ภาคภูมิ
น้อยวัฒน์…เรื่องและภาพ
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ปีที่ ๔๘ ฉบับที่ ๘ ประจำเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๕๑
มันเป็นความรู้สึกยากจะบรรยายครับ เมื่อได้เห็นซากปรักหักพังของโบราณตรงหน้า
กลับฟื้นคืนขึ้นมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
ไม่ใช่ด้วยเวทย์มนต์อาคมใด ๆ
แต่ด้วยเพียงเสียงบรรยาย แสงหลากสีที่สาดส่อง
โบราณสถานคร่ำคร่ากลับฟื้นคืนชีพบอกเล่าเรื่องราวในอดีตกาลที่ผ่านมาได้
มันคือสิ่งที่เรียกว่า "การแสดงแสงและเสียง"
ก้าวแรกของการแสดงแสงและเสียง
พูดถึงการแสดงแสงและเสียงในโบราณสถานมีมานานแล้วในหลายประเทศ
โดยเฉพาะในประเทศที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาเก่าแก่ไม่ว่าจะเป็นอียิปต์ อินเดีย กรีซ ฝรั่งเศส อังกฤษ
ซึ่งก็จะเป็นการส่องแสงไฟให้โบราณสถาน
ประกอบกับเสียงบรรยายให้เกิดจินตนาการและบรรยากาศ
ในประเทศไทยของเรา การแสดงแสงและเสียงเริ่มมีขึ้นครั้งแรกเมื่อปี
พ.ศ. ๒๕๑๙ ที่วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร
กรุงเทพมหานคร กรมศิลปากรร่วมกับกองทัพเรือจัดแสดงให้นักท่องเที่ยวนั่งเรือลอยลำชมแสงเสียงหน้าวัดอรุณฯ ต่อมาในปีพ.ศ.๒๕๒๐
กรมศิลปากรอีกนั่นแหละที่ได้จัดแสดงแสงและเสียงในงานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่จังหวัดลพบุรีอีก
แต่ทั้งสองครั้งไม่ค่อยมีการประชาสัมพันธ์เท่าที่ควรก็เลยไม่ค่อยมีใครรู้จักสักเท่าไหร่
จนกระทั่งในปีพ.ศ. ๒๕๒๓
ปีนั้นการรถไฟแห่งประเทศไทยมีดำริจะยกเลิกและรื้อถอนทางรถไฟสายตะวันตกที่แล่นระหว่างสถานีธนบุรี-น้ำตก จังหวัดกาญจนบุรี
เนื่องจากมีผู้โดยสารน้อย ทำให้ขาดทุนต่อเนื่อง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ซึ่งเพิ่งยกฐานะขึ้นมาจากองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
(อ.ส.ท.) แบบหมาด ๆ ในสมัยของพันเอกสมชาย หิรัญกิจ
ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพทางด้านการท่องเที่ยวของทางรถไฟสายนี้ ว่ามีความน่าสนใจ
เนื่องจากเป็นเส้นทางสายประวัติศาสตร์ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่กองทัพญี่ปุ่นเกณฑ์เชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรมาสร้างทางรถไฟเพื่อเข้าไปในเขตพม่าเพื่อเชื่อมต่อสู่เมืองตันปูซายัดในอินเดีย
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยก็เลยจัดให้มีการแสดงแสงและเสียงเรื่องสะพานข้ามแม่น้ำแควขึ้นในงานสัปดาห์สะพานข้ามแม่น้ำแควปีนั้น
ซึ่งเป็นปีท่องเที่ยวไทยพอดีเสียด้วย มีด้วยกันทั้งหมด ๘ วัน ตั้งแต่วันที่ ๒๘
พฤศจิกายน ถึง ๕ ธันวาคม
ถือเป็นการจัดแสดงแสงและเสียงครั้งแรกของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ที่น่าทึ่งก็คือแต่ละคนที่มาช่วยกันจัดงานนั้นไม่เคยมีใครเคยจัดการแสดงแสงเสียงมาก่อนเลยในชีวิต
“อย่าว่าแต่เคยจัดเลย การแสดงแสงเสียงนี่
ตอนนั้นยังไม่เคยเห็นสักครั้งด้วยซ้ำไป ก็ต้องมาคิดกันเอาเองว่าจะมีอะไรบ้าง
แล้วต้องทำอะไร ยังไง”
ป้ายาย สายสุนีย์ สิงหทัศน์ หัวเราะพลางทบทวนความหลัง ในฐานะพนักงานและกองบรรณาธิการ อ.ส.ท.ในยุคแรก
ที่แม้จะเกษียณอายุมานานหลายปีแล้วก็ยังคงทำงานอยู่กับอ.ส.ท.อยู่จนถึงปัจจุบัน
ป้ายายจึงเป็นที่พึ่งของพวกเราชาว อ.ส.ท.เสมอ โดยเฉพาะเรื่องเก่า ๆ ที่คนรุ่นใหม่เราไม่ทันได้เห็น (ใครที่อ่านอนุสารอ.ส.ท.ในยุคแรก ๆ คงจะคุ้นตากับชื่อสายสุนีย์ สุขนคร นั่นแหละครับ คนเดียวกัน)
ป้ายายเล่าว่านอกจากเป็นงานใหม่ที่ไม่เคยมีประสบการณ์แล้วยังเป็นงานใหญ่ที่ต้องประสานงานหลายฝ่ายอีกด้วย
ไหนจะการรถไฟแห่งประเทศไทยเจ้าของเส้นทางและขบวนรถไฟ ไหนจะจังหวัดกาญจนบุรีเจ้าของพื้นที่
ยังมีกรมวิทยาศาสตร์ทหารบกเข้ามาดูแลเรื่องวัตถุระเบิดที่จะต้องใช้ในการแสดง
แถมด้วยทหารอากาศที่ต้องไปยืมเอาไฟสปอตไลต์สำหรับต่อสู้อากาศยานมาเข้าฉาก
แม้แต่ททท.เองก็ระดมบุคลากรหลายหน่วยหลายแผนกเข้ามาร่วมด้วยช่วยกัน
“หลายคนทำงานด้วยกันมันก็ต้องมีขัดแย้งกันบ้าง
อย่างเรื่องบทนี่มีอยู่ตอนหนึ่งทางคุณสุรินทร์ คล้ายจินดา
ผู้กำกับฝ่ายเทคนิคเขาอยากจะเล่าเรื่องด้วยแสงและเสียงล้วน ๆ อยากจะตัดคำบรรยายบางส่วนออกไป
หน่องเขาก็ไม่ยอม เลยทะเลาะกันใหญ่ แบบศิลปินปะทะศิลปินน่ะ”
สาเหตุเพราะคุณวาสนาเขียนบทยาวไป
ทำให้คุณสุรินทร์ ซึ่งเป็นผู้กำกับแสงเสียงแปลงเป็นภาพไม่ได้
แต่ท้ายสุดเรื่องนี้ก็คลี่คลาย เพราะใช้ระบบคณะกรรมการซึ่งนอกจากป้ายายแล้วยังประกอบด้วยคุณหญิงคณิตา
เลขะกุล คุณวนิดา สถิตานนท์ คุณพงศธร เกษสำลี คุณวิวัฒน์ชัย บุณยภักดิ์ (ชื่อคุ้น ๆ อยู่ในอนุสาร อ.ส.ท.
แทบทั้งนั้น) ช่วยในการตัดสิน
งานก็ดำเนินต่อไปได้
นอกจากความวุ่นวายเรื่องการประสานงานเพราะมีคนทำงานด้วยกันหลายฝ่ายแล้ว
เรื่องอุบัติเหตุในการทำงานอีกอย่างที่เป็นปัญหาสำคัญ
เพราะการแสดงแสงและเสียงย่อมหนีไม่พ้นที่จะต้องเกี่ยวข้องกับระบบไฟฟ้าและวัตถุระเบิดค่อนข้างมาก
“ครั้งหนึ่งเกิดไฟฟ้าลัดวงจรระหว่างซ้อม ไฟลุกควันโขมง
ดีว่าคุณสุมิตรเขาวิ่งไปยกคัตเอ๊าท์ทัน เลยไม่มีใครเป็นอะไร
แต่ที่ร้ายแรงที่สุดคืออีกครั้งหนึ่ง ไฟฟ้าลัดวงจร
ระเบิดที่ติดตั้งเอาไว้เกิดระเบิดขึ้นมา
ผู้เชี่ยวชาญวัตถุระเบิดจากกรมวิทยาศาสตร์ทหารบกถึงกับแขนขาด ตอนหลังเลยต้องมาทำพิธีบวงสรวงกัน
ก็ทำหมดทุกรูปแบบทั้งแบบฝรั่ง แบบแขก แบบจีน แบบญี่ปุ่นนั่นแหละ เพราะแถวนั้นสมัยสงครามคนตายกันเยอะ“
การแสดงแสงและเสียงเรื่องสะพานข้ามแม่น้ำแคว
นำเสนอเรื่องราวเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ ๒
กองทัพญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกผ่านเข้ามาในประเทศไทย
แล้วใช้เชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นแรงงานในการก่อสร้างทางรถไฟเพื่อลำเลียงกำลังพลและยุทโธปกรณ์ไปยังพม่าและอินเดีย
ก่อนจะจบลงที่สงครามสงบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตรและสันติภาพหวนกลับคืนมาสู่มนุษยชาติอีกครั้ง
รูปแบบการแสดงเป็นแบบที่เรียกว่าการแสดงแสงและเสียงแบบมาตรฐาน
(Standard Light & Sound Presentation) อันเป็นรูปแบบที่นิยมกันทั่วไปในต่างประเทศ
นั่นก็คือเน้นสื่อสารเรื่องราวด้วยเสียงบรรยาย เสียงประกอบ (sound effect) และเพลงประกอบเป็นหลัก ประกอบกับแสงสีสาดส่องโบราณสถาน
ไม่มีการแสดงหรือตัวละครใด ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง
ตามตำราว่าสามารถใช้เทคนิคพิเศษเข้ามาช่วยเสริมได้บ้างเล็กน้อย
แต่ที่สะพานข้ามแม่น้ำแควนี่คณะทำงานใช้เทคนิคพิเศษเข้ามาช่วยสร้างความน่าสนใจค่อนข้างมาก
เพราะเห็นว่าองค์ประกอบหลักของการแสดงมีแค่เพียงสะพานนิ่ง ๆ อย่างเดียว
กลัวว่าจะไม่สามารถดึงดูดความสนใจของผู้ชมได้นานพอ
ก็เลยมีการนำเอาหัวรถจักรไอน้ำเข้ามาประกอบ โดยให้แล่นเข้ามาในช่วงกลางของการแสดง แถมด้วยการระเบิดสะพานเป็นฉากใหญ่
“คนชอบดูตอนระเบิดนี่แหละ
ค่าใช้จ่ายเฉพาะระเบิดก็เป็นหมื่นแล้ว” แล้วป้ายายก็เปิดเผยถึงเบื้องหลังฉากระทึกใจต่าง
ๆ ที่ใช้เทคนิคแบบลูกทุ่ง ๆ ในการสร้างบรรยากาศให้สมจริง
“สมัยนั้นยังไม่มีเอฟเฟคต์ทันสมัยเหมือนเดี๋ยวนี้
ฉากระเบิดลงแล้วไฟไหม้นี่ก็ต้องเกณฑ์เอาเด็กวิทยาลัยเทคนิคไปช่วยกันจุดไฟที่กองฟางด้านหลังฉากที่สร้างเป็นค่ายทหารญี่ปุ่น
ให้แลดูเหมือนกับไฟไหม้จริง
ส่วนบนสะพานเราก็ใช้สะพานปลอมด้วยโฟมไปติดตั้งเอาไว้ข้างใต้
ช่วงที่แสดงตอนเครื่องบินมาทิ้งระเบิดสะพาน พอจุดระเบิด สปอตไลต์ฉายไปตรงสะพาน
ก็จะมีกลไกทำให้โฟมที่ติดไว้ร่วงหล่น มองดูเหมือนกับสะพานพังลงมา แสดงจริงวันแรกคุณณรงค์ เอี่ยมสมบัติ
คนออกแบบโครงสร้างสะพานเองกลับไม่กล้าดู
เพราะกลัวสะพานปลอมที่ตัวเองทำเอาไว้จะไม่หล่นตามคิว” เล่าถึงตรงนี้ป้ายายก็หัวเราะชอบใจ
“เรื่องคิวนี่สำคัญมาก
เพราะแต่ละส่วนต้องให้สัมพันธ์กัน อย่างฉากสุดท้ายที่เฉลิมฉลองสันติภาพ
บนรถไฟก็ต้องมีพนักงาน ททท.ของเรา ขึ้นไปคอยควบคุมจังหวะ
ให้พนักงานรถไฟขับรถไฟแล่นออกมาเข้าฉากได้พอดีกับการจุดพลุ
สมัยนั้นยังไม่มีโทรศัพท์มือถือก็ใช้วิทยุสื่อสารติดต่อกัน ก็ถือว่ายากพอสมควร ”
แม้จะมีอุปสรรคและความยากลำบากนานัปการ
แต่การแสดงแสงและเสียงเรื่องสะพานข้ามแม่น้ำแควก็ผ่านไปได้ด้วยดี
ประจวบเหมาะกับก่อนหน้านั้นหลายปีมีภาพยนต์อังกฤษเรื่อง The Bridge of
River Kwai หรือสะพานข้ามแม่น้ำแคว ได้รับรางวัลออสการ์ถึง ๗ รางวัล
ทำให้การแสดงครั้งนี้ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนต่างประเทศมาก
ทำข่าวออกอากาศเผยแพร่
โด่งดังไปทั่วโลกในฐานะการแสดงที่สื่อถึงเรื่องราวสำคัญหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
ถือเป็นผลงานชิ้นเอกอีกชิ้นที่สร้างชื่อเสียงให้กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเที่ยวจังหวัดกาญจนบุรีกันมากขึ้น พร้อม ๆ
กับที่การแสดงแสงและเสียงก็เริ่มเป็นที่รู้จักกันทั่วไป
สู่ยุคทองของการแสดงแสงและเสียง
ผลงานการจัดแสดงแสงและเสียงทำให้ในช่วงสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี ในปีพ.ศ. ๒๕๒๕
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้รับมอบหมายการจัดงานแสดงแสงและเสียงภายในบริเวณพระบรมมหาราชวัง
เรื่องประวัติการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งก็เป็นอีกงานหนึ่งที่ททท.จัดงานได้ประสบความสำเร็จด้วยดี
ทั้งที่ความจริงแล้วมีเวลาในการเตรียมงานช่วงสั้น ๆ
เพราะรับมอบงานต่อมาจากกรมศิลปากรอีกที
การแสดงแสงและเสียงที่สร้างชื่อททท. ให้กระหึ่มอีกครั้งก็คือ
“อยุธยายศยิ่งฟ้า” ในงานวันแห่งประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา
จัดขึ้นในบริเวณวัดพระศรีสรรเพชญ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปีพ.ศ. ๒๕๒๗
งานนี้เทคนิคในการแสดงก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงเท่าไหร่ เล่นในสไตล์ลูกทุ่งเหมือนเดิม
“ที่อยุธยานี่ต้องตระเวนไปตามโรงสี
หาซื้อแกลบ กาบมะพร้าว
โดยเฉพาะกระสอบนี่ป้ายายนั่งรถไปกว้านซื้อจนหมดเมืองอยุธยาเลย
เอามาให้เขาใช้ในฉากเผากรุงศรีอยุธยา ตะเกียงน้ำมันวางรอบวัด เวลาจุดใช้ไฟกดสปาร์ค
ใช้โฟมทำเป็นเสาทาน้ำมัน เอากระสอบที่ซื้อมาใส่ในถังน้ำมันเปล่าใบใหญ่ ๆ หลาย ๆ ใบ
แล้วก็ต่อสายฮีตไวร์จุดไฟ
บางทีลมมันไม่พัดควันไปตามทิศที่เราต้องการก็ต้องเอากาบมะพร้าวบ้าง แกลบบ้าง
จุดไฟใส่กาละมังถือวิ่งเข้าไปในฉากให้มันมีควัน
สมัยก่อนเหนื่อย ไม่เหมือนเดี๋ยวนี้เขามีเครื่อง Smoke สร้างควัน ”
นั่นเป็นเรื่องวุ่น ๆ
เฉพาะบางส่วนของการเตรียมการเรื่องของแสง เรื่องของเสียงก็วุ่นวายไม่แพ้กัน
“ฉากที่มีเสียงกบ
ต้องตื่นตั้งแต่ตีสี่ตีห้าไปอัดเสียงกบจริง ๆ ในทุ่งนา เอามาใช้
ยิ่งเสียงหรีดหริ่งเรไรนี่ยิ่งแล้วใหญ่ เคยต้องไปอัดจากในป่าช้าตอนดึก ๆ ไอ้เราก็กลัวผีนะ แต่เขาชวนก็ต้องไปเป็นเพื่อนเขา”
เล่าไปป้ายายก็ขำไป
การแสดงนำเสนอเรื่องราวของกรุงศรีอยุธยานับตั้งแต่การสร้างกรุงตั้งแต่สมัยพระเจ้าอยู่ทองเป็นต้นมา
ลำดับเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์จนกระทั่งถึงกาลอวสานของกรุงศรีอยุธยาเมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่
๒ ก่อนจะกล่าวถึงการย้ายไปสร้างกรุงธนบุรี
และกรุงรัตนโกสินทร์
ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างสูงด้วยบทบรรยายที่กินใจจากสำนวนวรรณกรรมการเดินทางของคุณวาสนา
กุลประสูตร
และแสงเสียงที่สร้างบรรยากาศราวกับผู้ชมได้ย้อนเวลาไปอยู่ร่วมในประวัติศาสตร์จริง
ๆ
พี่อิ๊น พงศธร เกษสำลี ผู้อำนวยการฝ่ายบริการการตลาด บรรณาธิการบริหารอนุสาร อ.ส.ท. เป็นอีกท่านหนึ่งที่อยู่ร่วมสมัยการจัดแสดงแสงและเสียงมาตั้งแต่ครั้งสะพานข้ามแม่น้ำแควเช่นกัน เล่าให้ฟังถึงบรรยากาศหลังการแสดงของอยุธยายศยิ่งฟ้าว่า
"ที่อยุธยานี่ต้องถือว่าเป็นสุดยอดของการแสดงแสงและเสียงแท้
ๆ เพราะไม่ใช้เทคนิคพิเศษอื่นประกอบเลย
รถไฟหรืออะไรที่จะมาช่วยดึงดูดอย่างที่สะพานข้ามแม่น้ำแควก็ไม่มี
นอกจากบทบรรยายและการใช้แสงไฟสาดส่องโบราณสถานล้วน ๆ
แต่กลับทำให้คนดูประทับใจกันมาก บางคนดูการแสดงจบยืนร้องไห้เลยก็มี
บางคนก็เข้ามาขอบคุณ ททท.ที่จัดการแสดงดี ๆ อย่างนี้ให้ดู ”
ในเวลาไล่เลี่ยกันนั้นเอง
ททท. ก็ได้ไปจัดแสดงแสงและเสียงรุ่งอรุณแห่งความสุขขึ้นที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยขึ้น
“ประวัติศาสตร์สุโขทัยไม่ค่อยมีเรื่องตื่นเต้นเท่ากับอยุธยา
ก็เลยต้องเอาการแสดงเข้ามาประกอบ ใช้นักแสดงจากวิทยาลัยนาฏศิลป์สุโขทัยเข้ามาร่วมแสดงด้วย” คือเหตุผลถึงรูปแบบที่สุโขทัยแตกต่างออกไป
และนั่นก็ถือเป็นการพัฒนารูปแบบเข้าสู่การแสดงแสงและเสียงแบบที่
๒ ที่เรียกว่าการแสดงแสงและเสียงประกอบจินตภาพ
(Imaginery
Light & Sound Presentation) ที่สื่อสารเรื่องราวด้วยเสียงบรรยาย
เสียงประกอบและเพลงประกอบ
ผสมผสานกับแสงสีที่สาดส่องโบราณสถาน คล้ายกับแบบมาตรฐาน
แต่ไม่เหมือนกันตรงที่มีการแสดงสดมาประกอบเฉพาะในส่วนที่ต้องการเน้นเนื้อหาให้ชัดเจนและประทับใจยิ่งขึ้น
ส่วนที่เน้นในการแสดงครั้งนี้ก็คือใช้ข้อมูลจากภาพจิตรกรรมฝาผนัง
ลวดลายปูนปั้น มาจำลองเป็นขบวนแห่ผสมผสานเรื่องเล่าประวัติศาสตร์สุโขทัย
ประเพณีลอยกระทง เผาเทียนเล่นไฟ
หนึ่งในฉากเด็ดเป็นเรื่องราวในสมัยพญาลิไททรงแต่งไตรภูมิพระร่วง
กล่าวถึงนรก เปรต ก็ต้องคิดเทคนิคการนำเสนอ ตอนแรกก็จะใช้วิธีฉายไฟกับต้นตาลแล้วให้คนเดินผ่านหลอดไฟไปผ่านมาให้เห็นเงาสูงเหมือนเปรต
“ทีนี้นพรัตน์
กอกหวานเขาเกิดปิ๊งไอเดียทำเปรตให้เป็นตัวเป็นตนขึ้น ใช้ลูกบอลมาเขียนหน้าเขียนตา
ทำเป็นหัว เสียบไม้ เอามุ้งคลุมเข้า
แล้วใช้ไม้ไผ่ลำยาวทำเป็นแขนขาทาฟอสฟอรัสให้สะท้อนแสงไฟ
เวลาเล่นก็ให้เอาหุ่นบังเสาแล้วโยก โผล่ทางโน้นที ทางนี้ที ปรากฏว่าแสดงวันแรก พอถึงคิวเปรตไม่ขึ้น
ที่ไหนได้ คนชักเปรตได้ยินเสียงหมาหอนเกิดกลัวขึ้นมา เผ่นหนีไปเสียก่อน”
เรื่องเปรตนี่มีหลายกระแสครับ
บ้างก็ว่าททท. ทำขึ้นมาแค่ ๓ ตัว
แต่ถึงเวลาแสดงจริงคนดูมองเห็นว่าออกมาแสดง ๘-๙ ตัว ทำเอาคนชักหุ่นขอลาออกไม่ยอมไปทำงานต่อ
ต้องไปหาจ้างคนอื่นที่ไม่รู้เรื่องมาช่วยชักให้แทน (อันนี้ออกแนวผี
ๆ ยิ่งตื่นเต้นเข้าไปใหญ่)
แต่ไม่ว่าเรื่องเปรตจะเป็นยังไง
ที่แน่ ๆ
ก็คือการแสดงแสงและเสียงในรูปแบบที่มีการแสดงนี้ประสบความสำเร็จกล่าวขวัญกันมากในหมู่นักท่องเที่ยวที่ได้มาชม จนกระทั่งต่อมากลายเป็นความนิยมที่ว่า
ถ้าเป็นการแสดงแสงและเสียงแล้วละก็ต้องมีขบวนแห่และการแสดงประกอบด้วยทุกครั้ง
เรื่องนี้กระทบเข้ากับการแสดงแสงและเสียงที่พระนครศรีอยุธยาซึ่งเป็นการแสดงแสงและเสียงล้วน
ๆ อย่างจัง ทำให้ปีหลังผู้ชมลดลงมาก จนกระทั่งปีหนึ่งที่ทางจังหวัดงดจัดงานวันแห่งประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา
การแสดงแสงและเสียงอยุธยายศยิ่งฟ้าในยุคแรกก็เลยปิดฉากอำลาโรงไปด้วยนับแต่นั้นอย่างเงียบ
ๆ
การแสดงแสงและเสียงหลังจากนั้น
เป็นต้นมาจึงเป็นลักษณะของการแสดงประกอบแสงและเสียงแทบทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นการแสดงแสงและเสียงในงาน
๑๐๐ ปีวีรสตรีเมืองถลาง จังหวัดภูเก็ต งานบุญเดือนสิบ จังหวัดนครศรีธรรมราช
งานหลวงเวียงละกอน จังหวัดลำปาง
เป็นช่วงเวลาที่การแสดงแสงและเสียงได้รับความนิยมมากจังหวัดไหน ๆ ก็อยากจะจัด
ในช่วงเวลานี้มีผู้ว่าราชการจังหวัดอยู่ท่านหนึ่งคือเชาน์วัศ
สุดลาภา ชอบการแสดงแสงและเสียงมาก ย้ายไปจังหวัดไหนท่านก็ทำเรื่องเข้ามาขอให้ททท.
ไปช่วยจัดแสงและเสียงให้ทุกครั้ง เป็นผู้ว่าฯ
อยู่ที่ลพบุรีก็ให้ไปจัดในงานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ ต่อมาย้ายไปที่กำแพงเพชรก็ให้ไปจัดในงานนบพระเล่นเพลง จังหวัดกำแพงเพชร ท้ายสุดย้ายไปอยู่จังหวัดเพชรบุรี
ก็ให้ตามไปจัดในงานพระนครคีรีอีก
ที่พระนครคีรียังมีเรื่องสนุก
ๆ เล่าให้ฟังเกี่ยวกับเบื้องหลังการทำงาน
“ ก่อนวันแสดง
พวกเราก็ได้ไปปรับทิศทางแสงของสปอตไลต์ที่ส่องตามโบราณสถานตามจุดต่าง ๆ
ทั่วทั้งภูเขา ปรับกันจนถึงตี ๒ ตี ๓ กว่าจะเรียบร้อย พอวันรุ่งขึ้น ก่อนจะแสดงก็ลองไฟกันอีกรอบ
ปรากฏว่าไฟที่ตั้งไว้เบี้ยวหมดเลย ต้องรีบมาตั้งกันใหม่ก่อนแสดงไม่กี่ชั่วโมง
ไม่รู้ว่าใครมาทำ
มาสืบได้ทีหลังว่าเป็นฝีมือฝูงลิงบนเขาวังนั่นแหละพากันมาเล่นซนหมุนไฟสปอตไลต์
ตอนหลังเลยเอากรงมาครอบสปอตไลต์ไว้ ขนาดนั้นมันก็ยังเอามือล้วงลงไปหมุนอีกจนได้
ตอนหลังไม่รู้เขาทำยังไงกัน พวกลิงมันถึงไม่มาเล่นอีก”
เรื่องนี้ป้ายายเฉลยให้ฟังว่าใช้หนามยอกเอาหนามบ่ง
“เขาไปจ้างลิงกังตัวใหญ่มาเฝ้า
ไม่ใช่จ้างลิงหรอก ก็จ้างเจ้าของลิงนั่นแหละให้พาลิงมาเป็นนักเลงคุมสปอตไลต์
ลิงบนเขาวังมันตัวเล็กกว่า ก็เลยกลัว ไม่กล้ามาแหยมอีก”
ปีพ.ศ. ๒๕๓๐–๓๑
เริ่มมีการนำเอาระบบเสียงที่ทันสมัยจากต่างประเทศเข้ามาใช้ในการแสดงแสงและเสียงในประเทศไทยทำให้สะดวกสบายในด้านเทคนิคการแสดงมากขึ้น
พัฒนาการก้าวสำคัญในการแสดงแสงและเสียงของ
ททท.
เกิดขึ้นอีกครั้งที่ปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา
ที่จัดขึ้นครั้งแรกในปีพ.ศ .๒๕๓๓
ก่อนจะมีการปรับรูปแบบการแสดงใหม่ชนิด “ยกเครื่อง” เมื่อพี่อิ๊น พงศธร เกษสำลีเข้ามาดูแลรับผิดชอบอย่างเต็มตัวในปีต่อมา
“ชื่อวิมายนาฏการนี่พี่เป็นคนตั้งให้ตั้งแต่จัดแสดงครั้งแรก
ตอนนั้นก็มาช่วยดูเรื่องแบบชุดให้ พอมาทำเองก็เลยทำบทการแสดงใหม่สองคนกับเล็ก
(กรุณา เดชาติวงศ์ ฯ อยุธยา) เพราะเห็นจากครั้งแรกว่าการแสดงพวกโขนอะไรนี่ไม่เข้ากับฉากหลังที่เป็นปราสาทหิน แล้วก็เห็นว่าไหน ๆ
ดึงความสนใจด้วยการแสดงแสงและเสียงล้วน ๆ ไม่ได้แล้ว
ก็เลยดึงเอาการแสดงขึ้นมาเป็นหลักเสียเลย ทำเป็นชุดการแสดงสั้น ๆ
แต่เกี่ยวข้องกับประวัติความเป็นมาของปราสาทหินพิมาย
ให้แสงและเสียงเป็นฉากไปดนตรีประกอบก็ใช้ดนตรีไทยล้วน ผสมวงแบบระบำโบราณคดีลพบุรี
เริ่มด้วยเล่าเรื่องอารยธรรมขอม
ตามด้วยการแพร่ขยายเข้ามาในบริเวณประเทศไทย
กำเนิดเมืองพิมาย แล้วก็ชวนชมพิมาย ตอนถึงทับหลังศึกพรหมมาสตร์
ก็ปล่อยการแสดงใหม่ ที่เราสร้างขึ้นมา เรียกว่ารามายณะ ไม่กล้าเรียกว่าโขน
เพราะเราถอดแบบเครื่องแต่งตัวออกมาจากภาพจำหลักบนปราสาท เป็นแบบขอม ได้อาจารย์เสรี หวังในธรรมเขียนบทในส่วนนี้ให้ ใช้นักแสดงจากวิทยาลัยนาฏศิลป์ แล้วก็ตอนที่กล่าวถึงสิ่งที่สืบทอดมาถึงปัจจุบันจากการกวนเกษียรสมุทรในจำหลักของขอม
มาเป็นพระราชพิธีอินทราภิเษกของไทย
กลายมาเป็นประเพณีดึงครกดึงสากของพื้นบ้าน
เราก็ใช้วงดนตรีอีสานใต้แบบวงกันตรึมเป็นหลัก ให้ฟังดูเป็นเขมร โดยใช้วงดนตรีแบบอีสานเหนือเป็นแบ็กอัพให้หนักแน่นขึ้น”
ความจริงไม่ใช่แค่แสงและเสียง
ที่พิมายครั้งนี้ยังมีกลิ่นด้วย “ขบวนแห่พระพุทธรูปนาคปรกพราหมณ์โกญทัญญะมีการจุดกำยานจริง
แถมเรายังมีจุดแอบไว้ใต้ที่นั่งคนดูอีกส่วนหนึ่ง คนดูก็จะได้กลิ่นด้วย ก็ฮือฮากัน”
แม้ว่าเป็นยุคที่เทคนิคแสงเสียงทันสมัย
แต่ก็ยังมีเรื่องเบื้องเรื่องฉากการแสดงอีกจนได้
“ขอยืมสังข์จากสำนักพระราชวังมาพราหมณ์ถือประกอบในขบวนแห่
เวลาอยู่บนเวทีมองไม่เห็นเลยเพราะขนาดเล็ก ก็เลยต้องทำเองขึ้นมา
ใช้โฟมเหลาเป็นสังข์พอกด้วยปูนปลาสเตอร์ให้อันใหญ่ ๆ ให้มองเห็นได้ชัด ๆ
เป็นสังข์ยักษ์ แต่เป่าไม่ได้ ลองเป่าสังข์จริงอัดเสียงออกมาแล้วเสียงไม่เพราะ
ดังปูด ๆ ท้ายสุดก็เลยต้องเอาขวดโค้กมาเป่าแทนได้เสียงเพราะกว่า
ส่วนบัณเฑาะก์นี่ไม่ได้ยืม ทำเองนะ ใช้ท่อนไม้มาทำด้าม
ตรงกลางเอาชามก๋วยเตี๋ยวหันก้นชนกัน บุด้วยกระดาษ ทาสีเสียเหมือนจริง
เป็นบัณเฑาะก์ยักเหมือนกัน เห็นชัดเชียว แต่ไกวแล้วดังปุ ๆ เวลาแสดงก็ต้องอัดเสียงกลองแขกธรรมดาแทน”
บางเรื่องก็เป็นปรกฏการณ์ลึกลับเหนือคำอธิบายใด
ๆ
“ตอนแรกก่อนแสดงก็ว่าจะจัดพิธีบวงสรวงแบบพราหมณ์
แต่ไป ๆ มา ๆ ยุ่งยาก ก็เลยจัดการทำสังฆทานใหญ่แทน กรวดน้ำกันตรงนั้น
วันแสดงจริงมีท่านรัฐมนตรีกร ทัพพะรังสีมาชมการแสดงอยู่ด้วย ปรากฏว่าพอถึงฉากชักนาคดึกดำบรรพ์ซึ่งตามคิวก็จะต้องมีฟ้าแลบฟ้าร้อง
ปรากฏว่าฟ้าแลบฟ้าร้องจริงแล้วก็มีลมพายุเข้ามาด้วย
พัดใบไม้ปลิวเข้ามาเป็นแนวเฉียง ๆ ตามแนวของเวที ฝนก็โปรยสายลงมาเป็นละออง มิหนำซ้ำพอถึงท่ารำสุดท้าย
ฝนก็หยุด คนดูก็ชอบใจปรบมือกันใหญ่
นึกว่าเป็นเทคนิคพิเศษของ
ททท.เสร็จการแสดงครูนาฏศิลป์มาบอกว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดเมื่อกี้ ปกติจะเกิดในเวลาพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์
เช่นพิธีไหว้ครู ฝนตกไม่เปียกอย่างนี้ เรียกว่าพระอิศวรเสด็จ”
ถือว่าเป็นพัฒนาการเข้าสู่การแสดงละครประกอบแสงและเสียง
(Dramatic
Light & Sound Presentation) อย่างเต็มรูปแบบ
และเป็นการแสดงแสงและเสียงที่ประสบความสำเร็จสูงเป็นที่กล่าวขวัญอีกรายการหนึ่ง
แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกที่จะจัดแสดงแบบเดียวกันนี้ได้
การแสดงที่ปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ที่จัดขึ้นหลังจากพิมายในเวลาไล่เลี่ยกันก็ยังใช้รูปแบบการแสดงแสงและเสียงแบบจินตภาพเช่นเดียวกับที่สุโขทัยอยู่
นั่นสือใช้การการสาดส่องแสงไฟและการบรรยายเรื่องราวของความเชื่อเกี่ยวกับเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์
ศิวะนาฏราช และการสร้างเทวาลัย เชื่อมโยงไปกับนครวัดนครธมของขอมโบราณ เน้นการแสดงแค่ในส่วนของขบวนแห่พระนางภูปตีนลักษมีเทวี
ที่เป็นราชวงศ์ในท้องถิ่นเสด็จขึ้นมาสักการะเทวาลัยบนยอดเขาเท่านั้น
“ก็ต้องดูตามความเหมาะสม
อย่างพนมรุ้งปราสาทอยู่บนภูเขา ขนอุปกรณ์ขึ้นไปยาก
พื้นที่การแสดงและพื้นที่รองรับผู้ชมก็น้อย จัดใหญ่อย่างที่พิมายก็คงจะลำบาก”
ที่มีการแสดงเป็นหลักในลักษณะเดียวกับพิมายอีกแห่งหนึ่งก็คือในงานเทศกาลดอกลำดวน
จังหวัดศรีสะเกษ พ.ศ.
๒๕๓๓
จัดขึ้นในสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์
เป็นดงดอกลำดวนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยพื้นที่พันกว่าไร่
ช่วงเดือนมีนาคมดอกลำดวนจะบานส่งกลิ่นหอมฟุ้งไปทั่วบริเวณ เป็นการจัดแสดงแสงและเสียงที่แตกต่างออกไปจากที่เคยจัด
เพราะจัดในพื้นที่ไม่มีโบราณสถาน เหมือนกับที่อื่น ๆ มีเพียงการเรื่องราวตามตำนาน จึงต้องมีการสร้างฉากเป็นปราสาทหินขึ้นมา
เพื่อประกอบการแสดงแสงและเสียง เรื่องศิวะราตรีแห่งศรีพฤทเธศวร ถือว่าการแสดงล้วน
ๆ เป็นหลักอย่างแท้จริง
ปลายปีพ.ศ. ๒๕๓๔ การแสดงแสงและเสียงอยุธยายศยิ่งฟ้าก็คืนชีพกลับมาอีกครั้ง
ในงานฉลองอยุธยามรดกโลกที่วัดมหาธาตุ คราวนี้ททท.
เราปรับให้มีขบวนแห่อย่างยิ่งใหญ่อลังการ
“สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาทรงถามว่าจัดแสดงแสงและเสียงทีไรทำไมพูดถึงแต่เรื่องสูญเสีย ก็เลยต้องมีการปรับปรุงบทกันเป็นการใหญ่ให้เน้นไปที่ความเจริญรุ่งเรืองในสมัยอยุธยามากขึ้น
ในคราวนี้สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถเสด็จทอดพระเนตรด้วย “
พี่ชาย สมชาย ชมพูน้อย
ผู้อำนวยการกองสร้างสรรค์กิจกรรมคนปัจจุบัน ผู้คลุกคลีกับงานแสดงแสงเสียงมาตั้งแต่เริ่มต้นชีวิตการทำงาน
เล่าถึงบรรยากาศเบื้องหลังในยุคที่อุปกรณ์การแสดงแสงเสียงเพียบพร้อมทันสมัย
“พอไม่ต้องไปวุ่นวายกับการสร้างควันสร้างไฟอย่างสมัยก่อน
เราก็เล่นกับสัตว์เยอะขึ้นเพื่อความสมจริง มีการเอาไก่ หมา ม้า
ช้างมาเข้าร่วมการแสดงในฉากด้วย
มีฉากหนึ่งเราต้องใช้เสียงช้าง ปรากฏว่าเสียงเอฟเฟคต์ช้างไม่มี
ก็เลยต้องไปหาอัดเสียงจากช้างจริง ๆ แต่ทำยังไงช้างก็ไม่ร้อง เลยเอาช้างแม่ลูกมา
จับตัวลูกแยกจากตัวแม่ ได้ผล ช้างลูกก็ร้อง
เราอัดเสียงได้มาก็คิดว่าเสียงช้างร้องคงจะเหมือน ๆ กัน ที่ไหนได้
พอเอาเสียงมาเปิดตอนแสดง ปรากฏว่าช้างในขบวนแตกตื่นกันใหญ่ เสียงลูกช้างคงจะร้องบอกว่าอันตรายหรืออะไรสักอย่าง
ช้างก็มีภาษาของมัน เราฟังไม่รู้เรื่องเอง”
ททท. ยังได้จัดงานแสดงแสงและเสียงให้หลายจังหวัด
บางงานก็เป็นงานเฉพาะกิจ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงแสงและเสียงในงาน๒๐๐
ปี อุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ในปีพ.ศ. ๒๕๓๕ งานอุดร ฯ
๑๐๐ ปี ของจังหวัดอุดรธานี ในพ.ศ. ๒๕๓๖
นำเสนอเรื่องประวัติเมืองอุดรธานี ในรอบ ๑๐๐ ปี นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่
๕ และงานเบิกฟ้าหริภุญไชย นำเสนอประวัติความเป็นมาของอาณาจักรหริภุญไชยและพระนางจามเทวี
จังหวัดลำพูน พ.ศ. ๒๕๓๘
บางงานดูเหมือนเป็นงานเฉพาะกิจ
แต่ต่อมาทางจังหวัดก็ได้รับไปจัดกลายเป็นงานที่ต่อเนื่องมาก็มี เช่น งานมรดกโลกบ้านเชียง
ซึ่งจัดในช่วงปีพ.ศ. ๒๕๓๖ บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง
เล่าเรื่องความเชื่อของบ้านเชียง
ความเป็นมาของดินแดนสุวรรณภูมิในยุคก่อนประวัติศาสตร์ จากยุคหินพัฒนามาสู่ยุคเหล็ก
โดยใช้ข้อมูลจากหลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดพบ แสดงถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่บ้านเรือน
ก่อนที่ทั้งหมดจะขาดช่วงถูกเก็บงำไว้ใต้พื้นพิภพจนกระทั่งเวลาลาวงมากว่าสามพันปีจึงถูกฝรั่งขุดค้นพบความลับที่ซ่อนอยู่
พักหลังการแสดงแสงและเสียง “ฮิต” มากสุดขีด ถึงขนาดแทบทุกจังหวัดอยากให้ททท. ไปจัดการแสดงแสงและเสียงให้
ทั้งที่บางจังหวัดไม่ได้มีความเหมาะสมที่จะจัดได้เลยแม้แต่น้อย
นานเข้าไม่ใช่แค่เฉพาะจังหวัดต่าง ๆ เท่านั้น ยังลุกลามไปถึงหน่วยงานต่าง ๆ
ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องท่องเที่ยวด้วย
“ตำรวจจราจรก็ยังมี เขาจัดอบรมสัมมนาในหอประชุม
แล้วก็ติดต่อมาว่าอยากให้ททท. ไปจัดแสดงแสงและเสียงให้
ก็ต้องตอบปฏิเสธไป โธ่ จะจัดเข้าไปได้ยังไง”
และด้วยความนิยมทำให้นักวิชาการออกมาทักท้วงในเรื่องของการจัดแสดงแสงและเสียงทำลายโบราณสถาน
สิ่งแวดล้อม ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว
คณะทำงานแสงและเสียงนั้นมีการวางแผนป้องกันอย่างรอบคอบในทุกขั้นตอน
โดยเฉพาะอย่ายิ่งในช่วงหลัง ททท. ยังได้มีการตั้งระเบียบกฏเกณฑ์การจัดแสดงแสงและเสียงเพื่อใช้ในการพิจารณาให้ความสนับสนุนการจัดแสดงแสงและเสียงในพื้นที่ต่าง
ๆ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายและผลกระทบต่อโบราณสถานตลอดจนสภาพแวดล้อมอย่างแท้จริงอีกด้วย
เปลี่ยนผ่านสู่การแสดงแสงเสียงของท้องถิ่น
ในช่วงของผู้ว่าฯ ททท. ภราเดช พยัฆวิเชียร
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเห็นว่าการแสดงแต่ละครั้งต้องใช้งบประมาณมากและใช้ได้เป็นเทศกาลเท่านั้น
นอกจากนั้นยังมีปัญหาความไม่เข้าใจ
“ตามระเบียบแล้วเวลาททท.
ไปจัดงานที่ไหนก็ตามจะเก็บเงินเข้าททท. ไม่ได้
ส่วนใหญ่ก็จะหักเอาแต่ค่าใช้จ่ายแล้วที่เหลือก็จะมอบให้จังหวัดไป
แต่ทีนี้บางครั้งบางจังหวัดจัดแล้วไม่ได้กำไร ก็เลยไม่มีเงินเหลือที่จะให้
ทางจังหวัดก็ไม่เข้าใจว่าทำไมททท. ไม่ให้เงิน จริง ๆ แล้ว
ททท. เราขาดทุนด้วยซ้ำ“
จึงเป็นที่มาของนโยบายที่จะย่อส่วนการแสดงแสงและเสียงเป็นมินิไลต์แอนด์ซาวนด์แบบเฉพาะกิจ
เพื่อให้ท้องถิ่นดูแลจัดการเองได้ โดยในช่วงแรกททท. ลงทุนจัดสร้างอุปกรณ์
เครื่องไม้เครื่องมือจำพวกแถบเส้นเสียง ระบบไฟ และรูปแบบการแสดงให้ จากนั้นให้ท้องถิ่นดำเนินการจัดแสดงได้
ซึ่ง ททท.เองยังคงช่วยสนับสนุนในด้านการตลาด
ด้วยการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้อีกทางหนึ่ง
มินิไลต์แอนด์ซาวนด์นี้ถือเป็นพัฒนาการขั้นที่
๔ เรียกว่า การแสดงแสงและเสียงขนาดเล็ก
(Mini Light & Sound Presentation) เป็นการย่อขนาดการแสดงให้เล็กลงทั้งในด้านการแสดงประกอบ
เทคนิคระบบแสงเสียง และระยะเวลาการแสดง ถึงแม้ว่าจะรองรับผู้ชมได้จำกัด
แต่ก็ได้เปรียบตรงที่จัดได้หลายครั้ง (ว่าง่าย ๆ
ก็คือทัวร์มาลงเมื่อไหร่ก็จัดให้ดูได้เมื่อนั้น) เพราะว่าต้นทุนต่อรอบต่ำ
ที่สำคัญคือคนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ จัดเอง แสดงเอง เก็บตังค์เอง
เป็นการกระจายอำนาจการจัดแสงเสียงและรายได้สู่ท้องถิ่น ได้แก่
วิมายนาฏการ
จังหวัดนครราชสีมา บริเวณเดียวกับการแสดงชุดใหญ่คืออุทยานประวัติศาสตร์พิมาย
อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา นำเสนอเรื่องราวความเจริญรุ่งเรื่องเมื่อครั้งอดีตกาลของเมืองพิมาย
ในฐานะเมืองสำคัญของอาณาจักรขอมโบราณ
จุดเด่นอยู่ตรงการแสดงที่นำเอาท่วงท่าจากภาพจำหลักจากปราสาทหินพิมายมาถ่ายทอดเป็นนาฏลีลาอย่างมีชีวิตชีวา
อาข่าคนภูเขา จังหวัดเชียงราย
บริเวณศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดเชียงราย ตำบลป่าซาง อำเภอแม่จัน
จังหวัดเชียงราย นำเสนอเรื่องราววิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาเผ่าอาข่า
ในรูปของการแสดงประกอบแสง สี
เสียงขนาดเล็ก ที่สามารถจัดแสดงได้ทุกโอกาสที่ต้องการ ใช้เวลาแสดง ๓๐ นาที
โดยนักแสดงที่ร่วมในการแสดงเป็นชาวไทยภูเขาเผ่าอาข่าจากหมู่บ้านแสนสุข ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง
โดยเครื่องแต่งกายที่ใช้แสดงเป็นชุดจริงที่สวมใส่อยู่ในชีวิตประจำวัน
สิ่งปลูกสร้างที่ใช้ ประกอบฉากก็สร้างด้วยฝีมือของชาวอาข่าแท้ ๆ ทั้งหมด
แสง
เสียง สัญจรพระนครศรีอยุธยา รูปแบบการชมที่แตกต่างจากการแสดงแสง เสียง
ในพื้นที่อื่น โดยใช้รถพ่วงเป็นพาหนะ นำชมการแสดงตามเส้นทางสถานที่สำคัญในอดีต
เช่น แยกตะแลงแกง วัดพระราม วัดศรีสรรเพชญ์ วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ
และจุดชนช้างของเจ้าอ้ายเจ้ายี่ เป็นต้น ซึ่งแต่ละแห่งมีการ Light up โบราณสถาน
และการแสดงประกอบ มาสิ้นสุดที่คุ้มขุนแผนเพื่อรับประทานอาหารมื้อค่ำแบบชาววัง
และชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย
ศิวะราตรีแห่งศรีพฤทเธศวร
จังหวัดศรีสะเกษ จัดขึ้นในบริเวณปราสาทสระกำแพงใหญ่
อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ นำเสนอเรื่องราวการก่อสร้างปราสาทสระกำแพงใหญ่
ของชนเผ่าเขมร ลาว ส่วย เยอ ตามความเชื่อในลัทธิไศวะนิกาย หรือ ลัทธิบูชาพระศิวะ
จึงร่วมกันก่อสร้างมหาเทวาลัยอันศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเป็นที่สถิตแห่ง "พระกมรเตง ชคตศรีพฤทเธศวร" เทพเจ้าแห่งจักรวาล
และร่วมกันเฉลิมฉลองความรุ่งเรืองของดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ด้วยพลีกรรมบวงสรวงต่างๆ
ราตรีแห่งวัดอรุณ กรุงเทพมหานคร ล่องเรือชม Light up สองฝั่งแม่น้ำ
ก่อนที่จะไปชมการแสดงแสงเสียงที่วัดอรุณฯ ที่นำเสนอความเป็นมาของกรุงรัตนโกสินทร์
และวัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร
ที่สถาปนาขึ้นมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ นานกว่า ๒๐๐
ปี กับเรื่องราวของพระปรางค์วัดอรุณฯ เจดีย์ทรงปรางค์สูงใหญ่เต็มไปด้วยความสง่างามทางด้านสถาปัตยกรรมและความอลังการทางด้านศิลปกรรมที่สุดแห่งหนึ่ง
ทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทยที่ทั่วโลกรู้จักจวบจนปัจจุบัน
สุโขทัยไนท์ ในบริเวณวัดสระศรี
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย นำเสนอเรื่องราวประวัติของเมืองสุโขทัยตลอดจนราชวงศ์พระร่วง
โดยแสดงให้เห็นถึงประวัติและจุดเด่นในแต่ละรัชกาล
พร้อมทั้งสอดแทรกประเพณีและเทศกาลท้องถิ่นต่างๆ ของสุโขทัย เช่น
การละเล่นกองมังคละ การทอดกฐิน เผาเทียนเล่นไฟ
พร้อมทั้งการแสดงทางวัฒนธรรมที่งดงามตระการตาประกอบกับการเล่นพลุตะไลไฟพะเนียง
วัฒนธรรมเรืองรอง
บ้านหนองขาว จังหวัดกาญจนบุรี จัดแสดงบริเวณหมู่บ้านหนองขาว
ตำบลหนองขาว อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี
นำเสนอความเป็นมาของการก่อตั้งชุมชนบ้านหนองขาวตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา
สะท้อนภาพวิถีชีวิตขนบธรรมเนียมประเพณี ทัศนคติ และความเชื่อดั้งเดิมของชุมชน
ที่ยังคงมีการสืบทอดต่อกันมาหลายชั่วอายุคน อาทิ ประเพณีการโกนจุก
การเล่นเพลงเหย่ย การร่อยพรรษา การทำขวัญข้าว เป็นต้น โดยนำเสนอในรูปแบบ
การบรรยายประกอบการแสดง (ที่แสดงโดยชาวบ้านหนองขาวทั้งหมด) ผสมผสานกับเทคนิคแสง
สี เสียงสมัยใหม่
ปีหน้าที่จะถึงนี้ทางททท.ก็มีโครงการว่าจะเพิ่มเติมการแสดงแบบมินิไลต์แอนด์ซาวนด์ที่นครศรีธรรมราชอีกแห่ง
นอกเหนือจากมินิไลต์แอนด์ซาวนด์แล้ว ททท.ก็ยังคงมีการริเริ่มการแสดงแสงและเสียงแบบใหม่ ๆ ต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง อย่างเช่นในปีพ.ศ.
๒๕๔๒ ได้จัดการแสดงแสงและเสียงแม่น้ำของแผ่นดิน ที่เป็นการแสดงแสงและเสียงแบบสัญจร
โดยใช้แม่น้ำเจ้าพระยาเล่าเรื่องราว
ให้นักท่องเที่ยวนั่งเรือชมสถานที่สำคัญที่มีการ Light Up เป็นจุด
ๆ ไป แต่ทำได้แค่ปีเดียว เพราะมีปัญหาเรื่องการจราจรทางน้ำติดขัด
ปีต่อมาจึงเปลี่ยนไปจัดที่ท่าราชวรดิฐ โดยทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ
ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์
ก่อนจะยกเลิกการแสดงไปภายหลังเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิทางภาคใต้
ในปีพ.ศ.๒๕๔๙ ยังมีการจัดงานแสดงแสงและเสียงที่เชียงใหม่ต้อนรับการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรในชุดรัฐบาลทักษิณ
๑ ที่คุ้มขันโตก เป็นการแสดงประกอบแสงและเสียงเล่าเรื่องเมืองเชียงใหม่ในลักษณะการกินอาหารเย็นแบบขันโตกพร้อมชมการแสดงทางวัฒนธรรม
ในช่วงภาพยนต์เรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรกำลังดัง ทางททท. ยังได้นำเอาเทคนิคการแสดงแสงและเสียงประยุกต์ใช้กับงานแสดงช้างที่สุรินทร์
เพิ่มเติมให้เป็นการแสดงประกอบเสียง (ไม่มีแสงเพราะเป็นการแสดงภาคกลางวัน) อีกด้วย
จัดสร้างฉากอุปกรณ์ประกอบฉาก และตัดเสื้อผ้าให้ใหม่
ล่าสุดเป็นที่น่าดีใจที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างราชอาณาจักรกัมพูชายังมาศึกษาดูงานแสดงแสงเสียงของประเทศไทยเป็นตัวอย่าง
เห็นว่าเอาไปจัดเป็นเทศกาลแสดงแสงและเสียงที่นครวัด
เมืองเสียมเรียบในช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนมกราคมที่ผ่านมา เรียกว่างานแสดงแสงเสียงของไทยเรามีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับอินเตอร์แล้วเหมือนกัน
แม้จะเป็นใกล้ ๆ บ้านก็เถอะ
จะว่าไปผมเองก็ยังดูการแสดงแสงและเสียงได้ไม่หมดทุกแห่งทั่วไทย
ว่าง ๆ คงต้องหาเวลาไปดูไปชมเอาไว้ให้ครบเป็นขวัญตา
คุณผู้อ่านล่ะครับ เคยดูกันหรือยัง
เอกสารอ้างอิง
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย.อลังการแผ่นดินวัฒนธรรม.กรุงเทพฯ : ร่วมด้วยช่วยกัน,๒๕๔๓.
คณะทำงานจัดแสดงแสงและเสียงของ
ททท.
ข้อมูลพื้นฐานและหลักเกณฑ์สำหรับจัดการแสดงประเภทแสงและเสียง.การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
งานพัฒนาและสร้างสรรค์กิจกรรม. ข้อมูลการแสดงแสงและเสียง(ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ).เอกสารเย็บเล่ม,๒๕๔๑.
สุรินทร์
คล้ายจินดา.
“การสร้างสื่อเผยแพร่วัฒนธรรมจากวิธีการศึกษาวิจัยและวิธีการสร้างเรื่องบันเทิงให้เป็นการแสดงแสงและเสียง”
จุลสารการท่องเที่ยว.ปีที่ ๑๖ เล่ม ๒ เมษายน-มิถุนายน ๒๕๔๐
หน้า ๔๓-๕๓.
ขอขอบคุณ
คุณสายสุนีย์
สิงหทัศน์ คุณพิชัย น้อยวัฒน์ คุณพงศธร เกษสำลี คุณศิริรักษ์ รังสิกลัส คุณสมชาย
ชมพูน้อย
และผู้เกี่ยวข้องทุกท่านที่ได้ให้ข้อมูลและอำนวยความสะดวกจนกระทั่งสารคดีเรื่องนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
คู่มือนักเดินทาง
การแสดงแสงและเสียงชุดใหญ่ในงานประจำปีของแต่ละจังหวัดปัจจุบันการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้โอนให้ทางจังหวัดเป็นผู้ดูแลดำเนินการ
โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยให้การสนับสนุนทางด้านประชาสัมพันธ์และเข้าไปดูแลปรับปรุงเมื่อมีการร้องขอจากทางจังหวัด
ในส่วนการแสดงแสงและเสียงมินิไลต์แอนด์ซาวนด์ปีนี้มีกำหนดการจัดการแสดงดังนี้
วิมายนาฏการ จังหวัดนครราชสีมา จัดแสดงเดือนละรอบ
ทุกเสาร์สัปดาห์สุดท้ายของเดือน ในระหว่างเดือนมิถุนายน ๒๕๕๑ -เดือนเมษายน
๒๕๕๒ บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม จองบัตรชมการแสดง
หรือติดต่อการจัดการแสดงรอบพิเศษสำหรับหมู่คณะ ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขต ๑ โทรศัพท์ ๐ ๔๔๒๑ ๓๖๖๖ ๐ ๔๔๒๑ ๓๐๓๐ สำนักงานเทศบาลตำบลพิมาย โทรศัพท์ ๐ ๔๔๔๗
๑๑๒๑ อุทยานประศาสตร์พิมาย โทรศัพท์ ๐
๔๔๔๗ ๑๕๖๘ ที่ว่าการอำเภอพิมาย โทรศัพท์ ๐
๔๔๔๗ ๑๖๑๗
สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา โทรศัพท์ ๐ ๔๔๒๕ ๒๐๒๐
สุโขทัยไนท์ จัดแสดงเดือนละรอบ
ทุกเสาร์สัปดาห์แรกของเดือน ในระหว่างเดือนมิถุนายน ๒๕๕๑ ถึงเดือนเมษายน ๒๕๕๒
ภายในบริเวณวัดสระศรี อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม จองบัตรชมการแสดง
หรือติดต่อการจัดการแสดงรอบพิเศษสำหรับหมู่คณะ ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
สำนักงาน ททท.
ภาคเหนือ เขต ๓ โทรศัพท์ ๐ ๕๕๒๕ ๒๗๔๒-๓
ชมรมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดสุโขทัย โทรศัพท์ ๐ ๕๕๖๑ ๓๐๗๕ -๖
อาข่าคนภูเขา จังหวัดเชียงราย
จัดแสดงเดือนละรอบ ทุกเสาร์สัปดาห์ที่สองของเดือน ในระหว่างเดือนมิถุนายน ๒๕๕๑ -เดือนเมษายน
๒๕๕๒ บริเวณศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดเชียงราย ตำบลป่าซาง อำเภอแม่จัน
จังหวัดเชียงราย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม จองบัตรชมการแสดง
หรือติดต่อการจัดการแสดงรอบพิเศษสำหรับหมู่คณะได้ที่
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานภาคเหนือเขต ๒
เลขที่ ๔๔๘/๑๖ ถนนสิงหไคล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย โทรศัพท์ ๐ ๕๓๗๑ ๗๔๓๓ และ ๐ ๕๓๗๔ ๔๖๗๔ -๕
หรือศูนย์สงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดเชียงราย ดำบลป่าซาง อำเภอแม่จัน
จังหวัดเชียงราย โทรศัพท์ ๐ ๕๓๖๖ ๐๓๖๐
แสง
เสียง สัญจรพระนครศรีอยุธยา จัดแสดงในระหว่างเดือนสิงหาคม ๒๕๕๑ ถึงเดือนเมษายน ๒๕๕๒
บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
จองบัตรชมการแสดง หรือติดต่อการจัดการแสดงรอบพิเศษสำหรับหมู่คณะได้ที่
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคกลาง เขต ๖ โทรศัพท์ ๐ ๓๕๒๔ ๖๐๗๖-๗
ศิวะราตรีแห่งศรีพฤทเธศวร
จังหวัดศรีสะเกษ จัดขึ้นในบริเวณปราสาทสระกำแพงใหญ่
อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ
จองบัตรชมการแสดง หรือติดต่อการจัดการแสดงรอบพิเศษสำหรับหมู่คณะได้ที่
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือเขต ๒ อุบลราชธานี โทรศัพท์ ๐ ๔๕๒๔ ๓๗๗๐ ๐ ๔๕๖๓ ๘๓๒๒
หรือที่ สำนักศึกษาธิการอำเภออุทุมพรพิสัย โทรศัพท์ ๐ ๔๕๖๙ ๑๖๐๘ และสำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลกำแพง
โทรศัพท์ ๐ ๔๕๖๓ ๘๒๘๖
ราตรีแห่งวัดอรุณ กรุงเทพมหานคร จัดแสดงทุกวันในระหว่างเดือนกันยายน ๒๕๕๑ ถึงเดือนเมษายน ๒๕๕๒
บริเวณวัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ งานพัฒนากิจกรรม กองสร้างสรรค์กิจกรรม
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โทรศัพท์ ๐
๒๒๕๐ ๕๕๐๐ ต่อ ๓๔๖๐
วัฒนธรรมเรืองรอง
บ้านหนองขาว จังหวัดกาญจนบุรี จัดแสดงเดือนละรอบ
ทุกเสาร์สัปดาห์สุดท้ายของเดือน ในระหว่างเดือนกันยายน ๒๕๕๑ ถึงเดือนเมษายน ๒๕๕๒
บริเวณหมู่บ้านหนองขาว ตำบลหนองขาว อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม จองบัตรชมการแสดง
หรือติดต่อการจัดการแสดงรอบพิเศษสำหรับหมู่คณะ ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
สำนักงานภาคกลาง เขต ๑ ถนนแสงชูโต
ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมือง ฯ จังหวัดกาญจนบุรี โทรศัพท์ ๐ ๓๔๕๑ ๑๒๐๐ ๐ ๓๔๕๑ ๒๕๐๐
หรือที่ชมรมการท่องเที่ยวบ้านหนองขาว โทรศัพท์ ๐๘ ๑๒๙๑ ๐๓๘๕ ๐๘ ๑๓๘๔ ๔๘๖๕
ในที่สุดก็กลับมาอ่านได้อีกครั้ง คิดถึงจัง
ReplyDelete