ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...รายงาน
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนมกราคม ๒๕๕๙
ฝ่ายส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จัดทัศนศึกษา “ปะการังยั่งยืน คืนชีวิต” ระหว่างวันที่
๒๖-๒๗ พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อนำกลุ่มผู้นำความคิดทั้งภาครัฐและเอกชน ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการดำน้ำใต้ทะเล
ได้แก่ คณะวิทยาศาสตร์ทางทะเล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมนักดำน้ำแห่งประเทศไทย รวมทั้งสื่อมวลชน ได้แก่ อนุสาร อ.ส.ท. กลุ่มกรีนพีช
บริษัท แคนนอน ประเทศไทย จำกัด และเว็บไซต์ MThai ไปชมความสำเร็จของโครงการจัดสร้างปะการังเทียมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
พระบรมราชินีนาถ ณ จังหวัดจันทบุรี
โครงการดังกล่าวเริ่มขึ้นเพื่อสนองพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ
ที่ทรงมีพระราชดำริต้องการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลที่เสื่อมโทรมด้วยการวางแนวปะการังเทียม
เพื่อให้ปลาและสัตว์น้ำนานาชนิดใช้เป็นพื้นที่เข้ามาอาศัย ใช้ขยายพันธุ์และฟักตัว เป็นการอนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเล
ปะการังเทียมทำจากซีเมนต์เป็นรูปลูกบาศก์โปร่ง |
สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์โดยมูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จึงได้สนับสนุนงบประมาณให้กับกรมประมงในการจัดสร้างปะการังเทียมด้วยแท่งคอนกรีตทรงลูกบาศก์โปร่ง
โดยกองแรกนำไปวาง ณ บริเวณชายฝั่งทะเลหมู่ที่ ๗ ตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
อันเป็นพื้นที่ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งแต่ปี
พ.ศ. ๒๕๕๕
หลังจากประสบผลดีในการฟื้นฟูระบบนิเวศจากปะการังเทียมกองแรก
ทำให้สัตว์น้ำเพิ่มจำนวนมากขึ้น
ในปีต่อมามูลนิธิฯ
จึงได้ร่วมกับกรมประมงขยายการจัดสร้างและวางปะการังเทียมไปยังท้องทะเลในจังหวัดอื่น
ๆ อย่างต่อเนื่อง
ในปี ๒๕๕๖ ได้วางปะการังเทียม ๑ กอง ในทะเลบ้านทุ่งมหา
ตำบลปากคลอง อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ปี ๒๕๕๗ วางปะการังเทียมรวม ๔ กอง ได้แก่ ในทะเลบริเวณชุมชนรอบพระราชวังไกลกังวล
อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ๒ กอง
ในทะเลบริเวณบ้านทุ่งรัก ตำบลแม่นางขาว อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ๑ กอง
และในทะเลบริเวณปากคลอง ตำบลเกาะกลาง อำเภอลันตา จังหวัดกระบี่ ๑ กอง ล่าสุดในปี
๒๕๕๘ ที่ผ่านมานี้ได้วางปะการังเทียมในทะเลบริเวณบ้านนาทับ อำเภอจะนะ
จังหวัดสงขลาอีก ๑ กอง
คณะทัศนศึกษาเริ่มต้นในจันทบุรีด้วยกิจกรรมเบา
ๆ แวะเยี่ยมชมสถาปัตยกรรมเก่าแก่อันงดงามที่เรียงรายอยู่สองฟากฝั่งถนนของชุมชนริมน้ำจันทบูร
บริเวณบ้านหลวงราชไมตรีซึ่งได้รับการปรับปรุงสภาพอย่างสวยงาม โดยรักษาบรรยากาศดั้งเดิมเอาไว้ได้อย่างครบถ้วน
ทั้งยังเป็นวิสาหกิจของชุมชน
บ้านเรือนเก่าย่านริมน้ำจันทบูร |
คณะเข้าเยี่ยมชมภายในบ้านหลวงราชไมตรี |
ถ่ายภาพหมู่ที่ระลึกหน้าบ้านหลวงราชไมตรี |
ก่อนจะข้ามสะพานไปยังอาสนวิหารพระแม่มารปฏิสนธินิรมล โบสถ์ฝรั่งที่งดงามด้วยการตกแต่งประดับประดาในแบบสถาปัตยกรรมแบบโกธิค
ชื่นชมกับประติมากรรมพระแม่มารีที่ประดับด้วยพลอยเมืองจันท์อันเลื่องชื่อ และกระจกสีที่ประดับประดาอยู่บนบานหน้าต่าง
ปิดท้ายวันแรกด้วยกิจกรรม Party on the beach ณ โรงแรมแซนด์ดูนส์ เจ้าหลาว บีช รีสอร์ต
สถาปัตยกรรมโกธิคของอาสนวิหาร |
คณะปะการังยั่งยืนคืนชีวิตถ่ายภาพหมู่ภายในวิหาร |
วันที่สองจึงเป็นการเดินทางสู่ผืนน้ำสีเขียวครามของจังหวัดจันทบุรี โดยคณะทัศนศึกษาเข้ารับฟังการบรรยายสรุปและชมวิดีทัศน์ใต้ท้องทะเลเกี่ยวกับการวางปะการังเทียม
จากนักวิชาการประมงชำนาญการของกรมประมง ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน ก่อนออกเดินทางโดยเรือลำใหญ่
สู่พื้นที่วางปะการังเทียมใต้ท้องทะเลจันทบุรี
ซั้งเชือกถูกห่อหุ้มด้วยพืชน้ำ |
ณ
ผืนทรายใต้น้ำลึกอันเป็นสถานที่วางปะการังเทียมแห่งแรกของโครงการฯ หลังจากเวลาผ่านไปสามปี ปะการังเทียมรูปลูกบาศก์โปร่งที่กองอยูเป็นกลุ่ม
แวดล้อมด้วยซั้งเชือกที่ผูกไว้กับทุ่นลอยเรียงราย บัดนี้ห่มคลุมด้วยสีเขียวของพืชน้ำ
ประดุจดังผืนป่าใต้สมุทร เต็มไปด้วยฝูงปลาและสัตว์น้ำนานาชนิดน้อยใหญ่ที่ว่ายเวียนวนหากินอยู่อย่างมีชีวิตชีวา
น่าตื่นตาตื่นใจ
สรรพชีวิตน้อยใหญ่ในบริเวณปะการังเทียม |
ภาพของปะการังเทียมที่ในวันนี้ได้กลายเป็นบ้านอันแสนอุดมสมบูรณ์เป็นที่อาศัยและขยายพันธุ์ของปลาและสัตว์น้ำมากมายนับพันนับหมื่นอย่างที่ได้เห็น
เป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดี ถึงความสำเร็จของโครงการฯ ว่ามีส่วนช่วยในการฟื้นฟูระบบนิเวศของทะเลได้มาก
อันจะส่งผลอย่างยั่งยืนต่อท้องทะเล
โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการทำประมงพื้นบ้าน ที่นับจากนี้ต่อไปชาวประมงพื้นบ้านสามารถทำมาหากินในบริเวณใกล้ชายฝั่ง
ไม่จำเป็นต้องเสี่ยงภัยออกไปหาปลาในทะเลน้ำลึกอีกต่อไป
No comments:
Post a Comment