Wednesday, March 18, 2020

เลียบรอยอดีตแดนล้านนากับกรมศิลปากร บนเส้นทางวงรอบ เชียงใหม่-ลำพูน


 วัดพระเจ้าดำ ในกลุ่มโบราณสถานสบแจ่ม อิทธิพลสุโขทัย

ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ

ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนเมษายน ๒๕๖๓

พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่-ลำพูนเป็นที่รู้กันมาว่าเป็นดินแดนที่มีประวัติความเป็นมาเก่าแก่ยาวนานนับพันปี หากเพียงแต่หลักฐานทางโบราณคดีที่ปรากฏหลงเหลือให้เห็นกลับพบแค่ในยุคสมัยของอาณาจักรหริภุญไชยและอาณาจักรล้านนาเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตามหลังจากกรมศิลปากรได้ทำการขุดค้นในพื้นที่อย่างต่อเนื่องทำให้พบหลักฐานใหม่ ๆ ที่ย้อนหลังไปถึงยุคก่อนประวัติศาสตร์รวมถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อประวัติศาสตร์บนแผ่นดินล้านนามากขึ้นตามลำดับ

 รองอธิบดีกรมศิลปากร ตอบข้อซักถามสื่อมวลชนที่ร่วมเดินทาง

             ล่าสุดเมื่อวันที่ ๒๖-๒๘ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทางกรมศิลปากรได้จัดสื่อมวลชนสัญจร “ตามรอยอารยธรรมล้านนา ว่าด้วยโลหกรรม สถาปัตยกรรม จิตรกรรมล้านนา กับการอนุรักษ์” ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน โดยนายพนมบุตร จันทรโชติ รองอธิบดีกรมศิลปากร นำคณะสื่อมวลชนเหินฟ้าจากกรุงเทพฯ สู่เชียงใหม่ ทัศนศึกษาดูงานความคืบหน้าในการขุดค้นและการอนุรักษ์ทางโบราณคดี  โดยตั้งต้นกันที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ในบรรยากาศสบาย ๆ บนสนามหญ้าหน้าพิพิธภัณฑ์ใต้ร่มเงาไม้ เริ่มจากนายไกร​สิน​ อุ่นใจ​จินต์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่ บรรยายสรุปการอนุรักษ์โบราณสถานและแหล่งโบราณคดีในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ – ลำพูน เพื่อให้เห็นถึงภาพรวมของการทำงาน

 ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่ บรรยายสรุป

 หลุมขุดค้นวัดท่ากานจำลองด้วยเครื่องปรินท์สามมิติ
                                                           https://youtu.be/ESyyvsGWsag

  จากนั้นจึงเป็นการนำเสนอความคืบหน้าทางโบราณคดี นางสาวนงไฉน ทะรักษา นักโบราณคดีปฏิบัติการนำเสนอข้อมูลใหม่จากการขุดค้นที่หลุมขุดค้นวัดท่ากาน บริเวณเมืองโบราณเวียงท่ากาน​  อำเภอสันป่าตอง​ จังหวัดเชียงใหม่​ ซึ่งเมื่อปี​ พ.ศ.๒๕๕๖ ได้พบหลักฐานสำคัญ​คือ​โครงกระดูกม้าโบราณสภาพเต็มโครงสมบูรณ์เพียงหนึ่งเดียวในประเทศไทย รวมทั้งโครงกระดูกมนุษย์โบราณไม่ต่ำกว่า​ ๔๐ โครง อายุร่วมสมัยกับวัฒนธรรมทวารวดี มีลักษณะการฝังศพที่แปลก ​คือทั้งหมดปลงศพในท่านอนหงาย​งอเข่า​ เป็นการจัดวางศพในลักษณะพิเศษที่พบได้ยาก ​(ปัจจุบันพบสุสานที่มีอายุร่วมสมัยทวารวดีซึ่งมีการปลงศพรูปแบบเดียวกันนี้อีกแห่งเดียวเท่านั้น ​คือ​แหล่งโบราณคดี​ดงแม่นางเมือง​ อำเภอบรรพตพิสัย​ จังหวัดนครสวรรค์) 

 หลุมขุดค้นจำลองวัดท่ากาน เก็บรายละเอียดได้อย่างน่าอัศจรรย์

ที่น่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีกคือในโครงกระดูกโครงหนึ่ง ​ระหว่างกระดูกสันกับสะโพก​ยังพบ “อุจจาระ​โบราณ” บริเวณช่องท้อง เป็นดินสีแปลก ลักษณะเป็นกลุ่มก้อน แตกต่างกับดินบริเวณรอบ ๆ อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นหลักฐานที่พบได้ยากมาก สามารถนำไปใช้วิเคราะห์หาข้อมูลอาหารการกิน ความเป็นอยู่ของผู้คนในสมัยนั้นอีกด้วย

หลุมขุดค้นวัดท่ากานถือว่ามีความสำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง เนื่องจากเป็นหลักฐานทางโบราณคดีเชิงประจักษ์ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อประวัติศาสตร์ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๗ ซึ่งพบยาก น่าเสียดายที่สภาพดินในหลุมขุดค้นมีความอ่อนตัวสูง จึงไม่สามารถรักษาสภาพเป็นหลุมขุดค้นไว้ในพื้นที่แบบถาวร รวมทั้งไม่สามารถตัดแท่นในสภาพที่พบจริงเพื่อนำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ได้ จึงจำเป็นต้องเก็บกู้กระดูกและโบราณวัตถุต่าง ๆ ขึ้นมาทั้งหมด 

อย่างไรก็ตามด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทางกรมศิลปากรได้บันทึกภาพหลุมขุดค้นโดยละเอียดนำมาประมวลผลด้วยโปรแกรม Reality Capture พิมพ์เป็นแบบจำลองสามมิติด้วยเส้นพลาสติกในอัตราส่วน ๑ ต่อ ๕๐ แล้วลงสีจนได้แบบจำลองหลุมขุดค้นทางโบราณคดีวัดท่ากานย่อส่วนเสมือนของจริงที่ใช้ในการเรียนรู้ศึกษาได้อย่างดี ถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ของวงการโบราณคดีไทย  

 อุปสัมปทาสถานครูบาศรีวิชัย วัดบ้านโฮ่งหลวง

วัดบ้านโฮ่งหลวง

  ช่วงสายคณะทัศนศึกษาออกเดินทางด้วยรถตู้ไปยังอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน โดยใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๐๖ ระหว่างทางได้แวะสักการะอุโบสถอุปสัมปทาสถานครูบาศรีวิชัย วัดบ้านโฮ่งหลวง บนที่ธรณีสงฆ์ของวัดบ้านโฮ่งหลวงเดิม บ้านโฮ่ง หมู่ที่ ๒ ตำบลบ้านโฮ่ง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ระยะห่างจากที่ว่าการอำเภอบ้านโฮ่ง ประมาณ ๒ กิโลเมตร ในวันที่ ๑๑ มิถุนายนจะมีงานบำเพ็ญบุญทักษิณานุปทาน เปลี่ยนผ้าครองรูปเหมือนครูบาศรีวิชัยทุกปี

 เตาถลุงเหล็กโบราณก่อนประวัติศาสตร์

ที่อาคารศูนย์การเรียนรู้ องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ลาน นายยอดดนัย สุขเกษม นักโบราณคดีได้นำชมเตาถลุงเหล็กโบราณ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง​ ๙๐ เซนติเมตร ที่ได้จากการขุดค้นเพื่อศึกษาแหล่งถลุงเหล็กโบราณในพื้นที่บ้านแม่ลาน​ อำเภอลี้​ จังหวัดลำ​พูน​ เมื่อปี​ พ.ศ.๒๕๖๒ ถือเป็นหลักฐานทางโบราณคดีชิ้นสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่ง เนื่องจากมีอายุราวพ.ศ.๒๙๔  หรือราวพุทธศตวรรษที่ ๓ อยู่ในช่วงต้นยุคเหล็ก​ของประเทศไทย ก่อนการสถาปนารัฐหริภุญไชยกว่า๑,๐๐๐ ปี แสดงให้เห็นว่าภาคเหนือมีชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ที่พัฒนาการเข้าสู่ยุคเหล็กพร้อมกันกับภูมิภาคอื่นเช่นกัน

 ร่องรอยเตาถลุงเหล็กที่พบอยู่ทั่วไปในพื้นที่

จากการสำรวจในเบื้องต้นพบร่องรอยของแหล่งถลุงเหล็กและเหมืองแร่เหล็กโบราณขนาดใหญ่กระจายอยู่ในแอ่งที่ราบบ้านโฮ่ง-ลี้ ประมาณ ๔๐ แห่ง และได้ข้อมูลว่าอาจมีเพิ่มเติมอีกไม่ต่ำกว่า ๕๐ แหล่ง นับได้ว่าเป็นแหล่งโลหกรรมเหล็กโบราณใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และถือเป็นกุญแจสำคัญในการไขปริศนาเรื่องราวของผู้คนภาคเหนือในยุคก่อนหริภุญไชยต่อไป


 อุโบสถกลางน้ำ

วันที่สองคณะทัศนศึกษาซึ่งมาพักอยู่ในอำเภอแม่แจ่มตั้งแต่เมื่อวานตอนค่ำ ออกเดินทางไปแวะแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่วัดพระพุทธเอ้น ที่มีน้ำผุดออกจากใต้พื้นดินไหลออกมาไม่ขาดสายและอุโบสถไม้กลางน้ำ ฝีมือช่างพื้นบ้านงดงามแปลกตา 

 นิทรรศการเกี่ยวกับการอนุรักษ์จิตรกรรมวัดป่าแดด

 จากนั้นไปชมผลงานการอนุรักษ์ภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างพื้นถิ่นภายในวิหารวัดป่าแดด อายุกว่าร้อยปี ซึ่งนางสาวกรอุมา นุตะศรินทร์ นักวิชาการช่างศิลป์ชำนาญการพิเศษ จากกองโบราณคดี เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นว่ามาจากโครงการคัดลอกจิตรกรรมฝาผนังในพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ในปี ๒๕๕๙  ซึ่งพระองค์เสด็จมาทอดพระเนตรเห็นความทรุดโทรมของวิหารวัดป่าแดด จึงมีพระดำริให้กรมศิลปากรเข้ามาบูรณะอาคารวิหารเป็นการเร่งด่วน

 จิตรกรรมในวิหารวัดป่าแดด งดงามด้วยความเป็นพื้นถิ่น

 วิทยากรนำชมจิตรกรรมในวิหาร
 ราวบันไดวิหารวัดป่าแดด ประดับปูนปั้นมกรคายมกรคาบสิงห์ 

จากนั้นกลุ่มอนุรักษ์จิตรกรรมและประติมากรรม กองโบราณคดีได้เข้ามาดำเนินการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังซึ่งเขียนขึ้นโดยช่างชาวไทยใหญ่ในแบบศิลปกรรมพื้นถิ่นด้วยสีฝุ่นบนพื้นปูนและพื้นไม้ เป็นเรื่องราวพุทธประวัติ และมโหสถชาดก วิธูรชาดก จันทคาธชาดก และเวสสันดรชาดก  รวมทั้งบูรณะประติมากรรมปูนปั้นประดับราวบันไดหน้าวิหาร ซึ่งมีลักษณะเด่นเฉพาะตัวไม่เหมือนที่ไหนตรงที่ช่างทำเป็นรูปมกรคายมกรงับบั้นท้ายสิงห์เชิงบันได แตกต่างจากวิหารล้านนาแห่งอื่น ๆ ซึ่งจะทำเป็นมกรคายนาค

 "กิจกูฏ" ศิลปกรรมที่โดดเด่นของวัดยางหลวงในวิหาร


   เดินทางต่อไปยังวัดยางหลวงเพื่อชมภายในอุโบสถ ศิลปกรรมน่าสนใจของวัดตั้งอยู่ด้านหลังพระประธานเรียกว่า “กิจกูฏ”  (อาจหมายถึงเขาคิชฌกูฏ หนึ่งในห้าของภูเขาที่ล้อมรอบกรุงราชคฤห์ นครที่พระพุทธเจ้าประทับ) ลักษณะคล้ายกับโขงพระเจ้าหรือกู่พระเจ้า มีซุ้มจระนำสองข้าง กึ่งกลางประดิษฐานพระพุทธรุปยืน ซุ้มทางเหนือประดิษฐานพระพุทธรุปปางเปิดโลก ส่วนซุ้มทางใต้ประดิษฐานพระพุทธรุปปางประทานอภัย  มีรูปแบบการตกแต่งพิเศษที่แตกต่างจากศิลปกรรมล้านนาทั่วไปหลายแห่ง เช่น สิงห์ประดับซุ้มเป็นประติมากรรมรูปสิงห์ยืนแบบอินเดีย ลวดลายปูนปั้นตกแต่งที่ผสมผสานทั้งศิลปะพม่าแบบพุกาม ศิลปะล้านนา และศิลปะพื้นถิ่น เข้าด้วยกันอย่างลงตัว 

 เจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์ วัดพระเจ้าดำ กลุ่มโบราณสถานสบแจ่ม
                                               วัดพระเจ้าดำ โบราณสถานสบแจ่ม

ขบวนรถตู้แล่นออกจากอำเภอแม่แจ่มผ่านเส้นทางคดโค้งของขุนเขาลงมาถึงอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ในช่วงดวงตะวันกำลังทอแสงทองของยามเย็น ที่บ้านสบแจ่มฝั่งขวา ตำบลบ้านแปะ คณะทัศนศึกษาแวะลงเยี่ยมชมกลุ่มโบราณสถานสบแจ่ม ซึ่งปรากฏสถาปัตยกรรมอิทธิพลศิลปะสุโขทัยจำนวนมากอยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดในดินแดนล้านนา  

นายสายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดีชำนาญ นำชมบริเวณวัดพระเจ้าดำ ที่มีขนาดใหญ่และมีความชัดเจนของอิทธิพลสุโขทัยด้วยเจดีย์ประธานของวัดทรงพุ่มข้าวบิณฑ์และแนวกำแพงวัดก่ออิฐเป็นเสากลมเลียนแบบเสาศิลาแลงที่ถือเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของงานศิลปกรรมในกลุ่มรัฐสุโขทัย   

วัดช้างรอบ เจดีย์โบราณอิทธิพลสุโขทัยอีกแห่งในกลุ่มโบราณสถานสบแจ่ม


จากนั้นนำคณะเดินไปชมเจดีย์วัดช้างรอบโบราณสถานสถาปัตยกรรมสุโขทัยอีกแห่งที่อยู่ลึกเข้าไปในสวน สันนิษฐานได้ว่ากลุ่มโบราณสถานสบแจ่มนี้มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ สอดคล้องกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่พญากือนาทรงนิมนต์พระสุมนเถระจากเมืองสุโขทัยมาเผยแพร่พระพุทธศาสนาที่เมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ.๑๙๑๒  จึงถือเป็นหลักฐานสำคัญอันแสดงให้เห็นถึงสายสัมพันธ์ทางศาสนาระหว่างล้านนากับสุโขทัยที่สมบูรณ์มากที่สุด

 หอพระเจ้า วัดผาลาด สกทาคามี
 สภาพก่อนการบูรณะ

            จุดหมายแรกของคณะในวันสุดท้าย คือวัดผาลาด สกทาคามี วัดโบราณตั้งอยู่บนเส้นทางเดินเท้าจากเมืองเชียงใหม่ขึ้นไปยังวัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ ซึ่งพุทธศาสนิกชนชาวล้านนาใช้กันมาต่อเนื่องตั้งแต่รัชสมัยพญากือนา  ด้วยทำเลน้ำตกไหลผ่านตลอดทั้งปี จึงมีการขุดบ่อน้ำซับเพื่อการบริโภค สร้างวิหารและเจดีย์ขึ้นเพื่อเป็นที่สักการบูชา
 รวมไปถึงศาลาพักค้างแรม  

 พระพุทธรูปภายในหอพระเจ้า ศิลปกรรมแบบพม่า
 วิทยากรนำชมรายละเอียดการบูรณะ


 นายเทิดศักดิ์ เย็นจุระ ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ ๗ ได้นำชมโบราณที่ได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่ หลังจากพังทลายไปบางส่วนจากแผ่นดินไหว คือ“หอพระเจ้า” สถาปัตยกรรมพม่าสมัยอาณานิคม สร้างในราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ก่อด้วยอิฐฉาบปูน ด้านหน้าอาคารก่อเป็นซุ้มโค้ง ๕ ช่อง ประดับตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นแบบพม่า ภายในเคยประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์หรือปางปรินิพพาน และพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัยอีก ๔ องค์ และเจดีย์ประธานศิลปะพม่าสร้างในสมัยเดียวกันเคยถูกขุดเจาะเอาสมบัติไปตั้งแต่สมัยสงครามโลกจนยอดเจดีย์หักพังลงมา โบราณทั้งสองแห่งปัจจุบันกลับคืนสู่สภาพสมบูรณ์ โดยเฉพาะองค์เจดีย์ในช่วงฤดูฝนจะห่มคลุมด้วยตะไคร่เขียวครึ้มสวยงาม


ปิดท้ายรายการทัศนศึกษาครั้งนี้ด้วยการเยี่ยมชมแนวกำแพงและคูเมืองของเวียงเจ็ดลิน เมืองโบราณเชิงดอยสุเทพ ภายในอาณาบริเวณล้อมรอบด้วยแนวคันดินและคูน้ำก่อขึ้นเป็นวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๙๐๐ เมตร ชื่อของเวียงเจ็ดลินสันนิษฐานว่ามาจากการที่มีลำน้ำ ๗ สายไหลรวมกันบริเวณเวียงแห่งนี้  ซึ่งความเป็นมายังคงเป็นปริศนา เพราะหากยึดหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ในตำนานระบุว่าสร้างโดยฤาษีให้กับชนพื้นเมืองคือชาวลัวะปกครองกันเอง  ส่วนเอกสารประวัติศาสตร์อื่น ๆ กล่าวถึงการสร้างเวียงเจ็ดลินในสมัยพญาสามฝั่งแกน ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐  

ในขณะที่หลักฐานทางโบราณคดีจากการเจาะดินจากกำแพงไปหาค่าอายุด้วยวิธีเรืองแสงความร้อน ได้อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ และการขุดค้นแนวกำแพงทางทิศเหนือพบชิ้นส่วนเครื่องถ้วยสันกำแพง กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ และล่าสุดจากการขุดค้นภายในพื้นที่เมืองเมื่อปี ๒๕๕๒ พบร่องรอยการใช้พื้นที่มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์



 แนวกำแพงเวียงเจ็ดลินที่ยังหลงเหลือในบริเวณสวนพฤกศาสตร์เชียงใหม่


 คูน้ำที่ล้อมรอบแนวกำแพงเมือง


ปริศนาต่าง ๆ บนแผ่นดินล้านนายังมีอยู่อีกมากมาย แต่ตราบใดที่การขุดค้นและศึกษาทางโบราณคดีของกรมศิลปากรยังคงดำเนินต่อไป สักวันหนึ่งข้างหน้าอาจจะพบข้อมูลใหม่ ๆ ที่จะใช้เป็นกุญแจไขปริศนาเหล่านี้ได้ 

และเมื่อถึงวันนั้นอนุสาร อ.ส.ท. จะได้นำความคืบหน้ามารายงานให้ทราบต่อไป

            ผู้สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถรับชมภาพถ่ายและวิดีทัศน์ของการเดินทางในโครงการสื่อมวลชนสัญจร “ตามรอยอารยธรรมล้านนา ว่าด้วยโลหกรรม สถาปัตยกรรม จิตรกรรมล้านนา กับการอนุรักษ์” ได้ที่แฟนเพจเฟซบุ๊ค “แวะชมสมบัติศิลป์” www.facebook.com/artontheways





No comments:

Post a Comment