เรือล่องไปท่ามกลางบรรยากาศอาทิตย์อัสดง |
ภาคภูมิ
น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ
“ความประสงค์ที่จะมาเที่ยวครั้งนี้
ได้ปรารภมาแต่เมื่อออกมาเที่ยวปีกลายนี้ ด้วยได้ไปเที่ยวหัวเมืองตามฝั่งข้างตะวันออกแหลมทั่วแล้ว
ยังไม่ทั่วแต่ข้างตะวันตกอย่างหนึ่ง...ครั้นขึ้นมาหลังสวน
พระยาระนองมาพรรณนาถึงระยะทางที่ข้ามไปมาได้ใกล้ และทางโทรเลขที่ชุมพรตัดมาแล้ว
จะไม่ต้องตัดทางใหม่อีกอย่างหนึ่ง...”
บางส่วนจากข้อความพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๕ ที่ทรงบันทึกไว้ถึงการเสด็จยังเมืองระนอง ปรากฏในพระราชนิพนธ์เรื่องระยะทางเสด็จพระราชดำเนินประพาสทางบก
ทางเรือ รอบแหลมมลายู เมี่อรัตนโกสินทร์ศก ๑๐๙ หรือปีพ.ศ. ๒๔๓๓
ในการเสด็จครั้งนั้นพระยารัตนเศรษฐี
(คอซิมก๊อง) เจ้าเมืองระนองได้สร้างพลับพลาที่ประทับรับเสด็จไว้บนเนินกลางเมืองด้วยไม้แก่นและเครื่องก่ออย่างแข็งแรงสวยงาม
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรแล้วถึงกับตรัสชมเชยว่า“...ทำงดงามมั่นคง
สมควรจะเป็นวัง ยิ่งกว่าจะเป็นพลับพลา...” จึงพระราชทานนามว่าพระราชวังรัตนรังสรรค์ และได้ประทับแรมอยู่
๓ คืน คือในวันที่ ๒๓ – ๒๕ เมษายน ๒๔๓๓ ดังปรากฏรายละเอียดเส้นทางเสด็จบันทึกไว้
“ ...วันที่ ๒๑ เมษายน เสด็จผ่านพรมแดนรอยต่อระหว่างเมืองชุมพรกับเมืองกระบุรี จนถึงบริเวณลำธารน้ำตกไปลงคลองเมืองกระบุรี
ทรงจารึกพระปรมาภิไธยย่อ จปร.พร้อมศักราช ร.ศ. ๑๐๙
เสด็จไปประทับร้อนที่พลับพลาริมธารน้ำต้นคลองกระลี้ เสด็จถึงพลับพลาริมน้ำปากจั่น
วันที่ ๒๒ เมษายน ทรงลงเรือพระที่นั่งกรรเชียงล่องตามลำน้ำปากจั่น
เสด็จถึงตำบลน้ำจืดอันเป็นท่าเรือใหญ่เข้ามาค้าขายได้ เสด็จล่องเรือถึงปากคลองพระขยาง
พรมแดนเมืองกระบุรีกับเมืองพม่า แล้วเสด็จประทับแรมที่ปากคลองเขมา
วันที่ ๒๓ เมษายน เสด็จถึงเกาะขวาง ทรงรับทราบปัญหาแผนที่
ที่ทางฝ่ายอังกฤษทำไม่ตรงกันกับหนังสือสัญญา ในเรื่องเกาะของไทยและของพม่า
ทรงทอดสมอที่ใต้เกาะผี ปากอ่าวเมืองระนอง
เสด็จแหลมเกาะสองซึ่งอังกฤษเรียกว่าวิกตอเรียปอยนต์ เสด็จเข้าปากอ่าวเมืองระนอง
แล้วเสด็จโดยรถพระที่นั่งผ่านตลาด เสด็จถึงพลับพลาที่ประทับ (พระราชวังรัตนรังสรรค์)
วันที่ ๒๔ เมษายน เสด็จตลาดเก่า
ถึงบ้านเก่าของพระยารัตนเศรษฐีซึ่งตั้งอยู่ที่หาดใกล้ฝั่งคลองต้นคลองซึ่งทำเหมืองแร่ดีบุก
เวลาบ่ายทรงเสด็จบ่อน้ำร้อน
วันที่ ๒๕ เมษายน เสด็จบ้านใหม่ของพระยาระนอง
วันที่ ๒๖ เมษายน เสด็จที่ฝังศพพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง)
แล้วเสด็จต่อไปทอดพระเนตรการทำเหมือง
เสด็จกลับลงเรือพระที่นั่งออกจากอ่าวระนองไปทอดสมอที่อ่าวภูจืด
ใกล้กับเกาะวิกตอเรียปอยนต์ ...”
ผู้โดยสารทยอยลงเรือเดอะ รอยัล อันดามัน |
การเสด็จเมืองระนองของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวใน ร.ศ. ๑๐๙ ถือเป็นมหามงคลแก่ชาวเมืองระนองเป็นอย่างยิ่ง
เพราะเป็นครั้งแรกที่พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีเสด็จมาเยือนเมืองระนอง
เพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์อันเป็นมหามงคลดังกล่าว จึงได้มีการจัดกิจกรรมล่องเรือตามรอยเสด็จรัชกาลที่
๕ ร.ศ. ๑๐๙ ขึ้น โดยเดอะ รอยัล อันดามัน ทราเวล
กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่รักเมืองระนอง ได้นำเรือประมงเก่าแก่ของคุณประมินทร์ นทีธรที่สร้างจากไม้ตั้งแต่ปี
๒๔๙๐ และยังรักษาสภาพไว้เป็นอย่างดี ให้ชื่อว่า
“เดอะ รอยัล อันดามัน” มาดัดแปลงเป็นเรือท่องเที่ยวให้บริการกับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
ในเส้นทางเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จมาทรงล่องเรือเมื่อร้อยกว่าปีก่อน
สีสันชาวประมง |
ดนตรีขับกล่อมตลอดทาง |
ของว่างและเครื่องดื่มพร้อมบริการ |
เส้นทางล่องเรือเริ่มจากท่าเทียบเรือศุลกากรระนอง (ท่าประภาคาร ๘๐ พรรษา)
ผ่านเกาะผีซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราพระบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) เมื่อครั้งเสด็จมาประทับแรมได้พระราชทานชื่อใหม่ให้เป็นมงคลว่าเกาะสะระณีย์
สักการะเจ้าแม่กวนอิมสีทองเด่นสง่าอยู่บนเกาะ
ชมวิถีชีวิตชุมชนชาวประมงและทิวทัศน์ของสองประเทศ ไทย – พม่า
ผ่านเกาะเหลาที่ว่ากันว่ามีผลิตภัณฑ์ทีเด็ด ๓ ก. คือกะปิ กาหยู และกุ้งแห้ง ล่องไปท่ามกลางแสงทองของยามเย็นที่อาบไล้บริเวณเกาะหม้อ
เกาะไร่ และเกาะช้าง ชมแสงสุดท้ายอันงดงามตระการตาของตะวันลับฟ้าเหนือผืนน้ำบริเวณเกาะสินไห
แล้วจึงหันหัวเรือกลับเข้าฝั่ง
เจ้าแม่กวนอิมบนเกาะสะระณีย์ |
แสงงามยามอาทิตย์ลับฟ้า |
พิธีกรชวนผู้โดยสารร่วมสนุก |
เพื่อให้ได้บรรยากาศย้อนยุคอย่างแท้จริงยิ่งขึ้น
เมื่อขึ้นเรือมาจะมีบริการเครื่องแต่งกายในแบบ “เปอรานากัน” คือชุดพื้นเมืองแบบลูกครึ่งมลายู-จีนที่ใช้สวมใส่ในพิธีสำคัญต่าง
ๆ ให้ผู้ร่วมเดินทางสวมใส่ โดยฝ่ายชายเป็นแบบนายเหมือง สวมเสื้อแขนยาวคอตั้ง
สวมหมวกกะโล่ ฝ่ายหญิงเป็นเสื้อผ้าลูกไม้โปร่งหรือผ้าป่านแก้วฉลุลายดอกไม้
รอบคอ เอว และปลายแขน ผ้านุ่งปาเต๊ะสีสด รอบมวยผมประดับด้วย “ฮั่วก๋วน” มงกุฎประดับด้วยดอกไม้ไหวระยิบระยับตา
เครื่องแต่งกายย้อนยุคแบบเปอรานากัน |
ระหว่างล่องไปบนผืนน้ำบนเรือยังมีการบรรเลงดนตรีขับกล่อมเบา ๆ
สบาย ๆ โดยน้อง ๆ เยาวชนนักร้องนักดนตรีจากโรงเรียนสตรีระนองไปตลอดทาง
พร้อมบริการเคาน์เตอร์เครื่องดื่มและอาหารว่างบนชั้นดาดฟ้าให้ดื่มกินแกล้มกับทิวทัศน์ท้องทะเลยามเย็น
หลังตะวันลับขอบฟ้าเข้าสู่สนธยาแล้วจึงเริ่มบริการเสิร์ฟมื้อค่ำใต้แสงเทียนสุดแสนโรแมนติก
อร่อยลิ้นด้วยอาหารทะเลสด ๆ ที่คัดสรรมาเป็นอย่างดี ทั้งกุ้งหอยปูปลา พ่วงด้วยอาหารพื้นเมืองระนองที่หากินได้ยาก
อย่าง “ลอหมี่” ที่เจ้าเมืองระนองเคยทำถวายรัชกาลที่ ๕ “ลอกอยอก” ข้าวเหนียวส้มตำกินกับใบมะยม และขนมน้ำหอม ของหวานทำจากแป้งเส้นใส่สีดอกอัญชันใส่น้ำเชื่อมมะลิกุหลาบหอมชื่นใจ
กุ้งค็อกเทล |
ปูทะเลสดใหม่ |
ลอกอยอก |
ขนมน้ำหอม |
ปิดท้ายรายการด้วยพิธีลอยพรกพร้าว พิธีโบราณของชาวเรือใช้กะลามะพร้าวใส่ดอกดาวเรืองจุดเทียน
ลอยไปในผืนน้ำเป็นการขอบคุณที่ให้ชีวิตและอาชีพ รวมทั้งเป็นสิริมงคล
ดวงไฟวอมแวมในกะลาที่ลอยล่องเป็นแถวบนผืนน้ำกว้างกลางความมืดเป็นภาพที่สวยงามน่าประทับใจ
ลอยพกพร้าวแบบชาวทะเล |
กิจกรรมล่องเรือตามรอยเสด็จรัชกาลที่
๕ ร.ศ. ๑๐๙ โดยเรือเดอะ รอยัล อันดามัน จัดให้มีขึ้นในเวลา
๑๖.๐๐ – ๒๐.๐๐ นาฬิกา ทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดราชการ
รับผู้โดยสารเที่ยวละ ๒๘ คน (รับได้สูงสุด ๔๕ คน กรณีเหมาลำ) อัตราค่าบริการคนละ
๑,๒๙๙ บาท (ราคาอาจเปลี่ยนแปลงได้) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทรศัพท์ ๐๘
๐๙๕๖ ๖๖๔๗ ๐๙ ๑๗๓๒ ๗๑๘๕
ถ่ายภาพหมู่เป็นที่ระลึกก่อนเข้าฝั่ง |
No comments:
Post a Comment