เรื่อง... ภาคภูมิ น้อยวัฒน์ ภาพ...อภินันท์ บัวหภักดี วินิจ รังผึ้ง
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนเมษายน ๒๕๔๓
ดึกแล้ว.....
เรือสคูบ้าเน็ต อันเป็นเรือสำหรับการท่องเที่ยวดำน้ำที่เพียงพร้อมไปด้วยเครื่องอำนวยความสะดวกครบครัน แล่นละลิ่วฝ่าความมืดออกจากท่าเรือรัษฎาของจังหวัดภูเก็ต มุ่งหน้าขึ้นไปสู่ทะเลอันดามันตอนเหนือในเขตจังหวัดพังงา อันเป็นที่ตั้งของหมู่เกาะสิมิลันและหมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะที่ถือว่าเป็นสวรรค์แห่งการดำน้ำอันดับหนึ่งของประเทศไทย
เหนือฟูกหนานุ่มนิ่มซึ่งปูลาดด้วยผ้าปูที่นอนขาวสะอาด
ภายในห้องนอนขนาดกระทัดรัดบนเรือที่เย็นฉ่ำด้วยเครื่องปรับอากาศสุดแสนสบาย ปราศจากเสียงรบกวนใด
ๆ นอกจากเสียงเครื่องยนต์เรืองครางกระหึ่มเป็นแบ็กกราวนต์อยู่เบา ๆ ราวกับเสียงดนตรีจากวงซิมโฟนีออเคสตราที่แว่วมาบรรเลงขับกล่อม สอดประสานกับการโยนตัวขึ้นลงไปมาเป็นจังหวะตามการเคลื่อนที่ของเรือ ซึ่งกำลังแล่นตัดระลอกคลื่นไปยังจุดหมายปลายทาง
ด้วยเวลาและสภาพแวดล้อมเช่นนี้ผมน่าจะหลับใหลนิทราอย่างอุตุสุขารมณ์ไปแล้ว แต่ผมกลับยังคงนอนลืมตาตื่นอยู่
แม้จะพยายามข่มตาหลับด้วยการขยับตัวนอนตะแคงซ้าย ตะแคงขวา ตีลังกา คลุมโปง ฯลฯ อย่างไรก็ไม่หลับ
ก็จะให้หลับตาลงไปได้อย่างไรเล่าครับ
ในเมื่อความรู้สึกหลากหลายวาไรตี้ผุดโผล่ขึ้นมาพาเหรดกันอยู่ในจิตใจของผมจน สับสนวุ่นวายไม่ต่างไปจากทหารก็อดอาร์มี่ ในยามฐานที่มั่นถูกทหารพม่าตีแตก
ไหนจะดีใจที่คราวนี้ผมจะได้มีโอกาสไปดำน้ำแถบหมู่เกาะสิมิลันและหมู่เกาะสุรินทร์ ที่เขาเล่าลือกันว่าเป็นจุดดำน้ำชมปะการังและชีวิตใต้ทะเลที่สวยงามติด
อันดับใน ๑๐ ของโลกเป็นครั้งแรก ไหนจะตื่นเต้นที่จะต้องลงดำน้ำอีกครังหลังจากไม่ได้ดำมาเป็นเวลานานหลาย
เดือนจนไม่แน่ใจว่าจะลืมอะไรต่อมิอะไรเกี่ยวการดำน้ำที่ได้ไปร่ำเรียนมาหมดหรือยัง
กลัวก็กลัว ไม่รู้ว่าดำไปแล้วจะเป็นอย่างไร
มือใหม่นี่ครับ
อะไรก็ดูระทึกใจไปเสียหมด
อันที่จริงแต่ไหนแต่ไรผมไม่เคยคิดเคยฝันเลยแม้แต่น้อยนิดว่าจะมาดำ
น้ำลึกอย่างที่เขาเรียกกันว่า SCUBA แม้ว่าใจจะแอบชื่นชอบความงดงามของโลกใต้ทะเลที่เคยเห็นจากภาพถ่ายและภาพยนต์
สารคดีหลาย ๆ เรื่องอยู่ไม่น้อย แต่ก็รู้สึกว่าไกลเกิดฝัน
สาเหตุใหญ่ ๆ
ประการสำคัญนี้ก็คือผมว่ายน้ำไม่ค่อยเป็น
(ถ้าแค่ยกมือไหว้เฉย ๆ ละก็พอได้) ลำพังให้ว่ายน้ำในสระแคบ ๆ ตัวเปล่า
ๆ ก็ยังแทบตาย จะให้แบกถึงเหล็กกับอุปกรณ์อะไรต่อมิอะไรลงไปตะเกียกตะกายอยู่ในทะเลที่ทั้ง
กว้างทั้งลึกกว่าสระตั้งหลายร้อยเท่าคงจะไม่ไหว ก็เลยคิดว่าในชีวิตนี้คงจะไม่วาสนา
ขอแค่ดูภาพสวย ๆ ที่ช่างภาพใต้นำทั้งหลายเขาถ่ายมาก็เป็นบุญตาพอแล้ว
แต่จะเป็นเพราะว่า ชาติก่อนเคยดำน้ำไปใส่บาตรหรืออย่างไรก็ไม่อยากจะเดา
วันหนึ่งในฤดูหนาว อยู่ดี ๆ ในกองบรรณาธิการอนุสาร อ.ส.ท. ก็มีแนวคิดให้ทุกคนที่ยังดำน้ำไม่เป็นไปเรียนดำน้ำกันโดยถ้วนหน้า
ผมและเพื่อนพ้องอีกหลายคนในกองบรรณาธิการก็เลยมีโอกาสได้พากันมาเป็นนักดำ น้ำทั้งมือใหม่และหน้าใหม่เข้าสู่วงการในคราวนั้นเอง
(เอ๊ะ ฟังดูยังกับดารายังไงชอบกล)
สถานที่เรียนก็ไม่ใช่อื่นไกล คือโรงเรียนสอนดำน้ำของ
บริษัทโปรเฟสชั่นนอล ไดเวอร์ นั่นเอง พอได้เรียนก็ชักจะมันครับ แถมได้รู้ว่าการดำน้ำนั้นไม่ยากอย่างที่ผมเคยคิดหวาดหวั่นขวัญผวาเอาไว้
ใคร ๆ ก็ดำได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย เด็ก ผู้ใหญ่ กำนัน ผู้ว่าฯ ตลอดจน ส.ส.
หรือ ส.ว. ก็มีสิทธิเท่าเทียมกันหมดถ้ามาเรียนดำน้ำอย่างถูกวิธี
ตอนแรกด้วยความที่ผมและเพื่อน ๆ ยังเป็นมือใหม่
ก็เลยยังไม่รู้อะไรเกี่ยวกับการดำน้ำสักอย่าง จึงต้องเริ่มต้นด้วยการเข้าห้องเรียนภาคทฤษฎีกันเสียก่อน
ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของการทำความเข้าใจเรื่องความกดดันใน บรรยากาศระหว่างใต้น้ำกับบนผิวน้ำว่าต่างกันอย่างไร
การลอยตัวทำอย่างไร รู้จักกับอุปกรณ์ในการดำน้ำต่าง ๆ และสัญญาณมือสำหรับใช้สื่อสารกันเพราะเวลาอยู่ใต้ทะเลเราพูดกันไม่ได้
ตลอดจนทำความรู้จักและเข้าใจสภาพแวดล้อมเกี่ยวกับการดำน้ำที่เราจะต้องเผชิญ เมื่อลงดำน้ำในทะเลจริง
ๆ รวมทั้งกฎกติกามารยาท และข้อปฏิบัติในการดำน้ำ
การที่เขาให้เรียนภาคทฤษฎีนี่ก็เพื่อจะให้มือใหม่รู้และเข้าใจในสิ่งที่
ควรรู้ จะได้ไม่ปล่อยไก่เมื่อไปดำในทะเลจริง ๆ ซึ่งจะเป็นอันตราย อย่างน้อยนักดำมือใหม่ก็ต้องรู้ว่าการกลั้นหายใจจากความลึกมาก
ๆ ขึ้นมาบนผิวน้ำจะทำให้ปอดฉีได้จากการที่อากาศขยายตัวเมื่อเปลี่ยนระดับ บรรยากาศ อีกอย่างหนึ่งก็เพื่อให้เรียกใช้อุปกรณ์ต่าง
ๆ ได้อย่างถูกต้อง ไมใช่ครูฝึกบอกให้เอาเรกูเลเตอร์ใส่ปากกลับไปคว้าเอามิเตอร์วัดความลึกเข้า
ให้ เมื่อมีความรู้ความเข้าใจ อันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ก็จะค่อยลดน้อยถอยลงไปตามลำดับ
อย่างไรก็ดี เรียนแค่ทฤษฎียังไม่เพียงพอต่อการไปลงดำน้ำในทะเลที่มักมีการเปลี่ยนแปลงไป
มาตามสภาพลมฟ้าอากาศหรอกครับ ในช่วงแรกนี้เขาจึงยังไม่ให้ไปลงทะเล แต่จะให้ลงไปฝึกในสระว่ายน้ำของโรงเรียนซึ่งน้ำนิ่งกันก่อนเพื่อสร้างความ
คุ้นเคย โดยเริ่มจากฝึกเตรียมอุปกรณ์สำหรับการดำน้ำ นั่นก็คือการประกอบชุดเครื่องช่วยหายใจใต้น้ำที่เราเคยเห็นเป็นสายยาว
ๆ ระโยงระยางนั่นแหละ ทีนี้เหล่ามือใหม่อย่างเราก็จะได้พบกับของจริงหลังจากเรียนในห้องเรียนกัน
แล้วว่า ท่อหายใจหลัก (Primary regulator) มีไว้ใส่ปากแล้วใช้หายใจ
ท่อหายใจสำรอง (Octopus) มีไว้ให้นักดำน้ำคนอื่นที่อากาศหมด มาใช้เวลาฉุกเฉิน
มาตรวัดอากาศ (Pressure gauge) และมาตรวัดความลึก
(Depth gauge) มีไว้ใช้วัดอากาศในถังอากาศ (Tank) และวัดความลึกของน้ำ ตลอดจนเสื้อชูชีพ (Buoyancy control device) ที่ไว้ใช้ควบคุมการลอยตัว
อุปกรณ์เหล่านี้ หน้าตาเป็นอย่างไร ประกอบเข้าด้วยกันอย่างไร
ใช้อย่างไร ก็จะได้ลองกันจริง ๆ คราวนี้ ก่อนที่ครูฝึกจะให้ลองใส่หน้ากาก
(Mask) ตีนกบ (Fins) และเข็มขัดตะกั่ว
(Wight Belt) พร้อมอุปกรณ์ทั้งชุดแบบเต็มยศ พากันกระย่องกระแย่งมาริมสระฝึกท่ากระโดดลงน้ำอย่างถูกต้อง
โดดตูมลงไปในสระได้
ยังครับ โดดลงไปแล้วไม่ใช่ว่าจบแค่นี้
ต้องลงไปหัดทักษะใต้น้ำอีกหลายอย่าง ตั้งแต่การสลับเท้าเตะตีนกบ
การเคลียร์หน้ากากเมื่อเกิดเป็นฝ้า หัดถอดหน้ากากใส่หน้ากากใต้น้ำ ถอดและหาเรกูเลเตอร์ใต้น้ำ เผื่อว่าเวลาไปดำในทะเล เกิดหน้ากากหรือเรกูเล-เตอร์หลุดจะได้ไม่ตกใจ
การควบคุมการลอยตัวให้สามารถบังคับให้ลอยหรือจมได้ จะได้ไม่ไปชนปะการังหรืออะไรต่อมิอะไรใต้น้ำจนกระจุยกระจาย
การแบ่งอากาศกับคู่หูหรือบัดดี และการทำซีซ่าขึ้นมาจากความลึกมาก ๆ ในกรณีเมื่อดำเพลิน
ๆ แล้วอากาศเกิดหมด ฯลฯ
โอ๊ยสารพัดละครับ จาระไนไม่หวาดไหว ทุกอย่างล้วนเป็นทักษะที่จำเป็นต้องใช้เมื่อไปดำจริงทั้งสิ้น
(อยากรู้รายละเอียดว่าเรียนอะไรบ้างคงต้องลองไปเรียนดูเอง) ซึ่งครูฝึกจะให้มือใหม่ทั้งหลายลองปฏิบัติทักษะต่าง
ๆ จนกว่าจะคล่องแคล่วเป็นที่พอใจของครู เมื่อจบการฝึกในสระน้ำนี้แล้วถึงจะพาไปสอบในทะเลจริงต่อไป
ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เวลาเรียนกันประมาณ ๑ สัปดาห์ก็พากันไปสอบได้แล้ว
แต่คณะดำน้ำมือใหม่ของ อ.ส.ท. เรานั้น ใช้เวลามากกว่าใคร เพราะเรียนดำน้ำกันถึง
๓ ฤดู เนื่องจากพอฝึกเรียนในสระจนได้ที่ก็มีภารกิจการทำงานเข้ามาแทรกจนไม่มีเวลา
ไปสอบในทะเลจริง ๆ สักที วิชาความรู้จึงค่อย ๆ คืนกลับไปอยู่ที่ครูโดยอัตโนมัติ ต้องกลับไปให้ครูช่วยทบทวนความรู้ในสระกันใหม่อยู่ละครับ (แม้ว่าจะอยู่ห่างกันไปหน่อยก็เถอะ) ในที่สุดผมและเพื่อน
ๆ ชาว อ.ส.ท. มือใหม่ก็สอบผ่านได้รับบัตรดำน้ำขั้นต้นหรือที่เรียกกันว่า ระดับ
Open water มากันจนได้
แล้วผมก็พบว่าเรื่องที่น่าหนักใจสำหรับมือใหม่ไม่ใช่เรื่องการเรียน
หรือการสอบหรอก แต่เป็นเรื่องของอุปกรณ์ดำน้ำที่จะต้องซื้อมากกว่า เพราะสถานภาพทางทุน-ทรัพย์ของมือใหม่ส่วนใหญ่จะค่อนข้างไปทางอัตคัต (เช่นตัวผมเองเป็นต้น) และเมื่อลองดูราคาของอุปกรณ์ดำน้ำแต่ละชิ้นแล้วก็ต้องร้อง
"ไอ๊หยา" ทุกทีไป เพราะแต่ละอย่างราคาหลักพันขึ้นไปแทบทั้งนั้น
|
|
ก็มือใหม่นี่ครับไม่ต้องมีอุปกรณ์อะไรมากมายหรอก
มือใหม่ท่องอันดามันเหนือ
กริ๊ง
ง ง ง....
เสียงออด
เรียกให้เตรียมตัวลงดำน้ำปลุกผมให้ตื่นขึ้นหลังจากที่นอนคิดอะไรต่อมิอะไร เพลินจนเผลอหลับไปตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้
เมื่อตาลีตาเหลือกออกจากห้องมาก็พบว่าเรือสคูบ้าเน็ตกำลังลอยลำอยู่เหนือผืน น้ำสีฟ้าอันเวิ้งว้างกว้างใหญ่และใสราวกับกระจกในเขตของอุทยานแห่งชาติหมู่
เกาะสิมิลันเรียบร้อยแล้ว
"ไดฟ์ แรกนี้เราจะลงดำกันที่สิมิลันเกาะห้า" คุณสมบูรณ์ โมณวัฒน์ หรือคุณน้อย
หัวหน้าคณะเดินทางท่องเที่ยวดำน้ำในเส้นทางอันดามันเหนือครั้งนี้ แจ้งให้สมาชิกนักดำน้ำทั้งหลายที่เป็นลูกทัวร์
รวมทั้งทีมงาน อ.ส.ท. คือ ผม คุณอภินันท์ บัวหภักดี และคุณวินิจ รังผึ้ง ซึ่งนับรวมกันแล้วได้ถึง
๓๐ กว่าคนที่นั่งชุมนุมกันอยู่บนชั้น ๒ ให้ทราบถึงจุดที่จะดำน้ำจุดแรกในวันนี้ พลางขีดเขียนแผนที่ของจุดดำน้ำแบบคร่าว
ๆ ลงบนกระดานไวต์บอร์ดให้ดูถึงเส้นทางที่จะดำลงไป
"ที่เรียนไปยังจำได้อยู่หรือเปล่า" คุณน้อยหันมาถามผม ซึ่งผมเองก็ยังไม่แน่ใจเพราะหลังจากดำเมื่อครั้งที่ไปสอบ
Open water ที่แสมสาร ๔ ไดฟ์ ก็มีโอกาสได้ไปดำน้ำที่เกาะกระ จังหวัดนครศรีธรรมราชเพิ่มเติมอีกเพียง
๔ ไดฟ์เท่านั้น และนั่นก็เป็นเวลานานหลายเดือนมาแล้วด้วย
แบบนี้จะเรียกว่ามือใหม่แต่เก่าเก็บก็คงจะได้กระมัง
เมื่อยังไม่แน่ใจ การดำรอบแรกนี้ผมจึงถูกจัดให้อยู่กับกลุ่มมือใหม่ที่ไปเรียนดำน้ำที่ร้านโปรฯ ไดฟ์แล้วมาเที่ยวด้วยสอบด้วยในการเดินทางครั้งนี้ไปเลยในตัว ซึ่งมีอยู่ ๓ คน คือ
คุณวรวิมล ถนอมชื่น หรือคุณกบ แอร์โฮสเตสสาวจากสายการบินลุฟท์ฮันซ่า และคุณศิริมา จันทโรกร
หรือคุณหลา ที่ควงคู่มากับคุณนาวิน โลหิตโยธิน หรือคุณนาวิน ตู๋ แฟนหนุ่ม ซึ่งภายหลังแอบมากระซิบบอกผมว่าจริง
ๆ แล้วไม่ได้อยากจะดำเท่าไร เมื่อแฟนอยากจะดำก็ต้องตามมาด้วย คล้อย ๆ กับว่าตามหัวใจไปสุดทะเลลึกอะไรทำนองนั้น
ทั้ง ๓ คนนี้เพิ่งจบหลักสูตรมาจากสระหมาด ๆ ยังไม่เคยลงดำในทะเลที่ไหน ในกลุ่มมือใหม่นี้ผมจึงดูมีภาษีที่สุด
เพราะอย่างน้อยก็มีประสบการณ์ในการดำน้ำมาแล้วตั้ง ๘ ไดฟ์
แม้ว่าจะยังมือใหม่
แต่ก็ไม่ถึงกับไร้ประสบการณ์ ว่างั้นเถอะ
"ไปด้วยกันก็ดี จะได้เป็นผู้ช่วยครูฝึก" คุณมหิศร จันทรวารีเลขา หรือครูศร
ซึ่งเป็นครูที่จะคอยดูแลและสอบบรรดานักดำน้ำมือใหม่ให้กำลังใจ ก่อนจะจัดให้ผมเป็นคู่บัดดีกับคุณกบ ที่มาคนเดียว
ก็เป็นอันว่ามือใหม่คราวนี้มีบัดดีครบคู่พอดี
แม้ว่าจะไม่ได้มีประสบการณ์ในการดำน้ำมากมาย แต่เมื่อโดดลงไปสู่ห้วงน้ำสีครามของสิมิลันและค่อย
ๆ ดำดิ่งลงไปผมก็รับรู้ได้ถึงความแตกต่างจากแหล่งดำน้ำทางฝั่งอ่าวไทยที่เคยไป ได้อย่างชัดเจน
ไม่ว่าจะเป็นด้านความใสของน้ำ หรือด้านความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต เพราะว่าทะเลอันดามันนั้นเป็นทะเลเปิดที่เป็นส่วนหนึ่งของมหาสมุทรอินเดีย
จึงมีความเค็มสูงและน้ำค่อนข้างใส เนื่องจากไม่ค่อยมีตะกอนมาก
เบื้องล่างของผืนน้ำนั้นสวยงามดังสรวงสวรรค์ดังที่เขาเล่าลือกันจริง
ๆ อุดมไปด้วยปะการังหลากสี ตลอดจนฝูงปลาและสัตว์น้ำอื่น ๆ อีกมากมายหลายชนิดจนดูละลานตาไปหมด
ว่ากันว่าปะการังในฝั่งอันดามันนี้มีถึง ๒๔๐ ชนิด ส่วนปลานั้นมีกว่า ๘๐๐ ชนิด นอกจากนี้ยังมีสัตว์ชนิดอื่นอีกมากมาย
|
No comments:
Post a Comment