Tuesday, April 18, 2017

อุทยานธรณีสตูล มรดกธรณีระดับโลกแห่งแรกของไทย


ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...รายงาน
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน อนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๐

          Geopark is not Geological site Geopark is peoples” พูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือจีโอปาร์คไม่ใช่แค่แหล่งธรณีวิทยา แต่จีโอปาร์คคือวิถีชีวิตชุมชน เป็นสิ่งที่กรมทรัพยากรธรณีพามาดูในครั้งนี้ ว่าอุทยานธรณีจะส่งผลให้เกิดการอนุรักษ์และมีส่วนร่วมกับคนที่อยู่ในสตูลอย่างไร

            นายทศพร นุชอนงค์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณีกล่าวกับคณะสื่อมวลชนที่ร่วมเดินทางทัศนศึกษา “อุทยานธรณีสตูล สู่อุทยานธรณีระดับโลก” เส้นทางแหล่งอนุรักษ์ธรณีวิทยา อำเภอทุ่งหว้า อำเภอมะนัง และอำเภอละงู จังหวัดสตูล ระหว่างวันที่ ๑-๓ มีนาคม ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา  ณ ศูนย์ประชาสัมพันธ์อุทยานธรณีสตูล  หน้าที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งหว้า


           หลายปีมาแล้วที่กรมทรัพยากรธรณี ได้ทำการศึกษาสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับมรดกทางธรรมชาติทางธรณีวิทยาในประเทศไทย แล้วพบว่าพื้นที่จังหวัดสตูลมีความสมบูรณ์ทางด้านธรณีวิทยาอย่างน่าอัศจรรย์ คือเป็นทะเลโบราณ ปรากฏหลักฐานทางธรณีวิทยาและฟอสซิลสัตว์ทะเลดึกดำบรรพ์หลากหลายชนิด ครบถ้วนจากทั้ง ๖ ยุค อันได้แก่ แคมเบรียน ออร์โดวิเชียน ไซลูเรียน โดวิเนียน คาร์บอนิเฟอรัส และเพอร์เมียน ในมหายุคพาลีโอโซอิค ประมาณ ๕๔๒ – ๒๕๑ ล้านปีมาแล้ว เก่าแก่กว่ามหายุคมีโซโซอิคซึ่งเรารู้จักกันดีว่าเป็นช่วงเวลาไดโนเสาร์ครองโลก เป็นที่มาของการนำเสนอให้สตูลเป็นมรดกโลกทางด้านธรณีวิทยาในเวลาต่อมา

เพื่อความเข้าใจเบื้องต้นจึงได้มีการนำคณะสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมภายในพิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ทุ่งหว้ากันก่อน ภาพยนตร์สามมิติบอกเล่าเรื่องราวของชีวิตโลกใต้ทะเลของมหายุคพาลีโอโซอิคอย่างสนุกสนาน พร้อมด้วยนิทรรศการที่สรุปพัฒนาการทางธรณีวิทยาอันต่อเนื่องมาถึงชุมชนในปัจจุบัน ช่วยให้เห็นภาพโดยรวมของแหล่งอนุรักษ์ทางธรณีเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา จากนั้นจึงเป็นการเดินทางลงสู่พื้นที่เพื่อสัมผัสกับของจริงโดยรถตู้ที่ทางกรมทรัพยากรธรณีจัดเตรียมไว้ให้


บริเวณศาลทวดบุญส่ง ชาวบ้านสร้างศาลาครอบสิ่งที่มองเผิน ๆ คล้ายเจดีย์โบราณปรักหักพังเอาไว้  วิทยากรของกรมทรัพยากรธรณีชี้ให้เห็นว่า แท้ที่จริงแล้วสิ่งนี้คือ “หินสาหร่าย”  บนหินปูนเนื้อละเอียด ปรากฏชั้นหนาสีแดงส้มสลับกับแถบสีแดงเข้มเส้นบาง ๆ เป็นซากดึกดำบรรพ์ของสาหร่ายสโตรมาโตไลต์ (Stromatolite) จากยุคออร์โดวิเชียน แทรกอยู่ในเนื้อหินปูน ที่ทำให้น่าสนใจเป็นพิเศษก็คือสโตรมาโตไลต์เป็นแหล่งอาศัยของไซยาโนแบคทีเรียที่ผลิตออกซิเจนให้กับโลกในยุคดึกดำบรรพ์ ในยุคก่อนหน้านี้ไม่มีออกซิเจน อยู่เลย การมีออกซิเจนขึ้นมาทำให้เกิดวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่ใช้ออกซิเจนในที่สุด



แหล่งฟอสซิลเขาน้อยเป็นอีกแห่งที่น่าอัศจรรย์ใจ อยู่ถัดมาอีกไม่ไกล บริเวณนี้เดิมเคยเป็นบ่อดินสำหรับขุดดินขาย แต่เมื่อกรมทรัพยากรธรณีมาสำรวจพบว่าในหินจำนวนมากมายที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปปรากฏร่องรอยของสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ในยุคแคมเบรียนและออร์โดวิเชียน ไม่ว่าจะเป็นไทรโลไบต์ แกรปโตไลต์ ฯลฯ ล้วนพบได้อย่างง่ายดาย เพียงกระเทาะเนื้อหินออกมาเท่านั้น ปัจจุบันจึงกลายเป็นแหล่งทัศนศึกษาเรียนรู้ด้านธรณีวิทยาของนักเรียนและนักท่องเที่ยวผู้ที่สนใจซากดึกดำบรรพ์แวะเวียนกันมาเยี่ยมชม



เช้ารุ่งขึ้นคณะสื่อมวลชนลงเรือออกสู่ท้องทะเลคราม มุ่งหน้าสู่เกาะลิดี อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ห่างออกไปในท้องทะเล ๕ กิโลเมตร พบกับการต้อนรับด้วยเพลง “ทะเลดึกดำบรรพ์”จากวงดนตรีกัวลาบาราของเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครอุทยาน ฯ  บอกเล่าเรื่องราวของซากดึกดำบรรพ์สตูลในท่วงทำนองน่าฟัง  

ก่อนจะพากันเดินลัดเลาะผ่านหาดโคลนต้นลำพู  ตรงไปยัง ทะเลแหวก”แนวสันทรายเชื่อมต่อระหว่างเกาะลิดีกับเกาะหว้าหิน วางตัวในแนวทิศเหนือ-ใต้ ประกอบด้วยกรวดหินทรายขนาด ๕-๑๐ เซนติเมตร สะสมตัวเป็นความยาว ๑๐๐ เมตร โผล่ขึ้นเมื่อยามน้ำลง บนเกาะหว้าหินยังพบซากดึกดำบรรพ์หลายชนิดเช่น รูหนอน ฟอสซิลฟองน้ำ รวมทั้งร่องรอยทางธรณีวิทยาอีกมากมายที่น่าสนใจ

ขากลับเข้าสู่ฝั่ง เรือได้แวะเวียนไปลอยลำบริเวณเขาโต๊ะหงาย เพื่อให้คณะได้ชมแนวรอยสัมผัสระหว่างหิน ๒ ยุค คือหินทรายแดงยุคแคมเบรียน อายุประมาณ ๕๔๒ ล้านปี กับหินปูนยุคออร์โดวิเซียน อายุประมาณ ๔๘๘ ล้านปี   เกิดจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกทำให้เห็นรอยต่อชัดเจนมาก หาดูได้ยาก เรียกว่าเป็น “ธรณีสองภพ” ซึ่งหากได้ขึ้นไปเดินบนสะพานข้ามกาลเวลา ที่สร้างเป็นทางเดินไว้โดยรอบแล้ว จะเสมือนหนึ่งสามารถก้าวย่างข้ามกาลเวลาจากยุคแคมเบรียนไปสู่ยุคออร์โดวิเชียนด้วยการก้าวเท้าเพียงก้าวเดียว 



ช่วงบ่ายแวะเข้าไปเยี่ยมเยือนชุมชนบ้านหนองปัญหยา ชุมชนเก่าแก่ที่เป็นแหล่งรวบรวมภูมิปัญญาในการทำสวดลายผ้าบาติก จัดตั้งเป็นกลุ่มแม่บ้านในชุมชนขึ้นมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ ความโดดเด่นคือได้มีการประยุกต์ลวดลายบาติกทำเป็นภาพสัตว์ดึกดำบรรพ์นานาชนิด เช่น แอมโมไนต์ ไทรโลไบต์ ลงบนเสื้อ ผ้าเช็ดหน้า และของที่ระลึกอีกหลากหลาย สมความกับความเป็น “ฟอสซิลแลนด์”ดินแดนดึกดำบรรพ์ของสตูล


บ่ายคล้อยชาวคณะสื่อมวลชนเดินทางเข้าไปสัมผัสกิจกรรมล่องเรือคายักเข้าถ้ำ อันเป็นสถานที่พบชิ้นส่วน ช้างสเตโกดอน” ช้างดึกดำบรรพ์จากสมัยไพลสโตซีน ประมาณ ๑.๘ ล้านปีก่อน  (เก่าแก่กว่าช้างแมมมอธ) แห่งแรกและแห่งเดียวในพื้นที่ภาคใต้ จากแต่เดิมชื่อ “ถ้ำวังกล้วย” จึงเปลี่ยนชื่อเป็นถ้ำเลสเตโกดอนเพื่อเป็นอนุสรณ์ ด้วยความยาวกว่า ๔ กิโลเมตร ถือเป็นถ้ำน้ำลอดที่ยาวที่สุดในประเทศไทย โดดเด่นทางด้านธรณีวิทยาเป็นอย่างมากเพราะภายในถ้ำยังมีการก่อตัวของหินงอกหินย้อยรูปทรงสวยงามแปลกตามากมาย ทั้งหลอดหินย้อย หินปูนฉาบ และม่านหินย้อย รวมทั้งร่องรอยของซากฟอสซิลดึกดำบรรพ์ต่าง ๆ  


แถมท้ายคลายร้อนด้วยการแวะชมน้ำตกธารปลิว ฉ่ำชื่นใจกับสายน้ำที่หลากไหลผ่านหน้าผาหินปูนยุคออร์โดวิเชียนที่เกิดจากการพอกตัวของคราบหินปูน เป็นแอ่งน้ำคล้ายทำนบลดหลั่นกันลงมาอย่างสวยงาม  
  


วันสุดท้ายชาวคณะมุ่งหน้าไปชมความยิ่งมใหญ่ของถ้ำภูผาเพชร แหล่งมรดกธรณีสำคัญอีกแห่ง  ภายในถ้ำกว้างมีเนื้อที่โดยรวมประมาณ ๕๐ ไร่ หรือประมาณ ๒๐,๐๐๐ ตารางเมตร โพรงถ้ำลดหลั่นเป็นสามระดับ แบ่งออกเป็นห้องเล็กห้องน้อยประมาณ ๒๐ ห้อง  แต่ละห้องมีหินงอกหินย้อยสวยงามอลังการ หลายแห่งมีประกายแวววาวเมื่อต้องแสงไฟ เป็นที่มาของสมญานาม “ถ้ำภูผาเพชร” 

สุดปลายถ้ำเป็นปล่องทะลุสู่ภายนอก ปากถ้ำเป็นหินก้อนใหญ่ มองดูไกล ๆ  คล้ายไดโนเสาร์ไทรันโนซอรัสนอนตายอยู่ ดูน่าตื่นตาตื่นใจ ภายในถ้ำมีการจัดการที่ดี โดยองค์การบริหารส่วนตำบลปาล์มพัฒนาได้สร้างสะพานทางเดินไม้ลัดเลาะไปตามแนวหินงอกหินย้อยป้องกันไม่ให้นักท่องเที่ยวสัมผัส  พร้อมด้วยระบบไฟส่องสว่างที่จะทำงานเมื่อมีคนเดินผ่าน


ทาง UNESCO กำหนดเข้ามาตรวจสอบและประเมินคุณสมบัติของอุทยานธรณีสตูลในช่วงเดือนพฤษภาคม- มิถุนายนนี้ โดยหลักเกณฑ์ที่ใช้มีอยู่สี่ประการ ได้แก่คุณค่าความเป็นแหล่งทรัพยากรธรณีในระดับนานาชาติ (Geo Heritage) มีหน่วยงานในการดูแลและบริหารจัดการทรัพยากรอย่างเป็นระบบ ชุมชนใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรณีที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน และมีการศึกษาวิจัย ถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจในแหล่งทรัพยากรทางธรณี


นายณรงค์ฤทธิ์ ทุ่งปรือ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งหว้า ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการอุทยานธรณีสตูลคนแรก เปิดเผยว่า หลังเดือนกันยายน ๒๕๖๐ นี้คงจะทราบผลการประเมินอย่างเป็นทางการว่าผ่านหรือไม่  แต่ส่วนตัวแล้วคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาแต่ประการใด เพราะแนวคิดหลักในการประกาศเป็น Geo Heritage ของ Unesco คือต้องริเริ่มจากชุมชน ซึ่งที่สตูลนี้เป็นการเริ่มต้นจากชุมชนอย่างแท้จริง ดังจะเห็นว่าเน้นการอนุรักษ์และการพัฒนาเพื่อเศรษฐกิจชุมชน 

ในอนาคตที่จะถึงนี้ยังมีโครงการสร้างที่ทำการและพิพิธภัณฑ์อุทยานธรณีสตูลขึ้นบนพื้นที่ ๒๘ ไร่ ภายในอาณาเขตของมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา วิทยาเขตสตูล ในงบประมาณ ๖๐๐ ล้านบาท กำลังอยู่ในระหว่างของบประมาณปี พ.ศ. ๒๕๖๑ ซึ่งความคืบหน้าของมรดกอุทยานธรณีโลกสตูลนี้ ทาง อนุสาร อ.ส.ท. จะได้ติดตามมานำเสนอต่อไป


No comments:

Post a Comment