Wednesday, October 26, 2016

เบิ่งเที่ยวเชิงเกษตรเมืองเลยสิ เที่ยวได้ทั้งปี

 ดินแดนในโอบล้อมขุนเขาอันอุดมสมบูรณ์

รำไพพรรณ แก้วสุริยะ ...เรื่อง ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...ภาพ 
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๕๙

                   เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อนสูงวัยของดิฉันโทรศัพท์คุยว่า เธอเพิ่งกลับจากเที่ยวเมืองเลยในช่วงวันหยุดติดต่อกันหลายวัน ได้ชื่นมื่นกับธรรมชาติที่เห็นเมฆสีขาวลอยเคลียยอดภูทั้งภูหอ ภูกระดึงและภูหลวงระหว่างการเดินทางบนถนน ได้ทำบุญและสนทนาธรรมกับอริยสงฆ์ที่วัดป่าสายหลวงปู่มั่น หลวงปู่เทสก์ เข้าไปชมวัดวาอารามที่มีศิลปะสถาปัตยกรรมล้านช้าง และที่เธอพบใหม่ทั้งน่าชมน่ากินก็คือได้เที่ยวในสวนเกษตรที่พืช ผัก ผลไม้ ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม...ทำให้เธอต้องเพิ่มวันพักเที่ยวอยู่ที่เลยอีก ๑ วัน  และกำชับว่าหากไปแล้ว ต้องไปสวนนั้น แวะสวนนี้ และไม่ควรพลาดไร่นี้ด้วย...
           
                 ความจากเธอเล่าว่า เลยมีแหล่งท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นและไม่ควรพลาดที่นั่น ที่นี่ด้วยสิ นับเป็นแรงจูงใจให้คิดย้อนอดีตว่า ฉันเองเป็นผู้คิดรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงเกษตรนี้เสนอ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)ในโครงการ Amazing  Thailand 1998-1999 คือAmazing  Agriculture Heritage  ด้วย เพื่อติดตามผลงานว่า เกษตรกรเลยเขาเป็นอย่างไร  จึงได้โอกาสนัดเพื่อนแก๊งรถตู้(เพื่อนสนิทสมัยเรียน) ไปเบิ่งเมืองเลยแดน เมืองแห่งทะเลภูเขา สุดหนาวในสยาม ดอกไม้งามสามฤดู ถิ่นที่อยู่อริยสงฆ์ มั่นคงความสะอาด ในช่วงเข้าพรรษากันค่ะ
            
               ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวเมืองเลยที่ว่า “เป็นเมืองที่มีอากาศดีตลอดปี มีทิวทัศน์สวยงาม  การเดินทางสะดวก มีที่พักให้เลือกหลายระดับ อาหารดีสะดวกซื้อ  มีรูปแบบการท่องเที่ยวที่หลากหลาย เที่ยวกันได้อย่างเพลินๆ  ค่าใช้จ่ายในระดับกลาง มีความคุ้มค่าต่อการเดินทาง” นี่สิ ทำให้บรรดาเพื่อนแก๊งรถตู้ตัดสินใจทันทีให้ดิฉันทำรายการเบิ่งเมืองเลย ๓ คืน ๔ วันช่วงวันหยุดเทศกาลเข้าพรรษา เพื่อได้ทำบุญและชมสวนเกษตรในรายการเดียวกัน โดยเดินทางไป-กลับเครื่องบิน เช่ารถตู้เดินทาง เพราะวัยนี้เที่ยวกันอย่าง Slow Travel, Slow Life ตามคำขวัญที่ชาวเลยเขาชวนเที่ยวว่า “สบาย ๆ สไตล์เลย” นี่แหละ

 ทิวทัศน์เมืองเลยจากบนเครื่องบิน
วันเดินทางระหว่างที่คอยขึ้นเครื่อง ด้วยสำนึกในหน้าที่มัคคุเทศก์ดิฉันได้บอกเพื่อนสูงวัยต่างอาชีพให้เข้าใจว่า ข้อควรปฏิบัติการเที่ยวชมสวนเกษตรนั้นมีดังนี้

ข้อแรกคือ ไม่อยากให้ใส่น้ำหอมค่ะ เนื่องจากในสวนเกษตรอินทรีย์นั้น เขาไม่ใช้ยาฆ่าแมลง หากมีแมลงจำพวกผึ้ง แตน ต่อ มันได้กลิ่นแล้วจะเข้ามาต่อย เพราะกลิ่นน้ำหอมนั้นแมลงนึกว่าเป็นศัตรูของมัน

ข้อที่สอง เวลาถ่ายรูปอย่าเผลอเข้าไปเหยียบกลางแปลงปลูก หรือโน้มกิ่งเพื่อให้รูปสวย จะทำให้เกิดผลกระทบทั้งต้นไม้และดอกไม้ ก้านหัก ต้นหักเสียหาย

ข้อที่สาม ไม่อยากให้เพื่อนแตะ จับ ดอกไม้และผลไม้บนต้น เกรงว่าอาจมีเชื้อโรค เชื้อรา แม้อุณหภูมิจากมือเราสร้างผลกระทบทางลบต่อพืชพรรณ ทำให้เกิดโรคในพืชและสัตว์เลี้ยงที่สวนเกษตรแห่งนั้นได้

“ค่ะ ครับ” ทุกคนรับทราบ กระนั้นก็ตามยังมีเสียงแซวว่า “นี่หนีกติกาจากบ้านมาเจอในรายการเที่ยวอีกหรือ” ก็ต้องบอกว่า เพียงย่อ ๆ นะ หากเป็นต่างประเทศเขาห้ามคนเมาเข้าไปเที่ยวด้วย เพราะเกรงว่าคนขาดสติจะทำให้สวนเขาเสียหาย... “นี่เธอ ช่วงนี้เข้าพรรษา ไม่มีใครเมาหรอกจ้ะ”มีเสียงไม่ลดละต่อบทสนทนา...ใช่ค่ะ..เที่ยวในวัยเกษียณยอมรับว่า สนุก ม่วนซื่น จริง ๆ


เช้าวันแรกคณะเราเดินทางถึงเมืองเลยเจ็ดนาฬิกาสามสิบนาที จึงตรงไปหาอาหารเช้าเมนูไข่กระทะ ขนมปังตำรับฝรั่งเศสแปลง พร้อมชา กาแฟตามอัธยาศัย เป็นอาหารเช้าตำรับเมืองเลยที่เพื่อนบางคนขอสั่งขนมปังกินถึง ๓  ชิ้นอย่างเกรงน้ำหนักเพิ่มทีเดียว กระนั้นก็ตาม เพื่อนอนามัยในกลุ่มบ่นว่า เมนูอาหารเช้าไม่มีผลไม้เลย โชเฟอร์ได้ยินก็บอกว่า “สักครู่เมื่อออกนอกเมือง ผมจะแวะที่ร้านขายผลไม้ข้างถนน มีทั้งสับปะรดไร่ม่วง กับแก้วมังกร ตอนนี้กำลังออกชุกครับ”

โชเฟอร์รถตู้ทำหน้าที่เป็นเจ้าบ้านที่ดี บอกกับคณะเราว่า “สับปะรดไร่ม่วง เป็นพันธุ์เดียวกับสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียที่คนกรุงเทพฯรู้จักว่า สับปะรดศรีราชา น่ะครับ เอาพันธุ์มาปลูกที่จังหวัดเลย ปรากฏว่าได้คุณภาพดี รสหวาน กรอบ ที่พิเศษคือกินแล้วไม่กัดลิ้นด้วย แก้วมังกร ก็เหมือนกัน มีรสหวานอมเปรี้ยว กรอบ กว่าที่อื่น ” 

คุณรู้ได้อย่างไร มีเสียงตั้งคำถามจากสมาชิกทัวร์ และได้ยินเสียงตอบว่า “อาผมปลูกทั้งสับปะรดและแก้วมังกร ตามระบบสวนเกษตรแบบผสมผสานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมครับ” เสียงชื่นชมในรถขอบคุณดิฉันที่จองรถตู้โชเฟอร์ดี ดิฉันตอบ "อย่าเพิ่งชมไว้วันกลับก่อน เพราะเพิ่งแรกพบค่ะ”

คืนแรกเราค้างแรมในเมือง เพื่อย่นระยะการเดินทางและไม่ต้องย้อนไปมา ตามเส้นทางอำเภอเมืองเลย-  อำเภอวังสะพุง-อำเภอหนองหิน-อำเภอภูหลวง- อำเภอวังสะพุง-อำเภอเมืองเลย อันเป็นเส้นทางวงรอบ ทั้งนี้ไม่ลืมแจ้งกับโรงแรมว่าเราขอเข้าพักเย็นเมื่อกลับจากดูสวนเกษตรด้านสายใต้เสียก่อน

เมื่อออกรถจากเมืองเลยผ่านตลาดวังสะพุง ตรงไปเลี้ยวเข้าศูนย์บริการท่องเที่ยวภูป่าเปาะ ซึ่งอยู่ก่อนถึงอำเภอหนองหิน ๑ กม.ตามที่นัดหมายกับนายบุญลือ  พรมหาลา ผู้ใหญ่บ้านผาหวาย ตามโทรศัพท์หมาย-เลข  ๐๘๙๗๖๔๖๘๒๙  ที่ศูนย์ฯมีที่จอดรถและมีการจัดระเบียบบริการนักท่องเที่ยวนั่งรถอีแต๊กตามคิวค่าบริการนำเที่ยวคนละ ๓๐ บาท เราเปลี่ยนรถเรียบร้อย จากนั้นโชเฟอร์รถอีแต๊กพาวกวนตามถนนดินลูกรังอัดแน่นขึ้นเขาไปชมทิวทัศน์พาโนรามาภูหอ อันเป็นจุดชมวิวภูหอที่กว้างไกล รายการพาเที่ยวชมภูหอนี้ กลุ่มนักท่องเที่ยวที่รักษ์สิ่งแวดล้อม ขอชื่นชมการจัดระเบียบเพื่อรักษาความสะอาดที่นี่ คือ ภายในรถอีแต๊กทุกคันมีเข่งหรือถุงใส่ขยะ แนะนำให้นักเดินทางทิ้งขยะในถุงด้วย ขอให้เข้มงวดเช่นนี้ตลอดไปด้วยค่ะ จะได้ไม่ต้องรณรงค์เก็บขยะกันทุกปี

 แปลงนาสาธิตของศูนย์ฯ อาจารย์เฉลิมชัย


หลังจากชื่นชมภูหอกันตามเวลากำหนดแล้ว เราเดินทางต่อไปแวะถ่ายรูปกันที่ภูผาล้อม สวนหิน ข้างทาง ก่อนที่เดินทางไปศูนย์การเรียนรู้การเกษตรชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงอาจารย์เฉลิมชัย ที่บ้านโคกใหญ่ ตำบลตาดข่า  ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กัน

ทันทีที่ลงจากรถ เราได้รับการต้อนรับจากเครื่องดื่มสมุนไพรหอม เย็นสีสวย เพราะทราบว่าทุกคนคงหิวกัน ตามด้วยรายการอาหารกลางวันตำรับพื้นบ้านเมืองเลยตามที่โทรศัพท์จองไว้ล่วงหน้าที่หมายเลข ๐๘๘ ๕๗๑ ๖๖๖๙  พร้อมทั้งกำชับว่าไม่เผ็ดตามความชอบของผู้สูงวัย ปรากฏว่า ทุกคนติดใจรสน้ำพริก กินกับผักต้มสารพัดที่เก็บในสวน โดยเฉพาะมะระขี้นกลูกเล็ก ๆ ขนาดนิ้วหัวแม่มือ แต่แปลกที่มีวิธีลวกอย่างไรไม่มีรสขมได้ ไข่เจียว แกงเลียงผักหวานป่า อร่อยจนลืมเวลาเดินชมสวน 

 อาจารย์เฉลิมชัย อินทรชัยศรี

ครั้นเมื่อสดชื่น สบายท้องกับอาหารพื้นบ้านกันแล้ว อาจารย์เฉลิมชัย อินทรชัยศรี หนึ่งในปราชญ์เกษตรกรให้การต้อนรับนำชมตามสถานีต่าง ๆ อันเป็นซีกส่วนของศูนย์ฯตามเวลาเพียง ๒ ชั่วโมง สรุปได้ว่า  

ปราชญ์เกษตรกรท่านนี้ เป็นกลุ่มนักคิดรุ่นใหม่ที่เรียกกันว่า Gen X หรือ Extraordinary Generation ท่านเป็นคนที่กล้าคิด กล้าทำ มีจิตใจเปิดกว้าง พร้อมรับฟังข้อติติงเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาตนเอง สามารถทำการเกษตรเพื่อปลดหนี้กว่า ๔ ล้านบาทได้ภายใน ๔ ปี จากผืนดินที่มีแต่ความแห้งแล้งสวนป่าดินลูกรังเป็นดินดี  ปัจจุบันปลูกพืชพันธุ์ไม้ชนิดต่างๆ ได้มากมาย รวมถึงการเลี้ยงปลาในนาข้าว บ่อกบ ไก่พื้นเมือง ไก่งวง เป็ดเทศ 

มีต้นแบบโรงสมุนไพร โรงผลิตก้อนเห็ด โรงสีข้าว และโรงผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ผลงานทำให้เป็นผู้ได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่น ปี ๒๕๕๑  สาขาไร่นาสวนผสม มีส่วนบริการสินค้าผลผลิตจากไร่ที่พิเศษคือไผ่หวานสายพันธุ์ภูกระดึง  มีอาหารพื้นบ้านตำรับเกษตรอินทรีย์และเครื่องดื่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพ ได้รับความสนใจมีผู้สนใจเข้ามาศึกษาดูงานทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี


ตามคำแนะนำของเพื่อนบอกว่า จากไร่อาจารย์เฉลิมชัย ให้เลยต่อไปที่บ้านม้าไทยและสวนเกษตรอินทรีย์ ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กัน เป็นเครือข่ายทางการท่องเที่ยวเชิงเกษตรด้วย แต่บ่ายวันนั้น เจ้าของสวนไม่อยู่ให้การต้อนรับคณะเรา  ดิฉันพลาดตรงที่ได้ติดต่อแล้ว แต่วันเดินทางไม่ได้โทรศัพท์ยืนยันกับอาจารย์เกษมที่หมายเลข  ๐๘๐ ๑๙๙ ๐๘๗๔  อีกครั้ง นี่แหละเป็นเรื่องที่ผู้จัดรายการนำเที่ยวพึงปฏิบัติ เพราะท่านเจ้าของสวนก็มีเวลานัดหมายกับบุคคลภายนอกเช่นกัน การสื่อสารอย่างใกล้ชิดเพื่อแจ้งกำหนดเวลา แม้การเดินทางถึงช้าก็ควรกระทำ

 บ้านบนต้นไม้และบรรยากาศภายในบ้านม้าไทย

 บ่ายวันนั้น เราจึงเพียงแวะถ่ายรูปและได้รับคำบอกเล่าว่า สวนเกษตร ของอาจารย์เกษม  สมชาย ผู้เป็นคนหนุ่ม Gen X ที่ได้หันหลังทวนกระแสวัตถุนิยม กลับมาใช้ชีวิตทำการเกษตรอินทรีย์ตามแนวพระราชดำริการจัดการแหล่งน้ำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและเกษตรอินทรีย์ ผสมกับการทำฟาร์มม้าไทย ในพื้นที่ ๘ ไร่ ปลูกไม้ผล รสชาติดี ส่งขายตลาดในประเทศและต่างประเทศ  ทำนาข้าวพันธุ์ลืมผัว  บ่อปลา  ปลูกกล้วยน้ำว้า  พืชผักสวนครัวทุกชนิดโดยเฉพาะตะไคร้ขายส่งเข้าห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศ จนได้รับรางวัลเกียรติภูมิ ปราชญ์แผ่นดิน และรางวัลลูกโลกสีเขียว 

 อาจารย์เกษม สมชาย โอบอุ้มม้าน้อยอย่างทะนุถนอม

 ภายในฟาร์มม้าไทยและสวนเกษตรฯ แห่งนี้ มีกิจกรรมและความหลากหลาย และมุมทิวทัศน์สวยงาม ที่น่าสนใจให้ชม ทั้งแปลงปลูกไม้ผล พืชผักสวนครัว ที่ใช้ระบบอินทรีย์ ผสานกับภูมิปัญญาพื้นบ้าน  เทคโนโลยีการเกษตรแผนใหม่ ปรับปรุงบำรุงพื้นที่ด้วยหลักการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเช่น ใช้ม้ากินหญ้าแทนเครื่องตัดหญ้า ใช้ระบบกลศาสตร์ตะบันน้ำส่งน้ำกระจายไปทั่วพื้นที่  ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ ทำปุ๋ยจากมูลไส้เดือน ส่วนม้าที่เลี้ยงไว้ยังเปิดบริการพานักท่องเที่ยวขี่ม้าชมสวนตามเวลาและราคาที่ตกลงกัน มีบริการห้องสุขา นอกจากนั้น ยังมีมุมวางพืชผัก ผลไม้ และผลิตภัณฑ์ในสวนจำหน่ายเป็นของใช้ของฝากกลับบ้านด้วย
            
 แปลงสตรอเบอรรี่ในกรถาง สวนครูอ๋อง
              
           เกือบเย็นวันแรกทัวร์เมืองเลยช่วงวันหยุดเทศกาลเข้าพรรษานั้น เราออกเดินทางต่อไปที่สวนครูอ๋อง ไผ่รวกหวานภูกระดึง คราวนี้ผู้จัดรายการทัวร์เพื่อเพื่อนจึงไม่พลาดการสื่อสาร ระหว่างการเดินทางได้โทรศัพท์ถึงเจ้าของสวนที่หมายเลข ๐๘๙ ๒๗๔ ๖๐๐๙แจ้งว่าคณะเราจะไปถึงช้าประมาณ ๑.๓๐ ชม.  เมื่อไปถึงสวนจึงได้รับการต้อนรับจากคุณครูสุรูป แสนขันธ์ นามที่ชาวบ้านชอบเรียกชื่อเล่น ครูอ๋องพร้อมคณะ ที่สวนเกษตรแห่งนี้  นอกจากมีเครื่องดื่มน้ำมะนาวผสมน้ำผึ้งเย็น ๆ จำหน่ายแล้ว ยังมีขนมผิงตำรับจากสุโขทัยที่ละลายในปากให้ทดลองชิมอีกด้วย ขนมผิงนี้ คุณบุญชิต วงศ์ศิริ บอกว่าไปเรียนมาจากสุโขทัย ซึ่งพวกเราชมกันว่า รสชาติเหมือนต้นแบบทีเดียว

 ไผ่รวกหวานภูกระดึง

ครั้นเมื่อเราถามถึงพืชเด่นในสวนที่ส่งขายทั่วประเทศคือไผ่รวกหวาน  ภูกระดึงนั้นได้สายพันธุ์มาจากไหน เจ้าของสวนเล่าว่า ได้ใช้ภูมิปัญญาเดินป่าสังเกตว่า ทำไมหน่ออ่อนไผ่กอนี้มีรอยสัตว์แทะจึงหักมาชิมดูพบว่ามีรสหวาน จากนั้นช่วยกันขุดไผ่ทั้งกอมาปลูกในสวน และใช้หลักความรู้ทางวิทยาศาสตร์เกษตรในการคัดเลือกสายพันธุ์นานถึง ๕ ปีก็สามารถเพาะและขยายพันธุ์ได้ต้นไผ่รวกหวานพันธุ์แท้ และเธอยืนยันขอใช้ Brand Identity หรืออัตลักษณ์ของสวนว่า ไผ่รวกหวาน ภูกระดึง เพื่ออนุรักษ์สายพันธุ์ไผ่ชนิดนี้ไว้คู่บ้านเกิด 

 สวนมะนาวในบ่อซีเมนต์
ภายในสวนเกษตรแห่งนี้  มีการจัดทำการเกษตรแบบผสมผสานที่ปลอดสารพิษได้รับมาตรฐาน GAP ได้จัดแบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วนเช่น  มีสวนสาธิตทั้งสวนไผ่ สวนมะนาวในบ่อซีเมนต์ที่ทำให้ออกผลนอกฤดู มีมุมปลูกสตรอเบอรี่ในกระถาง ด้านหน้าสวนจัดมุมไม้ประดับไว้ให้ถ่ายภาพ มีซุ้มจำหน่ายผลผลิตในสวน ด้านหลังมีที่พักแบบฟาร์มสเตย์

 ที่พักแบบฟาร์มสเตย์ของสวนครูอ๋อง

เย็นวันนั้น ครูอ๋องเจ้าของสวนได้ตัดหน่อไม้รวกหวาน ปอกล้างน้ำเสิร์ฟพร้อมกับน้ำพริกปลาย่างให้ทดลองชิม บอกว่า กินดิบ ๆ ได้ เราชิมกันคนละคำสองคำ ตามการต้อนรับ เพราะเพื่อนในคณะกระซิบบอกว่า ไม่ควรกินดิบมาก เพราะในหน่อไม้มีสารไซยาไนด์อยู่บ้าง หากคนแพ้อาจปวดหัวและหายใจติดขัด โดยเฉพาะผู้เป็นภูมิแพ้ต้องระวัง เธออธิบายต่อว่า หากทำให้สุก ทั้งผัดหรือ ต้มกับใบย่านางแล้วจะทำให้ สารพิษสลายลงได้ เมื่อได้เรียนรู้เรื่องหน่อไม้หวานกันแล้ว พวกเราก็ถูกผู้คุมเวลาเตือนว่า เราควรลาเจ้าของสวน เพราะจะต้องกลับสู่ตัวเมือง เพื่อเข้าที่พักกันเพราะยังมีเวลาตระเวนชมสวนอีกหลายแห่ง  

 บรรยากาศร่มรื่นในศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง

บนเส้นทางจากสวนไผ่หวานภูกระดึงกลับสู่เมืองเลยนั้น ยังมีสวนของพ่อหรือสวนอาจารย์ธงชัย นิกรสุข ที่บ้านผาน้อย อำเภอวังสะพุง นับเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่เอาหลักการการเกษตรอินทรีย์จากญี่ปุ่นมาผสมผสานกับการเกษตรทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จนสามารถพลิกผืนดินเป็นดินดี น้ำดีและได้รับโล่พระราชทานหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง อยู่เย็น เป็นสุขจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และได้รับแต่งตั้งเป็นปราชญ์ของแผ่นดิน สาขาเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดเลย  รางวัลคนดีศรีแผ่นดิน และรางวัลอื่น ๆ อีกมากมาย 

ปัจจุบันท่านได้พัฒนาสวนของพ่อ เป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ทฤษฎีใหม่ ตามแนวพระราชดำริ  และได้รับรางวัลศูนย์เรียนรู้ดีเด่นของจังหวัดเลย เมื่อปี ๒๕๕๔ สำหรับคณะที่มีเวลาแล้ว น่าเข้าไปเยี่ยมชม เพื่อนำความรู้และประสบการณ์จริงมาใช้กับตัวเราหรือบอกต่อก็ได้



รายการทัวร์เมืองเลยช่วงวัสสานวันที่สองนั้น เราย้ายที่พักไปค้างแรมกันที่อำเภอภูเรือ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรในย่านนั้น ดังนั้น หลังอาหารเย็น ผู้จัดรายการทัวร์จึงแจ้งสมาชิกเพื่อทราบเรื่องที่พัก และรายการทัวร์โดยกำหนดสถานที่ไปชมไกลเสียก่อน ครึ่งวันที่สองไปชมตลาดชายแดนและข้ามสะพานไปต่างประเทศกันที่ท่าลี่ กับไร่อาจารย์อธิศพัฒน์

 แปลงสาธิตในบริเวณบ้านอาจารย์อธิศพัฒน์

คณะท่องเที่ยวแก๊งรถตู้เที่ยวสบาย ๆ สไตล์เลย ดูเฉย ๆ กับตลาดนัดชายแดนท่าลี่ บ่นว่าอากาศอบอ้าวและไม่มีของที่น่าสนใจอยากซื้อกัน เพียงเดินผ่านแล้วถ่ายรูปเป็นที่ระลึกพอได้อารมณ์ก็กลับไปนั่งรับอากาศเย็น ๆ ในรถกัน  ระหว่างทางจากตลาดนัดชายแดนเราแวะตลาดท่าลี่หาซื้อกาแฟดื่มตามอัธยาศัย สักครู่เมื่อสารคาเฟอินกระตุ้นประสาท ทำให้ลูกทัวร์ผู้สูงวัยสดชื่นขึ้น ก็พอดีรถเลี้ยวเข้าสู่ไร่อาจารย์อธิศพัฒน์ ในเขตบ้านท่ายาง ตำบลท่าลี่ ซึ่งอยู่ห่างจากตลาดเพียง ๘ กม. ที่นี่เราได้โทรศัพท์ยืนยันที่หมายเลข ๐๘๙ ๘๐๐ ๘๑๗๐ อีกครั้ง แม้ได้รับคำบอกว่าอาจารย์อธิศพัฒน์  วรรณสุทธิ์  เจ้าของสวนไปเป็นวิทยากรต่างจังหวัด แต่ก็มีเจ้าหน้าที่คอยให้การต้อนรับคณะเราอยู่


นามไร่อาจารย์อธิศพัฒน์ที่ชาวเลยรู้จักดีนั้น ท่านเป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์การทำการเกษตรที่ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติหลายสาขาอาทิ รางวัลชนะเลิศเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด หรือ Smart Farmer  ปราชญ์ของแผ่นดิน สาขาการพัฒนาเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ โดยยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  และเป็นผู้ทรง-คุณวุฒิด้านบริหารศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน (Integrated  Best Management :IBM) เป็นต้น


 ถั่วฝักยาวกำลังออกผลงอกงาม


ภูมิหลังของเกษตรกรผู้เป็นปราชญ์ของแผ่นดินผู้นี้ ท่านได้หันหลังให้อาชีพนักสาธารณสุขจากเมืองหลวงมาพลิกฟื้นผืนดินลูกรังให้เป็นสวนเกษตรแบบผสมผสานโดยน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาปรับปรุงบำรุงดินจนเป็นไร่เกษตรอินทรีย์ที่ให้ผลผลิตทั้งผักสด ผลไม้ มีรสชาติอร่อย ได้รับมาตรฐานอาหารปลอดภัยสากล การจัดการภายในไร่เกษตรอินทรีย์ที่นำเอาความรู้ทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นผสมกับเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์เช่น ระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมการรดน้ำ  การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ การใช้ก๊าซชีวภาพ   การใช้ทรัพยากรการเกษตรอย่างคุ้มค่า การจัดการอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการพัฒนาสูตรอาหารสำหรับพืช ได้แก่ จุลินทรีย์หน่อกล้วย สูตรเลี้ยงไก่อารมณ์ดีให้ออกไข่มีคุณภาพ และอื่นๆ อีกมากมาย


 ไก่เลี้ยงภายในไร่อธิศพัฒน์


 ความโดดเด่นและมีเอกลักษณ์ในการทำการเกษตรนี้ ทำให้ไร่อธิศพัฒน์ได้รับความสนใจเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเกษตรกรสมัยใหม่ให้เข้ามาศึกษาดูงาน ได้มีโอกาสเรียนรู้แนวคิดในการแทนคุณแผ่นดิน และการประยุกต์องค์ความรู้ทางการเกษตรมาสู่ภาคปฏิบัติ โดยเน้นการทำการเกษตรอินทรีย์ที่มีความสุข ทำให้มีผู้เข้ามาศึกษาดูงานเที่ยวชมผลงานอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี รวมทั้งการเข้ามาพักอาศัยในไร่เพื่อเรียนรู้ในการปฏิบัติจริงร่วมกับอาจารย์ด้วยทั้งชาวไทย และเกษตรกรมิตรประเทศริมฝั่งโขงทั้งใกล้และไกล  


 เมื่อมาดูงานที่ไร่นี้ ดิฉันคิดถึงอาจารย์วิวัฒน์ ศัลยกำธร ปราชญ์ของแผ่นดินภาคกลางผู้ทำงานหนัก เพื่อสรรค์สร้างการเกษตรของประเทศให้เป็นเกษตรปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หากนับอายุท่านเป็นรุ่นพี่ของอาจารย์อธิศ พัฒน์

 แปลงนาในไร่อธิศพัฒน์

สวนเกษตรแบบผสมผสานบนพื้นที่ลอนลาดแห่งนี้ หากเป็นสวนเกษตรในภาคใต้เรียกกันว่าสวนสมรม เราทราบว่า พื้นที่รอบนอกปลูกเป็นสวนป่าคงเหลือไม้ยืนต้นในพื้นที่ป่าเบญจพรรณ ที่ปลูกเสริมได้แก่ ไผ่นานาชนิด  ผักหวานป่า เพื่อให้สวนป่าเป็นไม้กันลม นอกจากนั้น ในสวนป่ายังมีเห็ดเผาะ เห็ดป่า ให้เก็บกินได้  ชั้นในปลูกผลไม้ น้อยหน่า ฝรั่ง สับปะรด  เงาะโรงเรียน อโวกาโด กล้วยน้ำว้า ผักสวนครัว ผักกินใบต่าง ๆ  รวมถึงทำนาปลูกข้าวในที่ดอน ๕ สายพันธุ์ด้วย

 เครื่องหมายปลอดสารพิษจากธรรมชาติ


คณะเราได้รับการนำชมให้ดูแปลงผักและทราบว่า ระบบการดน้ำในสวนนี้ได้ใช้น้ำใต้ดินหรือน้ำบาดาล ซึ่งตรวจดูคุณภาพไม่มีสารปนเปื้อนอยู่ในน้ำ ดังนั้น พืชผัก ผลไม้จึงปลอดสารพิษ กินได้สด ๆ อย่างสนิทใจ เมื่อผ่านแปลงไร่ข้าวโพดหวาน เจ้าหน้าที่ได้หักข้าวโพดแบ่งเป็นชิ้นเล็ก ๆ ให้พวกเราทดลองกินสด ๆ บรรดาลูกทัวร์ได้ชิมแล้วร้องกรี๊ดกร๊าดราววัยใสว่า “เพิ่งรู้ว่าข้าวโพดหวานกินดิบได้”  ดิฉันเสริมว่า “นี่แหละประสบการณ์ใหม่ในชีวิตล่ะ”


ก่อนออกจากไร่ทุกคนซื้อสารพัดพืชผัก ของกินทั้งสดแห้งเป็นของฝากกลับบ้าน ที่กินบนรถทั้งข้าวโพดต้ม ฟักทองนึ่งทั้งเนื้อเหนียวและหวาน  สับปะรดปอกหวานฉ่ำ กล้วยน้ำว้าสุก  โดยตกลงกันว่า มื้อกลางวันยกยอดรวมเป็นมื้อเย็นกันทีเดียว


 ไร่ที เค ภูเรือ ไฮโดรฟาร์ม  


บนเส้นทางจากไร่อธิศพัฒน์ในเขตอำเภอท่าลี่ รถมุ่งหน้าเข้าสู่อำเภอภูเรือ เพื่อเข้าสู่ที่พักด้วยระยะทางประมาณ ๒๘ กม. กระนั้นก็ตาม เมื่อผ่านไร่ที.เค.ภูเรือ ไฮโดรฟาร์ม เพื่อนในรถสนใจขอแวะ เพื่อดูว่าเขาปลูกผักอย่างไร เพราะอยากเอาแบบไปปลูกบนชั้นดาดฟ้าบ้าน ซึ่งเป็นห้องแถว เธอบอกว่าใช้ประโยชน์ตากผ้าเพียงอย่างเดียวอยากปลูกผักไว้กินบ้าง ได้ข่าวปลูกผักโดยไม่ใช้ดินมานานแล้ว


เมื่อลงจากรถกันแล้ว เจ้าหน้าที่ออกมาต้อนรับ พวกเราต้องขอโทษที่ไม่ได้แจ้งล่วงหน้า ซึ่งตามระเบียบแล้ว หากนักท่องเที่ยวจะไปเที่ยวสวนเกษตรใด  ควรติดต่อแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย ๑ อาทิตย์ บางแห่งต้อง ๑๐ วันหรือ ๒ อาทิตย์ก็มี เพราะฝ่ายเจ้าของสวนจะได้จัดเจ้าหน้าที่คอยต้อนรับและนำชมสวน

 ผักนานาชนิดงามอยู่ในโรงปลูก

ไร่ที.เค.ภูเรือ ไฮโดรฟาร์ม มีระบบจัดการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปลูกผักสลัดนานาชนิดโดยใช้ระบบไฮโดรโปรนิกส์ด้วยระบบน้ำจากใต้ดินหรือน้ำบาดาล ด้วยเหตุผลที่ว่า เป็นน้ำสะอาดไม่มีสารพิษปนเปื้อนเหมือนแหล่งน้ำธรรมชาติทั้งลำธาร ลำคลอง  มีการจัดสวนแบบขั้นบันได เพื่อให้ดูแลรักษาพืชได้ง่ายและดูเป็นระเบียบสวยงามด้วย เจ้าหน้าที่อธิบายว่า ต้องคอยตรวจแปลงผักทุกวันและทั้งวัน เพื่อสังเกตว่ามีแมลงมาไข่ไว้ตามใต้ใบหรือไม่ หากพบเราต้องตัดใบทิ้งเลย เป็นการกำจัดแมลงด้วยแรงมือมนุษย์ ผักในสวนได้รับมาตรฐานปลอดสารพิษด้วย  

ที่มุมสาธิตวิธีปลูกผักแบบไร้ดิน เพื่อนดิฉันได้เรียนรู้และเธอรับปากว่าจำได้ เข้าใจ  และคุยว่า คอยดูสิ อีกสามเดือนจากนี้ไปจะมีผักสลัดแจกกันกินได้ มีเสียงสวนขึ้นทันทีว่า “ฉันคงไม่ต้องร้องเพลงรอนะ...”

 ไร่องุ่นภูเรือวโนทยาน

ก่อนเข้าที่พักยามบ่ายคล้อยก็ถึงเวลาพักดื่มน้ำชา กาแฟและอาหารว่างรองท้องสักนิด จึงแวะไปที่ร้านชาโต้ เดอ เลย นามนี้นักท่องเที่ยวรู้จักกันว่า เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่สมบูรณ์ครบวงจรระดับนานาชาติแห่งแรกของจังหวัดเลย มีชื่อเป็นทางการว่า“สวนองุ่นภูเรือวโนทยานจังหวัดเลย”จัดตั้งในปี ๒๕๓๘ เมื่อ ๒ ทศวรรษที่ผ่านมา 

ดิฉันเปรยกับเจ้าหน้าที่บริการว่า “ทำไมดูร้านเงียบเหงาไป เกิดอะไรขึ้นกับสวนนี้....”

สักครู่ ผู้จัดการฝ่ายเบเกอรี่ออกมาต้อนรับคณะลูกค้าเก่าและบอกพวกเราว่า ช่วงนี้ที่กำลังปรับปรุงไร่ตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญการผลิตไวน์จากฝรั่งเศส เขาแนะนำให้แยกการปลูกองุ่นรับประทานผลสด กับองุ่นสำหรับทำไวน์ไว้คนละด้าน เพราะอาจมีการผสมข้ามพันธุ์ทำให้องุ่นสำหรับทำไวน์เสียรส อย่างไรก็ตาม ฝ่ายจัดสวนคงยังมีแปลงองุ่นรับประทานผลสดบริการลูกค้า ซึ่งขณะนี้ ยังไม่ออกผล และได้อธิบายให้เราทราบว่า ขณะนี้สวนเรามีระบบจัดการอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

 ชาโต้ เดอ เลย ในบรรยากาศสงบเงียบ

นอกจากแปลงองุ่นบนพื้นที่ลอนลาดแล้ว ยังแบ่งพื้นที่ปลูกแมคคาเดเมียแปลงใหญ่ ๑,๒๐๐ไร่ มะม่วงพันธุ์มหาชนก ๕๐ ไร่ สามารถเก็บผลผลิตส่งจำหน่ายทั่วประเทศ ในส่วนเบเกอรรี่ได้ทำผลิตภัณฑ์ถนอมอาหารเช่น น้ำผลไม้ แยมผลไม้ และผลไม้อบแห้ง  เพื่อจำหน่ายเป็นสินค้าที่ระลึกคู่กับไวน์ด้วย

ตามหน้าที่ของผู้จัดรายการเที่ยววันหยุดยาวช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ก่อนคณะแยกย้ายกันเข้าห้องพัก ดิฉันรายงานรายการเดินทางเพื่อทราบว่า พรุ่งนี้ เรามีรายการเดินทางไปทำบุญที่วัดพระธาตุศรีสองรัก อำเภอด่านซ้าย จากนั้นแวะไปกินอาหารกลางวันที่ห้องอาหารกลางวันที่สวนภูนาคำ พร้อมทั้งไม่ลืมเน้นย้ำว่า การทำบุญที่วัดพระธาตุศรีสองรักนั้น ต้องไม่มีสีแดงทั้งเครื่องบูชาและเครื่องไทยธรรมต่าง ๆ รวมถึงเสื้อผ้าที่สวมใส่กันด้วยด้วย เรื่องนี้ เราปฏิบัติตามความเชื่อของชาวบ้านที่เขาเชื่อว่า สีแดงเป็นสีเลือดไม่เป็นมงคลกับสถานที่

หลังอาหารเช้าอย่างสบาย ๆ  เราได้ออกรถไปอำเภอด่านซ้ายซึ่งมีระยะทาง ๓๕ กม.ไปแวะซื้อดอกไม้ธูปเทียนและเครื่องสังฆทาน โดยเลือกเฉพาะของใช้จำเป็นสำหรับสงฆ์บรรจุถุงพลาสติกผูกโบว์พองาม นำไปถวายพระที่วัดพระธาตุศรีสองรัก อันเป็นวัดสำคัญของจังหวัดเลย ภายในวัดมีพระธาตุ สร้างตามพุทธศิลป์สกุลช่างล้านช้าง ชาวเลยนับถือว่าเป็นพระธาตุแห่งสัจจะและไมตรีของสองกษัตริย์คือ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ  แห่งราชอาณาจักรสยาม และพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช แห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์)  ราชอาณาจักรล้านช้าง (สปป.ลาว ในปัจจุบัน) พระธาตุศรีสองรักนี้กษัตริย์ทั้งสองพระองค์ทรงโปรดฯสร้างขึ้นเพื่อเป็นสักขีพยานว่า จะไม่มีการสู้รบให้เลือดตกต้องแผ่นดินกันอีกต่อไป อันเป็นเหตุผลในความเชื่อความศรัทธาของชาวบ้านห้ามใช้สีแดงในวัด

คณะเราตั้งใจทำบุญถวายสังฆทานในวันเข้าพรรษาและไม่คอยถวายภัตตาหารเพล จึงใช้เวลาไม่นานนัก เมื่อเสร็จงานบุญตามประเพณีแล้ว เราจึงออกรถเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข ๒๐๑๓ ผ่านรพ.สมเด็จพระยุพราชทางซ้าย ตรงไปประมาณ ๑ กม.จะมีป้ายบอกทางเข้าสวนอยู่ด้านซ้ายไปอีก ๘๐๐ เมตรถึงลานจอดรถสวนภูนาคำ

 สวนภูนาคำที่รายรอบบูติครีสอร์ต
สวนแห่งนี้ เป็นสวนเกษตรแบบผสมผสานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่รายล้อมรอบบูติครีสอร์ท ชื่อเดียวกัน เป็นการทำธุรกิจบนพื้นที่มรดกของครอบครัวคุณอดุลย์ วงศ์มาศา นักธุรกิจรุ่นGen X  ได้น้อมรับหลักเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาบริหารโดยสร้างมูลค่าเพิ่มเสริมคุณค่าให้แก่กันและกันใน ๒ ธุรกิจคือ ธุรกิจการเกษตรได้สร้างพื้นที่สีเขียวและผลผลิตเพื่อใช้บริการในห้องอาหาร กับธุรกิจที่พัก ที่มีทิวทัศน์สีเขียวทุ่งหญ้า ทุ่งนา อันกว้างไกลแล้ว  นักท่องเที่ยวยังได้สัมผัสกับวิถีเกษตรไทย มีโรงนาเลี้ยงควาย แปลงปลูกผัก สวนสมุนไพร แปลงเก็บพลังจากแสงอาทิตย์เพื่อใช้พลังงานไฟฟ้าและความร้อนภายในพื้นที่ สำหรับสวนป่ารอบ ๆ ใช้เป็นไม้กันลมตามธรรมชาติ  การจัดการอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นผลให้ภูนาคำรีสอร์ทได้รับรางวัลมาตรฐานทั้งระดับประเทศและนานาชาติ


 บรรยากาศแบบเกษตรกรรมของภูนาคำ

เที่ยงเศษวันนี้ คณะเรานั่งกินอาหารที่ประกอบด้วยผักและผลไม้อินทรีย์ ท่ามกลางบรรยากาศในม่านฝนไล่ช้างพร่างพรูเพียงชั่วครู่ประเดี๋ยวเดียวฟ้าก็สว่าง สายฝนช่วยเสริมบรรยากาศให้ผืนนาและผืนป่ารอบห้องอาหารเขียวสดตา ดิฉันแอบสังเกตเห็นว่า เพื่อนในคณะทุกคนเพลินสนุก เจริญอาหาร เสียงคุยสดใส สมกับช่วงเวลาที่ได้มาพักผ่อนกัน บางคนเห็นบรรยากาศถามว่า หากจะเปิดห้องพักงีบเอาแรงแล้วเย็น ๆ ค่อยกลับได้ไหม และแล้วเธอก็ต้องเปลี่ยนความคิด เพราะเพื่อนลงมติว่า ค่าห้องนั้นต้องจ่ายเอง ไม่ใช้เงินกองกลางนะ

ระหว่างที่พักผ่อนอยู่ที่ภูนาคำรีสอร์ท เพื่อนพรรคได้ตกลงกันว่า ใครประสงค์ทำสิ่งใดที่ใจปรารถนาก็ทำเช่น นั่งส่งไลน์คุยกับเพื่อน เดินย่อยอาหารชมสวนสมุนไพร หรือขอชมห้องพัก เพื่อการเดินทางในครั้งต่อไป จนถึงเวลานัด ๑๕.๓๐ น.ค่อยกลับที่พัก
 

 แก้วมังกร บ้านร่องจิก


ก่อนออกรถเดินทางกลับดิฉันถามเพื่อน ๆ ว่า ใครจะสั่งซื้อแก้วมังกร รสดีจากสวนบ้านร่องจิกกันบ้าง เพื่อโทรศัพท์สั่งลุงอ้อย หรือคุณพรมนัส  พรมภูติ ที่หมายเลข ๐๘๑๙๖๕๖๒๔๔ ให้เก็บแก้วมังกร สด ๆ แล้วนำรถเข้าไปแวะรับ พร้อมกำชับว่าทุกคนต้องคำนวณน้ำหนักสัมภาระตอนขึ้นเครื่องบินด้วย

นอกจากสับปะรดไร่ม่วงแล้ว แก้วมังกร ก็เป็นผลไม้รสดีถึงขนาดกลุ่มเกษตกรจะขอจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI)อีกชนิดหนึ่งด้วย ดิฉันได้ความรู้จากเกษตรจังหวัดว่าผืนแผ่นดินจังหวัดเลยนี้  เคยเป็นดินที่พัฒนามาจากพื้นที่ภูเขาไฟนับร้อย ๆ ล้านปี จึงมีคุณสมบัติที่มีธาตุอาหารสูงเป็นต้นทุนเดิมแล้ว ยังมีทุนเสริมอันได้แก่   มีลักษณะทางภูมินิเวศที่หลากหลายโดยรวมมีความสูงโดยเฉลี่ย  ๓๐๐-๖๐๐ เมตรจากระดับทะเลปานกลาง ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยตลอดปี ๑,๐๗๘  มิลลิเมตร   มีอุณหภูมิเฉลี่ย ๒๖ องศาเซลเซียส หากพิจารณาพื้นที่ธรรมชาติตามระบบนิเวศแล้ว มีส่วนเอื้ออำนวยให้ พืชพรรณ ผัก ผลไม้ มีคุณสมบัติพิเศษคือ มีรสอร่อยครับ... 
            
           มิน่าล่ะ... จากความรู้เดิมที่เคยร่วมทำงานโครงการหลวงอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งสามารถทำการเกษตรในเขตอบอุ่น หรือที่เราเรียกกันว่า ปลูกไม้เมืองหนาวกันได้  ที่จังหวัดเลยนี่ก็เช่นกัน กลุ่มเกษตรจังหวัดเลย เขาตั้งความหวัง จังหวัดเลยจะเป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัย เป็นครัวของประเทศและของโลกอีกแห่งหนึ่ง
            
 ตลาดนัดไม้กระถางภูเรือ
             
              หลังอาหารเช้าวันสุดท้ายของรายการทัวร์วันหยุดเทศกาลเข้าพรรษานั้น เป็นรายการชมตลาดนัดไม้ถุงไม้กระถาง ซึ่งมองดูเป็นสวนไม้ดอกไม้ประดับข้างถนนเขตอำเภอภูเรือ ที่มีจุดหมายตาเป็นเทอโมมิเตอร์ยักษ์อยู่กลางสวน แท้จริงแล้วเป็นแปลงเล็ก ๆ ของชาวสวน เมื่อรวมกลุ่มและปลูกติดต่อกันมองดูเป็นพื้นที่กว้างไกลสุดสายตา  มีภูเขาลูกโดดสีเขียวเป็นฉากหลัง สีสันของไม้ดอกไม้ประดับที่วางเรียงและสลับสี นับว่าเป็นจุดชมวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงปลายเดือนมกราคม อันเป็นช่วงที่มีการเพาะและขยายพันธุ์ไม้ถุงไม้กระถางที่ชื่อ พอยซิเทีย(Poinsettia) แต่ชาวไทยเรียกว่า ต้นคริสต์มาส นับเป็นไม้ประดับประดุจเป็นไม้กระถางสัญลักษณ์ของจังหวัดเลยทีเดียว
            
              กระนั้นก็ตาม แม้เป็นช่วงหน้าฝน ไม้ดอกไม้ประดับที่กลุ่มเกษตรกรปลูกไว้ขายก็อวดสีสันสดตา เหมือนหน้าหนาวเช่นกัน  และที่นี่ กลุ่มทัวร์ผู้สูงเพลินชม เพลินถ่ายรูปกันอย่างสนุกสนาน  บางคนลืมวัย วางท่าถ่ายรูปราวกับเป็นวัยใสกันเชียว

            รายการทัวร์ ทำบุญและชมสวนเกษตรในวัสสานฤดู นับเป็นอีกรายการหนึ่งที่อยากแนะนำให้ท่านผู้สนใจไปเที่ยวจังหวัดเลย เพื่อเปิดมุมมองใหม่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรในวิถีของของชาวเลยกัน ตลอดปี ไม่เพียงเฉพาะหน้าหนาวเท่านั้น..... 

 แผนที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรเมืองเลย  พิเศษ เสนาวงศ์...จัดทำแผนที่


 ทิวทัศน์ท้องนาจังหวัดเลย


             จังหวัดเลยเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยน้ำใจและมิตรไมตรี อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ความสวยงามของทิวทัศน์ ความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของวิถีชีวิต ศิลปะ วัฒนธรรม ที่เป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินและชาติพันธุ์ที่สืบทอดอารยธรรมล้านช้าง ร่วมกับบ้านพี่เมืองน้องอย่าง สปป.ลาว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจุดเด่นของภูมิอากาศที่ถือกันว่าหนาวที่สุดในสยาม 

     ปัจจุบันจังหวัดเลยเป็นหนึ่งในเมืองต้องห้าม...พลาด มีทั้งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเลย สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเลย และสำนักงานพื้นที่พิเศษเลย ที่ช่วยกันพัฒนา ส่งเสริม และขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ทำให้มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากการท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่เป็นจุดสนใจหลัก 

          จังหวัดเลยยังมีศักยภาพในการท่องเที่ยวในแหล่งเกษตรอีกด้วย มีแหล่งเรียนรู้ทางการเกษตรตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ของปราชญ์แผ่นดินถึงสามท่าน แหล่งเกษตรที่ทิวทัศน์สวยงาม สะท้อนวิถีชีวิตเกษตรกรรม งานเทศกาลการเกษตร และผลผลิตการเกษตรที่มีคุณภาพ ซึ่งสามารถเสริมรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการท่องเที่ยวได้ และยังจะสามารถขยายฤดูกาลท่องเที่ยวจากเฉพาะหน้าหนาว เชิญชวนนักท่องเที่ยวมาเยือนความชุ่มฉ่ำเขียวขจีของแหล่งเกษตรกรรมในช่วงหน้าฝนและความสวยงามของพรรณไม้ในช่วงปลายฝนต้นหนาว
                                                            
นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย

สิงหาคม ๒๕๕๙
 นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย
การท่องเที่ยวเชิงเกษตร เป็นการท่องเที่ยวในแหล่งเกษตรกรรม และเป็นรูปแบบหนึ่งของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ นอกจากจะมีความสวยงามสวยงาม สัมผัสธรรมชาติ ยังเป็นการท่องเที่ยวที่มีโอกาสได้เรียนรู้วิถีทางเกษตรกรรม ที่สำคัญการทำเกษตรจะมีการหมุนเวียนการเพาะปลูกต่อเนื่องตลอดปี ทำให้การท่องเที่ยวในแหล่งเกษตรกรรมมีศักยภาพในการพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวได้ตลอดปีด้วย 

สำหรับพื้นที่พิเศษเลย นักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้วิถีชีวิต ความเชื่อ ภูมิปัญญา และเทคโนโลยีการทำเกษตร ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจากการเกษตรที่มีสุขภาวะและอาหารที่มีประโยชน์ ผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์ เกษตรไร้สารพิษ 

อพท.๕ได้มีส่วนร่วมกับภาคีการพัฒนาการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องศึกษาเพื่อพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชิงเกษตรนิเวศ สำรวจแหล่งที่มีศักยภาพในการนำมาพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม ส่งเสริมความร่วมมือและสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายทั้งการท่องเที่ยวและการเกษตรกรรม สื่อสารและสร้างการเรียนรู้ที่มีคุณค่า รวมถึงการขับเคลื่อนให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงเกษตรตามแนวทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อให้ Loei Green Zone เป็นการท่องเที่ยวทางเลือกที่มีคุณภาพ เน้นย้ำการรับรู้ภาพลักษณ์ของการเป็นเมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

นายธรรมนูญ ภาครูป รักษาการผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษเลย (อพท.๕)
กรกฎาคม ๒๕๕๙ 


 นายธรรมนูญ ภาครูป รักษาการผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษเลย (อพท. ๕) 

No comments:

Post a Comment