ภาคภูมิ
น้อยวัฒน์...รายงาน
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสารอ.ส.ท. ปีที่ ๕๔ ฉบับที่ ๑๐ เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๗
ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทางฟากตะวันตก
นอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา วัดธรรมารามสงบงามอยู่ภายใต้ร่มเงาไม้รื่นเย็น
อารามเก่าแก่ครั้งกรุงศรีอยุธยาแห่งนี้ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างตั้งแต่เมื่อใด
ทว่าจากเรื่องราวในพงศาวดารที่บันทึกเอาไว้พอจะประมาณอายุได้ว่าไม่ต่ำกว่า ๔๑๔
ปี โดยปรากฏว่ากองทัพพม่าที่เข้าตีกรุงศรีอยุธยามักจะเข้ามายึดเป็นสถานที่ตั้งทัพ
เนื่องจากเหนือวัดขึ้นไปเป็นปากแม่น้ำลพบุรี ที่ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาอันถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ
นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่เดินทางมาตามเส้นทางไหว้พระ ๙ วัด มักจะผ่านเลยวัดธรรมาราม
ซึ่งอยู่ตรงกึ่งกลางระหว่างวัดกษัตราธิราชและวัดท่าการ้องไป ทั้งที่ความจริงแล้วที่นี่มีความสำคัญอย่างยิ่งในทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเป็นวัดที่เคยเป็นสถานที่จำพรรษาของพระอุบาลีมหาเถระ
พระธรรมฑูตแห่งกรุงศรีอยุธยาผู้เดินทางไปฟื้นฟูพุทธศาสนาเถรวาทในศรีลังกาที่เสื่อมสูญ
ให้กลับรุ่งเรืองเป็นนิกาย“สยามวงศ์”สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน
วิกฤตพุทธศาสนาในศรีลังกาครั้งนั้นเกิดขึ้นตรงกับสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
จากการคุกคามของชาวทมิฬจากอินเดีย และชาวโปรตุเกสที่เข้ามาแสวงหาอาณานิคม ทำให้ศรีลังกาสูญสิ้นคณะสงฆ์ ไม่มีพระอุปัชฌาย์ทำการอุปสมบทสืบทอดพระพุทธศาสนาต่อได้
ในพ.ศ.๒๒๙๓ พระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะ
กษัตริย์ศรีลังกา ทรงมีพระราชศรัทธาที่จะฟื้นฟูพระพุทธศาสนาให้กลับคืนสู่ความรุ่งเรืองอีกครั้ง
จึงโปรดให้ส่งราชทูตมายังกรุงศรีอยุธยาซึ่งในขณะนั้นตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
คณะราชทูตศรีลังกาออกเดินทางจากท่าเรือตรินโคมาลีด้วยเรือของฮอลันดานามว่าเวลตรา
ผ่านเมืองอะแจ เกาะสุมาตรา แล้วแวะพักหลบฤดูมรสุมที่มะละกาห้าเดือน ก่อนจะเข้ามายังปากน้ำเจ้าพระยา
ผ่านเมืองบางกอกและนนทบุรี มาจนถึงกรุงศรีอยุธยา
ในพ.ศ.๒๒๙๔
พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโปรดให้คัดเลือกพระสงฆ์ที่แตกฉานในพระไตรปิฎกและเคร่งครัดในพระธรรมวินัยรวม
๒๔ รูป นำโดยพระอุบาลีมหาเถระและพระอริยมุนีมหาเถระพร้อมสามเณรอีก ๗ รูป
ออกเดินทางด้วยเรือกำปั่นหลวงที่เพิ่งต่อขึ้นใหม่เพื่อใช้เป็นพาหนะสำหรับส่งคณะสงฆ์ไทยไปลังกาโดยเฉพาะ
แต่ระหว่างทางถูกพายุคลื่นใหญ่ซัดเสากระโดงหักไปเกยตื้นที่เมืองนครศรีธรรมราช จนคณะสมณฑูตต้องเดินทางกลับมายังกรุงศรีอยุธยา
ในปีต่อมาคือพ.ศ.
๒๒๙๕ พระอุบาลีพร้อมคณะสมณฑูตชุดเดิมจึงออกเดินทางอีกครั้งด้วยเรือกำปั่นฮอลันดา ครั้งนี้เป็นไปโดยสวัสดิภาพ
ขึ้นฝั่งที่ท่าเรือตรินโคมาลีสำเร็จ พระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะโปรดให้ส่งคณะขุนนางผู้ใหญ่มารอต้อนรับคณะสมณทูตไทยไปยังนครหลวงแคนดี
ตลอด ๓ ปีพระอุบาลีและคณะสมณทูตสยามฟื้นฟูพุทธศาสนาด้วยการประกอบพิธีอุปสมบทให้กับชาวลังกาและวางแผนการปกครองคณะสงฆ์
เผยแพร่ขนบธรรมเนียมชาวพุทธ รวมเป็นพระสงฆ์จำนวน ๗๐๐ รูปและสามเณร ๓,๐๐๐ รูป
ก่อนที่จะพระอุบาลีจะมรณภาพในศรีลังกา โดยหนึ่งในผู้ที่พระอุบาลีเป็นพระอุปัชฌาย์ให้คือสามเณรเวลิวิตะ
ศรีสรณังกร ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นพระสังฆราชองค์แรกแห่งศรีลังกา
และได้ทรงตั้งนิกายสยามวงศ์ขึ้น ชื่อเต็มว่า “สยาโมปาลีมหานิกาย”
หมายถึงนิกายใหญ่ของพระอุบาลีจากประเทศสยาม และดำรงอยู่มาตราบจนถึงทุกวันนี้
ปี
พ.ศ.๒๕๕๖ที่ผ่านมาถือเป็นวาระครบรอบ ๒๖๐ ปีของการสถาปนาพระพุทธศาสนาสยามนิกาย
ในประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกาของพระอุบาลี รัฐบาลไทยจึงได้อนุมัติงบ
๑๐ ล้านบาท บูรณะวัดธรรมารามและสร้างพิพิธภัณฑ์พระอุบาลีมหาเถระขึ้น
เพื่อเฉลิมฉลอง ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๖ ณ วัดธรรมาราม โดยฝ่ายไทยมีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์
ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายนิวัฒน์ธำรง
บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายวิทยา ผิวผ่อง
ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมด้วยนายพลเดช
วรฉัตร อดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโคลัมโบ และคณะข้าราชการเข้าร่วมในพิธี
ในขณะที่ทางฝ่ายศรีลังกามีสมเด็จพระสังฆราชแห่งศรีลังกา
รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมและศิลปะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
รองปลัดกระทรวงมรดกแห่งชาติศรีลังกาและเอกอัครราชทูตศรีลังกาประจำประเทศไทยเข้าร่วมในพิธี
ตัวอาคารพิพิธภัณฑ์พระอุบาลีมหาเถระปรับปรุงจากศาลา
๒ ชั้นเดิมของวัด ห้องจัดแสดงเป็น โถงใหญ่อยู่ชั้นบน
เย็นฉ่ำด้วยเครื่องปรับอากาศ ภายในจัดเป็นนิทรรศการถาวรให้เดินชมแบบเวียนขวาโดยเรียงตามลำดับตามหัวข้อ เริ่มจากอาจาริยบูชา บนแท่นกลางห้องประดิษฐานรูปจำลองพระอุบาลีมหาเถระแกะสลักจากไม้มะฮอกกานีความสูง ๑๘๐ เซนติเมตร อยู่เคียงข้างธรรมาสน์เก่าแก่ของวัด
ประดิษฐานลังกาวงศ์ในสยาม นำเสนอการรับอิทธิพลพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ในประเทศไทยด้วยแบบจำลองสถาปัตยกรรมสำคัญ วิกฤติพระพุทธศาสนาบนแผ่นดินลังกา
ที่ใช้สื่อมัลติมีเดียนำเสนอถึงมูลเหตุที่พระพุทธศาสนาเสื่อมสูญไปจากศรีลังกาและเรื่องราวการเดินทางมากรุงศรีอยุธยาของราชทูตจากศรีลังกา
ในหัวข้อภารกิจกอบกู้พระพุทธศาสนา จัดทำเป็นห้องฉายภาพยนตร์ประกอบการแสดงแสงและเสียง เล่าเหตุการณ์เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลของพระอุบาลีทั้งสองครั้งสองคราวอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ
ประดิษฐานสยามวงศ์ในลังกา เล่าเรื่องการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในลังกาของพระอุบาลีตลอด
๓ ปี ก่อนมรณภาพ รวมทั้งจัดแสดงพระราชสาส์นจำลอง และอัฐบริขารจำลองของพระอุบาลีไว้ให้ชมในห้องกระจก
สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน
แสดงภาพถ่ายผ่านจอแอลอีดี นำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย- ศรีลังกา และการสร้างพิพิธภัณฑ์พระอุบาลีมหาเถระ
และหัวข้อสุดท้าย
เที่ยวเมืองเก่าเข้าถึงธรรม แผนที่เส้นทางท่องเที่ยวชมโบราณสถานในเกาะเมืองอยุธยาที่ได้รับอิทธิพลพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์
ในการเข้าชมนิทรรศการทั้งหมดจะมีวิทยากรคืออาจารย์สามิต อยู่วัฒนาอดีตอาจารย์สอนศิลปะซึ่งอาสาสมัครเข้ามาช่วยงานของวัด.คอยนำชมและบรรยาย
มุมหนึ่งของห้องนิทรรศการยังจัดแสดงของที่ระลึกที่เกี่ยวข้อง
เช่น รูปจำลองพระอุบาลีมหาเถระหล่อด้วยเรซิน เหรียญที่ระลึก และวัตถุมงคลต่าง
ๆ ไว้ให้ผู้มีจิตศรัทธาได้บูชากลับไป
โดยรายได้ทั้งหมดจะนำมาใช้สำหรับค่าใช้จ่ายของพิพิธภัณฑ์
ซึ่งทางวัดกำลังอยู่ในระหว่างจัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อการดำเนินงานอย่างเป็นทางการต่อไป
บนเส้นทางไหว้พระ
๙ วัดของพระนครศรีอยุธยาวันนี้ พิพิธภัณฑ์พระอุบาลีมหาเถระ วัดธรรมาราม
ถือเป็นจุดหมายใหม่ที่ไม่ควรข้ามผ่าน ในฐานะอนุสรณ์สถานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาแบบเถรวาทของกรุงศรีอยุธยา
ที่เคยส่งพระธรรมฑูตไปประดิษฐานพระพุทธศาสนาจนลงหลักปักฐานอย่างแน่นหนาที่ศรีลังกาในนาม
“สยามวงศ์” เป็นเวลา ๒๖๐ ปีมาแล้ว
No comments:
Post a Comment