|
ทิวทัศน์เหนือขุนเขาบริเวณศูนย์ภูฟ้าพัฒนา |
"จูมออน" รายงาน
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๘
เหนือยอดเขาสูงชันรายล้อมด้วยทิวเทือกดอยสลับซับซ้อนของอำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ยังมีสถานที่แห่งหนึ่งที่ผู้มาเยือนไม่ควรผ่านเลยไป
ด้วยในพื้นที่ ๒,๓๗๖ ไร่ ของบ้านบ่อหลวง
เป็นที่ตั้งของศูนย์ภูฟ้าพัฒนา
เมื่อ ๒๐ปีก่อนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯเยี่ยมราษฎรและทอดพระเนตรบ่อเกลือสินเธาว์ ทรงเห็นสภาพความเป็นอยู่ของราษฎรที่ด้อยโอกาสทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม จึงโปรดฯ ให้จัดตั้งศูนย์ภูฟ้าพัฒนาขึ้น
เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ เพื่อใช้เป็นต้นแบบการพัฒนาและการถ่ายทอดความรู้ด้านการพัฒนาไปสู่ราษฎรในท้องที่อำเภอบ่อเกลือ
และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ
|
พระตำหนักภูฟ้า |
ภายในบริเวณนอกจากมีทิวทัศน์อันงดงามด้วยมุมมองของทะเลภูเขาที่รายล้อม
ไร่ชาอู่หลงที่ลดหลั่นเป็นแนวยาวสุดลูกหูลูกตา สวนหย่อมที่จัดเอาไว้อย่างงดงามด้วยสีสันของพรรณไม้เรียงรายตามลาดไหล่เขา
บนยอดสูงสุดยังมีหมู่อาคารที่เป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์
และเทคโนโลยีต่างๆ ให้แก่เด็ก เยาวชน เกษตร และประชาชนผู้สนใจทั่วไปที่มาเยี่ยมชม
|
ร้านค้าและสิ่งอำนวยความสะดวก |
ไม่ว่าจะเป็นห้องนิทรรศการหมุนเวียน
ห้องสมุดสำหรับค้นคว้าหาข้อมูล อาคารแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและชาอู่หลงพร้อมทั้งให้ทดลองชิม
การปลูกพืชไร้ดินแบบไฮโดรโปนิกส์ เส้นทางศึกษาธรรมชาติให้เดินเที่ยว
ศูนย์วัฒนธรรมภูฟ้า สวนธรรมภูฟ้า เป็นต้น ในส่วนร้านค้าสวัสดิการยังจัดจำหน่ายสินค้าของทางโครงการจากฝีมือชาวบ้าน
อีกทั้งยังมีบริการห้องประชุม ห้องสัมมนา และที่พักให้เลือกหลายรูปแบบ
|
ไร่ชาอู่หลง |
|
ห้องแปรรูปผลิตภัณฑ์ |
|
ข้าวกล้อง หนึ่งในหลากหลายผลิตภัณฑ์ |
|
งานหัตถกรรมฝีมือชาวบ้าน |
โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระตำหนักภูฟ้า ที่ประทับสำหรับสมเด็จพระเทพฯ
เสด็จมาทรงงาน สถาปัตยกรรมงดงามเรียบง่ายเด่นบนไหล่เขา แวดล้อมด้วยสวนพรรณไม้หลากสีสัน
ประดับประดาด้วยประติมากรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองน่าน อย่างการทำเกลือสินเธาว์
วิถีชีวิตพื้นบ้าน และแมงกว่าง ไว้ตามมุมเล็กมุมน้อย
แวดล้อมด้วยทิวทัศน์ขุนเขาตระการตา ซึ่งในพื้นที่ของศูนย์ภูฟ้าพัฒนา ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยังได้เข้ามาดำเนินการปลูกป่าใช้สอย เพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่เข้าไปใช้ประโยชน์ได้
|
ด้วงกว่างประดับสวนหย่อมในพระตำหนัก |
|
ประติมากรรมการทำเกลือสินเธาว์ |
|
ประติมากรรมแสดงวิถีพื้นบ้านในสวนของตำหนัก |
|
สีสันไม้ดอกประดับสวน |
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
ซึ่งทรงมีพระประสงค์ให้ “คนอยู่ร่วมกับป่า ” ไม่ส่งผลต่อภาวะสมดุลตามธรรมชาติ
ด้วยเป้าหมายสู่การพัฒนาแบบยั่งยืน ให้ราษฎรสามารถพึ่งพาตนเองได้ อันจะนำไปสู่ผลการพัฒนาประเทศโดยภาพรวม
เพียงแวะเข้าไป
ก็ได้อะไรต่อมิอะไรกลับออกมามากมาย ทั้งความประทับใจ ความรู้
รวมไปถึงของฝากติดไม้ติดมือ
|
ขุนเขาและสายหมอกของอำเภอบ่อเกลือ |
No comments:
Post a Comment