Thursday, May 23, 2019

สี่สระศักดิ์สิทธิ์เมืองสุพรรณฯ บนเส้นทางสื่อมวลชนสัญจรกรมศิลป์


 
 สระเกษ


ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ
ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนมิถุนายน ๒๕๖๒

ในบรรดาแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั่วประเทศที่ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก นับตั้งแต่อดีตมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน คงไม่มีแห่งใดที่มีประวัติความเป็นมาเก่าแก่เท่ากับสระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่ของเมืองสุพรรณบุรี อันได้แก่สระแก้ว สระคา สระยมนา และสระเกต เนื่องจากเป็นสระศักดิ์สิทธิ์ตั้งแต่ครั้งอดีตกาล ย้อนหลังไปได้นานกว่าพันปี ปรากฏเรื่องราวในพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินยัง เมืองสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๑ ที่ทรงเล่าพระราชทานไปยังสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารถึงความเป็นมาไว้ดังนี้

 สระคา
 สระแก้ว
 สระยมนา

 “...ที่นี่น่าจะเปนเทวสถานฤาวัดพราหมณ์ที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งมาแต่สุพรรณเก่า จึงได้ใช้น้ำนี้เปนน้ำอภิเศกสืบมาแต่โบราณ ก่อนพรพุทธสาศนามาประดิษฐานในประเทศแถบนี้ มีเรื่องที่เกี่ยวถึงหลายเรื่อง เช่นพรเจ้าประทุมสุริวงษ์ เปนเจ้าที่เกิดในดอกบัว ฤามาแต่ประเทศอินเดีย อันเปนเจ้าแผ่นดินที่ ๑ ฤาที่ ๒ ในวงษ์พรอินทร์ที่ครองกรุงอินทปัถพรนครหลวงเจ้าของพรนครวัด ก่อนพุทธสาศนากาลจะราชาภิเศกต้องให้มาตักน้ำสี่สระนี้ไป แลในการพรราชาพิธีอภิเศกต่างๆต้องใช้น้ำสี่สระนี้ พรเจ้าสินธพอมรินทรพรยาแกรกราชาภิเศก  กรุงละโว้ ประมาณ ๑๔๐๐ ปีก็ว่าใช้น้ำสี่สระนี้ราชาภิเศก พรเจ้าอรุณมหาราชกรุงศุโขทัยจะทำการราชาภิเศกก็ต้องลงมาตีเมืองเหล่านี้ให้อยู่ในอำนาจ แล้วจึงตักน้ำไปราชาภิเศก จึงเปนธรรมเนียมเจ้าแผ่นดินสยามทุกพระองค์ สรงมุรธาภิเศกแรกเสวยราชแลตลอดมาด้วยน้ำสี่สระนี้ มีเลขประจำเฝ้าสระรักษาอย่างกวดขัน เพราะเหตุที่มีเจ้าแผ่นดินเมืองใกล้เคียงมาลักตักน้ำไปกระทำอภิเศก จนกระทั่งเมื่อเร็วๆนี้พรเจ้ากาวิโลรสเปนพรเจ้าขึ้นใหม่ๆ ได้ให้มาลักน้ำสี่สระนี้ขึ้นไปทำอภิเศกเปนข้อหนึ่งในคำที่ต้องหาว่าเปนขบถ

ลัทธิที่ถือน้ำสระเปนน้ำอภิเษกนี้ ปรากฏชัดว่าเปนตำราพราหมณ์ เช่นกับมหาภาระตะอรชุณต้องไปเที่ยวปราบปรามเมืองทั้งปวง แลสรงน้ำในสระที่เมืองนั้นห้ามหวงตลอดจนถึงสระในป่าพรหิมพานต์เปน ๖๔,๖๕ สระ จึงได้มาทำอัศวเมศ ซึ่งเปนพิธีสำหรับเปนจักรพรรดิ...”

 ศาลเทพารักษ์ประจำสระศักดิ์สิทธิ์

 เทวรูปเทพารักษ์

ยังมีตำนานเล่าถึงสระศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ว่าครั้งหนึ่งมีเจ้าผู้ครองนครองค์หนึ่ง มีพระธิดา ๔ พระองค์ พระนามว่า “แก้ว” “คา” “ยมนา” และ “เกษ” สามพระองค์แรกทรงมีพระสวามีเป็นมนุษย์ธรรมดา แต่พระธิดาองค์สุดท้องทรงมีพระสวามีเป็นพญาลิงเผือก

เจ้าเมืองเมื่อชราภาพลงคิดจะยกราชสมบัติให้กับราชบุตรเขยครองแทน จึงรับสั่งให้พระธิดาทั้งสี่แข่งขันกันขุดสระน้ำให้เสร็จภายใน ๗ วัน ผู้ใดขุดสระได้ใหญ่ที่สุดจะให้พระสวามีของพระธิดาองค์นั้นขึ้นครองราชสมบัติ

พระธิดาสามองค์แรกช่วยกันขุดสระโดยมีพระสวามีช่วยในขณะที่ธิดาองค์สุดท้องต้องขุดสระเองเพียงลำพัง มิหนำซ้ำยังถูกพี่สาวทั้งสามกลั่นแกล้งนำดินมาถมในสระที่ขุดไว้อีก จนกระทั่งคืนสุดท้าย พระธิดาเกษอ้อนวอนขอให้พระสวามีช่วยเหลือ พญาลิงเผือกจึงพาพลพรรคลิงมาช่วยขุดจนได้สระน้ำขนาดใหญ่กว่าของพระธิดาผู้พี่ทั้งสาม ทั้งยังทำเกาะกลางน้ำปลูกต้นเกตไว้เป็นสัญลักษณ์ด้วย

เช้าวันรุ่งขึ้นปรากฏว่าเจ้าผู้ครองนครเสด็จสวรรคตไปก่อน เหล่าเสนาบดีอำมาตย์พิจารณากันแล้วเห็นว่าสระของพระธิดาเกษกับพญาลิงเผือกใหญ่กว่าของคู่อื่น จึงลงมติถวายราชสมบัติให้ครองแทน พระธิดาองค์พี่ทั้งสามและพระสวามีไม่พอใจคำตัดสิน จึงขโมยพระขรรค์ศักดิ์สิทธิ์หนีไป พญาลิงเผือกติดตามไปทันกันที่ริมสระเกษ เหล่าพระธิดาองค์พี่เห็นจวนตัวหนีไม่ทัน จึงขว้างพระขรรค์ลงสระ บังเอิญถูกต้นเกตขาดสะบั้น ส่วนพระขรรค์จมหายไปในสระ นับแต่นั้นมาน้ำในสระดังกล่าวจึงกลายเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากมีพระขรรค์วิเศษอยู่ภายในสระนั่นเอง

 แผนผังสระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่

สระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่ตั้งอยู่ที่บ้านท่าเสด็จ ตำบลสระแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ห่างจากตัวเมืองสุพรรณบุรี มาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ ๑๘ กิโลเมตร ใกล้กับลำน้ำท่าว้า (แม่น้ำสุพรรณบุรีสายเก่า)  ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๘ กำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๘ มีพื้นที่โบราณสถานประมาณ ๔๕ ไร่ ๗๐ ตารางวา โดยตัวสระแก้วกว้าง ๗๕ เมตร ยาว ๑๐๒เมตร สระคากว้าง ๔๘ เมตร ยาว ๖๗ เมตร สระยมนา กว้าง ๕๐ เมตร ยาว ๗๕ เมตร และสระเกษ กว้าง ๗๖ เมตร ยาว ๑๔๔ เมตร

 ช่วงปีพ.ศ. ๒๕๑๓-๒๕๑๔ กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดลอกสระศักดิ์สิทธิ์มาแล้วครั้งหนึ่งและปลูกต้นไม้เพิ่มเติมกว่า ๘๐๐ ต้น ล่าสุดในปี พ.ศ.๒๕๔๙ จังหวัดสุพรรณบุรีร่วมกับสำนักศิลปากรที่ ๒ สุพรรณบุรี กรมศิลปากร ดำเนินการอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถานแห่งนี้ขึ้นอีกครั้ง โดยทำการขุดลอกสระทั้งหมดแล้วปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ให้งดงาม ก่อนโอนให้กับเทศบาลตำบลท่าเสด็จเป็นผู้ดูแลรักษาดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าอยู่หัวในอดีตที่ผ่านมาใช้น้ำแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์เพียงน้ำจากสี่สระศักดิ์สิทธิ์เมืองสุพรรณ น้ำเบญจสุทธิคงคาทั้งห้า  และน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั่วประเทศอีกประมาณไม่เกิน ๒๐ แห่งเท่านั้น แต่ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ ๑๐  เป็นครั้งแรกที่มีการใช้น้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั่วประเทศ ๗๗ จังหวัด รวม ๑๐๘ แหล่งน้ำ เพื่อแสดงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ

น้ำจากสระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่ของสุพรรณบุรีจะถูกนำไปรวมกับน้ำที่ตักจากแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ ๕ สาย (เบญจสุทธิคงคา) คือ แม่น้ำบางปะกงจากบึงพระอาจารย์ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก  แม่น้ำป่าสักจากบริเวณบ้านท่าราบ อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี แม่น้ำเจ้าพระยาจากปากคลองบางแก้ว อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง แม่น้ำราชบุรีจากสามแยกคลองหน้าวัดดาวดึงษ์ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม และแม่น้ำเพชรบุรีจากบริเวณท่าน้ำวัดท่าไชยศิริ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี เพื่อใช้เป็น “น้ำสรงมุรธาภิเษก” อันหมายถึงน้ำพระพุทธมนต์และเทพมนตร์สำหรับถวายพระมหากษัตริย์เพื่อสรงในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดย “น้ำสรงมุรธาภิเษก” จะใช้รดเหนือพระเศียรลงมา ส่วน “น้ำอภิเษก”เป็นน้ำที่ใช้รดพระวรกาย

สระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่ของสุพรรณบุรีถูกจัดเป็นหนึ่งในแหล่งโบราณคดีบนเส้นทางของการทัศนศึกษาโครงการสื่อมวลชนสัญจร ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลพบุรี และสุพรรณบุรี ของกรมศิลปากร โดยนายอรุณศักดิ์ กิ่งมณี รองอธิบดีกรมศิลปากร พร้อมคณะสื่อมวลชนร่วมเดินทางศึกษาดูงานการดำเนินงานอนุรักษ์แหล่งโบราณคดี โบราณสถานที่กรมศิลปากรดูแลและมีส่วนร่วม ระหว่างวันที่ ๑๕ ๑๖ มีนาคม ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา

 พลับพลาตรีมุข
 พระนารายณ์ราชนิเวศน์
 นิทรรศการพิเศษ ๑๕๐ ปี ไทย-อิตาลี
 พิธีเปิดงานฉลอง ๑๕๐ ปี ความสัมพันธ์ ไทย-อิตาลี

โดยในวันแรกเข้าชมการบูรณปฏิสังขรณ์พลับพลาตรีมุข ภายในพระราชวังหลวงแห่งกรุงศรีอยุธยา ก่อนเดินทางไปยังลพบุรี เยี่ยมชมนิทรรศการพิเศษ เรื่อง ๑๕๐ ปี ความสัมพันธ์ไทย – อิตาลี ภายใต้โครงการความร่วมมือทางวิชาการโบราณคดีและความรู้ใหม่จากการศึกษาวิจัยแหล่งโบราณคดีในลุ่มแม่น้ำลพบุรี และร่วมพิธีเปิดงานเฉลิมฉลอง ๑๕๐ ปี ความสัมพันธ์ไทย – อิตาลี ภายใต้โครงการความร่วมมือทางวิชาการโบราณคดี ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ จังหวัดลพบุรี

 หลุมขุดค้นโคกพุทรา

ส่วนวันที่สองเป็นการเยี่ยมชมหลุมขุดทดสอบทางโบราณคดีโคกพุทราเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการเป็นแหล่งโบราณคดี อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี โครงการโบราณคดีพื้นที่ลพบุรี (LOPBURI REGIONAL ARCHAEOLOGICAL PROJECT – LoRAP) การดำเนินงานทางโบราณคดี ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี ก่อนจะแวะเยี่ยมชมสระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่ของสุพรรณบุรีเป็นรายการสุดท้าย

 
 นายอรุณศักดิ์ กิ่งมณี รองอธิบดีกรมศิลปากร พร้อมคณะสื่อมวลชนร่วมถ่ายภาพหมู่ที่ระลึก ณ วัดมหาธาตุ สุพรรณบุรี

No comments:

Post a Comment