Sunday, March 22, 2015

แลหลังงานช้างสุรินทร์ เมื่อ ๕ ทศวรรษ


การแสดงช้างชักคะเย่อกับคน

พิชัย  น้อยวัฒน์ เรื่องและภาพ
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท.ฉบับเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ 


งานช้างสุรินทร์ หรือ งานแสดงของช้างจังหวัดสุรินทร์ หรือที่นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศรู้จักกันในชื่อภาษาอังกฤษในตอนนั้นว่า “Elephant Round Up at Surin”  ปัจจุบันเติบโตเป็นงานแสดงของช้างที่ยิ่งใหญ่มีชื่อเสียงกระฉ่อนไปทั่วโลก และก็เป็นงานที่สร้างความภาคภูมิใจ อันเป็นที่สุดของความภูมิใจในความสำเร็จของการจัดงานเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไปสู่อีสาน ซึ่งองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (อ.ส.ท.) หน่วยงานท่องเที่ยวเล็ก ๆ ในขณะนั้น ร่วมกับจังหวัดสุรินทร์จัดให้มีขึ้น

งานแสดงของช้างมีช้างซึ่งเป็นสัตว์บกที่ใหญ่ที่สุดในโลกเป็นดาราแสดง จึงเป็นงานที่สร้างความสนุกสนานตื่นเต้น ประทับใจแก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่มีโอกาสเดินทางไปชมเป็นอย่างมาก ผลของการจัดงานเป็นที่เล่าขานกันต่อ ๆ ไป ปากต่อปาก  จนกระทั่งกลายเป็นงานที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกต้องการจะได้มีโอกาสเดินทางมาชม อย่างน้อยก็สักครั้งหนึ่งในชีวิต

สมัยก่อนการจะไปชมต้องไปกับการจัดนำเที่ยวของอ.ส.ท. เท่านั้น แต่ปัจจุบันเส้นทางคมนาคมในการที่จะเดินทางไปจังหวัดสุรินทร์สะดวกสบายและรวดเร็ว นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปกับบริษัททัวร์ก็ได้ หรือเดินทางไปเองได้ทั้งทางรถยนต์และรถไฟ  การจัดนำเที่ยวงานช้างโดยขบวนรถไฟพิเศษจึงถูกยกเลิกไป จะเหลืออยู่แต่เพียงความทรงจำเท่านั้น  

ย้อนสู่อดีต
       
        เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓ จอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ได้จัดตั้งองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (อ.ส.ท. ) ซึ่งใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “Tourism Organization of Thailand” (T.O.T)
               
              ในปีเดียวกันนั้นนายวินัย สุวรรณากาศ นายอำเภอท่าตูมในขณะนั้น ได้จัดงานแสดงของช้างจังหวัดสุรินทร์ซึ่งเป็นครั้งแรกเช่นกัน เพื่อเฉลิมฉลองอาคารที่ว่าการอำเภอที่จัดสร้างขึ้นใหม่
              
              งานแสดงของช้างจังหวัดสุรินทร์จึงถือว่าเกิดขึ้นปีเดียวกับองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ อ.ส.ท. นั่นเอง มาถึงวันนี้ พ.ศ. ๒๕๕๓ หน่วยงานส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐ หรือ อ.ส.ท. และงานแสดงของช้างจังหวัดสุรินทร์ จึงมีอายุยืนยาวมา ๕ ทศวรรษแล้ว ดูช่างเป็นเวลาอันยาวนานเสียจริง ๆ
            
           จากวันนั้น ถึงวันนี้ทุกสิ่งอย่างเจริญเติบโต และเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย - อ.ส.ท. (Tourism Organization of Thailand – T.O.T)  เติบโตเป็นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย- ททท. (Tourism Authority of Thailand – T.A.T) งานแสดงของช้างจังหวัดสุรินทร์ก็พัฒนาจากงาน เล็ก ๆ ในชนบท มาเป็นงานประจำปีของชาติ
            
         เรามาย้อนยุคแลหลังกลับไปดูการจัดงานแสดงของช้างในสมัยนั้นว่าเขาจัดกันอย่างไร ถึงได้ผ่านเวลาอันยาวนานจนกลายเป็นงานของชาติในปัจจุบัน

ขี้ม้าล่อช้าง การแสดงชุดปิดท้าย

การจัดงานช้างครั้งแรกที่อำเภอท่าตูม
            
            ถึงแม้ว่าผมจะไม่ได้เป็นพนักงาน อ.ส.ท. คนแรกที่ได้เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ในการจัดงานแสดงของช้างตั้งแต่ปีแรก ๆ (พ.ศ. ๒๕๐๓-๐๖) แต่ในปีที่ผมต้องเดินทางไปปฏิบัติงานเป็นครั้งแรก ก็ได้รวบรวมข้อมูลจากเอกสารและคำบอกเล่าของผู้ไปปฏิบัติงานรุ่นก่อน โดยเฉพาะจากคุณวิสิทธ์ ศรีนาวา และร.อ.สำคัญ เจริญพิภพ เอาไว้อย่างค่อนข้างจะสมบูรณ์ทีเดียว
            
           งานแสดงของช้างที่จัดขึ้นที่ว่าอำเภอท่าตูมเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓ นั้น เป็นการจัดของนายอำเภอท่าตูม (นายวินัย สุวรรณากาศ) เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองที่ว่าการอำเภอหลังใหม่ ในงานกลางวันจะมีการออกร้าน การแข่งกีฬา และงานรื่นเริงต่าง ๆ ในช่วงกลางคืนก็จะมีมหรสพ แต่ที่พิเศษและเป็นที่ฮือฮากันทั่วไปก็คือ การแสดงของช้างแสนรู้ ในวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๐๓ ในบริเวณสนามบินเก่า อำเภอท่าตูม (ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนท่าตูมประชาเสริมวิทย์) ไปแล้ว
           
          การแสดงของช้างในวันนั้นมีช้างมาร่วมแสดงประมาณ ๖๐ เชือก (ช้างทั้งหมดนี้มาจากบ้านตากลาง ตำบลกระโพ ซึ่งเป็นหมู่บ้านของชาวกูยที่มีอาชีพจับช้างและเลี้ยงช้าง และมีช้างอยู่ในหมู่บ้านขณะนั้น ๒๐๐ กว่าเชือก) การแสดงประกอบด้วยการคล้องช้าง ช้างปฏิบัติตามคำสั่ง ช้างวิ่งเร็ว และขบวนพาเหรดช้าง หลังจากเสร็จการแสดงยังได้เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวที่มาชมงานได้ขึ้นนั่งหลังช้างไปเที่ยวชมทิวทัศน์ของแม่น้ำมูลอีกด้วย
             
        เมื่อสื่อมวลชนทั้งโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ได้เผยแพร่ภาพข่าวการจัดงานออกไป นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศก็ได้ให้ความสนใจสอบถามข้อมูล และกำหนดการจัดงานมายัง อ.ส.ท. เป็นจำนวนมาก จนตอบคำถามกันแทบไม่หวาดไม่ไหว  
            
          ด้วยเหตุนี้ อ.ส.ท. ได้พิจารณาเห็นว่าเป็นงานที่มีศักยภาพเป็นที่น่าสนใจและน่าจะมีเพียงแห่งเดียวในโลก ถ้าจัดให้เป็นงานประจำปี จัดระเบียบและปรับปรุงการแสดงให้เป็นไปตามกำหนดเวลาที่เหมาะสม ตลอดจนปรับปรุงสนามและที่นั่งชมการแสดงให้ดีมีมาตรฐาน งานช้างสุรินทร์จะเป็นงานที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ จนสามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวไปสู่จังหวัดสุรินทร์และอีสานตอนใต้ได้อย่างแน่นอน
            
         หลังจากนั้นมีการประชุมร่วมกัน ซึ่งก็ได้รับความเห็นชอบร่วมกันทุกหน่วยงาน งานแสดงของช้างจึงกลายเป็นงานที่ ต้อง จัดเป็นงานประจำปีของจังหวัดสุรินทร์ นับตั้งแต่ครั้งที่ ๒ คือปี พ.ศ. ๒๕๐๔ เป็นต้นมา




อ.ส.ท. เข้าร่วมจัดงานแสดงของช้าง จังหวัดสุรินทร์
            
           การจัดงานช้างในปี ๒๕๐๔ นี้ นับเป็นปีแรกที่ อ.ส.ท. เข้าไปร่วมจัดงานกับจังหวัดสุรินทร์ และการรถไฟแห่งประเทศไทย  กำหนดจัดขึ้นในวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๐๔ โดยยังคงใช้สถานที่เดิม คือบริเวณสนามบินเก่า อำเภอท่าตูม ซึ่งเคยจัดงานเมื่อครั้งแรกนั้นเองโดยหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำความตกลงแบ่งภารกิจการทำงานกันดังนี้
            
           องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย  (อ.ส.ท.)  รับทำหน้าที่โฆษณาเผยแพร่ข่าวสารการจัดงาน ทั้งในและต่างประเทศ โดยจัดทำโปสเตอร์โฆษณา แผ่นพับภาษาไทย และภาษาอังกฤษ และประสานงานกับการรถไฟแห่งประเทศไทย จัดรถไฟขบวนพิเศษนำนักท่องเที่ยวเดินทางไปชมงานช้างจังหวัดสุรินทร์ ตลอดจนจัดพิมพ์ รับจอง และจำหน่ายบัตรนำเที่ยวแก่บริษัทนำเที่ยวและนักท่องเที่ยว รวมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เดินทางไปวางรูปแบบการจัดงาน ขึ้นตอนการแสดง  การกำหนดเวลาและการต้อนรับนักท่องเที่ยว
            
            จังหวัดสุรินทร์รับจัดการในเรื่องสนามการแสดงของช้าง จัดหาที่นั่งสำหรับนักท่องเที่ยวชมการแสดง จัดเตรียมสถานที่รับประทานอาหาร จัดพาหนะเดินทางจากสุรินทร์ไปยังอำเภอท่าตูม และจัดช้างมาแสดงโดยประสานกับเจ้าหน้าที่ อ.ส.ท.
            
         ส่วนการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)  รับจัดรถไฟขบวนพิเศษ (รถนอน บนท.) รับนักท่องเที่ยวเดินทางจากกรุงเทพมหานคร ไปยังจังหวัดสุรินทร์ ทั้งขาไปและขากลับ โดยในระหว่างอยู่บนรถ ทาง อ.ส.ท.ก็ได้จัดเจ้าหน้าที่ไว้เป็นมัคคุเทศก์ คอยดูแลและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวตลอดเวลาของการเดินทาง




รถไฟขบวนแรกนำนักท่องเที่ยวชมงานช้างจังหวัดสุรินทร์
            
           เมื่อ อ.ส.ท. เปิดจำหน่ายบัตรนำเที่ยวชมงานแสดงของช้างจังหวัดสุรินทร์โดยขบวนรถไฟพิเศษเป็นครั้งแรกนั้น ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวต่างประเทศเป็นอย่างมาก บัตรจึงขายหมดในเวลาอันรวดเร็วเกินความคาดหมาย
            
          รถไฟขบวนพิเศษ เริ่มเคลื่อนตัวออกจากสถานีรถไฟกรุงเทพฯ ในวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๐๔ เวลา ๒๐.๐๐ นาฬิกา นำนักท่องเที่ยวมุ่งสู่จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งแต่ละตู้นอนจะมีเจ้าหน้าที่ของ อ.ส.ท. ประจำคอยดูแลให้ข้อมูลข่าวสารการเดินทาง และอำนวยความสะดวกตลอดการเดินทาง การเดินทางเป็นไปโดยราบรื่น พอเวลา ๐๖.๐๐ นาฬิกา ของเช้าตรู่วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๐๔ ขบวนรถไฟพิเศษเที่ยวงานช้างสุรินทร์ขบวนแรกก็เข้าเทียบชานชาลาสถานีรถไฟสุรินทร์
            
          นักท่องเที่ยวชุดแรกจำนวนประมาณ ๓๐๐ คน ที่เดินทางมากับขบวนรถไฟขบวนพิเศษลงจากรถไฟด้วยความตื่นตาตื่นใจกับภาพของสถานีรถไฟเก่า ๆ แลตัวเมืองสุรินทร์ที่เขาได้พบเห็นเป็นครั้งแรก จากนั้นเจ้าหน้าที่ฝ่ายต้อนรับก็พานักท่องเที่ยวไปขึ้นรถจิ๊ปทหารที่จอดรออยู่แล้ว เพื่อเดินทางไปยังอำเภอท่าตูมอันเป็นจุดหมายปลายทาง
            
          สมัยนั้นจากจังหวัดสุรินทร์จะเดินทางไปอำเภอท่าตูม ต้องใช้ถนนสายที่จะไปยังจังหวัดร้อยเอ็ด ระยะทางจากตัวเมืองสุรินทร์ถึงอำเภอท่าตูมแค่ ๕๒ กิโลเมตร แต่ ๕๒ กิโลเมตร ที่ว่าในสมัยนั้นเป็นถนนดินลูกรังที่ฟุ้งไปด้วยฝุ่นสีแดง แถมยังขรุขระเป็นหลุมเป็นบ่อ พาหนะที่ใช้เดินทางได้ดีที่สุดก็คือรถจี๊ปทหารเท่านั้น นักท่องเที่ยวชุดประวัติศาสตร์การชมงานช้างของ อ.ส.ท. ชุดนี้จึงต้องนั่งรถขโยกเขยก ผจญทะเลฝุ่นตลอดระยะทาง ๕๒ กิโลเมตร ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางเกือบสองชั่วโมงทีเดียว ไปถึงอำเภอท่าตูมเอาเมื่อเวลาประมาณเกือบ ๘.๐๐ นาฬิกา คิดเอาแล้วกันครับว่าจะทรมานขนาดไหน เดินลงมาจากรถทุกคนก็เต็มไปด้วยฝุ่นสีแดง แต่ก็ยังยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่มีสักคนที่จะมาต่อว่าต่อขานถึงสภาพการเดินทาง ซึ่งก็อาจจะเป็นเพราะว่าทาง อ.ส.ท. ได้ให้ข้อมูลกับเขาไว้ล่วงหน้าแล้วก็ได้
            
           หลังจากที่นักท่องเที่ยวได้พักผ่อน ล้างหน้าล้างตา และรับประทานอาหารเช้ากันเป็นที่เรียบร้อย ก็ได้เวลาเดินทางไปยังสนามแสดงของช้าง ซึ่งจะเริ่มแสดงเวลา ๐๙.๐๐ นาฬิกา  ในปีนี้มีช้างมาร่วมในงานแสดงมากกว่าปีที่แล้ว คือประมาณ ๑๐๐ เชือก โดย อ.ส.ท. ได้ส่งเจ้าหน้าที่ คือ ร.อ.สำคัญ เจริญพิภพ มาช่วยในด้านการฝึกช้าง และจัดระบบการแสดง
            
           สำหรับรายการแสดงของช้างในปีนี้ มีการแสดงเพิ่มขึ้นหลายรายการ ทั้งที่เป็นการแสดงของช้าง และการแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้าน  เริ่มต้นด้วยการประกอบพิธีบวงสรวงเซ่นผีปะกำของหมอช้างก่อนที่จะออกเดินทางไปจับช้างป่า ต่อด้วยการแสดงการคล้องช้างป่า และสลับด้วยการแสดงรำพื้นเมือง ลูดอันเร-เรือมอันเร (รำสาก-เต้นสาก) แล้วต่อด้วยโขลงช้างจำนวน ๑๐๐ เชือกเดินให้ชมรอบสนาม เสร็จจากขบวนช้างก็เป็นการแข่งขันช้างวิ่งเร็ว ช้างชักกะเย่อกับคน และจบชุดสุดท้ายด้วยการแสดง ขี่ม้าล่อช้าง
            
         จบการแสดงแล้วก็มีการจัดให้นักท่องเที่ยวนั่งหลังช้างท่องเที่ยวชมทิวทัศน์ริมฝั่งแม่น้ำมูล ดูช้างอาบน้ำ หลังจากให้นักท่องเที่ยวรับประทานอาหารกลางวัน และพักผ่อนแล้ว ก็พาขึ้นรถจี๊ปทหาร เดินทางกลับด้วยเส้นทางวิบากสายเดิมอีกครั้ง  ถึงจังหวัดสุรินทร์เอาเมื่อเวลา ๑๕.๓๐ นาฬิกา ให้นักท่องเที่ยวพักผ่อนทำความสะอาดร่างกาย ก็ได้เวลารับประทานอาหารเย็น เสร็จแล้วถึงได้เดินทางกลับกรุงเทพฯ
            
        รถไฟนำนักท่องเที่ยวเดินทางจากสถานีสุรินทร์เวลา ๒๐.๐๐ นาฬิกา  ถึงสถานีกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) เวลา ๐๗.๐๐ นาฬิกาของวันที่ ๑๙ พ.ย. ๒๕๐๔ เป็นอันเสร็จสิ้นการจัดงานแสดงของช้างครั้งแรกของ อ.ส.ท. ที่นำนักท่องเที่ยวเดินทางไปชมงานแสดงของช้าง
            
             ถือว่าประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง

จากงานในท้องถิ่นสู่งานประจำปีของชาติ
            
           จากความสำเร็จในการจัดงานครั้งที่ผ่านมา จนได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศอย่างกว้างขวาง  ทางอ.ส.ท. จึงได้จัดทำรายงานเสนอต่อคณะรัฐมนตรี พร้อมทั้งเสนอให้พิจารณางานแสดงของช้างเป็นงานประจำปีของชาติ  ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ ก็ได้มีมติอนุมัติให้งานแสดงของช้างเป็นงานประจำปีของชาติ ตามที่ อ.ส.ท. เสนอ  โดยมอบให้ อ.ส.ท. เป็นเจ้าของเรื่องดำเนินการ และให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือสนับสนุนตามความจำเป็น
            
           งานแสดงและช้างจึงเป็นงานประจำปีของชาติที่ต้องจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี ๒๕๐๕ เป็นต้นมา
        
        และเนื่องจากงานแสดงของช้างสุรินทร์ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างประเทศอย่างกว้างขวาง อ.ส.ท. จึงได้ประชุมร่วมกับจังหวัดสุรินทร์ และการรถไฟแห่งประเทศไทย ในการกำหนดการจัดงานแสดงของช้างในปี ๒๕๐๕  จึงมีรถไฟขบวนพิเศษที่ อ.ส.ท. จัดทำนักท่องเที่ยวไปชมงานแสดงของช้างที่จังหวัดสุรินทร์ถึง ๓ ขบวน
            
         เมื่อเป็นงานประจำปีชองชาติ การปรับปรุงและพัฒนาการจัดงานก็เกิดจึ้น ทางจังหวัดสุรินทร์โดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดคำรณ สังขกร ในสมัยนั้น ได้พิจารณาเห็นว่าการจัดงานแสดงของช้างที่อำเภอท่าตูมมีอุปสรรคและปัญหาในด้านการต้อนรับและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวมากมาย นับตั้งแต่การเดินทางจากจังหวัดไปยังอำเภอท่าตูม ไหนจะเรื่องที่พักผ่อน ที่รับประทานอาหาร น้ำประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ ก็มีไม่พอเพียง
            
            จึงพิจารณาให้ย้ายสถานที่จัดงานช้างจากอำเภอท่าตูม มาจัดที่สนามกีฬาจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์แทน รวมทั้งยังได้ปรับปรุงสถานีรถไฟ อัฒจันทร์ที่นั่งชมการแสดง สถานที่จัดเลี้ยงอาหาร (ใช้หอประชุมโรงเรียนสิรินทร) โดยเฉพาะอาหารสำหรับนักท่องเที่ยวนั้นถึงขนาดนำพ่อครัวมาจากโรงแรมเอราวัณที่กรุงเทพฯ เลยทีเดียว ในด้านการแสดงก็เพิ่มกิจกรรมการแสดงให้มากขึ้นอีก เช่น ช้างวิ่งเก็บของ ช้างปฏิบัติตามคำสั่ง ช้างข้ามคน และขบวนช้างศึกเป็นต้น
           
        งานแสดงของช้างในตัวเมืองสุรินทร์ก่อให้เกิดการพัฒนามากมาย ในภาคเอกชนมีการสร้างโรงแรมที่ทันสมัย ถนนจากสุรินทร์ถึงนครราชสีมาก็ทำใหม่เป็นถนนลาดยาง ทำให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวทางรถยนต์ได้อีกเส้นทางหนึ่ง สมกับคำที่ว่า การพัฒนาการท่องเที่ยวเป็นการสร้างความเจริญเติบโตให้กับท้องถิ่น สร้างงานสร้างอาชีพ ให้กับประชาชน ในพื้นที่ซึ่งการท่องเที่ยวขยายต่อไปถึง  นับแต่นั้นจังหวัดสุรินทร์จึงมีความเจริญเติบโต และพัฒนาตัวเองมาจนถึงปัจจุบัน และยังจะพัฒนาต่อไปตราบเท่าที่งานแสดงของช้างยังมีอยู่ ไม่เพียงเท่านั้นยังช่วยให้การท่องเที่ยวขยายตัวออกไปในจังหวัดต่าง ๆ ของภาคอีสานอีกด้วย
            
          การจัดงานแสดงของช้างที่ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ถือเป็นความภาคภูมิใจของหน่วยงานในผลงานที่เกิดขึ้น แต่เบื้องหลังการจัดเตรียมงานนั้นเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสสำหรับเจ้าหน้าที่ซึ่งต้องไปปฏิบัติงาน เพราะต้องอยู่กับช้าง กินกับช้าง นอนกับช้างกันเป็นเดือน ๆ  ทีเดียว มีหลายคนเคยถามเหมือนกันว่า ทำงานนี้ได้อย่างไร
           
            ผมตอบว่า ก็เพราะผมเป็นพนักงาน อ.ส.ท. ยังไงละครับ
            
           เมื่อผ่านมา ๕๐ ปี การจัดงานแสดงของช้างก็ได้รับการปรับปรุงพัฒนามาโดยตลอด เช่นการจัดรายการแสดงก็จัดให้เป็นชุด ๆ ไป เริ่มตั้งแต่ การแสดงชุด จ่าโขลง ชุด กวย ชุด จากป่ามาสู่บ้าน ชุด สร้างบ้านแปงเมือง ชุด ประเพณี ชุด แห่นาคฉลองพร และชุด บารมีปกเกล้า ซึ่งก็แตกต่างไปจากเดิมที่จะใช้ชื่อการแสดงสลับกันไป เช่น ขบวนช้างพาเหรด, ช้างวิ่งเก็บของ การชักคะเย่อช้างกับคน ฯลฯ
            
          หมู่บ้านช้างที่บ้านตากลางก็เช่นเดียวกัน ปัจจุบันไม่มีสภาพของหมู่บ้านเดิมให้เห็นแล้ว เพราะได้รับการพัฒนาเป็นศูนย์คชศึกษา จัดแสดงโครงกระดูกช้าง เครื่องมือคล้องช้าง ศาลปะกำ และเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับช้าง ไว้ในอาคารพิพิธภัณฑ์ช้าง และ มีสนามแสดงของช้างซึ่งเปิดแสดงทุกวันเวลา ๑๐.๐๐ น. และ ๑๔.๐๐ น.

           ผู้สนใจจะไปชมติดต่อได้ที่ศูนย์คชศึกษา โทร. ๐-๔๔๑๔-๕๐๕๐ ครับ

         ถึงวันนี้กาลเวลาผ่านไปถึงห้าสิบปีแล้ว ไม่น่าเชื่อเลยจริง ๆ หลายคนในหมู่บ้านช้างที่ร่วมฝึกซ้อมช้างกันมา รวมทั้งหัวหน้าของผมเอง (ร.อ.สำคัญ เจริญพิภพ) ก็ได้ลาลับจากโลกไปกันเกือบหมดแล้ว แม้แต่ในการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ( ททท.)  หรือ อ.ส.ท. เดิม ก็คงเหลือผมคนเดียวนี่แหละ ที่เป็นคนทำงานรุ่นแรกที่ไปบุกเบิกงานช้าง 

           เก็บเอาไว้ในความทรงจำเนิ่นนาน เพิ่งจะมีโอกาสนำกลับมาเล่าสู่กันฟังก็ในวาระครบ ๕๐ ปี ททท. ในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ นี่แหละครับ 

การแสดงของช้างในหมู่บ้านช้างตากลางปัจจุบัน

1 comment: