Monday, May 26, 2014

“เยาวชนตากล้อง ท่องเที่ยวไทย” รับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี




“กล้องเล็ก ถ่ายภาพโต” รายงาน ชชนน ธานีรัตน์...ภาพ

      เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๐ มกราคม ที่ผ่านมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารศิลป์สิริ ณ โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติ ๔๘ พรรษา ตำบลต้นธง อำเภอเมืองฯ  จังหวัดลำพูน เพื่อใช้เป็นอาคารฝึกอาชีพสำหรับนักเรียนของโรงเรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายแล้วไม่มีโอกาสศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยให้มีอาชีพ ได้แก่ อาชีพทำเครื่องปั้นเซรามิค การเพ้นต์ลายผ้า การทอผ้าพื้นเมือง และการผลิตน้ำดื่ม  

โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติ ๔๘ พรรษา เป็นโรงเรียนประจำหญิงล้วน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธย ย่อ "สธ" ประดิษฐานเหนือชื่อโรงเรียน  จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ โดยมูลนิธิร่วมน้ำใจต้านภัยเอดส์ ซึ่งมีนางสายสม วงศาสุลักษณ์ เป็นประธานมูลนิธิฯ บนเนื้อที่ทั้งสิ้น ๒๔ ไร่  ติดกับถนนสายลำพูน-ป่าซาง อำเภอเมืองฯ จังหวัดลำพูน ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นโรงเรียนสามัญประเภท ๓ คือโรงเรียนประเภทสงเคราะห์  จัดการศึกษาตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ ๖แบบอยู่ประจำให้เปล่าแก่เยาวชนสตรีซึ่งเป็นบุตรของผู้เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์  รวมถึงเด็กหญิงยากไร้และด้อยโอกาสจากถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศ ปัจจุบันมีนักเรียนทั้งหมด ๓๑๙ คน

ทางโรงเรียนจัดการศึกษาโดยมุ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ พัฒนาให้ผู้เรียนมีคุณธรรมนำวิชาการ ภูมิใจในความเป็นไทย เห็นคุณค่าของวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข ใช้หลักสูตรการเรียนการสอนของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีการเพิ่มเติมในส่วนของทักษะวิชาชีพให้แก่นักเรียนตามความถนัด ซึ่งมีให้เลือกตามความสนใจทั้งด้านเกษตรกรรม ศิลปหัตถกรรม  รวมไปถึงด้านการท่องเที่ยวที่ทางโรงเรียนได้รับคัดเลือกจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ทางด้านการท่องเที่ยว       มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเมืองลำพูน และการท่องเที่ยว เพื่อใช้ในกิจกรรมมัคคุเทศก์รุ่นเยาว์ “เจ้าบ้านน้อย”  


  เมื่อปลายปี ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา โครงการเยาวชนตากล้อง ท่องเที่ยวไทย โดยนายภาคภูมิ น้อยวัฒน์ บรรณาธิการฝ่ายภาพอนุสาร อ.ส.ท.  ได้เข้ามาจัดกิจกรรมอบรมการถ่ายภาพท่องเที่ยว“ต้นกล้า ตากล้อง ท่องเที่ยวไทยรุ่นที่ ๗” ให้กับนักเรียนของโรงเรียน ด้วยการสนับสนุนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยภูมิภาคภาคเหนือ  ต่อด้วยการจัดอบรมเพิ่มเติมการถ่ายภาพและเก็บข้อมูล “ต้นกล้า ตากล้อง ท่องเที่ยวไทย รุ่นที่ ๗.๑ ” เพื่อจัดทำศูนย์การเรียนรู้ เกี่ยวกับชุมชนชาวเมืองยอง พร้อมกับจัดทำสารคดี “สืบสานคุณค่าบรรพชน คนเมืองยอง”  ตีพิมพ์ในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนมกราคม ๒๕๕๗ เผยแพร่กิจกรรมของนักเรียน ในฐานะโรงเรียนต้นแบบด้านชุมชนท้องถิ่นส่งเสริมการท่องเที่ยว

ทางโรงเรียนจึงได้ให้เกียรติเชิญโครงการ “ต้นกล้า ตากล้อง ท่องเที่ยวไทย” เข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการแสดงผลงานของนักเรียนในโครงการฯ ทั้งสองรุ่น พร้อมทั้งจัดแสดงผลงานสารคดี “สืบสานคุณค่าบรรพชน คนเมืองยอง” อันมีเรื่องราวกิจกรรมของเยาวชนซึ่งเป็นนักเรียนของโรงเรียนเพื่อรับเสด็จ ในบริเวณห้องโถงชั้นล่างของอาคารดรุณนิรมิต


 หลังจากทรงทำพิธีเปิดอาคารเรียบร้อยแล้ว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรผลงานของนักเรียน ในบริเวณนิทรรศการโครงการ “ต้นกล้า ตากล้อง ท่องเที่ยวไทย” อย่างสนพระทัย  โดยในการนี้นายภาคภูมิ น้อยวัฒน์ บรรณาธิการฝ่ายภาพ อนุสาร อ.ส.ท.ได้เฝ้ารับเสด็จ พร้อมทั้งทูลเกล้าฯ ถวายอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนมกราคม ๒๕๕๗ พร้อมสมุดภาพกิจกรรม “เยาวชนตากล้อง ท่องเที่ยวไทย”  ด้วย
     



Friday, May 23, 2014

กรมศิลปากรเผยโฉมเรือโบราณพันปี “พนมสุรินทร์”

เรือโบราณพันปี สมัยทวารวดี "พนมสุรินทร์" 

ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...รายงาน
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ปีที่ ๕๔ ฉบับที่ ๑๐ ประจำเดือนมิถุนายน ๒๕๕๗

เมื่อเดือนกันยายน ปี พ.ศ.๒๕๕๖ ที่ผ่านมา ในที่ดินของนายสุรินทร์และนางพนม ศรีงามดี  ในเขตหมู่ที่ ๖ ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมืองฯ จังหวัดสมุทรสาคร  ระหว่างการขุดดินเพื่อปรับพื้นที่เตรียมการสำหรับทำบ่อเลี้ยงกุ้ง ได้พบเรือไม้ขนาดใหญ่ความยาวกว่า ๒๐ เมตร จมอยู่ในดินเลนด้วยลักษณะพลิกตะแคง หัวเรือหันไปทางทิศใต้ สร้างความแปลกใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นที่ลุ่ม อยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลถึง ๗.๕ กิโลเมตร จึงได้แจ้งให้กรมศิลปากรเข้าทำการสำรวจขุดค้น

 ร่องรอยการยึดชิ้นส่วนต่าง ๆ เรือด้วยเชือก

ผลการขุดค้นทางโบราณคดีเบื้องต้นพบไม้ทับกระดูกงูกลางลำเรือ มีความยาว ๑๗.๖๕ เมตร ด้านล่างบากเป็นร่องสลับกัน สำหรับวางทับกงเรือ ชิ้นส่วนไม้บนตัวเรือใช้เชือกสีดำผูกร้อยยึดแผ่นไม้ให้ติดกันแทนการใช้ลิ่มหรือน็อต บางแผ่นเจาะรูตรงกลางแผ่นเพื่อร้อยเชือกเพิ่มความแข็งแรง พบเสากระโดงเรือ ๒ เสา เสาแรกพบอยู่ทางทิศตะวันตกของเรือมีความยาว ๑๗.๓๗ เมตร ตรงหัวเสาเจาะช่องสี่เหลี่ยม ด้านในมีรอกกลมทำด้วยไม้ติดอยู่ ส่วนโคนเสาบากเป็นแท่งสี่เหลี่ยม สันนิษฐานว่าเป็นเดือยใช้สำหรับติดตั้งบนฐานเสาเรือ  เสากระโดงเรืออีกเสาพบอยู่นอกตัวเรือทางทิศตะวันออก โคนเสาด้านหนึ่งบากเป็นสี่เหลี่ยม อีกด้านหนึ่งเป็นครึ่งวงกลม ทั้งยังพบเชือกหวายขนาดยาวพันอยู่ที่โคนเสาด้วย
ภาชนะดินเผา "แอมฟอรา"

จากการศึกษาเปรียบเทียบพบว่าเทคนิคการต่อเรือลำนี้เป็นแบบเดียวกับที่ใช้ในเรืออาหรับโบราณ. ในประเทศไทยเคยพบลักษณะนี้มาก่อนแล้วลำหนึ่งที่แหล่งเรือโบราณควนธานี อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง  ภายในเรือยังพบสิ่งของเครื่องใช้สอยต่างๆ ที่สำคัญที่สุดคือภาชนะดินเผาลักษณะคล้ายไหก้นแหลมเรียกว่า “แอมฟอร่า” อย่างที่ชาวโรมันใช้สำหรับบรรจุสินค้าของเหลว เช่น ไวน์ หรือน้ำมัน  นอกจากนั้นยังพบเครื่องถ้วยจีน และภาชนะดินเผาสมัยทวารวดีอีกเป็นจำนวนมาก 
 
บางส่วนของโบราณวัตถุที่พบในเรือ

โบราณวัตถุที่พบทำให้สามารถประมาณความเก่าแก่ของเรือได้ว่ามีอายุกว่าพันปี เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญของการเดินทางค้าขายทางทะเลข้ามทวีปจากดินแดนตะวันออกกลางผ่านอินเดียมายังภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ในต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๑ ซึ่งหลักฐานทางธรณีวิทยาพบว่าบริเวณที่พบเรือในสมัยเมื่อพันปีก่อนเป็นแม่น้ำท่าจีนโบราณที่ยังเชื่อมเป็นทางน้ำเดียวกันกับแม่น้ำเจ้าพระยา โดยการที่เรือหันหัวเรือไปทางใต้ แสดงให้เห็นว่าได้เกิดอุบัติเหตุอับปางลงในขากลับออกจากการค้าขายในเมืองท่าสมัยทวารวดี แล้วถูกทับถมจากดินตะกอนเนิ่นนานนับพันปีก่อนจะถูกค้นพบในปัจจุบัน

เพื่อเป็นเกียรติแก่นายสุรินทร์และนางพนม ศรีงามดี ซึ่งเป็นผู้ค้นพบเรือโบราณลำนี้ ทั้งยังเป็นเจ้าของที่ดิน ซึ่งในเวลาต่อมาได้บริจาคที่ดินบริเวณแหล่งขุดค้น มอบให้เป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อสาธารณประโยชน์ต่อไป จึงได้นำชื่อของทั้งสองมาตั้งเป็นชื่อเรียกเรือโบราณลำดังกล่าวว่า “เรือพนมสุรินทร์”

 บรรยากาศการเสวนาประชาคม 

กรมศิลปากรตระหนักถึงความสำคัญ ต้องการให้ประชาชนในชุมชนท้องถิ่น หน่วยงานราชการ ในพื้นที่เข้ามาร่วมกันศึกษา อนุรักษ์ และพัฒนาแหล่งเรือโบราณ อันถือได้ว่าเป็นโบราณสถานระดับชาติ จึงได้มีการจัดเสวนาประชาคมเรื่อง “เรือโบราณพนมสุรินทร์” ครั้งที่ ๑ ขึ้นที่วัดวิสุทธิวราวาส(วัดกลางคลอง) ซึ่งอยู่ใกล้กับแหล่งที่ขุดพบเรือโบราณลำดังกล่าว เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ที่ผ่านมา เพื่อเผยแพร่ความสำคัญของแหล่งโบราณคดีเรือโบราณ แนวทางการอนุรักษ์ การบริหารจัดการและระดมความคิดเห็น สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน ประชาชน และหน่วยราชการท้องถิ่นทุกภาคส่วน โดยนักวิชาการและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมการเสวนาแสดงความคิดเห็นได้แก่ ศาสตราจารย์(พิเศษ) ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นายอเนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร นายทศพร  นุชอนงค์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี นางสาวนารีรัตน์  ปรีชาพีชคุปต์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๑ ราชบุรี นายเอิบเปรม วัชรางกูร หัวหน้ากลุ่มโบราณคดีใต้น้ำ พร้อมผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง

ประชาชนเข้าชมไม้ทับกระดูกงูเรือในบ่อจัดแสดง

ประชาชนในพื้นที่ตำบลพันท้ายนรสิงห์จำนวนมากที่ทราบข่าว ต่างพากันเดินทางมาเข้าชมเรือโบราณในบริเวณแหล่งขุดค้น ซึ่งทางกรมศิลปากรได้ปล่อยน้ำซึ่งปกติท่วมมิดเรือออกบางส่วนเป็นการชั่วคราว เพื่อให้เห็นรูปร่างของเรือที่จมอยู่ในโคลนกลางบ่อได้ชัดเจนขึ้น โดยมีสปริงเกอร์พ่นน้ำหล่อเลี้ยงชิ้นส่วนต่าง ๆ ให้ชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้เสื่อมสภาพ

อธิบดีกรมศิลปากรเยี่ยมชมแหล่งขุดค้นเรือโบราณ

นายอเนก  สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากรเปิดเผยว่าด้วยความที่เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ของชาติ กรมศิลปากรจึงมีความจำเป็นต้องรักษาหลักฐานเอาไว้ในแหล่งที่ขุดพบ อันจะเป็นการรักษาโบราณวัตถุจำพวกไม้ ชิ้นส่วนเรือต่างๆ,เชือก  ซากสิ่งมีชีวิตต่างๆ ทั้งพืชและสัตว์ และสิ่งของที่ค้นพบในเรือที่เป็นข้อมูลสำคัญไปในตัว โดยมีแนวคิดจะจัดสร้างเป็นอาคารถาวรครอบแหล่งขุดค้นไว้ จัดแสดงนิทรรศการให้เห็นขั้นตอนในการดำเนินการต่างๆ  การขุดศึกษาทางโบราณคดี การสืบค้นทางประวัติศาสตร์ และการอนุรักษ์ 

ส่วนแผนระยะยาวในการพัฒนาแหล่งขุดค้นเรือโบราณแห่งนี้ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ระดับชาติเกี่ยวกับการค้าทางทะเลในสมัยโบราณนั้น อธิบดีกรมศิลปากรได้มอบหมายให้ทางสำนักศิลปากรที่ ๑ ราชบุรี และสำนักโบราณคดีใต้น้ำจัดทำแผนแม่บทอยู่ ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลาในการดำเนินการตามขั้นตอนเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า ๑๐ ปีขึ้นไป ในลักษณะของการพัฒนาเมืองวัฒนธรรมท่องเที่ยว เชื่อมโยงเข้ากับแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมในบริเวณใกล้เคียง เช่น ศาลพันท้ายนรสิงห์  ความคืบหน้าทางอนุสาร อ.ส.ท.จะได้ติดตามมานำเสนอให้ทราบต่อไปเป็นระยะ


หมายเหตุ ชมภาพถ่าย วิดิทัศน์ ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับเรือโบราณพนมสุรินทร์และโบราณวัตถุต่าง ๆ ที่ขุดพบเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/osotho
อนุสาวรีย์พันท้ายนรสิงห์
 ศาลพันท้ายนรสิงห์

Tuesday, May 20, 2014

อนุสาร อ.ส.ท.ร่วมรับประกาศนียบัตร ในงาน ๑๐๓ ปีแห่งการสถาปนากรมศิลปากร


“เกียรติมุข” รายงาน
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ปีที่ ๕๔ ฉบับที่ ๑๐ ประจำเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๗ 

นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากรเป็นประธานในพิธีเปิดงานและการจัดกิจกรรมเนื่องในวันสถาปนากรมศิลปากร ประจำปี ๒๕๕๗ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๗ มีนาคมที่ผ่านมา  บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พร้อมมอบประกาศนียบัตรและของที่ระลึกให้กับสื่อมวลชนในสาขาต่าง ๆ ที่ได้ช่วยเผยแพร่ข้อมูลในด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชาติ โดยมีนายภาคภูมิ น้อยวัฒน์ บรรณาธิการฝ่ายภาพอนุสาร อ.ส.ท. เป็นตัวแทนของอนุสาร อ.ส.ท.เข้ารับมอบประกาศนียบัตรจากอธิบดีกรมศิลปากร ในฐานะสื่อสิ่งพิมพ์ที่ได้นำเสนอเรื่องราวภารกิจการดำเนินงานของกรมศิลปากรในด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชาติอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด



บริเวณลานโดยรอบพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ยังเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าเที่ยวชมงาน ระหว่างวันที่ ๒๗ ๒๙ มีนาคม ซึ่งภายในงานมีการออกร้านโดยหน่วยงานในสังกัดกรมศิลปากรจากทั่วประเทศ แบ่งเป็นนิทรรศการจัดแสดงผลงาน  ร้านหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าจากหลากหลายท้องที่ รวมทั้งผลิตภัณฑ์และสินค้าที่ระลึกทางวัฒนธรรมในท้องถิ่นต่าง ๆ  จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ  เช่น เครื่องเงิน เครื่องปั้นสังคโลก ผ้าทอพื้นเมือง และอาหารพื้นเมือง ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่ชื่นชอบด้านศิลปวัฒนธรรมแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชมตลอดเวลาตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้าย






กรมศิลปากรสถาปนาขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๔ โดยทรงรวมงานช่างประณีตศิลป์จากกรมโยธา กระทรวงโยธาธิการเข้ากับกรมพิพิธภัณฑ์จากกระทรวงธรรมการ ตั้งขึ้นเป็นกรมศิลปากร และต่อมาได้โปรดให้โอนกรมช่างมหาดเล็กจากกระทรวงวังเข้ามารวมอยู่ด้วย  ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้โปรดให้รวมกรมศิลปากรเข้ากับหอสมุดสำหรับพระนคร แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นราชบัณฑิตยสภา กระทั่งปีพ.ศ. ๒๔๗๖ จึงได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งกรมศิลปากรขึ้นมาอีกครั้งโดยรวมงานนาฏศิลป์และดุริยางคศิลป์ในราชสำนัก สังกัดกรมต่าง ๆ  ได้แก่ กรมโขน กรมหุ่น กรมรำโคม กรมปี่พาทย์ และกรมแตรสังข์ ที่เรียกโดยรวมว่ากรมมหรสพ สังกัดกรมมหาดเล็ก กระทรวงวัง มาเป็นกองในสังกัดกรมศิลปากรด้วย 



ปัจจุบันกรมศิลปากรจึงเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่หลักในการทำนุบำรุงรักษา อนุรักษ์ ฟื้นฟู ส่งเสริม และสร้างสรรค์ ศิลปวัฒนธรรมของชาติในทุกสาขาให้ยั่งยืนอย่างสง่างาม โดยล่าสุดทางกรมศิลปากรได้มีการปรับรูปแบบภารกิจเพื่อรองรับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่รัฐบาลได้กำหนดขึ้นในปีพ.ศ. ๒๕๕๖โดยนำผลงานที่เกิดจากภารกิจทำนุบำรุงอนุรักษ์ฟื้นฟูมรดกทางวัฒนธรรมมาต่อยอดเพื่อให้เกิดประโยชน์ในแง่เศรษฐกิจแก่ชุมชนใกล้เคียง มีการเรียนรู้ สร้างภูมิปัญญาในการอนุรักษ์และสร้างสรรค์มรดกทางวัฒนธรรมให้มีคุณค่ากับชุมชนตลอดไป



โครงการนำร่องที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวของกรมศิลปากรในปีพ.ศ. ๒๕๕๗เบื้องต้นกำหนดไว้  ๕ โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาเมืองวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยวสุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร โครงการพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โครงการพัฒนาเกาะเกร็ดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีชีวิตและอัตลักษณ์ลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง และโครงการพัฒนาโรงแรมในสถานีรถไฟหัวลำโพง ซึ่งโครงการต่าง ๆ เหล่านี้อนุสาร อ.ส.ท. จะได้ติดตามความคืบหน้านำมาเสนอในโอกาสต่อไป


พิพิธภัณฑ์พระอุบาลีมหาเถระ อนุสรณ์พระพุทธศาสนสัมพันธ์สยาม- ศรีลังกา ๒๖๐ ปี










ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...รายงาน
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสารอ.ส.ท. ปีที่ ๕๔ ฉบับที่ ๑๐ เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๗

ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทางฟากตะวันตก นอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา วัดธรรมารามสงบงามอยู่ภายใต้ร่มเงาไม้รื่นเย็น อารามเก่าแก่ครั้งกรุงศรีอยุธยาแห่งนี้ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างตั้งแต่เมื่อใด ทว่าจากเรื่องราวในพงศาวดารที่บันทึกเอาไว้พอจะประมาณอายุได้ว่าไม่ต่ำกว่า ๔๑๔ ปี  โดยปรากฏว่ากองทัพพม่าที่เข้าตีกรุงศรีอยุธยามักจะเข้ามายึดเป็นสถานที่ตั้งทัพ เนื่องจากเหนือวัดขึ้นไปเป็นปากแม่น้ำลพบุรี ที่ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาอันถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ



นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่เดินทางมาตามเส้นทางไหว้พระ ๙ วัด มักจะผ่านเลยวัดธรรมาราม ซึ่งอยู่ตรงกึ่งกลางระหว่างวัดกษัตราธิราชและวัดท่าการ้องไป ทั้งที่ความจริงแล้วที่นี่มีความสำคัญอย่างยิ่งในทางพระพุทธศาสนา  เนื่องจากเป็นวัดที่เคยเป็นสถานที่จำพรรษาของพระอุบาลีมหาเถระ พระธรรมฑูตแห่งกรุงศรีอยุธยาผู้เดินทางไปฟื้นฟูพุทธศาสนาเถรวาทในศรีลังกาที่เสื่อมสูญ ให้กลับรุ่งเรืองเป็นนิกาย“สยามวงศ์”สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน


วิกฤตพุทธศาสนาในศรีลังกาครั้งนั้นเกิดขึ้นตรงกับสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย จากการคุกคามของชาวทมิฬจากอินเดีย และชาวโปรตุเกสที่เข้ามาแสวงหาอาณานิคม ทำให้ศรีลังกาสูญสิ้นคณะสงฆ์ ไม่มีพระอุปัชฌาย์ทำการอุปสมบทสืบทอดพระพุทธศาสนาต่อได้  ในพ.ศ.๒๒๙๓ พระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะ กษัตริย์ศรีลังกา ทรงมีพระราชศรัทธาที่จะฟื้นฟูพระพุทธศาสนาให้กลับคืนสู่ความรุ่งเรืองอีกครั้ง จึงโปรดให้ส่งราชทูตมายังกรุงศรีอยุธยาซึ่งในขณะนั้นตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ คณะราชทูตศรีลังกาออกเดินทางจากท่าเรือตรินโคมาลีด้วยเรือของฮอลันดานามว่าเวลตรา ผ่านเมืองอะแจ เกาะสุมาตรา แล้วแวะพักหลบฤดูมรสุมที่มะละกาห้าเดือน ก่อนจะเข้ามายังปากน้ำเจ้าพระยา ผ่านเมืองบางกอกและนนทบุรี  มาจนถึงกรุงศรีอยุธยา


ในพ.ศ.๒๒๙๔ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโปรดให้คัดเลือกพระสงฆ์ที่แตกฉานในพระไตรปิฎกและเคร่งครัดในพระธรรมวินัยรวม ๒๔ รูป นำโดยพระอุบาลีมหาเถระและพระอริยมุนีมหาเถระพร้อมสามเณรอีก ๗ รูป ออกเดินทางด้วยเรือกำปั่นหลวงที่เพิ่งต่อขึ้นใหม่เพื่อใช้เป็นพาหนะสำหรับส่งคณะสงฆ์ไทยไปลังกาโดยเฉพาะ แต่ระหว่างทางถูกพายุคลื่นใหญ่ซัดเสากระโดงหักไปเกยตื้นที่เมืองนครศรีธรรมราช จนคณะสมณฑูตต้องเดินทางกลับมายังกรุงศรีอยุธยา  

  ในปีต่อมาคือพ.ศ. ๒๒๙๕ พระอุบาลีพร้อมคณะสมณฑูตชุดเดิมจึงออกเดินทางอีกครั้งด้วยเรือกำปั่นฮอลันดา ครั้งนี้เป็นไปโดยสวัสดิภาพ ขึ้นฝั่งที่ท่าเรือตรินโคมาลีสำเร็จ พระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะโปรดให้ส่งคณะขุนนางผู้ใหญ่มารอต้อนรับคณะสมณทูตไทยไปยังนครหลวงแคนดี ตลอด ๓ ปีพระอุบาลีและคณะสมณทูตสยามฟื้นฟูพุทธศาสนาด้วยการประกอบพิธีอุปสมบทให้กับชาวลังกาและวางแผนการปกครองคณะสงฆ์ เผยแพร่ขนบธรรมเนียมชาวพุทธ รวมเป็นพระสงฆ์จำนวน ๗๐๐ รูปและสามเณร ๓,๐๐๐ รูป ก่อนที่จะพระอุบาลีจะมรณภาพในศรีลังกา โดยหนึ่งในผู้ที่พระอุบาลีเป็นพระอุปัชฌาย์ให้คือสามเณรเวลิวิตะ ศรีสรณังกร ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นพระสังฆราชองค์แรกแห่งศรีลังกา และได้ทรงตั้งนิกายสยามวงศ์ขึ้น ชื่อเต็มว่า “สยาโมปาลีมหานิกาย” หมายถึงนิกายใหญ่ของพระอุบาลีจากประเทศสยาม และดำรงอยู่มาตราบจนถึงทุกวันนี้


ปี พ.ศ.๒๕๕๖ที่ผ่านมาถือเป็นวาระครบรอบ ๒๖๐ ปีของการสถาปนาพระพุทธศาสนาสยามนิกาย ในประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกาของพระอุบาลี รัฐบาลไทยจึงได้อนุมัติงบ ๑๐ ล้านบาท บูรณะวัดธรรมารามและสร้างพิพิธภัณฑ์พระอุบาลีมหาเถระขึ้น เพื่อเฉลิมฉลอง ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๖  ณ วัดธรรมาราม โดยฝ่ายไทยมีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมด้วยนายพลเดช วรฉัตร อดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโคลัมโบ และคณะข้าราชการเข้าร่วมในพิธี ในขณะที่ทางฝ่ายศรีลังกามีสมเด็จพระสังฆราชแห่งศรีลังกา รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมและศิลปะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รองปลัดกระทรวงมรดกแห่งชาติศรีลังกาและเอกอัครราชทูตศรีลังกาประจำประเทศไทยเข้าร่วมในพิธี




ตัวอาคารพิพิธภัณฑ์พระอุบาลีมหาเถระปรับปรุงจากศาลา ๒ ชั้นเดิมของวัด  ห้องจัดแสดงเป็น โถงใหญ่อยู่ชั้นบน เย็นฉ่ำด้วยเครื่องปรับอากาศ ภายในจัดเป็นนิทรรศการถาวรให้เดินชมแบบเวียนขวาโดยเรียงตามลำดับตามหัวข้อ เริ่มจากอาจาริยบูชา บนแท่นกลางห้องประดิษฐานรูปจำลองพระอุบาลีมหาเถระแกะสลักจากไม้มะฮอกกานีความสูง ๑๘๐ เซนติเมตร อยู่เคียงข้างธรรมาสน์เก่าแก่ของวัด   ประดิษฐานลังกาวงศ์ในสยาม นำเสนอการรับอิทธิพลพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ในประเทศไทยด้วยแบบจำลองสถาปัตยกรรมสำคัญ วิกฤติพระพุทธศาสนาบนแผ่นดินลังกา ที่ใช้สื่อมัลติมีเดียนำเสนอถึงมูลเหตุที่พระพุทธศาสนาเสื่อมสูญไปจากศรีลังกาและเรื่องราวการเดินทางมากรุงศรีอยุธยาของราชทูตจากศรีลังกา



ในหัวข้อภารกิจกอบกู้พระพุทธศาสนา จัดทำเป็นห้องฉายภาพยนตร์ประกอบการแสดงแสงและเสียง  เล่าเหตุการณ์เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลของพระอุบาลีทั้งสองครั้งสองคราวอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ  ประดิษฐานสยามวงศ์ในลังกา เล่าเรื่องการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในลังกาของพระอุบาลีตลอด ๓ ปี ก่อนมรณภาพ รวมทั้งจัดแสดงพระราชสาส์นจำลอง และอัฐบริขารจำลองของพระอุบาลีไว้ให้ชมในห้องกระจก สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน แสดงภาพถ่ายผ่านจอแอลอีดี นำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย- ศรีลังกา และการสร้างพิพิธภัณฑ์พระอุบาลีมหาเถระ และหัวข้อสุดท้าย เที่ยวเมืองเก่าเข้าถึงธรรม  แผนที่เส้นทางท่องเที่ยวชมโบราณสถานในเกาะเมืองอยุธยาที่ได้รับอิทธิพลพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ ในการเข้าชมนิทรรศการทั้งหมดจะมีวิทยากรคืออาจารย์สามิต อยู่วัฒนาอดีตอาจารย์สอนศิลปะซึ่งอาสาสมัครเข้ามาช่วยงานของวัด.คอยนำชมและบรรยาย


มุมหนึ่งของห้องนิทรรศการยังจัดแสดงของที่ระลึกที่เกี่ยวข้อง เช่น รูปจำลองพระอุบาลีมหาเถระหล่อด้วยเรซิน เหรียญที่ระลึก และวัตถุมงคลต่าง ๆ  ไว้ให้ผู้มีจิตศรัทธาได้บูชากลับไป โดยรายได้ทั้งหมดจะนำมาใช้สำหรับค่าใช้จ่ายของพิพิธภัณฑ์ ซึ่งทางวัดกำลังอยู่ในระหว่างจัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อการดำเนินงานอย่างเป็นทางการต่อไป



  บนเส้นทางไหว้พระ ๙ วัดของพระนครศรีอยุธยาวันนี้ พิพิธภัณฑ์พระอุบาลีมหาเถระ วัดธรรมาราม ถือเป็นจุดหมายใหม่ที่ไม่ควรข้ามผ่าน ในฐานะอนุสรณ์สถานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาแบบเถรวาทของกรุงศรีอยุธยา ที่เคยส่งพระธรรมฑูตไปประดิษฐานพระพุทธศาสนาจนลงหลักปักฐานอย่างแน่นหนาที่ศรีลังกาในนาม “สยามวงศ์” เป็นเวลา ๒๖๐ ปีมาแล้ว  

เที่ยวเส้นทางเชียงใหม่-ปาย กับนักเขียน อ.ส.ท. กับโครงการ “เล่าเรื่องรักษ์ ฮักเมืองเหนือ”


“จุมออน” ...รายงาน  กมล ผาภูมิ วัชระ ทองนาค...ภาพ

เช้าตรู่ของวันแห่งความรัก สนามบินดอนเมืองคือจุดนัดหมายของคณะเดินทางในแพ็คเกจพิเศษ “ท่องเที่ยวกับนักเขียน อ.ส.ท.บนเส้นทางเชียงใหม่-ปาย-โครงการหลวงบ้านวัดจันทร์ ระหว่างวันที่  ๑๔-๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗” อันเป็นรางวัลสำหรับผู้ชนะการประกวดกิจกรรมเขียนบล็อกในหัวข้อ “เล่าเรื่องรักษ์ ฮักเมืองเหนือ” เพื่อแบ่งปันประสบการณ์การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในภาคเหนือ ที่จัดขึ้นโดยกองตลาดภาคเหนือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา

คณะเดินทางนำโดยนางปนัดดา จันทร์ปัญญา ผู้อำนวยการกองตลาดภาคเหนือ นายภาคภูมิ น้อยวัฒน์ บรรณาธิการฝ่ายภาพ และนักเขียน ช่างภาพ ของ อ.ส.ท. พร้อมด้วยผู้ได้รับรางวัลประเภท Blog ยอดเยี่ยม ๕ รางวัล ได้แก่  คุณกมล ผาภูมิ จากเรื่อง “ทำหมอนใบชา ใช้ชีวิตช้าๆ ที่บ้านแม่กำปอง” คุณวัชระ ทองนาค จากเรื่อง “หอบลมไปห่มหมอก” คุณภัทราวุธ นิจเมืองปัก จากเรื่อง“ปั่นไปด้วยใจฮักแป้” คุณนัทธ์หทัย วนาเฉลิม จากเรื่อง “ตำมิละ...ตำอะไร...ตำทำไม” คุณพงศธร ธิติศรัณย์  จากเรื่อง “การเดินทางในร่องรอยของความคิด”  และรางวัล Popular Vote คุณวัชระ หวลประไพ จากเรื่อง “เป็นผู้รับมานาน ขอเป็นผู้ให้บ้าง คืนกำไรสู่ธรรมชาติ”  และคุณเกษิณี กิ่งนอก จากเรื่อง “ได้เรียนรู้ ได้เป็นผู้ให้ เที่ยวแสนสุขใจที่สุโขทัย เมืองพ่อขุน” ที่ได้รางวัลสำรองแทนผู้สละสิทธิ์  รวมกับกลุ่มผู้ติดตามและคณะทำงานทั้งหมดเป็น ๑๙  ชีวิต เหินฟ้าสู่สนามบินเชียงใหม่


รถตู้ ๓ คันที่มารอรับอยู่นำพาคณะฝ่าสายลมเย็นและแดดสีทองยามเช้ามุ่งหน้าสู่จุดหมายแรกคือวัดเด่นสะหลีศรีเมืองแกน หรือที่รู้จักกันในนามเดิมว่า “วัดบ้านเด่น”  ตำบลอินทขิล อำเภอแม่แตง ชมความอลังการของหลากหลายสถาปัตยกรรมอันผสมผสานศิลปะล้านนาดั้งเดิมเข้ากับสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว ตระหง่านเรียงรายอยู่บนเนินเขาในเนื้อที่ ๘๐ ไร่แวดล้อมด้วยภูมิทัศน์สวยงามของทิวเขา จากแรงศรัทธาของพุทธศาสนิกชนที่มีต่อครูบาเทือง นาถสีโล เกจิดังแห่งล้านนา ก่อนจะแวะเติมพลังมื้อกลางวันกันที่แป้นเกล็ด คอฟฟี่ คอร์เนอร์  ร้านอาหารและกาแฟบรรยากาศร่มครึ้มเขียวขจี เสริมสีสันชีวิตชีวาด้วยฟาร์มแกะขนาดย่อม ๆ เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้จำแลงกายเป็นเด็กเลี้ยงแกะเฉพาะกิจ



ผ่านทางขุนเขาคดเคี้ยวเข้าสู่อำเภอปาย แวะจิบกาแฟกินลมชมทิวทัศน์ของท้องทุ่งนากว้างใหญ่ในโอบล้อมของทิวเทือกดอยกันอีกครั้ง ที่ร้านกาแฟเล็ก ๆ  ในรีสอร์ตน้อยน่ารักบ้านปายนาปายตา ก่อน เข้าไปยังปายวิมาน รีสอร์ต ที่พักเพื่อนำสัมภาระไปเก็บ  จากนั้นพากันไปถวายสังฆทานกันที่วัดศรีดอนชัย อารามแห่งแรก สร้างขึ้นพร้อมเมืองปายในปี พ.ศ.๑๘๕๕ สักการะพระพุทธสิหิงค์ หรือ ”พระสิงห์เมืองปาย” พระเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองในวิหารสถาปัตยกรรมล้านนาบูรณะใหม่ประดับประดาด้วยลายปูนปั้นและจิตรกรรมฝาผนังอันสวยงาม ก่อนจะพากันตั้งขบวนในลานวัด ออกปั่นจักรยานเที่ยวรอบเมืองปายในสายลมหนาว บนทางลดเลี้ยวขึ้นลงตามเนิน ทอดผ่านท้องทุ่งและทิวเทือกเขาในแสงทองยามเย็น ไปสุดปลายทาง ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองปาย
   

หลังอิ่มอร่อยกับมื้อเย็นในแบบพื้นเมืองบนดาดฟ้าของร้านปายสุดใจ  ก็เป็นช่วงเวลาอิสระ ซึ่งในวันนี้นอกจากเป็นวันแห่งความรักแล้วยังเป็นวันมาฆบูชาอีกด้วย แทบทุกคนในคณะจึงเลือกที่จะไปเวียนเทียนเพื่อความเป็นสิริมงคล ที่เมืองปายต่างกับที่อื่นตรงที่ไม่มีกำหนดเวลาการเวียนเทียนที่แน่นอน สะดวกเวลาไหนมาเวียนกันได้ตลอดเวลา โดยจะเริ่มเวียนเทียนกันตั้งแต่หนึ่งทุ่มเป็นต้นไป ในเมืองปายมีวัดเรียงรายกันอยู่ ๓ วัด คือ วัดกลาง วัดหลวง และวัดป่าขาม แต่ละวัดจะประดับประดาเจดีย์ประธานของวัดอันรายรอบด้วยมณฑปประดิษฐานพระประจำวันเกิดด้วยแสงไฟหลากสีสัน แลดูระยิบระยับตระการตาในยามค่ำคืน หลังจากเวียนเทียนเรียบร้อยหลายคนยังเพลิดเพลินต่อกับการจับจ่ายของฝากของที่ระลึกในถนนคนเดินเมืองปาย ที่อยู่ในย่านเดียวกันนั่นเอง


 รับอรุณในเช้าวันรุ่งขึ้นด้วยการเดินทางไปกันที่จุดชมทิวทัศน์หยุนไหล ห่างจากตัวเมืองปายประมาณ ๖กม. สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ๔๔๐ เมตร คำว่า หยุนไหลเป็นภาษาจีนกลาง หมายถึงแหล่งซึ่งเมฆหลากไหลมารวมอยู่ เสมือนดังชาวยูนนานที่ย้ายถิ่นฐานมาอยู่รวมกันที่นี่  ด้วยเส้นทางขึ้นเขาบางช่วงสูงชัน คณะจึงต้องเปลี่ยนจากรถตู้เป็นรถกระบะจากหมู่บ้านสันติชล ว่ากันว่าหากมาในช่วงฤดูหนาวจะได้เห็นทะเลหมอกผืนใหญ่สุดลูกหูลูกตา ทว่าแม้ไม่ปรากฏทะเลหมอก ดวงตะวันสีส้มกลมโตที่โผล่พ้นเทือกเขาซึ่งทอดตัวยาวอยู่ในหมอกบางยามเช้า ยังสร้างความประทับใจให้กับชาวคณะได้ไม่แพ้กัน


สาย ๆ เปลี่ยนบรรยากาศไปเรียนรู้วิถีชีวิตแบบพอเพียงที่ไฮ่อุ๊ยต๋าคำ  แหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตที่พึ่งพิงธรรมชาติและกิจกรรมไม่พึ่งพาเทคโนโลยี ก่อตั้งโดยคุณสันโดษ สุขแก้ว อดีตพนักงานโรงงานในกรุงเทพฯ  ซึ่งไปทำงานต่างประเทศแล้วพบสัจธรรม หันกลับมาใช้ชีวิตเรียบง่ายในวิถีพอเพียงที่เมืองปาย  สร้างเป็นโฮมสเตย์ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติได้เข้ามาเรียนรู้วิถีชีวิตเกษตรกรรม ปลูกข้าว ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์  สร้างบ้านจากวัสดุธรรมชาติ และอื่น ๆ อีกมากมาย อาทิ หลักสูตรไม้ไผ่ สอนการใช้ไม้ไผ่มาประดิษฐ์เป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันอย่างง่าย ๆ  เช่น ช้อน ส้อม และถ้วยชาม น่าทึ่งตรงที่มีนักท่องเที่ยวไม่น้อยจากทั่วโลกข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อมาเรียนรู้การใช้วิถีชีวิตกลมกลืนกับธรรมชาติที่นี่  เพื่อให้เข้าบรรยากาศ มื้อกลางวันนี้ชาวคณะจึงได้ลองทำและลองชิมอาหารกลางวันแบบเรียบง่ายในวิถีพอเพียง ได้รสชาติไปอีกแบบ


จากอำเภอปาย มุ่งหน้าสู่อำเภอกัลยาณิวัฒนา ผ่านสะพานประวัติศาสตร์ปาย ซึ่งเดิมเป็นสะพานไม้สำหรับข้ามแม่น้ำปายสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ กองทัพญี่ปุ่นใช้เป็นเส้นทางจากเชียงใหม่ผ่านอำเภอปายไปยังพม่า หลังสงครามสะพานหักพังไปจึงได้มีการนำชิ้นส่วนสะพานนวรัฐในตัวเมืองเชียงใหม่มาประกอบขึ้นไว้แทนที่  บนเส้นทางยังมีน้ำพุร้อนธรรมชาติแห่งใหม่ อยู่ชิดติดริมถนน ตามประวัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) เคยมาทำการเจาะสำรวจไว้ลึกประมาณ ๑๐๐ เมตร ตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๖ แต่น้ำพุร้อนพึ่งจะประทุขึ้นมาเมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๖  พุ่งเป็นสาย สูงประมาณ ๑ เมตร กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ มีร้านค้ามาตั้งขายไข่ไก่ให้นักท่องเที่ยวไปทดลองต้ม ลวก กันได้ตามอัธยาศัย  


  บ่ายแก่ๆ ค่อยมาถึงศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์  แหล่งส่งเสริมพัฒนาอาชีพและรายได้ให้เกษตรกรให้พออยู่พอกิน ในบริเวณศูนย์ฯ มีแปลงสาธิตทั้งผักและผลไม้ เพื่อทดสอบพืชพันธุ์ใหม่ ๆ เน้นความต้านทานโรคและคุณภาพผลผลิต  วิทยากรนำคณะเข้าเยี่ยมชมโรงคัดแยกผักและผลไม้  สวนสนสามใบ ไร่สตรอว์เบอรี่ที่ทุกต้นมีผลเต็ม ยังมีผลไม้อย่างส้ม มะม่วงนวลคำ สาลี่ พลับ พลัม  และอะโวคาโด แปลงผักหลากหลายชนิด เช่น ผักกาดหอมห่อ คะน้า กระหล่ำปลีรูปหัวใจ  


เข้าพักแรมที่บ้านพักโครงการหลวงบ้านวัดจันทร์ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ในโอบล้อมของขุนเขาและป่าสนเรียงราย รอบบริเวณตระการตาด้วยไม้ดอกสะพรั่งหลากสีสัน ป่าสนวัดจันทร์เป็น ๑ ใน ๑๐ ปลายทางในฝัน (Dream Destinations) ของ ททท. โดยมีจุดเด่นคืออ่างเก็บน้ำที่ผิวน้ำเรียบกริบใสราวกับกระจกสะท้อนเงาภูเขา ทิวสน และผืนฟ้าคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามเช้าที่แสงแดดสีอำพันทาบทาทั่วอาณาบริเวณอ่างเก็บน้ำอันห่มคลุมด้วยม่านหมอก งดงามประดุจดินแดนในฝัน



วันสุดท้ายชาวคณะอำลาป่าสนวัดจันทร์ด้วยความอาลัยในตอนสาย ๆ ออกมาเติมพลังมื้อกลางวันด้วยสารพัดปลาและอาหารปักษ์ใต้ที่ร้านสวนหมอกฟ้า  ปิดท้ายรายการด้วยการแวะ วัดป่าดาราภิรมย์ ที่อำเภอแม่ริม ชมวิหารหลวงงดงามด้วยไม้แกะสลัก ลายปูนปั้นและลายคำแบบล้านนาประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุเจดีย์พระพุทธบาทสี่รอยซึ่งภายในประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง และมณฑปพระจุฬามณีศรีบรมธาตุ (หอแก้ว) ที่ประดิษฐานพระทันตธาตุ ก่อนเหินฟ้ากลับสู่กรุงเทพฯโดยสวัสดิภาพพร้อมด้วยความประทับใจเต็มเปี่ยม 

การเดินทางไปกลับของคณะครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากแอร์เอเชีย ซึ่งได้เปิดตัวบริการใหม่เที่ยวบินพร้อมรถรับส่ง (City transfer) ในเส้นทางไป-กลับ กรุงเทพ-ปาย และกรุงเทพ-สุโขทัย   สามารถจองตั๋วในครั้งเดียว โดยมีรถตู้จากสนามบิน สู่จุดรับส่งทั้ง ๒ เส้นทาง  เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพ-ปาย นั้นจากสนามบินดอนเมืองบินมาลงที่เชียงใหม่ จากนั้นมีรถตู้จากสนามบินเชียงใหม่พาไปยังสถานีขนส่งปาย


           สนใจร่วมเดินทางในกิจกรรมสนุกสนานอย่างนี้ในครั้งต่อไป  ติดตามข่าวสารการประกวดรวมทั้งรายละเอียดต่าง ๆ ของกิจกรรมได้ที่ www.facebook.com/osotho และ http://gonorththailand