Thursday, September 13, 2018

เพนียด นครโบราณพันปีที่เมืองจันท์



ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ
ตีพิมพ์ในคอลัมน์รายงานพิเศษ อนุสาร อ.ส.ท. เดือนตุลาคม ๒๕๖๑

โครงการเผยแพร่มรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ โดยกรมศิลปากร จัดกิจกรรมนำสื่อมวลชนจากหลากหลายสาขา ร่วมเดินทางทัศนศึกษาในหัวข้อ เล่าเรื่องเมืองโบราณพันปี “จันทบุรี” ดินแดนยุทธศาสตร์ชาติไทย” ในระหว่างวันที่ ๑๖ – ๑๗ สิงหาคมที่ผ่านมา

คณะทัศนศึกษาในครั้งนี้นำโดยนายเมธาดล วิจักขณะ รองอธิบดีกรมศิลปากร จุดหมายหลักอยู่ที่ศึกษาดูงานแหล่งโบราณคดีและโบราณสถาน โดยเฉพาะการดำเนินโครงการอนุรักษ์และพัฒนาเพื่อส่งเสริมศักยภาพเมืองเพนียด จังหวัดจันทบุรี  หลังจากโบราณสถานแห่งนี้ไม่ได้ดำเนินงานขุดค้นและศึกษาด้านโบราณคดีมานานกว่า ๒๐ ปีแล้ว


              เมืองเพนียดเป็นนครโบราณอายุมากกว่าพันปี สำรวจพบครั้งแรกโดยสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๖-๒๔๔๖ กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๘  ลักษณะผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ล้อมรอบด้วยคันดิน ขนาดพื้นที่ประมาณ ๑,๖๐๐ ไร่  ทำเลติดกับเชิงเขาสระบาป มีลำน้ำคลองนารายณ์ไหลมาจากภูเขา ผ่านเมืองลงสู่แม่น้ำจันทบุรีแล้วออกทะเลอ่าวไทย  

สิ่งยืนยันถึงความเก่าแก่ของเมืองเพนียดได้แก่ ศิลาจารึก และหลักฐานทางศิลปกรรมที่ปรากฏอยู่มากมาย  ศิลาจารึกสำคัญมีอยู่สามหลัก ได้แก่จารึกวัดทองทั่ว-ไชยชุมพล อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ จารึกเพนียด ๑ และจารึกเพนียด ๕๒ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕   ส่วนหลักฐานทางศิลปกรรมที่น่าสนใจ คือทับหลังแบบถาลาบริวัตรในวัฒนธรรมขอมโบราณ สร้างขึ้นราวตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ อายุประมาณ ๑,๔๐๐ ปี ถือเป็นศิลปกรรมได้รับอิทธิพลจากอินเดียเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย แสดงให้เห็นว่าเมืองเพนียดเป็นเมืองท่าติดต่อค้าขายใกล้ชิดกับอินเดีย มีบทบาทสำคัญสำคัญในการเชื่อมอารยธรรมจากอินเดียเข้าสู่ในภูมิภาคส่วนอื่น ๆ  
  


นักโบราณคดีคาดว่าเมืองเพนียดยังอาจเป็นชุมชนที่มีประวัติความเก่าแก่มากกว่า ๑,๔๐๐ ปี เนื่องจากยังขุดพบโบราณวัตถุกลองมโหระทึกที่มีอายุเก่าแก่มากกว่านั้นมาก คือร่วมสมัยกับเมืองออกแก้วในเวียดนามตอนใต้ ที่มีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ ๖-๙   ทั้งยังอาจจะติดต่อกับเมืองท่าในสมัยศรีวิชัย ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีด้วย  เนื่องจากเมืองเพนียดห่างจากอ่าวไทยเพียง ๒๐ กิโลเมตร เป็นจุดที่สะดวกในการติดต่อทำการค้าทางทะเล ในขณะที่ทางบกเชื่อมโยงเข้ากับภาคกลาง   


สำนักศิลปากรที่ ๕ ปราจีนบุรี ได้ดำเนินงานโบราณคดีขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานด้านทิศเหนือที่เรียกกันว่า “คูเพนียด” ในปี พ.ศ. ๒๕๔๒-๒๕๔๕  พบว่าเป็นสิ่งก่อสร้างลักษณะเหมือนสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสองสระติดกัน กว้าง ๖๐ เมตร ยาว ๔๐ เมตร กรุด้วยศิลาแลง มีบันไดทางขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา จึงได้สำรวจทำแผนผังพร้อมทั้งขุดแต่งโบราณสถานเมืองเพนียดอีกครั้ง พบโบราณวัตถุเพิ่มเติมอีกหลายชิ้นที่น่าสนใจ เช่น กระเบื้องกาบกล้วย กระเบื้องเชิงชาย และชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมอื่น ๆ  ที่ทำให้สันนิษฐานได้ว่าเป็นสิ่งก่อสร้างใช้เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘  ไม่ใช่เพนียดหรือคอกช้างอย่างที่เรียกกันอย่างแน่นอน

ล่าสุดกรมศิลปากรมีแผนพัฒนาต่อเนื่องในช่วงปี ๒๕๖๒-๒๕๖๕  โดยจะทำการสำรวจตั้งแต่บริเวณเมืองเพนียดเบื้องล่างเชื่อมโยงขึ้นไปถึงบนยอดเขาสระบาป ซึ่งน่าจะมีความสัมพันธ์กันในเชิงพิธีกรรมความศักดิ์สิทธิ์  ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการสำรวจหากำแพงเมืองและขุดแต่งบูรณะให้ชัดเจน นอกจากนี้ยังมีโครงการความร่วมมือกับท้องถิ่น นำชาวบ้านที่อยู่รอบโบราณสถาน เข้ามาร่วมพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ต่อไป

ในส่วนของวัดทองทั่วซึ่งเป็นแหล่งเก็บรักษาโบราณวัตถุชิ้นสำคัญของเมืองเพนียดไว้จำนวนมาก ทางวัดได้รับการสนับสนุนงบประมาณ ๓๐ ล้านบาท สำหรับการสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ จากหน่วยราชการท้องถิ่นซึ่งตระหนักถึงความสำคัญ  โดยมีกรมศิลปากรสนับสนุนในด้านการกำหนดอายุโบราณวัตถุ แนะนำการจัดแสดงให้ได้มาตรฐานสากล รวมทั้งมีแผนพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์แห่งใหม่ของ จังหวัดจันทบุรีที่มีความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมในระดับภูมิภาคอาเซียน 

 คณะทัศนศึกษาได้เข้าเยี่ยมชมหน่วยงานของกรมศิลปากรส่วนภูมิภาคในจังหวัดจันทบุรี  ได้แก่ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี เดิมเป็นศาลาว่าการมณฑลจังหวัดจันทบุรีซึ่งประกอบด้วยเมืองจันทบุรี ระยอง และตราด สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๙  สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖  ปัจจุบันตัวอาคารมีอายุเก่าแก่กว่าร้อยปี ระหว่างการบูรณะพบเอกสารจดหมายเหตุเก่าแก่สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๑ และสงครามโลกครั้งที่ ๒ จำนวนมาก ได้รับการเสนอยูเนสโกให้เป็นมรดกความทรงจำของโลก  และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพาณิชย์นาวี แหล่งเก็บรักษาและอนุรักษ์โบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้นใต้ทะเล พร้อมชมการสาธิตการปฏิบัติงานโบราณคดีใต้น้ำด้วยอุปกรณ์อันทันสมัย ณ สระฝึกอบรมและทดสอบการดำน้ำ “เดชพิรุฬห์”


 นอกจากนี้ยังเข้าชมพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ค่ายตากสิน ในบริเวณค่ายตากสิน ซึ่งเป็นกลุ่มอาคารโบราณที่สร้างขึ้นในสมัยฝรั่งเศสเข้ายึดเมืองจันทบุรี จัดแสดงพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และนิทรรศการความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส จัดแสดงไว้อย่างเป็นหมวดหมู่น่าสนใจ  และอาสนวิหารพระนางมารีอาปฎิสนธินิรมล จันทบุรี โบสถ์คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก อายุกว่าร้อยปี  ที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมและการตกแต่งอลังการตระการตา
สนใจชมภาพถ่ายและวิดิทัศน์การเดินทางทัศนศึกษาในหัวข้อ เล่าเรื่องเมืองโบราณพันปี จันทบุรี ดินแดนยุทธศาสตร์ชาติไทย” เพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/osotho


No comments:

Post a Comment