Friday, May 23, 2014

กรมศิลปากรเผยโฉมเรือโบราณพันปี “พนมสุรินทร์”

เรือโบราณพันปี สมัยทวารวดี "พนมสุรินทร์" 

ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...รายงาน
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ปีที่ ๕๔ ฉบับที่ ๑๐ ประจำเดือนมิถุนายน ๒๕๕๗

เมื่อเดือนกันยายน ปี พ.ศ.๒๕๕๖ ที่ผ่านมา ในที่ดินของนายสุรินทร์และนางพนม ศรีงามดี  ในเขตหมู่ที่ ๖ ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมืองฯ จังหวัดสมุทรสาคร  ระหว่างการขุดดินเพื่อปรับพื้นที่เตรียมการสำหรับทำบ่อเลี้ยงกุ้ง ได้พบเรือไม้ขนาดใหญ่ความยาวกว่า ๒๐ เมตร จมอยู่ในดินเลนด้วยลักษณะพลิกตะแคง หัวเรือหันไปทางทิศใต้ สร้างความแปลกใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นที่ลุ่ม อยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลถึง ๗.๕ กิโลเมตร จึงได้แจ้งให้กรมศิลปากรเข้าทำการสำรวจขุดค้น

 ร่องรอยการยึดชิ้นส่วนต่าง ๆ เรือด้วยเชือก

ผลการขุดค้นทางโบราณคดีเบื้องต้นพบไม้ทับกระดูกงูกลางลำเรือ มีความยาว ๑๗.๖๕ เมตร ด้านล่างบากเป็นร่องสลับกัน สำหรับวางทับกงเรือ ชิ้นส่วนไม้บนตัวเรือใช้เชือกสีดำผูกร้อยยึดแผ่นไม้ให้ติดกันแทนการใช้ลิ่มหรือน็อต บางแผ่นเจาะรูตรงกลางแผ่นเพื่อร้อยเชือกเพิ่มความแข็งแรง พบเสากระโดงเรือ ๒ เสา เสาแรกพบอยู่ทางทิศตะวันตกของเรือมีความยาว ๑๗.๓๗ เมตร ตรงหัวเสาเจาะช่องสี่เหลี่ยม ด้านในมีรอกกลมทำด้วยไม้ติดอยู่ ส่วนโคนเสาบากเป็นแท่งสี่เหลี่ยม สันนิษฐานว่าเป็นเดือยใช้สำหรับติดตั้งบนฐานเสาเรือ  เสากระโดงเรืออีกเสาพบอยู่นอกตัวเรือทางทิศตะวันออก โคนเสาด้านหนึ่งบากเป็นสี่เหลี่ยม อีกด้านหนึ่งเป็นครึ่งวงกลม ทั้งยังพบเชือกหวายขนาดยาวพันอยู่ที่โคนเสาด้วย
ภาชนะดินเผา "แอมฟอรา"

จากการศึกษาเปรียบเทียบพบว่าเทคนิคการต่อเรือลำนี้เป็นแบบเดียวกับที่ใช้ในเรืออาหรับโบราณ. ในประเทศไทยเคยพบลักษณะนี้มาก่อนแล้วลำหนึ่งที่แหล่งเรือโบราณควนธานี อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง  ภายในเรือยังพบสิ่งของเครื่องใช้สอยต่างๆ ที่สำคัญที่สุดคือภาชนะดินเผาลักษณะคล้ายไหก้นแหลมเรียกว่า “แอมฟอร่า” อย่างที่ชาวโรมันใช้สำหรับบรรจุสินค้าของเหลว เช่น ไวน์ หรือน้ำมัน  นอกจากนั้นยังพบเครื่องถ้วยจีน และภาชนะดินเผาสมัยทวารวดีอีกเป็นจำนวนมาก 
 
บางส่วนของโบราณวัตถุที่พบในเรือ

โบราณวัตถุที่พบทำให้สามารถประมาณความเก่าแก่ของเรือได้ว่ามีอายุกว่าพันปี เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญของการเดินทางค้าขายทางทะเลข้ามทวีปจากดินแดนตะวันออกกลางผ่านอินเดียมายังภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ในต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๑ ซึ่งหลักฐานทางธรณีวิทยาพบว่าบริเวณที่พบเรือในสมัยเมื่อพันปีก่อนเป็นแม่น้ำท่าจีนโบราณที่ยังเชื่อมเป็นทางน้ำเดียวกันกับแม่น้ำเจ้าพระยา โดยการที่เรือหันหัวเรือไปทางใต้ แสดงให้เห็นว่าได้เกิดอุบัติเหตุอับปางลงในขากลับออกจากการค้าขายในเมืองท่าสมัยทวารวดี แล้วถูกทับถมจากดินตะกอนเนิ่นนานนับพันปีก่อนจะถูกค้นพบในปัจจุบัน

เพื่อเป็นเกียรติแก่นายสุรินทร์และนางพนม ศรีงามดี ซึ่งเป็นผู้ค้นพบเรือโบราณลำนี้ ทั้งยังเป็นเจ้าของที่ดิน ซึ่งในเวลาต่อมาได้บริจาคที่ดินบริเวณแหล่งขุดค้น มอบให้เป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อสาธารณประโยชน์ต่อไป จึงได้นำชื่อของทั้งสองมาตั้งเป็นชื่อเรียกเรือโบราณลำดังกล่าวว่า “เรือพนมสุรินทร์”

 บรรยากาศการเสวนาประชาคม 

กรมศิลปากรตระหนักถึงความสำคัญ ต้องการให้ประชาชนในชุมชนท้องถิ่น หน่วยงานราชการ ในพื้นที่เข้ามาร่วมกันศึกษา อนุรักษ์ และพัฒนาแหล่งเรือโบราณ อันถือได้ว่าเป็นโบราณสถานระดับชาติ จึงได้มีการจัดเสวนาประชาคมเรื่อง “เรือโบราณพนมสุรินทร์” ครั้งที่ ๑ ขึ้นที่วัดวิสุทธิวราวาส(วัดกลางคลอง) ซึ่งอยู่ใกล้กับแหล่งที่ขุดพบเรือโบราณลำดังกล่าว เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ที่ผ่านมา เพื่อเผยแพร่ความสำคัญของแหล่งโบราณคดีเรือโบราณ แนวทางการอนุรักษ์ การบริหารจัดการและระดมความคิดเห็น สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน ประชาชน และหน่วยราชการท้องถิ่นทุกภาคส่วน โดยนักวิชาการและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมการเสวนาแสดงความคิดเห็นได้แก่ ศาสตราจารย์(พิเศษ) ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นายอเนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร นายทศพร  นุชอนงค์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี นางสาวนารีรัตน์  ปรีชาพีชคุปต์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๑ ราชบุรี นายเอิบเปรม วัชรางกูร หัวหน้ากลุ่มโบราณคดีใต้น้ำ พร้อมผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง

ประชาชนเข้าชมไม้ทับกระดูกงูเรือในบ่อจัดแสดง

ประชาชนในพื้นที่ตำบลพันท้ายนรสิงห์จำนวนมากที่ทราบข่าว ต่างพากันเดินทางมาเข้าชมเรือโบราณในบริเวณแหล่งขุดค้น ซึ่งทางกรมศิลปากรได้ปล่อยน้ำซึ่งปกติท่วมมิดเรือออกบางส่วนเป็นการชั่วคราว เพื่อให้เห็นรูปร่างของเรือที่จมอยู่ในโคลนกลางบ่อได้ชัดเจนขึ้น โดยมีสปริงเกอร์พ่นน้ำหล่อเลี้ยงชิ้นส่วนต่าง ๆ ให้ชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้เสื่อมสภาพ

อธิบดีกรมศิลปากรเยี่ยมชมแหล่งขุดค้นเรือโบราณ

นายอเนก  สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากรเปิดเผยว่าด้วยความที่เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ของชาติ กรมศิลปากรจึงมีความจำเป็นต้องรักษาหลักฐานเอาไว้ในแหล่งที่ขุดพบ อันจะเป็นการรักษาโบราณวัตถุจำพวกไม้ ชิ้นส่วนเรือต่างๆ,เชือก  ซากสิ่งมีชีวิตต่างๆ ทั้งพืชและสัตว์ และสิ่งของที่ค้นพบในเรือที่เป็นข้อมูลสำคัญไปในตัว โดยมีแนวคิดจะจัดสร้างเป็นอาคารถาวรครอบแหล่งขุดค้นไว้ จัดแสดงนิทรรศการให้เห็นขั้นตอนในการดำเนินการต่างๆ  การขุดศึกษาทางโบราณคดี การสืบค้นทางประวัติศาสตร์ และการอนุรักษ์ 

ส่วนแผนระยะยาวในการพัฒนาแหล่งขุดค้นเรือโบราณแห่งนี้ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ระดับชาติเกี่ยวกับการค้าทางทะเลในสมัยโบราณนั้น อธิบดีกรมศิลปากรได้มอบหมายให้ทางสำนักศิลปากรที่ ๑ ราชบุรี และสำนักโบราณคดีใต้น้ำจัดทำแผนแม่บทอยู่ ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลาในการดำเนินการตามขั้นตอนเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า ๑๐ ปีขึ้นไป ในลักษณะของการพัฒนาเมืองวัฒนธรรมท่องเที่ยว เชื่อมโยงเข้ากับแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมในบริเวณใกล้เคียง เช่น ศาลพันท้ายนรสิงห์  ความคืบหน้าทางอนุสาร อ.ส.ท.จะได้ติดตามมานำเสนอให้ทราบต่อไปเป็นระยะ


หมายเหตุ ชมภาพถ่าย วิดิทัศน์ ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับเรือโบราณพนมสุรินทร์และโบราณวัตถุต่าง ๆ ที่ขุดพบเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/osotho
อนุสาวรีย์พันท้ายนรสิงห์
 ศาลพันท้ายนรสิงห์

No comments:

Post a Comment