ ไปทางอำเภอบ้านผือ ระยะทางประมาณ ๔๒ กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๓๔๘ อีก ๑๒ กิโลเมตร ก็ถึงที่ทำการอุทยานฯ โทรศัพท์ ๐ ๔๒๒๕ ๑๓๕๐-๒ หรือขึ้นรถโดยสารรับจ้างสายอุดรธานี-บ้านผือ-น้ำโสม หรือสายอุดรธานี-นายูง ที่หน้าตลาดรังษิณา  อัตราค่าโดยสาร ๒๐ บาท ลงที่บ้านติ้ว แล้วต่อมอเตอร์ไซค์รับจ้างขึ้นไปยังอุทยานฯ  อัตราค่าโดยสารประมาณ ๓๐ บาท ควรนัดหมายมอเตอร์ไซค์ให้มารับกลับด้วย เพราะบนอุทยานฯ ไม่มีมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

หมายเหตุ อัตราค่าโดยสารอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ควรตรวจสอบก่อนเดินทางอีกครั้ง
           




No comments:

Post a Comment