ภาคภูมิ
น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. พฤษภาคม ๒๕๖๓
ขบวนรถด่วนพิเศษทักษิณารัถย์จากสถานีรถไฟกรุงเทพ
(หัวลำโพง) ชะลอความเร็วลง ก่อนจะแล่นเข้าเทียบชานชาลาสถานีรถไฟพัทลุงแต่เช้ามืด ถือเป็นรูปแบบแปลกใหม่ในการเดินทางของคณะทัศนศึกษาในโครงการวัฒนธรรมสัญจรของกรมศิลปากร
ซึ่งเปิดโอกาสให้ครู อาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษาตลอดจนประชาชนทั่วไปที่สนใจได้ร่วมเดินทางท่องเที่ยวกับกรมศิลปากร
เพื่อศึกษา เรียนรู้ และตระหนักในคุณค่าของแหล่งโบราณคดี ประวัติศาสตร์
และศิลปวัฒนธรรมของแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย
โครงการฯ นี้จัดให้มีขึ้นเป็นประจำทุกปี
โดยแต่ละกลุ่มในสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ของกรมศิลปากรผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ ในปี ๒๕๖๓
นี้ จัดขึ้นในวันที่ ๙-๑๓
มีนาคม ที่ผ่านมา ในหัวข้อ “เยือนเมืองลุง ยลแหล่งโบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลป์
เรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้” ซึ่งพื้นที่เมืองพัทลุงถือว่าเหมาะสม ด้วยความอุดมสมบูรณ์ด้านการเกษตรจนได้สมญานาม
“อู่ข้าวอู่น้ำของภาคใต้” จึงทำให้เป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์
จนกระทั่งเติบโตขึ้นเป็นบ้านเมืองเจริญต่อเนื่องมายาวนาน ปรากฏร่องรอยหลักฐานหลายยุคหลายสมัย
ทั้งยังมีชื่อเสียงในฐานะ “นครตักศิลาแห่งพุทธธรรมและไสยเวทย์ของภาคใต้”
จึงมีเรื่องราวหลากหลายให้คณะทัศนศึกษาได้เรียนรู้
พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ |
ศาลาจัตุรมุขที่ประดิษฐานพระพุทธนิรโรคันตรายฯ |
หลังจากเช็กอินเข้าที่พักที่โรงแรมสิทธินาถแกรนด์วิว
อำเภอเมืองฯ จังหวัดพัทลุง แล้ว คณะทัศนศึกษาออกเดินทางไปสักการะพระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ
ที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ พระราชทานไว้ประจำเมืองพัทลุง ณ ศาลาจัตุรทิศ
ใกล้กับศาลากลางจังหวัด เพื่อความเป็นสิริมงคล ก่อนแวะชมปืนใหญ่โบราณสมัยอยุธยาที่เก็บรักษาไว้หน้าเสาธงโรงเรียนพัทลุงที่อยู่ไม่ไกลกัน
สวนเดอลอง |
จากนั้นมุ่งหน้าไปยังสวนเดอลอง แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร
จุดเช็กอินใหม่ของพัทลุงที่น่าสนใจด้วยแปลงสาธิตการปลูกข้าวและการเพาะเห็ด กับเดอลองคาเฟ่
ที่มี “สังข์หยด สตาร์ แมคคิอาโต” เครื่องดื่มฟิวชันข้าวสังข์หยดกับกาแฟ เป็นรสชาติแปลกใหม่ให้ลิ้มลอง
และเดอลองของฝาก ศูนย์รวมผลิตภัณฑ์แปรรูปจากวัตถุดิบทางเกษตรในท้องถิ่นที่ซึ่งล้วนแล้วแต่น่าจับจ่ายไปเป็นของฝาก
วัดเขียนบางแก้ว |
โบราณวัตถุภายในพิพิธภัณฑ์ |
สถาปัตยกรรมภายในวัด |
เดินทางต่อไปยังอำเภอเขาชัยสน
อันเป็นที่ตั้งของ “โคกเมืองบางแก้ว”
สถานที่แรกตั้งเมืองพัทลุงเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐
โดยเจ้าพระยากุมารและนางเลือดขาวนำคนจากชุมชนบ้านพระเกิด (ในพื้นที่ตำบลฝาละมี
อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง) ซึ่งเป็นชุมชนจับช้าง อพยพมาตั้งเป็นบ้านเมืองขึ้น ชื่อ
“เมืองพัทลุง” โดยคำว่าพัทลุงสันนิษฐานว่าเพี้ยนจาก”เมืองตะลุง” อันหมายถึงเมืองเสาตะลุง
(หลักล่ามช้าง) มีฐานะเป็นเมืองบริวาร ๑ ใน ๑๒ นักษัตรของนครศรีธรรมราช
ตราประจำเมืองคือมะเส็ง (งูเล็ก) จนเมื่อกรุงศรีอยุธยาขยายอำนาจลงมาทางใต้ยึดนครศรีธรรมราชได้
พัทลุงจึงขึ้นกับกรุงศรีอยุธยาในฐานะหัวเมืองชั้นตรี
โบราณสถานที่สันนิษฐานว่าคือหอถือน้ำพิพัฒน์สัตยาในอดีต |
หลักฐานสิ่งก่อสร้างในสมัยนี้ปรากฏอยู่ที่วัดเขียนบางแก้ว
ภายในบริเวณวัดมีโบราณสถานสมัยอยุธยาหลายแห่ง ทั้งเจดีย์ อุโบสถ
รวมทั้งศาลหลักเมืองพัทลุงเก่า และซากโบราณสถานที่สันนิษฐานว่าเป็นหอถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา
รวมทั้งยังได้มีการรวบรวมโบราณวัตถุหลากยุคหลายสมัยที่พบในพื้นที่เก็บรักษาไว้ให้ชมในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดเขียนบางแก้ว
คลิกที่นี่เพื่อชมวิดิทัศน์นำชมภายในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดเขียนบางแก้ว
คลิกที่นี่เพื่อชมวิดิทัศน์นำชมภายในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดเขียนบางแก้ว
ชมจิตรกรรมฝีมือช่างยุคต้นรัตนโกสินทร์อันตระการตาของวัดวิหารเบิก |
ช่วงบ่ายเดินทางต่อไปยังวัดวิหารเบิก
สถาปัตยกรรมยุคต้นรัตนโกสินทร์ในอำเภอเมืองฯ จิตรกรรมฝาผนังฝีมือหลวงเทพบัณฑิต
(สุ่น) ถือเป็นงานศิลปกรรมชิ้นเอกของภาคใต้ ภายในอุโบสถเป็นเรื่องราวพุทธประวัติตอนมารผจญและทศชาติชาดก
ที่น่าสนใจมากคือเพดานอุโบสถเขียนภาพหมู่ดาวในจักรราศีต่าง ๆ รวมทั้งหมู่ดาวในความเชื่อพื้นถิ่น
คลิกที่นี่เพื่อชมวิดิทัศน์นำชมจิตรกรรมฝาผนังวัดวิหารเบิก
คลิกที่นี่เพื่อชมวิดิทัศน์นำชมจิตรกรรมฝาผนังวัดวิหารเบิก
อนุสาวรีย์ขุนคางเหล็ก อดีตเจ้าเมืองพัทลุง หน้าเจดีย์ใหญ่ของวัดวัง |
ในอุโบสถวัดวังก็มีจิตรกรรมในยุคสมัยเดียวกัน |
ข้ามฟากถนนไปยังวัดวังอันเป็นวัดที่สร้างโดยพระยาพัทลุง
(ทองขาว ณ พัทลุง) และถูกใช้เป็นสถานที่ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการเมืองพัทลุง
ด้านหน้าวัดเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์พระยาพัทลุง (ขุนคางเหล็ก) เจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่
สถาปัตยกรรมอุโบสถล้อมรอบด้วยระเบียงคด ประดิษฐานพระพุทธรูปโดยรอบ ๑๐๘ องค์ อิทธิพลสกุลช่างราชสำนัก
พระประธานภายในแม้กำลังอยู่ระหว่างการบูรณะลงรักยังไม่ปิดทอง
แต่ก็ยังสามารถชมภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวพุทธประวัติและเทพชุมนุมฝีมือช่างเดียวกันกับวัดวิหารเบิก
จวนเจ้าเมืองเก่าหรือ "วังเก่า" ที่ชาวบ้านเรียกขานกัน |
เยี่ยมชมและฟังบรรยายในจวนเก่า |
วิทยากรบอกเล่าเรื่องราวในอดีตบนลานกลางจวนใหม่ |
จากนั้นเดินทางต่อไปเยี่ยมชมวังเจ้าเมืองพัทลุง ที่อยู่ถัดไปไม่ไกล
วังในที่นี่คือจวน หรือสถานที่ว่าราชการและที่พักอาศัยของเจ้าเมืองพัทลุงในอดีต
ปัจจุบันหลงเหลืออยู่ ๒ หลัง คือ “จวนเก่า” สถาปัตยกรรมแบบเรือนไทยภาคกลางผสมภาคใต้
ยกพื้นสูง เป็นเรือนแฝด เป็นของพระยาอภัยบริรักษ์ (น้อย จันทโรจวงศ์)
ผู้ว่าราชการเมืองพัทลุง พ.ศ. ๒๔๐๙-๒๔๓๑ และ “จวนใหม่” สถาปัตยกรรมกลุ่มเรือนไทย ๕
หลัง ยกสูง ก่ออิฐถือปูน เป็นของพระยาอภัยบริรักษ์ (เนตร จันทโรจวงศ์)
ผู้ว่าราชการเมืองพัทลุง พ.ศ. ๒๔๓๑-๒๔๔๖
ซึ่งทายาทตระกูลจันทโรจวงศ์ได้มอบจวนทั้งสองหลังให้กรมศิลปากรดูแล
รองอธิบดีกรมศิลปากรกล่าวเปิดโครงการ |
ช่วงเย็น ณ บริเวณลานข้างจวนใหม่ นายพนมบุตร
จันทรโชติ รองอธิบดีกรมศิลปากร ได้เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการวัฒนธรรมสัญจร
ประจำปี ๒๕๖๓ อย่างเป็นทางการ พร้อมด้วยงานเลี้ยงอาหารค่ำให้กับคณะทัศนศึกษา พร้อมชมโนรา
การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านในระบบแสงเสียงอันงดงามตระการตา
ยอขนาดใหญ่ เอกลักษณ์ของปากประ |
ล่องเรือชมทัศนียภาพยามเช้า |
วันรุ่งขึ้นคณะทัศนศึกษาตื่นแต่เช้ามืดเพื่อออกเดินทางไปยังคลองปากประ
อำเภอควนขนุน
ลงเรือชมบรรยากาศดวงอาทิตย์ขึ้นท่ามกลางทิวทัศน์ผืนน้ำที่เรียงรายไปด้วย “ยอ”
อุปกรณ์ประมงภูมิปัญญาท้องถิ่นขนาดยักษ์ ล่องเรือชมทิวทัศน์ผืนป่าชายเลน ชมวิถีการทำมาหากินของชาวบ้าน
ฝูงควายน้ำที่ดำผุดดำว่ายอยู่ทั่วไป และนกน้ำน้อยใหญ่นานาชนิดในอาณาบริเวณอันกว้างขวางของทะเลน้อย
ถ้ำหินปูนขนาดใหญ่ภายในวัดคูหาสวรรค์ |
พระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และพระนาม ที่สลักไว้บนเพิงผาหน้าถ้ำ |
ช่วงสายจึงเดินทางไปยังวัดคูหาสวรรค์
ในเขตเทศบาลเมืองพัทลุง อันเป็นวัดเก่าแก่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา
โดยปรากฏเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองแบบอยุธยาอยู่ ๑ องค์เป็นหลักฐาน คณะทัศนศึกษาเข้าเยี่ยมชมโบราณสถานถ้ำคูหาสวรรค์
หรือถ้ำพระ ด้านหลังอุโบสถ ภายในถ้ำหินปูนเคยพบกรุพระพิมพ์ดินดิบสมัยศรีวิชัย
พุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๘ และประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น ๓๕ องค์ เป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ขนาดใหญ่
๑ องค์
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์เสด็จประพาสถ้ำแห่งนี้หลายพระองค์
ดังปรากฏพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และพระนามจารึกบนเพิงหินผาหน้าถ้ำ ได้แก่
พระปรมาภิไธย จปร. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
พระปรมาภิไธย ปปร. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ พระปรมาภิไธย ภปร.
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระนามาภิไธย
สก. สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพระพันปีหลวง พระนาม
บส. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และอักษรพระนามสมเด็จพระสังฆราชเจ้า
กรมหลวงชินวราลงกรณ
หลากหลายผลิตภัณฑ์จากกระจูด |
ฟังเรื่องราวข้าวสังข์หยด |
ช่วงบ่ายเดินทางไปยังอำเภอควนขุนอีกครั้ง เพื่อเรียนรู้ผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่น
โดยเข้าเยี่ยมชมศูนย์หัตถกรรมกระจูดวรรณี
ซึ่งแปรรูปกระจูดเป็นข้าวของเครื่องใช้ เช่น กระเป๋าถือ โคมไฟ
ด้วยการออกแบบที่ทันสมัย จนสามารถเป็นสินค้าส่งออกไปขายในระดับนานาชาติ
และเยี่ยมชมศูนย์วิสาหกิจชุมชนข้าวสังข์หยดบ้านเขากลาง
ข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่ราบลุ่มรอบทะเลสาบสงขลาที่ได้รับการปรับปรุงสายพันธุ์จนบริสุทธิ์
จดทะเบียนในชื่อ “ข้าวสังข์หยดพัทลุง”
ผลิตข้าวออกสู่ตลาดอย่างได้มาตรฐานในทุกขั้นตอน
คลิกที่นี่เพื่อชมวิดิทัศน์นำชมศูนย์หัตถกรรมกระจูดวรรณี
คลิกที่นี่เพื่อชมวิดิทัศน์นำชมศูนย์หัตถกรรมกระจูดวรรณี
เจดีย์โบราณบนยอดเขาวัดเขาอ้อ |
แดดร่มลมตกจึงเดินทางไปถึงวัดเขาอ้อ วัดโบราณที่สร้างมาแต่สมัยอยุธยา
มีชื่อเสียงในฐานะ “ตักศิลาแห่งไสยเวทย์ของภาคใต้” คณะทัศนศึกษาเยี่ยมชมภายในถ้ำซึ่งเป็นสถานที่อาบน้ำว่านให้อยู่ยงคงกระพัน
และขึ้นไปชมทิวทัศน์ยามเย็นบนภูเขาที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองและเจดีย์โบราณ
ขากลับแวะชมแสงสุดท้ายดวงอาทิตย์สีแดงกลมโตใหญ่ลาลับขอบฟ้าเหนือทิวเขา ณ บริเวณจุดชมวิวสะพานเฉลิมพระเกียรติ
๘๐ พรรษา (สะพานเอกชัย) ปิดท้ายการทัศนศึกษาวันที่สองอย่างประทับใจ
ป้อมปราการสูงใหญ่เด่นตระหง่านของกลุ่มโบราณสถานเมืองชัยบุรีคือจุดหมายแรกของการทัศนศึกษาในวันที่สาม
ในสมัยอยุธยาเมืองพัทลุงถูกโจมตีปล้นสะดมจากโจรสลัดมลายูและหัวเมืองใกล้เคียงหลายต่อหลายครั้ง
จนบ้านเมืองวัดวาอารามเสียหาย ทำให้ต้องย้ายศูนย์กลางการปกครองไปตั้งที่เมืองพระรถ
เมืองบ้านควนแร่
แต่การย้ายเมืองครั้งสำคัญที่สุดคือการย้ายเมืองพัทลุงมาตั้งที่เขาชัยบุรี เนื่องจากมีการสร้างกำแพง
ขุดคูเมืองเชื่อมต่อกับภูเขาเป็นปราการอันแข็งแกร่ง โดย ”ฟารีซี”
น้องชายของสุลต่านสุไลมานเจ้าเมืองสงขลา
ป้อมปราการอันแข็งแกร่งของเมืองพัทลุงที่เขาชัยบุรี |
ขึ้นเขาเยี่ยมชมทิวทัศน์เหนือป้อมเขาชัยบุรี |
เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชส่งกองทัพมาปราบเมืองสงขลาซึ่งเป็นกบฏสำเร็จ
ได้ทรงส่งวิศวกรชาวฝรั่งเศส มองซิเออร์เดอ ลามาร์ มาออกแบบสร้างป้อมกำแพงเมืองให้นครศรีธรรมราช
สงขลา และที่พัทลุงนี้ เดอ ลามาร์ได้ออกแบบใหม่ จากเดิมเป็นระเนียดไม้
เป็นกำแพงก่ออิฐพร้อมป้อมรูปดาวแฉก เมืองพัทลุงที่เขาชัยบุรีจึงแข็งแกร่ง มีเจ้าเมืองปกครองต่อเนื่องมาอีกหลายคน
จนเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาจึงหมดบทบาทไป ปัจจุบันทางกรมศิลปากรได้บูรณะขุดแต่งบริเวณป้อมเมืองชัยบุรีจนชัดเจนสวยงาม
สามารถเดินขึ้นไปถึงบนยอดเขาที่ตั้งของเจดีย์และชมทิวทัศน์ได้โดยรอบ
คลิกที่นี่เพื่อชมวิดิทัศน์เดินขึ้นจุดชมทิวทัศน์ป้อมเขาชัยบุรี
คลิกที่นี่เพื่อชมวิดิทัศน์เดินขึ้นจุดชมทิวทัศน์ป้อมเขาชัยบุรี
หลังจากนั้นเยี่ยมชมหมู่บ้านหัตถกรรมผลิตภัณฑ์จากกะลา
(กะลาลุงปลื้ม)
ที่นำเอากะลามะพร้าวมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ข้าวของเครื่องใช้ได้อย่างหลากหลาย
ก่อนแวะวัดท่าแค สถานที่ที่เชื่อกันว่าเป็นแหล่งกำเนิดโนรา
การแสดงพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้ โดยในบริเวณวัดเป็นที่ตั้งของศาล ประดิษฐานรูปหล่อของ
“ขุนศรีศรัทธา” ครูต้นแห่งโนรา ซึ่งจะมีการทำพิธีไหว้ครูโนราที่วัดนี้ทุกปี
รูปหล่อขุนศรีศรัทธา ต้นกำเนิดโนรา ที่วัดท่าแค |
แวะไปยังศูนย์การเรียนรู้หอศิลป์หนังตะลุง
ชมการแสดงโนรา การโหมโรงหนังตะลุงแบบโบราณ
และสาธิตการแกะลายตัวหนังตะลุงเป็นรายการสุดท้าย ก่อนที่คณะทัศนศึกษาจะขึ้นรถไฟขบวนรถด่วนพิเศษทักษิณารัถย์เดินทางกลับกรุงเทพฯ
พร้อมกับความประทับใจจากการเดินทางที่จะยังคงอยู่ในความทรงจำตลอดไป
แล้วพบกันใหม่ในโครงการวัฒนธรรมสัญจรกับกรมศิลปากร ๒๕๖๔ ปีหน้า
สาธิตการแกะตัวหนังตะลุง |
ชมภาพถ่าย วีดิทัศน์
และเรื่องราวของการทัศนศึกษาวัฒนธรรมสัญจร ประจำปี ๒๕๖๓ “เยือนเมืองลุง
ยลแหล่งโบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลป์ เรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้”
เพิ่มเติมได้ที่แฟนเพจเฟซบุ๊ก “แวะชมสมบัติศิลป์” www.facebook.com/artontheways
อนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๓ |
No comments:
Post a Comment