อนุสาร อ.ส.ท. ฉบับปฐมฤกษ์ |
ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่อง
อนุสาร อ.ส.ท. ...ภาพ
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๓
๖๐ ปีของการทำงาน
หากเป็นผู้คน...ย่อมถึงวาระของการเกษียณอายุเพื่อพักผ่อนในช่วงบั้นปลาย
ทว่าสำหรับนิตยสารท่องเที่ยวฉบับหนึ่ง...กลับคือย่างก้าวประวัติศาสตร์
สู่ความเป็นตำนาน อันจะเป็นเรื่องราวเล่าขานสืบต่อไปอย่างไม่รู้จบสิ้น
ปฐมบทแห่งการบุกเบิก เรียนรู้ บอกเล่าการเดินทาง
ภายหลังการก่อตั้งองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (อ.ส.ท.) ในเดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๐๓ ด้วยวิสัยทัศน์อันยาวไกลของพลโท เฉลิมชัย จารุวัสตร์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคนแรก ได้ริเริ่มจัดทำนิตยสารท่องเที่ยวรายเดือนในนามอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับปฐมฤกษ์ขึ้น เพื่อใช้เป็นสื่อในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานสำหรับตลาดในประเทศ คือนักท่องเที่ยวและผู้อ่านที่เป็นคนไทย ควบคู่กันไปกับ Holiday Time in Thailand นิตยสารภาคภาษาอังกฤษ แนะนำการท่องเที่ยวประเทศไทยสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในตลาดต่างประเทศ ที่ออกวางตลาดฉบับปฐมฤกษ์ด้วยยอดพิมพ์ ๕,๐๐๐ เล่มไปแล้วก่อนหน้าในเดือนมิถุนายน ๒๕๐๓ โดยพลโท เฉลิมชัย รับหน้าที่เป็นบรรณาธิการด้วยตนเองทั้งสองฉบับ
อนุสาร อ.ส.ท. ถือฤกษ์วางตลาดฉบับแรกในเดือนสิงหาคม อันเป็นวาระมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมทั้งอัญเชิญพระฉายาลักษณ์ขึ้นปกเพื่อเฉลิมพระเกียรติ แรกเริ่มของการจัดทำยังไม่มีกองบรรณาธิการ มีเพียงพลโท เฉลิมชัยเป็นบรรณาธิการ และคุณหญิงคณิตา เลขะกุล ที่ถูกดึงตัวจาก Holiday Time in Thailand ให้มาเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ ทำหน้าที่กองบรรณาธิการทั้งหมดเพียงคนเดียว โดยใช้ภาพถ่ายจากช่างภาพส่วนกลางของหน่วยงาน
คำว่า “อนุสาร” หมายถึงหนังสือฉบับเล็ก ๆ เนื่องจากอนุสาร อ.ส.ท. เป็นหนังสือขนาด ๘ หน้ายก ปกพิมพ์สี่สีด้วยเทคโนโลยีในสมัยนั้น คือใช้ภาพขาวดำระบายสี แล้วไปแยกสีทำบล็อกอีกทีหนึ่ง เนื้อในเป็น กระดาษปรูฟพิมพ์ขาวดำด้วยระบบเรียงพิมพ์ด้วยตัวพิมพ์ตะกั่ว หนาเพียง ๔๘ หน้าในฉบับแรก (ก่อนจะเพิ่มจำนวนหน้าเป็น ๖๔ หน้าตั้งแต่ฉบับที่ ๒ เป็นต้นไป) เย็บสันเล่มด้วยลวดแบบที่เรียกว่ามุงหลังคา จำหน่ายในราคาฉบับละ ๑ บาท ๕๐ สตางค์ ยอดพิมพ์ ๑๐,๐๐๐ เล่ม ถือว่าเป็นยอดพิมพ์ที่สูงมากสำหรับนิตยสาร เนื่องจากต้องการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเรื่องอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้กระจายไปได้กว้างไกลมากที่สุด
สารคดีท่องเที่ยวเรื่องแรกของ อ.ส.ท. |
ณ ห้วงเวลาในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ก่อนหน้าจะมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑ คำว่า “อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว” ยังเป็นของใหม่มากสำหรับประเทศไทย ไม่มีใครเข้าใจว่าการเดินทางท่องเที่ยวจะสร้างผลดีให้กับเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างไร เอ่ยคำว่า “ท่องเที่ยว” ผู้คนโดยทั่วไปจะเข้าใจว่าเป็นการเตร็ดเตร่ไปโดยไร้ประโยชน์ เป็นเรื่องเล่น ๆ ปราศจากสาระของคนไม่มีงานมีการทำ
เรื่องราวที่นำเสนอในอนุสาร อ.ส.ท. ในปีแรกนี้ นับจากฉบับแรกเป็นต้นมาจึงเป็นไปในลักษณะของสารคดีที่แนะนำให้คนรู้จักองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สารคดีการเดินทางท่องเที่ยวแบบใกล้ ๆ ง่าย ๆ ในประเทศ และสินค้าของที่ระลึกในท้องถิ่นต่าง ๆ เพื่อชักจูงให้คนได้ทดลองออกไปท่องเที่ยวตามได้ไม่ยากนัก รวมไปถึงสารคดีท่องเที่ยวและสกูปเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในต่างประเทศ เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นเป็นตัวอย่าง โดยนักเขียนของ อ.ส.ท. เอง นักเขียนผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึงผู้มีชื่อเสียงที่เชิญมาจากภายนอก ด้วยความที่เป็นนิตยสารแนวท่องเที่ยวฉบับแรกและฉบับเดียวของประเทศไทยในขณะนั้น ทำให้ยอดจำหน่ายอนุสาร อ.ส.ท. ในปีแรกเป็นไปอย่างถล่มทลายจนมีการตั้งเป้าหมายในการเพิ่มยอดพิมพ์ในปีต่อ ๆ ไป
อนุสาร อ.ส.ท. ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑ |
ขึ้นปีที่ ๒ อนุสาร อ.ส.ท. ได้รับคุณปราโมทย์ ทัศนาสุวรรณ ผู้เคยส่งเรื่องและภาพเข้ามาขายให้กับอนุสาร อ.ส.ท .ในปีแรกตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย เข้ามาเสริมกำลังทัพให้กับกองบรรณาธิการ ทำหน้าที่เป็นนักเขียนและช่างภาพสารคดีประจำอย่างเต็มตัว ซึ่งต่อมาคุณปราโมทย์เป็นนักเขียนที่สร้างผลงานสารคดีชั้นเยี่ยม หลายเรื่องถึงระดับ “ขึ้นหิ้ง” สารคดีท่องเที่ยวระดับตำนานตลอดกาล สร้างชื่อเสียงให้กับอนุสาร อ.ส.ท. เป็นอย่างมาก
อนุสาร อ.ส.ท. ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงขึ้นจากปีแรกหลายประการอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑ เดือนสิงหาคม ๒๕๐๔ ได้เพิ่มยอดพิมพ์ขึ้นอีกเป็นจำนวน ๑๕,๐๐๐ เล่ม พร้อมกับเพิ่มจำนวนภาพสีหน้ากลาง ๔ หน้า ก่อนที่ในฉบับปีที่ ๒ ฉบับที่ ๕ เดือนธันวาคม ๒๕๐๔ จะเพิ่มราคาขึ้นเป็นฉบับละ ๒ บาท เนื่องจากในเล่มได้เพิ่มหน้าขาวดำสำหรับลงสารคดีเรื่อง “อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว” เป็นพิเศษอีก ๑๖ หน้า รวมเป็น ๘๒ หน้า จากนั้นในฉบับต่อมา คือปีที่ ๒ ฉบับที่ ๖ เดือนมกราคม ๒๕๐๕ เป็นต้นมา อนุสาร อ.ส.ท. ได้เพิ่มหน้าเป็น ๗๘ หน้า พร้อมกับเพิ่มราคาขึ้นเป็นเล่มละ ๒ บาท
เมื่อย่างเข้าสู่ปีที่ ๕ พลโท เฉลิมชัย จารุวัสตร์ ได้มอบหมายให้คุณหญิงคณิตา เลขะกุล รับหน้าที่บรรณาธิการอนุสาร อ.ส.ท. สืบแทน นับตั้งแต่ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๓ เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ เป็นต้นมา
ในปีถัดมาคือปีที่ ๖ ฉบับที่ ๑ เดือนสิงหาคม ๒๕๐๘ อนุสาร อ.ส.ท. ได้ขยายขนาดหนังสือให้ใหญ่ขึ้น จากเดิมขนาด ๘ หน้ายก เป็นขนาด ๔ หน้ายก ซึ่งใช้เป็นขนาดมาตรฐานอย่างต่อเนื่องมายาวนานจนถึงปัจจุบัน พร้อมกับปรับเพิ่มราคาขึ้นเป็นเล่มละ ๓ บาท รวมทั้งเพิ่มยอดพิมพ์เป็น ๓๗,๐๐๐ เล่ม
อนุสาร อ.ส.ท. เพิ่มยอดพิมพ์สูงขึ้นอีกครั้งเกือบเท่าตัว คือ ๗๐,๐๐๐ เล่ม ในปีที่ ๑๔ ตั้งแต่ฉบับที่ ๑ เดือนสิงหาคม ๒๕๑๖ พร้อมทั้งปรับเพิ่มราคาจากเล่มละ ๓ บาท ขึ้นเป็นเล่มละ ๕ บาท
จากราคากระดาษในท้องตลาดที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อนุสาร อ.ส.ท. จำเป็นต้องปรับขึ้นราคาขึ้นอีกเป็นระยะอย่างต่อเนื่องในปีต่อ ๆ มา ในขณะที่ยังคงยอดพิมพ์อยู่ที่ ๗๐,๐๐๐ เล่ม โดยขึ้นราคาเป็นเล่มละ ๖ บาท ในฉบับต้อนรับปีใหม่ ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๖ เดือนมกราคม ๒๕๒๐ ก่อนขึ้นราคาเป็นเล่มละ ๗ บาท ในปีที่ ๑๙ ฉบับที่ ๖ เดือนมกราคม ๒๕๒๒ ขึ้นราคาอีกครั้งเป็นเล่มละ๙ บาท ในปีที่ ๒๐ ฉบับที่ ๖ เดือนมกราคม ๒๕๒๓ และขึ้นราคาเป็น ๑๐ บาท ในปีที่ ๒๐ ฉบับที่ ๑ เดือนสิงหาคม ๒๕๒๔
ในสองทศวรรษแรกเป็นช่วงเวลาของการเริ่มต้นในสังคมที่ยังไม่รู้จักอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเลย ภารกิจหลักของอนุสาร อ.ส.ท. คือการสร้างความรู้เข้าใจว่าการท่องเที่ยวนั้นเป็นอุตสาหกรรมชนิดหนึ่งที่มีส่วนช่วยให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้กับกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น ที่พัก ร้านอาหาร ยานพาหนะ ของที่ระลึก ฯลฯ รวมทั้งกระจายรายได้ออกไปในส่วนต่าง ๆ ของประเทศ ก่อให้เกิดการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ และทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศได้ด้วยการออกไปเดินทางท่องเที่ยว
ภาพปกอนุสาร อ.ส.ท. ที่เป็นภาพเดียวกับโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ประเทศไทยภาพแรก |
แม้ด้วยสภาพแวดล้อมของประเทศในยุคสมัยนั้นที่เพิ่งกำลังเริ่มพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ยังไม่สมบูรณ์และทั่วถึงเพียงพอ โดยเฉพาะถนนหนทางที่จะใช้ในการเดินทางท่องเที่ยวเองมีไม่กี่สาย ซ้ำยังเป็นถนนสายเล็ก ๆ ที่ทำความเร็วไม่ได้มากนัก ยวดยานพาหนะเองก็ยังไม่ได้มีมากมาย โดยเฉพาะการขนส่งสาธารณะ แต่อนุสาร อ.ส.ท. ได้ใช้ข้อจำกัดที่มีอยู่ให้เป็นโอกาส ด้วยการเดินทางบุกเบิกสำรวจแหล่งท่องเที่ยวในทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทย นำเรื่องราวความงดงามของธรรมชาติ โบราณสถาน วัดวาอาราม ศิลปวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิต จากแต่ละท้องถิ่นมานำเสนอเป็นสารคดีท่องเที่ยวผ่านหน้ากระดาษของอนุสาร อ.ส.ท. เป็นส่วนสำคัญทำให้คนไทยในแต่ละภูมิภาคมีโอกาสได้รู้จักตัวเองและเรียนรู้ซึ่งกันและกันให้ลึกซึ้งมากขึ้น
ล่องแก่งแม่น้ำน่าน สารคดีท่องเที่ยวผจญภัยที่เป็นตำนาน |
สารคดีหลายเรื่องกลายเป็นบันทึกการเดินทางครั้งประวัติศาสตร์ที่ไม่มีวันเกิดขึ้นได้อีก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพบ้านเมืองและภูมิประเทศ เช่น “ล่องแก่งแม่น้ำน่าน” ของคุณปราโมทย์ ทัศนาสุวรรณ เล่าถึงการเดินทางท่องเที่ยวด้วยการล่องเรือชะล่าติดเครื่องยนต์ตามลำน้ำน่าน จากจังหวัดน่านผ่านเกาะแก่งน้อยใหญ่มากมายไปจนถึงจังหวัดอุตรดิตถ์ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ โดยใช้เวลาเดินทางถึง ๔ วัน ๓ คืน ซึ่งปัจจุบันเกาะแก่งต่าง ๆ เหล่านั้นได้จมอยู่ใต้ทะเลสาบในเขื่อนสิริกิติ์จนหมดสิ้นภายหลังการสร้างเขื่อน
นางสาวอาภัสรา หงสกุล คว้ามงกุฏนางงามจักรวาล |
ตลอดช่วงเวลา ๒๐ ปีนี้ อนุสาร อ.ส.ท. ยังได้ทำหน้าที่บันทึกเหตุการณ์สำคัญที่เป็นหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศไทยมาตั้งแต่แรกเริ่ม เช่น การเดินทางไปป้องกันแชมป์โลกของโผน กิ่งเพชร นักชกขวัญใจชาวไทย แชมเปียนโลกมวยสากลรุ่นฟลายเวต สถาบันเดอะริง การเสด็จประพาสประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรปเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กรณีพิพาทระหว่างไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชาในกรณีเขาพระวิหาร การคว้าตำแหน่งนางงามจักรวาล หรือมิสยูนิเวิร์ส ของนางสาวอาภัสรา หงสกุล พระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ ตามโบราณราชประเพณีในอดีต ที่ได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ในรัชกาลที่ ๙ เช่น ขบวนเรือพระราชพิธีพยุหยาตราทางชลมารค พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ รวมไปถึงสถานที่ท่องเที่ยวที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ อย่างลัดดาแลนด์ เชียงใหม่ สวนสนุกแดนเนรมิต กรุงเทพฯ เป็นต้น
ส่งท้ายในสองทศวรรษแรกด้วยความสำเร็จจากผลงานการสร้างรายได้ให้กับประเทศจากการท่องเที่ยวอย่างก้าวกระโดด เป็นผลให้รัฐบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญของหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการท่องเที่ยว ในปี ๒๕๒๒ องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (อ.ส.ท.) จึงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตามพระราชบัญญัติการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๕๒๒
อย่างไรก็ตาม อนุสาร อ.ส.ท. นิตยสารซึ่งเป็นสื่อหลักขององค์กรยังคงใช้ชื่อเดิมอยู่ เนื่องจาก “ติดตลาด” เป็นที่รู้จักของผู้อ่านไปแล้ว จึงไม่ได้เปลี่ยนชื่อเป็นอนุสาร ททท. ตามไปด้วยแต่อย่างใด
อนุสาร อ.ส.ท. ฉบับสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี |
สองทศวรรษที่สอง สิงหาคม ๒๕๒๓ ถึงกรกฎาคม ๒๕๔๓
สืบสานประวัติศาสตร์ศิลปวัฒนธรรม บุกเบิกกิจกรรมท่องธรรมชาติ
เริ่มต้นสองทศวรรษต่อมาด้วยงานใหญ่ระดับชาติ คืองานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ อนุสาร อ.ส.ท. ได้มีบทบาทอย่างสำคัญในการจุดประกายการเฉลิมฉลองในวาระสำคัญของชาติครั้งนี้ให้ยิ่งใหญ่ ด้วยการนำเสนอแนวทางรื้อฟื้นกิจกรรมตามจารีตประเพณี อย่างการเทศน์มหาชาติ การแสดงโขน และมหรสพสมโภชอื่น ๆ อันจะเป็นผลดีในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักของชาวโลกมากยิ่งขึ้น จากสารคดีเรื่อง “ฝันเฟื่องเรื่องงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์” โดยคุณหญิงคณิตา เลขะกุล บรรณาธิการอนุสาร อ.ส.ท. ซึ่งตีพิมพ์ในอนุสาร อ.ส.ท. ปีที่ ๒๑ ฉบับที่ ๙ เดือนเมษายน ๒๕๒๔ ก่อนหน้าการครบรอบ ๒๐๐ ปี กรุงรัตนโกสินทร์ ๑ ปีเต็ม
ในงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้รับมอบหมายให้จัดการแสดงแสงเสียงในพระบรมมหาราชวัง เรื่อง “ประวัติการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์” ซึ่งเป็นผลมาจากการจัดการแสดงแสงเสียงสะพานข้ามแม่น้ำแควของ ททท. ที่จังหวัดกาญจนบุรี ในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงมาแล้วก่อนหน้า งานนี้บุคลากรของกองบรรณาธิการอนุสาร อ.ส.ท. ได้เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างสำคัญกับการจัดงานอีกเช่นกัน การจัดงานแสดงแสงเสียงของ ททท. ต่อมาได้รับความนิยมและสร้างชื่อเสียงอย่างมากในหลายจังหวัด เช่น “อยุธยายศยิ่งฟ้า” จังหวัดพระนครศรีอยุธยา “รุ่งอรุณแห่งความสุข” จังหวัดสุโขทัย ซึ่งอนุสาร อ.ส.ท. ได้นำเสนอเรื่องราวและภาพถ่ายของการจัดงานผ่านหน้านิตยสารอย่างต่อเนื่อง
เมื่อรัฐบาลได้ประกาศให้ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวไทย (Visit Thailand Year) ปรากฏว่าเป็นส่วนสำคัญในการทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวขยายตัวอย่างมาก เนื่องจากช่วงนั้นประเทศมีการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ผู้คนในทุกสาขาอาชีพทำงานกันหนักขึ้น มีความเครียด เกิดความต้องการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อผักผ่อนหย่อนใจมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลจากนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” ของรัฐบาลพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่เข้ามาบริหารประเทศตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ทำให้พื้นที่ป่าเขาลำเนาไพรและตามรอยต่อชายแดนที่เคยเป็นอันตราย กลับกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว ประกอบกับกรณีการกระทำอัตวินิบาตกรรมของคุณสืบ นาคะเสถียร หัวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดกระแสการอนุรักษ์ธรรมชาติ ส่งผลให้แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติเป็นที่สนใจอย่างมาก
ช่วงเวลาเดียวกันนี้ อนุสาร อ.ส.ท. มีการปรับรูปโฉมครั้งใหญ่ ตั้งแต่ในปีที่ ๓๐ ฉบับที่ ๑ เดือนสิงหาคม ๒๕๓๒ เปลี่ยนรูปแบบการเย็บเล่มจากการเย็บลวดแบบมุงหลังคาดั้งเดิม มาเป็นเข้าสันไสกาวเพื่อความสวยงามตามมาตรฐานของนิตยสารในขณะนั้น พร้อมด้วยการเพิ่มหน้าสีพิเศษ “สุดสายตาพานอรามา” ตีพิมพ์ภาพที่บันทึกเป็นภาพมุมกว้าง ๑๘๐ องศาจากกล้องถ่ายภาพมุมกว้างชนิดพิเศษของ Fuji ทำให้เห็นทิวทัศน์ได้อย่างเต็มตาใกล้เคียงกับตาเห็น ซึ่งถือว่าเป็นนวัตกรรมของวงการนิตยสารท่องเที่ยวที่ตอบสนองกับการนำเสนอภาพถ่ายแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติได้เป็นอย่างดี ทั้งหมดนี้ยังตรึงราคา ๒๐ บาทเท่าเดิม เป็นการคืนกำไรให้กับผู้อ่าน
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากราคากระดาษในขณะนั้นแพงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในฉบับที่ ๖ เดือนมกราคม ๒๕๓๓ อนุสาร อ.ส.ท. ก็มีความจำเป็นต้องขึ้นราคาอีกครั้งเป็นเล่มละ ๒๕ บาท
แหล่งท่องเที่ยวทั้งในทางธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรมเมื่อต้องรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากจึงเสื่อมโทรมลง อนุสาร อ.ส.ท. เล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างความรู้สึกตระหนักในคุณค่าของมรดกของชาติในด้านธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรมและการอนุรักษ์ทรัพยากรการท่องเที่ยว จึงได้จัดทำเป็นคอลัมน์ “อนุรักษ์ธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรม” ขึ้น จากนั้นไม่นาน อนุสาร อ.ส.ท. เริ่มมีการใช้สโลแกน “นิตยสารเพื่อการท่องเที่ยวและอนุรักษ์ธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม” เป็นครั้งแรก โดยปรากฏอยู่ในหน้าบทบรรณาธิการของฉบับที่ ๑๐ เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๓
กมลชนก โกมลฐิติ ถ่ายจำลองแบบโปสเตอร์แรกของประเทศไทยและปกอนุสารอ.ส.ท. |
ในปีเดียวกัน ฉบับที่ ๑๒ เดือนกรกฏาคม ๒๕๓๓ ได้มีการจัดทำเป็นฉบับพิเศษครบรอบ ๓๐ ปี อนุสาร อ.ส.ท. โดยได้คุณโกมลชนก โกมลฐิติ ดาราสาวชื่อดังในขณะนั้น มาร่วมเป็นแบบถ่ายภาพปกย้อนอดีต ๓๐ ปี โปสเตอร์โฆษณาแผ่นแรกขององค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และหน้าปกของอนุสาร อ.ส.ท. ในปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑๐ ที่แสดงแบบโดยคุณกรรณิการ์ ปิ่นโมราและถ่ายภาพโดยคุณปีเตอร์ ดิวสบิวรี รวมทั้งมี “เซอร์ไพรส์” เปิดเผยโฉมหน้าของกองบรรณาธิการ อนุสาร อ.ส.ท. อย่างพร้อมหน้าพร้อมตาเป็นครั้งแรกในรอบ ๓๐ ปี ที่กล่าวกันว่า “เป็นภาพประวัติศาสตร์ที่ ๓๐ ปีถึงจะเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง จากนั้นอีก ๓๐ ปีจึงจะเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง” อีกด้วย
ภาพประวัติศาสตร์ของนักเขียนและช่างภาพ กองบรรณาธิการอนุสาร อ.ส.ท. |
การปรับขึ้นราคาเกิดอีกครั้ง ในปีที่ ๓๑ ฉบับที่ ๖ เดือนมกราคม ๒๕๓๔ จาก ๒๕ บาท เพิ่มขึ้นเป็น ๓๐ บาท
ในปีถัดมา คุณหญิงคณิตา เลขะกุล บรรณาธิการอนุสาร อ.ส.ท. เกษียณอายุราชการในเดือนกันยายน ๒๕๓๕ หลังจากทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการอนุสาร อ.ส.ท. มาอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง ๒๙ ปี ถือเป็นบรรณาธิการที่ทำหน้าที่ยาวนานที่สุดของอนุสาร อ.ส.ท. แม้นับจนถึงปัจจุบัน
คุณดวงดาว สุวรรณรังษี รับช่วงสืบทอดตำแหน่งบรรณาธิการอนุสาร อ.ส.ท. เป็นคนที่ ๓ และด้วยเหตุที่คุณดวงดาวเป็นนักเขียนและช่างภาพผู้เชี่ยวชาญและสนใจในการเดินทางท่องเที่ยวธรรมชาติเป็นพิเศษ การรับตำแหน่งบรรณาธิการในช่วงเวลานี้จึงนับว่าถูกจังหวะเวลาเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากทำให้อนุสาร อ.ส.ท. นับจากนี้นำเสนอสารคดีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติใหม่ ๆ ได้อย่างโดดเด่น จนหลายต่อหลายแห่งกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในเวลาต่อมา เช่น น้ำตกทีลอซู จังหวัดตาก ทุ่งบัวตองดอยแม่อูคอ จังหวัดแม่ฮ่องสอน นำเสนอกิจกรรมท่องเที่ยวทางธรรมชาติใหม่ ๆ เช่น กิจกรรมดำน้ำ อีกทั้งยังร่วมกับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) และบริษัทรถยนต์ของเอกชน บุกเบิกการเดินทางท่องเที่ยวข้ามพรมแดนในรูปแบบคาราวานรถยนต์เข้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน มาเลเซีย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม จนกระทั่งถึงประเทศจีนอีกด้วย
ในยุคนี้อนุสาร อ.ส.ท. ยังเพิ่มความคุ้มค่าให้กับผู้อ่านด้วยการร่วมกับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) จัดทำแผ่นพับแผนที่ท่องเที่ยวพร้อมข้อมูลนำเที่ยวแต่ละจังหวัดแถมเป็นอภินันทนาการทุกฉบับเป็นครั้งแรก ในปีที่ ๓๓ ตั้งแต่ฉบับที่ ๖ เดือนมกราคม ๒๕๓๖ เป็นต้นมา ซึ่งต่อมาได้พัฒนาจากแผ่นพับเป็นคู่มือฉบับเล็กที่เป็นของแถมในอนุสาร อ.ส.ท. มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยสลับกันไปมาระหว่างคู่มือท่องเที่ยวจังหวัด คู่มือ Young Traveller และคู่มือแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมท่องเที่ยวประเภทต่าง ๆ
ปีที่ ๓๔ ฉบับที่ ๘ เดือนมีนาคม ๒๕๓๗ อนุสาร อ.ส.ท. ปรับราคาขึ้นอีกครั้งหลังจากเว้นระยะมานานพอสมควร โดยปรับจาก ๓๐ บาทขึ้นเป็น ๔๐ บาท และปรับขึ้นอีกครั้งในปีถัดมา คือปีที่ ๓๕ ฉบับที่ ๖ เดือนมกราคม ๒๕๓๘ เป็นราคา ๕๐ บาท
ปีที่ ๔๐ ฉบับที่ ๖ เดือนมกราคม ๒๕๔๒ คุณขนิษฐา พอนอ่วม เข้ามารับตำแหน่งบรรณาธิการอนุสาร อ.ส.ท. เป็นคนที่ ๔ แทนที่คุณดวงดาว สุวรรณรังษี ซึ่งลาออกไปก่อตั้งนิตยสาร Nature Exploror แนวท่องเที่ยวธรรมชาติที่ชื่นชอบเป็นการส่วนตัว
ในรอบ ๒๐ ปีที่สองนี้ จากผลงานที่โดดเด่นส่งผลให้อนุสาร อ.ส.ท. ได้รับรางวัลจากหน่วยงานต่าง ๆ มากมายอย่างต่อเนื่อง ดังต่อไปนี้
รางวัลผลงานดีเด่น สาขาสื่อมวลชน ประเภทวารสาร ประจำปี ๒๕๒๔ จากคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ (สยช.)
รางวัลผลงานดีเด่น สาขาสื่อมวลชน ประเภทวารสาร ประจำปี ๒๕๒๔ จากคณะกรรมการชมรมผู้นิยมใช้ของไทย
รางวัลสื่อมวลชนดีเด่น ประเภทวารสารเฉพาะวิชา ประจำปี ๒๕๒๖ จากคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ (สยช.)
รางวัลเกียรติคุณสื่อมวลชนดีเด่น ประจำปี ๒๕๒๗ ประเภทวารสารเพื่อเยาวชน อายุ ๑๘ ปี จากคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ (สยช.)
รางวัลเกียรติคุณสื่อมวลชนดีเด่น ประจำปี ๒๕๒๘ ประเภทวารสารเพื่อเยาวชน อายุ ๑๘ ปี จากคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ (สยช.)
รางวัลเกียรติบัตรรณรงค์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมดีเด่น ประเภทนิตยสาร ประจำปี ๒๕๓๖ จากชมรมสภาวะแวดล้อมสยาม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สองทศวรรษที่สาม (สิงหาคม ๒๕๔๓ ถึงกรกฎาคม ๒๕๖๓)
ยุคทองของนิตยสารท่องเที่ยว ปรับตัวสู่วิถีออนไลน์ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต้านภัยธรรมชาติ
สี่ทศวรรษที่ผ่านมาอนุสาร อ.ส.ท. ได้บุกเบิกแหล่งท่องเที่ยวทั้งด้านโบราณคดีประวัติศาสตร์ ธรรมชาติ ภูเขา ป่าไม้ น้ำตก ท้องทะเล วัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตผู้คน จนอาจกล่าวได้ว่าทั่วทุกภูมิภาค ทั่วทุกจังหวัด ทั่วประเทศไทย ไปจนกระทั่งถึงประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ผลที่ตามมาจากการส่งเสริมการท่องเที่ยวจนหลายต่อหลายแหล่งได้รับความนิยมก็คือความเสื่อมโทรมของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมาแม้อนุสาร อ.ส.ท. จะได้สอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับการอนุรักษ์มาโดยตลอด แต่ก็ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมมากนัก
ช่วงต่อจากนี้ อนุสาร อ.ส.ท. จึงเน้นไปที่การนำเสนอกิจกรรมการท่องเที่ยวแนวใหม่ที่สร้างประสบการณ์ในการเดินทางท่องเที่ยวได้อย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่รบกวนสภาพแวดล้อมในธรรมชาติ หรือรบกวนให้น้อยที่สุด เช่น การท่องเที่ยวด้วยจักรยานเสือภูเขา การล่องแก่งด้วยเรือยางแทนแพไม้ไผ่ การพายเรือคายัก พายแพดเดิลบอร์ด ท่องเที่ยวทะเล การเดินป่าดูนก ผีเสื้อ และศึกษาพรรณไม้ ฯลฯ
ความนิยมเดินทางท่องเที่ยวที่พุ่งถึงขีดสุดผู้คนต้องการข้อมูลในการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้นและเป็นข้อมูลท่องเที่ยวที่เฉพาะทางมากขึ้น
ในทศวรรษแรกของช่วงเวลานี้จึงเรียกได้ว่าเป็น “ยุคทองของนิตยสารท่องเที่ยว” นิตยสารท่องเที่ยวในท้องตลาดมีจำนวนมากที่สุด ทั้งนิตยสารท่องเที่ยวของไทยเองและนิตยสารท่องเที่ยวแฟรนไชส์จากต่างประเทศ รวมกันแล้วมากกว่า ๕๐ หัว
แม้กระนั้น อนุสาร อ.ส.ท. ก็ยังคงครองความเป็นอันดับ ๑ ของนิตยสารท่องเที่ยวอย่างเหนียวแน่น เห็นได้จากการพัฒนารูปเล่มและราคาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๖ เดือนมกราคม ๒๕๔๖ อนุสาร อ.ส.ท. ขึ้นราคาอีกครั้ง จากเล่มละ ๕๐ บาท เป็น ๖๐ บาท และในปีเดียวกัน ฉบับที่ ๑๑ เดือนมิถุนายน ๒๕๔๖ เป็นการปรับโฉมครั้งใหญ่ของอนุสาร อ.ส.ท. จากเดิมที่มีหน้าสี่สีเป็นกระดาษอาร์ตและมีหน้าขาวดำเป็นกระดาษปอนด์ เปลี่ยนเป็นพิมพ์ด้วยกระดาษอาร์ตและเป็นหน้าสี่สีทั้งเล่ม
ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๑ เดือนสิงหาคม ๒๕๔๖ คุณวินิจ รังผึ้ง เข้ามารับตำแหน่งบรรณาธิการอนุสาร อ.ส.ท. เป็นคนที่ ๕ แทนคุณขนิษฐา พอนอ่วม ที่ย้ายตำแหน่งไปยังส่วนงานอื่น ในปีเดียวกันนี้ อนุสาร อ.ส.ท. ได้เพิ่มยอดพิมพ์เป็น ๘๐,๐๐๐ เล่ม ในฉบับที่ ๙ เมษายน ๒๕๔๗
อนุสาร อ.ส.ท. เพิ่มยอดพิมพ์สูงสุดเป็น ๑๐๐,๐๐๐ เล่ม ในปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๔๙ ถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ยอดพิมพ์สูงสุดของนิตยสารท่องเที่ยวไทยตลอดกาล
ในปีที่ ๕๓ ฉบับที่ ๗ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ คุณอภินันท์ บัวหภักดี เข้ามารับตำแหน่งบรรณาธิการ อนุสาร อ.ส.ท. คนที่ ๖ แทนคุณวินิจ รังผึ้ง ซึ่งโยกย้ายไปรับตำแหน่งในกองงานอื่น
ในปีต่อมา อนุสาร อ.ส.ท. ได้สร้างสรรค์รูปแบบหน้าปกใหม่เป็นปกพับ สามารถสลับหน้าปกได้ โดยปกด้านในเป็นภาพพานอรามา ตั้งแต่ปีที่ ๕๔ ฉบับที่ ๖ เดือนมกราคม ๒๕๕๗ พร้อม ๆ กันกับขึ้นราคาจาก ๗๕ บาท เป็น ๘๕ บาท
เมื่อคุณอภินันท์ บัวหภักดี เกษียณอายุราชการหลังจากปีที่ ๕๘ ฉบับที่ ๓ เดือนกันยายน ๒๕๖๐ คุณวินิจ รังผึ้ง จึงกลับมารับตำแหน่งบรรณาธิการอนุสาร อ.ส.ท. อีกครั้ง ตั้งแต่ปีที่๕๘ ฉบับที่ ๖ เดือนมกราคม ๒๕๖๑ จนถึงปัจจุบัน
สองทศวรรษหลังนี้ อนุสาร อ.ส.ท. เริ่มมีกิจกรรมร่วมกับสมาชิกมากขึ้น โดยมีการจัดทัศนศึกษาเดินทางร่วมกับสมาชิก และในโอกาสที่อนุสาร อ.ส.ท. ครบรอบ ๕ ทศวรรษ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ได้มีการจัดกิจกรรมพิเศษเพื่อร่วมเฉลิมฉลองโดยการจัด “โครงการอบรมนักเขียนและช่างภาพ อนุสาร อ.ส.ท.” สำหรับผู้สนใจที่เป็นบุคคลภายนอก ซึ่งได้รับความนิยมจนต้องจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี และยังได้ต่อยอดออกไปเป็นการจัดกิจกรรม “อ.ส.ท. to the region” อบรมการถ่ายภาพและเขียนสารคดีให้กับผู้สนใจในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศอีกด้วย
ในส่วนของเด็กและเยาวชน อนุสาร อ.ส.ท. ได้จัดทำคอลัมน์ “เที่ยวเมืองไทย วาดเมืองไทย” ประกวดภาพวาดแหล่งท่องเที่ยวทั่วไทยพร้อมมอบรางวัลทุกเดือน รวมทั้งจัดทำคอลัมน์ “อ.ส.ท. เยาวชนตากล้องท่องเที่ยวไทย” ประกวดผลงานสารคดีท่องเที่ยวขนาดสั้นแนะนำแหล่งท่องเที่ยวใกล้บ้านพร้อมภาพประกอบ นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจัด “โครงการอบรมเยาวชน Youth Bloggers” สอนเด็กและเยาวชนตามจังหวัดต่าง ๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ให้สามารถเขียนสารคดีและถ่ายภาพนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวในท้องถิ่นของตนเอง
สิ่งที่อนุสาร อ.ส.ท.ภาคภูมิใจที่สุดในการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ๖ ทศวรรษ คือการเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ นับตั้งแต่ฉบับแรกซึ่งร่วมเทิดพระเกียรติด้วยการอัญเชิญพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ขึ้นปกฉบับปฐมฤกษ์ ทุกเดือนสิงหาคมและธันวาคม ของทุกปี อนุสาร อ.ส.ท. จะอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์และพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระฉายาลักษณ์และพระสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ขึ้นบนปกหน้าพร้อมสารคดีเฉลิมพระเกียรติในฉบับมาโดยตลอด
รวมไปถึงร่วมนำเสนอเรื่องราวในวาระพิเศษอันเป็นมหามงคล ได้แก่ งานวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ ๖๐ พรรษาในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ งานเฉลิมฉลองรัชมังคลาภิเษก ทรงครองสิริราชสมบัติยาวนานยิ่งกว่ากษัตริย์พระองค์ใดในประวัติศาสตร์ไทยในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ และงานเฉลิมฉลองกาญจนาภิเษก ทรงครองราชย์ครบ ๕๐ ปี
แม้เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคต อนุสาร อ.ส.ท. ยังได้ร่วมแสดงความจงรักภักดีด้วยการจัดทำเป็นฉบับพิเศษพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพอย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ
นอกจากนี้ยังได้จัดทำฉบับพิเศษพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ บันทึกพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสด็จขึ้นครองราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นอีกเหตุการณ์สำคัญอันเป็นมหามงคลของปวงชนชาวไทยทั้งประเทศในปีที่ผ่านมา
ในช่วงปลายของสองทศวรรษที่ผ่านมานี้ การพัฒนาของระบบอินเทอร์เนตและการแพร่หลายของสื่อออนไลน์อย่างรวดเร็วจะส่งผลกระทบต่อสื่อสิ่งพิมพ์ซึ่งรวมถึงนิตยสารท่องเที่ยวอย่างรุนแรง จนหลายต่อหลายสำนักพิมพ์ต้องเลิกกิจการไป ทว่าอนุสาร อ.ส.ท. ยังคงยืนหยัดและปรับตัวให้รับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยการนำเสนออนุสาร อ.ส.ท. ในรูปแบบดิจิทัล ผ่านทางออนไลน์ในหลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ อ.ส.ท. ออนไลน์ แฟนเพจ อนุสาร อ.ส.ท. รวมไปถึงจัดทำเป็นอีแมกกาซีน ให้ผู้อ่านดาวน์โหลด นอกเหนือจากการจัดทำรูปเล่มเป็นนิตยสารที่ต่อเนื่องยาวนาน
คุณภาพของผลงานในสองทศวรรษที่ผ่านมาพิสูจน์ได้จากรางวัลที่อนุสาร อ.ส.ท. ได้รับจากหลายหน่วยงาน ดังนี้
รางวัลผู้มีผลงานดีเด่นเป็นแบบอย่างในการใช้วัฒนธรรมไทยสู้ภัยเศรษฐกิจ ประจำปี ๒๕๕๓ จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.)
รางวัลสื่อมวลชนที่ส่งเสริมกิจการด้านศิลปวัฒนธรรม จากกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
รางวัลสื่อมวลชนเพื่อเด็กและเยาวชนที่ป้องกันปัญหาสังคม พ.ศ ๒๕๕๘ จากคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.)
รางวัลชมเชยจากการประกวดหนังสือดีเด่นแห่งชาติประจำปี ๒๕๖๓ ประเภทหนังสือสวยงาม จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ,) กระทรวงศึกษาธิการ
ล่าสุดแม้ในสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสปอดอักเสบ โควิด-๑๙ ที่ถือเป็นวิกฤตการณ์ในระดับโลกที่มีผู้ติดเชื้อนับล้านและมีผู้เสียชีวิตนับแสนในทุกทวีปของโลก รวมทั้งในประเทศไทยของเรา จนกระทั่งต้องรัฐบาลต้องประกาศมาตรการล็อกดาวน์ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” แต่อนุสาร อ.ส.ท. ของเราก็ยังคงจัดทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอด้วยการเวิร์กฟรอมโฮม จนอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับปีที่ ๖๐ เดือนพฤษภาคม ๒๕๖๓ สามารถออกวางตลาดได้ตามกำหนด
อนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนสิงหาคม ๒๕๖๓ ที่ท่านถืออยู่ในมือนี้คือก้าวแรกสู่ปีที่ ๖๑ ถือเป็นก้าวประวัติศาสตร์ของนิตยสารท่องเที่ยวที่เก่าแก่ที่สุด อายุยืนยาวที่สุด มียอดพิมพ์และยอดจำหน่ายสูงสุดตลอด ๖ ทศวรรษของประเทศไทย ความเป็นที่สุดทั้งหมดนี้จะยังคงดำเนินต่อไปในฐานะสื่อนิตยสารของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สืบสานเรื่องราวที่จะต้องเล่าขานสืบต่อกันไปในฐานะ “ตำนาน”
ตำนานของการเดินทางที่ไม่รู้จบ ...ชั่วนิรันดร์
No comments:
Post a Comment