Monday, July 21, 2014

Muse Mobile มิวเซียมติดล้อ ชุดที่ ๓ ที่จังหวัดมหาสารคาม


ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...รายงาน
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท.ปีที่ ๕๕ ฉบับที่ ๑  ประจำเดือนสิงหาคม ๒๕๕๗

สถาบันพิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) จัดโครงการ Muse Mobileมิวเซียมติดล้อ” เพื่อเป็นต้นแบบของการสร้างพื้นที่ของการเรียนรู้ใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย อันจะนำไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้  เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศในทุก ๆ ด้านต่อไป

“มิวเซียมติดล้อ” คือรูปแบบพิพิธภัณฑ์แนวใหม่ที่จัดทำนิทรรศการไว้ในตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ด้วยเทคนิคการนำเสนออันทันสมัยและน่าสนใจ แล้วนำไปจัดแสดงตามสถานที่ต่าง ๆ ในลักษณะ พิพิธภัณฑ์เคลื่อนที่ เพื่อสร้างพื้นที่ใหม่ ๆ ของการเรียนรู้สู่ทุกภูมิภาคของประเทศ  โดยเน้นการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เข้าเยี่ยมชม ที่ผ่านมาทางสพร.ได้จัดทำนิทรรศการในรูปแบบ “มิวเซียมติดล้อ” ไปแล้วรวม ๓ ชุด ชุดแรกคือนิทรรศการ “เรียงความประเทศไทย ฉบับย่อ” เดินทางไปจัดแสดงมาแล้วใน  ๑๓ จังหวัด ชุดที่สองคือ นิทรรศการ “ฮู้จักเพื่อนไทย เข้าใจตัวตนคนอีสาน” จัดแสดงแล้วใน ๖ จังหวัด


ล่าสุดชุดที่สาม คือนิทรรศการ ”อัจฉริยภาพตัวตนคนอีสาน”  ประเดิมแสดงที่จังหวัดมหาสารคามเป็นแห่งแรก โดยร่วมกับเทศบาลเมืองมหาสารคาม จัดขึ้นที่บริเวณลานจอดรถหน้าห้างสรรพสินค้าเสริมไทยคอมเพล็กซ์ จังหวัดมหาสารคาม เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากเด็ก เยาวชน และประชาชนในท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก  โดยในคอนเทนเนอร์ใหญ่ ๔  หลังที่เรียงกันเป็นรูปตัวยู บอกเล่าถึงประวัติความเป็นมาของภาคอีสาน ด้วยการแบ่งเนื้อหาเป็นหลังละหัวข้อ


หัวข้อที่ ๑ จั๊งซี่ละอีสาน เล่าเรื่องทางภูมิศาสตร์ของอีสาน ผ่านคำถามต่าง ๆ  เช่น ทำไมอีสานถึงเป็นที่ราบสูง ทำไมอีสานถึงแห้งแล้ง ทำไมอีสานไกลทะเลแต่มีเกลือ ฯลฯ  พร้อมทั้งนำเสนอทรัพยากรในดินของอีสานอย่าง ฟอสซิลดึกดำบรรพ์ ปิโตรเลียม เกลือและทองแดง แต่ที่สำคัญที่สุดคือทรัพยากรมนุษย์ หรือ “คนอีสาน” ซึ่งประสบความสำเร็จสุดยอดในหลากหลายอาชีพ



หัวข้อที่ ๒ หม่องนี้ดีคัก  เล่าถึงภูมิปัญญาของชาวอีสานที่แม้แผ่นดินแห้งแล้ง แต่คนอีสานก็ไม่เคยขาดแคลนอาหารการกิน ด้วยความสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศ โดยใช้พืชมหัศจรรย์อย่างไผ่ที่ใช้เป็นอาหาร ใช้สร้างบ้านเรือน และทำเครื่องไม้เครื่องมือทำมาหากินต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี  นอกจากนี้ยังมีแบบจำลองของเกวียนหลากหลายรูปแบบ อันเป็นพาหนะพื้นเมืองที่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของชาวอีสานให้ผู้เข้าชมได้สัมผัส



หัวข้อที่ ๓ ฮีตสิบสองคองสิบสี่  เล่าถึง “ฮีต” หรือ จารีต หมายถึงสิ่งที่ปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนานจนเป็นประเพณีอันดีงาม  ซึ่งมีทั้งหมด ๑๒  ฮีตในรอบหนึ่งปี และ “คองสิบสี่”  หมายถึงทำนองคลองธรรม ๑๔ ประการ อันเป็นกรอบปฏิบัติของผู้ปกครอง ผู้ใต้ปกครอง พระสงฆ์ และชาวบ้าน เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขของบ้านเมือง โดยในหัวข้อนี้มีจุดเด่นอยู่ที่ภาพยนต์อนิเมชั่น  “ศึกล่าฝน” ที่เล่าขานตำนานความเป็นมาเรื่องประเพณีบั้งไฟของชาวอีสานด้วยระบบ ๔ มิติ อย่างตื่นตาตื่นใจ


หัวข้อที่ ๔ ออนซอนอีสาน   เล่าถึงมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาวอีสานที่สืบเนื่องกันมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์  ก่อนจะเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ในสมัยทวารวดี สมัยขอมโบราณ  ปรากฏร่องรอยสถาปัตยกรรมอันยิ่งใหญ่งดงามอย่างเช่น แหล่งวัฒนธรรมบ้านเชียง ภูพระบาท ปราสาทหิน และแหล่งโบราณคดีอีกมากมายที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วแผ่นดินอีสาน  ซึ่งอดีตอันรุ่งเรืองได้หล่อหลอมความเป็นอีสานจนมีเอกลักษณ์อย่างที่เห็นในปัจจุบัน


ในบริเวณโดยรอบยังได้มีการจัดกิจกรรม “โฮงวัฒนธรรม” นำเสนอการกินอยู่และวิถัชีวิตแบบอีสาน ให้ผู้เข้าชมได้ร่วมมีประสบการณ์ด้วยตัวเองเช่น การทำข้าวเม่าพื้นเมือง การทอเสื่อ และการปั้นหม้อ พร้อมอาหารพื้นบ้านหายากให้ลองชิม และจำหน่ายผลิตภัณฑ์หัตถกรรมพื้นเมือง รวมทั้งยังมีกิจกรรม “ประกวดดนตรีสร้างสรรค์” ให้กลุ่มวัยรุ่นได้สัมผัสและเข้าถึงแนวดนตรีพื้นบ้านอีกด้วย 


ทั้งหมดนี้เป็นการตอกย้ำให้นิทรรศการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายคือกลุ่มเด็ก เยาวชน และบุคคลทั่วไป  ซึ่งหากนับจากเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ อันเป็นจุดเริ่มต้นโครงการ ถึงวันนี้ก็เป็นเวลา ๕ ปีเต็ม ที่โครงการมิวเซียมติดล้อได้เข้าถึงเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ คือสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้นอกห้องเรียน ให้กับเยาวชนและประชาชนใน  ๒๐ จังหวัดทั่วประเทศ มีจำนวนผู้เข้าชมมากกว่า ๒๕๐,๐๐๐คน  และมีหน่วยงานให้ความร่วมมือมากกว่า ๖๐ หน่วยงาน และโครงการยังคงดำเนินการให้มีชุดใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคต
            

        สนใจติดต่อนิทรรศการมิวเซียมติดล้อไปจัดแสดง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ เลขที่ ๔ ถนนสนามไชย แขวงบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๒๕ ๒๗๗๗  โทรสาร ๐ ๒๒๒๕ ๒๗๗๕ ชมภาพถ่ายและวิดิทัศน์มิวเซียมติดล้อ ชุดที่ ๓  ที่มหาสารคามเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/osotho และ  www.museumsiam.org