ภาคภูมิ
น้อยวัฒน์...เรื่องและภาพ
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน อนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนมกราคม ๒๕๖๐
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน อนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนมกราคม ๒๕๖๐
ร้านขายของชำเล็ก ๆ ในซอยชุมชนตรอกมะตูม
๑๐ อำเภอเมือง ฯ จังหวัดนครปฐม สงบเงียบอยู่ในแสงแดดยามสายของวันในต้นฤดูหนาว
“มารับหนังสือแล้วหรือ” คุณป้าละเอียด ปทุมารักษ์ เจ้าของร้าน เดินช้า ๆ ออกมาต้อนรับพร้อมกับรอยยิ้มใจดีบนใบหน้า
“วันนี้ฉันหาหนังสือลูกช้างทางใต้ยังไม่พบ พบหนังสืออนุสาร อ.ส.ท. ปี
๒๕๑๑ เดือนเมษา ฯ หน้าปกรัชกาลที่ ๑ หนังสือเหลืองกรอบเปิดแรงไม่ได้ ฉันอายุอีก ๒
เดือน ๗๐ ฉันเสียดายทุกตัวอักษรในเล่ม บทกลอนมีความหมายในเวลานี้เหลือเกิน
อ.ส.ท.อยากได้คืนไหม เนื้อหาสาระมีประโยชน์ ถ้าต้องการฉันยินดี
ไม่อยากให้ตายจากไปกับฉัน ลูกฉันก็ไม่รัก ไม่เคยหยิบอ่าน ถ้าไม่เอาก็ไม่เป็นไร” คือข้อความในไปรษณียบัตร ที่คุณป้าส่งมายังกองบรรณาธิการ
อนุสาร อ.ส.ท.
คุณป้าชี้ไปยังห้องเล็ก ๆ ใหม่เอี่ยม กั้นด้วยกระจกใสอย่างดี ด้านข้างของร้านชำ
บนผนังภายในห้องด้านหนึ่งประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในกรอบสีทอง
“วันที่ได้ข่าวในหลวงรัชกาลที่ ๙ เสด็จสวรรคต
ป้าเสียใจมาก ไม่รู้จะทำอย่างไร เลยคิดกั้นห้องพิเศษขึ้นที่ชั้นล่างของบ้าน
เพื่อรำลึกถึงพระองค์ท่าน ระหว่างทำห้อง เก็บข้าวของ ก็ค้นเจอ อนุสาร
อ.ส.ท.ฉบับนี้ ที่ป้าเก็บไว้นานมากแล้ว ตั้งแต่สมัยยังสาว ๆ ”
เล่าให้ฟังแล้วคุณป้าก็เดินเข้าไปหยิบหนังสือจากชั้นวางใต้พระบรมฉายาลักษณ์ในห้องกระจกออกมาวางลงบนโต๊ะ
เป็นอนุสาร อ.ส.ท.ฉบับเก่ามากสองฉบับ สันปกยังเป็นแบบเย็บลวดมุงหลังคา
ไม่ใช่แบบไสกาวแบบในปัจจุบัน
“ป้าเรียนจบจริง ๆ ไม่ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ หรอก เรียนที่โรงเรียนวัดพระประโทน
นครปฐม ใกล้ ๆ บ้านนี่แหละ พอจะไปทำงานโรงงาน ต้องใช้วุฒิป. ๔ สมัคร เลยให้ผู้ใหญ่ช่วยไปขอจากทางโรงเรียน
เขาก็ให้วุฒิ ป. ๔ มา...
อ่านไม่ค่อยออกนะ แต่ชอบอ่านหนังสือ ตรงไหนอ่านออกก็อ่าน ตรงไหนอ่านไม่ออกก็ข้าม
ๆ ไปโดยเฉพาะ อ.ส.ท. นี่ชอบมาก ภาพสวย มีเนื้อหาสาระดี ซื้อเป็นประจำ ตั้งแต่สมัยแรก ๆ ตอนไปทำงานโรงงานที่พระประแดงเลย
เป็นโรงงานทอผ้าขนหนูของคนจีน อยู่ในซอยลึก วันไหน อ.ส.ท. ออก ป้าก็ไม่กินข้าวกลางวัน
เพราะต้องเดินจากโรงงานออกมาซื้อที่ร้านหนังสือริมถนนใหญ่หน้าปากซอย จริง ๆ ต้องบอกว่าวิ่งออกมาเลย
เพราะไกลมาก ตอนหลังย้ายมาทำงานเป็นลูกจ้างโรงงานเย็บผ้า สอยเสื้อ ตัดเสื้อ
ติดกระดุม แถวพาหุรัดตรงข้ามโรงเรียนสวนกุหลาบ เดี๋ยวนี้เลิกทำไปแล้ว ค่อยยังชั่วหน่อยไม่ต้องวิ่งออกมาซื้อ
เพราะร้านหนังสืออยู่ใกล้ ๆ ได้เงินเดือนละร้อยบาท วันละ ๓ บาท
ต้องทำงานสองวันนะถึงจะซื้อได้”
คุณป้าค่อย ๆ เปิดอนุสาร อ.ส.ท.เมษายน พ.ศ.๒๕๑๑ ฉบับพิเศษวันจักรี
ตรงหน้าอย่างทะนุถนอม “เล่มนี้ป้ารักมาก เพราะทั้งเล่มมีภาพวาดในหลวงตั้งแต่รัชกาลที่
๑ ถึงรัชกาลที่ ๙ ครบทุกรัชกาลเลย แล้วก็มีคำกลอนข้างใน เข้ากับช่วงเวลานี้จริง
ๆ ฉบับอื่นซื้อแล้วก็ไว้ที่ห้องพัก
หายบ้าง คนอื่นยืมไปอ่านบ้าง แต่ฉบับนี้ยังอยู่ เพราะอ่านแล้วชอบมาก เลยถือกลับมาบ้านที่นครปฐมด้วยด้วย
เก็บใส่กล่องไว้อย่างดี
เอื้อมมือหยิบอีกเล่มขึ้นมาเปิดให้ดูภาพด้านใน “อีกเล่มที่รักมากคือเล่มนี้
ฉบับเดือนกรกฎาคม ๒๕๑๕ ฉบับพิเศษสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์
ท่านเสด็จกลับจากต่างประเทศ ป้าเปิดดูด้านใน
เห็นภาพท่านทรงก้มกราบในหลวงกับพระราชินีที่สนามบินก็ซื้อเลยฉบับนี้ ประทับใจมาก” คุณป้าเล่าพลางสายตาเป็นประกายด้วยความปลื้มปิติขณะเปิดผ่านไปในแต่ละหน้า
“สองเล่มนี้แหละ คุณช่วยเอากลับไปเก็บไว้หน่อย ป้าเสียดาย อายุมากแล้ว
เดี๋ยวตายไป ลูก ๆ ก็คงจะทิ้งขว้าง เขาไม่สนใจ ไม่เคยเห็นหยิบมาอ่าน”
ผมสังเกตเห็นบนหน้าปกฉบับพิเศษวันจักรีมีชื่อเขียนเอาไว้ด้วยลายมือ
เลยถามว่าชื่อใคร คุณป้าอ่านดูแล้วตอบว่าชื่อลูกชาย ชายหนุ่มที่เดินเมียง ๆ มอง ๆ
อยู่นานแล้วจึงได้จังหวะเข้ามาร่วมวงคุยด้วย
“เล่มวันจักรีนี่ ผมเคยเอาไปทำรายงานที่โรงเรียน
ข้างในมีข้อมูลดีมาก ครบเลย เอาไปแล้วก็เป็นห่วง กลัวหาย กลัวโดนขโมย
ก็เลยเขียนชื่อเอาไว้ที่หน้าปกตั้งแต่ตอนนั้น” เล่าไปพลางเปิดดูในเล่มไปพลาง ด้วยสายตาที่ไม่ต่างจากคุณป้าแม้แต่น้อย
สายตาที่เต็มไปด้วยความทรงจำกับหนังสืออันเป็นที่รัก
ท้ายที่สุดผมอำลาคุณป้าละเอียด โดยไม่ได้นำเอา อนุสาร อ.ส.ท.
ฉบับเก่าทั้งสองฉบับกลับมาด้วย เพียงความประทับใจจากเรื่องเล่าความผูกพันของคุณป้าและลูกชายกับ
อนุสาร อ.ส.ท. ทั้งที่ได้รับฟังและได้เห็นด้วยสายตา ก็คุ้มค่ามากมายเกินพอ
อนุสาร อ.ส.ท. เก่าทั้งสองฉบับนั้นจึงยังคงถูกเก็บรักษาบนชั้นวางหนังสือเล็ก
ๆ ใต้พระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่
๙ ในห้องที่สร้างขึ้นเพื่อถวายความอาลัย ด้วยความจงรักภักดีจากหัวใจของคุณป้า
เชื่อว่าคงไม่มีสถานที่แห่งใดในโลกจะดีและเหมาะสมไปกว่านี้อีกแล้ว
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////
ร่วมบอกเล่าเรื่องราวความผูกพันระหว่างตัวคุณเอง คนในครอบครัว
หรือคนที่รู้จักกับ พร้อมภาพถ่ายคู่กับ อนุสาร อ.ส.ท. ฉบับใดฉบับหนึ่งที่ชื่นชอบเป็นพิเศษ
(ไม่จำกัดว่าเป็นฉบับเก่าหรือฉบับใหม่) ความยาวไม่เกิน ๒ หน้ากระดาษ A 4 ส่งมาที่ อนุสาร อ.ส.ท.
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เลขที่
๑๖๐๐ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพฯ ๑๐๔๐๐
เรื่องราวที่ได้รับคัดเลือกลงตีพิมพ์จะได้รับของที่ระลึกพิเศษ Limited edition จากอนุสาร อ.ส.ท. พร้อมกับฉบับที่ได้ลงตีพิมพ์
No comments:
Post a Comment