“พราว เภตรา” ...รายงาน
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนตุลาคม ๒๕๕๘
ป่าชายเลนถือเป็นแหล่งธรรมชาติที่สำคัญต่อสิ่งแวดล้อม
เนื่องจากมีประโยชน์ต่อการดํารงชีพของมนุษย์และสัตว์ ด้วยความหลากหลายของพืชและสัตว์นานาชนิด
จัดเป็นระบบนิเวศแบบ ๓ น้ำ โดย ในฤดูฝนมีน้ำฝนลงมาผสมกับน้ำทะเลมาก
น้ำจะจืด ช่วงปลายฤดูฝนย่างเข้าฤดูแล้งน้ำฝนน้อยลง น้ำจะกลายเป็นน้ำกร่อย
และในฤดูแล้งที่ไม่มีน้ำฝนลงมาผสม น้ำจะเค็ม หมุนเวียนกันไปเป็นวงจร จึงเป็นแหล่งแพร่พันธุ์และอยู่อาศัยของสัตว์น้ำได้เป็นอย่างดี
ป่าชายเลนลุ่มน้ำเวฬุ บริเวณรอยต่อของ อําเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี กับ
อําเภอเขาสมิง จังหวัดตราดเป็นพื้นที่ป่าชายเลนซึ่งมีความหลากหลายและสมบูรณ์ทางนิเวศมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย
โดยจากการสํารวจในพื้นที่ซึ่งมีอยู่ประมาณ ๑๒๐,๐๐๐ ไร่ในอดีต พบว่ามีสัตว์น้ำมากกว่า ๓๐ ชนิด และนกอีกมากกว่า
๒๐๐ ชนิด ทว่าในช่วง ๓๐ ปีที่ผ่านมาถูกชาวบ้านบุกรุกพื้นที่เข้าไปทำมาหากิน เป็นเหตุให้ป่าชายเลนถูกทำลายไปกว่าร้อยละ
๙๐ สภาพป่าที่ทรุดโทรม ส่งผลให้พันธุ์สัตว์น้ำชายฝั่งลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง
ทั้งในด้านชนิดและจำนวน
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
โดยสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ ๒ (ท่าสอน จันทบุรี) ได้ดำเนินฟื้นฟูป่าชายเลน ลุ่มน้ำเวฬุขึ้นมาใหม่ โดยยึดตามแนวพระราชดํารัสของพระบาทสมเด็จพระ
เจ้าอยู่หัว ที่ทรงรับสั่งว่า “คนกับป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้ ในการฟื้นฟูป่านั้นต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม
และให้เขาได้รับประโยชน์จากการสร้างป่านั้นด้วย”
ในปี พ.ศ.๒๕๔๗ จึงได้มีการก่อตั้งศูนย์เรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงนิเวศป่าชายเลนลุ่มน้ำเวฬุ
ขึ้น เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านนิเวศวิทยาป่าชายเลน
สำหรับกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศ รวมทั้งเป็นสถานที่พบปะทํากิจกรรมร่วมกันของกลุ่มเยาวชนและประชาชน
เพื่อปลูกจิตสํานึกด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนให้มีความอุดมสมบูรณ์ โดยให้คนในท้องที่มีส่วนร่วมอีกทั้งยังมีรายได้จากนักท่องเที่ยว
โดยที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากจังหวัดจันทบุรี
ล่าสุดในปี ๒๕๕๘ นี้ ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ได้เข้ามาดำเนินการปลูกป่าชายเลนจำนวน
๑ พันไร่ เพื่อฟื้นฟูสภาพผืนป่าท่าสอนให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง
ภายในพื้นที่ศูนย์ฯ ได้มีการตัดถนนลาดยางผ่านเข้าไปในผืนป่า
เพื่อให้สามารถเข้าไปศึกษาธรรมชาติกันได้อย่างใกล้ชิด โดยจัดสร้างห้องสำหรับบรรยายในอาคาร
พร้อมทั้งเส้นทางเดินเท้าศึกษาธรรมชาติ เป็นสะพานคอนกรีตและสะพานไม้ ทอดผ่านเข้าไปในผืนป่าชายเลนท่ามกลางพันธุ์ไม้นานาชนิดที่เรียงราย
เช่น โกงกาง แสม ลำพู บนระยะทาง ๑.๒ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ ๖๐ นาที
แต่ละจุดมีป้ายสื่อความหมายเกี่ยวกับธรรมชาติป่าชายเลนบอกเล่าข้อมูลพันธุ์ไม้
สัตว์ต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งนก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์น้ำ ที่อาศัยอยู่ในป่าชายเลน
ไว้อย่างละเอียดพอสมควร ซึ่งถ้าโชคดีก็อาจจะได้พบเห็นตัวเป็น ๆ กัน ซึ่งที่ถือเป็นดาวเด่นของป่าท่าสอนแห่งนี้ก็คือ
“เหยี่ยวแดง” เนื่องจากพบเห็นได้ง่าย
มักจะเห็นกางปีกถลาร่อนอยู่ไปมาอยู่มากมาย
บนผืนฟ้าสีครามเหนือป่าเขียวขจี
โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มิถุนายนของทุกปี บนถนนลาดยางสายหลักที่ทอดยาว
ระยะทางประมาณ ๒ กิโลเมตร ในยามค่ำคืนยังสว่างไสวเรืองรองด้วยแสงของหิ่งห้อยกระพริบวิบวับอยู่สองฟากฝั่ง
เป็นความงดงามมหัศจรรย์อันเป็นเอกลักษณ์ของผืนป่าชายเลนท่าสอนแห่งนี้
ที่หากมีโอกาสก็ไม่ควรพลาดที่จะมาชมเป็นบุญตาสักครั้งในชีวิต
สุดถนนที่ท่าน้ำยังมีร้านอาหารทะเลแพโชครุ่งรัตน์ให้บริการอาหารทะเลในราคาย่อมเยา
และหากต้องการพักผ่อนแรมคืนแบบใกล้ชิดธรรมชาติ ทางศูนย์ฯ ก็มีเต็นท์ไว้บริการนักท่องเที่ยว
พักได้ ๒-๕ คน ราคา ๑๒๐-๓๐๐ บาท ในกรณีที่นักท่องเที่ยวนำเต็นท์มาเอง เสียค่าธรรมเนียมพื้นที่กางเต็นท์
คนละ ๕๐ บาท
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
สถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลน ที่ ๒ (ท่าสอน จันทบุรี) โทรศัพท์ ๐ ๓๙๔๒ ๔๑๘๖, ๐๘ ๙๒๔๕ ๓๕๐๙
No comments:
Post a Comment