Tuesday, November 17, 2015

รายงานพิเศษ ล่องเรือตามรอย ๑๕๐ ปี บรมมหาศรีสุริยวงศ์


ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ
(ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนธันวาคม ๒๕๕๘) 

ปี พ.ศ. ๒๕๕๗- ๒๕๖๑  มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาประกาศให้เป็นปีแห่งการเชิดชูเกียรติ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)  โดยในปี ๒๕๖๑ ที่จะถึงนี้จะครบรอบ ๑๕๐ ปีที่ท่านได้ปฏิบัติราชการในตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในช่วงปี พ.ศ.๒๔๑๑- ๒๔๑๖ ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ยังทรงพระเยาว์

อัจฉริยภาพของท่านปรากฏอยู่ในผลงาน ๗ ด้าน คือด้านกฎหมาย ด้านวิทยาศาสตร์ ด้านการศึกษา, ด้านวรรณกรรม  ด้านการพัฒนาประเทศ ด้านศิลปวัฒนธรรม และด้านการเสริมสันติภาพและขันติธรรม  เรียกได้ว่าเป็นผู้นำการพัฒนา สร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับชาติบ้านเมือง จนเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ

ด้วยเหตุนี้ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาจึงเตรียมยื่นเสนอองค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก ประกาศให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นบุคคลสำคัญของโลกในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ และเพื่อเผยแพร่คุณูปการและภารกิจของสมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ด้านต่างๆ  ทางมหาวิทยาลัยจึงได้จัดกิจกรรม“ตามรอย ๑๕๐ ปี ศรีสุริยวงศ์” เพื่อเผยแพร่ผลงานของสมเด็จเจ้าพระยาฯตามวาระของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือน อันจะเป็นการเรียนรู้ถึงผลงานของท่านจากข้อมูลตามเส้นทาง



         ล่าสุดคือกิจกรรมในหัวข้อ สังคมและเศรษฐกิจหลังสนธิสัญญาเบาว์ริง นำคณะสื่อมวลชนล่องเรือทัศนศึกษาสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จเจ้าพระยาฯและสนธิสัญญาเบาว์ริง ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จัดขึ้นเมื่อวันพุธที่ ๒๘ ตุลาคมที่ผ่านมา โดยออกเดินทางจากท่าเรือสำนักงานท่องเที่ยว กรุงเทพมหานครฯ เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า โดยเรือของกรมเจ้าท่า

          สนธิสัญญาเบาว์ริงนั้นเป็นหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีระหว่างอังกฤษกับสยาม ซึ่งมีผลบังคับทำให้สยามต้องยกเลิกระบบการค้าผูกขาดกับพระคลังสินค้าแบบดั้งเดิม ทั้งยังต้องเปิดการค้าแบบเสรี อันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามมามากมาย ซึ่งในขณะนั้นหากไม่ทำสนธิสัญญา ทางอังกฤษมีแนวโน้มจะใช้กำลังทหารที่เหนือกว่าด้วยยุทโธปกรณ์อันทันสมัยเข้ารุกราน ท่านสมเด็จเจ้าพระยาฯ ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีบทบาทสำคัญในการเกลี้ยกล่อมขุนนางในกลุ่มอนุรักษ์นิยมจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยให้ยอมรับและในขณะเดียวกันก็ทำการเจรจากับทางอังกฤษโดยตลอด ทำให้รักษาเอกราชของสยามเอาไว้ได้ 




                 เรือล่องลงไปตามแม่น้ำทางทิศใต้เปิดโอกาสให้คณะได้ชมทัศนียภาพอันงดงามริมฝั่งน้ำของพระราชวังบวรสถานมงคล(วังหน้า) พระบรมมหาราชวัง และบ้านเรือนวิถีชีวิตสองฟากฝั่ง พร้อมฟังบรรยายเกร็ดประวัติศาสตร์รายทางโดยอาจารย์นัท จุลภัสสร จุดหมายแรกคือท่าเรือกรมเจ้าท่าซึ่งหลังเซ็นสนธิสัญญาเบาว์ริ่งมีการปรับเปลี่ยนระบบการทำงานของกรมเจ้าท่าที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาให้สามารถรองรับปริมาณการค้ากับต่างชาติที่มีเพิ่มมากขึ้น

                




            หลังฟังการบรรยายสรุปและนำเสนอเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับสนธิสัญญาเบาว์ริงโดยอาจารย์พลาดิศัย สิทธิธัญญกิจ และอาจารย์จุมพล สอนเสริม ในห้องประชุมของกรมเจ้าท่าแล้ว คณะก็ได้เดินเท้าไปชมสถาปัตยกรรมอันงดงามของอาคารธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาตลาดน้อย ที่สร้างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมแบบนิโอคลาสสิคในสมัยรัชกาลที่ ๕ จากแนวพระราชดำริเพื่อเป็นฐานรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศหลังจากที่ชาวตะวันตกขยายเส้นทางการค้าทางทะเลมายังสยามประเทศมากขึ้น





                 คณะกลับมาลงเรือลอยลำชมอาคารเก่าของบริษัทอีสต์เอเชียติ๊ก สถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิคอีกแห่งที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ เช่นกัน เดิมชื่อบริษัท แอนเดอร์เซ่น แอนด์ โก ประกอบธุรกิจหลักคือ ส่งออกไม้สักไปต่างประเทศ ถือเป็นบริษัทหนึ่งที่เกิดขึ้นและประสบความสำเร็จอย่างมากภายหลังการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง
                 
               เทียบท่าอีกครั้งที่ท่าเรือตำรวจน้ำเยี่ยมชมอาคารเก่าศุลกสถานหรือโรงภาษี สถาปัตยกรรมเป็นตึก ๓ ชั้น แบบยุโรปขนาดใหญ่ สร้างขึ้นตามข้อตกลงหนึ่งในสนธิสัญญาเบาว์ริง ที่ระบุว่าจะต้องปลูกโรงภาษีให้ใกล้ท่าจอดเรือพอสมควรเพื่อความสะดวกในการติดต่อ ตัวอาคารปัจจุบันแม้คร่ำคร่าและทรุดโทรมแต่ยังคงหลงเหลือร่องรอยความงดงามเนื่องจากเป็นผลงานการออกแบบของมิสเตอร์โจอาคิม กราซี สถาปนิกผู้ออกแบบและก่อสร้างพระที่นั่งวโรภาษพิมาน ในพระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ซึ่งศุลกสถานแห่งนี้กำลังอยู่ระหว่างรอการบูรณะให้กลับมางดงามดังเดิมในอีกไม่นาน



                 




             
          ปิดท้ายรายการที่ท่าเรือเอเชียทีค ในอดีตบริเวณนี้เป็นโกดังเก็บสินค้าของ บริษัท อีสต์เอเชีย ติ๊ก ซึ่งปัจจุบันยังพอมองเห็นถึงเค้าโครงดั้งเดิมของอาคารที่เป็นคลังสินค้าแม้ว่าจะมีการปรับปรุงสถานที่ให้เป็นเป็นศูนย์การค้าและแหล่งท่องเที่ยวไปแล้วก็ตาม 

            กิจกรรม “ตามรอย ๑๕๐ ปี ศรีสุริยวงศ์” เพื่อเผยแพร่ผลงานของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์นี้ยังคงจัดให้มีขึ้นอีกอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ ไปจนกระทั่งถึงปี ๒๕๖๑  โดยหัวข้อจะปรับเปลี่ยนหมุนเวียนไปตามเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ ซึ่งทางอนุสาร อ.ส.ท. จะได้ติดตามกิจกรรมที่น่าสนใจมานำเสนอในโอกาสต่อไป


No comments:

Post a Comment