แหล่งท่องเที่ยวดี ๆ ประเภทที่ให้ความรู้ความเข้าใจอย่างพิพิธภัณฑ์หรือศูนย์การเรียนรู้ต่าง
ๆ ในเขตปริมณฑลรอบกรุงเทพมหานครนั้นมีอยู่มากมาย
โดยเฉพาะที่จังหวัดปทุมธานี ถือได้ว่าเป็นศูนย์รวมแหล่งเรียนรู้ไว้มากแห่งหนึ่ง
แต่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักจะมองข้ามกันไป สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งก็คือ ไม่เคยรู้ว่ามีแหล่งท่องเที่ยวดี
ๆ อย่างนี้อยู่
กรมศิลปากรจึงร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัดปทุมธานี จัด
“โครงการสัญจรเครือข่ายแหล่งเรียนรู้ปทุมธานี” เมื่อวันพุธที่
๑๕ กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งนอกเหนือจากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างความร่วมมือในการจัดการแหล่งเรียนรู้ในบริเวณใกล้เคียงแล้ว
ยังเป็นการแนะนำแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ ให้เป็นที่รู้จักด้วย โดยในงานนายนิพิฎฐ์
อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นประธานในพิธีเปิด ณ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โดยมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสื่อมวลชนเข้าร่วมจำนวนมาก
รวม ๓ คันรถโดยสาร
หลังพิธีเปิดเป็นการนำชมหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ
ซึ่งกรมศิลปากรจัดตั้งขึ้นให้เป็นหอจดหมายเหตุแห่งชาติที่สมบูรณ์ที่สุด เนื่องในมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชสมบัติครบ
๕๐ ปี ในปี พ.ศ.๒๕๓๙ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการศึกษา ค้นคว้า วิจัย
ภายในอาคารสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์แบ่งเป็น
๔ ส่วน รวมพื้นที่ ๒๐,๐๐๐ ตารางเมตร
ส่วนที่ ๑ เป็นที่เก็บเอกสารจดหมายเหตุ ส่วนที่
๒ เป็นอาคารให้บริการค้นคว้า ส่วนที่น่าสนใจที่สุดคือส่วนที่ ๓-๔ เพราะเป็นอาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจและโครงการในพระราชดำริ
ด้วยการนำเสนอภาพถ่ายอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ การจัดวางตกแต่งอย่างน่าสนใจ ประกอบสื่อผสมแสงสีเสียงที่สร้างความตื่นตาตื่นใจและประทับใจให้กับผู้มาเยี่ยมชม
จากนั้นขึ้นรถเดินทางไปยังหออัครศิลปินที่อยู่ถัดไปด้านหลัง
ภายในอาคารทรงไทยประยุกต์ จัดแสดงผลงานอันแสดงถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในด้านต่าง
ๆ รวม ๙ ประเภท ได้แก่
หัตถกรรม กีฬา วรรณศิลป์ จิตรกรรม การถ่ายภาพ ภูมิสถาปัตยกรรม ประติมากรรม ดนตรี
และการพระราชนิพนธ์เพลง
นอกจากนี้ยังมีห้องแสดงผลงานภาพถ่ายฝีพระหัตถ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี และห้องแสดงประวัติและผลงานศิลปกรรมอันล้ำค่า จัดแสดงผลงานจากภูมิปัญญาของศิลปินแห่งชาติทั้ง ๔
สาขา คือ สาขาวรรณศิลป์ ศิลปการแสดง
ทัศนศิลป์ และสถาปัตยกรรม ในรูปแบบนิทรรศการภาพและเทคโนโลยีที่ทันสมัย
หลังจากอาหารกลางวันที่อาคารหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ
คณะสัญจรออกเดินทางไปยังองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ในอาคารทรงลูกบาศก์แปลกตาล้ำยุคเป็นสถานที่จัดแสดงเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์
มีทั้งที่เป็นนิทรรศการแบบถาวรและนิทรรศการหมุนเวียน ให้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์
เทคโนโลยี ธรรมชาติวิทยา ดาราศาสตร์ และอวกาศ พร้อมกิจกรรมการทดลองแบบมีส่วนร่วมที่กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้อย่างสนุกสนาน
เช่นเดียวกันกับศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา
รังสิต ที่อยู่ใกล้ ๆ กัน เปิดให้บริการเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์จุดเด่นอยู่ที่ "ท้องฟ้าจำลองรังสิต" ซึ่งถือว่าทันสมัยที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ภายในโดมเอียงซึ่งเป็นห้องฉายดาวจุผู้เข้าชมได้มากถึง ๑๖๐ ที่นั่ง มีหัวใจสำคัญคือเครื่องฉายดาว ๒ ระบบ ที่สามารถฉายภาพยนต์สามมิติแบบ
IMAX ได้ นำพาผู้มาเยือนท่องเที่ยวไปทั่วจักรวาล
ด้วยความรู้สึกสมจริงเสมือนล่องลอยในอวกาศ ท่ามกลางหมู่ดาวระยิบระยับ
ส่งท้ายด้วยการแวะเวียนไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์บัวเฉลิมพระเกียรติ ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี ๒๕๔๓ ตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี ในพื้นที่ ๑๘ ไร่ เป็นศูนย์กลางดำเนินการสำรวจ เก็บรวบรวม ปลูก
รักษา ศึกษาการใช้ประโยชน์ อนุรักษ์พันธุ์บัวทั้งพันธุ์ไทย
พันธุ์เทศและพันธุ์ลูกผสม เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ ค้นคว้า วิจัย
ถ่ายทอดความรู้อย่างครบวงจร ทั้งการพัฒนาสายพันธุ์ ขยายพันธุ์บัว ซื้อ ขาย และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับบัว อีกทั้งเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
ความหลากหลายมากกว่า ๑๕๐ สายพันธุ์ มากกว่า ๕๐๐ กระถาง มีทั้งบัวหลวง บัวสาย
บัวฝรั่ง บัววิคตอเรีย และบัวพันธุ์ไทยหายาก
ปิดฉากการสัญจรด้วยสายฝนโปรยปรายและความประทับใจของคณะผู้ร่วมเดินทาง
ซึ่งทุกคนต่างติดอกติดใจในแหล่งเรียนรู้ที่ได้พบเห็น ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามีเวลาในการเที่ยวชมน้อยไปหน่อย
หากมีโอกาสจะต้องมาใหม่จะได้เที่ยวชมได้ทั่วถึง
แหล่งเรียนรู้ในเขตจังหวัดปทุมธานียังมีอีกหลายแห่ง
แต่ละแห่งเปิดให้เข้าชมทุกวัน หยุดวันจันทร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานกรุงเทพมหานคร โทรศัพท์
๐ ๒๒๕๐ ๕๕๐๐ ต่อ ๒๙๙๑-๕
No comments:
Post a Comment